ศาลปกครองกลางนัดฟังคำพิพากษาคดีวอยซ์ ทีวี ฟ้องเพิกถอนคำสั่งกสทช.

27 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 10.00 น. ศาลปกครองกลางออกนั่งพิจารณาคดีเป็นครั้งแรกในคดีที่วอยซ์ ทีวีฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักงาน กสทช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยตุลาการศาลปกครองจะแถลงข้อเท็จจริงในคดี ก่อนที่ในเวลา 14.00 น. ตุลาการฯจะอ่านคำพิพากษาของคดีนี้

เหตุแห่งคดีนี้สืบเนื่องจากวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 กสทช.ได้ออกคำสั่งระงับการออกอากาศวอยซ์ ทีวี ทั้งสถานีเป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-27 กุมภาพันธ์ 2562 ระบุว่า เนื้อหาออกอากาศของวอยซ์ ทีวีส่อสร้างความสับสนขัดต่อประกาศคสช.ที่ 97/2557 จึงผิดตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ประกอบกับเป็นการกระทำความผิดซ้ำซากจึงสั่งระงับการออกอากาศทั้งสถานี

เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวีได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งระงับการออกอากาศทั้งสถานีที่ออกเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562, ขอให้เพิกถอนมติกสทช.ครั้งที่ 3/2562 ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการระงับการออกอากาศ และเพิกถอนบันทึกข้อตกลงระหว่างวอยซ์ ทีวีและสำนักงานกสทช. ระหว่างนี้ขอให้ศาลปกครองทุเลาคำสั่งระงับการออกอากาศทั้งสถานี

ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนฉุกเฉินทุเลาคำสั่งของกสทช. โดยหลักแล้ววอยซ์ ทีวีสู้ว่า การปิดวอยซ์ ทีวีในช่วงการเลือกตั้งสร้างความเสียหายในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และธุรกิจของวอยซ์ ทีวีเองด้วย นอกจากนี้กสทช.ยังได้รับการคุ้มครองจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง, อาญาและวินัย จึงเกรงว่า สถานะของ กสทช.จะหลุดออกจากหลักนิติรัฐ ขณะที่กสทช.สู้ว่า การออกคำสั่งของกสทช.ปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการและวอยซ์ ทีวีได้เผยแพร่เนื้อหาสร้างความสับสนและผูกตัวเองเข้ากับอุดมการณ์ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หากยังปล่อยให้ออกอากาศต่อไปจะทำให้เกิดการแบ่งแยกไม่เป็นการปรองดองสมานฉันท์หรือไม่

ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า คำสั่งของกสทช. น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงทุเลาคำสั่งของ กสทช.ไว้ระหว่างการพิจารณาคดี ทำให้ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562 วอยซ์ ทีวีกลับมาออกอากาศได้เป็นปกติ ขณะที่ในชั้นไต่สวนข้อเท็จจริงวอยซ์ ทีวีได้สู้ในประเด็นหลักคือ การออกคำสั่งของกสทช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย, การแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและสื่อมวลชนและ กสทช.ขาดความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์เนื้อหาและกระบวนการทำข่าว

ที่ผ่านมารัฐบาลคสช.ได้ออกประกาศและคำสั่งในการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน ฉบับหลักที่นำมาใช้คือ ประกาศคสช.ที่ 97/2557 ที่มีเนื้อหาห้ามสื่อวิพากษ์วิจารณ์คสช.และเสนอข่าว ‘ส่อ’ สร้างความสับสนแก่ประชาชน ที่มีความหมายกว้างขวางอย่างมาก โดยคำว่า ‘ส่อ’ ไม่จำเป็นต้องเกิดผลสับสนจริง, ประกาศ คสช.ที่ 103/2557 ที่แก้ไขให้วิจารณ์คสช.ได้แต่ต้องไปด้วยความสุจริต และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 คุ้มครองให้ กสทช. ทำหน้าที่โดยไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง,ทางอาญาและทางวินัย

ผู้ใช้อำนาจตามประกาศและคำสั่งเหล่านี้คือ กสทช. โดยที่ผ่านมาลงโทษสื่อการเมืองไปไม่น้อยกว่า 59 ครั้ง วอยซ์ ทีวีถือเป็นสื่อที่โดนลงโทษมากที่สุด 24 ครั้ง โดยการลงโทษขั้นหนักที่สุดคือ การระงับการออกอากาศทั้งสถานีเป็นเวลา 15 วันในปี 2560 และปี 2562 นี้

ข้อมูลเพิ่มเติม
เปิดคำเบิกความ กรณีวอยซ์ ทีวีขอศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินทุเลาคำสั่งกสทช. 
ศาลปกครองไต่สวนข้อเท็จจริงคดีวอยซ์ ทีวีฟ้องกสทช.
สถิติการพิจารณาลงโทษสื่อมวลชนภายใต้กลไก กสทช. 
ปัญหาของการพิจารณาลงโทษสื่อ โดยกลไก กสทช. 
 

You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

สมัคร สว.67 แค่กรอกเลือกกลุ่มอาชีพ โดยมีผู้รับรองและพยาน

ผู้สมัคร สว. ไม่ว่าจะเพราะสมัครเพื่ออยากมีส่วนร่วมในกระบวนการหรือสมัครเพื่อไปเป็น สว. สำหรับหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าเราสามารถสมัคร สว.ในกลุ่มที่ต้องการได้หรือไม่ ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว.) กำหนดว่า การพิสูจน์ว่าผู้สมัครอยู่กลุ่มอาชีพใด ใช้หลักฐานตามเอกสารสว. 4 คือการมี “ผู้รับรอง”