เลือกตั้ง 62: อนาคตใหม่แจงกรณีรองหัวหน้าพรรคแชร์ข่าวปลอม “กาแฟบิ๊กป้อม” วอนช่วยจับตาสื่อรับใช้เผด็จการ

5 มีนาคม 2562 พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ชี้แจงกรณีตำรวจออกหมายเรียกพล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่แชร์ข่าวปลอมเกี่ยวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ข่าวพาดหัวในทำนองว่า เบิกงบกาแฟแก้วละ 12,000 บาท โดยใช้งบสวัสดิการในตำแหน่ง รวมเป็นเงิน 82,000 บาท พร้อมกับนำภาพประกอบที่มี พล.อ.ประวิตร และไพศาล พืชมงคล ที่ปรึกษา มาตัดต่อร่วมกัน

โดยกล่าวว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวจากตำรวจว่า จะมีการแถลงการจับกุมพล.ท. พงศกร ซึ่งความจริงยังไม่มีการจับกุมหรือการออกหมายจับเป็นเพียงหมายเรียกรายงานตัวเท่านั้น ผู้ที่ฟ้องคดีคือพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมาย คสช. คดีความที่เกิดขึ้นคือ พล.ท.พงศกร เป็นหนึ่งในผู้ที่แชร์ข่าว เมื่อพล.ท.พงศกร ทราบว่า ข่าวดังกล่าวนั้นเป็นข่าวปลอมก็ได้ลบ และโพสต์ขอโทษ ข่าวดังกล่าวอยู่บนหน้าเฟซบุ๊กของพล.ท.พงศกรในช่วงเวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น  แต่นำไปสู่การดำเนินคดี ข้อหาคือ มาตรา 14(2),(5) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกันกับที่ถูกใช้ดำเนินคดีกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่และกรรมการบริหารพรรครวมสามคน

มาตรา 14(2) บัญญัติไว้ว่า นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

ซึ่งเรายอมรับว่า พล.ท.พงศกร ได้แชร์ข่าวปลอมจริง แต่ยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาเห็นได้จากการรีบลบทันทีภายในเวลาไม่กี่นาที ฉะนั้นพล.ท.พงศกร จึงพร้อมที่จะต่อสู้คดีความนี้ ด้วยเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจจริงๆว่า หนึ่ง ไม่มีได้มีเจตนาและเรื่องนี้ไม่ได้สร้างความตื่นตระหนกใดๆให้แก่สังคม สอง ไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ สาม ถ้าจะกระทบก็คือกระทบต่อความมั่นคงของพล.อ.ประวิตร เพียงคนเดียวเท่านั้น

อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับคดีนี้คือ แม้ว่าจะมีหกคนที่ถูกออกหมายเรียก แต่อย่าลืมว่า ข่าวปลอม-ข่าวเท็จแบบนี้มีอยู่ทั่วไปและผู้ที่แชร์ข่าวปลอม-ข่าวเท็จนี้ก็ไม่ได้มีเพียงแค่หกคนอย่างแน่นอน มีคนจำนวนมากที่แชร์ข่าวนี้ไปแต่ไม่ถูกดำเนินคดี ถามว่า นี่คือการเลือกปฏิบัติหรือไม่? นี่คืออีกหนึ่งคดีความทางการเมืองที่ตั้งใจทำเพื่อสกัดกั้นพรรคอนาคตใหม่หรือไม่?

อีกหนึ่งประเด็นคือ ข่าวปลอมสองข่าวคือ หนึ่งการถือหุ้นบริษัท ปิคนิคและมีการโจมตีจากสำนักข่าวที่มีชื่อเสียงมากในประเทศไทยว่า เป็นการเข้าไปพัวพันกับผู้ที่หลอกลวงประชาชน หากไปดูในรายละเอียดเห็นว่า คดีความที่เกิดขึ้นกับการเข้าซื้อหุ้นของธนาธรเป็นคนละช่วงเวลาอย่างชัดเจน ห่างกันเกือบสิบปี คดีความที่เกิดขึ้นกับบริษัทปิคนิค เกิดขึ้นในช่วงปี 2550 ก่อนที่บริษัทจะเริ่มฟื้นฟูกิจการขึ้นใหม่และหาผู้ลงทุนรายใหม่ ในช่วงนั้นเองธนาธรจึงเข้าไปลงทุนในบริษัทและขายหุ้นในบริษัทดังกล่าวไปหมดแล้ว ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ทำงานการเมือง ฉะนั้นการปล่อยข่าวว่า ธนาธรไปเกี่ยวพันกับผู้ที่ฉ้อโกงหลอกลวงประชาชนจึงเป็นความตั้งใจที่จะปล่อยข่าวปลอม

สอง บริษัท วัน โอ ซี คอร์โปเรชัน จำกัด มีการเผยแพร่ข้อมูลจากสำนักข่าวที่โดยปกติแล้วเป็นที่เชื่อถือของสังคมในการตรวจสอบการทุจริต การคอร์รัปชั่นในสังคมและเป็นสื่อที่ได้รับการยกย่องเยอะในเรื่องการเปิดโปงข้อมูลต่างๆ แต่กรณีของวัน โอ ซี เป็นบริษัทที่เตรียมไว้ใช้ในธุรกิจส่วนตัว แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้บริษัทนี้แต่อย่างใด สถานะของบริษัทนี้ตลอดมาเป็น sleeping company ปัจจุบันบริษัทนี้อยู่ในระหว่างปิดกิจการ ซึ่งเป็นลักษณะปกติของการทำธุรกิจ แต่กลับถูกนำมาเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า

เรื่องนี้เป็นการจงใจสร้างข่าวปลอมเพื่อที่จะทำลายกันในช่วงเวลาที่กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้ง การยืนยันในข้อเท็จจริง รายละเอียดทั้งหมดได้ชี้แจงไปแล้วด้วยในโพสต์เฟซบุ๊กเพจ  Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จึงขอสื่อมวลชนให้ความเป็นธรรมกับเราและขอให้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในช่วงเวลา 20 วันสุดท้ายของการเลือกตั้ง เหตุใดพรรคอนาคตใหม่ถึงมีกระแสถูกโจมตีทุกวัน 

เรื่องข่าวปลอมและกระแสการใช้คดีความและกระบวนการปล่อยข่าวในโซเชียลมีเดีย เรื่องนี้พรรคอนาคตใหม่ยืนยันว่า เป็นการเมืองเก่าและเราไม่อยากให้ประเทศไทยวนเวียนอยู่กับการใช้อำนาจในทางมิชอบในทางสกัดกั้นศัตรูคู่แข่งทางการเมือง และนี่คือ เหตุผลที่พรรคอนาคตใหม่ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระ ไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือและให้เกิดความยึดโยงกับประชาชน เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนไม่ใช่ผลประโยชน์ของผู้ที่กุมอำนาจทางการเมืองตามช่วงเวลานั้นๆ

ในส่วนของการปล่อยข่าวปลอมโดยโซเชียลมีเดียหรือแม้แต่สื่อมืออาชีพ วันนี้วันที่ 5 มีนาคม เป็นวันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ เราเชื่อมั่นและเราได้เห็นแล้วว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งมีสื่อมวลชนจำนวนมากต่อสู้เพื่อนำความจริงไปสู่ประชาชน เราชื่นชนและคารวะในจิตวิญญาณของสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่แบบนี้ ขณะเดียวกันเราขอให้เพื่อนสื่อมวลชนและประชาชนช่วยกันจับตาดูสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยที่รับใช้เผด็จการ ปล่อยข่าวปลอมเพื่อทำลายศัตรูคู่แข่งทางการเมือง

ไม่ใช่นักการเมืองรายแรกที่โดนคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ก่อนหน้าที่จะมีการแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในปี 2560 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14(1) มักจะถูกนำมาใช้ดำเนินคดีพ่วงกับกฎหมายหมิ่นประมาทเวลามีคนแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ในประเด็นสาธารณะและพาดพิงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ส่วนคนที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการการเมือง กองทัพ หรือคสช. บนโลกออนไลน์ มักจะถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ) หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (ข้อหายุยงปลุกปั่น) ควบคู่กับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 (2) และ (3)

หลังมีการแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แนวทางการร้องทุกข์กล่าวโทษคนที่แสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะกรณีของบุคคลที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง โดยแทนที่จะใช้วิธีฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคง เช่น มาตรา 112 หรือ มาตรา 116 พ่วงกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯมาตรา 14 (2) และ (3) ก็เปลี่ยนมาเป็นดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯมาตรา 14 (2) อย่างเดียวแทน โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 14 (3) หรือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคงเพิ่มเติม

ทั้งนี้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14(2) ซึ่งมีการแก้ไขในปี 2560 ได้มีการขยายความเนื้อหาการกระทำผิดให้กว้างขึ้น เป็น “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” จากเดิมที่ฉบับปี 2550 กำหนดไว้ว่า “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน”

นอกจากกรณีของพล.ท. พงศกรแล้วก็มีกรณีของนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาในความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯมาตรา 14(2) อื่นๆที่น่าสนใจได้แก่ กรณีของวัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นในเรื่องการซื้อดาวเทียมไธอา (THEIA) จากสหรัฐอเมริกามูลค่า 91,200 ล้านบาท, กรณีพิชัย นริพทะพันธุ์ แกนนำพรรคไทยรักษาชาติ แสดงความเห็นถึงการดูด ส.ส. ที่อาจจะทำลายความปรองดองได้ และกรณีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และกรรมการบริหารพรรคอนาคใหม่อีกสองคน ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาเดียวกันจากการจัดรายการเฟซบุ๊กไลฟ์ที่เพจของพรรคอนาคตใหม่วิจารณ์เรื่องการดูดผู้สมัคร ส.ส. ให้ย้ายพรรค

ตลอดสี่ปีที่ผ่านมามีประชาชนถูกกล่าวหาตามมาตรา 14(2) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯไม่น้อยกว่า 51 คนหรือ 26 คดี เฉพาะปี 2561 มีไม่น้อยกว่า 25 คนหรือ 12 คดี ขณะที่ปี 2562 มีไม่น้อยกว่า 7 คน หรือ 2 คดี

///////////////////////////////////////////////////////////////

อ่านสถิติมาตรา 14(2) ทั้งหมดที่นี่
 

You May Also Like
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย