1066 1277 1199 1397 1785 1940 1364 1537 1175 1892 1848 1514 1773 1800 1299 1446 1906 1217 1989 1793 1653 1108 1835 1005 1357 1657 1823 1697 1772 1447 1325 1436 1616 1336 1268 1378 1862 1938 1132 1705 1840 1693 1532 1258 1887 1375 1598 1443 1465 1820 1908 1654 1684 1465 1536 1305 1532 1038 1389 1369 1001 1488 1556 1814 1710 1755 1831 1386 1000 1332 1021 1912 1636 1619 1245 1302 1734 1847 1722 1311 1293 1048 1474 1640 1286 1011 1609 1863 1873 1270 1470 1365 1362 1493 1872 1515 1870 1289 1998 แนวคิด 'สหพันธรัฐไท' ที่มาของ 6 คดีร้ายแรง จำเลย 17 คน คนหาย 4 คน | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

แนวคิด 'สหพันธรัฐไท' ที่มาของ 6 คดีร้ายแรง จำเลย 17 คน คนหาย 4 คน


ภาพจำแรกของคำว่า 'สหพันธรัฐไท' ที่ถูกรายงานข่าวออกมา คือ เสื้อยืดสีดำที่มีแถบขนาดเล็กสี ขาว-แดง-ขาว ที่หน้าอกด้านซ้ายของวรรณภา คนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 การควบคุมตัววรรณภาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของชุดคดีสหพันธรัฐไท หลังจากนั้นมีคนถูกทหารจับกุม, ถูกค้นบ้านและเยี่ยมบ้าน มีทั้งคนสูญหาย ผู้ลี้ภัยที่ถูกส่งตัวกลับจากมาเลเซีย ชวนย้อนดูความเป็นมาของความฝันให้ประเทศเป็นสหพันธรัฐ และชะตากรรมของเจ้าของความฝันเหล่านั้น


อะไรคือสหพันธรัฐไท

 
ตามรายงานการสืบสวนของเจ้าหน้าที่รัฐไทระบุว่า สหพันธรัฐไทเกิดจากกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาล คสช. ซึ่งได้หลบหนีและไปเคลื่อนไหวในประเทศลาว คือ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ 'ลุงสนามหลวง', สยาม ธีระวุฒิ หรือ 'สหายข้าวเหนียวมะม่วง', กฤษณะ ทัพไทย หรือ 'สหายยังบลัด', วัฒน์ วรรลยางกูร หรือ 'สหาย 112' และวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ 'สหายหมาน้อย' โดยใช้สื่อออนไลน์ในการสื่อสาร ความฝันของกลุ่มสหพันธรัฐไท คือ เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบสหพันธรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข แบ่งแยกพื้นที่ประเทศไทยออกเป็นสิบมลรัฐ สัญลักษณ์ของสหพันธรัฐไทคือ ธงสี ขาว-แดง-ขาว
 
แนวความคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเช่นนี้เป็นเรื่องที่ขัดต่อกฎหมายเป็นคำยืนยันจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยระบุว่า สิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมายเพราะประเทศไทยไม่ใช่สหพันธรัฐ ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นอาณาจักรหนึ่งเดียวแบ่งแยกไม่ได้ แต่สหพันธรัฐถือเป็นการแบ่งแยกเป็นรัฐต่างๆ ซึ่งประเทศไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น และสัญลักษณ์ของประเทศไทยเป็นธงไตรรงค์เท่านั้น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายกบฏล้มล้างการปกครองหรือไม่
 
 

ปฏิกิริยาของไทยต่อสหพันธรัฐไท

 
เดือนสิงหาคม 2561 เป็นช่วงแรกที่ปรากฏการรายงานเรื่องสหพันธรัฐไท โดยฝ่ายข่าว คสช. สืบพบการรวมกลุ่มภายใต้ชื่อ สหพันธรัฐไท ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง โน้มน้าวให้ประชาชนเห็นด้วยในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบสหพันธรัฐ มีการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ เช่น การทำเสื้อและสติกเกอร์ของกลุ่ม แจกจ่ายให้สมาชิกกลุ่มและเผยแพร่ความคิดผ่านใบปลิว
 
ปฏิกิริยาแรกๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐของไทยมีต่อกลุ่มสหพันธรัฐไท คือ การปิดกั้นข้อมูลของเว็บไซต์ของชูชีพหรือลุงสนามหลวงด้วยเหตุผลว่า เนื้อหาบนเว็บไซต์ขัดต่อกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และสนับสนุนการก่อการร้าย ขณะเดียวกันมีการกวาดจับกลุ่มคนที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับสหพันธรัฐไทในไทยไปสอบปากคำในค่ายทหาร ก่อนจะปล่อยตัวและดำเนินคดีบุคคลห้าคน คือ กฤษณะ, ‘สมศักดิ์’, ประพันธ์, วรรณภาและจินดา ในความผิดยุยงปลุกปั่นและเป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 209 โดยกล่าวหาว่า ทั้งหมดเป็นสมาชิกของกลุ่มสหพันธรัฐไทที่มีชูชีพเป็นแกนนำกลุ่ม
 
คดีนี้ถือเป็นคดีแรกของในชุดคดีสหพันธรัฐไทเท่าที่สามารถติดตามได้ทั้งหมดหกคดี จำเลยห้าคนถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานยุยงปลุกปั่นและเป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 209 จากการสื่อสารแนวคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทยให้เป็นระบบสหพันธรัฐผ่านโลกออนไลน์และการแจกจ่ายใบปลิวและเสื้อยืด และเป็นสมาชิกของสหพันธรัฐไท ในเดือนกันยายน 2561 ทั้งหมดได้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี
 
ต่อมาช่วงวันที่ 5 ธันวาคม 2561 ข้อมูลจากการสืบสวนพบว่า มีบุคคลที่อาจเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มสหพันธรัฐไทเคลื่อนไหวแสดงออกตามห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ ปรากฏบุคคลที่ทำกิจกรรมซึ่งพิจารณาแล้วว่า มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มสหพันธรัฐไท เช่น การถือป้ายข้อความ “Thai Federation” และสวมใส่เสื้อดำที่บริเวณสกายวอล์คปทุมวัน และการสวมเสื้อดำในห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมทั้งการชูธง ขาว-แดง-ขาว ต่อมาตำรวจได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหากลุ่มบุคคลจำนวนไม่น้อยกว่า 13 คนในฐานความผิดยุยงปลุกปั่นและเป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 209
 

ธง ขาว-แดง-ขาว เสื้อดำและความจงรักภักดี

 
ห้าจากหกคดีสหพันธรัฐไทล้วนเกี่ยวพันกับเรื่องของเสื้อสีดำที่มีสามรูปแบบ คือ เสื้อสีดำมีแถบธงชาติขนาดเล็กติดที่หน้าอกด้านซ้าย สี ขาว-แดง-ขาว, เสื้อสีดำที่มีข้อความภาษาอังกฤษสีขาวเขียนว่า “FEDERATION” ที่ตรงกลางหน้าอก และเสื้อสีดำที่ไม่มีสัญลักษณ์ใดๆระบุว่า เกี่ยวข้องกับสหพันธรัฐไท  ในจำนวนนี้มีสี่คดีที่เกิดขึ้นในวันที่ 5 ธันวาคม 2561 ซึ่งเป็น “วันสำคัญของชาติ” โดยมีจำเลยที่ถูกฟ้องเพราะเกี่ยวข้องกับเสื้อสีดำสัญลักษณ์ ดังนี้
 
