“อ๊อด ไชยวงศ์” ชาวลาวหายตัวใน กทม. นักเคลื่อนไหวจากเพื่อนบ้านถูกจับในไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

 

อ๊อด ไชยวงศ์ อายุ 34 ปี นักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยชาวลาวถูกพบเห็นครั้งล่าสุดเมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 26 สิงหาคม 2562 หรือสองสัปดาห์ที่ผ่านมาที่บ้านพักย่านบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ซึ่งเขาเข้ามาอยู่อาศัยชั่วคราวระหว่างรอลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม ในปี 2017 อ๊อดถูกลงทะเบียนเป็นบุคคลในความห่วงใย (person of concern) โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เนื่องด้วยกิจกรรมของเขาที่เกี่ยวข้องกับประเทศลาว ซึ่งเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ พรรคเดี่ยวที่มีน้ำอดน้ำทนน้อยต่อแนวคิดที่แตกต่าง

 

อ้างอิงจากรายงานของสมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ระบุว่า ที่ผ่านมาอ๊อดได้รณรงค์เรื่องประชาธิปไตยและการผลักดันสิทธิแรงงานข้ามชาติจากลาว และเป็นสมาชิกของกลุ่ม “Free Lao” กลุ่มอย่างไม่เป็นทางการของแรงงานอพยพและนักเคลื่อนไหวชาวลาวที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศลาว ก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคม 2562 อ๊อดได้โพสต์ภาพตนเองกำลังยืนที่หน้าสำนักงานใหญ่สหประชาชาติที่กรุงเทพฯ สวมใส่เสื้อยืดสีขาว ประดับด้วยธงชาติรูปช้างสีขาวสามเศียรของประเทศลาวซึ่งใช้ในปี 2495 จนถึงปี 2518  รัฐบาลคอมมิวนิสต์ลาวได้ประกาศยกเลิกการใช้ธงนี้ไปแล้วและการปรากฏของธงก็มักจะสร้างความไม่พอใจต่อทางการลาว ในปี 2560 ศาลลาวได้พิพากษาจำคุกบุคคลสามคนจากการชูธงชาติรูปช้างสีขาวสามเศียรระหว่างการชุมนุมที่หน้าสถานทูตลาวประจำประเทศไทยในวันที่ 2 ธันวาคม 2558

ด้านขบวนการลาวเพื่อสิทธิมนุษยชน(LMHR) ระบุว่า อ๊อดอาจจะเป็นผู้เสียหายรายล่าสุด ที่เกิดจากความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัฐบาลไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาค เพื่อที่จะปราบปรามผู้คัดค้านรัฐบาลที่หลบหนีไปยันประเทศอื่น ประชาคมนานาชาติต้องช่วยกันประณามความร่วมมือในการปราบปรามครั้งนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การริดรอนพื้นที่ของภาคประชาสังคมในภูมิภาค
 

 

นอกจากนี้สมาชิกของกลุ่มที่รณรงค์ร่วมกับอ๊อดยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า เขาถูกจับตามองและคุกคามจากทั้งเจ้าหน้าที่ไทยและลาว ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจของสถานีตำรวจท้องที่ที่พักของอ๊อดกล่าวว่า ไม่มีผู้ลี้ภัยถูกจับกุมในเดือนที่ผ่านมา ด้านพลโทคงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมปฏิเสธความรับรู้กรณีของอ๊อด และระบุเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยไม่ได้มีนโยบายปราบปรามผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากประเทศอื่นๆ ในช่วงปีที่ผ่านมาประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านถูกกล่าวหาว่า กวาดล้างกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมือง
 

 

ไทม์ไลน์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งถูกส่งหรือหายตัวไปจากประเทศไทย

ชาวอุยกูร์อย่างน้อย 90 คน
 

9 กรกฎาคม 2558 รอยเตอร์รายงานว่า ไทยบังคับส่งกลับชาวอุยกูร์อย่างน้อย 90 คนไปยังประเทศจีน โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างเป็นกังวลว่า พวกเขาเหล่านี้จะต้องเผชิญกับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือการซ้อมทรมาน มีการคาดการณ์ว่า ชาวอุยกูร์หลายร้อยคนหรืออาจจะมากถึงหลายพันคนได้หนีออกจากมณฑลซินเจียงของประเทศจีน พื้นที่ดังกล่าวรัฐบาลจีนได้ปราบปรามชาวอุยกูร์อย่างหนัก จำนวนมากต่างเลือกเดินทางผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อไปยังประเทศตุรกี ที่มีความคล้ายคลึงกันด้านวัฒนธรรมมากกว่า

รัฐบาลไทยให้เหตุผลของการส่งกลับว่า ได้ผ่านการตรวจพิสูจน์สัญชาติจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กลุ่มที่ตรวจสอบมี 170 คนที่ระบุว่า มีสัญชาติตุรกีได้ส่งกลับประเทศตุรกี ส่วนที่ตรวจพิสูจน์แล้วว่า มีสัญชาติจีนได้ส่งกลับประเทศจีน ซึ่งคือ จำนวนประมาณ 100 คนที่ส่งกลับไปรอบนี้ เหลือประมาณ 50 คนที่รอการตรวจพิสูจน์สัญชาติ
 

กุ้ย หมิ่นไห่ คนขายหนังสือในฮ่องกง
 

17 ตุลาคม 2558 กุ้ย หมิ่นไห่ คนขายหนังสือร้านหนังสืออิสระคอสเวย์ เบย์ บุกส์ สัญชาติสวีเดนหายตัวไปหลังจากออกจากห้องพักที่พัทยา ประเทศไทย หลังจากนั้นมีข้อมูลว่า เขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ประเทศจีนโดยปราศจากความช่วยเหลือจากทนายความและการเข้าถึงของเจ้าหน้าที่ทูต ต่อมาเดือนมกราคม 2559 ทางการจีนได้ยอมรับว่า มีการควบคุมตัวกุ้ย หมิ่นไห่ไว้หลังจากที่สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี สื่อในความควบคุมของจีนเผยแพร่ภาพการบังคับสารภาพความผิดเรื่องการขับรถชนจนมีผู้เสียชีวิตในปี 2546 และเขาได้กลับประเทศจีนและมอบตัวอย่างสมัครใจ แต่ทางการจีนไม่ได้เปิดเผยข้อมูลแหล่งที่อยู่ของกุ้ย หมิ่นไห่ให้ครอบครัวหรือสถานทูตสวีเดนแต่อย่างใด
 

ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2558 เพื่อนร่วมงานที่ร้านหนังสืออิสระของเขาถูกอุ้มหายไปอีกสี่คน แต่ทั้งหมดถูกปล่อยตัวครบในเดือนมิถุนายน 2559 ต่อมากุ้ย หมิ่นไห่ถูกปล่อยตัวในเดือนตุลาคม 2560 หลังจากรับโทษครบสองปีจากกรณีความผิดขับรถยนต์ชนจนมีผู้เสียชีวิต โดยไม่มีการไต่สวน ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2561 ระหว่างการเดินทางไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยรถไฟ กุ้ย หมิ่นไห่ถูกควบคุมตัวอีกครั้ง รอบนี้ทางการจีนกล่าวหาว่า เขาประกอบธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย, ค้าความลับของชาติและใช้เวลากับทูตต่างชาติอย่างผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ กุ้ย หมิ่นไห่ป็นที่รู้จักในฐานะผู้ตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีน

 

สัม สุขา ปารองเท้าใส่ภาพฮุน เซน
 

8 กุมภาพันธ์ 2561 ทางการไทยส่งตัวสัม สุขา ผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับกัมพูชา ในเดือนเมษายน 2560 เธอโพสต์วิดีโอบนเฟซบุ๊ก เป็นภาพที่สัมปารองเท้าแตะไปที่ภาพของฮุน เซน นายกรัฐมนตรีและเฮง สัมริน ประธานสภา ต่อมาในเดือนกรกฎาคมของปีเดียวกัน เธอถูกกล่าวหาว่า ดูหมิ่นเจ้าพนักงานและยุยงปลุกปั่นสร้างความแตกแยก จากนั้นสัมจึงหนีเข้ามายังประเทศไทยและถูกควบคุมตัวในต้นเดือนมกราคมจากการพำนักเกินเวลาที่กำหนดและอยู่ในศูนย์ตรวจคนเข้าเมือง สวนพลูมมาตลอด และระหว่างนั้นมีรายงานจากแอมนาสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกัมพูชาได้เข้าพบสัมเพื่อกดดันให้เธอกลับกัมพูชา
 

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกสองปีและปรับห้าล้านเรียลหรือ 37,000 บาท ต่อมาสัมขออุทธรณ์ เหตุที่ต้องอุทธรณ์เพราะมองว่า ศาลชั้นต้นวางโทษมาสูงเกินไป ศาลอุทธรณ์กัมพูชาตัดสินว่า มีความผิดและสั่งจำคุกสองปี ในระหว่างชั้นอุทธรณ์สัมบอกต่อศาลว่า ตอนนี้เธอเข้าใจแล้วว่า การกระทำของเธอผิด แต่ตอนนั้นเธอไม่รู้เลยว่า การกระทำเช่นนั้นมันจะผิดกฎหมายและขอให้ศาลลดโทษให้ พร้อมกันนั้นยังได้ขอโทษฮุน เซน นายกรัฐมนตรีด้วย
 

รวต มุนี สารคดีโสเภณีเด็ก
 

12 ธันวาคม 2561 รวต มุนี ถูกจับกุมที่ประเทศไทยและส่งกลับประเทศตามหมายจับของรัฐบาลกัมพูชา ในความผิดฐานยุยงส่งเสริมให้เกิดความแตกแยกในกัมพูชาเนื่องจากมุนีร่วมผลิตสารคดีชื่อ “แม่ขายหนู” เป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงยากจนที่ถูกขายเพื่อค้าประเวณี เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม 2561
 

ทางด้านฮิวแมนไรท์ วอทช์ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ เรียกร้องไม่ให้รัฐบาลไทยส่งมุนีกลับ เนื่องจากมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือว่า เขาอาจถูกฟ้องคดีด้วยเหตุผลทางการเมือง ถูกควบคุมตัวอย่างมิชอบหรือถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายในกัมพูชา อีกทั้งยังมีนักกิจกรรมแรงงานถูกส่งกลับกัมพูชาถึงแม้ว่า จะได้สถานะลี้ภัยจากสหประชาชาติแล้วก็ตาม
 

เจือง ซุย เยิด บล็อกเกอร์เรดิโอ ฟรี เอเชีย
 

26 มกราคม 2562 เจือง ซุย เยิด บล็อกเกอร์เรดิโอ ฟรี เอเชียที่ทำงานเผยแพร่ข่าวในประเทศที่ขาดแคลนเสรีภาพสื่ออย่างเวียดนาม หายตัวไปจากห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้เพียงวันเดียวเขาได้สมัครเพื่อมีสถานะผู้ลี้ภัยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ผู้ให้ข้อมูลไม่ระบุชื่อเปิดเผยว่า เยิดถูกจับกุมในตอนที่เขาเข้าไปในร้านไอศครีมในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เพื่อนร่วมงานของเขาคาดการณ์ว่า การลักพาตัวครั้งนี้กระทำโดยเจ้าหน้าที่เวียดนามที่ทำงานร่วมกับตำรวจของไทย โดยคุมตัวผ่านชายแดนไทยกัมพูชาและเข้าไปที่เวียดนาม
 

ต่อมาในเดือนมีนาคม 2562 มีรายงานว่า เยิดถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำในประเทศเวียดนาม เจ้าหน้าที่เรือนจำแจ้งต่อภรรยาของเขาว่า เขาถูกจับกุมที่เวียดนามเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 และไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม ก่อนหน้านี้ในปี 2557 เยิดถูกจำคุกสองปีจากโพสต์วิจารณ์ความเป็นผู้นำของคอมมิวนิสต์เวียดนาม ก่อนจะถูกลักพาตัวเขาได้โพสต์บทความในบล็อกสุดท้ายเกี่ยวกับโอกาสของการเปลี่ยนแปลงในเวียดนาม ท่ามกลางกระแสการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเวเนซูเอล่าครั้งใหญ่
 

หลังเยิดถูกลักพาตัวกลับเวียดนาม บั่ค ฮ่ง เฮวี่ยน ผู้ลี้ภัยทางการเมืองอีกคนตกอยู่ในความหวาดกลัว เนื่องจากเขาเป็นผู้ช่วย เยิดในการยื่นขอเป็นผู้ลี้ภัยในกรุงเทพฯ จนกระทั่งวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 เฮวี่ยน พร้อมบุตรชายวัยหกเดือนได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปยังประเทศแคนาดาภายใต้โครงการผู้ลี้ภัยที่ให้เงินสนับสนุนโดยรัฐบาลแคนาดา ก่อนหน้าจะออกเดินทาง  เฮวี่ยนต้องอยู่ในห้องกักขัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองราวสัปดาห์เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของทางการไทย ระหว่างนั้นมีรายงานว่า ตัวแทนของเวียดนามเข้ามาที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองด้วย เฮวี่ยนถูกออกหมายจับหลังจากเขาจัดการชุมนุมครบรอบการรั่วไหลของขยะพิษในพื้นที่ชายฝั่งทางตอนกลางของเวียดนามในปี 2559
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

อ้างอิง
https://www.fidh.org/ไทย/24728
https://www.theguardian.com/world/2019/sep/07/thai-government-pressed-over-missing-lao-activist-od-sayavong
https://news.yahoo.com/laos-activist-feared-missing-thailand-rights-groups-074628168.html?soc_src=community&soc_trk=tw
https://freeguiminhai.org/
https://www.theguardian.com/world/2019/feb/05/truong-duy-nhat-vietnam-blogger-radio-free-asia-thailand
https://www.reuters.com/article/us-thailand-uighurs-china/thailand-sends-nearly-100-uighur-migrants-back-to-china-idUSKCN0PJ0E120150709
https://www.rfa.org/english/news/vietnam/canada-05022019172237.html
https://www.phnompenhpost.com/national/shoe-thrower-sam-sokha-deported-thailand
https://www.phnompenhpost.com/national/appeal-court-hears-shoe-thrower-sam-sokhas-case