ปัญหาของการพิจารณาลงโทษสื่อ โดยกลไก กสทช.

“ให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาดำเนินการตามประกาศคำสั่งของ คสช. โดยเคร่งครัด เนื่องจากประกาศคำสั่งเหล่านี้ถือเป็นกฎหมายที่ทุกองค์กรต้องปฏิบัติตามในส่วนที่เกี่ยวข้อง” เป็นคำกล่าวของพันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) แจ้งให้ที่ประชุม กสท. ทราบในระเบียบวาระแรกของการประชุมวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 หลังการเข้ายึดอำนาจการปกครองของ คสช. 

กสทช. ผู้ล้อมปราบเสรีภาพสื่อ ด้วยอำนาจใหม่จาก คสช.

ก่อนหน้าการรัฐประหาร คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) โดยการดำเนินงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีหน้าที่กำกับดูแลเนื้อหาของสื่ออยู่แล้ว โดยใช้อำนาจตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 (พ.ร.บ. ประกอบกิจการฯ) ในการลงโทษสื่อที่เผยแพร่เนื้อหาที่ขัดต่อมาตราดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่ กสทช. จะใช้อำนาจลงโทษสื่อโดยอ้างว่า เป็นเนื้อหาที่ “ขัดต่อศีลธรรมอันดี” เช่น กรณีนำเหยื่อข่มขืนมาสัมภาษณ์ออกรายการหรือ กรณีจัดโชว์ที่มีการเปลือยอก  โดยไม่ค่อยปรากฏการใช้อำนาจลงโทษสื่อที่นำเสนอเนื้อหาวิจารณ์การเมือง

แต่หลังจากการเข้ายึดอำนาจของ คสช. เครื่องมือสำหรับการควบคุมเนื้อหาในสื่อชิ้นใหม่ๆ ถูกประกาศใช้เพิ่มขึ้นมากมาย ได้แก่ ประกาศ คสช. ที่ 97/2557 และ 103/2557, คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 รวมทั้งการบังคับให้สื่อต้องทำบันทึกข้อตกลงสำหรับการกลับมาออกอากาศ (MOU) ของสถานีที่ถูกสั่งปิดไปโดยประกาศ คสช. ที่ 15/2557ประกาศและคำสั่งต่างๆ เหล่านี้เพิ่มเติมเงื่อนไข และหลักเกณฑ์ให้ กสท. สามารถเลือกหยิบยกเอามาใช้ในการพิจารณาสั่งลงโทษสื่อวิทยุโทรทัศน์ได้ง่ายขึ้น เมื่อประกอบกับอำนาจตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ที่มีอยู่อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ทำให้ขอบเขตของเนื้อหาที่ต้องห้ามออกอากาศของสื่อกว้างขวางมากขึ้น ดังนี้

ข้อห้ามตาม มาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ
1.       รายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2.       รายการที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
3.       รายการที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
4.       รายการที่มีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร
5.       รายการที่มีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

ข้อห้ามตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 และ MOU
1. ข้อความอันเป็นเท็จ หรือที่ส่อไปในทางหมิ่นประมาท หรือสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ องค์รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
2. ข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ รวมทั้งหมิ่นประมาทบุคคลอื่น
3.  การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อทําลายความน่าเชื่อถือของ คสช. ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ
4. ข้อมูลเสียง ภาพ วีดิทัศน์ ความลับของการปฏิบัติงานของหน่วยราชการต่างๆ
5. ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร
6. การชักชวน ซ่องสุม ให้มีการรวมกลุ่มก่อการอันเกิดการต่อต้านเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องของ คสช.
7. การขู่จะประทุษร้ายหรือทําร้ายบุคคล อันนําไปสู่ความตื่นตระหนก หวาดกลัวแก่ประชาชน

ข้อห่วงกังวล ต่อเสรีภาพสื่อมวลชน

ภายใต้อำนาจของ กสทช. ที่ค่อนข้างกว้างขวาง หลายฝ่ายก็ได้แสดงความกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเสรีภาพของสื่อมวลชน ตัวอย่างเช่น

9 มิถุนายน 2557 สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ได้ให้ความเห็นต่อการพิจารณาให้สถานีโทรทัศน์ที่ถูกปิดตามประกาศ คสช. ที่ 15/2557 กลับมาออกอากาศได้ว่า แม้จะมีการอนุญาตให้ออกอากาศได้ตามปกติ โดยปรับปรุงเนื้อหารายการให้สอดคล้องกับประกาศและเงื่อนไขของ คสช. แต่ในอนาคตหรือระยะที่ปลอดพ้นเงื่อนไขตามประกาศของ คสช. ผู้ประกอบการสื่อโทรทัศน์จำเป็นต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอเนื้อหาได้ อีกนัยหนึ่ง คือ การปรับปรุงเนื้อหาให้ไม่ขัดต่อประกาศและเงื่อนไขของ คสช. นั้นกระทบต่อเสรีภาพของสื่อ

5 กรกฎาคม 2559 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนแถลงการณ์ระบุว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 ที่จำกัดความรับผิดของการใช้อำนาจของ กสทช. อาจทำให้เกิดการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนต่อสถานการณ์บ้านเมือง ทั้งการขยายอำนาจตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ให้ครอบคลุมไปถึงประกาศ คสช. ที่ 97/2557 และ 103/2557 เป็นการขยายอำนาจในการจำกัดเสรีภาพของสื่อจนเกินขอบเขต ซึ่งจะทำให้สื่อมวลชนทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารด้วยความหวาดกลัว และส่งผลให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ครบถ้วนรอบด้าน

20 มีนาคม 2561 กุลชาดา ชัยพิพัฒน์ สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ว่า การใช้ ประกาศคสช.ที่ 97 และ 103/2557 แน่ชัดว่าเป็นการเมืองมากกว่ามีผลกระทบความมั่นคงหรือสร้างความแตกแยก การใช้อำนาจของ กสทช. ลักษณะนี้ จะกระทบต่อบรรยากาศการเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ของประเทศไทยในปี 2562 

ประกาศและคำสั่งที่ คสช. ออกมาโดยอำนาจพิเศษเหล่านี้ ไม่เพียงถูก กสท. นำมาบังคับใช้เพื่อตีกรอบการนำเสนอเนื้อหาของสื่อ แต่ยังถูกนำมาใช้ดำเนินงานด้านอื่นๆ ของ กสทช. ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงออกอากาศให้เป็นไปตามประกาศ คสช. ที่เกี่ยวข้อง และการชะลอการพิจารณาปรับปรุงร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง (ฉบับที่ 2 ) ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะแล้วเพื่อปรับแนวทางให้สอดคล้องกับประกาศคสช.
 

ปัญหาในการปฏิบัติงานของ กสทช.

1.      ขาดแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน ขาดการนิยามขอบข่ายเนื้อหาต้องห้ามที่ชัดเจน

มาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ และประกาศ คสช. ที่ 97/2557 และ 103/2557 มีการใช้ถ้อยคำที่เป็นเงื่อนไขในการจำกัดการนำเสนอเนื้อหาที่กว้างขวางและกำกวม เช่น เนื้อหากระทบต่อความมั่นคงของรัฐ, เนื้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงและเนื้อหาที่ยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง เป็นต้น อันเป็นประเด็นที่นำมาถกเถียงในที่ประชุมพิจารณาเนื้อหาสื่อของ กสท. ตั้งแต่การเริ่มลงโทษสื่ออย่าง พีซ ทีวี ด้วยประกาศดังกล่าวครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2558 โดยสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ซึ่งได้รับตำแหน่งในโควต้าผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เป็นผู้แสดงความเห็นเรียกร้องให้ กสท. ออกแนวปฏิบัติเพื่อกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนในเรื่องรูปแบบหรือลักษณะการนำเสนอเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง หรือยั่วยุปลุกปั่น เพื่อบังคับใช้ต่อสื่ออย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติเฉพาะสื่อใดสื่อหนึ่ง 

สอดคล้องกับที่เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เคยเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาความไม่ชัดเจนของขอบเขตเนื้อหา โดยเสนอให้ กสท. พิจารณาวางแนวปฏิบัติการพิจารณาเนื้อหารายการต้องห้ามไม่ให้ออกอากาศตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ และตามประกาศ คสช. เพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบกิจการ รวมทั้งวางหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจกำหนดโทษทางปกครองให้เหมาะสมและมีมาตรฐาน แต่ยังคงไม่ปรากฏแนวปฏิบัติในการใช้ดุลพินิจต่อเนื้อหาด้านต่างๆ ที่ชัดเจน หลังจากนั้นก็ยังปรากฏกการทวงถามหาแนวปฏิบัติจากสุภิญญาอยู่เนืองๆ เช่น ปรากฏในมติ กสท. วันที่ 30 มีนาคม 2558 และวันที่ 12 พฤษภาคม 2559

เรื่องแนวปฏิบัติที่ชัดเจนถูกพูดถึงอีกครั้งในวาระพิจารณาวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 เพื่อกำหนดโทษสถานีพีซ ทีวี ให้ระงับการออกอากาศทั้งสถานีเป็นเวลา 30 วัน จากการนำเสนอเนื้อหาละเมิดมาตรามาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ โดยสุภิญญา กลางณรงค์  แสดงความเห็นประกอบอีกครั้งว่า ในแง่สื่อที่เลือกข้างทางการเมือง กสทช. ควรวางแนวทางการกำกับสื่อ เพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติกับสื่อเฉพาะบางรายเท่านั้น ดังที่ กสม. เคยให้คำแนะนำไว้

เรื่องแนวปฏิบัติในการใช้ดุลพินิจของเนื้อหา, กรอบของเนื้อหาเรื่องต่างๆ และการเลือกข้างทางการเมืองเป็นเรื่องที่ที่ประชุมพูดถึงตลอดมา นอกจากนี้ยังปรากฏบันทึกที่สะท้อนให้เห็นถึงการตระหนักเรื่องการเลือกข้างทางการเมืองในสื่อโทรทัศน์อย่างน้อย 2 ความเห็น คือ วันที่ 4 กรกฎาคม 2559  ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกสทช. ได้แสดงทัศนะว่า กรณีสถานีพีซ ทีวี สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื้อรังของโทรทัศน์การเมืองไทย ที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกทางการเมืองในอนาคต โดยอธิบายว่า โทรทัศน์ช่องการเมืองของไทยขัดต่อแนวปฏิบัติทั่วโลก แต่การปิดกั้นไม่ใช่ทางออก จึงจำเป็นต้องจัดสรรให้ประชาชนได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน ควรจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นถึงการสนับสนุนฝ่ายการเมืองอย่างโปร่งใส หรือแสดงออกชัดเจนว่าสนับสนุนฝ่ายใด ไม่ใช่อย่างสื่อที่แสดงออกว่าเป็นกลาง แต่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

และวันที่ 15 สิงหาคม 2559 ความเห็นของคณะอนุกรรมการกำกับผังรายการและเนื้อหารายการ กสทช.ว่า การนำเสนอรายการของสถานีวอยซ์ ทีวี จะมีความเห็นที่ตรงข้ามกับรัฐบาลปัจจุบันอยู่แล้ว หากพิจารณาเป็นกรณีต่อไปก็จะไม่มีทางสิ้นสุดเพราะช่องดังกล่าวมีแนวทางของตนเองตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ถึงจะมีการพูดคุยอย่างไรก็ตาม พิธีกรหรือบุคคลที่กำหนดไว้แล้วตั้งแต่ต้นก็จะอยู่ครบเพราะเป็นกระบวนการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจ และสิ่งนี้ก็เป็นเครื่องมือเพื่อการนั้น

แต่อย่างไรก็ดีจากข้อคิดเห็นของสุภิญญา กลางณรงค์ ต่อมติ กสท. ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ระบุว่า สำหรับการนำเสนอเนื้อหาของรายการใดๆ ที่เข้าข่ายเป็นสถานีที่เลือกข้างทางการเมือง กสทช. ก็ควรกำหนดกรอบกติกาเดียวกันในการกำกับทุกสถานีที่อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้มีความชัดเจนต่อการใช้ดุลพินิจที่ไม่เลือกปฏิบัติกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สะท้อนให้เห็นว่า ตลอดระยะเกือบ 2 ปี นับตั้งแต่มีการแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ กสทช. ก็ยังไม่มีการกำหนดแนวปฏิบัติต่อสื่อการเมืองเพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติเลย โดยระหว่างนั้นมีการพิจารณาลงโทษสื่อเพิ่มเติมไปอีกไม่น้อยกว่า 19 ครั้ง