เสื้อสีดำมีแถบธงชาติขนาดเล็กติดที่หน้าอกด้านซ้าย สี ขาว-แดง-ขาว
 
กรณีของวรรณภา 6 กันยายน 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัววรรณภา ไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 คสช. ระบุว่า กลุ่มสหพันธรัฐไทในประเทศลาวได้มีการจัดทำเสื้อสีดำติดธงสัญลักษณ์สหพันธรัฐขาวแดงขาวและให้วรรณภาไปรับเสื้อจากแม่ของเธอในประเทศลาว จากข้อเท็จจริงในคดีระบุว่า วรรณภาเพียงแค่รับเสื้อมาจากแม่ของเธอ โดยที่แม่ไม่เคยบอกรายละเอียดเกี่ยวกับเสื้อให้ทราบเลย และยืนยันว่า ไม่รู้จักกลุ่มสหพันธรัฐไทและไม่รู้จักว่า แกนนำของกลุ่มดังกล่าวมีใครบ้าง นอกจากนี้จำเลยรายอื่นๆ ที่ถูกดำเนินคดีสหพันธรัฐไทก็ไม่เคยรู้จักหรือติดต่อกับวรรณภามาก่อน
 
เสื้อสีดำที่มีข้อความภาษาอังกฤษสีขาวเขียนว่า “FEDERATION”
 
กรณีของ ‘สมศักดิ์’ และประพันธ์ ตามคำฟ้องระบุว่า จำเลยทั้งสองเป็นสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไท และได้นัดหมายสวมใส่เสื้อดำมีแถบธงขาวแดงติดที่บริเวณหน้าอกด้านซ้ายและมีอักษรสีขาวข้อความภาษาอังกฤษว่า “FEDERATION” อยู่กลางหน้าอกด้านหน้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ขององค์การสหพันธรัฐไทเดินในบริเวณห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางกะปิในวันที่ 5 ธันวาคม 2561 ในวันดังกล่าวประชาชนสวมใส่เสื้อสีเหลือง อัยการที่ฟ้องคดีบรรยายว่า การกระทำดังกล่าวแสดงออกถึงการต่อต้านพระมหากษัตริย์
 
‘สมศักดิ์’ และประพันธ์ เป็นจำเลยในคดีสหพันธรัฐไทคดีที่หนึ่ง หลังจากวันที่ 5 ธันวาคม 2561 ทั้งสองถูกควบคุมตัวไปสอบปากคำที่มณฑลทหารบกที่ 11 อีกครั้ง หลังจากได้รับการปล่อยตัวประพันธ์เลือกเดินทางออกนอกประเทศไปยังประเทศมาเลเซีย ต่อมาในเดือนเมษายน 2562 ประพันธ์ถูกทางการมาเลเซียควบคุมตัวไว้และส่งกลับไทยเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 ซึ่งขณะนั้นประพันธ์ได้ลงทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แล้ว ด้านองค์กรสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า การกระทำดังกล่าว เป็นการละเมิดพันธกรณีทางกฎหมายเพราะประพันธ์ถือเป็นผู้ลี้ภัยการเมือง จึงทำให้ประพันธ์ถูกถอนการประกันตัวและถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีมาถึงปัจจุบัน
 
เสื้อสีดำที่ไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ  
 
กรณีของ ‘บาลี’ ตามคำฟ้องระบุว่า จำเลยเป็นสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไท และได้นัดหมายสวมใส่เสื้อดำที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล รามอินทราในวันที่ 5 ธันวาคม 2561 ในวันดังกล่าวประชาชนสวมใส่เสื้อสีเหลือง คดีนี้ข้อเท็จจริงคือ วันที่ 5 ธันวาคม 2561 ‘บาลี’ สวมเสื้อสีดำที่ไม่มีสัญลักษณ์ใดที่แสดงถึงความเกี่ยวเนื่องกับสหพันธรัฐไทมานั่งรับประทานอาหารในร้านเคเอฟซี เจ้าหน้าที่จึงขอตรวจบัตรประชาชน ‘บาลี’ ยินยอมแสดงบัตรประชาชนและถ่ายรูปบัตรประจำตัวของเจ้าหน้าที่ไว้และเดินทางกลับ หลังจากวันดังกล่าว ‘บาลี’ ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามเยี่ยมบ้านอยู่หลายครั้งและมีหนึ่งครั้งพยายามจะค้นบ้านของเธอโดยไม่มีหมายค้นในยามวิกาล ซึ่งสุดท้ายเจ้าหน้าที่ยินยอมไม่ค้นบ้าน จนกระทั่งถูกออกหมายจับในเดือนมกราคม 2562
 

ชะตากรรมแกนนำสหพันธรัฐไท

 
ขณะที่ทางการไทยกำลังกวาดล้างสมาชิกสหพันธรัฐไทที่อยู่ในประเทศไทยอย่างเข้มข้น โดยรู้อยู่แล้วว่า บุคคลทั้งหลายที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีไปไม่ใช่แกนนำหรือตัวหลักในการเคลื่อนไหว ส่วนบุคคลที่รายงานของเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่า เป็นแกนนำหรือหัวหน้าของสหพันธรัฐไท เช่น ชูชีพ, สยาม, กฤษณะ, วัฒน์และวุฒิพงศ์ กลับต้องประสบชะตากรรมที่ไม่ง่ายนักสำหรับพวกเขาและครอบครัว
 
กรณีของวุฒิพงศ์
 
30 กรกฎาคม 2560 จอม เพชรประดับ นักข่าวและผู้ลี้ภัยทางการเมืองได้แจ้งผ่านเฟซบุ๊กว่า วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ ถูกกลุ่มชายชุดดำประมาณ 10 คน คลุมหน้าด้วยหมวกไหมพรมพร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าจับตัวไป เมื่อเวลา 9.45 น. ตามเวลาท้องถิ่นในประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2560 หลังจากนั้นยังไม่มีใครพบตัวเขาอีก
 
กรณีของชูชีพ, สยามและกฤษณะ
 
9 พฤษภาคม 2562  'เพียงดิน รักไทย' หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองได้ออกมาเปิดผ่านช่องทางยูทูปว่า ชูชีพ, สยามและกฤษณะ ผู้ลี้ภัยการเมืองในลาว ซึ่งถูกจับกุมที่เวียดนามเมื่อเดือนมกราคม 2562 ถูกส่งตัวกลับไทยแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า ทั้งนี้ คาดว่า การจับกุมสีบเนื่องมาจากทั้งสามคนใช้พาสปอร์ตอินโดนีเซียปลอมเดินทางเข้าเวียดนาม ส่วนเหตุที่ต้องข้ามจากลาวไปเวียดนามอาจเป็นเพราะการที่มีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบฝ่ายพยายามที่จะติดตามและกวาดล้างกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมืองในลาว
โดยจนถึงปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรมของทั้งสี่คนว่า ยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้วหรือไม่
 
กรณีของวัฒน์
 
เขาต้องลี้ภัยอยู่ในประเทศลาวตั้งแต่ คสช. ทำรัฐประหารในปี 2557 และยังไม่สามารถกลับประเทศไทยได้ ในเดือนกรกฎาคม 2562 ท่ามกลางกระแสข่าวเรื่องความพยายามกวาดล้างผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน โดยกองกำลังไม่ทราบฝ่าย บีบีซีไทยรายงานว่า วัฒน์สามารถเดินทางไปลี้ภัยยังประเทศฝรั่งเศสได้

 

การดำเนินคดีกับกลุ่มสหพันธรัฐไท

 
นับถืงเดือนกันยายน 2562 มีการดำเนินคดีกับบุคคลรวมอย่างน้อย 17 คน ซึ่งถูกกล่าวหาว่า เป็นสมาชิกของกลุ่มสหพันธรัฐไท แยกเป็น 6 คดี ดังนี้
 
คดีที่หนึ่ง จำเลยห้าคน
 
ข้อกล่าวหา จำเลยทั้งห้าเป็นสมาชิกของกลุ่มสหพันธรัฐไท ปลุกระดมสมาชิกกลุ่มและประชาชนทางสื่อสังคมออนไลน์และแจกเอกสารใบปลิวชักชวนให้ประชาชนทั่วไปต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาลและคสช. เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 209
 
สถานะจำเลย ได้ประกันตัวสี่คน ประพันธ์ ไม่ได้ประกันตัวคนเดียว
 
สถานะคดี ศาลอาญา นัดสืบพยานโจทก์ วันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2562 นับสืบพยานจำเลย วันที่ 22,26-27 พฤศจิกายน 2562
 
คดีที่สอง จำเลยหกคน
 
ข้อกล่าวหา จำเลยทั้งหกเป็นสมาชิกของกลุ่มสหพันธรัฐไท ที่มุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบสหพันธรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข จัดการชุมนุมเพื่อสื่อสารแนวคิดดังกล่าวและเผยแพร่ภาพเหตุการณ์การชุมนุม เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 209, พ.ร.บ.ชุมนุมฯและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
 
สถานะจำเลย ได้ประกันตัวหกคน
 
สถานะคดี ศาลอาญา นัดสืบพยานโจทก์ วันที่ 14-16 กรกฎาคม 2563 และสืบพยานจำเลยวันที่ 17,21-22 กรกฎาคม 2563
 
คดีที่สาม จำเลยสองคน
 
ข้อกล่าวหา จำเลยเป็นสมาชิกของกลุ่มสหพันธรัฐไท ที่มุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบสหพันธรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ปลุกระดมสมาชิกและประชาชนทั่วไปผ่านทางสื่อสังคมออนไลน ชักชวนสมาชิกแนวร่วมและประชาชนทั่วไปให้ต่อต้านล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาลและต่อต้านคสช.

จำเลยทั้งสองกับพวกได้นัดหมายสวมใส่เสื้อดำมีแถบธงขาวแดงติดที่บริเวณหน้าอกด้านซ้ายและมีอักษรสีขาวข้อความภาษาอังกฤษว่า “FEDERATION” อยู่กลางหน้าอกด้านหน้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ขององค์การสหพันธรัฐไทเดินในบริเวณห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางกะปิในวันที่ 5 ธันวาคม 2451 ในวันดังกล่าวประชาชนสวมใส่เสื้อสีเหลือง การกระทำดังกล่าวแสดงออกถึงการต่อต้านพระมหากษัตริย์ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 209,
 
สถานะจำเลย ได้ประกันตัวหนึ่งคน
 
สถานะคดี ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์วันที่ 16-17 มกราคม 2563 และสืบพยานจำเลยวันที่ 24 มกราคม 2563
 
คดีที่สี่จำเลยสามคน
 
ข้อกล่าวหา จำเลยเป็นสมาชิกของกลุ่มสหพันธรัฐไท ที่มุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบสหพันธรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ปลุกระดมสมาชิกและประชาชนทั่วไปผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูป ชักชวนสมาชิกแนวร่วมและประชาชนทั่วไปที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ให้ออกมาต่อต้านล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาลและต่อต้านคสช. เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 209,
 
สถานะจำเลย ได้ประกันตัวหนึ่งคน อีกสองคนไม่ทราบความเคลื่อนไหว
 
สถานะคดี ศาลอาญานัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 7 ตุลาคม 2562
 
คดีที่ห้า จำเลยหนึ่งคน
 
ข้อกล่าวหา จำเลยเป็นสมาชิกของกลุ่มสหพันธรัฐไท ที่มุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบสหพันธรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ปลุกระดมสมาชิกและประชาชนทั่วไปผ่านทางสื่อสังคมออนไลน ชักชวนสมาชิกแนวร่วมและประชาชนทั่วไปให้ต่อต้านล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาลและต่อต้านคสช. จำเลยกับพวกได้นัดหมายสวมใส่เสื้อดำห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล รามอินทราในวันที่ 5 ธันวาคม 2561 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 209
 
สถานะจำเลย ได้ประกันตัว
 
สถานะคดี ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์วันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2563 และสืบพยานจำเลยวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563
 
คดีที่หก จำเลยหนึ่งคน
 
ข้อกล่าวหา จำเลยเป็นสมาชิกของกลุ่มสหพันธรัฐไท ที่มุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบสหพันธรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และได้นัดหมายกับพวกในการไปชูธงขาวแดงขาวที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล พลาซ่า อุบลราชธานี ในวันที่ 5 ธันวาคม 2561 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 209
 
สถานะจำเลย ได้ประกันตัว
 
สถานะคดี พนักงานอัยการนัดฟังคำสั่งฟ้องวันที่ 23 กันยายน 2562