เลือกตั้ง 62: คนอยากเลือกตั้งยื่นคำขาด คสช.ต้องประกาศพ.ร.ฎ.เลือกตั้งภายในศุกร์นี้


วันที่ 13 มกราคม 2562 กลุ่มคนอยากเลือกตั้งนัดชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์เพื่อเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 โดยตั้งแต่เวลาประมาณ 16:30 น.มีผู้ชุมนุมมารวมตัวกันมากกว่า 100 คนและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้การรักษาการวางกำลังสังเกตการณ์ของตำรวจโดยรอบ เวลา 17.10 น. สิรวิชญ์และณัฏฐา นักกิจกรรมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งประกาศว่า ขณะนี้สถานีตำรวจนครบาลลุมพินีได้พยายามปิดเครื่องเสียง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการขออนุญาตใช้เครื่องเสียงไปแล้ว ทางฝ่ายกลุ่มคนอยากเลือกตั้งและตำรวจได้พูดคุยกันจนในที่สุดเจ้าหน้าที่ให้ใช้เครื่องเสียงได้


หลังปัญหาเรื่องเครื่องเสียงได้ข้อยุติการชุมนุมก็ดำเนินไปอย่างสงบ มีนักกิจกรรมผลัดกันขึ้นพูด และมีการอ่านแถลงการณ์ยื่นคำขาด 3 ข้อต่อรัฐบาล คสช. ได้แก่


1. “ไม่เลื่อน” วันเลือกตั้งให้ล่วงเลยหลังวันที่ 10 มีนาคม 2562 เพราะจะสุ่มเสี่ยงให้ กกต. ไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งภายในกรอบ 150 วันนับจากวันประกาศ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 อันอาจส่งผลทำให้การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นถูกชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นโมฆะ

2. “ไม่ล้ม” การเลือกตั้งด้วยเล่ห์กลหรือข้ออ้าง รวมถึงเทคนิคทางกฎหมายใดๆ ทั้งที่มีความพยายามทำอยู่ในวันนี้ และที่จะมีขึ้นในอนาคต

3. “ไม่ต่อเวลา” ให้กับการดำรงอยู่ในอำนาจของตนเอง ผ่านกลไกตามรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเพื่อสร้างความได้เปรียบ ไม่ว่าจะในรูปของการใช้เสียงของ ส.ว. 250 คนจากการแต่งตั้งมาสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ใช้ความเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการใช้งบประมาณและโยกย้ายข้าราชการอย่างไร้การตรวจสอบระหว่างช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้ง รวมถึงการเลือกปฏิบัติ เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจซึ่งล้วนแล้วแต่ถือเป็นการโกงการเลือกตั้งทั้งสิ้น


แถลงการณ์ระบุด้วยว่าหากภายในวันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2562 ยังไม่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งฯในราชกิจจานุเบกษา กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะจัดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันเสาร์ที่ 19 มกราคม 2562 เวลา 17.00 น.


ศรีไพร นนทรี นักกิจกรรมด้านแรงงานหนึ่งในผู้ปราศรัยกล่าวว่า ทั้งที่วันที่ 11 ธันวาคม 2561 หัวหน้าคสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 22/2561 ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองแล้ว แต่กลับมีสันติบาลไปติดตามเยี่ยมบ้านสอบถามเครือข่ายแรงงานไทรอัมพ์ว่าจะมีการเคลื่อนไหวใดๆหรือไม่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่งต่อการเคลือนไหวเรียกร้องสิทธิแรงงานของเครือข่ายแรงงาน ซึ่งศรีไพรหวังว่าหลังการเลือกตั้งสถานการณ์การต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานจะดีขึ้น


เวลา 19.10 น.ณัฏฐา แจ้งว่า ตร.สน.ลุมพินีมีหนังสือให้แก้ไขการชุมนุม เนื่องจากกิจกรรมมีการใช้เครื่องเสียงดังเกินที่กฎหมายกำหนด ขอให้แก้ไขการชุมนุม ต่อมาเวลาประมาณ 20.00 น. ณัฏฐาและพ.ต.อ.อรรถวิชช์ ได้กล่าวต่อผู้ขุมนุมว่า จะไปที่สน.ลุมพินีเพื่อจัดการเกี่ยวกับเรื่องเครื่องเสียง ซึ่งจำเป็นต้องนำไปด้วย ขอให้ผู้ชุมนุมกลับบ้านและระวังคำยั่วยุ


อย่างไรก็ดี ช่วงเวลา 20.30 น. แกนนำพยายามเจรจากับตำรวจขอให้พูดคุยกันก่อนตั้งคดีใช้เครื่องเสียงเกินกำหนดและขอไม่ให้ยึดเครื่องเสียงไปเพราะเกรงว่า จะยึดไปนานและส่งผลต่อการทำหาเลี้ยงของเจ้าของเครื่องเสียง แต่สุดท้าย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็นำตัวณัฏฐา แกนนำและผู้แจ้งการชุมนุมไปที่ สน.ลุมพินี


ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 15 (7) มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้เครื่องเสียงว่า ผู้จัดการชุมนุมไม่ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าที่มีขนาดหรือระดับเสียงตามที่ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ ประกาศกําหนด คือ มีค่าระดับเสียงสูงสุด ไม่เกิน 115 เดซิเบลเอ และค่าระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 70 เดซิเบลเอ อีกทั้ง วิธีการตรวจวัดระดับเสียงสูงสุด ระดับเสียงเฉลี่ย และระดับเสียงรบกวนที่เกิดจากการใช้เครื่องขยายเสียงในการชุมนุมสาธารณะ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

ทั้งนี้ หากผู้รับแจ้งการชุมนุม(ตำรวจ)พบเห็นการกระทำความผิดตามมาตรา 15 (7) ให้ผู้รับแจ้งแจ้งผู้จัดการชุมนุมดำเนินการแก้ไขตามเวลาที่กำหนด ถ้าผู้จัดการชุมนุมไม่ปฏิบัติตามให้ร้องต่อศาลเพื่อขอให้เลิกการชุมนุม หากไม่ปฏิบัติตามจึงจะมีอำนาจับกุม-ยึดและอายัดอุปกรณ์ที่ใช้ในการชุมนุม

อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ยังกำหนดโทษของผู้จัดการชุมนุมที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15 (7) ไว้อีกว่า ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ตามมาตรา 31

เวลา 21.45 น. สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว ได้นำเครื่องขยายเสียง ประกอบด้วยเครื่องขยายเสียงและลำโพง 2 ตัว และเครื่องปั่นไฟมาไว้ที่โรงพัก พร้อมมีประชาชนประมาณ 60 คน เดินทางติดตามมาให้กำลังใจเหตุการณ์ทั่วไปยังคงปกติ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ยึดเครื่องขยายเสียงไว้ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

จากนั้นเมื่อเวลา 23.20 น. ณัฏฐา ได้ออกมาแจ้งให้กับประชาชนที่ติดตามมาให้กำลังใจได้ทราบว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญตัวมาเนื่องจากในระหว่างที่มีการชุมนุมนั้นมีการเปิดใช้เครื่องขยายเสียงดังเกินกว่า 90 เดซิเบล ซึ่งตนก็ได้ชี้แจงว่า ในระหว่างที่มีการชุมนุมนั้นอาจจะมีเสียงจากแหล่งอื่นๆ ที่ใกล้เคียงแทรกเข้ามา จึงอาจทำให้เครื่องวัดผิดพลาดได้ ซึ่งในส่วนของตนได้มีการถ่ายคลิปไว้ตรวจสอบตลอดเวลา ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้ขอยึดเครื่องเสียงทั้งหมดไว้ตรวจสอบ และลงบันทึกประจำวัน ส่วนคดีและการแจ้งข้อหานั้น ต้องรอให้การตรวจสอบทั้งหมดเสร็จสิ้นก่อน จึงจะแจ้งให้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในภายหลังต่อไป

You May Also Like
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย