ทบทวนกรณี #SaveRahaf กับสิทธิผู้ลี้ภัยในยุคคสช.

 
 
นับตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2562 เป็นต้นมา บนโลกออนไลน์ได้เกิดกระแส #SaveRahaf ขึ้น หลังมีรายงานข่าวว่า ทางการไทยได้กักตัวหญิงชาวซาอุดิอาระเบีย ชื่อ ราฮาฟ โมฮาเหม็ด อัล-คูนัน อายุ 18 ปี ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ระหว่างแวะเปลี่ยนเครื่องบินที่ไทย ก่อนเธอจะเดินทางต่อไปออสเตรเลียเพื่อหลบหนีครอบครัว เพราะหวาดกลัวว่า ครอบครัวจะฆ่าเธอหลังปฎิเสธที่จะนับถือศาสนาอิสลาม
 
 
ราฮาฟเปิดเผยว่า ครอบครัวของเธอกดขี่เธอมาตลอดและการหนีออกจากบ้านถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย หากเธอต้องถูกส่งกลับเธออาจจะเสียชีวิตหรือถูกจำคุก โดยเธอพยายามส่งต่อข้อมูลของเธอผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว เช่น ภาพใบหน้า อายุ เพื่อยืนยันว่า เธอมีตัวตนอยู่จริง พร้อมกับเผยแพร่สำเนาพาสปอร์ต และคลิปความเคลื่อนไหวต่างๆ ของตัวเองระหว่างถูกกักตัวอยู่ 
 
 
 
 
สำหรับท่าทีของรัฐบาลไทยในตอนแรก คือ ต้องการจะส่งตัวราฮาฟกลับประเทศด้วยเที่ยวบินของสายการบินคูเวต แต่เธอปิดประตูไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาภายในห้องและปฏิเสธที่จะออกจากห้องพักในโรงแรมภายในสนามบินสุวรรณภูมิจนเวลาล่วงเลย และทำให้เที่ยวบินดังกล่าวเดินทางออกไปแล้ว
 
 
เมื่อเรื่องราวของเธอเป็นที่ถูกพูดถึงมากขึ้น และมีการกดดันจากต่างประเทศ เช่น แถลงการณ์ของรัฐบาลออสเตเลียที่เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยและสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees หรือ UNHCR) ให้ราฮาฟสามารถเข้าถึงกระบวนการขอสถานะผู้ลี้ภัย  
 
 
สุดท้าย ทางการไทยตัดสินใจว่า จะดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้ราฮาฟได้อยู่ในไทยเป็นการชั่วคราวภายใต้ความดูแลอย่างปลอดภัยของ UNHCR
 
 
ทบทวน กรณี #SaveRahaf ภายใต้กติการะหว่างประเทศ
 
 
กรณีการกักตัวราฮาฟช่วยทำให้สังคมไทยได้ทบทวนบทบาทของรัฐที่มีต่อผู้ลี้ภัยว่า ต้องดำเนินการตามแนวทางหลักสิทธิมนุษยชน หรือยึดตามหลักต่างตอบแทนโดยส่งผู้ลี้ภัยกลับตามคำร้องขอของมิตรประเทศ
 
 
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ปี 2494 และไม่มีกฎหมายรับรองสถานภาพของผู้อพยพ และผู้แสวงหาลี้ภัย ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ใช่สถานที่รองรับการลี้ภัย แต่ทว่ารัฐบาลไทยยังคงต้องเคารพหลักการไม่ผลักดันบุคคลสู่อันตราย (Non-Refoulement) ซึ่งบัญญัติไว้ในข้อที่ 33 ของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ เพราะบทบัญญัตินี้ยังมีสถานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ
 
 
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ( CAT ) ซึ่งในบทที่ 3 ข้อ 3 วรรคที่หนึ่ง บัญญัติว่า ‘รัฐภาคีต้องไม่ขับไล่ ส่งกลับ (ผลักดันกลับออกไป) หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมาน’
 
 
รัฐบาลคสช. ละเมิดสิทธิผู้ลี้ภัยมาแล้ว อย่างน้อย 4 ครั้ง
 
 
แม้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคีของอนุสัญญาที่ต้องเคารพหลักการไม่ผลักดันบุคคลสู่อันตราย แต่ทว่าในทางปฏิบัติของรัฐไทย ภายใต้การดูแลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับปรากฎว่า มีการละเมิดหลักการนี้โดยส่งตัวผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 4 ครั้ง ได้แก่
 
 
หนึ่ง ฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรน
 
 
ฮาคีมถูกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไทย (สตม.) กักตัวไว้ตามการร้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจากรัฐบาลบาห์เรน เมื่อเดือนพฤศิจายน 2561 เนื่องจาก ถูกรัฐบาลบาห์เรนตั้งข้อหาว่าทำลายทรัพย์สินของสถานีตำรวจ และถูกตัดสินจำคุก 10 ปี แต่เขาปฏิเสธว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ 
 
 
การตั้งข้อหาดังกล่าวมีการคาดกันว่า มีมูลเหตุจูงมาจาก ฮาคีมออกมาเปิดเผยเรื่องถูกจับกุมและซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่บาห์เรนเเพราะการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพี่ชาย ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลในตะวันออกลาง หรือ “อาหรับสปริง” 
 
ปัจจุบัน ฮาคีมยังถูกกักตัวอยู่ที่ห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหลังศาลอาญากรุงเทพมีคำสั่งขยายเวลากักตัวเขาออกไปอีก 60 วัน และมีความกังวลว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอยกับ กรณีของ อาลี ฮารูน ที่หนีมาไทยหลังจากถูกจับกุมและอ้างว่า ถูกซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่บาห์เรน และถูกส่งตัวกลับทำให้ถูกซ้อมทรมานและจำคุกตลอดชีวิตเมื่อปี 2557
 
 
สอง รวต รุท มุนี นักกิจกรรมแรงงานชาวกัมพูชา
 
 
รวตถูกจับกุมที่ประเทศไทยและส่งกลับประเทศตามหมายจับของรัฐบาลกัมพูชา ในความผิดฐานยุยงส่งเสริมให้เกิดความแตกแยกในกัมพูชาเนื่องจากนายมุนีร่วมผลิตสารคดีชื่อ “แม่ขายหนู” เป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงยากจนที่ถูกขายเพื่อค้าประเวณี เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม 2561
 
 
ทางด้านฮิวแมนไรท์ วอทช์ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ เรียกร้องไม่ให้รัฐบาลไทยส่งนายมุนีกลับ เนื่องจากมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือว่า เขาอาจถูกฟ้องคดีด้วยเหตุผลทางการเมือง ถูกควบคุมตัวอย่างมิชอบ หรือถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายในกัมพูชา อีกทั้งยังมีนักกิจกรรมแรงงานถูกส่งกลับกัมพูชาถึงแม้ว่าจะได้สถานะลี้ภัยจากสหประชาชาติแล้วก็ตาม ก็คือ สม สุขา ศาลกัมพูชาได้อ่านคำพิพากษาลับหลังในข้อหาดูหมิ่นและยุยงส่งเสริมให้เกิดความแตกแยก หลังจากที่เธอขว้างรองเท้าแตะไปที่ป้ายหาเสียงริมถนนของพรรครัฐบาล
 
 
สาม ชาวอุยกูร์อย่างน้อย 109 คน
 
 
ทางการไทยอ้างว่า ได้รับหลักฐานการกระทำผิดของชาวอุยกูร์และการพิสูจน์สัญชาติจากรัฐบาลจีน จึงตัดสินใจจะส่งกลับให้กับฝ่ายจีน เมื่อปี 2558 ทั้งนี้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2560 มีรายงานข่าวว่า ชาวอุยกูร์ 20 คน หนีออกจากอาคารควบคุมคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง อ.สะเดา จ.สงขลา โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คนเหล่านี้เป็นชาวอุยกูร์กลุ่มสุดท้ายจากกว่า 200 คน ที่ถูกทางการไทยควบคุมตัวตั้งแต่ปี 2557 และบางส่วนถูกบังคับส่งตัวกลับไปยังจีนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2558
 
 
สี่  กุ้ย หมินไห่ เจ้าของร้านหนังสือในฮ่องกง
 
 
กุ้ย หมินไห่ได้หายตัวสาบสูญไป โดยเว็บไซต์ข่าวผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า เขาหายตัวไปจากที่พักในเมืองไทยเมื่อช่วงปลายปี 2558 และต่อมาก็มีรายงานข่าวจากสื่อทางการจีนเมือเดือนมกราคม 2559 ว่า เขาออกมาสารภาพผิดในคดีเมาแล้วขับรถชนผู้หญิงคนหนึ่งเสียชีวิตซึ่งเป็นคดีตั้งแต่ปี 2546 
 
 
ทั้งนี้ กุ้ย หมิ่นไห่นั้นเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีน มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าการที่ทางการจีนพาตัวเขาไปนั้นเป็นไปตามกระบวนกฎหมายหรือไม่ และทางการไทยได้มีส่วนรู้เห็นและให้ความร่วมมือกับการพาตัวกุ้ย หมินไห่ด้วยหรือไม่