แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง คดี #RDN50 เตรียมฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 116 ที่ศาลอาญาพรุ่งนี้

20 กันยายน 2562 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดหกแกนนำคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนินฟังคำพิพากษาคดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 คดีนี้มีจำเลยหกคนคือ สิรวิชญ์, กาณฑ์, อานนท์, ณัฏฐา, สุกฤษฏ์และชลธิชา เหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย จัดการชุมนุมที่ถนนราชดำเนินเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า “หยุดยื้อเลือกตั้ง หยุดสืบทอดอำนาจ” โดยในวันเกิดเหตุมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่บริเวณร้านแมคโดนัลด์ ถนนราชดำเนินประมาณ 300 ถึง 500 คน
 
 
หลังเสร็จสิ้นชุมนุม เจ้าหน้าที่ออกหมายเรียกผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวม 49 คนมารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 รวม 49 คน ในจำนวนนั้นมีผู้ต้องหาเจ็ดคนที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นแกนนำและมีพฤติการณ์ปราศรัยปลุกระดมประชาชนได้แก่ รังสิมันต์, สิรวิชญ์, กาณฑ์, อานนท์, ณัฏฐา, สุกฤษฏ์และชลธิชา ทั้งหมดถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มเติมจากข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. คดีของทั้งเจ็ดถูกแยกมาฟ้องที่ศาลอาญาในขณะที่ผู้เข้าร่วมการชุมนุม 42 คนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เพียงข้อหาเดียวถูกฟ้องต่อศาลแขวงดุสิต ในเวลาต่อมารังสิมันต์หนึ่งในเจ็ดจำเลยคดีแกนนำถูกแยกออกไปฟ้องเป็นอีกสำนวนคดีหนึ่งเนื่องจากเขาได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ส.และคดีนี้มีการพิจารณาระหว่างที่สภาอยู่ในสมัยประชุม
 
 
 
ในการสืบพยาน โจทก์นำพยานเข้าสืบแปดปากคือ ผู้กล่าวหา, เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่ร่วมทำงานสังเกตการณ์ในวันการชุมนุมและพนักงานสอบสวน พยานโจทก์หลายปากให้การไปในแนวทางเดียวกันว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นไปโดยสงบ ขณะที่ตำรวจที่เป็นผู้ตั้งด่านตรวจตราประชาชนก่อนเข้าการชุมนุมก็เบิกความต่อศาลว่า เท่าที่ทำการตรวจสอบไม่พบว่ามีผู้ชุมนุมพกพาอาวุธเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม นอกจากนั้นหลังการชุมนุมแกนนำและผู้ชุมนุมต่างแยกย้ายกันกลับบ้านด้วยความเรียบร้อยดี และไม่ปรากฏว่า มีผู้ใดออกมากระทำความผิดกฎหมายโดยมีมูลเหตุจากการปราศรัยที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้ด้วย
 
ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบรวมเจ็ดปากโดยมีจำเลยทั้งหกอ้างตัวเองเป็นพยาน และมีชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ มีข้อน่าสังเกตว่า ก่อนการสืบพยานจำเลยปากแรก อัยการได้นำส่งเอกสารเพิ่มเติมเป็นบทความของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ที่เขียนในลักษณะว่า ระบอบเผด็จการอาจเหมาะสมกับสังคมไทยมากกว่าระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายจำเลยไม่คัดค้านการส่งเอกสารเพิ่มเติมของอัยการ โดยระหว่างการสืบพยานจำเลย อัยการนำบทความดังกล่าวมาถามค้านพยานจำเลยบางปากเพื่อนำสืบให้จำเลยรับว่า มีบทความแบบนี้อยู่จริง
 
อานนท์ ซึ่งเป็นทนายและเป็นจำเลยในคดีนี้เบิกความตอนหนึ่งต่อศาลว่า ขออย่ารับฟังบทความที่อัยการส่งเข้าสำนวนเพิ่ม เนื่องจากเอกสารดังกล่าวอยู่นอกสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ไม่ใช่ความคิดเห็นของพนักงานสอบสวน และบทความดังกล่าวก็เป็นของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ที่ปฏิปักษ์อย่างชัดแจ้งต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่อัยการโต้แย้งว่าไม่มีกฎหมายใดห้ามให้อัยการนำเอกสารนอกสำนวนยื่นต่อศาล
 
 
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
อ่านรายละเอียดคดีเพิ่มเติมที่นี่ : https://freedom.ilaw.or.th/case/826