ศาลรัฐธรรมนูญออกข้อกำหนด “ห้ามวิจารณ์ศาล” มีผลบังคับใช้ 17 ตุลาคม 2562

17 กันยายน 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 โดยมีจุดน่าสนใจอยู่ที่ข้อที่ 10 ในข้อกำหนดดังกล่าว ที่นำบัญญัติเรื่องการ "ห้ามวิจารณ์ศาลโดยไม่สุจริต" มาบรรจุไว้ และข้อกำหนดฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ 30 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 
ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 6 ซึ่งกำหนดให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกข้อกำหนด ระเบียบ หรือประกาศของศาล โดยการออกข้อกำหนดหรือระเบียบดังกล่าวให้เป็นไปตามมติของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และมาตรา 28 ซึ่งกำหนดให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกข้อกำหนดศาลเกี่ยวกับการพิจารณาคดีได้แต่ข้อกำหนดที่ออกมาจะต้องไม่ขัดกับพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาฯ
ในข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้บุคคลที่เข้ามาในที่ทำการศาล หรือเข้าฟังการไต่ส่วนของศาลต้องประพฤติตัวตามที่ศาลกำหนด มิเช่นนั้นจะถือเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล อย่างเช่น
ข้อ 8 (2) ห้ามใช้เครื่องขยายเสียงหรือส่งเสียงรบกวนหรือกระทำการอื่นใดที่เป็นการรบกวนการพิจารณาคดีของศาลหรือการทำงานของเจ้าหน้าที่ศาล และห้ามกีดขวางทางเข้าออกศาล 
ข้อ 8 (3) ห้ามประพฤติตนในทางก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อย หรือก่อความรำคาญ หรือกระทำการในลักษณะยุยงส่งเสริมการกระทำข้างต้น ในการพิจารณาคดีหรือการทำงานของเจ้าหน้าที่ศาล
ข้อ 8 (7) ห้ามแถลง ชี้แจง แจกจ่ายเผยแพร่ ให้สัมภาษณ์หรือพูดออกอากาศในบริเวณศาล ที่อาจมีผลกระทบกระเทือนต่อการพิจารณาคดี โดยไม่ได้รับอนุญาต
โดยข้อกำหนดข้อที่ 9 ระบุว่า ศาลอาจออกคำสั่งให้บุคคลใด หรือกลุ่มบุคคลใดกระทำการหรืองดเว้นการกระทำเพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปอย่างสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว 
นอกจากนี้ ในข้อที่ 10 ยังกำหนดให้ "ห้ามบิดเบือน" ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายตามคำสั่งศาล หรือวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาล โดยไม่สุจริตหรือใช้ถ้อยคำ หรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี ปลุกปั่น ยุยง หรืออาฆาตมาดร้าย
ซึ่งข้อกำหนดในข้อที่ 10 มีเนื้อหาในลักษณะเดียวกับมาตรา 38 วรรคสาม ของพ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในกฎหมายระบุไว้ด้วยว่า "การวิจารณ์คําสั่งหรือคําวินิจฉัยคดีที่กระทําโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคําหรือมีความหมายหยาบคายเสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่มีความผิดฐานละเมิดอํานาจศาล" มาเป็นข้อต่อสู้ในกรณีที่ตัวเองถูกตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