9 ปี ไทยขอกูเกิ้ลลบเนื้อหา 425 คำร้องหรือ 10,813 ยูอาร์แอล

ตามหลักเกณฑ์การจัดการเนื้อหาของบริษัท กูเกิ้ล รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐของแต่ละประเทศสามารถยื่นคำร้องขอให้ลบเนื้อหาออกจากระบบค้นหาของกูเกิ้ลและเว็บไซต์ภายใต้การดูแลของกูเกิ้ล เช่น ยูทูป บล็อกเกอร์ สตรีทวิว เป็นต้น โดยอาศัยเหตุผลที่ต่างกันออกไป รัฐบาลอาจอ้างว่า เนื้อหาที่ขอให้ลบเข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ หรืออาจเห็นว่า เนื้อหาที่ปรากฏบนเว็บไซต์ภายใต้การดูแลของกูเกิ้ลส่งผลกระทบต่อสมาชิกรัฐบาล เช่น ละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือเป็นการหมิ่นประมาท

 

 

บ่อยครั้งที่รัฐบาลของแต่ละประเทศส่งคำร้องไปขอให้ลบเนื้อหาทางการเมืองและการวิจารณ์รัฐบาล รัฐบาลอาจอ้างว่า เป็นเนื้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา (Defamation) ละเมิดความเป็นส่วนตัว (Privacy) หรือแม้แต่เรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งกูเกิ้ลจะประเมินแต่ละคำร้องและตรวจดูเนื้อหาว่า เนื้อหาดังกล่าวควรถูกลบตามกฎหมายท้องถิ่นหรือนโยบายด้านเนื้อหาของกูเกิ้ลหรือไม่ เหตุที่จะไม่ลบอาจเป็นเพราะ คำร้องไม่ระบุยูอาร์แอลที่ต้องการให้ลบให้ชัดเจน หรือคำร้องที่ขอให้ลบเนื้อหาหมิ่นประมาทไม่ได้แนบคำสั่งศาลหรือแนบคำสั่งศาลปลอมมา

 

และด้วยความแตกต่างของกฎหมายของแต่ละประเทศ เนื้อหาที่ละเมิดกฎหมายบางข้อในประเทศหนึ่งอาจไม่ผิดกฎหมายในประเทศอื่นๆ ดังนั้น กูเกิ้ลอาจจะลบหรือบล็อคเนื้อหาในประเทศที่ถือว่า เนื้อหาดังกล่าวผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเข้าถึงได้จากประเทศอื่น สำหรับกรณีที่เนื้อหาละเมิดหลักเกณฑ์ด้านเนื้อหาของกูเกิ้ล กูเกิ้ลจะลบหรือบล็อคการเข้าถึงทั่วโลก โดยคำร้องหนึ่งฉบับอาจหมายถึงเนื้อหาหลายยูอาร์แอลจากหลายเว็บไซต์ก็ได้ ซึ่งกูเกิ้ลจะนับโพสต์ วิดีโอและเนื้อหาจากแต่ละยูอาร์แอลเป็นการร้องขอให้ลบหนึ่งครั้ง

 

ในปี 2552 กูเกิ้ลได้เริ่มจัดเก็บและเผยแพร่รายงานความโปร่งใส (Transparency Report) อธิบายข้อมูลคำร้องลบเนื้อหาของรัฐบาลแต่ละประเทศและสถิติการลบเนื้อหาตามคำร้อง โดยเท่าที่เผยแพร่บนเว็บไซต์พบว่า ระหว่างปี 2552-2560 กูเกิ้ลได้รับคำร้องให้ลบข้อมูลจากหน่วยงานรัฐของไทยจำนวน 425 ฉบับ รวมแล้วขอให้ลบ 10,813 ยูอาร์แอล  โดยหลังการพิจารณากูเกิ้ลปฏิบัติตามคำร้อง 360 ฉบับ

 

หากพิจารณาคำร้องจากประเทศไทย แยกตามระบอบการปกครอง จะพบว่า

ในปี 2552-2556 ภายใต้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง มีค่าเฉลี่ยการยื่นคำร้องที่ปีละ 4 ฉบับ หรือ ปีละประมาณ 150 ยูอาร์แอล

ในปี 2557-2560 ภายใต้รัฐบาลจากการรัฐประหาร อัตราการยื่นคำร้องที่ปีละ 101 ฉบับ หรือ ปีละประมาณ 2,514 ยูอาร์แอล

 

โดยปี 2559 เป็นปีที่มีจำนวนการยื่นคำร้องมากที่สุดคือ 168 ฉบับ คิดเป็น 3,627 ยูอาร์แอล ขณะที่รัฐบาลไทยอ้างเพื่อให้ลบข้อมูลบ่อยที่สุด คือ เนื้อหาวิจารณ์รัฐบาล (Government criticism) จำนวน 400 จากทั้งหมด 425 ฉบับ โดยปี 2559 และ 2560 เป็นปีที่ยื่นคำร้องด้วยเหตุดังกล่าวมากที่สุด คือ 158 ฉบับเท่ากันทั้งสองปี เหตุอ้างรองลงมา คือ เนื้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา (Defamation) จำนวน 11 จากทั้งหมด 425 ฉบับ

 

หากแยกตามประเภทบริการพื้นที่ที่ไทยยื่นคำร้องขอให้ลบพบว่า ไทยยื่นขอให้ลบเนื้อหาออกจากพื้นที่ต่างๆ ทั้งหมด 6 ประเภท ได้แก่ ยูทูป(Youtube), กูเกิ้ลพลัส(Google+), กูเกิ้ลเว็บเสิร์ช (Web search), กูเกิ้ล เพลย์แอพ (Google Play apps), กูเกิ้ลดอค(Google Docs) และบล็อกเกอร์ (Blogger) โดยยูทูปเป็นเว็บไซต์ที่ถูกร้องขอให้ลบมากที่สุดที่ 370 คำร้อง รองลงมาคือ กูเกิ้ลพลัสที่ 37 คำร้อง และกูเกิ้ลเว็บเสิร์ชที่ที่ 14 คำร้อง

 

จากรายละเอียดโดยสรุปรายปีประกอบกับสถิติทั้งหมดเท่าที่กูเกิ้ลเปิดเผยพบว่า ปี 2552 และครึ่งแรกของปี 2553 ไม่มีคำร้องขอลบข้อมูลจากหน่วยงานรัฐไทยเลย ไทยเริ่มยื่นคำร้องในระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2553 จนถึงปี 2560 หรือปีปัจจุบันของรายงานความโปร่งใส ตามรายละเอียดดังนี้

 

 

ปี รวม วิจารณ์รัฐบาล หมิ่นประมาท รุนแรง ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย สร้างความเกลียดชัง ความมั่นคงแห่งรัฐ ความผิดเกี่ยวกับศาสนา การรังแกและการคุกคาม ไม่ระบุ
2552 0 0 0 0 0 0 0 0 0 0
2553 1 1 0 0 0 0 0 0 0 0
2554 6 6 0 0 0 0 0 0 0 0
2555 2 2 0 0 0 0 0 0 0 0
2556 12 8 3 1 0 0 0 0 0 0
2557 39 35 1 1 1 1 0 0 0 0
2558 33 32 1 0 0 0 0 0 0 0
2559 168 158 5 0 1 0 1 0 1 2
2560 164 158 1 1 1 0 0 1 0 2
รวม 425 400 11 3 3 1 1 1 1 4

เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2553 ไทยยื่น 1 คำร้อง ขอลบ 43 ยูอาร์แอล ระบุเนื้อหาหมิ่นกษัตริย์ฯ

 

เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2553 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ชื่อเดิมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ยื่นคำร้อง 1 ฉบับขอให้ลบเนื้อหาวิดีโอบนยูทูปจำนวน 43 ยูอาร์แอล ระบุเหตุผลว่า เนื้อหาเป็นการล้อเลียนและวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ ซึ่งละเมิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (Lèse-majesté laws) เมื่อกูเกิ้ลพิจารณาแล้วได้ปิดกั้นการเข้าถึงวิดีโอของผู้ใช้บริการเว็บไซต์ในประเทศไทย (Thai users) โดยกูเกิ้ลจัดประเภทคำร้องขอเหล่านี้ว่า เป็นคำร้องในประเภทการวิจารณ์รัฐบาล (Government criticism) ในปี 2553 กูเกิ้ลพิจารณาและปฏิบัติตามทุกคำร้อง ลบเนื้อหาทั้งหมด 43 ยูอาร์แอล
 

ปี 2554 ไทยยื่น 6 คำร้อง ขอลบ 354 ยูอาร์แอล ระบุเนื้อหาหมิ่นกษัตริย์ฯ

 

ปี 2554 ระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ชื่อเดิมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ยื่นคำร้อง 6 ฉบับขอให้ลบเนื้อหาวิดีโอบนยูทูปจำนวน 354 ยูอาร์แอล ระบุเหตุผลว่า เนื้อหาอาจละเมิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (Lèse-majesté laws) เมื่อกูเกิ้ลพิจารณาแล้วได้ปิดกั้นการเข้าถึงวิดีโอของผู้ใช้บริการเว็บไซต์ในประเทศไทย (Thai users) ไม่น้อยกว่า 306 ยูอาร์แอล  โดยกูเกิ้ลจัดประเภทคำร้องขอเหล่านี้ว่า เป็นคำร้องในประเภทการวิจารณ์รัฐบาล (Government criticism) ในปี 2553 กูเกิ้ลพิจารณาและปฏิบัติตามทุกคำร้อง แต่ไม่ได้ลบทุกยูอาร์แอลที่ร้องขอ

 

ปี 2555 ไทยยื่น 2 คำร้อง ขอลบ 14 ยูอาร์แอล ระบุเนื้อหาหมิ่นกษัตริย์ฯ

 

 

 

ปี 2555 ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ชื่อเดิมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ยื่นคำร้อง 2 ฉบับขอลบเนื้อหาวิดีโอบนยูทูปจำนวน 14 ยูอาร์แอล ระบุเหตุผลว่า เนื้อหาอาจละเมิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (Lèse-majesté laws) เมื่อกูเกิ้ลพิจารณาแล้วได้บล็อคการเข้าถึงวิดีโอของผู้ใช้บริการเว็บไซต์ในประเทศไทย (Thai user) จำนวน 3 จากทั้งหมด 14 ยูอาร์แอล โดยกูเกิ้ลจัดประเภทคำร้องขอเหล่านี้ว่า เป็นคำร้องในประเภทการวิจารณ์รัฐบาล (Government criticism)

 

ปี 2556 ไทยยื่น 12 คำร้อง ขอลบ 323 ยูอาร์แอล ระบุเนื้อหาหมิ่นกษัตริย์-หมิ่นบุคคล-รุนแรง

 

ปี 2556 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่กูเกิ้ลได้ให้คำอธิบายโดยสรุปไว้บนหน้าเว็บไซต์ พบว่า ระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม หน่วยงานรัฐไทยได้ยื่นคำร้องขอลบเนื้อหาจำนวน 12 ฉบับขอให้ลบเนื้อหา 323 ยูอาร์แอล แบ่งเป็นเนื้อหาวิจารณ์รัฐบาล (Government criticism) 3 คำร้อง เนื้อหาหมิ่นประมาท (Defamation) 3 คำร้อง และเนื้อหาที่มีความรุนแรง (Violence) 1 คำร้อง

 

รายงานของกูเกิ้ลให้รายละเอียดว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ชื่อเดิมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ยื่นคำร้อง 2 ฉบับขอลบเนื้อหาวิดีโอบนไซต์ยูทูปจำนวน 298 ยูอาร์แอล ระบุเหตุผลว่า เนื้อหาอาจละเมิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (Lèse-majesté laws) เมื่อกูเกิ้ลพิจารณาแล้วไม่ได้ลบเนื้อหาทั้งหมดเนื่องจากตามคำร้องขอให้ปิดกั้นการเข้าถึงของคนทั่วโลก โดยกูเกิ้ลจัดประเภทคำร้องขอเหล่านี้ว่า เป็นคำร้องในประเภทการวิจารณ์รัฐบาล (Government criticism)

 

นอกจากนี้ตามรายงานยังระบุด้วยว่า ในปีดังกล่าวได้รับคำร้องจากสมาชิกสภารายหนึ่งให้ลบผลการค้นหาที่เชื่อมต่อกับข่าวที่อาจเข้าข่ายการหมิ่นประมาทสมาชิกสภาคนดังกล่าว แต่กูเกิ้ลไม่ตอบรับคำขอนั้น ให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะ อย่างไรก็ตามกูเกิ้ลไม่ได้ให้รายละเอียดว่า จำแนกคำร้องดังกล่าวเป็นเนื้อหาประเภทใด ปี 2556 กูเกิ้ลพิจารณาและปฏิบัติตามคำร้องประมาณ 3 จาก 12 ฉบับ

 

ปี 2557 ไทยยื่น 39 คำร้อง ขอลบ 147 ยูอาร์แอล ระบุเนื้อหาวิจารณ์รัฐบาล-หมิ่นบุคคล-ความเป็นส่วนตัว

 

ปี 2557 ไทยยื่นคำร้องให้กูเกิ้ลลบเนื้อหา 39 ฉบับ คิดเป็น 147 ยูอาร์แอล โดย 35 คำร้องจากทั้งหมดเป็นคำร้องอ้างเหตุวิจารณ์รัฐบาล (Government criticism) ขอให้ลบเนื้อหาจำนวน 144 ยูอาร์แอล อีก 4 ฉบับเป็นเนื้อหาหมิ่นประมาทบุคคล (Defamation) ความเป็นส่วนตัว (Privacy) รุนแรง (Violence) และสร้างความเกลียดชัง (Hate speech) อย่างละ 1 ฉบับ

 

หากแบ่งตามช่วงเวลา ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2557 ไทยยื่นคำร้องให้กูเกิ้ลลบเนื้อหา 18 ฉบับ หรือ 73 ยูอาร์แอล โดย 17 คำร้อง หรือ 72 ยูอาร์แอลอ้างเหตุวิจารณ์รัฐบาล ขณะที่ระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2557 ไทยยื่นคำร้องให้กูเกิ้ลลบเนื้อหา 21 ฉบับ หรือ 1,641 ยูอาร์แอล โดย 18 คำร้อง หรือ 72 ยูอาร์แอลอ้างเหตุวิจารณ์รัฐบาล ปี 2557 กูเกิ้ลพิจารณาและปฏิบัติตามคำร้องประมาณ 21 จาก 39 ฉบับ

 

ปี 2558 ไทยยื่น 33 คำร้อง ขอลบ 1,566 ยูอาร์แอล ระบุเนื้อหาวิจารณ์รัฐบาล-หมิ่นบุคคล

 

ระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2558 ไทยยื่นคำร้องให้กูเกิ้ลลบเนื้อหา 33 ฉบับ หรือ 1,566 ยูอาร์แอล 32 คำร้องอ้างเหตุวิจารณ์รัฐบาล (Government criticism) อีก 1 คำร้องอ้างเหตุหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา (Defamation) แต่กูเกิ้ลพิจารณาและปฏิบัติตามคำร้องประมาณ 28 จาก 33 คำร้อง

 

ปี 2559 ไทยยื่น 168 คำร้อง ขอลบ 3,627 ยูอาร์แอล ระบุเนื้อหาวิจารณ์รัฐบาล-หมิ่นบุคคล

 

ปี 2559 ไทยยื่นคำร้องให้กูเกิ้ลลบเนื้อหา 168 ฉบับ หรือ 3,627 ยูอาร์แอล แบ่งเป็น 158 คำร้องอ้างเหตุวิจารณ์รัฐบาล (Government criticism) 5 คำร้องอ้างเหตุหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา (Defamation) อีก 4 คำร้องอ้างเหตุความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย (Privacy and security) ความมั่นคงแห่งรัฐ (National security) และการรังแกและการคุกคาม (Bullying and Harassment) อย่างละ 1 คำร้อง และ ไม่ระบุเหตุ 2 คำร้อง

 

หากแบ่งเป็นช่วงเวลา ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2559 ไทยยื่นคำร้องให้กูเกิ้ลลบเนื้อหา 59 ฉบับ หรือ 1,192 ยูอาร์แอล โดย 56 คำร้อง หรือ 1,169 ยูอาร์แอลอ้างเหตุวิจารณ์รัฐบาล ขณะที่ระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2559 ไทยยื่นคำร้องให้กูเกิ้ลลบเนื้อหา 109 ฉบับ หรือ 3,673 ยูอาร์แอล โดย 102 คำร้อง หรือ 3,443 ยูอาร์แอลอ้างเหตุวิจารณ์รัฐบาล ปี 2559 กูเกิ้ลพิจารณาและปฏิบัติตามคำร้องประมาณ 143 จาก 168 คำร้อง

 

ปี 2560 ไทยยื่น 164 คำร้อง ขอลบ 3,309 ยูอาร์แอล ระบุเนื้อหาวิจารณ์รัฐบาล-หมิ่นบุคคล
 

 

ปี 2560 ไทยยื่นคำร้องให้กูเกิ้ลลบเนื้อหา 164 ฉบับ หรือ 3,309 ยูอาร์แอล แบ่งเป็น 158 คำร้องอ้างเหตุวิจารณ์รัฐบาล(Government criticism) อีก 4 ฉบับอ้างเหตุหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา (Defamation)  ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย (Privacy and security)  ความรุนแรง (Violence) และความผิดเกี่ยวกับศาสนา (Religious offense) อย่างละ 1 ฉบับและไม่ระบุเหตุ 2 ฉบับ

 

 

 

 

หากแบ่งเป็นช่วงเวลา ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2560 ไทยยื่นคำร้องให้กูเกิ้ลลบเนื้อหา 23 ฉบับ หรือ 132 ยูอาร์แอล โดย 21 ฉบับ หรือ 123 ยูอาร์แอลอ้างเหตุวิจารณ์รัฐบาล ขณะที่ระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2560 ไทยยื่นคำร้องให้กูเกิ้ลลบเนื้อหา 141 ฉบับ หรือ 3,348 ยูอาร์แอล โดย 127 ฉบับ หรือ 3,344 ยูอาร์แอลอ้างเหตุวิจารณ์รัฐบาล ปี 2560 กูเกิ้ลพิจารณาและปฏิบัติตามคำร้องประมาณ 148 จาก 164 ฉบับ