Change.NCPO โตโต้ -ปิยรัฐ จากผู้ต้องหาคดีฉีกบัตรประชามติสู่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่

สำหรับผมการถูกดำเนินคดีครั้งนั้นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัดสินใจเข้ามาเล่นการเมืองในระบบ ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองและสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. 
ก่อนที่จะถูกดำเนินคดี(พ.ร.บ.ประชามติ) ผมรู้สึกว่าผมไม่พอใจร่างรัฐธรรมนูญ (ที่ต่อมาประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ 2560) ผมก็เลยไปแสดงออกในฐานะปัจเจกชนคนหนึ่ง ครั้งนั้นการแสดงออกของผมไม่มีพันธะผูกพันกับใคร อย่างมากก็แค่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง ผมก็เลยเลือกแสดงออกด้วยการฉีกบัตรลงคะแนนประชามติ (รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ)
ตอนที่ถูกดำเนินคดีและต้องขึ้นศาลผมเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นแค่มนุษย์เงินเดือนคนหนึ่ง แต่ระหว่างทางที่สู้คดีผมเริ่มรู้สึกว่าการต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่งมันยากที่จะสำเร็จ เพราะเสียงคนธรรมดาบางครั้งอาจจะเบาเกินไปสำหรับผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นการแสดงออกของคนคนเดียวอย่างกรณีของผม
แม้จะต้องเสียเวลาไปกับการต่อสู้คดีแต่มันก็ทำให้ผมตกผลึกว่าเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเกิดความสำเร็จ ผมจะต้องเข้ามาต่อสู้ทางการเมืองตามระบบ ในรัฐสภา ผ่านการเป็นส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งโดยมติมหาชน เมื่อมีการจัดตั้งพรรคการเมืองที่มีแนวนโยบายและอุดมการณ์ที่ตรงกัน ผมก็ตัดสินใจลาออกจากการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจและสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างเต็มตัว
การตัดสินใจทำงานการเมืองทำให้ผมมีโอกาสกลับบ้านที่จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ผมเริ่มต้นการเป็นผู้สมัครส.ส.ด้วยการผ่านกระบวนการคัดเลือกภายในพรรค (Primary Vote) เพื่อเป็นตัวแทนพรรคลงเลือกตั้งที่เขต 1 จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อผ่านการคัดเลือกภายในพรรคก็เริ่มลงพื้นที่หาเสียงแบบเต็มตัวในสนามเลือกตั้งใหญ่ 
เมื่อมีการประกาศผลการเลือกตั้งปรากฎว่าผมมีคะแนนเป็นอันดับสามในเขตของตัวเอง แม้จะไม่ชนะแต่ก็ไม่ถือว่าแย่สำหรับการลงเลือกตั้งครั้งแรกเพราะอย่างน้อยผมก็ได้รับเสียงสนุนประมาณ 20000 คะแนน ส่วนคนที่เป็นส.ส.เขตผมได้ไป ประมาณ 35000 คะแนน หลังการเลือกตั้งผมก็ทำงานให้พรรคอนาคตใหม่อย่างเต็มตัวในฐานะเจ้าหน้าที่เครือข่าย ประสานงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
การเข้ามาทำงานการเมืองในระบบ มีพรรคสังกัดทำให้ผมต้องทบทวนแนวทางการต่อสู้ของตัวเอง จากเดิมที่เคลื่อนไหวในฐานะปัจเจกชนผมก็แค่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง แต่พอสถานการณ์เปลี่ยนไป ผมเข้ามาสู้ในระบบ มีพรรค มีองค์กรที่สังกัด การกระทำหรือการต่อสู้ของผมมันก็ไม่ได้มีแค่ผมคนเดียวที่ต้องรับผิดชอบแต่จะมีคนรอบข้างหรือองค์กรที่ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย จึงต้องเพิ่มความระมัดระวัง ผมเชื่อว่าท้ายที่สุดการต่อสู้เรื่องการแก้กฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ ก็คงต้องจบลงที่กลไกของรัฐสภาไม่ว่าเราจะมองว่าปลายทางมันจะดูริบหรี่แค่ไหนก็ตาม
ปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานทำลายบัตรประชามติโดยไม่มีอำนาจตามมาตรา 59 ความผิดฐานร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติตามพ.ร.บ.ประชามติมาตรา 60 (9) และความผิดฐานทำลายเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 กับข้อหาทำลายทรัพย์สินที่ผู้อื่นร่วมเป็นเจ้าของตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 
ปิยรัฐถูกดำเนินคดีจากกรณีที่เขาฉีกบัตรลงคะแนนประชามติที่หน่วยออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดที่สำนักงานเขตบางนาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 โดยมีจิรวัฒน์และทรงธรรม เพื่อนของเขาอีกสองคนที่ถูกดำเนิคดีร่วมกับเขาในข้อหา ร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติด้วยจากกรณีที่ทั้งสองใช้โทรศัพท์บันทึกคลิปเหตุการณ์ขณะที่ปิยรัฐตะโกน “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” พร้อมฉีกบัตรประชามติระหว่างอยู่ในหน่วยออกเสียงเผยแพร่ทางยูทูป
ในเดือนกันยายน 2560 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าปิยรัฐมีความผิดฐานฉีกบัตรตามพ.ร.บ.ประชามติฯ และความผิดฐานทำลายทรัพย์สินที่ผู้อื่นร่วมเป็นเจ้าของแต่ยกฟ้องเขาในความผิดฐานร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติเพราะเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีไม่ได้มีเหตุวุ่นวายใดๆเกิดขึ้นและการออกเสียงในหน่วยยังคงดำเนินไปตามปกติ จิรวัฒน์และทรงธรรมก็ได้รับการยกฟ้องในข้อหานี้ด้วยเช่นกัน 
ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2561 ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นพิพากษาว่าปิยรัฐ จิรวัฒน์และทรงธรรม จำเลยทั้งสามในคดีนี้มีความผิดฐานก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติเพราะเห็นว่า 
ปิยรัฐและเพื่อนอีกสองคนมีลักษณะแบ่งงานหรือนัดแนะกันมาก่อนโดยให้ปิยรัฐเป็นคนฉีกบัตรส่วนจิรวัฒน์และทรงธรรมเป็นคนถ่ายคลิปเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตโดยหวังจะให้เกิดความวุ่นวาย ขณะที่ปิยรัฐศาลก็เห็นว่าหากไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญก็สามารถลงคะแนนไม่เห็นชอบได้แต่ปิยรัฐกลับเลือกใช้วิธีฉีกบัตรซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายจึงไม่ใช่การใช้สิทธิโดยชอบ ขณะนี้คดีของปิยรัฐยังอยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกา
ดูรายละเอียดคดีของปิยรัฐ ที่นี่
————————————————————————–
ในช่วงเวลากึ่งทศวรรษของการปกครองโดยคสช.เป็นเวลาที่นานพอจะให้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่าง เช่น เห็นอดีตผู้บัญชาการทหารบกและหัวหน้าคณะรัฐประหารผู้เคยปฏิเสธว่าตัวเอง “ไม่ใช่นักการเมือง” กลายเป็นนักการเมืองแบบเต็มขั้น เห็นระบบการเมืองที่หวนคืนไปสู่ระบบการเมืองแบบวันวาน เช่นการมี ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง 100% หรือเห็นรัฐธรรมนูญที่ย้อนกลับไปกำหนดให้นายกไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นต้น ขณะเดียวกันระยะเวลาที่เนิ่นนานในยุคคสช.ก็นานพอที่จะเปลี่ยนชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านการรัฐประหารหรือการปกครองโดยคสช.จนมีคดีการเมืองติดตัวเป็นของขวัญ ผลงานชุด Change.NCPO จึงคัดเลือกภาพและเสียงของนักเคลื่อนไหวบางส่วนที่ถูกดำเนินคดีการเมืองเป็นครั้งแรกในช่วงปี 2557 – 2559 ซึ่งถือเป็นครึ่งแรกของการบริหารประเทศโดยคสช.มาบอกเล่าไว้ ณ ที่นี้