ศาลกัมพูชาเริ่มสอบคดีสองนักข่าวเป็นสายลับ

ผู้สื่อข่าวเรดิโอ ฟรี เอเชียที่ถูกจับกุมตัวและคุมขังระหว่างรอการพิจารณาคดีในเรือนจำด้วยข้อหาเป็นสายลับให้อเมริกาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 ถึงเดือนสิงหาคม 2561 ถูกนำตัวมาขึ้นศาลเพื่อพิจารณาคดีครั้งแรกแล้ว 
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ศาลแขวงพนมเปญเริ่มการพิจารณาคดี Uon Chhin และ Yeang Sothearin ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเรดิโอ ฟรี เอเชีย ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ทั้งสองถูกควมคุมตัวและกล่าวหาว่า เก็บข้อมูลอย่างผิดกฎหมายให้แก่ต่างชาติตามมาตรา 445 ของประมวลกฎหมายอาญาและมีการกล่าวหาเพิ่มเติมในภายหลังว่า ผลิตสื่อลามกอนาจารเพิ่มอีกข้อหา ซึ่งทำให้ทั้งสองจะต้องเผชิญกับโทษจำคุกระหว่างเจ็ดถึง 15 ปี ต่อมาพวกเขาถูกขังระหว่างรอการพิจารณาคดีเป็นเวลาเก้าเดือนก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในเดือนสิงหาคม 2561 หลังการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชา หลังจากนั้นศาลแขวงพนมเปญก็มาพิจารณาคดีนี้นัดแรกในวันดังกล่าว
ในการพิจารณา Chhin ยืนยันต่อศาลว่าข้อมูลที่เขาส่งให้สำนักข่าวไม่ได้เป็นภัยต่อความมั่นคงใดๆ และขณะที่เขาถูกจับกุมนั้นอยู่ระหว่างที่เขากำลังสร้างห้องร้องคาราโอเกะและปฏิเสธว่า ห้องดังกล่าวเป็นการใช้งานอย่างลับๆของเรดิโอ ฟรี เอเชีย นอกจากนี้วิดีโอคลิปที่เขาส่งให้กับเรดิโอ ฟรี เอเชียภาคภาษากัมพูชานั้นเป็นเนื้อหาที่ได้รับการรายงานทั่วประเทศและไม่ใช่ความลับของรัฐ
ตอนหนึ่งในการพิจารณาคดีอัยการถาม chin ว่า เขาไม่ได้เป็นผู้สื่อข่าวแล้วยังจะส่งรายงานให้เรดิโอ ฟรี เอเชีย อีกทำไม ซึ่ง Chin ตอบว่า “ผมทำเพราะมันคือจิตวิญญาณของผม” ชินยอมรับว่าแม้จะไม่ได้ทำงานกับเรดิโอ ฟรี เอเชียล้วแต่เขายังคงส่งข้อมูลให้เรดิโอ ฟรี เอเชียต่อไป โดยยืนยันว่าสิ่งที่เขาส่งไปไม่ใช่ภัยต่อความมั่นคงอย่างแน่นอน และเมื่อถูกถามว่าเขาเกี่ยวข้องหรือเคยส่งข้อมูลให้ซีไอเอ (หน่วยข่าวกรองของสหรัฐ)หรือไม่ Chin ตอบว่า “ผมไม่รู้จักใครทั้งนั้น กระทั่งเอฟบีไป (สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ) ผมยังต้องไปกูเกิลดูเลยว่ามันคืออะไร”
ด้าน Sothearin เบิกความต่อศาลว่าเขามาที่ห้องพักของ Chin เพราะทราบว่า Chin ถูกควบคุมตัวจึงมาดูในฐานะพยานแต่เขากลับถูกควบคุมตัวเสียเอง ขณะที่ตำรวจหนึ่งในสองคนซึ่งเป็นผู้จับกุมทั้งสองให้การว่า พวกเขาเชื่อว่าห้องเช่าของ Chin ถูกเช่าไว้เพื่อทำการออกอากาศเพราะมันตั้งอยู่บนชั้นเจ็ดของอาคาร ทั้งนี้คดีผู้สื่อข่าวทั้งสองคนยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแขวงพนมเปญซึ่งจะพิจารณาคดีนัดต่อไปในวันที่ 9 สิงหาคม 2562
คดีของผู้สื่อข่าวทั้งสองคนนับเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการกับสื่อมวลชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกัมพูชา ในปี 2560 รัฐบาลกัมพูชาใช้มาตรการทางภาษีกับเดอะแคมโบเดีย เดลี่ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลกัมพูชาอย่างต่อเนื่องจนทำให้หนังสือพิมพ์ประกาศยุติการเผยแพร่หนังสือพิมพ์แบบกระดาษคงเหลือแต่การรายงานข่าวออนไลน์ ขณะที่เรดิโอ ฟรี เอเชีย ที่ Chhin และ Sothearin ทำงานก็ปิดสำนักงานในเดือนกันยายนปีเดียวกันเพราะกังวลว่าจะถูกจัดการด้วยมาตรการทางภาษี
 Uon Chhin (ขวา) และ Yeang Sothearin (ซ้าย) ที่ศาลกรุงพนมเปญ ภาพจาก CCHR
ทั้งนี้ Sothearin ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในภายหลังว่า ตัวเขามีภรรยาน้องชายและลุงมาเป็นพยานในคดีนี้ แต่ทั้งหมดไม่ได้มาปรากฎตัวที่ศาล ศาลเพียงแต่ให้เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์อ่านคำให้การของพยานทั้งสามปากที่ให้ไว้กับผู้พิพากษาสืบสวน (Investigating Judge) แทน ส่วน Chin มีภรรยา ลูกชาย และลูกสาวให้การเป็นพยาน ส่วนฝ่ายอัยการมีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 6 – 7 นาย 
สำหรับแนวทางการต่อสู้คดี Sothearin ระบุว่าฝ่ายอัยการพยายามตั้งคำถามถึงความชอบด้วยกฎหมายของข่าวและวิดีโอที่เขาและChin ส่งไปให้สำนักงานใหญ่ของ Radio Free Asia ที่กรุงวอชิงตัน หลังสำนักงานของ RFA ในพนมเปญปิดตัวลง 
ขณะที่เขาและ Chin ต่อสู้คดีว่าช่วงหนึ่งสัปดาห์หลังสำนักงานของ RFA ปิดตัวลงพวกเขาส่งรายงานไปสองชิ้นจากนั้นจึงยุติการทำงานกับ RFA เท่ากับว่าพวกเขาทำงานกับ RFA ต่ออีกเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังสำนักงานในกรุงพนมเปญถูกปิด นอกจากนั้นสิ่งที่เขาส่งไปก็เป็นเพียงข่าวที่จะออกต่อสาธารณะเท่านั้นไม่ใช่ข้อมูลที่จะกระทบต่อความมั่นคงของกัมพูชาแต่อย่างใด
สำหรับคำถามของอัยการในประเด็นอื่นๆ Sothearin ระบุว่าอัยการถามถึงความสัมพันธ์ของเขาทั้งสองกับหัวหน้างานเก่าที่ RFA ความสัมพันธ์กับสถานทูตสหรัฐประจำกรุงพนมเปญ รวมทั้งถามถึงห้องเช่าของ Chin ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทั้งสองถูกจับกุมตัวด้วย 
ด้าน Chak Sopheap ผู้อำนวยการศูนย์สิทธิมนุษยชนกัมพูชา (Cambodia Center for Human Rights – CCHR) องค์กรสิทธิมนุษยชนท้องถิ่นที่ติดตามคดีนี้ก็ให้สัมภาษณ์กับอัล จาซีราห์ทางอีเมลตอนหนึ่งว่า “สื่อมวลชนต้องได้รับการประกันให้สามารถทำงานของพวกเขาซึ่งรวมถึงการเปิดเผยการทุจริต การวิพากษ์วิจารณ์นโยบายสาธารณะ และทั้งเปิดเผยการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างปลอดภัยและเป็นอิสระจากความกลัวต่อการได้รับผลกระทบที่เลวร้ายจากการทำหน้าที่”
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
https://www.aljazeera.com/news/2019/07/espionage-trial-rfa-journalists-starts-cambodia-190726070844918.html 
https://www.rfa.org/english/news/cambodia/trial-07262019170337.html
ภาพประกอบต้นฉบับจาก CCHR