นักวิชาการกะเทาะเพลง “ประเทศกูมี” ชี้สะท้อนสังคมและไม่สะเทือนความมั่นคงของประเทศ

 
วันพุธที่ 31 ตุลาคม 2561 เวลา 13.30 – 16.30 น. ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และเครือข่ายศิลปินเพื่อประชาธิปไตย จัดเสวนาหัวข้อ "ศิลปะ อำนาจ และการขัดขืน" โดยมีสมาชิกของ Rap Against Dictatorship (RAD) และนักวิชาการมาพูดคุยกันในเรื่องประเทศกูมี ทั้งในด้านกฎหมายและศิลปะ

 

“…ประเทศกูมีเป็นบทเพลงทางการเมืองที่มีการปรับตัวและใช้วัฒนธรรมมาผสมผสาน สร้างจิตสำนึกรวมหมู่บางอย่างที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม…”

 

 

รศ.ดร. สุชาติ แสงทอง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ อธิบายพื้นฐานความคิดเรื่องดนตรีการเมือง(Political music) ว่า เกิดขึ้นมาในสังคมสยามจนถึงสังคมไทยเป็นช่วงๆตลอดเวลา โดยเกิดจากแรงบันดาลใจเกี่ยวกับความคิดของผู้ที่เขียนบทเพลงนี้ เพื่อสะท้อนวัฒนธรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคแต่ละสมัย

 

ที่ผ่านมาความเป็นดนตรีถูกใส่ไปกับประชาชนโดยที่ประชาชนไม่ได้ขัดขืนอะไรเลย อุดมการณ์ความแตกต่างทางการเมืองก็เกิดขึ้นมากมายในดนตรีการเมือง ที่สำคัญความงดงามของความเป็นดนตรีคือ ไม่มีความเสียเลือดเสียเนื้อ ดังนั้น “ประเทศกูมี” จึงเป็นความงดงามอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ดนตรีการเมืองของไทย อย่างไรก็ตามดนตรีการเมืองมีความเปลี่ยนแปลงโดยตลอดเวลา มาถึงยุคของเพลง “ประเทศกูมี” ก็เป็นเพลงแรป เห็นได้ถึงความพยายามที่จะผสมผสานที่จะนำความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาไปกะเทาะความรู้สึกของผู้คนให้ได้มากที่สุด เป็นบทเพลงทางการเมืองที่มีการปรับตัวและใช้วัฒนธรรมมาผสมผสาน สร้างจิตสำนึกรวมหมู่บางอย่างที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม

 

ดนตรีการเมืองบางอย่างนั้น ผู้รับเข้ามาอาจจะไม่รู้ว่า มันเป็นนัยสำคัญที่จะทำให้เราตกเป็นอะไรบางอย่างของบริบททางการเมืองนั้นๆ เช่นในสมัยรัชกาลที่สี่ อังกฤษเข้ามาอยู่ในสยามและนำวัฒนธรรมมาด้วย รวมทั้งเพลง God Save the Queen ที่เป็นเพลงชาติอังกฤษ สมัยนั้นมีการใช้ God Save the Queen มาแต่งเพลงจอมราชจงเจริญ มาจนถึงยุคหนึ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลง บุคลิกของดนตรีก็มีการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งก็คือเมื่อเข้าสู่รัชกาลที่ห้า พระองค์ทรงพระดำริว่า เราไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ทำไมเราถึงต้องใช้เพลง God Save the Queen ด้วย จึงเกิดความเปลี่ยนแปลง ยุคที่เห็นบทเพลงทางการเมืองมากที่สุดคือ สมัยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ที่ใช้บทเพลงปลุกใจรักชาติ มีประกาศรัฐนิยม ใช้เพลงตอกย้ำให้ประชาชนกระทำตามนโยบายของรัฐ เช่น ความต้องการให้ประชาชนประหยัด จึงเขียนเพลงก๋วยเตี๋ยวขึ้นมาเพื่อให้คนเลือกกินอาหารที่ประหยัด

 

จากนั้นเริ่มมีการต่อต้าน ปรากฏอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใหม่ที่เข้ามาต่อต้าน เช่น ลัทธิจากประเทศจีน มีการนำเพลงจีนเข้ามาเป็นการปลุกระดมที่จะต่อต้านอำนาจรัฐยุคเดียวกัน ต่อมากลุ่มนักปฏิวัติที่เข้าป่าและออกมาเกิดความเบื่อหน่ายความเป็นจีนหรือที่เขาพูดว่า “เหม็นกลิ่นเต้าเจี้ยว” จึงสร้างเพลงขึ้นมาใหม่  โดยเริ่มมีการใช้บทเพลงทางการเมืองที่ต่อสู้กัน สิ่งเหล่านี้ ทำให้เห็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ใช้บทเพลงต่อสู้ทางการเมือง

 

บทเพลง “ประเทศกูมี” ที่เกิดขึ้นใหม่ในยุคนี้ ถ้านิยามบทเพลงที่เกิดขึ้นใหม่ หากเป็นดนตรีการเมืองอาจจะเป็นภาพใหญ่เกินไป แต่สิ่งที่เขาคิดคือ  “ประเทศกูมี” อาจจะเป็นบทเพลงปลุกใจ มันไม่ใช่เพลงที่เกิดขึ้นจากรัฐ แต่เป็นเพลงปลุกใจของภาคประชาชนที่เบื่อรัฐ รากฐานความคิดของเพลงนี้ เขาเชื่อในความบริสุทธิ์ของกลุ่ม RAD ว่า น้องๆ(RAD)คงจะผิดหวังกับความรัก คงจะเป็นคนที่เคยรัก

 

สุชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าพูดถึงศาสตร์เรื่องเสียง เพลงจำเป็นต้องมีองค์ประกอบที่ลงตัว จะเห็นได้ว่า เพลงดังกล่าวนำคำอธิบายทางดนตรีมาห่อหุ้มอุดมการณ์ไว้ ขณะที่เพลงที่จะประสบความสำเร็จได้ ผู้รับสารจะต้องมีประสบการณ์ร่วมด้วยกันเสมอ เกิดการซึมซับ สร้างอุดมการณ์ร่วม เมื่อพิจารณาเพลงนี้จะเห็นถึงพลัง เป็นพลังที่ทรงคุณค่ามาก ถือเป็นยุคใหม่ของดนตรีการเมืองร่วมสมัย (Political contemporary music) เป็นบทเพลงที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ไม่น่าจะเสียหายหากมีการสร้างเพลงอีก

 

“…สุนทรีศาสตร์การต่อต้านที่ “ประเทศกูมี” ใช้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ตรงที่คนกำลังกระหาย คนกำลังหิวโหยไม่รู้จะออกไปไหน และทุกคนที่นั่งอยู่ตรงนี้ก็รอหาความเป็นตัวแทนของตัวเองพูดแทน…”

 

 

ดร. ถนอม ชาภักดี สาขาวิชาศิลปะจินตทัศน์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ภาพของการต่อสู้อำนาจรัฐนอกพื้นที่ส่วนกลางอย่างขอนแก่นหรือพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า รากฐานของแรปก็คือกลุ่มกบฏที่ไม่มีพื้นที่ ซึ่งมันมาพร้อมกับกราฟฟิตี้และการที่ไม่มีใครฟัง ฉะนั้นถ้าจะย้อนกลับไปในสังคมไทยหรือสยามหรือพื้นที่ก่อนสยาม เราจะเห็นว่า การต่อต้านอำนาจส่วนกลางมันมีมาตลอด ที่ผ่านมาเวลาพูดถึงเพลงขบถ หมายถึงเพลงภาษาไทย แต่ลืมไปว่า ยังมีเพลงหมอลำ ที่ขบถตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์เรียกว่า กบฏผีบุญ แต่ไม่เคยพูดถึงเสียงของประชาชนเหล่านั้นเลยว่า ทั้งในปัจจุบันเรากลับนับวิธีคิดขบวนการต่อสู้ในเมืองมากกว่า หากเราให้ความสำคัญกับชาวบ้าน เสียงของคนขบถและคนที่ได้รับผลกระทบจากกลไกรัฐให้มากกว่านี้ เราจะได้ยินเสียงของคนมากขึ้นในประเทศนี้

 

ที่ผ่านมานักวิชาการและปฏิบัติการไม่พูดถึงหมอลำในสถานะเพลงขบถ ทั้งที่ในสมัยสงครามเย็นหมอลำถูกใช้ทั้งรัฐและพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อต่อสู้ซึ่งกันและกัน ซีไอเอเคยจ้างหมอลำ พาขึ้นเฮลิคอปเตอร์และลำบนอากาศเพื่อให้คนได้ฟัง ฉะนั้นกลอนลำในช่วงสงครามเย็นมีทั้งของพรรคคอมมิวนิสต์และและของรัฐ แต่งกลอนสู้กันในชนิดที่เรีกยว่า กลอนต่อกลอน หมัดต่อหมัด กระบวนการต่อสู้โดยการใช้อำนาจเบา (Soft power) มีมาตลอดเพื่อเป็นการต่อรองอำนาจรัฐ

 

แต่ในยุคปัจจุบันโครงสร้างของเผด็จการทหารมีความแยบยลมากกว่า มันสามารถที่จะกล่อมเกลาให้กระบวนการศิลปะตกเป็นเครื่องมือของเขามากกว่าที่ประชาชนใช้ หากจะกล่าวว่า กลไกของรัฐเช่น ทหาร มีอำนาจควบคุมมากกว่าประชาชนก็จริง แต่ประชาชนก็ไม่ได้หาวิธีการต่อสู้ให้มากขึ้น เขามองว่า สุนทรีศาสตร์การต่อต้านที่ “ประเทศกูมี” ใช้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ตรงที่คนกำลังกระหาย คนกำลังหิวโหยไม่รู้จะออกไปไหน และทุกคนที่นั่งอยู่ตรงนี้ก็รอหาความเป็นตัวแทนของตัวเองพูดแทน เช่น RAD ออกมาพูดแทน แทนที่จะออกมาร่วมกันร้องเพลงด้วยกันไม่ทำ เพราะทุกคนก็ห่วงสถานะว่า ไม่ได้

 

เขาเล่าย้อนไปถึงการจัดงานขอนแก่น มานิเฟสโต้ เมื่อเดือน 2561 ว่า งานดังกล่าวใช้สุนทรียศาสตร์ในการต่อต้านรัฐเช่น การเปิดวันที่ 6 ตุลาคม 2561 และไม่ได้เปิดในหอศิลป์ฯหรือพิพิธภัณฑ์ แต่เช่าตึกร้างบนถนนมิตรภาพที่เป็นของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเคยดูดเงินของคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปเป็นหลักพันล้านระหว่างปี 2531-2540 ก่อนจะล้มละลายในปี 2540 และเพิ่งเปิดให้เช่าไม่นานมานี้ ซึ่งพื้นที่ขอนแก่นเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหา ทั้งปัญหาการเมืองและสังคม โดยเมื่องานดังกล่าวเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาใช้พื้นที่แสดงออกเช่น กราฟิตี้ ก็ปรากฏว่า มีประชาชนจำนวนมากบอกเล่าเรื่องราวที่อัดอั้นอยู่มานาน

 

นอกจากนี้ก่อนเริ่มงานคนของพันโทพิทักษ์พล ชูศรี หรือเสธ.พีธก็มาพูดว่า “ต้องยกเลิก ต้องเซนเซอร์หลายเรื่อง งานของไผ่ ดาวดินห้ามเด็ดขาด งานที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ห้ามเด็ดขาด งานนายห้ามเด็ดขาดหรือขัดต่อความมั่นคง”  จะเห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐมักจะวางข้อห้ามให้กำกวมไว้ ถ้าคุณทำผิดกฎหมายความมั่นคง มาตรา 44 หรือกฎหมายความมั่นคงพร้อมที่จะหยิบยื่นให้ แต่กระนั้นก็ตามหากไม่เสี่ยงก็ขัดขืนไม่ได้ เราไม่สามารถฟังเพลงแบบนี้ในช่วงจังหวะที่มีเสรีภาพแน่นอน เพียงแต่ว่า เราจะมาร่วมกันร้องลักษณะนี้ตอนไหนให้มันมากขึ้น โดยย้ำว่า ศิลปะทุกแขนงสามารถหยิบยื่นความน่าละอายให้แก่เผด็จการ

 

"…ศิลปะใดๆก็ตามไม่ว่าจะเป็นเพลงหรือเป็นหนังที่ช่วยกระตุ้นให้คนรู้ปัญหา กดดันให้รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจต้องแก้ไขปัญหาเหล่านั้นเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ…"

 

สาวตรี สุขศรี  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เหตุที่บรรดาผู้มีอำนาจของรัฐถึงอยากกดปราบหรือปิดกั้นศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะที่เข้าถึงได้ง่าย สาเหตุหนึ่งเพราะว่า ศิลปะหลายครั้งเข้าถึงประชาชนได้มากกว่า ปรากฏการณ์ “ประเทศกูมี”  หลายคนอาจจะประสบว่า ก่อนหน้านี้พูดคุยเรื่องการเมืองกับเพื่อน แต่เพื่อนก็ไม่เห็นฟังหรือสนใจ แต่พอมีเรื่อง “ประเทศกูมี”  กลับดึงดูดให้คนที่ไม่สนใจการเมืองมาสนใจได้ แสดงว่า ลักษณะศิลปะเข้าถึงคนง่ายกว่าและเสพย์ง่ายกว่า

 

เพลงนี้มีลักษณะแบบเดียวกับเพลงเพื่อชีวิตเลยในสมัยหนึ่ง ที่มีลักษณะเสียดสีสังคมหรือตัวบุคคลหรือกระตุ้นเตือนให้คนคิด แน่นอนว่า เพลงเพื่อชีวิตเกิดขึ้นในสมัยประชาธิปไตยอาจจะไม่เผชิญสถานการณ์เช่นนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนไปในอดีตเพลงเพื่อชีวิตที่เสียดสีสังคมเคยถูกปิดกั้นมาบ้างแล้วในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เสน่ห์ โกมารชุน เคยแต่งเพลงชื่อว่า สามล้อแค้นพูดกับผู้แทนควาย เป็นการเสียดสีการห้ามสามล้อขี่ในเขตพระนคร ผลก็คือถูกแบนห้ามเผยแพร่ในวิทยุกระจายเสียงเด็ดขาด ดังนั้นจึงจะเห็นจุดร่วมบางอย่างของเพลงเสียดสีผู้นำรัฐว่า จะถูกแบนในยุคของเผด็จการที่มีการใช้กฎหมาย บิดเบือนกฎหมายเป็นข้ออ้างในการจำกัดเสรีภาพ

 

ศิลปะเข้าถึงคนง่ายที่ส่งผลกระทบต่อสังคมได้ เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจที่ใจไม่กว้างพอก็จะรู้สึกว่าถูกกระทบ รัฐใช้เป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลา ภาคประชาชนใช้มันในการต่อต้านเครื่องมือของอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม ที่ผ่านมาเพลงที่ร่วมสมัยคือ This is América ของแกมบิโน่ที่สะท้อนปัญหาการเหยียดสีผิว Fuck you ของลิลี่ อัลเลนที่เล่าปัญหาสมัยจอร์จ ดับเบิลยู บุช  ศิลปะในการต่อต้านอำนาจรัฐมีความเบาและเนียนกว่าการใช้อารยะขัดขืน(การดื้อแพ่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเช่น ประชาชนปฏิเสธที่จะจ่ายภาษีเพื่อต่อต้านการเข้าร่วมสงครามของรัฐ) ด้วยซ้ำไป

