1294 1473 1848 1924 1397 1453 1588 1008 1025 1436 1206 1839 1095 1758 1645 1578 1402 1522 1592 1121 1096 1474 1329 1719 1511 1508 1855 1697 1372 1873 1961 1956 1500 1611 1924 1081 1307 1705 1037 1992 1578 1264 1846 1382 1417 1234 1705 1739 1667 1297 1082 1611 1934 1026 1739 1519 1517 1750 1745 1580 1386 1539 1003 1296 1629 1261 1973 1101 1187 1877 1145 1243 1178 1024 1125 1085 1419 1603 1904 1093 1493 1243 1225 1371 1473 1338 1643 1280 1575 1746 1909 1212 1457 1751 1715 1893 1197 1673 1481 2018 the year of Resistance | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

2018 the year of Resistance

 
1001
 
 
 
ปี 2561 การเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนผู้ตื่นตัวทางการเมืองเป็นไปอย่างคึกคัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นปีที่มีการชุมนุมและจัดกิจกรรมเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งภายในปี 2561 ของ "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" และเมื่อกลุ่มภาคประชาชนทำกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” เดินเท้าจากกรุงเทพไปยังจังหวัดขอนแก่นเพื่อรณรงค์ประเด็นหลักประกันสุขภาพ สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร และประเด็นรัฐธรรมนูญที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม
 
 
ในปีนี้ยังมีงานศิลปะที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อ คสช. หรือต่อสถานการณ์บ้านเมือง อย่างการทำงานศิลปะบนกำแพงหรือ graffiti วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสาธารณะ เช่น ปมนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ไปจนถึงข่าวการยิง "เสือดำ" ที่การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมดูจะสร้างความกังขาให้กับสาธารณชน กลุ่มคนดนตรีก็ค่อยๆ ปรากฏตัวขึ้นมาเพื่อป่าวร้องถึงความไม่พอใจต่อสถานการณ์บ้านเมือง ทั้งงานคอนเสิร์ต จะสี่ปีแล้วนะไอ้สัส ของกลุ่มนักดนตรีพังค์ที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร ไปจนถึงการเผยแพร่มิวสิควิดีโอเพลง "ประเทศกูมี" ของศิลปินกลุ่ม Rap Against Dictatorship ซึ่งต่างก็ต้องเผชิญแรงกดดันและการคุกคามตามมา แต่ไม่สามารถหยุดพวกเขาได้
 
 
We Walk เดินไปหาเพื่อน เดินไปหาอนาคต
 
 
กิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพ เริ่มเคลื่อนขบวนตั้งแต่ต้นปี 2561 โดยเครือข่ายภาคประชาสังคมในนาม People Go Network Forum เพื่อรณรงค์ให้สาธารณชนตระหนักรู้และสนใจในประเด็นสาธารณะที่ทางกลุ่มทำงาน ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร รัฐสวัสดิการ สิทธิชุมชน และรัฐธรรมนูญที่ต้องมากจากการมีส่วนร่วมของประชาชน แม้ว่าโดยเนื้อหา กิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพจะไม่ได้มุ่งโจมตี คสช. หรือแสดงการต่อต้านการรัฐประหารโดยตรง แต่หลายประเด็นที่ทางกลุ่มรณรงค์ก็สะท้อนปัญหาที่เกิดจากการบริหารประเทศของ คสช. โดยตรง เช่น ประเด็นสิทธิชุมชนที่มีกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลประทบจากการทำเหมืองแร่ หรือการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือประเด็นหลักประกันสุขภาพที่เริ่มไม่แน่นอนในยุค รัฐบาล คสช. ที่ทำท่าจะแก้ไขกฎหมายหลายครั้ง
 
1013
 
วันที่ 20 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่ทางกลุ่มมีกำหนดเริ่มเดินเท้าออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยังจังหวัดขอนแก่นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างน้อย 200 นาย ยืนขวางประตูมหาวิทยาลัย ฝั่งถนนพหลโยธิน เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยได้ เจ้าหน้าที่มีการประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงด้วยกว่าการทำกิจกรรมครั้งนี้อาจเป็นความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป
 
 
ผู้ชุมนุมปักหลักอยู่ริมรั้วทางออกของมหาวิทยาลัย จนถึงเวลาประมาณ 16.00 น. ก็มีการประกาศผ่านรถเครื่องเสียงของผู้ชุมนุมว่า ผู้ที่จะทำกิจกรรมเดินเท้ารวม 12 คน เริ่มออกเดินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปแล้ว ผู้ชุมนุมที่ยังอยู่ในมหาวิทยาลัยจึงเริ่มสลายตัวไปในช่วงเย็นขณะที่ผู้เดินเท้าก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามใกล้ชิดตลอดทั้งเส้นทาง
 
 
แม้ว่าท้ายที่สุดกิจกรรม “We walk เดินมิตรภาพ” จะสามารถเดินเท้าครบระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร ไปประกาศเจตนารมณ์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ แต่ระหว่างทางผู้ร่วมเดินต้องพบกับบททดสอบมากมาย เช่น เช้าตรู่วันที่ 21 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่สองของกิจกรรม รถกระบะที่เป็นทีมสนับสนุนขนของให้ผู้ร่วมเดินถูกเจ้าหน้าที่ทำการสกัดและตรวจค้น พร้อมจับกุมผู้ร่วมกิจกรรมสี่คนไปสอบสวน

 
 
ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 เจ้าหน้าที่แจ้งกับผู้ร่วมเดิน We Walk จะให้พักค้างคืนที่วัดโนนมะกอก อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมาได้เพียงคืนเดียว คณะผู้เดินจึงต้องตัดสินใจย้ายไปนอนที่อื่นเพราะกังวลว่าเจ้าอาวาสวัดจะถูกเจ้าหน้าที่เข้ามากดดัน เป็นต้น นอกจากนี้ในวันที่ 31 มกราคม 2561 ผู้เข้าร่วมกิจกรรม 8 คน ที่เจ้าหน้าที่เห็นว่า เป็นแกนนำในกิจกรรมก็ถูกเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ระหว่างที่กิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพกำลังดำเนินไปก็มีปรากฎด้านบวกที่น่าสนใจเกิดขึ้นคู่ขนานไปด้วย เช่น ในวันที่ 27 มกราคม กลุ่มประชาชนในจังหวัดสงขลาจัดกิจกรรม "เดินมิตรภาพเพชรเกษม" เพื่อส่งกำลังใจถึงผู้ที่ร่วมเดินมิตรภาพไปขอนแก่น ในวันที่ 28 มกราคม 2561
 
 
4 กุมภาพันธ์ 2561 และ 11 กุมภาพันธ์ 2561 มีการจัดกิจกรรมเดินมิตรภาพที่สวนลุมพินีเพื่อให้กำลังใจผู้ร่วมเดิน We Walk บ้านดอยเทวดา จังหวัดพะเยาก็มีการจัดกิจกรรมเดินมิตรภาพในชุมชนของตัวเองในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ทำให้มีประชาชนอย่างน้อย 11 คนถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ก่อนที่พนักงานสอบสวนและอัยการจะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีในเวลาต่อมา 
 

We want Election the Saga เด็กดื้อของชาติหรือเด็กขยันของระบอบประชาธิปไตย
 
 
ดื้อ  หมายถึง ไม่ยอมเชื่อฟังหรือทำตาม (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2554) "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" เป็นส่วนผสมระหว่างกลุ่มนักศึกษาที่เริ่มมีบทบาทในการเคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหาร 2557 กับกลุ่ม "พลเมืองอาวุโสผู้มีความตื่นตัวทางการเมือง" ที่บางส่วนร่วมเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุมช่วงปี 2552 และ 2553 ว่า ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองแบบปิดด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่กำหนดให้การชุมนุมทางการเมืองเป็นความผิดทางอาญา "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" ก็ยังอาจหาญท้าทายคำสั่งดังกล่าว เดินหน้าจัดกิจกรรมเรียกร้องการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2561 ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 การจะเรียกพวกเขาว่าเป็นกลุ่มที่ “ดื้อ” ก็คงไม่ผิดนัก
 
 
กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง รวมตัวกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561 ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยการชุมนุมครั้งดังกล่าวเกิดขึ้นหลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติเขียนร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร ให้มีผลบังคับใช้ 90 วันหลังมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่งผลให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปโดยกรอบเวลาที่เร็วที่สุดที่จะจัดการเลือกตั้งได้คือเดือนกุมภาพันธ์ 2562
 
 
การจัดกิจกรรมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง บ้างครั้งก็เป็นรูปแบบการปราศรัยในสถานศึกษา เช่น กิจกรรม "ปากปราศรัย น้ำใจเชือดเผด็จการ" จัดที่ข้างประชุมใหญ่ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 กิจกรรม "รวมพลัง ถอนราก คสช." จัดที่สนามฟุตบอล ในวันที่ 24 มีนาคม 2561 และกิจกรรม "หยุดระบอบคสช. หยุดยื้อเลือกตั้ง" ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2561 ที่ลานปรีดี พนมยงค์ ทั้งสามกิจกรรมจัดขึ้นภายในรั้วของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สำหรับกิจกรรมที่จัดในสถานศึกษาเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่เข้ามาแทรกแซงอย่างเปิดเผยหรือสั่งให้เลิก เพียงแต่จะบันทึกภาพและวิดีโอโดยละเอียดเท่านั้น และยังไม่ถูกเจ้าหน้าที่นำมาอ้างเป็นเหตุดำเนินคดี
 
 
แต่หลายกิจกรรม กลุ่มคนอยากเลือกตั้งยังจัดการชุมนุมในพื้นที่เปิด ซึ่งบางครั้งก็มีการเคลื่อนขบวนด้วย ในพื้นที่กรุงเทพมหานครกลุ่มคนอยากเลือกตั้งมีการจัดชุมนุมในพื้นที่เปิดรวม 4 ครั้ง ได้แก่ การชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 27 มกราคม 2561 การชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งที่บริเวณถนนราชดำเนินใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 การชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบกในวันที่ 24 มีนาคม 2561 และการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งเนื่องในโอกาสครบรอบ 4 ปี การรัฐประหาร ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ที่ตั้งใจจะเดินไปยังทำเนียบรัฐบาล แต่ไปถึงได้เพียงบริเวณหน้าอาคารสหประชาชาติ สำหรับการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งในพื้นที่ต่างจังหวัดเท่าที่มีข้อมูลเกิดขึ้นสองครั้ง ได้แก่ ที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 และที่หน้าห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยา ในวันที่ 4 มีนาคม 2561
 
 
สำหรับการจัดชุมนุมในที่สาธารณะซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่เปิดนอกเหนือไปจากการมาสังเกตการณ์ บันทึกภาพและเสียงตามปกติแล้ว เจ้าหน้าที่ยังดำเนินคดีกับผู้ที่มาร่วมชุมนุมด้วย โดยที่การดำเนินคดีไม่เพียงพุ่งเป้าไปที่แกนนำหรือคนที่ขึ้นปราศรัยบนเวทีเท่านั้นหากแต่ยังมุ่งดำเนินคดีกับผู้ที่เพียงแค่มาร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนหลายสิบคนด้วย โดยการชุมนุมที่ระบุข้างต้นทั้งหกครั้งมีผู้ถูกดำเนินคดีทุกครั้ง
 

การชุมนุม 4 ครั้ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่จะแยกดำเนินคดีระหว่างผู้เข้าร่วมการชุมนุมกับผู้ที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นแกนนำโดยกลุ่มหลังจะถูกแจ้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มเติมจากความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ส่วนผู้เข้าร่วมการชุมนุมมักถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 สำหรับคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่และเมืองพัทยาเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลมาตรา 116 แต่อย่างใด
 
 
ลักษณะการควบคุมการชุมนุมหรือการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งมีความน่าสนใจดังนี้ ประการแรก เจ้าหน้าที่เลือกที่จะลดแรงเสียดทาน ด้วยการหลีกเลี่ยงการปะทะเพื่อจับกุมหรือสลายการชุมนุมระหว่างที่กิจกรรมดำเนินไป แต่ใช้วิธีออกหมายเรียกตามหลัง มีเพียงการชุมนุมในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 เพียงครั้งเดียวที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าปิดล้อมไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่ทำเนียบรัฐบาลได้ เจ้าหน้าที่มีท่าทีแข็งกร้าวและยืนยันไม่ให้ขบวนผู้ชุมนุมผ่านจุดสะพานมัฆวานไปได้ จึงจบลงโดยผู้ชุมนุมยอมมอบตัวให้เจ้าหน้าที่ควบคุม
 
 
ประการที่สอง แม้เจ้าหน้าที่จะหลีกเลี่ยงการใช้กำลังสลายการชุมนุมหรือการจับกุมผู้ชุมนุมจากสถานที่ชุมนุม แต่ก็มีการ ดำเนินการในลักษณะที่อาจทำให้ผู้ชุมนุมรู้สึกว่าเป็นการคุกคาม เช่น ในการชุมนุมวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ถนนราชดำเนิน เจ้าหน้าที่มีการตั้งจุดคัดกรองและตรวจบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ประสงค์จะมาร่วมการชุมนุม เช่นเดียวกับในวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 ที่ทหารไปยังบ้านของผู้ที่มีแนวคิดทางการเมืองหลายคนก่อนวันจัดกิจกรรมเพื่อจะห้ามไม่ให้มาเข้าร่วม รวมทั้งจับกุมเจ้าของรถเครื่องเสียงที่ผู้ชุมนุมตกลงเช่าไว้ไปขังไว้ในค่ายทหารด้วย
 
 
ประการที่สาม ในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการดำเนินคดีแบบ "ปูพรม" คือ ไม่เพียงดำเนินคดีกับแกนนำการชุมนุม แต่ยังดำเนินคดีกับผู้ร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมากและจำนวนผู้ต้องหาก็เพิ่มขึ้นๆ ทุกคดี เช่น การชุมนุมที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพมีการดำเนินคดีกับประชาชนรวม 39 คน การชุมนุมที่ราชดำเนินมีผู้ถูกดำเนินคดี 50 คน การชุมนุมที่หน้ากองทัพบกมีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 57 คนและการชุมนุมที่หน้าองค์การสหประชาชาติมีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 62 คน ผู้ต้องหาหลายคนถูกตั้งข้อหารวมกันหลายคดี
 
 
ไม่ว่าจะเป็นการถูกดำเนินคดี ถูกเจ้าหน้าที่ถ่ายภาพหรือถ่ายบัตรประชาชน ก็ไม่ได้ทำให้กลุ่มคนที่ออกมาร่วมการชุมนุมหวาดกลัวหรือยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในทางตรงกันข้ามการถูกดำเนินคดีอาจจะยิ่งทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีสัมพันธ์ในฐานะ "เพื่อนร่วมอุดมการณ์" ที่เข้มแข็งขึ้น สังเกตได้จากทุกครั้งที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องไปรายงานตัวกับตำรวจหรืออัยการก็จะมีเพื่อนๆ ไปคอยให้กำลังใจ นำอาหารและขนมไปเลี้ยง หรือจัดกิจกรรมสนับสนุนในด้านต่างๆ ด้วย เช่น หลังการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งที่หอศิลป์กรุงเทพ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ก็มีกลุ่มศิลปินจัดคอนเสิร์ตเพื่อระดมทุนเพื่อให้ผู้ต้องหาใช้ในการประกันตัว  ขณะเดียวกันในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 เมื่อผู้ต้องหามีกำหนดเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน กลุ่มนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองก็รวมตัวกันไปรอที่สถานีตำรวจเพื่อใช้ตำแหน่งวิชาการเป็นหลักประกันให้บรรดาผู้ต้องหาด้วย  ทำให้บรรยากาศของการไปตามนัดแต่ละครั้งคึกคักฮึกเหิม มากกว่าเป็นไปด้วยความเครียดหรือความหวาดกลัว
 
 
แม้ว่าคสช.จะมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่3/2558 เป็น "ยาแรง" ที่เอาไว้คอยใช้จัดการกับผู้ที่หาญกล้าออกมาท้าทายแต่ยาแรงที่ว่าก็ดูจะไม่สามารถสงบความเคลื่อนไหวของ "เด็กดื้อ" อย่างกลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้
 
 
Resistance with Style เปิดแนวรบด้านวัฒนธรรมและการต่อต้าน "อย่างมีศิลปะ"
 
 
27 มีนาคม 2561 สามวันหลังกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจัดการชุมนุมที่หน้ากองทัพบกและประกาศจัดการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวทำนองว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนดังกล่าวเพราะเป็นกลุ่มคนเดิมๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากภายนอกและมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ อย่างไรก็ตามหากดูในภาพรวมก็จะเห็นว่าในปี 2561 มีกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ กลุ่มศิลปินที่ทำงานศิลปะที่ปรากฏตัวขึ้นเพื่อสื่อสารประเด็นในเชิงต่อต้าน คสช. อย่างชัดเจน
 
 
Headache Stencil: ภาพบนกำแพงที่สร้างความปวดหัวให้ คสช.
 
30 มกราคม 2561 เฟซบุ๊กเพจ Headache Stencil โพสต์ภาพวาดบนกำแพง (graffiti) เป็นภาพนาฬิกาปลุกยี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่งโดยที่บนหน้าปัดนาฬิกาเป็นภาพใบหน้าของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ของ คสช. ภาพวาดดังกล่าวถูกพ่นบนสะพานลอยแห่งหนึ่ง ขณะที่คำบรรยายของภาพก็เขียนว่า "นาฬิกาเยอะ แต่เวลาน่าจะหมดละนะ พอเหอะลุง งานเลี้ยงย่อมมีเลิกลา... no more time" เพื่อสื่อสารในประเด็นการครอบครองนาฬิกาหรูจำนวนมากอย่างผิดสังเกต
 
 
หลังจากนั้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนดังกล่าวก็โพสต์ภาพถ่ายของภาพวาดชิ้นเดิมแต่ต่างเวลาพร้อมเขียนบรรยายภาพทำนองว่า ปกติเมื่อเขาวาดภาพเกี่ยวกับการเมืองก็จะถูกลบไปอย่างรวดเร็ว แต่ครั้งนี้ผ่านไปสามวันแล้วยังไม่ถูกลบเป็นไปได้ว่า แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็อาจรับกับพล.อ.ประวิตรไม่ได้ ต่อมาในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 เฟซบุ๊กเพจดังกล่าวก็โพสต์ข้อความว่า มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาติดตามความเคลื่อนไหวของเขาที่บ้านพักเกือบตลอด 24 ชั่วโมง และไปติดตามยังบ้านของคนรู้จัก  (ปัจจุบันลิงค์ไปที่โพสต์ต้นฉบับไม่สามารถเข้าถึงได้)
 

Headache Stencil ยังโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการถูกติดตามจากกรณีวาดภาพกราฟฟิตีรูปพล.อ.ประวิตรด้วยว่า ซึ่ง Headache Stencil มองว่าการกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการคุกคาม ทำให้ศิลปินผู้นี้ ตัดสินใจหนีไปตั้งหลักเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย (ตามรายงานของประชาไทโพสต์ต้นฉบับทั้งสองไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว)
 
 
ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 Headache Stencil โพสต์ข้อความว่า เขาได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ให้ไปชำระค่าปรับ โดยมติชนออนไลน์รายงานเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่สั่งปรับศิลปินในข้อหาพ่นสีบนกำแพงโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเงิน 3,000 บาท
 
1014
 
หากย้อนไปดูภาพเก่าๆ บนเฟซบุ๊กเพจ Headache Stencil จะพบว่ามีภาพ graffiti เกี่ยวกับการเมืองไทยมาก่อนหน้า เช่น ในวันที่ 17 สิงหาคม 2560 มีภาพกราฟฟิตีพล.อ.ประยุทธ์ ถือสเปรย์กระป๋องที่มีเลข 44 หรือในวันที่ 8 เมษายน 2559 เพจดังกล่าวก็โพสต์ภาพสติกเกอร์ล้อพล.อ.ประยุทธ์พร้อมข้อความบนสติกเกอร์ที่เขียนเสียดสีอย่างเผ็ดร้อน
 
 
 
เพจ Headache Stencil ไม่เพียงโพสต์ภาพงานที่มีเนื้อหาเสียดสีพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร หากแต่ยังโพสต์ภาพงานศิลปะที่พูดถึงประเด็นร้อนอื่นๆ ด้วย เช่น ภาพกราฟฟิตีเสือดำที่มีเครื่องหมาย "ปิดเสียง" ซึ่งถูกพ่นบนกำแพงแห่งหนึ่งซึ่งคาดว่าผลงานชิ้นดังกล่าวน่าจะถูกทำขึ้นเพื่อเสียดสีกรณีที่มีเสือดำถูกยิงในเขตป่าสงวน แล้วหลังจากนั้นการดำเนินคดีเป็นไปอย่างชักช้า
 
 
 
ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 Headache Stencil จัดนิทรรศกาลศิลปะเสียดสีการเมืองภายใต้ชื่อ Welcome to the Dark Side ที่ Voice Space โดยจัดทำภาพเสียดสีสังคมการเมืองที่เคยเป็นกระแส ทั้งภาพนาฬิการูปใบหน้าพล.อ.ประวิตร และภาพเสือดำที่เคยถูกพ่นบนกำแพงแล้วถูกลบขึ้นใหม่
 
 
นอกจากนี้เขายังนำประเด็นที่เป็นกระแส ทั้งกรณีการห้ามนำนิตยสารไทม์ปกพล.อ.ประยุทธ์เข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรและปมการซื้อขายเรือดำน้ำมาทำเป็นภาพกราฟฟิตีแสดงในงานด้วย
 
 
Happy Birthday คสช.! จะสี่ปีแล้วนะไอ้สัส งาน "ตัดเค้กวันเกิด" สไตล์พังค์
 
 
“Happy Birthday to you, Happy Birthday to me, Happy Birthday for Everyone, Happy Birthday คสช.”
 

ชายหนุ่มคนหนึ่งยืนร้องเพลงด้วยน้ำเสียงนิ่งๆ แต่หลังสิ้นคำว่า “คสช.” เสียงเพลง Happy Birthday อีกเวอร์ชันหนึ่งก็แผดดังขึ้น พร้อมๆ กับภาพเค้กวันเกิดที่แต่งหน้าด้วยเลขสี่ถูกสับจนเละ คือ บางช่วงบางตอนของคลิปวิดีโอโปรโมทงานคอนเสิร์ต
 
 

"จะสี่ปีแล้วนะ..." ฟรีคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นเพื่อสะท้อนความอึดอัดและไม่พอใจของชาวพังค์ที่มีต่อคสช. "นิรนาม" หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงที่ผลักดันให้เกิดงานคอนเสิร์ตในวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 หรือสิบวันก่อนที่คสช.จะมีอายุครบ "สี่ขวบ" ระบุว่า ดนตรีพังค์ คือ ดนตรีที่เกิดขึ้นมาเพื่อรื้อถอนหรือวิพากษ์วิจารณ์สังคม และกลุ่มนักดนตรีพังค์ที่เขารู้จักก็แต่งเพลงวิจารณ์ประเด็นทางสังคมและการเมืองมาตั้งแต่ยุคก่อน คสช. แล้ว เพียงแต่คนฟังเป็นกลุ่มเฉพาะ ความอึดอัดและความคิดเห็นต่อเหตุการณ์บ้านเมืองของพวกเขาจึงไม่เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน
 
 
เมื่อวง Blood Soaked Street Of Social Decay ร้องเพลงที่มีเนื้อหาพาดพิงพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ในช่วงท้ายของคอนเสิร์ตเจ้าหน้าที่ก็ตัดสินใจให้สมาชิกวงและ "เกื้อ เพียวพังค์" นักดนตรีพังค์อีกคนหนึ่งที่ขึ้นมาแจม ไปพูดคุยที่สน.ชนะสงคราม ท้ายที่สุดหลังการพูดคุย ทุกคนได้กลับบ้านโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา
 
1015
 
หลังการจัดคอนเสิร์ต "จะสี่ปีแล้วนะไอ้สัส" กลุ่มนักดนตรีพังค์ก็เตรียมจัดคอนเสิร์ตอีกครั้งในวันที่ 21 กันยายน 2561 โดยใช้ชื่อว่า #BNK44 สี่ปีได้แดกแต่คุ้กกี้เสี่ยงทาย  แต่คอนเสิร์ตครั้งดังกล่าวก็ไม่เกิดขึ้น เพราะตำรวจจากสถานีตำรวจบวรมงคลนำกำลังไปที่โฮสเทลชื่อ The Over Stay ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน โดยมีการขอดูใบอนุญาตประกอบการของเจ้าของสถานที่ ทำให้ท้ายที่สุดผู้จัดตัดสินใจยกเลิกงานเพื่อไม่ให้เจ้าของสถานที่เดือดร้อน
 
 
หลังจากคอนเสิร์ตครั้งดังกล่าวถูกยกเลิก เฟซบุ๊กเพจ "4ปีแล้วนะไอ้สัส" ออกแถลงการณ์ในวันที่ 26 ตุลาคม 2561 ถึงกรณีการถูกปิดงานโดยระบุว่าพวกเขาจะจัดคอนเสิร์ตอีกครั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2561 โดยคอนเสิร์ตครั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นทางผู้จัดได้ประสานงานกับทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และตำรวจ สน.ชนะสงคราม ไว้แล้วจึงเชื่อการจัดคอนเสิร์ตจะดำเนินไปด้วยดี
 

อย่างไรก็ตามในวันที่ 2 พฤศจิกายน หนึ่งวันก่อนหน้าวันงานทางเพจเฟซบุ๊ก "จะสี่ปีแล้วนะไอ้สัส" ก็แถลงเลื่อนการจัดงานคอนเสิร์ตออกไปโดยระบุเหตุผลว่า แม้จะมีการประสานกับทางมหาวิทยาลัยและเจ้าหน้าที่สน.ชนะสงครามไว้แล้ว แต่ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยคนหนึ่งมีความกังวลเพราะเห็นว่า งานอาจ "ผิดวัตถุประสงค์ทางวิชาการ" ทางทีมงานจึงต้องเลื่อนการจัดงานออกไปก่อน และกำหนดการจัดคอนเสิร์ตครั้งใหม่ก็ออกมาอีกครั้งในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2561 พร้อมแจ้งว่าจะย้ายสถานที่จัดงานไปที่สวนครูองุ่น มาลิก ย่ายทองหล่อ บนโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ของทางเพจยังมีการ "แซว" คสช.ด้วยว่า "เลื่อนคอนเสิร์ตได้แต่เลื่อนเลือกตั้งไม่ได้"  เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ไม่ได้ห้ามการจัดงาน แต่ระหว่างที่คอนเสิร์ตกำลังดำเนินไปถึงเวลาประมาณ 20.30 เจ้าหน้าที่ก็มาบอกให้เลิกงานได้แล้ว แต่เขาก็พยายามเจรจาจนสามารถจัดงานได้ถึงประมาณสามทุ่มซึ่งก่อนจบงานพวกเขาได้เอาโปสเตอร์งานซึ่งเป็นภาพใบหน้าพล.อ.ประยุทธ์มาพ่นด้วยสีเปรย์เป็นสัญลักษณ์ลูกกรงคล้ายจะสื่อความหมายว่า เมื่อคสช.หมดอำนาจก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและรับโทษตามกฎหมาย
 
ทว่าก่อนจะถึงวันนั้นนิรนามและทีมจัดงานกลายเป็นผู้ที่ต้องรับโทษปรับตามกฎหมายเสียก่อน หลังถูกเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาใช้เครื่องเสียงก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญกับบุคคลอื่นเป็นเงิน 500บาท
 

ประเทศกูมี เพลงดีที่ คสช. (ไม่) ภูมิใจเสนอ
 
 
ประเทศไร้ Corruption ที่ไม่มีการตรวจสอบ
ประเทศที่นาฬิกา รมต. เป็นของศพ
ประเทศที่มีสภาเป็นห้องนั่งเล่นของนักรบ
ประเทศที่เขียนรัฐธรรมนูญให้กองทัพใช้ตีนลบ
 
 
ปลายปี 2561 งานศิลปะวิจารณ์สังคม – การเมืองที่ถูกพูดถึงหรือเป็นกระแสมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเพลงแร๊ป "ประเทศกูมี" เพลงแร็ปเสียดสีการเมืองของกลุ่มศิลปินแร๊ปที่รวมตัวกันเป็นการเฉพาะกิจภายใต้ชื่อ Rap Against Dictatorship (แร๊ปต่อต้านเผด็จการ) ในวันที่ 26 กันยายน เพจเฟซบุ๊ก Rap Against Dictatorship เผยแพร่เนื้อหาบางตอนของบทเพลงพร้อมติด #ประเทศกูมี และย้ำกับแฟนเพจอีกครั้งว่าพบกันในวันที่ 14 ตุลาคม 25(16) โดยการเขียนวันที่ในลักษณะดังกล่าวน่าจะเป็นการสื่อความหมายถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
 

ในขั้นตอนของการโปรโมทดูเหมือนกระแสความสนใจของสาธารณชนจะยังมีไม่มากนัก เช่น ในวันที่ 27 กันยายน 2561 เมื่อทางเพจนำเนื้อเพลงอีกตอนหนึ่งมาโปรโมทปรากฎว่ามียอดกดถูกใจ รักเลย และโกรธของผู้ใช้เฟซบุ๊กรวม 112 ราย และมีผู้แชร์ 67 ราย (นับเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2561)
 
 
หลังจากนั้นกระแสตอบรับต่อเพลง ประเทศกูมีก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในวันที่ 17 ตุลาคม 2561 เพจ Rap Against Dictator ก็เปิดเผยว่า หลังเพลงถูกเผยแพร่ผ่านยูทูปสามวันก็มียอดชมเกือบหนึ่งแสนครั้งแล้ว (ในวันที่ 16 ธันวาคม 2561 ประเทศกูมีเวอร์ชั่นไม่มีมิวสิควิดีโอมียอดวิวอยู่ที่ 1,570,617 วิว) หลังจากนั้นในวันที่ 22 ตุลาคม 2561 มิวสิควิดีโอประเทศกูมีถูกเผยแพร่บนยูทูปในวันที่ 22 ตุลาคม 2561 และได้รับการตอบรับจากสาธารณะชนอย่างล้นหลาม โดยนับจนถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2561 มียอดวิวบนยูทูปสูงถึง 46,852,601 วิว
 
 
สำหรับเนื้อหาของเพลงมีการกล่าวถึงเหตุการณ์หรือปรากฎการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ทั้งเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลางกรุง การยึดอำนาจและการตั้งทหารเป็นสมาชิกสนช. รวมถึงกรณีนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตรและการคอรัปชั่นของข้าราชการหรือผู้มีอำนาจรัฐ เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องอื้อฉาวที่สาธารณะสนใจอยู่แล้ว แต่การนำเนื้อหาทั้งหมดมารวมกันนำเสนอในรูปแบบแร๊พ ดูจะกลายเป็นการสื่อสารที่มีพลัง และด้วยรูปแบบของการสื่อสารที่เปิดโอกาสให้คนสามารถนำทำนองเพลงไปแต่เนื้อร้องในเวอร์ชันของตัวเองได้ ก็สร้างกระแสให้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนำเพลงไปแต่งต่อ เช่น ผู้ใช้ยูทูปชื่อ Yoshi300 แต่งเพลงชื่อ ที่นี่ไม่มี (ประเทศกูมี 8 Bars Challenge)  หรือ ศิลปินลูกทุ่งอย่าง สัญญาลักษณ์ ดอนศรี ก็แต่งเพลง "ประเทศมึงไม่มี" โดยใช้ทำนองแบบเพลงแร๊ปออกมาประชัน
 
 
แต่กระแสที่แรงจนหยุดไม่อยู่ของ "เพลงประเทศกูมี" เกิดขึ้นหลังจากคนในรัฐบาลหลายรายออกมากล่าวโจมตีเพลงนี้จนกลายเป็นข่าวทางสื่อมวลชนไปทั่วประเทศ เช่น ในวันที่ 29 ตุลาคม 2561 พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายทำนองว่า ไม่อยากให้ไปสนใจเพลงดังกล่าวพร้อมตั้งข้อสงสัยถึงวัตถุประสงค์ของผู้แต่งว่า เมืองไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวแต่กลายเป็นว่าเอาเรื่องไม่ดีมาบอกชาวต่างชาติไม่ให้มาเมืองไทยเพราะเขา (พล.อ.ประยุทธ์) อยู่ในตำแหน่งเท่านั้นหรือ  ขณะที่พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ทำนองว่า รัฐบาลรู้สึกเสียใจกับเรื่องนี้ เยาวชนน่าจะใช้ความรู้ความสามารถด้านดนตรีในทางที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองมากกว่านี้ รวมถึงควรเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เยาวชนคนอื่น ไม่อยากให้คนคิดว่าทำแบบนี้แล้วเท่ ไม่แน่ใจว่าคนที่ทำคลิปดังกล่าวทำไปด้วยความตั้งใจของตัวเอง หรือมีใครอยู่เบื้องหลังแต่ก็ขอเตือนไปว่า คนที่เสียหายที่สุดไม่ใช่รัฐบาล แต่คือประเทศไทย
 
 
ด้าน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ไม่พลาด และให้สัมภาษณ์ในวันที่ 26 ตุลาคม 2561 ว่า คิดว่าเนื้อหาเพลงมีความสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย แต่ต้องให้ทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีไปทำการตรวจสอบเสียก่อนว่า เนื้อหาเข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช. หรือไม่ ส่วนคนที่อยู่ในคลิปก็จะต้องเชิญตัวมาให้ปากคำ
 
 
 
ในวันเดียวกัน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือ ปอท. ก็ออกมาให้ข้อมูลว่าเนื้อหาเพลงประเทศกูมีอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) และหากเป็นเช่นนั้นผู้ที่แชร์เพลงดังกล่าวก็อาจทำความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา
14 (5) ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี

 
 
ปรากฎการณ์ we walk คนอยากเลือกตั้ง headache stencil ไปจนถึง จะสี่ปีแล้วนะ...และประเทศกูมีคือภาพสะท้อนของการต่อต้านและการแข็งขืมต่อสภาวะการเมืองไทยที่ถูกคสช.ครอบงำมาตลอดสี่ปี คสช.อาจจะมองว่าคนที่ออกมาร่วมเดินขบวนบนท้องถนนจะเป็นเพียง "คนหน้าเดิม" หรือพวกมีวาระแอบแฝงก็ตาม แต่กระแสความไม่พอใจในการบริหารประเทศและจำกัดเสรีภาพของ คสช. ตลอดสี่ปีที่ผ่านมาดูจะขยายไปไกลกว่านั้น โดยเฉพาะในหมู่คนทำงานศิลปะที่ คสช. เองอาจจะไม่เคยเห็นตัวตนของพวกเขามาก่อน
 
 
การแข็งขืนและต่อต้านในลักษณะที่ต่างกันนำมาซึ่งการคุกคามในลักษณะที่แตกต่างกัน คนที่ออกมาเดินถนนหนีไม่พ้นข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 สำหรับคนที่ทำงานศิลปะ แม้จะไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจในการจัดการกับพวกเขาโดยตรงแต่ คสช. ก็ยังพยามหากฎหมายแวดล้อมมาจนได้ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับความสะอาดในกรณีของ Headache Stencil หรือกฎหมายเกี่ยวกับการใช้เครื่องเสียงในกรณีของศิลปินพังค์ ส่วนการส่งคนไปกดดันทางอ้อมและกาข่มขู่ว่าจะดำเนินคดี ก็ยังเป็นวิธีพื้นที่ฐานที่ฝ่ายความมั่นคงใช้อย่างต่อเนื่อง แต่แทนที่จะหยุดพวกเขาได้กลับกลายเป็นเชื้อเพลิงให้พวกเขายิ่งต้องทำการแข็งขืนและต่อต้านต่อไป
 

กิจกรรมและผลงานชิ้นใหม่ๆ ยังถูกสร้างสรรค์ออกมาสวนกระแสกับความพยายามปิดกั้น ราวกับพวกเขาต้องการตะโกนใส่หน้าผู้มีอำนาจรัฐว่า "การแข็งขืนไม่ใช่อาชญากรรม Resdistance is not a crime"

 

ไฟล์แนบ: 
ประเภทรายงาน: