ความในใจของ “เพนกวิ้น” หนึ่งในจำเลยคดีแขวนพริกกระเทียมไล่พล.อ.ประยุทธ์

21 สิงหาคม 2562 ศาลแขวงดุสิตพิพากษาปรับพริษฐ์ หรือเพนกวิ้นและธนวัฒน์ หรือบอล นักกิจกรรมทางสังคมในความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ คนละ 2000 บาท จากกรณีที่ทั้งสองร่วมกันประกาศเชิญชวนประชาชนมาร่วมกันขับไล่พล.อ,ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 หลังจากในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ระหว่างที่แถลงผลงาน 4 ปี รัฐบาล คสช. 1 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีที่มีคนเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าคสช. เพื่อความเป็นธรรมในฐานะที่พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐว่า “มึงมาไล่ดูสิ”
ก่อนเข้าฟังคำพิพากษา พริษฐ์ หนึ่งในจำเลยคดีนี้เปิดใจถึงที่มาที่ไปของการทำกิจกรรมและความคิดเห็นของเขาต่อพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

“ท่านพลเอกประยุทธ์ประกาศในการแถลงผลงานของรัฐบาลว่า “มึงลองมาไล่ดูสิ” ในฐานะที่เป็นนักศึกษาและประชาชนผมคิดว่าเป็นหน้าที่ทางจริยธรรมที่เราควรจะรับคำท้านี้ และก็มีการพูดกันด้วยว่าเราเป็นเด็กต้องฟังผู้ใหญ่ เมื่อผู้ใหญ่เขาบอกให้ไปไล่ เราก็ต้องไล่ ตอนนั้นพวกผมอยู่งานเกษตรแฟร์ มีคนคนพริกขนเกลือมาขาย ก็เลยคุยกันว่าซื้อไปฝากนายกฯหน่อย เลยซื้อพริกเป็นถุงมาร้อยเอาจะได้แขวนได้ แล้วก็ซื้อเกลือซื้อกระเทียมเพื่อเอาไปแขวน ที่ต้องเป็นพริกเกลือเพราะคนไทยเชื่อว่าการจะขับไล่หรือสาปแช่งใครต้องใช้พริกเกลือ แล้วมันก็เป็นสมุนไพรไทยที่มีประโยชน์ ใครเก็บไปก็เอาไปทำผัดกระเพราได้
วันนั้นตำรวจเจรจาขอให้เราย้ายไปทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะได้ไม่เข้าพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ผมก็ตอบไปว่า เรามาสื่อสาร มาไล่ พล.อ.ประยุทธ์โดยตรง ก็ต้องมาที่นี่ เขาก็บอกว่างั้นเราก็ผิดกฎหมาย เพราะเรานัดกันมาก่อนแล้วไม่ได้แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ผมก็เลยประกาศว่าเรายกเลิกกิจกรรมที่เดิมนัดไว้ที่ประตูสี่ (ทำเนียบรัฐบาล) แล้วเดินไปทำกิจกรรมที่ประตูสามแทน พอย้ายไปที่ประตูสาม พวกผมก็แขวนพริกกระเทียมแล้วก็โดนเชิญตัวไปสน.ดุสิต
วันนั้นพวกผมไปสน.ดุสิตตั้งแต่ช่วงบ่ายสอง กว่าจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาก็บ่ายสามเพราะผมรอทนายความ แต่หลังจากนั้นไม่รู้มีกระบวนการกันอีท่าไหน ทำไมมันถึงนานเพราะกว่าจะเสร็จก็สองทุ่มครึ่ง เข้าใจว่าเขาคงหวังจะยื้อไม่ให้ผมไปงานรำลึกถึงอาจารย์สุรชัย แซ่ด่าน นักกิจกรรมที่หายสาบสูญระหว่างลี้ภัยในลาว วันนั้นมีแค่ผมกับบอล ธนวัฒน์ที่ถูกสอบปากคำ
ในทางคดีผมก็สู้ว่ากิจกรรมที่ประกาศต่อสาธารณะซึ่งเขาบอกว่าผิดกฎหมายอย่างพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็ประกาศยกเลิกไปแล้ว ส่วนที่ย้ายไปประตูสามก็ทำกันส่วนตัวเฉพาะกลุ่มที่ไปวันนั้น นอกจากนั้นการเผาพริกเผาเกลือมันก็เป็นกิจกรรมที่เป็นการแสดงออกถึงความเชื่อของคนไทยด้วย แต่วันนั้นมันเป็นกิจกรรมที่ทำกลางเมืองจะไปเผาก็คงไม่ได้เลยใช้แขวนเอา
มาสู้คดีครั้งนี้ เสียเวลา เสียโอกาสเพราะต้องเลิกนัดสำคัญหลายครั้งเพื่อมาศาล เสียค่าเดินทาง และต้องเตรียมเสียค่าปรับด้วยหากศาลพิพากษาว่าผมมีความผิด จริงทางตำรวจก็บอกผมว่าน้องยอมๆเถอะจะปรับไม่มากให้เป็นพิธีตามก็หมาย แต่ผมรู้สึกว่าถ้าเรายอมรับก็เท่ากับเราจำกัดสิทธิเสรีภาพของเราเอง คดีนี้จะแพ้หรือชนะไม่สำคัญ สำคัญแค่ได้สู้ เพื่อยืนยันว่าการทำกิจกรรมทางการเมือง การแสดงออก การคอมเมนท์ การเผาพริกเผาเกลือหรือขับไล่นายกที่ทำโดยสันติ ต้องเป็นสิ่งที่ประชาชนทำได้ ไม่ว่าผลของคดีจะออกมาอย่างไรผมเคารพคำพิพากษาของศาล แต่ผมขอไม่เคารพ พ.ร.บ.ชุมนุมฯเพราะเป็นกฎหมายที่ออกโดยสนช.ซึ่งคสช.เป็นผู้แต่งตั้ง
ที่ผมไม่แจ้งการชุมนุมเพราะผมต้องการยืนยันว่ากิจกรรมเท่านี้มันไม่ควรจะต้องไปแจ้ง เราไม่ได้กีดขวางทางจราจรใคร เราไม่ได้มากันเป็นร้อยเป็นพัน และการแจ้งล่วงหน้า 24 ชั่วโมงมันก็ทำให้ประชาชนใช้สิทธิไม่ได้อย่างแท้จริง อย่างกรณีผู้ใช้แรงงาน เคยมีคนเล่าให้ฟังว่าพอแรงงานไปแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า 24 ชั่วโมง กว่าจะชุมนุมได้นายทุนก็ปิดโรงงานหนีไปแล้ว
ผมคิดว่าเราต้องตีความคำว่า “ชุมนุม” ใหม่เพราะตอนนี้ต่อให้ผมไปยืนชูป้ายคนเดียวแล้วคนมามุงดูได้มันก็เป็นการชุมนุมที่ถ้าไม่แจ้งจะมีความผิดไปแล้ว ก็เลยอยากถามว่าถ้าผมจะไปคนเดียวเนี่ยผมต้องแจ้งด้วยเหรอ เราต้องยอมรับให้ตรงกันก่อนว่าเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิ่งที่เราต้องทำได้ทุกๆเวลา ดังนั้นกฎหมายที่เกี่ยวกับการชุมนุมต้องคำนึงข้อนี้เป็นหลัก การแก้ไขพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ใช่การหาฉันทามติ ไม่ใช่เรื่องของการประนีประนอมยอมกันคนละครึ่งทาง แต่เป็นการหาคำตอบร่วมกันว่าเสรีภาพในการชุมนุมมันคืออะไรและมันยังเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือไม่สำหรับประเทศนี้ ถ้ามองว่าสำคัญการแก้ไขก็คงจะไปอีกทางหนึ่ง แต่หากมองว่าไม่สำคัญก็เป็นอย่างที่เห็นในทุกวันนี้”