ศาลอาญายกฟ้องหกแกนนำอยากเลือกตั้งราชดำเนิน ชี้การชุมนุมไม่ปลุกปั่น คำปราศรัยเป็นการติชมตามระบอบปชต.

20 กันยายน 2562 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ของหกผู้จัดการชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนินได้แก่สิรวิชญ์, กาณฑ์, อานนท์, ณัฏฐา, สุกฤษฏ์และชลธิชา เหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย จัดการชุมนุมที่ถนนราชดำเนินเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า “หยุดยื้อเลือกตั้ง หยุดสืบทอดอำนาจ”

 

หลังเสร็จสิ้นชุมนุม เจ้าหน้าที่ออกหมายเรียกผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวม 49 คนมารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 รวม 49 คน ในจำนวนนั้นมีผู้ต้องหาเจ็ดคนที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นแกนนำและมีพฤติการณ์ปราศรัยปลุกระดมประชาชนได้แก่ รังสิมันต์, สิรวิชญ์, กาณฑ์, อานนท์, ณัฏฐา, สุกฤษฏ์และชลธิชา ทั้งหมดถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มเติมจากข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. คดีของทั้งเจ็ดถูกแยกมาฟ้องที่ศาลอาญา ในขณะที่ผู้เข้าร่วมการชุมนุม 42 คนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เพียงข้อหาเดียวถูกฟ้องต่อศาลแขวงดุสิต ต่อมารังสิมันต์หนึ่งในเจ็ดจำเลยคดีแกนนำถูกแยกออกไปฟ้องเป็นอีกสำนวนคดีหนึ่งเนื่องจากเขาได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ส.และคดีนี้มีการพิจารณาระหว่างที่สภาอยู่ในสมัยประชุม

 

บรรยากาศในนัดฟังคำพิพากษาวันนี้ ตั้งแต่เวลา 8.50 น. โจทก์, จำเลยทั้งหกคน และทนายจำเลยเริ่มทยอยกันมาพร้อมที่ห้องพิจารณาคดีที่ 701 รวมทั้งยังมีบรรดานักกิจกรรมทางการเมืองที่เคยเข้าร่วมชุมนุมทำกิจกรรมร่วมกันมาให้กำลังใจกว่า 30 คน นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากสถานทูตอเมริกา, ออสเตรีย, สวีเดน, แคนาดา,เยอรมนีและฝรั่งเศส และผู้แทนสหภาพยุโรป เข้าร่วมสังเกตการณ์ฟังคำพิพากษาอีกด้วย ด้านสำนักงานศาลยุติธรรมได้ส่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาสังเกตการณ์โดยรอบห้องพิจารณาคดีประมาณห้าคน เวลา 9.50 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ เรียกชื่อจำเลยแต่ละคนจนครบและเริ่มอ่านคำพิพากษา พอสรุปความได้ดังนี้

 

 

 

 

ศาลพิเคราะห์ข้อเท็จจริงว่า ก่อนวันเกิดเหตุในคดีนี้มีการประกาศการชุมนุมผ่านทางเฟซบุ๊กเพจฟื้นฟูประชาธิปไตย, เฟซบุ๊กของรังสิมันต์ โรม เฟซบุ๊กเพจพลเมืองโต้กลับของสิรวิชญ์ จำเลยที่หนึ่งและเฟซบุ๊กของอานน์ จำเลยที่สาม สื่อมวลชนเรียกการชุมนุมครั้งนี้ว่า เป็นการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ในวันเกิดเหตุเวลา 14.00 น. ประชาชนได้ทยอยเดินทางมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณดังกล่าวมีแผงเหล็กตั้งและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาการอยู่โดยรอบ ชลธิชา จำเลยที่หกได้ดูแลและพูดกับผู้ชุมนุม กาณฑ์ จำเลยที่สองทำหน้าที่เป็นพิธีกรและเชิญสิรวิชญ์ จำเลยที่หนึ่ง อานนท์ จำเลยที่สาม ณัฏฐา จำเลยที่สี่ และสุกฤษฎ์ จำเลยที่ห้า รวมทั้งรังสิมันต์ ขึ้นผลัดเปลี่ยนกันพูด เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง กล่าวถึงการทุจริต และมีการชูสามนิ้ว มีความหมายถึง การเลือกตั้งภายในปี 2561, เผด็จการจงพินาศและประชาธิปไตยจงเจริญ การชุมนุมเสร็จสิ้นในเวลา 19.30 น.คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยคือ

 

โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่

 

ข้อหาความผิดในคดีนี้เป็นอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนมีอำนาจดำเนินคดีตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 121 ดังนั้นเมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้ว อัยการย่อมมีอำนาจพิจารณาคดีตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 28(1) และมาตรา 120 ไม่ต้องคำนึงว่า ผู้ร้องทุกข์คือใคร การรับมอบอำนาจของพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญจากคสช.เป็นไปการรับมอบอำนาจที่ชอบหรือไม่ก็ตาม

 

จำเลยกระทำความผิดหรือไม่

 

ก่อนการชุมนุมชลธิชา จำเลยที่หก มีหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อสน.สำราญราษฎร์ แจ้งว่า ประสงค์จะจัดกิจกรรมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 16.00-20.00 น. เพื่อเรียกร้องให้คสช.จัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพทีได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 2560 ต่อมาผู้กำกับการสน.สำราญราษฎร์ได้ทำหนังสือตอบกลับการชุมนุม แจ้งหน้าที่ในการดูแลการชุมนุมสาธารณะให้แก่ชลธิชา จำเลยที่หก

 

ปรากฏหลักฐานบันทึกการถอดเทปที่โจทก์ได้อ้างส่งเป็นหลักฐานในคดีนี้ว่า ชลธิชา จำเลยที่หกได้กล่าวกับผู้ชุมนุมในตอนต้นทำนองว่า การแสดงออกจะไม่มีการขัดขวาง ละเมิดสิทธิใคร ใช้สันติวิธี ไม่มีการปิดกั้นทางจราจร ไม่มีแอลกอฮอล์ จากนั้นพูดถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง ส่วนกาณฑ์ จำเลยที่สองกล่าวทำนองว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมสงบสันติ สร้างสรรค์ ไม่ให้ร้ายผู้ใด ต้องการการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ไม่ต้องการรอไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพราะผู้ชุมนุมไม่เชื่อถือคำพูดของคสช.อีกแล้ว

 

 

ส่วนอานนท์ จำเลยที่สาม ณัฏฐา จำเลยที่สี่ สุกฤษฎ์ จำเลยที่ห้า และรังสิมันต์ ได้กล่าวปราศรัยไม่มีลักษณะปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง ณัฏฐา กล่าวทำนองว่า ความขัดแย้งจะมีภาคจบที่ดี หยุดความเคยชินภาคจบแบบเดิมที่เมื่อมีความขัดแย้ง จะเกิดความสูญเสีย อานนท์กล่าวทำนองว่า วันนี้จุดติดแล้ว และแจ้งว่า การชุมนุมขอถึงเวลา 20.00 น. เรามีวินัย ไม่ให้ใครมาชี้หน้าเราได้ ซึ่งเมื่อหลังเสร็จสิ้นการชุมนุมในเวลา 19.30 น. สิรวิชญ์ อานนท์และรังสิมันต์ เข้ามอบตัวกับตำรวจ

 

เจตนาที่จำเลยพูดกับผู้ชุมนุมคือ ต้องการให้มีการเลือกตั้ง ใช้ความสงบ ไม่ใช้ความรุนแรง ในการสืบพยานทหารที่ทำหน้าที่สืบสวนในที่ชุมนุม ผู้เป็นพยานโจทก์ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ผู้ชุมนุมเดินทางมาเอง ไม่มีการขนคนมาชุมนุม แสดงว่า การชุมนุมเป็นไปโดยเปิดเผยไม่ใช่เป็นม็อบจัดตั้งเกณฑ์คนมาร่วมเพื่อหวังผลทางการเมือง ทหารและตำรวจทุกปากที่มาเบิกความก็ให้การตรงกันว่า การชุมนุมสงบเรียบร้อย ไม่มีความรุนแรง ไม่มีอาวุธ ไม่มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ และเลิกการชุมนุมด้วยความเรียบร้อย ฉะนั้นจึงเป็นการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีการใช้กำลังก่อความวุ่นวายเพื่อบังคับให้รัฐบาลกระทำตามข้อเรียกร้อง ศาลยังเห็นว่า จำเลยเป็นนิสิตนักศึกษา มีอุดมการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย

 

ในวันเกิดเหตุรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้แล้ว แต่คสช.ยังทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ จำเลยนำสืบว่า พล.อ.ประยุทธ์ประกาศให้มีการเลือกตั้ง พวกจำเลยเห็นว่า การเลือกตั้งสามารถจัดให้มีในปี 2561 ได้ หากพ.ร.ป.เลือกตั้งมีผลบังคับใช้ในวันที่ประกาศราชกิจจานุเบกษาอย่างที่เคยมีมา แต่ครั้งนี้เป็นการบังคับใช้หลังจากประกาศราชกิจจานุเบกษา 90 วัน ทำให้ล่าช้าและเป็นการยืดเวลาให้คสช.ที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหารมีอำนาจอยู่ต่อไป เมื่อพิจารณาคำพูด สัญลักษณ์และโปสเตอร์ ข้อความปราศัยที่พาดพิงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคสช. มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งในปี 2561 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ผู้กล่าวหา ตอบคำถามถามค้านว่า การปราศรัยไม่ได้มีถ้อยคำรุนแรง การเลือกตั้งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การเรียกร้องของจำเลยเป็นการกระทำตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ 2560

 

ส่วนเรื่องนาฬิกาของพล.อ.ประวิตร ที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น ตำรวจ ผู้เป็นพยานโจทก์ที่ทำการเบิกความในคดีนี้ได้ตอบคำถามถามค้านว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่ทั่วไป ย่อมมีบุคคลบางส่วนเชื่อหรือบางส่วนไม่เชื่อ ด้านอานนท์ จำเลยที่สาม นำเรื่องนาฬิกามาพูดก็เพื่อยืนยันประกอบข้อเรียกร้องการจัดการเลือกตั้ง ถือเป็นการติชม เสนอข้อเรียกร้อง ส่วนที่กล่าวว่า จุดติดแล้ว พิจารณาประกอบข้อเท็จจริง จำเลยใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แสดงเจตนาในการปฏิบัติตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เห็นว่า จำเลยทำไปเพื่อเรียกร้องการเลือกตั้งและเมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งก็ไม่ได้ออกมาชุมนุมอีก

 

พิเคราะห์แล้วว่า เท่าที่จำเลยทั้หกทำไปในคดีนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อให้เกิดความยุยงปลุกปั่นให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร แม้บางถ้อยคำไม่เหมาะสม ก้ำเกินไปบ้าง แต่เมื่อพิจารณาสภาพการณ์ การกระทำของจำเลยเป็นการติชมตามหลักประชาธิปไตย ไม่ผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ยกฟ้องจำเลยทั้งหก

//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
อ่านข้อมูลคดีคนอยากเลือกตั้งราชดำเนิน