2.      การพิจารณาข้อเท็จจริงไม่รัดกุม-ฟังไม่รอบด้านก็ตัดสินได้

ขณะที่กระบวนการรับฟังความเห็นประกอบของคณะอนุกรรมการกำกับผังรายการและเนื้อหารายการ กสทช. ขาดมาตรฐานการรับฟังอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ในกระบวนการรับฟังข้อเท็จจริงประกอบมติของอนุกรรมการฯ กรณีสถานี พีซ ทีวี วันที่ 13 มิถุนายน 2559 ที่ประชุมกสท. มีมติให้ให้คณะอนุกรรมการฯผู้แทนหน่วยงานความมั่นคงและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาให้ความเห็น แต่ในวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ที่ประชุม กสท. มีมติเชิญผู้แทนฝ่ายความมั่นคงมาให้ ความเห็นประกอบ ซึ่งท้ายที่สุดคณะอนุกรรมการฯ ได้ทำหนังสือขอให้หัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อฯ ของคสช. มาให้ความเห็นเพียงฝ่ายเดียว และในการพิจารณากรณีสถานี สปริงนิวส์ที่ กสท. มีมติในวันที่ 8 สิงหาคม 2559 คณะอนุกรรมการฯก็สอบถามความเห็นจากคณะทำงานติดตามสื่อฯ ของคสช. เพียงฝ่ายเดียว อีกเช่นกัน 

นอกจากการความไม่แน่นอนในแนวปฏิบัติแล้ว ยังปรากฏว่า การพิจารณามติเร่งด่วนของสถานีพีซ ทีวี เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 ยังมีความไม่รัดกุม จากรายละเอียดความเห็นของสุภิญญา กลางณรงค์ ระบุว่า การพิจารณาลงโทษครั้งนี้ได้รับการร้องเรียนจากคณะทำงานติดตามสื่อฯ ของคสช. ในวันที่ 22 เมษายน 2558 และจึงนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมวันที่ 27 เมษายน 2558 โดยไม่ผ่านขั้นตอนการรวบรวมข้อเท็จจริงตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรวบรวมข้อเท็จจริงฯ  ที่กำหนดให้คู่กรณีมีโอกาสทราบข้อร้องเรียนและแสดงพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อโต้แย้งข้อกล่าวหาภายในระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน และสุภิญญายังมองว่า กรณีดังกล่าว ไม่ได้มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเข้าเงื่อนไขยกเว้น ทั้งการพิจารณามติลงโทษสถานี พีซ ทีวี ก็ไม่ได้มีการถอดความจากเทปออกอากาศทั้งหมดอย่างที่เคยทำในวาระใกล้เคียงกัน เพียงพิจารณาผ่านเทปบันทึกรายการบางส่วนของรายการเท่านั้น

หรือกรณีของสถานีวิทยุสปริงเรดิโอ ในวันที่ 12 เมษายน 2560 กสทช. มีคำสั่งอย่างไม่เป็นทางการให้สถานีวิทยุสปริงเรดิโอระงับการออกอากาศเป็นเวลา 7 วัน ทั้งที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อร้องเรียนเกี่ยวกับเนื้อหารายการที่ออกอากาศว่ามีความไม่เหมาะสมและอาจกระทบต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยหรือไม่ ต่อมาวันที่ 17 เมษายน 2560  กสทช. มีคำสั่งให้สถานีกลับมาออกอากาศอีกครั้งในเวลา 12.00 น. ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมที่ให้สถานีกลับมาออกอากาศได้ในเวลา 24.00 น. ของวันที่ 17 เมษายน 2560 แต่ไม่มีความชัดเจนว่า การถูกสั่งให้ระงับการออกอากาศนั้นเป็นเพราะเนื้อหาที่นำเสนอขัดต่อกฎหมายฉบับใด

นอกจากนี้สถานะของคณะทำงานติดตามสื่อฯ ของคสช. ยังคงเป็นเรื่องน่าสับสนในกระบวนการพิจารณาเนื้อหาของ กสทช. จากข้อมูลการลงมติของ กสทช. พบว่า มีการร้องเรียนเนื้อหาที่อาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมายไม่น้อยกว่า 7 ครั้ง ที่มาจากคณะทำงานติดตามสื่อฯ ในจำนวนนั้น 5 ครั้งเป็นการร้องเรียนต่อสถานี วอยซ์ ทีวี และพีซ ทีวี แต่ในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่อสถานีทั้งสองแห่งนี้ในกรณีอื่นๆ ที่ตามเอกสารไม่ระบุว่า บุคคลหรือองค์กรใดเป็นผู้ร้องเรียน คณะอนุกรรมการฯ กลับเชิญคณะทำงานติดตามสื่อฯ ที่เคยเป็นผู้ร้องเรียนสื่อรายดังกล่าวให้มาแสดงความคิดเห็นหรือทำหนังสือสอบถามความเห็นว่า เนื้อหาของสื่อดังกล่าวเข้าข่ายขัดต่อประกาศ คสช. หรือไม่

ในความไม่ชัดเจนของแนวปฏิบัติในการใช้ดุลพินิจกำกับสื่อของ กสท. ยังปรากฏในการออกความเห็นของคณะทำงานติดตามสื่อฯ คสช. เท่าที่สามารถสืบค้นข้อมูลได้มีไม่น้อยกว่า 3 ครั้งที่คณะทำงานชุดนี้ระบุว่า สื่อกระทำผิดประกาศ คสช. โดยไม่มีการอธิบายว่า เนื้อหาส่วนใดที่เป็นหรือไม่เป็นปัญหา ดังนี้

กรณีวอยซ์ ทีวี 

ครั้งที่ 1 วันที่ 8 สิงหาคม 2559 ที่ประชุม กสท. พิจารณาเนื้อหารายการ Tonight Thailand มีมติว่า เนื้อหารายการขัดต่อประกาศคสช.ที่ 97/2557 และ 103/2557 และบันทึกข้อตกลงระหว่าง กสทช. และวอยซ์ ทีวี จากความเห็นของสุภิญญา กลางณรงค์ พบว่า การพิจารณาในวาระได้ทำหนังสือขอสอบถามความเห็นเฉพาะไปยังหัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อฯ คสช. และได้ทำหนังสือตอบกลับโดยไม่ได้มีการชี้ชัดในรายละเอียดว่า เนื้อหาการออกอากาศในส่วนใดมีลักษณะที่เข้าข่ายว่าเป็นการกระทำอันเป็นการขัดต่อประกาศ คสช.

ครั้งที่ 2 วันที่ 29 สิงหาคม 2559 ที่ประชุม กสท. พิจารณาเนื้อหารายการ Wake Up News มีมติว่า เนื้อหาขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 และบันทึกข้อตกลงระหว่าง กสทช.และวอยซ์ ทีวี  จากความเห็นของสุภิญญา กลางณรงค์ พบว่า การพิจารณาในวาระได้ทำหนังสือขอสอบถามความเห็นเฉพาะไปยังหัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อฯ คสช. และได้ทำหนังสือตอบกลับโดยไม่ได้มีการชี้ชัดในรายละเอียดว่า เนื้อหาการออกอากาศในส่วนใดมีลักษณะที่เข้าข่ายว่าเป็นการกระทำอันเป็นการขัดต่อประกาศ คสช.

กรณีสปริงนิวส์ ทีวี 

วันที่ 8 สิงหาคม 2559 มติ กสท. พิจารณาเนื้อหารายการเผชิญหน้า Face Time เกี่ยวกับการไม่ร่วมพิธีถวายสัตย์ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า เนื้อหารายการขัดประกาศคสช.ที่ 97/2557 และ 103/2557 และมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ จากความเห็นของสุภิญญา กลางณรงค์ กรณีดังกล่าวในชั้นอนุกรรมการฯ ไม่เห็นว่า เข้าข่ายขัดต่อกฎหมายใด ขณะที่ในกระบวนการรวบรวมข้อเท็จจริงได้มีการขอความเห็นจากคณะทำงานติดตามสื่อฯ คสช. และมีคำตอบกลับมาว่า เนื้อหาของรายการเผชิญหน้า Face Time ไม่เป็นไปตามคำสั่งหรือประกาศ คสช. ในลักษณะยุยงปลุกปั่น สร้างความเข้าใจผิด อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของรัฐ แต่ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน

3. ไม่มีลำดับขั้นการลงโทษ-ไม่ผิดก็เรียกมาตักเตือนได้

ในเรื่องการกำกับและกำหนดโทษทางปกครองตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ประกอบกับประกาศคสช.ที่ 97/2557 และ 103/2557 หาก กสทช. พบว่า สื่อวิทยุโทรทัศน์ นำเสนอเนื้อหาที่เข้าข่ายเนื้อหาต้องห้าม กสทช. มีอำนาจที่จะกำหนดโทษได้ ดังต่อไปนี้
1.       กำหนดโทษปรับทางปกครอง 50,000-500,000 บาท
2.       สั่งด้วยวาจา หรือด้วยหนังสือ ให้ระงับการออกอากาศ
3.       สั่งเพิกถอนใบอนุญาต หรือที่ให้ผล คือ การปิดสถานี

แต่ในการใช้อำนาจ กสท. ก็ไม่มีความชัดเจนในแนวทางการกำหนดบทลงโทษ ดังกรณีของสถานี พีซ ทีวี และ ทีวี 24 ซึ่งถูกพิจารณาว่า เผยแพร่เนื้อหาต้องห้ามออกอากาศตามกฎหมายครั้งแรกเหมือนกัน แต่สถานี พีซ ทีวี ได้รับการตักเตือน ขณะที่ ทีวี 24 ถูกระงับการออกอากาศทั้งสถานีเป็นเวลา 7 วัน

ในข้อสังเกตต่อระเบียบวาระการประชุม กสท. ของพันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท. ระบุว่า การกำหนดโทษทางปกครองของทีวี 24 ควรมีกระบวนการ ขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานเดียวกันกับกรณีการกำหนดโทษของสถานี พีซ ทีวี กล่าวคือ มีการตักเตือนพร้อมแจ้งมาตรการทางปกครองก่อนจะดำเนินกระบวนการตามลำดับ

ขณะที่ตามประกาศ กสทช. ไม่ปรากฏการกำหนดมาตรการลงโทษในกรณีที่สื่อถูกพิจารณาว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่า มีกรณีที่สื่อถูกเรียกตักเตือน ไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง ทั้งที่ตามผลการพิจารณาของ กสท. ก็มีมติแล้วว่า สื่อดังกล่าวไม่ได้กระทำความผิด โดยแบ่งเป็นสถานี วอยซ์ ทีวี 3 ครั้งและสถานีไทยพีบีเอส 1 ครั้ง

กรณีวอยซ์ ทีวี

ครั้งที่ 1 วันที่ 30 มีนาคม 2558 ที่ประชุม กสท. รับทราบผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหา เห็นควรมีหนังสือขอให้บริษัทใช้ความระมัดระวัง ความละเอียดรอบคอบ ในการตรวจสอบเนื้อหารายการก่อนที่จะมีการนำออกอากาศที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย 

ครั้งที่ 2 วันที่ 20 มิถุนายน 2559 ไม่เปิดเผยเนื้อหา

ครั้งที่ 3 วันที่ 15 สิงหาคม 2559 ที่ประชุม กสท. พิจารณาเนื้อหารายการ Wake up News (วาระแรก) เห็นตามมติคณะอนุกรรรมการฯว่า เนื้อหารายการไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่กลับมีหนังสือขอความร่วมมือให้วอยซ์ ทีวีระมัดระวังและละเอียดรอบคอบในการเสนอเนื้อหา 

กรณีไทยพีบีเอส 

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 กสท.พิจารณาเนื้อหาสกู๊ปข่าวเรื่อง นักศึกษากลุ่มดาวดิน ในรายการ ที่นี่ Thai PBS โดยกรรมการเห็นพ้องว่า การนำเสนอเนื้อหาไม่ขัดต่อมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ แต่มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการเชิญผู้แทนไทยพีบีเอสมาตักเตือนด้วยวาจา

You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน