1150 1169 1362 1010 1010 1663 1516 1671 1230 1455 1561 1885 1912 1156 1347 1451 1134 1537 1611 1996 1870 1174 1020 1357 1943 1714 1447 1381 1212 1120 1759 1055 1191 1390 1141 1424 1044 1396 1444 1315 1565 1889 1628 1370 1808 1399 1061 1460 1048 1053 1235 1200 1075 1345 1350 1906 1690 1927 1064 1159 1787 1439 1013 1099 1750 1251 1631 1265 1047 1225 1270 1312 1925 1278 1536 1862 1996 1170 1200 1070 1423 1935 1774 1760 1809 1218 1115 1038 1769 1028 1754 1627 1190 1759 1066 1339 1151 1544 1473 อำลาศาลทหาร: เสียงจากจำเลยคดีการเมืองเล่าถึงประสบการณ์ศาลทหาร | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

อำลาศาลทหาร: เสียงจากจำเลยคดีการเมืองเล่าถึงประสบการณ์ศาลทหาร

13 สิงหาคม 2562 เป็นวันสุดท้ายที่ศาลทหารกรุงเทพโอนคดีของพลเรือนกลับสู่ศาลพลเรือน การโอนคดีดังกล่าวเป็นผลมาจากคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 9/2562 ที่มีคำสั่งยกเลิกประกาศการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารเป็นผลให้ศาลทหารและอัยการศาลทหารไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีพลเรือนได้อีก เท่าที่ทราบศาลทหารกรุงเทพต้องโอนคดีที่ยังไม่เสร็จสิ้นกลับไปสู่ศาลพลเรือนทั้งหมดไม่น้อยกว่า 60 คดี
 
ตลอดห้าปีที่ผ่านมาจำเลยที่ต้องพิจารณาในศาลทหารทั่วประเทศ หลายรายต้องเผชิญกับการพิจารณาคดีที่ลิดรอนเสรีภาพเช่น หากจำเลยที่ถูกพิจารณาก่อนการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 1 เมษายน 2558 จะมีโอกาสในการสู้คดีเพียงแค่ศาลชั้นต้นเท่านั้น ไม่มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกา
 
ในศาลทหาร จำเลยบางคนจำต้องรับสารภาพก่อนการพิจารณาคดีเสร็จสิ้น…จำเลยบางคนถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดียาวนานพอๆกับอายุของคสช. …. จำเลยบางคนจิตแพทย์ชี้ว่า มีอาการทางจิตแต่ยังต้องถูกพิจารณาคดีความผิดเช่นคนปกติ…จำเลยบางคนทนการพิจารณาคดีของศาลทหารไม่ไหวจำต้องลี้ภัยออกจากประเทศ…จำเลยบางคนรอคดีสิ้นสุดไม่ไหว หันหลังจากโลกนี้ไปก่อน
 
แต่จำเลยอีกจำนวนมากยังต้องอยู่จนวันสุดท้ายที่ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดี ชวนอ่านประสบการณ์ศาลทหารของจำเลยที่เหลือว่า ที่ผ่านมาพวกเขาต้องเผชิญกับสิ่งใดบ้าง
 
-1-
 

นพเก้า: “ในฐานะจำเลยเห็นความเชื่องช้าในระบบราชการ…กระบวนการไต่สวนบางทีก็พยานไม่มา”

 
นพเก้า เป็นหนึ่งในแปดจำเลยคดีแปดแอดมินเพจเรารักพลเอกประยุทธ์ เพจเฟซบุ๊กที่นำประเด็นถกเถียงทางสังคมการเมืองเวลานั้นมาแปลงเป็นภาพกราฟฟิคตลกขบขัน ทั้งแปดคนถูกควบคุมตัวด้วยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558เมื่อเดือนเมษายน 2559 ท้ายที่สุดแล้วพวกเขาถูกกล่าวหาว่า กระทำการยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาคือ ภาพตัดต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้าคสช. บนกระทง
 
ณัฏฐิกา หนึ่งในจำเลยประสบกับความกดดันทางจิตใจอย่างหนัก ทำให้ตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองเมื่อปี 2560 เหลือจำเลยในคดีนี้เจ็ดคน  หากนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นเวลาที่อัยการศาลทหารมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลทหารจนถึงวันนัดโอนคดีรวมเป็นเวลาเกือบสี่ปี ศาลทหารสามารถสืบพยานโจทก์ได้เพียงหนึ่งปากคือ พลตรีวิจารณ์ จดแตง นายทหารพระธรรมนูญ ผู้ร้องทุกข์ในคดี แต่ยังไม่เสร็จสิ้น เหตุที่ล่าช้ามาจากการที่พลตรีวิจารณ์ไม่สะดวกมาศาลหรือมาได้เพียงครึ่งวัน หรือบางครั้งจำเลยต้องไปศาลในคดีอื่น
 
 
 
1157 นพเก้า หนึ่งในจำเลยคดีแปดแอดมินเพจเรารักพลเอกประยุทธ์
 
“...วันนั้นก็ใช้ชีวิตปกติ พอตีห้าหกโมงมีรถตู้สี่คันและรถกระบะมาจอดหน้าบ้าน เรารู้สึกว่า เริ่มจะไม่ค่อยดี มีการพังรั้วตามที่เคยเป็นข่าวไป เข้ามาเรียกหน้าบ้านเรา เราก็ยังไม่ลงไป คุณยายก็ลงไปก่อน เราก็ลงไปทีหลัง พยายามที่จะเข้ามาในบ้านเราให้ได้ เนื่องจากว่า บ้านเรามีประตูหลายชั้นเขาก็ยังเข้ามาไม่ได้ ยื้อกันอยู่สักพักหนึ่ง สุดท้ายเขาก็พยายามดึงประตูบ้านเพื่อที่มาเอาตัวเราไป เราก็คุยกับเจ้าหน้าที่จนกระทั่งให้เจ้าหน้าที่เข้ามาจับกุมกันดีๆ ที่บ้านค่อนข้างตกใจกับกระบวนการที่มาจับกุม เราถามเขาว่า อ้างกฎหมายอะไรมาจับกุม เขาก็บอกเราแค่ว่า เราทำผิดกฎหมายๆ เราก็บอกเขาว่า มันผิดกฎหมายอย่างไร คุณมาจับกุมแบบนี้มันไม่มีกฎหมายอะไรรองรับ สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็พูดออกมาว่า ใช้มาตรา 44 ในการจับกุมเรา
 
เจ้าหน้าที่สร้างความหวาดกลัวตั้งแต่ที่บ้านคือ คลุมหัวเราด้วยถุงกระดาษและมัดมือเรา เราไปอยู่ในค่ายทหารในค่ายทหารก็สอบสวนเราว่า เคยรู้จักคนนู่นคนนี่ไหม ทำไมถึงไปรู้จักกันได้ รู้จักคนๆนี้ได้ยังไง มีรูปถ่ายกับคนนี้ได้ยังไง รับเงินใครมา ทำแบบนี้คิดค่าจ้างเท่าไหร่ คือเขาจะโฟกัสไปที่เรื่องเงินๆทองๆ และความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ เมื่อสอบปากคำเสร็จก็พาไปที่เรือนนอน แต่ไม่ได้ไปเลย ทหารก็พยายามจะขับรถวนไปมาในมทบ.11 เพื่อให้รู้สึกว่า ระยะทางมันไกล
 
ตอนที่รู้ว่า เราโดนมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาและต้องมาพิจารณาคดีที่ศาลทหาร ตอนนั้นเราพอจะรู้อยู่แล้วว่า กระบวนการต่อไปมันก็จะไปที่ศาลทหาร เราเป็นพลเรือนถูกกล่าวหาว่า มีความผิดฐานความมั่นคง ฐานความผิดนี้สามารถขึ้นศาลพลเรือนได้ ไม่จำเป็นต้องมาพิจารณากันในศาลทหาร ประสบการณ์ที่มาศาลทหาร
 
กระบวนการทำงานในศาลทหารค่อนข้างช้า เรื่องการประกันตัวก็เรื่องหนึ่งที่ช้า แม้เป็นคดีที่ไม่ได้คอขาดบาดตายขนาดนั้น แต่เราต้องอยู่เรือนจำเกือบครึ่งเดือน ความเป็นอยู่ในช่วงที่พักก่อนที่จะขึ้นไปห้องพิจารณาคดี รู้สึกว่า เป็นเรื่องต้องปรับปรุงมากๆ ถึงแม้ว่า คนที่ขึ้นศาลทหารเขาจะทำผิดจริงหรือไม่ผิด พูดตรงๆคือสกปรก ความสกปรกก็ทำให้สุขภาพร่างกายของคนที่มาขึ้นศาลทหารมันไม่ดี อยากให้ปรับปรุง ปฏิบัติกับคนในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกันหน่อย ผิดก็ว่ากันไป แต่เรื่องพวกนี้ก็ไม่ควรที่จะละเลยกันขนาดนั้น
 
ในฐานะจำเลยเห็นความเชื่องช้าในระบบราชการของศาลทหาร รอหลายขั้นตอน ในโลกยุคใหม่ก็ไม่ควรรอขนาดนั้น เช่นเรื่องเอกสารควรจะเร็วนิดนึง แต่มันก็ช้าไปหมดทุกอย่าง กระบวนการไต่สวนบางทีก็พยานไม่มา นัดกันมาแล้วจำเลยก็มาเสียเวลา บางทีเราลางานมาก็ต้องเสียเวลาไปฟรี ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเรา ถ้าเกิดคนที่ไม่ได้ทำงานประจำแบบเราก็อาจจะส่งผลกระทบมากกว่า เช่น เพื่อนคนหนึ่งรับงานฟรีแลนซ์ ถ้าศาลนัดตรงกับงาน เท่ากับเงินหายไปเลยวันหนึ่งฟรีๆ
 
พอจะมีความหวังบ้างแต่โดยรวมก็เฉยๆ ไม่ได้รู้สึกอะไร คิดว่า คดีนี้มันควรจะไปอยู่ที่ศาลพลเรือนตั้งแต่ต้น แต่มองให้ลึกไปกว่านั้นคือ คดีมันไม่ควรจะเป็นคดีตั้งแต่แรก ไม่ควรจะถูกสั่งฟ้อง ไม่ควรจะถูกเข้าค่ายทหาร ไม่ควรจะถูกขังอยู่ในเรือนจำ[ระหว่างการพิจารณา] เพราะแค่ทำเพจล้อพลเอกประยุทธ์แค่นั้น มันไม่ควรจะเข้าสู่กระบวนการที่ดูใหญ่โตแต่ต้น ทั้งๆที่เรื่องมันไม่ได้ส่งผลกระทบยุยงปลุกปั่นทำความวุ่นวายให้กับประเทศขนาดนั้น หลังจากนั้นมันไม่ได้ปรากฏความวุ่นวายใดเลยๆ
 
ภาพที่เป็นเหตุในคดีเป็นภาพพลเอกประยุทธ์และประวิตรอยู่ในกระทง ส่วนตัวคือเห็นแล้วมันขำ มันเป็นคำถามว่า ความขำมันยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายได้อย่างไร อัยการทำเรื่องส่งฟ้องเรื่องนี้ การเห็นภาพแล้วขำแล้วหัวเราะมันคือความวุ่นวายหรือประเทศชาติจะล่มสลายขนาดนั้นเลยเหรอ อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องเสรีภาพแล้วคดีนี้มันทำให้เราเสื่อมเสียชื่อเสียง เรากลายเป็นคนที่เคยติดคุก คนที่เข้าใจก็ดีไป คนที่ไม่เข้าใจนี่สิ ส่วนตัวถือว่า โชคดีที่อธิบายแล้วมีคนเข้าใจ แต่บางคนมันก็ไม่ได้โชคดีเหมือนเรา...”
 

 

-2-

 

โยธิน: “...ความหวังสูงสุดของผมคือ ให้ทุกๆ คดี ไม่ใช่แค่เฉพาะคดีของผมได้รับความยุติธรรม คดีไหนที่ไม่ผิดก็ยกฟ้องไป...”

 
โยธิน เป็นหนึ่งในแปดจำเลยคดีแปดแอดมินเพจเรารักพลเอกประยุทธ์ เพจเฟซบุ๊กที่นำประเด็นถกเถียงทางสังคมการเมืองเวลานั้นมาแปลงเป็นภาพกราฟฟิคตลกขบขัน ทั้งแปดคนถูกควบคุมตัวด้วยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558เมื่อเดือนเมษายน 2559 ท้ายที่สุดแล้วพวกเขาถูกกล่าวหาว่า กระทำการยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาคือ ภาพตัดต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้าคสช. บนกระทง
 
ณัฏฐิกา หนึ่งในจำเลยประสบกับความกดดันทางจิตใจอย่างหนัก ทำให้ตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองเมื่อปี 2560 เหลือจำเลยในคดีนี้เจ็ดคน  หากนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นเวลาที่อัยการศาลทหารมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลทหารจนถึงวันนัดโอนคดีรวมเป็นเวลาเกือบสี่ปี ศาลทหารสามารถสืบพยานโจทก์ได้เพียงหนึ่งปากคือ พลตรีวิจารณ์ จดแตง นายทหารพระธรรมนูญ ผู้ร้องทุกข์ในคดี แต่ยังไม่เสร็จสิ้น เหตุที่ล่าช้ามาจากการที่พลตรีวิจารณ์ไม่สะดวกมาศาลหรือมาได้เพียงครึ่งวัน หรือบางครั้งจำเลยต้องไปศาลในคดีอื่น
 
 
1158 โยธิน หนึ่งในจำเลยคดีแปดแอดมินเรารักพลเอกประยุทธ์
 
 
“...ตอนที่จับกุมมาตั้งแต่หกโมงเช้า รถหลายคันมากประมาณเจ็ดแปดคัน มีทหารมา 20-30 นาย อีกส่วนหนึ่งไปที่อพาร์ตเมมนท์ของแฟนผมด้วย ผมถามว่า ผมผิดอะไร มีหมายค้น หมายจับหรือไม่ เขาไม่พูดว่า มีมาตรา 44 ด้วยซ้ำ เขาบอกว่า ผิดแน่มาด้วยกันเถอะ ตอนที่จับไปมทบ.11 เจ้าหน้าที่เอาผ้าผูกตาเรา ผมไม่รู้ว่า จุดหมายปลายทางคือที่ไหน ตอนนั้นคิดในแง่ร้ายที่สุดคือ เขาจะเผานั่งยางเราหรือป่าว แต่พอไปที่มทบ.11 มีการสอบสวนโดยไม่มีทนายความด้วย หลังจากที่ฝากขังเข้าไปในเรือนจำผมก็เห็นถึงความแออัดของเรือนจำ ไม่มีการแยกว่า นี่เป็นผู้ต้องขังรอการพิจารณาคดี นี่เป็นผู้ต้องขังที่คดีสิ้นสุดแล้ว
 
ไม่รู้ว่า ความเครียดส่งผลไหม แต่อย่างแม่ของผมเครียดมาก จนสุดท้ายก็มะเร็งเต้านม แกบอกผมว่า แกนอนไม่หลับ กินข้าวไม่ได้ ตอนนี้ความเครียดน้อยลง แต่ส่งผลกับหน้าที่การงานของผม ไปทำอะไรก็ไม่ค่อยได้เพราะติดคดีอยู่และอายุก็มากแล้ว ปีนี้ผมอายุ 40 ปี แต่ก่อนผมขายของออนไลน์ ทำหน้าที่คล้ายแอดมินเพจขายของ แต่ตอนนี้พวกๆกันเขากลัวเราหมด ไม่เอาเราไปทำงานด้วยเลย เขากลัวว่า จะมีการดักฟังเฟซบุ๊กที่มาติดต่อผม
 
การพิจารณาคดีในศาลทหารเหมือนผมต้องมาและไม่รู้ว่า เรามาทำไม ผมรู้สึกเฉยๆกับระบบราชการ[ความล่าช้า]ของศาลทหาร การมาแต่ละครั้งมันก็เสียเวลาเราอยู่แล้ว เรานัดลูกค้าไว้ก็ต้องพลาดนัดไป เช่น ลูกค้ามาสั่งของออนไลน์กับเรา แต่พรุ่งนี้เราต้องไปศาลเราก็จะบอกลูกค้าว่า พรุ่งนี้ยังส่งของให้ไม่ได้เพราะติดธุระที่ศาล พอบอกแบบนั้นบางคนก็เลิกซื้อของเราไปเลยเพราะเขาไม่รู้เราติดคดีอะไร
 
นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ที่ใช้ทำงานที่ทหารตำรวจยึดไปยังไม่ได้คืนมามีคอมพิวเตอร์หลายตัว มีแทบเล็ต มีมือถือของหลายคนเขายึดไปหมดบ้าน ไม่ใช่ของผมคนเดียวและยังไม่คืนจนถึงปัจจุบัน
 
เรื่องคดีและการเยียวยา ความหวังสูงสุดของผมคือ ให้ทุกๆคดี ไม่ใช่แค่เฉพาะคดีของผมได้รับความยุติธรรม คดีไหนที่ไม่ผิดก็ยกฟ้องไป ไม่มีมูลก็ยกฟ้องไป ให้ความยุติธรรมดีกว่า เขาไม่ต้องมองว่า เราเป็นฝ่ายตรงข้ามการเมืองเขา เขาน่าจะมองเราว่า เป็นประชาชนคนหนึ่ง ส่วนเรื่องเยียวยาแล้วผมไม่รู้จะสู้ ‘ระบบ’ ได้ไหม...”
 
 
-3-
 

สมบัติ : “ในความเข้าใจของผมก็เข้าใจว่าแม้แต่ คสช. ที่เป็นคู่กรณีกับผมก็อาจจะลืมคดีนี้ไปแล้วก็ได้”

 
สองสัปดาห์หลังการรัฐประหาร 2557 สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ถูกตำรวจและทหารเข้าจับกุมตัวที่บ้านพักที่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี และนำตัวไปสอบสวนที่ค่ายกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ จ.ชลบุรี (ร.21 รอ.) ก่อนนำตัวขึ้นศาลทหารเพื่อดำเนินคดี ต่อมาเขาถูกดำเนินคดียุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาจากการโพสต์ข้อความในเว็บไซต์ Twitter และ Facebook ส่วนตัวว่า "นัดใหญ่ 3 นิ้ว วันอาทิตย์ที่ 8 มิย เที่ยงตรง เห็นชอบกด Like ไปร่วมกด Share" "มีรุ่นใหญ่บอกผมว่าเราล้ม คสช ไม่ได้ผมไม่อยากฟันธง หลุดจากอาทิตย์ ผมจะเสนอกิจกรรม ล้ม คสช"
 
ตลอดห้าปีนับจากวันที่อัยการศาลทหารมีคำสั่งฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพยังสืบพยานคดีนี้ไม่เสร็จ โดยสามารถสืบพยานในคดีนี้ได้ 12 ปากแบ่งเป็นพยานโจทก์ 11 ปากและพยานจำเลยหนึ่งปาก
 
 
“...ผมโดนคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากเหตุการณ์ตอนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจใหม่ๆ แล้วผมไปวิพากษ์วิจารณ์การยึดอำนาจของ คสช. ความรู้สึกตอนที่ขึ้นศาลทหาร ลำดับแรกต้องบอกก่อนว่าเป็นเรื่องที่เกินความคาดหมายมากที่ชีวิตต้องมาขึ้นศาลทหาร เพราะตามความเข้าใจคิดว่าคนที่ขึ้นศาลทหารต้องเป็นทหาร โดยไม่คิดว่าตัวเองจะต้องมาขึ้นศาลทหาร
 
สอง ไม่คิดว่าจะโดนจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับทหาร หมายความว่าคู่กรณีของผมเป็นทหารที่ทำการยึดอำนาจ แล้วออกคำสั่งใช้ศาลทหารดึงตัวผมจากศาลพลเรือนมาที่ศาลทหาร ซึ่งปกติถ้าผมผิดผมต้องขึ้นศาลพลเรือน แล้วให้มาสู้กันบนศาลทหารซึ่งทหารถือว่าเป็นคู่กรณี คู่ขัดแย้งกับผมด้วยและสาม ปกติศาลทหารก็ยังเป็นศาลที่มีกระบวนการศาลสามขั้นตอน คือชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา แต่คดีผมมีคำสั่งให้ศาลมีชั้นเดียวแล้วจบเลย ไม่มีชั้นอุทธรณ์ฎีกา
 
ดังนั้นจากทั้งสามข้อที่ผมเจอความรู้สึกผมเหมือนคนที่อยู่ในช่วงแพ้สงครามเลย คำสั่งอายัดบัญชีผมก็เป็นคำสั่งที่ออกมาใช้ในช่วงแรกที่ทหารเข้ามายึดอำนาจ
 
คดีนี้ผมสู้คดีมาห้าปีกว่า เกือบจะเท่าอายุของ คสช. ที่เข้ามาปกครองประเทศ เพราะโดนคดีตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ความลำบากที่เจอก็คือ หนึ่ง เรื่องการประกันตัว การประกันตัวคดีผมใช้เงินสูงมากเลย ซึ่งใช้เงินถึง 600,000 บาท ในการประกัน และให้ใช้เฉพาะเงินสดเท่านั้น ห้ามวางหลักทรัพย์ประกันตัวด้วย แทนที่เราจะเอาเงินสดก้อนนี้ไปฝากธนาคาร แล้วใช้หนังสือรับรองจากธนาคารมาวางเป็นหลักทรัพย์ประกันก็ทำไม่ได้ แค่คิดเป็นดอกเบี้ยเงิน 600,000 ฝากธนาคารห้าปีผมคิดก็เป็นเงินหลายหมื่นแล้ว
 
1160 สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักกิจกรรมและจำเลยคดีการเมืองยุคคสช.
 
สอง คดีผมยืดเยื้อมากเลยครับ ถ้าพูดตรงๆ คดีมันไม่มีอะไร ในความเข้าใจของผมก็เข้าใจว่าแม้แต่ คสช. ที่เป็นคู่กรณีกับผมก็อาจจะลืมคดีนี้ไปแล้วก็ได้ เพราะมันเป็นคดีการเมือง เป็นแค่การวิพากษ์วิจารณ์การยึดอำนาจของ คสช. ซึ่งมันผ่านมาแล้วห้าปี มันก็ทำให้คดีรกศาลพอสมควร ผมก็เห็นใจศาลทหารนะเพราะเอาจริงๆ เขาก็ทำตามคำสั่งของ คสช. นั่นแหละ แต่ว่าก็ทำคดีไปเรื่อยๆ จนกระทั่งคดีย้ายไปศาลยุติธรรม ผ่านมาห้าปี คดีผมสืบพยานเหลือสืบพยานเหลืออีกสองปาก สืบพยานไปทั้งหมดกี่ปากแล้วก็จำไม่ได้ ในส่วนของเรื่องหน้าที่การงาน ก็กระทบอยู่แล้วอย่างวันนี้มาศาลก็ไม่ได้ทำงาน มันเสียเวลาน่ะครับ หรือเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศก็ลำบาก อย่างตอนนี้ผมจะเดินทางไปเยี่ยมลูกสาวที่สหรัฐอเมริกา ผมก็ได้ขออนุญาตศาลทหารให้อนุญาตผมเดินทางออกนอกประเทศได้ แต่พอมีการโอนคดีกลับศาลยุติธรรม ผมก็ต้องไปขออนุญาตที่ศาลยุติธรรม เพราะย้ายศาลแล้ว กระบวนการยังมีรอยต่อนิดหน่อย ซึ่งก็ยังไม่รู้วันเวลาที่แน่ชัดว่าศาลยุติธรรมจะเริ่มมีอำนาจเมื่อไหร่
 
หลังย้ายศาลผมรู้สึกดีขึ้น เพราะอันดับแรกอย่างน้อยผมก็ไม่ได้อยู่ภายใต้แรงกดดันของศาลทหารรู้สึกว่าการไปต่อสู้คดีที่ศาลยุติธรรม ผมไม่ได้เป็นคู่กรณีกับศาล แต่ตอนที่มาศาลทหารมันรู้สึกว่าเป็นคู่กรณีกับทหาร ถึงแม้จะอธิบายว่ามีกระบวนการเดียวกัน มีความเป็นธรรมเหมือนกัน แต่จริงๆ ความรู้สึกผมมันไม่ใช่ ผมรู้สึกว่าเป็นคู่กรณีกันอยู่แค่บรรยากาศในศาลก็ไม่เป็นมิตรกับผมแล้ว ผมจึงคิดว่าการย้ายคดีไปศาลยุติธรรมนั้นถูกต้องแล้ว แม้จะเสียเวลานิดหน่อยก็ไม่เป็นไร
 
อีกอย่างหนึ่งที่ผมคาดหวังคือจะได้รับความยุติธรรม เพราะศาลยุติธรรมที่ตัดสินคดีไม่ใช่คู่กรณีกับผมแล้วรู้สึกมีความเป็นกลางกว่า ผมสบายใจกว่า ไม่เหมือนกับศาลทหารถ้าเวลาตัดสินออกมาผมก็ไม่ค่อยมั่นใจเหมือนกัน
 
ที่ผ่านมาผมคิดว่าเอาจริงๆ แล้วเราไม่ควรใช้ศาลทหารแต่แรก เพราะมันจะทำลายกลไกทั้งหมด ถ้ามีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นควรจะขึ้นศาลยุติธรรมแทน และการที่จำหน่ายคดีออกจากศาลทหาร ก็ควรจะจำหน่ายคดีออกไปเลย เพราะหมดยุคของ คสช. ไม่มีคู่ขัดแย้งแล้ว คดีพวกนี้ก็ไม่ใช่คดีประเภทใช้ความรุนแรง เป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่มีผลอะไรเลย ไม่ควรให้เป็นภาระต่อศาลยุติธรรมต่อไป ค่าใช้จ่ายต่อกระบวนการคดีนี้ก็เสียกันไปเยอะมีทั้งทนายความ ไหนจะโจทก์ จำเลย ศาล ที่ต้องมาใช้เวลากับคดีนี้ ซึ่งถือว่าเสียทรัพยากรของประเทศไปเยอะ ควรจะตัดคดีนี้ออกไปเลย...”
 
 
-4-
 

พัฒน์นรี : “...กระทบหน้าที่การงานอย่างมาก...พอเขารู้ว่าโดนคดีอะไรอยู่ก็จะไม่อยากจ้างให้ทำงาน จนต้องไปรับจ้างที่ที่ไกลบ้าน ที่ที่คนไม่รู้จัก...”

 
พัฒน์นรี มารดาของสิรวิชญ์ นักกิจกรรม ถูกศาลทหารกรุงเทพอนุมัติหมายจับเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2559 ซึ่งพัฒน์นรีได้เข้ามอบตัวกับตำรวจในวันเดียวกันนั้น พัฒน์นรีทราบหลังเข้ามอบตัวว่า เขาถูกดำเนินคดีเนื่องจากตอบแชทเฟซบุ๊กส่วนตัวที่อีกฝ่ายพิมพ์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่พัฒน์นรีย์ ตอบแชทไปกลับไปว่า "จ้า" จึงถือว่าร่วมกระทำความผิด และถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากนั้นในวันแรกศาลไม่อนุญาตให้พัฒน์นรีประกันตัว จึงถูกคุมขังอยู่ที่ สน.ทุ่งสองห้อง และกองบังคับการปราบปรามที่ละหนึ่งคืน จนกระทั่งวันที่ 8 พฤษภาคม 2559 ศาลทหารจึงอนุญาตให้ประกันตัว พร้อมวางเงินประกัน 500,000 บาท 
 
ตลอดเวลากว่าสามปีคดีของพัฒน์นรีถูกพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ และศาลสั่งให้ทำการพิจารณาคดีลับ ไม่สามารถให้คนนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในห้องพิจารณาคดีได้ และกว่าสามปีศาลทหารกรุงเทพยังสืบพยานคดีนี้ไม่เสร็จ ยังอยู่ในชั้นสืบพยานโจทก์ โดยสามารถสืบพยานไปแล้วทั้งหมดหกปาก 
 
 
1159 พัฒน์นรี มารดาของสิรวิชญ์ นักกิจกรรม เธอถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 และคดีการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง
 
“...เป็นเวลากว่าสามปีที่ต้องต่อสู้ในศาลทหาร รู้สึกเหนื่อยมาก ทั้งเหนื่อยจากการเดินทางเหนื่อยจากการที่บางครั้งมาศาลแล้วพยานไม่มาศาล ทั้งยังเครียดกับการที่ต้องมาศาลเพราะคดีที่โดนเป็นคดีร้ายแรงด้วย ตัวอย่างความเหนื่อยเช่น การเดินทางบ้านแม่อยู่แถวถนนพระยาสุเรนทร์ แถวเขตมีนบุรี และเขตคลองสามวา ซึ่งเดินทางเข้ามาศาลทหารกรุงเทพนั้นไกลมาก [ระยะทางประมาณ 30 – 40 กิโลเมตร] ปกติเดินทางมาศาลทหารก็จะนั่งรถเมล์มา หรือบางวันถ้าเพื่อนว่างก็จะมีเพื่อนขับรถมาส่งบ้าง
 
สิ่งที่แม่ต้องเจอหลังโดนคดีเลย คือกระทบหน้าที่การงานอย่างมาก เมื่อก่อนแม่จะทำอาชีพรับจ้างทั่วไป เป็นแม่บ้านให้คนแถวๆ บ้าน ซึ่งหลังจากเขารู้กันว่าแม่โดนคดีเกี่ยวกับความผิดในเรื่องนี้ คนแถวบ้านที่เคยจ้างให้ทำงานรับจ้างก็เลิกจ้างทั้งหมด จะหางานรับจ้างก็หายาก พอเขารู้ว่าโดนคดีอะไรอยู่ก็จะไม่อยากจ้างให้ทำงาน จนต้องไปรับจ้างที่ที่ไกลบ้าน ที่ที่คนไม่รู้จัก ก็พอจะมีงานให้ทำบ้าง อีกสิ่งที่ตามมาหลังจากโดนคดี คือความกังวลใจในการตอบแชท ทุกวันนี้ระมัดระวังมากในการตอบแชทมาก ไม่คิดว่าแค่การตอบโต้ข้อความว่า “จ้า” เพื่อให้บทสนทนาที่เราไม่รู้จะตอบอะไร และไม่อยากพูดคุยหยุดลง จะทำให้เกิดเป็นคดีได้
 
เมื่อคดีย้ายจากศาลทหารไปศาลพลเรือนแล้วแม่ก็ยังกังวลเหมือนเดิม คดีที่โดนเป็นคดีที่พิเศษกว่าคดีทางการเมืองอื่นๆ คดีของแม่โทษมันร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นศาลไหนก็ยังกังวลเหมือนเดิม ไม่ได้ทำให้สบายใจขึ้นกว่าเดิมเลย
 
แม่อยากฝากถึงทุกคนในเรื่องของความระมัดระวังในการตอบโต้แชทกับคนอื่น อย่าคิดว่าแชทของเราจะเป็นพื้นที่ส่วนตัว คุยอะไรลงไปก็ได้ ให้คิดว่ามีคนที่จับจ้องเราอยู่ตลอดเวลา หากมีข้อความอะไรที่ไม่ดี ไม่อยากตอบโต้ ก็อย่าไปตอบโต้อะไร ไม่เช่นนั้นอาจจะโดนคดีเหมือนแม่ได้…”
 
 
 
-5-

 

ณัฐวุฒิ : “...ไอ้ตรงนี้มันใจวี่ใจวอน มันเป็นศาลเดียว ถ้าตัดสินมาแล้วไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ไม่มีอุทธรณ์ฎีกา เราก็คงต้องติดคุกไปเลยทั้งที่เราไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วย...”

 
 
ณัฐวุฒิ เป็นจำเลยที่ 14 ในคดี "ขอนแก่นโมเดล" ที่ชาวอีสาน 26 คน ถูกกวาดจับมาเป็นจำเลยในข้อหาตระเตรียมก่อการร้าย, ซ่องโจร, ชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน และครอบครองอาวุธ จากการที่บางคนประชุมร่วมกันในโรงแรมแห่งหนึ่ง และคนที่เคยติดต่อสื่อสารกันผ่านทางโทรศัพท์และแอพพลิเคชั่นไลน์ตั้งแต่เมื่อ คสช. เข้ายึดอำนาจในปี 2557 คดีนี้กลายเป็นคดีใหญ่ที่มีผู้ต้องหาจำนวนมาก หลายคนถูกคุมขังนานหลายเดือนก่อนได้รับประกันตัว ฝ่ายโจทก์ยื่นขอสืบพยาน 90 ปาก กลายเป็นมหากาพย์คดีการเมืองที่ศาลทหารขอนแก่น
เมื่อณัฐวุฒิถูกจับกุม ก็ถูกคุมตัวไว้ในเรือนจำภายในค่ายทหารมณฑลทหารบกที่ 23 ก่อนด้วยอำนาจพิเศษ ก่อนถูกนำตัวไปฝากขังอยู่ที่เรืิอนจำจังหวัดขอนแก่น รวมแล้วเป็นระยะเวลาประมาณ 7 เดือน ก่อนได้รับประกันตัว
 
 
"จนป่านนี้ยังไม่ได้สืบพยานฝ่ายพวกเราเลย ของฝ่ายเค้าเห็นว่า มีตั้งแปดสิบกว่าปาก เพิ่งสืบไปได้ 5-6 ปากเอง ระยะเวลาตั้งห้าปีแล้ว เหมือนกับเขาดึงเกมเอาไว้ จนอัยการเปลี่ยนไปตั้งไม่รู้กี่ชุด ผู้พิพากษาเปลี่ยนไปตั้งไม่รู้กี่ชุด ตายไปก็เยอะ ก็ยังไม่ไปไหนเลย พวกเราเองก็เสียชีวิตไปตั้งหลายคน มันไม่คืบหน้าไปไหนเลยครับ" ณัฐวุฒิเล่าถึงสถานการณ์การพิจารณาคดีที่ล่าช้า จนมีจำเลยสองคนเสียชีวิตไประหว่างนี้ และอีกสองคนหนีคดีไปติดต่อไม่ได้อีก ด้านอัยการทหารผู้ฟ้องคดีเองก็เสียชีวิตไปหนึ่งรายโดยมีคนอื่นมารับคดีต่อแทน
 
 
"พวกเราแต่ละคนไม่ได้รู้จักกันเลยตั้งแต่เกิดมาในชีวิต แต่ก็ถูกจับมารวมกันหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย อายุสามสี่คนรวมกันก็สองร้อยกว่าปี ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรกันหรอก เราอยู่ในยุครัฐประหารก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง ก็ทุกข์ทรมานมา ดีว่ายังได้ประกัน แต่บางคนไม่ได้ประกันก็หนักหนามาก ถึงกับเลิกกับลูกเมียไป เพราะทนอยู่ไม่ได้ต้องไปหากินกับครอบครัวใหม่"
 
 
ณัฐวุฒิ ซึ่งอายุ 57 ปีขณะถูกจับกุมเล่าว่า เขาเคยเป็นนักการเมืองท้องถิ่น เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ระหว่างที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวอยู่ก็ทำให้ขาดจากตำแหน่งเดิมไป และก็ถูกคนเข้าใจผิด จนเป็นที่เสื่อมเสียชื่อเสียง เพราะมีบางคนดูข่าวในโทรทัศน์แล้วเข้าใจไปว่า คนที่ถูกจับกุมเป็นผู้ก่อการร้ายไม่หวังดีต่อประเทศชาติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง
 
 
"ศาลทหารมันคับแคบ ไม่สะดวก เป็นเหมือนศาลชั่วคราวอย่างที่เห็น แต่ก่อนอยู่ข้างบนก็เบียดกันไปขึ้นไปเลย ตอนหลังก็มาติดแอร์เพิ่ม แล้วก็เสียเวลากว่าศาลจะลงบัลลังก์ก็สิบโมงแล้ว แปบเดียวก็หมดวัน บางทีก็ต้องมาค้างสองวัน เราก็ต้องเช่ารีสอร์ทนอน ก็มีค่าใช้จ่าย อันนี้ก็ลำบาก เมื่อไปอยู่ศาลพลเรือนก็หวังว่าจะเร็วขึ้น" ณัฐวุฒิ ซึ่งเดินทางมาจากบ้านที่จังหวัดชัยภูมิโดยไม่เคยขาดแม้แต่นัดเดียว เล่าถึงบรรยากาศของศาลทหารตั้งตอนเริ่มคดีที่ห้องพิจารณาคดีเล็กเกินกว่าจะบรรจุจำเลยและทนายความทั้งหมดเข้าไปได้ แต่ต่อมามีการกั้นห้องชั่วคราวขึ้นมาที่ชั้นหนึ่ง เพื่อใช้สำหรับคดีนี้โดยเฉพาะ
 
 
"ไอ้ตรงนี้มันใจวี่ใจวอน มันเป็นศาลเดียว ถ้าตัดสินมาแล้วไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ไม่มีอุทธรณ์ฎีกา เราก็คงต้องติดคุกไปเลยทั้งที่เราไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วย อยู่แบบนี้มันเสี่ยง ไม่รู้ว่าจะมีธงหรือเปล่า อะไรที่มันไม่จริงในคดีนี้มันเยอะนะ พอรู้ว่าจะได้ไปขึ้นศาลตรงนั้นแล้วก็สบายใจ คิดว่าคงไม่ต้องติดคุกหรอกเพราะเราไม่ได้ทำจริง กระบวนการพิจารณาคดีที่ศาลนั้นน่าจะดีกว่า และจะยื่นอุทธรณ์ได้" ณัฐวุฒิกล่าว

 

 

 

ชนิดบทความ: