ส่องเกมสกัดดาวรุ่งก่อนเลือกตั้ง: ปัดฝุ่นคดีเก่า ไล่ฟ้องคดีใหม่ ใช้ข้อหาการเมืองกับขั้วตรงข้าม

 

การกล่าวหาคดีเหล่านักการเมือง หรือเขียนกฎหมายจำกัดเสรีภาพที่บ่อยครั้งมักใช้จัดการฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของรัฐบาลเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในรัฐเผด็จการอำนาจนิยม ผู้มีอำนาจอาจบอกว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการบังคับใช้กฎหมายโดยทั่วไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คดีความเหล่านั้นส่งผลต่ออนาคตทางการเมืองของนักการเมืองขั้วตรงข้ามรัฐบาล  ทั้งอาจทำให้เกมการเมืองเปลี่ยนไปด้วย หรืออย่างน้อยที่สุดมันส่งผลต่อบรรยากาศเสรีภาพการแสดงออก ที่ถูกลดทอนไปในประเทศนั้นๆ รายงานชิ้นนี้จะชวนลองดูกลยุทธ์สกัดดาวรุ่งหรือนักการเมืองฝ่ายค้านของประเทศต่างๆว่า มีการใช้วิธีแบบใดบ้าง
 


รัสเซีย : ยัดคดีคอร์รัปชั่น จับแคนดิเดตฝ่ายค้านขังคุก

ปี 2561 รัสเซียจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีสามสมัยลงสมัครชิงตำแหน่งนี้อีกครั้ง ย้อนไปก่อนหน้าระหว่างปี 2543-2551 ปูติน เคยดำรงตำแหน่งแล้วสองสมัยติด ก่อนที่ในปี 2551-2555 จะเว้นว่างหนึ่งสมัยและให้คนสนิทอย่างดมิทรี เมดเวเดฟลงชิงชัยและดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนก่อนจะกลับลงสมัครอีกครั้งในปี 2555 และคว้าคะแนนเสียงนำคู่แข่งไปอย่างขาดลอย ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 2561  ปูตินขอรักษาตำแหน่งอีกครั้ง

แต่ไม่ง่าย เพราะตั้งแต่ปี 2555 เมื่อครั้งที่ปูตินกลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีก็มีข้อครหาถึงความโปร่งใส่ของการเลือกตั้งประธานาธิบดี และมีผู้ประท้วงต่อต้านปูตินจำนวนมาก ที่โด่งดังที่สุดคือการประท้วงของพุชชี ไรออท (Pussy Riot) ที่ท้ายสุดจบลงที่สมาชิกพุชชี ไรออทต้องจำคุก รวมทั้งฝ่ายค้านสายแข็งอย่าง อเล็กเซ นาวาลนี  ทนายความและนักกิจกรรมทางการเมือง นาวาลนี เป็นผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อว่า เดอะ พีเพิ้ล (The People) และโด่งดังในฐานะผู้เกาะติดและวิพากษ์วิจารณ์การคอร์รัปชั่นในรัฐบาลปูตินอย่างดุดันมาตลอด หนึ่งในนั้นคือ การเปิดโปงการคอร์รัปชั่นของเมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดี

และแล้วเมื่อปี 2559 นาวาลนีประกาศว่า จะลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี 2561 สื่อมวลชนต่างมองว่า เขาเป็นคู่แข่งของปูตินที่เข้มแข็งที่สุด แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปในปี 2560  ศาลรัสเซียตัดสินว่า นาวาลนีมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์จากบริษัทป่าไม้ของรัฐในปี 2556 ตัดสินจำคุกห้าปีและให้รอการกำหนดโทษไว้ และปรับ 500,000 รูเบิ้ล เขาเชื่อว่า คดีนี้มีแรงจูงใจทางการเมือง

ก่อนหน้านี้ในปี 2556 เขาถูกพิพากษาในคดีเดียวกันนี้ว่า มีความผิดจากการยักยอกทรัพย์แล้ว แต่ท้ายที่สุดคดีดังกล่าวถูกนำมาพิจารณาอีกครั้งโดยศาลสูงของรัสเซียหลังจากที่ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (European court of human rights : ECHR) พบว่า การดำเนินการไม่เป็นไปตามขั้นตอนแห่งการพิจารณาคดี โดยทนายความของนาวาลนีกล่าวว่า คำพิพากษาของศาลสูงรัสเซียไม่ได้ตอบข้อสงสัยของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป และยังให้น้ำหนักตามหลักฐานเดิมในการพิจารณาคดีของศาลในปี 2556

คำพิพากษานี้ส่งผลให้อนาคตทางการเมืองของนาวาลนีไม่ชัดเจนไปด้วย เพราะกติกาการเลือกตั้งของรัสเซียผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องไม่เคยมีความผิดที่มีโทษจำคุกมาก่อน ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางของรัสเซียประกาศว่า นาวาลนี ขาดคุณสมบัติในการลงเลือกตั้งจากความผิดดังกล่าว ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งของรัสเซียกล่าวว่า การประกาศว่า นาวาลนีขาดคุณสมบัติเป็นการตีความใช้กฎหมายอย่างเรียบง่าย โดยคณะกรรมการ 12 จาก 13 คนออกเสียงเห็นร่วมว่า นาวาลนีขาดคุณสมบัติ อีกหนึ่งคนไม่ออกเสียง อ้างเหตุขัดกันแห่งผลประโยชน์

ด้านนาวาลนีชี้ว่า การสกัดไม่ให้เขาลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้ ทำให้เหลือเพียงปูตินและผู้สมัครที่เขาเลือกไว้ส่วนตัวที่จะไม่สามารถส่งผลกระทบต่อปูตินได้ นอกจากคดีนี้แล้วนาวาลนียังถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมอีกหลายครั้ง เช่น ในปี 2561 เขาถูกกล่าวหาในคดีการจัดการชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลตัดสินจำคุก 30 วัน และคดีการจัดการชุมนุมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายของบุคคล ศาลตัดสินจำคุก 20 วัน โดยช่วงที่เขาถูกจำคุกมักจะเป็นช่วงที่เขาวางแผนจะนำการชุมนุมค้านรัฐบาลครั้งสำคัญ

ท้ายที่สุดผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2561 เป็นฝ่ายปูตินที่คว้าชัยไปได้ โดยได้รับคะแนนเสียงที่ร้อยละ 76.69 จากจำนวนประชาชนผู้มาออกเสียงทั้งหมดกว่า 70 ล้านคน


กัมพูชา : เขียนกฎหมายใหม่ ใช้คดีปิดปาก-ยุบพรรคฝ่ายค้าน

ปี 2561 กัมพูชาจัดการเลือกตั้งทั่วไป โดยฮุน เซน วัย 66 ปี นายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party : CPP) ซึ่งครองอำนาจมากว่าสามทศวรรษ วางแผนจะกลับเข้ารับตำแหน่งอีกครั้งตามที่เขาเคยบอกไว้ว่า จะอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะอายุ 74 ปี ขณะที่พรรคสงเคราะห์ชาติ ( Cambodia National Rescue Party : CNRP) ถูกมองว่า เป็นคู่แข่งสำคัญของพรรคประชาชนกัมพูชา และคาดการณ์กันว่า ปี 2561 เป็นโอกาสที่ดีที่สุดของพรรคสงเคราะห์ชาติในการโค่นฮุน เซน

ก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2556 พรรคของฮุน เซนคว้าที่นั่งไป 68 ที่นั่ง ขณะที่พรรคสงเคราะห์ชาติได้ไป 55 ที่นั่ง ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกันมาก แต่ฝ่ายหลังกล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม และคว่ำบาตรไม่เข้าสภา จนกว่าจะปฏิรูปการเลือกตั้ง นำไปสู่การประท้วงต่อต้านรัฐบาลในวงกว้าง หลังมีการประท้วงพรรคประชาชนกัมพูชาและพรรคสงเคราะห์ชาติได้ต่อรองกัน จนกระทั่งพรรคสงเคราะห์ชาติยอมรับตำแหน่งฝ่ายค้านในสภา

สถานการณ์ดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ในปี 2558 สม รังสี หัวหน้าพรรคสงเคราะห์ชาติ กลับถูกปลดจากสมาชิกสภากัมพูชา และถูกฟ้องคดีอาญาหลายคดี เช่น คดีที่ ฮอง ซก ฮา  โพสต์เอกสารที่อ้างว่า เป็นสนธิสัญญาพรมแดนกัมพูชาและเวียดนามลงบนเฟซบุ๊กของเขา ทำให้ต้องถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันปลอมแปลงเอกสารราชการ และคดีที่สม รังสี โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กของเขากล่าวถึงระบอบในปี 1970 ที่ใช้ศาลลงโทษกษัตริย์สีหนุจนถึงแก่ความตายในที่สุด ทำให้เฮง สัมริน ฟ้องเขาในความผิดฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากเฮง สัมรินเป็นผู้นำประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว  ทั้งในช่วงปลายปี 2559 รัฐบาลฮุน เซน เสนอร่างกฎหมายใหม่หลายฉบับที่มีผลต่อเสรีภาพทางการเมือง โดยสองฉบับที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญคือ

หนึ่ง กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เดือนธันวาคม 2560 ซอ เค็ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของกัมพูชาประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงเพื่อบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการห้ามดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ หลังจากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 รัฐบาลกัมพูชามีมติผ่านกฎหมายเอกฉันท์เป็นบทบัญญัติมาตราหนึ่งในกฎหมายกัมพูชา มีสาระสำคัญว่า  ผู้พูด แสดงท่าทาง ข้อเขียน รูปภาพ หรือกระทำการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นในลักษณะที่กระทบต่อพระมหากษัตริย์กัมพูชา มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี นอกจากนี้หน่วยงานหรือองค์กรสื่อที่เป็นผู้รับผิดชอบต่อเนื้อหาดังกล่าวยังต้องรับโทษปรับตั้งแต่ 2,500 ถึง 12,500 ดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงอาจถูกริบทรัพย์สินหรือถูกปิดองค์กรด้วย

โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2560 หลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคมก็มีการจับกุมผู้ต้องหาคนแรกเป็นครูวัย 50 ปี จากจังหวัดกัมปงธม จากกรณีโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กกล่าวหากษัตริย์กัมพูชาและสมาชิกราชวงศ์ว่าสมคบคิดกับรัฐบาลในการยุบพรรคสงเคราะห์ชาติ  เดือนมิถุนายน 2560 ศาลแขวงพนมเปญออกหมายเรียกสม รังสี เพื่อมาให้ปากคำต่ออัยการในความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์สีหนุจากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ซึ่งขณะเกิดเหตุสม รังสี ลี้ภัยทางการเมืองไปฝรั่งเศสแล้ว

สอง กฎหมายที่ห้ามไม่ให้ผู้กระทำความผิดในคดีอาญาเป็นผู้นำพรรคการเมือง ซึ่งจะมีโทษถึงยุบพรรคการเมือง ส่งผลให้สม รังสีประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไม่ให้กฎหมายดังกล่าวส่งผลต่อสถานะพรรคสงเคราะห์ชาติ และมีผลวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 หลังจากนั้นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 กฎหมายดังกล่าวก็บังคับใช้ หลังสม รังสี ลาออกจากหัวหน้าพรรคและลี้ภัยทางการเมืองไปฝรั่งเศส กึม สุขขา เข้ารับตำแหน่งแทน แต่ในเดือนกันยายน 2560 กึม สุขขาถูกจับกุมในข้อหากบฏ สมคบคิดกับต่างชาติ เขาถูกคุมขังและไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

ต่อมารัฐบาลฮุน เซน ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้ยุบพรรคสงเคราะห์ชาติที่ถูกรัฐบาลกล่าวหาว่า วางแผนจะขึ้นสู่อำนาจด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ตัดสิทธิทางการเมืองของสมาชิกพรรคสงเคราะห์ชาติ 118 คนเป็นเวลาห้าปี ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองรายสำคัญที่สั่นคลอนอำนาจฮุน เซน การยุบพรรคฝ่ายค้านในช่วงก่อนการเลือกตั้งไม่ถึงปี นำไปสู่คำถามความเที่ยงธรรมของการเลือกตั้ง แต่ฮุน เซน ยืนยันว่า การเลือกตั้งยังคงดำเนินต่อไป ‘เหมือนปกติ’ ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนสหรัฐอเมริกาจากพรรครีพับริกันมองว่า การยุบพรรคฝ่ายค้านสะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีทางเลยที่การเลือกตั้งปี 2561 ของกัมพูชาจะเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

หลังเลือกตั้งเสร็จสิ้น กึม สุขขา ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในเดือนกันยายน 2561 โดยเงื่อนไขของการปล่อยตัวชั่วคราวคือ ห้ามยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง ติดต่อกับเพื่อนร่วมงานในพรรคฝ่ายค้านหรือชาวต่างชาติที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อหากบฏ นอกจากการปราบปรามฝ่ายค้านแล้ว รัฐบาลฮุนเซนยังดำเนินการปิดสื่ออย่าง The Cambodia Daily ที่เป็นเสี้ยนหนามตำใจผ่านการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังและบล็อคเว็บไซต์ข่าวหลายสำนักในช่วงการเลือกตั้ง

ผลการเลือกตั้งทั่วไป 2561 พรรคประชาชนกัมพูชาของฮุน เซนคว้าชัยไปได้ โดยได้รับคะแนนเสียงที่ร้อยละ 76.85 จากจำนวนประชาชนผู้มาออกเสียงทั้งหมดเกือบ 7 ล้านคน กวาดที่นั่งในสภาได้ทั้งหมด 125 ที่นั่ง


ไทย : ปัดฝุ่นคดีเก่า-ไล่ฟ้องคดีใหม่ฝ่ายค้าน คสช.

ปี 2562 ไทยเตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในรอบแปดปี   เพื่อคัดเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 ที่นั่ง เป็นการเลือกตั้งภายใต้การจัดการของรัฐบาลคสช. ที่เข้าสู่อำนาจผ่านการรัฐประหารตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557  หลังการเลือกตั้งหลายฝ่ายทำนายว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีจะกลับเข้าสู่ตำแหน่งอีกครั้ง อาจด้วยวิธีการเสนอชื่อของพรรคหนุนคสช. อย่างพรรคพลังประชารัฐของสี่รัฐมนตรีในรัฐบาลคสช. และพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส.  หรือการเข้ามาในฐานะนายกรัฐมนตรีคนนอกตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ 2560 แต่การเลือกตั้ง 2562 นี้ พรรคหนุนคสช. มีคู่แข่งจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่ประกาศจะไม่เลือกพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีโดยเด็ดขาด อย่างพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคเกิดใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่และพรรคไทยรักษาชาติ

ถึงวันนี้ยังคงไม่มีความชัดเจนถึงการกำหนดวันเลือกตั้ง แต่สิ่งที่ชัดเจนมาตลอดกว่าสี่ปีที่ผ่านมาคือ คสช. หรือฟันเฟืองของคสช.ได้กล่าวหาคดีอาญาต่อนักการเมืองฝ่ายต้องข้ามหลายคดี เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคไทยรักษาชาติ ในคดีไม่ไปรายงานตัวตามประกาศคสช.ที่ 41/2557 และคดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116  , บูญเลิศ บูรณูปกรณ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยและพวก ในคดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และพ.ร.บ.ประชามติฯ  และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่และพวกรวม 3 คน ในคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการวิจารณ์เรื่องการดูดส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ 

รวมทั้งกรณีล่าสุด ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตรียมตรวจสอบชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้มีรายชื่อจะเป็นแคนดิเดตเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ผู้ซึ่งเป็นแคนดิเดตที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี ในเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2548-2553 โดยชัชชาติ ระบุว่า ส่งรายละเอียดชี้แจงเรื่องการเยียวยาม็อบเมื่อสองปีที่แล้ว กรณีนี้ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่า เหตุใดถึงหยิบยกคดีที่ ‘ดอง’ ไว้มาดำเนินการในช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่า รัฐกำลังใช้อำนาจเข้าไปคุกคามฝ่ายการเมืองที่มีความเห็นต่าง ด้าน พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า การดำเนินการตรวจสอบชัชชาติเป็นไปตามแผนการดำเนินงานขององค์กร ไม่ได้เป็นเครื่องมือของใครแต่อย่างใด

ทั้งนี้คดีความแทบทั้งหมดมีโทษจำคุก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณสมบัติของการเป็น ส.ส. และนายกรัฐมนตรีที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 เช่น มาตรา 98 ต้องคําพิพากษาให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล, เคยได้รับโทษจําคุก โดยพ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง  เว้นแต่ในความผิดโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจําคุกเพราะกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต, มาตรา 160 [นายกรัฐมนตรี]ต้องไม่เป็นผู้ต้องคําพิพากษาให้จําคุก  แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ   เว้นแต่ในความผิดโดยประมาท  ความผิดลหุโทษ  หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท (ประกอบข้อห้ามตามมาตรา 98)

ถึงแม้ว่า คดีความที่เกิดขึ้นต่อนักการเมือง คสช. จะต้องการเพียงให้นักการเมือง ‘เงียบ’ เท่านั้น และที่สุดแล้วอาจไม่เดินไปถึงการจำคุกที่ส่งผลต่ออนาคตทางการเมือง แต่มันก็ทำให้บรรดาผู้ต้องคดีประสบความยากลำบากโดยไม่จำเป็นระหว่างพิจารณาคดี ขณะที่คดีความที่เป็นข่าวครึกโครมในช่วงการเลือกตั้งก็คงไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศการเลือกตั้งกลับสู่ประชาธิปไตย

หมายเหตุ *คดีความทั้งสามคดีเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้นยังมีคดีเสรีภาพของเหล่านักการเมืองและนักกิจกรรม รวมทั้งประชาชนทั่วไป หากสนใจเพิ่มเติมสามารถติดตามอ่านได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลคดีเสรีภาพ freedom.ilaw.or.th