จากนักข่าวสู่จำเลยคดีสายลับ: คุยเรื่องสถานการณ์สื่อกัมพูชากับอดีตนักข่าวที่เคยติดคุก 9 เดือน

ปี 2560 เป็นปีที่สื่ออิสระซึ่งเผยแพร่เนื้อหาในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลกัมพูชาต้องเผฃิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก Cambodia Daily หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 ประกาศยุติการตีพิมพ์อย่างกระทันหันเนื่องจากถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเป็นเวลาสิบปีเป็นเงินกว่า 6.3 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 195 ล้านบาท โดยทางหนังสือพิมพ์ระบุว่า จำนวนเงินที่ถูกเรียกเก็บไม่ใช่ยอดที่เกิดจากการตรวจสอบทางบัญชีแต่เป็นการเรียกเก็บตามอำเภอใจที่แฝงไว้ด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมือง ขณะที่สมเด็จฮุนเซ็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชาก็เคยพูดถึง The Cambodia Daily ไว้อย่างแข็งกร้าวว่า “พวกโจร (Cambodia Daily) ไม่ได้จ่ายภาษีให้รัฐบาลมากว่า 10 ปี ไม่เคยจ่ายภาษีเลยตั้งแต่ก่อตั้ง”
นอกจาก The Cambodia Daily สื่ออิสระที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลกัมพูชาอย่าง Radio Free Asia ก็เป็นสื่ออีกแห่งหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทางภาษี Radio Free Asia (RFA) ถ้าแปลชื่อตรงตัว คือ “วิทยุเอเชียเสรี” เป็นองค์กรสื่อไม่แสวงกำไรของสหรัฐอเมริกาที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กับประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างเสรี เช่น ในเวียดนาม ลาว และ กัมพูชา เป็นต้น โดยรับงบประมาณจากรัฐสภาสหรัฐผ่านทาง U.S. Agency for Global Media ในส่วนของกัมพูชา Radio Free Asia มีการก่อตั้งสำนักงานในกัมพูชาตั้งแต่ปี 2539
 
ในเดือนกันยายน 2560 สำนักข่าว Radio Free Asia ตัดสินใจปิดสำนักงานที่กรุงพนมเปญหลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินมาตรการทางภาษีแต่ยังคงเผยแพร่เนื้อหาบนเว็บไซต์จากสำนักงานใหญ่ในกรุงวอชิงตันต่อไป โดยให้ผู้สื่อข่าวอิสระส่งข้อมูลจากภาคสนามไปให้สำนักงานใหญ่แทน ซึ่งต่อกรณีนี้ Ouk Kimseng โฆษกกระทรวงข้อมูลข่าวสารของกัมพูชาให้สัมภาษณ์ว่า “เมื่อผู้สื่อข่าวกระทำการในลักษณะเดียวกับสายลับก็เชื่อว่าเขาน่าจะมีเจตนาทำอะไรบางอย่างที่ไม่ดี” พร้อมระบุว่า การดำเนินการกับกรณีดังกล่าวอยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจของกระทรวงข้อมูลข่าวสารแต่เป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทย 
หลังจากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2560  อดีตผู้สื่อข่าว Radio Free Asia สองคนชาวกัมพูชา ได้แก่ Yeang Sothearin และ Oun Chhin ถูกจับกุมตัวและตั้งข้อหาว่า เป็นสายลับ พวกเขาถูกคุมขังเป็นเวลาเก้าเดือนในเรือนจำระหว่างรอการพิจารณาคดีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 ก่อนจะได้รับการประกันตัวออกมาต่อสู้คดีในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2561 หลังการเลือกตั้งทั่วไป
Yeang เล่าให้ iLaw ฟังว่า เขาเริ่มทำงานให้กับ Radio Free Asia มาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2556 โดยที่นี่เป็นที่แรกที่เขาทำงานในฐานะสื่อมวลชน ทางสถานีไม่มีคลื่นวิทยุ FM หรือช่องโทรทัศน์เป็นของตัวเอง การเผยแพร่ข่าววิทยุจะทำโดยใช้วิทยุคลื่นสั้น และเผยแพร่วิทยุและรายการโทรทัศน์ทางเว็บไซต์ของสำนักข่าว ตัวของ Yeang จัดรายการทั้งแบบภาพเคลื่อนไหวและรายการวิทยุผ่านทางเว็บไซต์และวิทยุคลื่นสั้นของสถานี รวมทั้งยังเขียนบทความเผยแพร่ด้วย 
เนื้อหาข่าวที่เขาทำจะเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ข้อพิพาทเรื่องที่ดินที่มักเกิดจากกรณีที่รัฐหรือบริษัทเอกชนเข้าไปไล่หรือยึดที่จากประชาชน รวมทั้งปัญหาข้อพิพาทบริเวณชายแดนระหว่างกัมพูชากับเวียดนาม นอกจากนั้นเมื่อมีรายงานเกี่ยวกับความมั่งคั่งและการครอบงำธุรกิจกัมพูชาของครอบครัวฮุนเซ็น Yeang ที่ถูกเปิดเผยโดยองค์กรชื่อ Global Witness Yeang ก็เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวออกเผยแพร่ ในเดือนกรกฎาคม 2559 Yeang เคยจัดรายการวิทยุวิเคราะห์การเมืองร่วมกับ Kem Ley หนึ่งในนักวิเคราะห์การเมืองชื่อดังของกัมพูชาที่มักจัดรายการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลฮุนเซน ปรากฎว่าหลังจาก Kem Ley มาออกรายการของ Yeang ได้เพียงสองวันเขาก็ถูกยิงเสียชีวิตในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ
 
Yeang ต้องยุติการทำงานกับ Radio Free Asia ที่เขารักและทำมานาน 4 ปี ในเดือนกันยายน 2560 เมื่อสำนักข่าว Radio Free Asia ตัดสินใจยุบสำนักงานที่กัมพูชา การสูญเสียงานประจำของ Yeang ดูจะเป็นแค่ “ของว่าง” ก่อนอาหารมื้อหลักเท่านั้น เมื่อชีวิตของเขาต้องมาเผชิญกับมรสุมลูกโตในเดือนพฤศจิกายนหรืออีกประมาณ 3 เดือนต่อมาเมื่อเขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวพร้อมกับ Oun Chhin อดีตนักข่าวอีกคนหนึ่งจากสถานีเดียวกัน 
Yeang เล่าว่าในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 Oun Chhin โทรมาหาเขาในช่วงคำว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบมาทำการตรวจค้นที่พักของเขา Yeang จึงรีบไปหาเพื่อนเขาโดยหวังว่า จะช่วยอธิบายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า เพื่อนของเขาไม่ได้ทำอะไรผิดและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับ Radio Free Asia อีกแล้ว ทว่าเมื่อเขาไปถึงเขากลับถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวด้วยอีกคนหนึ่ง Yeang เล่าว่าเจ้าหน้าที่แจ้งกับเขาเพียงแต่ว่า ที่จับกุมตัวเขากับเพื่อนเป็นเพราะพวกเขาทำความผิดฐานให้ข้อมูลหหรือทำให้ต่างชาติสามารถเข้าถึงข้อมูลที่อาจบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 445 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกระหว่าง 7 – 15 ปี Yeang ระบุว่า หลังถูกจับกุมเขากับเพื่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกักตัวไว้สอบสวนที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญเป็นเวลา 48 ชั่วโมงโดยระหว่างการสอบสวนไม่มีทนายความนั่งฟังหรือคอยให้คำปรึกษาแต่อย่างใด 
หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวเขาไว้ครบ 48 ชั่วโมง Yeang กับ Oun Chin ถูกพาตัวไปฝากขังต่อที่ศาลประจำกรุงพนมเปญซึ่งศาลไม่อนุญาตให้เขาประกันตัวระหว่างสู้คดีโดยให้เหตุผลว่า หากได้รับการปล่อยตัวเขาอาจหลบหนีออกนอกประเทศหรือไม่ให้ความร่วมมือกับศาล Yeang ระบุว่า เขาพยายามสอบถามทั้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและศาลว่า ที่กล่าวหาว่าเขาส่งข้อมูลอันเป็นภัยความมั่นคงให้กับต่างชาติ “ข้อมูล” ที่ว่ามีอะไรบ้าง ถูกส่งไปที่ไหน ในวันและเวลาใด และมีหลักฐานใดบ้างที่จะมาปรักปรำเขาทั้งสอง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบทั้งจากตำรวจหรือศาล เจ้าหน้าที่บอกแต่เพียงว่าการกระทำความผิดของพวกเขาเกิดขึ้นในช่วงปี 2560 เท่านั้น 
หลังถูกคุมขังในห้องขังที่คับแคบและแออัดร่วมกับนักโทษคนอื่นๆ เป็นเวลา 9 เดือน Yeang กับ Oun Chin ก็ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในเดือนสิงหาคม 2561 Yeang ตั้งข้อสังเกตว่า การปล่อยตัวเขากับเพื่อนน่าจะเป็นความพยายามของรัฐบาลในการลดความร้อนแรงของสถานการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2561 แม้ตลอดเก้าเดือนเขาจะต้องทนอยู่ในเรือนจำอย่างยากลำบากแต่ Yeang ก็รู้สึกมีกำลังใจเมื่อเขาได้รับทราบว่า การคุมขังเขาเป็นประเด็นที่คนในสังคมกัมพูชารวมทั้งเพื่อนสื่อมวลชนในประเทศอื่นๆ ให้ความสนใจเขาจึงยังมีกำลังใจที่จะทำงานในฐานะสื่อมวลชนต่อไป 
แม้ Yeang และ Oun Chin จะได้รับการปล่อยตัวแล้วแต่คดีของเขาทั้งสองยังไม่ยุติ ขณะนี้คดีถูกฟ้องเข้าสู่ชั้นศาลกรุงพนมเปญแล้วแต่ยังไม่มีวันนัดหมายพิจารณาคดี
หนังสือพิมพ์ Cambodia Daily ยุติการตีพิมพ์ในปี 2560 (ภาพจากเพจพิพิธภัณฑ์สามัญชน)
Yeang ทิ้งท้ายว่า การคุกคามเสรีภาพสื่อรวมทั้งการปิดตัวของสำนักงาน Radio Free Asia ในกัมพูชาเป็นผลกระทบส่วนหนึ่งของการคุกคามสื่ออย่างเป็นระบบของรัฐบาลที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น (Commune Election) ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในปี 2560 หลังจากที่รัฐบาลเห็นว่าพรรคฝ่ายค้านได้รับเสียงสนับสนุนมากขึ้นอย่างน่าตกใจ นอกจากกรณีของ Radio Free Asia และกรณีของ The Cambodia Daily ที่ปิดตัวไปแล้ว ก็มีสถานีวิทยุท้องถิ่นอีกอย่างน้อย 30 แห่งซึ่งเคยให้สถานีวิทยุที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่าง Voice of America หรือ Radio Free Asia เช่าเวลาออกอากาศต้องปิดตัวลง โดยการคุกคามสื่อที่เกิดขึ้นนี้ก็น่าจะเกี่ยวข้องอย่างมีนัยยะสำคัญกับการเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นในปี 2561 และการที่เขากับเพื่อนถูกดำเนินคดีก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคุกคามสื่อที่กล่าวไปข้างต้น