7 เรื่องต้องรู้ก่อนฟังคำพิพากษา คดีเทใจให้เทพา

วันที่ 27 ธันวาคม 2561 ศาลจังหวัดสงขลานัดฟังคำพิพากษาคดี “เทใจให้เทพา” ซึ่งเป็นคดีที่ชาวบ้านอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ทำกิจกรรมเดินเท้าจากอำเภอเทพาจังหวัดสงขลาไปที่อำเภอเมืองเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่อำเภอเทพา จนเป็นเหตุให้ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และข้อหาต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าหน้าที่ 
 
 
เบื้องต้นกิจกรรม “เทใจให้เทพา” มีกำหนดระยะเวลา 4 วัน โดยชาวบ้านจะเริ่มเดินเท้าออกจากอำเภอเทพาในวันที่ 24 พฤศจิกายน และจะยื่นหนังหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 โดยการเดินดังกล่าวนอกจากจะเป็นการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีแล้วยังเป็นการสื่อสารประเด็นปัญหาต่อสาธารณะด้วย อย่างไรก็ตามในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ระหว่างที่ชาวบ้านเดินถึงเขตอำเภอเมืองจังหวัดสงขลา เจ้าหน้าที่ได้เข้าสลายการชุมนุมและจับกุมตัวชาวบ้าน 16 คน ก่อนจะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับชาวบ้านอีกหนึ่งคน รวมเป็น 17 คน
 
 
ศาลจังหวัดสงขลานัดสืบพยานคดีนี้ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน – 10 ตุลาคม 2561 จากที่ไอลอว์ติดตามการสืบพยานโจทก์และจำเลยมาโดยตลอด จึงสามารถสรุปข้อเท็จจริงจากการสังเกตการณ์และพูดคุยกับจำเลยและชาวบ้านเทพาได้ 7 ประเด็นดังนี้
 
 
1.      ชาวบ้านเทใจให้เทพาถูกดำเนินคดีข้อหาอะไร?
 
 
วันที่ 12 มกราคม 2561 พนักงานอัยการจังหวัดสงขลามีความเห็นสั่งฟ้องชาวบ้าน 17 คน โดยมีข้อกล่าวหาแตกต่างกันในรายละเอียดดังนี้
 
 
หนึ่ง เอกชัย รุ่งเรือง ปาฏิหาริย์และดิเรก ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ร่วมกันไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรสงขลา ผู้รับแจ้งตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดคือไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนเวลาเริ่มการชุมนุม และไม่แจ้งการชุมนุมพร้อมคำขอผ่อนผันต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาก่อนเริ่มการชุมนุม
 
 
สอง จำเลยทั้ง 17 คนพกพาไม้ยาวประมาณหนึ่งเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางยาวสองเซนติเมตรจำนวนหลายด้าม  ซึ่งติดธงแผ่นผ้าและมีปลายแหลม ไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะ ซึ่งไม้ดังกล่าวจำเลยได้ใช้และเจตนาจะใช้ทำร้ายร่างกายให้เป็นอันตราย
 
 
สาม  เอกชัย รุ่งเรือง ปาฏิหาริย์และดิเรก ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่ดูแลการชุมนุมไม่ให้เกิดการขัดขวางอย่างเกินสมควรต่อประชาชนที่ใช้ทางสาธารณะและดูแลรับผิดชอบผู้ร่วมชุมนุมให้ปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งไม่ให้ความร่วมมือกับตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และจำเลยทั้ง 17 คนได้ร่วมกันสร้างความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่ใช้ช่องทางการจราจรบนถนนสายสงขลา-นาทวีและพกพาอาวุธตามข้อสองเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งขัดขวางหรือกระทำการที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
 
 
สี่ จำเลยทั้ง 17 คนร่วมกันปิดถนนสายสงขลา-นาทวีด้วยการชุมนุมและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมล้ำไปในช่องทางการจราจร มีการนั่ง นอนลงบนถนนสายดังกล่าวที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายต่อยานพาหนะโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าพนักงานการจราจร
 
 
ห้า จำเลยทั้ง 17 คนร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่ได้รับคำสั่งให้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ
 
 
2.      ใครทำร้ายตำรวจ?
 
 
ตามคำฟ้อง อัยการกล่าวหาว่า จำเลยทั้ง 17 คน ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่ได้รับคำสั่งให้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ ส่งผลให้ตำรวจที่ทำหน้าที่ในกองร้อยควบคุมฝูงชนได้รับบาดเจ็บจำนวน 4 คน ในลักษณะเช่น เลือดกำเดาไหล มีบาดแผลฟกช้ำ ดังนี้
 
 
‘ตำรวจ 1’: “จมูกเลือดกำเดาไหล จมูกผิดรูปแต่รักษาหายเอง แพทย์ให้ยามารับประทานต่อที่บ้าน”
 
 
‘ตำรวจ 2’: “แพทย์ลงความเห็นว่า บาดแผลฟกช้ำ รักษาหายภายใน 3 วัน”
 
 
‘ตำรวจ 3’: “ระหว่างปะทะกับผู้ชุมนุมมีวัตถุฟาดเข้ามาที่มือของเขาแต่ไม่เห็นว่า วัตถุนั้นคืออะไรและใครเป็นผู้กระทำ มีเพียงรอยช้ำที่ปรากฎบนมือข้างขวา กว้าง 1 ซ.ม. ยาว 3 ซ.ม. ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่า ใช้เวลารักษา 3 วันจึงจะหาย”
 
 
‘ตำรวจ 4’: “ถูกไม้คล้ายกับคันธงฟาดมาจากด้านหน้าและยังถูกวัตถุบางอย่างที่เข้าที่หน้ามือด้านขวา ทำให้ได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่ทราบว่าผู้กระทำเป็นใคร”
 
 
ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดไม่สามารถจำหน้าผู้กระทำได้ ขณะที่พยานโจทก์ในปากอื่นๆก็ไม่สามารถระบุได้ว่า จำเลยคนใดเป็นผู้กระทำ
 
 
3.      ผู้ชุมนุมอายุ 16 ปีก็ถูกทำร้ายเช่นกัน
 
 
ระหว่างการปะทะกัน ไม่เพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บ แต่มีผู้ชุมนุมที่ต่อมาตกเป็นจำเลยในคดีนี้ได้รับบาดเจ็บด้วย คือ ฮานาฟี จำเลยที่ 17 ซึ่งขณะเกิดเหตุมีอายุเพียง 16 ปี ในชั้นศาลฮานาฟีให้การว่า ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เขาร่วมเดินกับขบวนไปจนถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาซึ่งเป็นจุดที่มีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจตอนนั้นตัวเขาอยู่ด้านหน้าสุด ฮานาฟียืนยันต่อศาลขณะเกิดเหตุเขาไม่ได้ถือไม้พลองหรืออุปกรณ์ใดในมือเลย ระหว่างการปะทะฮานาฟีถูกบุคคลลากไปที่หลังกระบะและมีการทำร้ายร่างกาย และระหว่างนั้นก็มีเสียงตะโกนว่าให้จับฮานาฟีขึ้นรถตู้ แต่ฮานาฟีไม่ยอมและตะโกนเรียกให้ชาวบ้านมาช่วยจึงสามารถหลุดออกจากการควบคุมตัวได้
 
 
ปากคำของฮานาฟีสอดคล้องกับคำให้การของสมบูรณ์ จำเลยที่ 6 ซึ่งระบุว่า ระหว่างการปะทะกันที่ด้านข้างมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มีเสียงตะโกนมาว่า มีชาวบ้านถูกทำร้าย สมบูรณ์จึงวิ่งเข้าไปดู พบว่า เป็นฮานาฟีกำลังถูกบุคคลรุมทำร้าย สมบูรณ์และพวกจึงเข้าไปช่วยลากฮานาฟีออกมา มีการยื้อหยุดจนกระทั่งเสื้อขาด และคำให้การของดิเรก ผู้เป็นอาของฮานาฟีที่ระบุว่า หลังเกิดเหตุฮานาฟีเล่าให้ดิเรกฟังว่า ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา แต่ดิเรกไม่ได้ขอดูบาดแผล เพียงแต่บอกว่า ให้ไปพบแพทย์ โดยจำได้ว่า หลังถูกทำร้ายฮานาฟีมีลักษณะซึมลง
 
 
ในตอนที่ถูกควบคุมตัว ฮานาฟีถูกนำตัวไปขังรวมกับจำเลยผู้ใหญ่รายอื่นๆ ตำรวจไม่ได้ถามว่า ฮานาฟีอายุเท่าไหร่ โดยสถานการณ์ตอนนั้นฮานาฟีหวาดกลัว จนทำให้ไม่กล้าจะไปบอกเจ้าหน้าที่ว่า ตัวเองอายุ 16 ปี  ตอนที่เจ้าหน้าทำบันทึกการจับกุม เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ถามว่า ฮานาฟีอายุเท่าไหร่  และเจ้าหน้าที่มาทราบว่า ฮานาฟีอายุ 16 ปี ตอนที่แยกทำการสอบสวนรายคน อย่างไรก็ตามหลังจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลามีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวฮานาฟี เขาไม่ได้ไปร้องทุกข์ต่อตำรวจไว้ เนื่องจากยังรู้สึกหวาดกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
 
 
4.      กระบวนการสอบสวนไม่รัดกุม?
 
 
ต่อเนื่องจากประเด็นผู้ชุมนุมทำร้ายตำรวจ ในบันทึกคำให้การของตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บพบว่า ไม่ตรงกับคำเบิกความในชั้นศาล ‘ตำรวจ 2’ ระบุว่า ไม่ถูกชก  แต่เหตุที่พนักงานสอบสวนระบุว่า บาดแผลของเขาเกิดจากการชก อาจเป็นความเข้าใจผิดของพนักงานสอบสวนเองซึ่งเป็นการเข้าใจตามที่ ‘ตำรวจ 1’ ได้ให้การในลักษณะดังกล่าวไปก่อนหน้านั้น ขณะที่  ‘ตำรวจ 3’  ที่ถูกวัตถุฟาดที่มือก็ไม่ทราบว่า เหตุใดในบันทึกคำให้การของพนักงานสอบสวนจึงเขียนว่า บาดแผลของเขาเกิดจากการถูกชก
 
 
นอกจากนี้ยังปรากฏกรณีของอานัส จำเลยที่ 15 ซึ่งมาร่วมชุมนุมในช่วงประมาณ 12.00 น.ของวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 หรือวันที่เป็นเหตุในคดีนี้ ในวันดังกล่าวเขาไว้ผมสั้นและสวมเสื้อยืดแขนสั้นสีครีม แต่ภาพถ่ายซึ่งเป็นหลักฐานที่อัยการนำส่งศาลและระบุว่าเป็นภาพของอานัส กลับเป็นภาพของบุคคลร่างสันทัดและผมยาวระต้นคอ อานัสระบุว่าตอนนั้นผมของเขาสั้นเกรียนต่างจากในภาพ อานัสยังระบุด้วยว่าบุคคลในภาพเป็นผู้หญิงและเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 
 
 
5.      ศาลไม่มีการออกหมายเรียกไต่สวนการชุมนุม
 
 
ปี 2560  ชาวบ้านกลุ่มนี้บางส่วนเคยเดินเท้าไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราครั้งที่หนึ่ง  ครั้งนั้นชาวบ้านเดินเท้าไปเป็นเวลาห้าวันโดยหวังให้เป็นการรณรงค์สาธารณะเช่นเดียวกับกรณีเดินเทใจให้เทพา ในครั้งนั้นไม่มีการแจ้งการชุมนุมหรือขออนุญาตใดๆแต่ก็ไม่มีคดีความ โดยครั้งนั้นในแต่ละวันจะมีคนมาร่วมเดิน 15-20 คน ยกเว้นวันสุดท้ายที่มีคนมาร่วมเดินประมาณ 100 คน โดยที่ไม่มีการคุกคามใดๆจากเจ้าหน้าที่ เมื่อชาวบ้านจัดการเดินเทใจให้เทพาจึงไม่ได้ขออนุญาตหรือแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า 24 ชั่วโมง เพราะชาวบ้านคิดว่าไม่เข้าข่ายการชุมนุมเนื่องจากรูปแบบกิจกรรมเป็นแบบเดียวกับการเดินที่ปากบารา อย่างไรก็ตามในครั้งนี้ตำรวจกลับบอกให้ผู้ชุมนุมแจ้งการชุมนุม ชาวบ้านจึงยื่นผ่อนผันการแจ้งการชุมนุมเพราะขณะเหลือเวลาก่อนการชุมนุมไม่ถึง 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดให้แจ้งการชุมนุมแล้ว แม้จะมีการเข้ามาแทรกแซงโดยเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านยังคงยืนยันที่จะเดินเท้าไปพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี ต่อไป เพราะเห็นว่า เป็นโอกาสดีในการบอกเล่าปัญหาของพวกเขาให้แก่ผู้นำประเทศโดยตรง
 
 
เมื่อชาวบ้านไม่ยินยอมยุติการชุมนุม ตำรวจในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะจึงร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอํานาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมเพื่อขอให้ออกคําสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะ ตามปกติแล้วหากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะไปยื่นร้องต่อศาล ตำรวจจะนำหมายศาลมาติดไว้บริเวณที่มีการชุมนุมให้ผู้ชุมนุมรับทราบ แต่ครั้งนี้มีเพียงการบอกกล่าวปากเปล่าเท่านั้น พ.ต.ท.เกียรติพงษ์ ระดมสุข ซึ่งขณะเกิดเหตุรับราชการเป็นรองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมือง จังหวัดสงขลา ฝ่ายป้องกันและปราบปราม เป็นผู้แจ้งต่อเอกชัย จำเลยที่ 1 ในวันเกิดเหตุ ว่า
 
 
“…ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขารูปช้าง เวลาประมาณ 12.00 น. เมื่อการพูดคุยเกือบเสร็จสิ้นแล้ว พ.ต.อ.ศุภกิตติ์ ประจันตะเสน[ผู้ร้องต่อศาลจังหวัดสงขลาให้ไต่สวนการชุมนุม]ได้ติดต่อมาทางโทรศัพท์และสั่งการให้ไปบอกต่อเอกชัยว่า ขณะนี้มีการไต่สวนการชุมนุมที่ศาลจังหวัดสงขลาให้เอกชัยไปเข้าร่วม เอกชัยยินยอมจึงเดินทางไปพร้อมกับพ.ต.ท.เกียรติพงษ์ โดยเอกชัยนั่งด้านหลัง ระหว่างทางมีโทรศัพท์เข้ามาหาเอกชัย จากนั้นเอกชัยบอกว่า มีการตั้งกำลังตำรวจด้านหน้า  ขอลงไปพุดคุยกับผู้ชุมนุม….สักพักหนึ่งเอกชัยจึงบอกว่า ไม่เดินทางไปที่ศาลด้วยแล้ว…”
 
 
ด้านเอกชัย จำเลยที่ 1 กล่าวว่า หลังจากที่เขาร่วมพูดคุยกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา, นายอำเภอและพ.ต.ท. เกียรติพงษ์ แล้ว พ.ต.ท. เกียรติพงษ์ได้มาบอกกับเขาอย่างไม่เป็นทางการว่า ตำรวจไปขอศาลให้สั่งยุติการชุมนุม ศาลจะมีการพิจารณาในช่วง 13.30 ให้เอกชัยไปที่ศาล เมื่อเขาได้ยินดังนั้นจึงตอบรับและขึ้นรถยนต์ไปพร้อมกับพ.ต.ท.เกียรติพงษ์ แต่เมื่อขึ้นรถยนต์ไป เอกชัยรู้สึกแปลกใจว่า เหตุใดจึงไม่มีหมายศาลอย่างเป็นทางการ ประกอบกับเมื่อผ่านบริเวณด้านข้างมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาเห็นว่า ตำรวจมีการตั้งด่านสกัดผู้ชุมนุม ทำให้คิดว่า อาจจะเป็นแผนการที่จะดึงเอกชัยออกจากที่ชุมนุม จึงตัดสินใจลงจากรถยนต์กลับไปหาผู้ชุมนุมแทน โดยหลังจากนั้นไม่ปรากฏเจ้าหน้าที่รายใดมาแจ้งเอกชัยย้ำอีกครั้งถึงเรื่องการไปศาล
 
 
6.      ความยุ่งยากในการใช้ชีวิตและขบวนการต่อสู้
 
 
จำเลยส่วนใหญ่ในคดีนี้มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาซึ่งไกลจากศาลจังหวัดสงขลาประมาณ 80 กิโลเมตร จำเลยกล่าวสอดคล้องกันว่า การถูกดำเนินคดีในครั้งนี้ ทำให้เกิดความยากลำบากในการดำรงชีวิต ต้องเจียดเวลาในการทำมาหาเลี้ยงชีพในการเดินทางมาศาล
 
 
ปาฏิหาริย์ จำเลยที่ 2: “…เสียเวลาไม่ได้ทำมาหากิน เดือนหนึ่งต้องไปศาลไม่ต่ำกว่าสิบวัน ดีที่ว่า คดีนี้มีคณาจารย์ใช้ตำแหน่งช่วยในการประกันตัว ไม่เช่นนั้นคงต้องเอาโฉนดที่ดินของพ่อแม่มาประกันตัวก็จะยากลำบากไปอีก…”
 
 
รุ่งเรือง จำเลยที่ 3 : “…การดำเนินคดีในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพเนื่องจากต้องเดินทางมาศาลไม่สามารถออกเรือหาปลาได้ ส่วนวันนี้ก็ไปออกเรือหาปลาในช่วงกลางคืนและต้องรีบมาที่ศาลทันทีจึงยังไม่ได้พักผ่อน…”
 
 
อิสดาเรส จำเลยที่ 5 :  “…คดีนี้ส่งผลกระทบต่อการทำงาน แต่ละครั้งต้องลางานมาศาล กลัวว่า จะถูกถอดถอน[ออกจากตำแหน่ง]หรือเรียกเงินเดือนคืน…”
 
 
ในส่วนของความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เอกชัย จำเลยที่ 1 มองว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯผลักภาระของการชุมนุมไปที่ผู้จัดการชุมนุม คนที่จะเข้ามาในการชุมนุม พอเจอข้อกำหนดพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทำให้ไม่มีใครอยากมาเป็นผู้จัดการชุมนุม ทั้งข้อกำหนดหลายข้อในพ.ร.บ.ชุมนุมฯก็ไม่เอื้อต่อการชุมนุมและเพิ่มต้นทุนการจัดการชุมนุม ขณะที่สมบูรณ์ จำเลยที่ 6 มองว่า การบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯของรัฐสร้างภาพของความกลัวให้แก่กลุ่มชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาสู้ เมื่อติดเงื่อนไขของการชุมนุมที่ต้องไปแจ้งก่อนล่วงหน้า 24 ชั่วโมงก็สร้างความลำบากให้แก่ผู้ชุมนุม นอกจากนี้ชาวบ้านไม่รู้รายละเอียดของกฎหมาย เมื่อลุกออกมาต่อสู้แล้วมีคดีความมันสร้างความปั่นป่วนในขบวนการต่อสู้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
 
7.      คดีเทใจให้เทพา ภาคสอง
 
 
8 พฤศจิกายน 2561 พนักงานอัยการจังหวัดนาทวีมีคำสั่งฟ้อง เอกชัย, ดิเรก, อัยโยบ, หมิด และ รอกีเยาะ ในข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในข้อหาจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนเวลาเริ่มการชุมนุม และข้อหาเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมโดยไม่แจ้งล่วงหน้าต่อหัวหน้าสถานีตำรวจซี่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุมสาธารณะ เหตุเกิดในท้องที่อำเภอเทพา โดยในชั้นสอบสวนทั้งห้าให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา