เจ้าของเพลง #ประเทศกูมี เตรียมรับรางวัลที่นอร์เวย์ ส่วนนักกิจกรรมสองคนเตรียมขึ้นศาลเพราะเปิดเพลง #ประเทศกูมี หน้ากองทัพบก

วันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เฟซบุ๊กเพจ Rap Against Dictatorship ซึ่งเป็นเพจของศิลปินเพลงแร๊พเจ้าของผลงานเพลง #ประเทศกูมี โพสต์ข้อความว่าพวกเขาได้รับรางวัล Václav Havel Prize for Creative Dissent ซึ่งเป็นรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนที่จะมีพิธีมอบในงาน Oslo Freedom Forum ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ โดยรางวัลดังกล่าวจะมีการมอบให้กับผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการคัดค้านความอยุติธรรม ทางกลุ่มจึงส่งตัวแทนศิลปินส่วนหนึ่งไปรับมอบรางวัล

เพลง “ประเทศกูมี” ถือเป็นหนึ่งในปรากฎการณ์แห่งปี 2561 เพลงประเทศกูมีเป็นเพลงแร๊พที่ใช้เหตุการณ์หกตุลาเป็นแบ็คกราวด์ของมิวสิควิดีโอ ขณะที่แร๊พเปอร์แต่ละคนจะหมุนเวียนกันเข้ามาร้องเพลงในส่วนของตัวเองซึ่งเนื้อหาเป็นการเสียดสีการเมืองร่วมสมัย เพลงประเทศกูมีถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ยูทูปในวันที่ 22 ตุลาคม 2561 ซึ่งจนถึงวันที่ 28 พฤษภาคน 2562 เวลา 12.37 น. เพลง ประเทศกูมี มียอดรับชมบนยูทูปแล้ว 64,113,184 ครั้ง 

กระแสของเพลง “ประเทศกูมี” ร้อนจนถึงขั้นมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเช่น พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเคยแสดงความเห็นว่า ในส่วนรัฐบาล รู้สึกเสียใจ เพราะสุดท้ายความเสียหายตกอยู่กับประเทศ ขณะที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร.ที่ดูแลงานด้านความมั่นคงระบุว่าเนื้อเพลงอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายถึง 50% และทางตำรวจจะทำการตรวจสอบว่าเข้าข่ายขัดคำสั่งคสช.หรือไม่ 

แม้ว่าท้ายที่สุดจะไม่มีการดำเนินคดีหรือสั่งแบนการเผยแพร่เพลงประเทศกูมี แต่ก็มีนักกิจกรรมสองคนที่ถูกดำเนินคดีจากการนำเพลงประเทศกูมีไปเปิดเพื่อประท้วง ผบ.ทบ. ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์กับสื่อหลังมีนักการเมืองหาเสียงทำนองว่าจะปรับลดงบกองทัพว่า ให้ไปฟังเพลง “หนักแผ่นดิน” รวมทั้งมีแนวคิดที่จะให้สถานีวิทยุในเครือกองทัพบกเปิดเพลงหนักแผ่นดินในบางช่วงรายการ (ต่อมาแนวคิดนี้ถูกยกเลิกไป) 

เอกชัย หงส์กังวาน (ซ้าย) / โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ (ขวา)

นักกิจกรรมทางการเมืองสองคนได้แก่เอกชัยและโชคชัยประกาศว่าทั้งสองจะไปทำกิจกรรมที่หน้ากองทัพบกเพื่อประท้วงแนวคิดของ ผบ.ทบ. ด้วยการเปิดเพลงประเทศกูมีพร้อมทั้งจำลองเหตุการณ์ 6 ตุลา ด้วยการใช้เก้าอี้เหล็กตีตุ้กตาหมีที่ถูกแขวนไว้อย่างไรก็ตามเมื่อนักกิจกรรมทั้งสองเตรียมจะทำกิจกรรมตามที่ประกาศไว้ก็ถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่ เมื่อเขานำตุ๊กตาหมีไปแขวนกับต้นไม้เจ้าหน้าที่ก็ปลดออกและยึดตุ๊กตาไป 

เอกชัยจึงใช้เก้าอี้ทำท่าตีโชคชัยเพื่อจำลองเหตุการณ์แทนพร้อมทั้งเปิดเพลงประเทศกูคลอไปด้วย แต่หลังจากทั้งสองทำกิจกรรมได้เพียงครู่เดียวเจ้าหน้าที่ก็เปิดเพลงพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่เก้า “ความฝันอันสูงสุด” กลบเสียงเพลงประเทศกูมีก่อนจะเชิญตัวทั้งสองไปตั้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ทั้งสองให้การปฏิเสธขณะนี้คดีอยู่ในชั้นศาลซึ่งศาลแขวงดุสิตจะสืบพยานคดีนี้ระหว่างวันที่ 3 – 4 กรกฎาคม 2562 

ทั้งนี้เพลงหนักแผ่นดินที่เป็นเหตุแห่งการประท้วงเป็นเพลงที่ใช้ปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังต่อนักศึกษาในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ขณะที่เพลงประเทศกูมีก็มีการนำภาพจำลองเหตุการณ์ 6 ตุลามาเป็นเบื้องหลังของมิวสิควิดีโอเพื่อเสียดสีสังคมไทย 

ดูรายละเอียดคดี เอกชัย เปิดเพลงประเทศกูมีหน้ากองทัพบก >>> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/863

ดูเรื่องราวแวดล้อมเพลง ประเทศกูมีใน รายงาน 5 ปี คสช. เพราะคุณอยู่เราจึงปรากฎ 2: จากความอึดอัดสู่แรงบันดาลใจในงานศิลป์ >>> https://freedom.ilaw.or.th/node/696

ดู RAD ส่งตัวแทนรับรางวัลที่ประเทศนอร์เวย์ >>> https://www.facebook.com/rapagainstdictatorship/photos/a.374965666244979/583469578727919/?type=3&theater