Change.NCPO ชีวิตที่เปลี่ยนไปในยุคคสช.

ในช่วงเวลากึ่งทศวรรษของการปกครองโดย คสช. เป็นเวลาที่นานพอจะให้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เช่น เห็นอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารผู้เคยปฏิเสธว่า ตัวเอง “ไม่ใช่นักการเมือง” กลายเป็นนักการเมืองแบบเต็มขั้น เห็นระบบการเมืองที่หวนคืนไปสู่ระบบการเมืองแบบวันวาน เช่น การมี ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง 100% หรือเห็นรัฐธรรมนูญที่ย้อนกลับไปกำหนดให้นายกไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นต้น

ขณะเดียวกันระยะเวลาที่เนิ่นนานในยุค คสช. ก็นานพอที่จะเปลี่ยนชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านการรัฐประหารหรือการปกครองโดย คสช. จนมีคดีการเมืองติดตัวเป็นของขวัญ ผลงานชุด Change.NCPO จึงคัดเลือกภาพและเสียงของนักเคลื่อนไหวบางส่วนที่ถูกดำเนินคดีการเมืองเป็นครั้งแรกในช่วงปี 2557 – 2559 ซึ่งถือเป็นครึ่งแรกของการบริหารประเทศโดย คสช. มาบอกเล่าไว้ ณ ที่นี้

———————————————————————————————————

ปิยรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้” อดีตนักกิจกรรมที่เคยรณรงค์คัดค้านระบบโซตัสในมหาวิทยาลัยขณะศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือคือนักกิจกรรมอีกคนหนึ่งที่ชีวิตพลิกผันในยุคคสช. ในช่วงของการออกเสียงประชามติปิยรัฐตัดสินใจฉีกบัตรลงคะแนนประชามติทำให้เขาถูกดำเนินคดีในความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติร่วมกับเพื่อนอีกสองคน การถูกดำเนินคดีครั้งนั้นเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เขาทำงานทางการเมืองอย่างจริงจังทั้งการร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจนถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 จากการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งที่หน้าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ในเวลาต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2562 ปิยรัฐตัดสินใจลาออกจากอาชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจมาสมัครสมาชิกพรรคอนาคตใหม่และลงสมัครรับเลือกตั้งที่จังหวัดกาฬสินธุ์ บ้านเกิดของเขา
 
———————————————————————————————————
หากพูดถึงนักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน หลายคนอาจนึกถึง “ไผ่ ดาวดิน” นักกิจกรรมที่เคยถูกพิพากษาจำคุกด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการแชร์บทความของเว็บไซต์บีบีซีไทย แต่จริงๆแล้วกลุ่มดาวดินไม่ได้มีแค่ไผ่ หากแต่เป็นกลุ่มกิจกรรมของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ทำงานรณรงค์เรื่องสิทธิชุมชนในภาคอีสานมาอย่างต่อเนื่องและเป็นการส่งผ่านภารกิจจากรุ่นสู่รุ่น ก่อนหน้านี้ชื่อของนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินเป็นที่รู้จักในแวดวงแคบๆของผู้ได้รับผลกระทบจากนโครงการพัฒนาทั้งของรัฐและเอกชนในภาคอีสาน แต่การรัฐประหาร 2557 ทำให้กลุ่มดาวดินกลายเป็นที่รู้จักของคนในระดับชาติเพราะมีสมาชิกกลุ่มห้าคนทำกิจกรรมชูสัญลักษณ์สามนิ้วต่อหน้าพล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคสช.ระหว่างลงพื้นที่ที่จังหวัดขอนแก่นในเดือนพฤศจิกายน 2557 หลังจากนั้นกลุ่มดาวดินก็ยังมีบทบาทในการเมืองระดับชาติเรื่อยมาโดยเฉพาะในปี 2558 ที่สมาชิกกลุ่มเจ็ดคนถูกดำเนินคดีเพราะไปถือป้ายคัดค้านการประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นในโอกาสครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหาร
———————————————————————————————————
“แม่หนึ่ง” คือแม่ของ “จ่านิว” หรือสิรวิชญ์ นักกิจกรรมทางการเมืองที่เคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหารและเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องในยุคคสช. ตลอดระยะเวลาห้าปีของคสช. “แม่หนึ่ง”ต้องวนเวียนไปดูแลลูกชายทั้งที่สถานีตำรวจและศาลอยู่บ่อยครั้งเพราะนิวลูกชายของเธอถูกจับและถูกดำเนินคดีอยู่บ่อยๆจากการไปเข้าร่วมหรือจัดกิจกรรมทางการเมือง แม้ “แม่หนึ่ง” จะเป็นเพียงคนทำมาหากินที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมด้วยตัวเอง แต่เมื่อลูกชายถูกจับอยู่บ่อยครั้งเธอก็เริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยการทำความรู้จักคนที่ไปทำกิจกรรมร่วมกับลูกชายหรือเดินทางไปอยู่ใกล้ๆลูกชายในที่ชุมนุมเพื่อที่จะดูแลลูกได้ทันท่วงทีหากถูกจับไปที่สถานีตำรวจ แต่กลายเป็นว่าการติดต่อกับเพื่อนของลูกและการไปยืนรอลูกชายอยู่ห่างๆอย่างห่วงๆกลับเป็นเหตุให้เธอต้องกลายเป็นจำเลยในคดีการเมืองอย่างคดีมาตรา 112 และคดีชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.เสียเอง 

อ่าน >>> Change.NCPO “แม่หนึ่ง” จากแม่นักกิจกรรมคนหนึ่ง สู่จำเลยสองคดีการเมืองยุค คสช

———————————————————————————————————
นับจากการรัฐประหาร 2557 ชลธิชา แจ้งเร็วหรือ “ลูกเกด” คือหนึ่งในนักกิจกรรมที่ถูกจับเพราะไปร่วมกิจกรรม “ศุกร์ 22 มาฉลองกันมะ” ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ หลังจากนั้นในเดือนมิถุนายน 2558 หลังจากนั้นในเดือนมิถุนายน 2558 ชลธิชาก็ต้องเข้าไปอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางเป็นเวลา 12 วันเพราะเธอและเพื่อนนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่และกลุ่มดาวดินอีก 13 คนเลือกที่จะไม่ประกันตัวระหว่างสู้คดีชุมนุมคัดค้านการรัฐประหารในชั้นสอบสวน นับจากการรัฐประหารจนถึงปัจจุบัน (กันยายน 2562) ชลธิชายังคงทำงานทางการเมืองอย่างต่อเนื่องโดยเปลี่ยนสถานะจากนักกิจกรรมนิสิตมาเป็นคนทำงานใน “กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย”

อ่าน >>> Change.NCPO “ลูกเกด” – ชลธิชา จากนิสิตทำกิจกรรมการเมือง สู่คนทำงานรณรงค์ประชาธิปไตย

———————————————————————————————————
ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 รังสิมันต์ซึ่งเพิ่งสอบวิชาสุดท้ายเสร็จเดินทางมาร่วมกิจกรรมรำลึกหนึ่งปีการรัฐประหารกับเพื่อนๆที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ เขาตั้งใจไว้ว่าหลังจบการศึกษาจะไปทำงานกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเพราะเชื่อว่าความรู้ทางกฎหมายของเขาน่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้าง แต่แล้วเส้นทางชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปเมื่อเขาถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองเสียเอง จากความฝันที่จะเป็นทนายความโรมกลายเป็นนักกิจกรรมอย่างเต็มตัวและถูกดำเนินเพิ่มอีกหลายคดีจนกระทั่งมีการเลือกตั้งในปี 2562 เขาก็ตัดสินใจผันตัวไปลงสมัครเป็นผู้แทน   
———————————————————————————————————
จิรวัฒน์หรือ “ตั้ม” อดีตเซลล์ขายเครื่องใช้ไฟฟ้าคืออีกคนหนึ่งที่ชีวิตพลิกผันเพราะถูกดำเนินคดีในยุคคสช. ในช่วงการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 จิรวัฒน์ถ่ายคลิปวิดีโอขณะที่เพื่อนของเขาฉีกบัตรประชามติออกเผยแพร่บนโลกออนไลน์จนทำให้เขาถูกดำเนินคดีไปด้วย หลังมีคดีเขากลายเป็นคนว่างงานไปครึ่งปี การตกงานเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สภาพจิตใจของเขาย่ำแย่จนเป็นโรคซึมเศร้า แต่ท่ามกลางมรสุมชีวิตจิรวัฒน์ก็ตกผลึกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสังคมไทย
———————————————————————————————————
อภิชาตคือหนึ่งในประชาชนที่ออกไปแสดงจุดยืนไม่ยอมรับการรัฐประหารในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 วันแรกที่ประเทศเริ่มปกครองโดย “ระบอบแห่งการรัฐประหาร” ครบ 24 ชั่วโมง การถูกดำเนินคดีทำให้อภิชาตนิติศาสตร์บัณฑิตหนุ่มได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้วิชากฎหมายใน “ภาคปฏิบัติ” ที่ตัวเขาเองเป็นกรณีศึกษาและมีคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นใบปริญญา
——————————————————————————————————–
แบงค์หรือปติวัฒน์เป็นอีกคนหนึ่งที่ชีวิตพลิกผันเพราะการรัฐประหารของคสช. ในปี 2556 เขาไปร่วมแสดงละคร “เจ้าสาวหมาป่า” กับกลุ่มประกายไฟการละครในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลา เนื้อหาของละครถูกประชาชนกลุ่มหนึ่งมองว่าเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จึงไปแจ้งตำรวจ หลังการรัฐประหารปติวัฒน์ถูกจับตัวจากขอนแก่นมาดำเนินคดีมาตรา 112 ที่กรุงเทพ ปติวัฒน์ถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน แม้ขณะนี้เขาจะพ้นโทษมาแล้วแต่เวลาในเรือนจำก็ได้พรากทั้งโอกาสและความมั่นใจไปจากเขา

อ่าน >>> Change.NCPO ปฏิวัฒน์ ‘แบงค์’ ตายแล้วเกิดร้อยชาติ เฮาก็บ่อโหสิ

———————————————————————————————————