1485 1806 1084 1293 1958 1677 1538 1376 1725 1770 1898 1353 1154 1377 1983 1862 1743 1853 1321 1963 1561 1785 1646 1349 1314 1169 1529 1619 1028 1488 1361 1479 1016 1932 1479 1617 1534 1139 1562 1551 1608 1087 1243 1820 1703 1283 1657 1167 1094 1011 1993 1614 1030 1706 1242 1468 1978 1987 1262 1493 1114 1028 1538 1445 1294 1207 1085 1813 1575 1707 1776 1667 1731 1975 1461 1957 1243 1347 1180 1415 1249 1761 1443 1449 1093 1835 1331 1622 1155 1053 1062 1192 1995 1087 1331 1650 1124 1915 1986 Citizens Strike Back : การโต้กลับของพลเมือง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

Citizens Strike Back : การโต้กลับของพลเมือง


การเข้ามาปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เจตนารมณ์สำคัญที่ประกาศไว้ คือ การยุติความความขัดแย้งในชาติ  แต่สิ่งที่ คสช. ทำในระยะเวลาสี่ปีกว่าเพื่อยุติความขัดแย้งของคนในชาติ คือ การออกประกาศ คสช., คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. และกฎหมายอีกหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้เห็นต่างกับ คสช. รวมทั้งการจับกุม ดำเนินคดีกับประชาชนด้วยกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะกฎหมายที่ได้บัญญัติขึ้นในสมัย คสช. เอง จากที่ไอลอว์ได้เก็บสถิติมีประชาชนถูกเรียกไปรายงานตัว/เยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 1,318 คน หรือต้องสู้คดีในศาลทหาร อย่างน้อย 1,886 คน และมีผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ข้อที่ 12 ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนอีก อย่างน้อย 421 คน  ซึ่งล้วนเป็นผลมาจากกฎหมายของ คสช. ที่ออกมาบังคับใช้

 

แต่ก็ใช่ว่า จะมีแต่ประชาชนผู้สยบยอมให้ถูกกระทำจาก คสช. แต่เพียงฝ่ายเดียว ยังมีประชาชนบางกลุ่มที่ยังพยายามใช้ช่องทางตามกฎหมายต่างๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ขั้นพื้นฐานของประชาชนที่สูญเสียไปกลับคืนมา ในช่วงปี 2561 นั้นก็มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการโต้กลับของประชาชนผู้ไม่ยอมแพ้ที่น่าสนใจ ดังนี้
 


กิจกรรมเข้าชื่อ 10,000 คน ปลดอาวุธ คสช.

 

วันที่ 15 มกราคม 2561 ที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายภาคประชาสังคม 23 องค์กร ร่วมเปิดตัว โครงการ "ปลดอาวุธ คสช. ทวงคืนสถานการณ์ปกติ" เพื่อใช้สิทธิเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 รวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 คน ยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช. ละเมิดสิทธิและเสรีภาพ รวม 35 ฉบับ

 

1016

 

นับถึงปลายเดือนธันวาคม 2561 มีรายชื่อที่รวบรวมได้แล้วประมาณ 6,200 รายชื่อ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะทำกิจกรรมรวบรวมรายชื่ออย่างยากลำบาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยังควบคุมกิจกรรมทางการเมืองอย่างเข้มงวดในหลายพื้นที่ จนถูกห้ามจัดงานเสวนาที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ไปหนึ่งครั้ง ที่จังหวัดพิษณุโลก แต่ก็สามารถรวบรวมรายชื่อได้เกินครึ่งทางแล้ว และจะดำเนินการทำกิจกรรมต่อไป เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้รู้ถึงผลของประกาศและคำสั่งของ คสช. และจะนำร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยื่นต่อรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง
 


หวังพึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกฎหมายที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน
 

ในช่วงท้ายปี 2560 และตลอดปี 2561 มีกลุ่มประชาชน ภาคประชาสังคม และพรรคการเมือง ใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 217 โดยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า กฎหมายที่ออกโดย คสช. นั้นละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน ขัดกับรัฐธรรมนูญและใช้บังคับไม่ได้ โดยมีกรณีที่น่าสนใจ 6 กรณี ดังนี้

 


1) กลุ่มผู้ถูกห้ามการชุมนุม ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คำสั่งห้าม “ชุมนุมเกินห้าคน”
 

 

วันที่ 19 ธันวาคม 2560 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีตัวแทนภาคประชาชน 7 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวจากการจัดกิจกรรมที่หอศิลป์กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558, กลุ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ถูกดำเนินคดีจากการสังเกตการณ์กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น, กลุ่มนักกิจกรรมที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวจากการจัดกิจกรรมนั่งรถไฟไปตรวจสอบทุจริตอุทยานราชภักดิ์, กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัว จากการจัดกิจกรรมวันที่ 24 มิถุนายน 2559, กลุ่มนักกิจกรรมที่ถูกเจ้าที่รัฐควบคุมตัวจากการแจกจ่ายเอกสารรณรงค์การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ, กลุ่มประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่า คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ข้อ 6 และ 12 ที่สั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปรวมทั้งการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่งดังกล่าว ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และ 44

 


ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องทั้งหมดไว้วินิจฉัย โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดช่องทางการตรวจสอบอื่นไว้แล้ว คือ การยื่นคำร้องผ่านศาลอื่นและผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงไม่สามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ และการที่ผู้ร้องระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้อาศัยคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 จับกุมควบคุมตัวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถยื่นคำร้องผ่านช่องทางมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญได้

 


2) กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ยื่นคำร้องทั้งศาลรัฐธรรมนูญและผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้วินิจฉัย คำสั่งห้าม “ชุมนุมเกินห้าคน”  

 


วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ถูกดำเนินคดีเนื่องจากฝ่าฝืน คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12  ฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เนื่องจากถูกพนักงานสอบสวนตั้งข้อกล่าวหาดำเนินคดี ทั้งที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ อีกทั้งยังเห็นว่ามีกฎหมายสองฉบับขัดกันเอง คือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ห้ามชุมนุมกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม จึงต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว

 


ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2561 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องดังกล่าว เนื่องจากมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 แล้ว ซึ่งกำหนดให้การที่จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ต้องให้ผ่านช่องทางองค์กรอื่นมาก่อน คือ ช่องทางศาลอื่น หรือช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงจะสามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ไม่เพียงแต่ยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ในวันที่ 6 มีนาคม 2561 กลุ่มคนอยากเลือกตั้งยังยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายของ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ด้วย

 


ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 2561 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ได้บัญญัติรับรองให้ประกาศ คำสั่ง และการกระทำของหัวหน้า คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

 

 

3) พรรคการเมืองยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัย คำสั่ง “รีเซ็ต” สมาชิกพรรค
 

 

ไม่เพียงแต่กลุ่มประชาชนเท่านั้น พรรคการเมืองก็ได้รับผลกระทบจากประกาศและคำสั่งของ คสช. โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ที่สั่ง “รีเซ็ต” พรรคการเมืองเดิมให้ต้องให้สมาชิกที่มีอยู่ทุกคนมาสมัครใหม่ทั้งหมดภายใน 30 วัน เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 พรรคเพื่อไทยได้ส่งตัวแทนพรรคเข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณากรณีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

 


ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2561 ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 เพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่งดังกล่าวว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน

 


จนกระทั่งวันที่ 30 มีนาคม 2561 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ตามที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยยื่นคำร้อง  ซึ่งต่อมา วันที่ 5 มิถุนายน 2561 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560  ไม่มีปัญหาในทางกฎหมายไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

 


4) กลุ่มผู้จัดกิจกรรม We walk ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยคำสั่งห้าม “ชุมนุมเกินห้าคน”

 


เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 เครือข่าย People go ซึ่งจัดกิจกรรม We walk: เดินมิตรภาพ และต่อมาสมาชิก 8 คนถูกแจ้งความดำเนินคดี ฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อที่ 12 เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับความชอบธรรมด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12

 


ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2561 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหนังสือแจ้งว่า ไม่สามารถส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากวินิจฉัยตามคำร้องแล้วเห็นว่าประเด็นต่างๆ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
 


5) จาตุรนต์ ฉายแสง ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัย คำสั่งระงับบัญชีทรัพย์สิน

 


15 มิถุนายน 2561 จาตุรนต์ ฉายแสง ได้มอบหมายให้ทนายความเข้ายื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. ที่ 10/2557 ที่สั่งระงับธุรกรรมการเงินทุกประเภท เนื่องจากไม่ไปรายงานตัว กับ คสช. หลังการรัฐประหารในปี 2557  โดยจาตุรนต์ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า คําสั่ง คสช. ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ว่า เป็นคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด จึงวินิจฉัยให้ยุติการพิจารณา"

 


ต่อมาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 จาตุรนต์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยว่า คำสั่ง คสช. ที่ 10/2557 เป็นการกระทำและคำสั่งที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญและให้คำสั่งดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้ใดๆ อีกต่อไป โดยศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำสั่งใดๆออกมา แต่ปัจจุบัน คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 10/2557 ถูกยกเลิกไปแล้วด้วยผลของ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561

 


6) “ไผ่ ดาวดิน” ใช้ช่องทางให้ศาลทหารส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่งห้าม “ชุมนุมเกิน 5 คน”

 


19 กันยายน 2561 ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 หรือศาลทหารขอนแก่น จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่ ดาวดิน" จำเลยที่ถูกฟ้องในข้อหาชุมนุมทางการเมือง ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลทหารขอนแก่น เพื่อขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่ และขอให้ศาลเลื่อนการพิพากษาคดีออกไป เพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว แต่ระหว่างที่ศาลยังไม่นัดฟังวันวินิจฉัยคำร้องดังกล่าว ก็มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 ออกมา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 เพื่อยกเลิก คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12
 


แจ้งความดำเนินคดี คสช. ในข้อหากบฎ

 


การต่อสู้ของประชาชนที่สำคัญอีกรูปแบบหนึ่ง นอกจากการใช้ช่องทางศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบอำนาจของ คสช. แล้ว ยังมีช่องทางการเอาผิดกับ คสช. ที่ถือว่า เป็นคณะรัฐประหาร ได้อีกช่องทางหนึ่ง ก็คือ การแจ้งความตามความผิดข้อหากบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ที่บัญญัติไว้ว่า


“มาตรา 113  ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
    (1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
    (2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ
    (3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร
    ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต”

 

ประชาไท รายงานว่า จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีประชาชนฟ้องคดีกบฏต่อคณะรัฐประหาร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดจำนวนสี่ครั้ง ซึ่งทั้งสี่ครั้งถูกศาลตัดสินยกฟ้องทั้งหมด และในปี 2561 ก็มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคดีกบฏ ที่สำคัญดังนี้


กรณีกลุ่มพลเมืองโต้กลับยื่นฟ้องศาล : ยกฟ้องทั้งสามชั้น เพราะนิรโทษกรรมตัวเองไว้แล้ว


22 เมษายน 2561 ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาในคดีที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง คสช. ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ซึ่งยื่นฟ้องไว้ตั้งแต่ปี 2558 ก่อนหน้านี้ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างยกฟ้อง โดยให้เหตุผลทำนองเดียวกันว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่คณะรัฐประหารร่างขึ้นมีบทบบัญญัติยกเว้นโทษการทำรัฐประหารและการใช้อำนาจต่อจากนั้นไว้แล้ว
 

 

ศาลฎีกาก็มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โดยให้เหตุผลว่า การกระทำของจำเลยทั้งห้าตามฟ้องพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง โดยอำนาจตามมาตรา 48 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่เขียนขึ้นโดย คสช. และตามมาตรา 279 ในรัฐธรรมนูญ 2560 ก็มีผลให้ ผลของ มาตรา 48 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มีผลอยู่ต่อไป คดีนี้ถือเป็นการยกฟ้องคดีที่ฟ้องคณะรัฐประหารฐานกบฏเป็นคดีที่ห้าในประวัติศาสตร์ไทยด้วย
 


แจ้งความผู้บัญชาการทหารบก ข้อหากบฏ: ถูกฟ้องกลับฐานแจ้งความเท็จ

 


อีกเรื่องที่น่าสนใจในปี 2561 หลังผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ตอบสื่อในประเด็นที่สื่อมวลชนถามว่า ในอนาคตจะมีการทำรัฐประหารอีกหรือไม่ พล.อ.อภิรัชต์ตอบว่า “หากการเมืองไม่เป็นเหตุให้เกิดจลาจล ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น" วันที่ 19 ตุลาคม 2561 เอกชัย หงส์กังวาน และโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ สองนักกิจกรรมทางการเมือง เข้าแจ้งความกับพล.อ.อภิรัชต์ ที่สถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว ในข้อหา ‘กบฎ’ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 โดยตำรวจได้รับแจ้งความในข้อหาดังกล่าว

 


ต่อมา 23 ตุลาคม 2561 ตำรวจ สน.ลาดพร้าว ส่งหนังสือแจ้งความคืบหน้าแก่เอกชัย โดยสรุปว่า พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานแล้วพิจารณาเห็นว่า เรื่องดังกล่าวไม่มีมูลความผิดฐานกบฏ และกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 พิจารณาแล้วเห็นควรยุติการสอบสวน แต่ก่อนหน้าที่ตำรวจจะมีความเห็นว่าคดีไม่มีมูล และยุติการสอบสวน เพียงหนึ่งวัน พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมาย คสช. เข้าแจ้งความต่อตำรวจที่ สน.ลาดพร้าว เพื่อดำเนินคดีกับทั้งสองคน ในข้อหาแจ้งความเท็จ โดย คสช. ให้เหตุผลว่า การกระทำของทั้งสองทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพเสียหาย

 


8 พฤศจิกายน 2561 ทั้งสองคนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จ 19 พฤศจิกายน 2561 ก็ถูกส่งอัยการศาลแขวงพระนครเหนือพร้อมสำนวนคดี และอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องทั้งสองคนต่อศาลแขวงพระนครเหนือ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2561 โดยศาลให้ประกันตัวทั้งสองคน คนละ 12,000 บาท



สุดท้ายแล้วแม้ คสช. จะกระทำต่อประชาชนที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับ คสช. อย่างไร แต่ก็ยังมีคนอีกหลากหลายกลุ่มที่ยังเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยยังเคลื่อนไหวกันอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งมั่นจะรักษาสิทธิ เสรีภาพ ที่พึงจะมีของประชนชนชาวไทยเอาไว้ เหมือนดั่งที่ Adlai E. Stevenson กล่าวไว้ว่า “Democracy cannot be saved by superman, but only by the unswerving devotion and goodness of millions of little men.”
 

ประเภทรายงาน: