คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เมื่อใช้ซ้อนกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพื่อจำกัดเสรีภาพอย่างเป็นระบบ

“ผู้ใดมั่วสุม  หรือชุมนุมทางการเมือง  ณ  ที่ใด ๆ  ที่มีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป   ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน  หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  หรือทั้งจําทั้งปรับ  เว้นแต่เป็นการชุมนุม ที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย”
 
 
เป็นความในข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างที่เจ้าหน้าที่รัฐนำมาใช้ในการแทรกแซงหรือจำกัดเสรีภาพการแสดงออกมาตลอดกว่าสามปีนับแต่มีการประกาศใช้ โดยมีประชาชนไม่น้อยกว่า 421 คนถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ข้อนี้ เนื้อหาการแสดงออกส่วนใหญ่ที่ถูกห้ามจะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่ออำนาจเบ็ดเสร็จของ คสช. อย่างมีนัยสำคัญ เช่น การแสดงความคิดเห็นต่อเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ และการเรียกร้องให้ คสช. จัดการเลือกตั้งของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เป็นต้น
 
 
 
ที่ผ่านมาคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองถูกใช้ควบคู่ไปกับ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่ประกาศใช้ออกมาในภายหลัง ทั้งที่ตามหลักกฎหมายแล้ว หากมีกฎหมายใหม่ออกมาใช้บังคับที่มีเนื้อหาในประเด็นเดียวกับกฎหมายเก่า กฎหมายเก่าจะต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยาย แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 กลับไม่มีศาลใดพิจารณาว่า ถูกยกเลิกไปแล้ว ในทางตรงกันข้ามกลับถูกใช้เป็น “อาวุธ” สำคัญในการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกควบคู่ไปกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ อย่างเป็นระบบตลอดมา 
 
 
จากการเก็บข้อมูลพบแนวโน้มการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการชุมนุมของเจ้าหน้าที่สามประการ ดังนี้
 
อ้างคำสั่งเพื่อสกัดกั้นการใช้เสรีภาพ
 
 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 กลายเป็นเครื่องมือที่เจ้าหน้าที่รัฐนำมาใช้เพื่อ “เตือน” บรรดาผู้ใช้เสรีภาพว่า หากยืนยันที่จะใช้เสรีภาพแสดงออกในเรื่องนั้นๆ อยู่อาจเข้าข่ายการละเมิด คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 จนก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวต่อผู้ใช้เสรีภาพว่า การแสดงความคิดเห็นอาจนำมาสู่คดีความที่ต้อง “มีปัญหากับทหาร” หรือก่อให้เกิดความยุ่งยากในอนาคต ทำให้บางรายเลือกที่จะยุติการแสดงออก และบางรายพยายามหาวิธีการอื่นในการต่อสู้กับอำนาจต่อไป เช่น
 
 
หนึ่ง วันที่ 25 เมษายน 2558 ในงานเปิดห้องประชุม ‘ลุงนวมทอง ไพรวัลย์’ เจ้าหน้าที่ขอให้เลื่อนวันจัดงานออกไปก่อน เนื่องจากไม่ได้มีการขออนุญาตจัดงาน และชื่อของลุงนวมทอง ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางการเมืองสุ่มเสี่ยงละเมิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558
 
 
สอง วันที่ 28 กันยายน 2559 ในงานเสวนา “รัฐธรรมนูญใหม่ เอาไงดีจ๊ะ?” ทหารกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ และตำรวจสน.ปทุมวัน โทรศัพท์ไปที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ (หอศิลป์ฯ) และส่งจดหมายไปว่า งานอาจเข้าข่ายการชุมนุมการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ให้เจ้าของงานขออนุญาตก่อน เมื่อผู้จัดงานยื่นหนังสือชี้แจงไป ทหารก็ไม่ได้พิจารณาให้ทันเวลา จนหอศิลป์ฯ ต้องยกเลิกการใช้พื้นที่ ผู้จัดงานจึงเปลี่ยนรูปแบบเป็นการอัดรายการเวทีสาธารณะ ที่สถานีไทยพีบีเอสแทน
 
 
สาม วันที่ 19 กันยายน 2559 ในกิจกรรม “ร้องเพลงให้ลุงฟัง” ในวันครบรอบ 10 ปี รัฐประหาร ตำรวจได้เข้าเจรจาโดยอ้างคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ สั่งห้ามจัดกิจกรรมและขอให้ศิลปินทั้งหมดเดินทางออกจากพื้นที่ ซึ่งศิลปินทั้งหมดได้ยินยอมและเดินทางกลับโดยทันที
 
 
ใช้คำสั่ง คสช. เพื่อแก้ไขการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่ไม่ถูกต้อง
 
 
การบังคับใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ควบคู่กันไปนำไปสู่การใช้เลือกหยิบกฎหมายมาสั่งห้ามชุมนุมอย่างตามอำเภอใจ โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐสามารถหยิบยกถ้อยคำตามกฎหมายใดมาก็ได้ที่เอื้อต่อเป้าประสงค์ในการปิดกั้นเรื่องราวที่รัฐไม่ต้องการรับฟัง และยังสะท้อนถึงความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐในการบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จนต้องอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ในการแก้ไขการจับกุมที่ไม่สอดคล้องกับที่กฎหมายบัญญัติไว้ ดังกรณีของการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
 
 
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 หลังผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเคลื่อนตัวออกจากบริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งให้สั่งยกเลิกการชุมนุม โดยเป็นขั้นตอนตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ วันถัดมาเจ้าหน้าที่ทยอยจับกุมแกนนำห้าคน กับผู้เข้าร่วมการชุมนุม 12 คน และนักศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิตอีก 2 คน โดยไม่มีการแจ้งข้อหาหรือชี้แจงอำนาจการจับกุม ต่อมาวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 ทหารแถลงว่า ผู้ชุมนุมกระทำผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จากการที่ผู้ชุมนุมออกมาชุมนุมนอกพื้นที่ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ตามที่ขออนุญาตไว้
 
 
แต่พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุมต่อเมื่อศาลมีคำสั่งเลิกการชุมนุมและประกาศให้พื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่ควบคุมแล้วเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เขียนให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุมแล้วนำตัวไปพูดคุยในค่ายทหารได้ เมื่อทนายความได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ค่ายมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวแกนนำ กลับได้รับแจ้งว่า เป็นการจับกุมโดยใช้อำนาจตาม ม.44 (คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่3/2558) ที่สามารถจับกุมและควบคุมตัวผู้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือประกาศ คสช. ได้
 
 
ใช้คำสั่ง คสช. เพื่อครอบคลุมให้กว้างกว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ
 
 
ตามมาตรา 3 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดยกเว้นการใช้บังคับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ กับพื้นที่ภายในสถานศึกษา และการชุมนุม, การประชุม หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการของสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ทางวิชาการ แต่ปรากฏว่า หลายกรณีเจ้าหน้าที่รัฐกลับนำคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 มาใช้เพื่อปิดจำกัดการทำกิจกรรมในสถานศึกษาที่อำนาจของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไปไม่ถึง เช่น การกล่าวหาคดีขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ต่อผู้เข้าร่วมการสัมมนาไทยคดีศึกษา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และงานเสวนา “ร่วมพิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก่อนประชามติ” ของกลุ่มพลเมืองเสวนา citizen forum ที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ทางมหาวิทยาลัยสั่งยกเลิกการจัดงาน เพราะเกรงว่าจะเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558
 
 
นอกจากนี้ยังพบว่า การอ้างอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ถูกอ้างใช้อย่างสับสนควบคู่ไปกับการไต่สวนของศาล ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ด้วย ดังปรากฏในกรณีการจัดกิจกรรม “เทใจให้เทพา” ที่ประชาชนประมาณ 80 คน ทำกิจกรรมเดินเท้าจากอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ไปที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 12.00 น. ระหว่างที่ศาลแพ่งจังหวัดสงขลานัดไต่สวนว่า การชุมนุมได้ปฏิบัติถูกต้องตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือไม่ ซึ่งตราบที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้การชุมนุมเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตำรวจก็ยังไม่มีอำนาจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม แต่ในทางปฏิบัติระหว่างที่ชาวบ้านเทพาประมาณ 80 คนเดินเท้าไปถึงบริเวณข้างมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ก็เจอกับแนวกั้นของตำรวจ และไม่สามารถเดินฝ่าแนวกั้นต่อไป  
 
 
เอกชัย หนึ่งในผู้ชุมนุมได้เจรจากับ พ.ต.อ.ประพัตร์ ศรีอนันต์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา และพ.อ.อุทิศ อนันตนานนท์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 ในตอนหนึ่งของการพูดคุย พ.ต.อ.ประพัตร์ได้บอกต่อเอกชัยว่า ไม่ให้ชาวบ้านเดินต่อไปในตัวเมืองจังหวัดสงขลา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีบุคคลพิเศษเข้ามา หากชาวบ้านเข้ามาอาจเกิดความวุ่นวายได้ โดยมีคำอธิบายจากจากพ.อ.อุทิศว่า  เนื่องจากได้ใช้ “มาตรา 44” ประกาศให้บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่พิเศษ ซึ่งเข้าใจได้ว่า หมายถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจ “มาตรา 44” ของรัฐธรรมนูญ
 
 
หรือกรณีของการจัดกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2561 ซึ่งผู้ชุมนุมได้แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า และปฏิบัติอยู่ในกรอบของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทุกประการแล้ว แต่ตำรวจก็ใช้กำลังเข้าขัดขวางไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินเท้าออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตได้ โดยตำรวจอ้างว่า การชุมนุมมีลักษณะเข้าข่ายเรื่องการเมือง และขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 จึงเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย และห้ามไม่ให้เดินหน้าทำกิจกรรมต่อไป