 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่า จะดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องกับเพลง “ประเทศกูมี”  แต่สุดท้ายก็ถอยไม่ดำเนินคดี ปรากฏการณ์เกียร์ถอย ไม่สามารถสรุปว่าเป็นชัยชนะของประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐพร้อมที่จะใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม แต่ปรากฏการณ์นี้เป็นปรากฏการณ์พิเศษที่มีจุดผกผันคือ ยอดไลค์และยอดเข้าชมมิวสิควิดีโอจำนวนมากกว่า 20 ครั้ง รัฐไม่ได้ตาสว่างแต่เขาเพิ่งฉลาด ยิ่งปิดปากคนยิ่งอยากพูด ยิ่งปิดหูคนยิ่งอยากฟัง ฉะนั้นปรากฏการณ์นี้ประชาชนยังดีใจไม่ได้

 

เมื่อย้อนดูข้อกฎหมายที่กล่าวอ้างในเหตุการณ์นี้คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) กำหนดว่า ผู้ใดนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

 

หากลองแยกองค์ประกอบความผิดของกฎหมาย จะได้ความดังนี้ว่า ผู้ที่จะกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) ต้องเป็น ผู้ที่ดำเนินการครบทุกข้อ ดังนี้

 

1) ผู้ที่นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

2) ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ

3) โดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อ / การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ / ความปลอดภัยสาธารณะ / ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ / โครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ / หรือ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

 

การเป็นเท็จคือ สิ่งที่ไม่จริง โป้ปด โกหก หลอกลวง เมื่อดูเนื้อหาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เป็นเท็จ หลายเรื่องเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย บางเรื่องอาจยังไม่เกิดขึ้นจริงเช่น เรื่องโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค ซึ่งอธิบายได้ว่า บางเรื่องอาจยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้ทำให้เสียหายและปัจจุบันก็มีความพยายามจะล้มโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค ดังนั้นเพลงที่สะท้อนความเป็นไปในสังคมจึงไม่มีลักษณะของการใส่ข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ แม้จะมีถ้อยคำที่ทำให้ข้อเท็จจริงในเพลงดูรุนแรงเช่น ปัญหาสูงกว่าหอไอเฟล ซึ่งเกินจริงไปบ้าง แต่การกล่าวเช่นนี้เป็นลักษณะของการเปรียบเปรยให้เกิดอรรถรส ซึ่งมันไม่ใช่ข้อเท็จจริง มันเป็นความคิดเห็นที่ไม่เป็นจริงหรือเท็จ

 

ทั้งนี้สาวตรีตั้งคำถามด้วยว่า ตำรวจแยกระหว่างข้อเท็จจริงและความคิดเห็นออกจากกันได้หรือไม่ ความคิดเห็นไม่มีใครที่จะสรุปหรือตัดสินได้ว่า จริงหรือเท็จ ดังนั้นจึงไม่มีทางเลยที่จะเข้าองค์ประกอบความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯมาตรา 14(2)

 

คำว่า “ประเทศกูมี” ไม่เท่ากับประเทศกูไม่ดี คำว่า ไม่ดีเท่ากับมีสิ่งไม่ดีแล้วผู้ที่มีหน้าที่ไม่แก้ไข ซุกเอาไว้ ลักษณะอย่างนี้คือ ประเทศไม่ดี แต่การที่มีสิ่งไม่ดีแล้วบังคับให้พูดว่า มีสิ่งที่ดี ลักษณะนี้เรียกว่า โกหก ชาวต่างประเทศฟังแล้วไม่ได้ไม่อยากมาประเทศไทยเพราะว่า มีคนเสรีภาพในการทำเพลงนี้ขึ้นมา แต่ไม่อยากเข้าประเทศไทยเพราะประเทศไทยมีรัฐบาลมาจากการทำรัฐประหารต่างหาก เสรีภาพไม่มีขนาดร้องเพลงยังถูกคุกคามได้ สาเหตุนี้ต่างหากที่คนไม่มา

 

อีกส่วนหนึ่งคือ ข้อมูลที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประเทศ ประคำว่า น่าจะเกิดความเสียแก่ประเทศ คำว่า ประเทศ หมายถึง ชาติ รัฐ บ้านเมือง แว่นแคว้น ประเทศชาติ รัฐบาล คณะบุคคลที่มีอำนาจในการบริหารประเทศมาจากการเลือกตั้งหรือการแต่งตั้ง คสช. คณะรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ดังนั้น ประเทศจึงไม่เท่ากับ รัฐบาลและคสช. เมื่อพิจารณาเนื้อเพลงแล้วมีการวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐและศาล ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ประเทศ จะเห็นว่า กฎหมายชัดเจนแล้ว แต่ผู้บังคับใช้ต่างหากที่เป็นปัญหา

 

การสะท้อนปัญหาการทำงานของรัฐบาลไม่ได้ทำให้ประเทศไม่มั่นคง แต่กลับกันการกระตุ้นให้ประชาชนรับรู้ เกิดการเรียกร้องแก้ไขปัญหาเหล่านั้น และหากแก้ไขได้จริงๆ นี่ต่างหากที่จะทำให้ประเทศเจริญขึ้น ฉะนั้นศิลปะใดๆก็ตามไม่ว่าจะเป็นเพลงหรือเป็นหนังที่ช่วยกระตุ้นให้คนรู้ปัญหา กดดันให้รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจต้องแก้ไขปัญหาเหล่านั้นเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ

 

อีกประเด็นหนึ่งคือ มาตรา 14(5) ผู้ใดเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 14 (1),(2),(3)  ถ้าไม่เข้าองค์ประกอบความผิด 14(2) การแชร์ไม่มีทางที่จะเป็นความผิด

 

ส่วนกรณีที่มัลลิกา บุญมีตระกูล สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ออกมากล่าวในทำนองให้ใช้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เอาผิดเพลง “ประเทศกูมี”  สาวตรีอธิบายว่า มาตรา 116 กำหนดว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

 

 (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย

 (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

 (3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

 

หากจะกล่าวหาในมาตรานี้ การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือผู้ปกครองเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและรัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ซึ่งเสรีภาพการแสดงออก ฉะนั้นการกระทำดังกล่าวจึงเป็นความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และการต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรม คนที่ใช้ปืนยึดอำนาจประชาชนไปด้วยการทำรัฐประหารย่อมสอดคล้องกับการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย เพลงไม่ได้ชักชวนให้ก่อความรุนแรงหรือความไม่สงบ อย่างมากที่สุดที่ปรากฏในเพลงคือข้อความที่ว่า “…พวกคุณพร้อมรึยัง ถ้าพวกคุณพร้อมก็ชูนิ้วกลางให้พวกแม่งแล้วเดินมาด้วยกันกับเรา…” ซึ่งการชูนิ้วกลางไม่ใช่การใช้กำลัง ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดของมาตรา 116

 

ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ยังไม่มีใครชี้แจงได้เลยว่า ประโยคไหนคือ ความเท็จ ประโยคในคือ ความคิดเห็น ซึ่งสำคัญมากในทางกฎหมายที่เวลาจะกล่าวหาว่า ใครกระทำความผิด ปกติต้องชี้ชัดให้ได้ว่า สิ่งใดคือความเท็จหรือความจริง และสร้างความเสียหายอย่างไร โดยตามฎีกาที่ 1583/2552 ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงข้อหาแจ้งความเท็จกับเจ้าพนักงาน โดยไม่ได้กล่าวว่า จำเลยแจ้งข้อความว่าอย่างไร และโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า สิ่งใดคือความเท็จหรือความจริง ซึ่งศาลระบุว่า เป็นคำฟ้องที่ไม่ชัดเจน ยกฟ้องคดีดังกล่าว

 

แม้ว่า กรณีดังกล่าวเป็นการยกฟ้องในทางเทคนิคกฎหมาย แต่การฟ้องร้องบางคดีก็ยังมีการกลั่นแกล้ง มีลักษณะของการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกดปราบความคิดเห็นที่แตกต่าง หากถามว่า เราจะต่อสู้กับสิ่งนี้อย่างไร คำตอบคือ เราต้องลุกขึ้นมาให้กำลังใจผู้ที่ใช้เสรีภาพ