เสรีภาพออนไลน์โลกยังวิกฤต ไทยยังไร้เสรีภาพห้าปีซ้อน

ฟรีดอมเฮาส์ออกรายงานเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตประจำปี 2019 ระบุว่า เสรีภาพบนโลกอินเทอร์เน็ตกำลังถูกคุกคาม ในหลายประเทศมีความพยายามในการสรรหาเครื่องมือใหม่ๆ ในการระบุตัวตนและจับตาผู้ใช้งานขนานใหญ่เป็นผลให้เสรีภาพบนโลกอินเทอร์เน็ตแย่ลงเป็นปีที่เก้าติดต่อกัน

 

ซูดานถดถอยหนักสุด จีนยังยืนหนึ่งเรื่องคุกคามเสรีภาพออนไลน์

 

จากการรวบรวมข้อมูล 65 ประเทศทั่วโลกพบว่า 33 จาก 65 ประเทศมีเสรีภาพบนโลกอินเทอร์เน็ตที่แย่ลง โดยประเทศที่แย่ลงมาก คือ ซูดาน อันมีมูลเหตุมาจากการประท้วงทั่วประเทศที่ เริ่มต้นจากเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง นำไปสู่การโค่นล้มประธานาธิบดีของซูดานที่ครองอำนาจมายาวนานกว่า 30 ปี รัฐได้ปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลายครั้งระหว่างวิกฤตการณ์ประท้วงใหญ่ มีการประกาศภาวะฉุกเฉินที่นำไปสู่มาตรการที่เป็นภัยต่อเสรีภาพการแสดงออก มีการคุกคามและใช้ความรุนแรงต่อนักข่าว นักกิจกรรม และชาวเน็ตที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
 

ขณะที่จีนยังยืนเป็นอันดับหนึ่งของโลกในฐานะประเทศที่คุกคามเสรีภาพออนไลน์อย่างหนักที่สุดเป็นปีที่สี่ติดต่อกัน ผลจากการที่รัฐบาลเพิ่มการควบคุมข้อมูลในช่วงการรำลึก 30 ปีเหตุการณ์เทียนอันเหมิน และการประท้วงที่แพร่ขยายเป็นวงกว้างในฮ่องกง จีนมีเทคนิคใหม่ เช่น การปิดบัญชีผู้ใช้ทั่วไปในวีแชท หากตรวจพบว่า มีการแสดงออกถึงพฤติกรรมที่แตกแถว อันนำไปสู่การเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างแพร่หลายขึ้น
 

ในสหรัฐอเมริกา แม้โลกอินเทอร์เน็ตยังมีความหลากหลาย ปลอดจากการปิดกั้นจากรัฐ แต่ยังพบว่า เสรีภาพบนโลกอินเทอร์เน็ตก็อ่อนแอลงเช่นกัน จากการที่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองขยายการสอดส่องข้อมูลของประชาชน เพิ่มการตรวจสอบโซเชียลมีเดีย มีการตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์เพื่อรวบรวมข้อมูลกิจกรรมของผู้ใช้
 

อย่างไรก็ตามมี 16 ประเทศที่มีพัฒนาการดีขึ้น เอธิโอเปียเป็นประเทศที่มีพัฒนาการด้านเสรีภาพออนไลน์มากที่สุด เป็นผลจากรัฐบาลของเอธิโอเปียใช้แนวคิดในการปฏิรูปที่ผ่อนคลายการจำกัดเสรีภาพในโลกอินเทอร์เน็ตลง มีการปลดบล็อคเว็บไซต์จำนวน 260 เว็บไซต์ รวมถึงรายการที่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองที่สำคัญหลายชิ้นด้วย มีการยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินที่ประกาศโดยรัฐบาลก่อนหน้า ทั้งหมดทำให้บรรยากาศการใช้เสรีภาพการแสดงออกดีขึ้นและจำนวนของผู้ที่ถูกจำคุกจากกิจกรรมออนไลน์ลดลง ถึงแม้ว่า รัฐบาลจะยังมีการระงับเครือข่ายออนไลน์ แต่หลายครั้งที่เป็นลักษณะชั่วคราวและเฉพาะพื้นที่ ต่างจากในอดีตที่ระงับทั่วทั้งประเทศ
 

 

ไทยยังอยู่กลุ่มไร้เสรีภาพออนไลน์ห้าปีซ้อน
 

ปี 2019 ไทยได้คะแนน 35 จาก 100 คะแนนเท่ากับปี 2018 ทำให้ไทยอยู่ในกลุ่ม “ไม่เสรี” บนโลกอินเทอร์เน็ตเป็นปีที่ห้าติดต่อกัน รัฐบาลยังคงจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาด้วยการปิดกั้นเว็บเพจ และการขอให้กูเกิ้ลและเฟซบุ๊กลบเนื้อหาอ้างเหตุผลว่า ละเมิดต่อกฎหมายภายในประเทศหลายฉบับ ทั้งในช่วงการเลือกตั้งยังได้ออกแนวทางที่ควบคุมการหาเสียงทางการเมือง ในเรื่องการคุกคามผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปรากฏการสูญหายและการเสียชีวิตของนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยและต่อต้านสถาบันกษัตริย์ในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับอำนาจของ คสช. ถูกกล่าวหาในคดีความทางการเมืองจากการแสดงความเห็นบนโลกอินเทอร์เน็ต
 

มาตรา 14(1) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่มีกรอบความผิดว่า นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนอันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
 

เดิมทีมาตราดังกล่าวออกแบบมาเพื่อปราบปรามกับความผิดเชิงระบบ เช่น การทำเว็บหรือข้อมูลปลอมเพื่อหลอกลวงเงินหรือผลประโยชน์ แต่ผู้ใช้กฎหมายตีขลุมไปว่า ข้อมูลที่ให้ความเห็นซึ่งอาจจะมีลักษณะหมิ่นประมาทเป็นความผิดตามมาตราดังกล่าวด้วย ซึ่งมีโทษหนักกว่ากฎหมายหมิ่นประมาทและไม่มีบทยกเว้นโทษหากแสดงความเห็นโดยสุจริต ประเด็นดังกล่าวมีปัญหามายาวนาน ปัจจุบันยังปรากฏการใช้มาตรา 14 คุกคามและจำกัดเสรีภาพการแสดงออก
 

 

รัฐบาลใหม่ ‘คสช.2’ และเทรนด์การปราบปรามเสรีภาพด้วยแนวใหม่
 

นอกจากมาตรา 14(1) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แล้ว ยังมีการดำเนินคดีที่ส่งผลต่อเสรีภาพการแสดงออกด้วยมาตรา 14(2) และ (3) ซึ่งตามปกติแล้วมาตราดังกล่าวมักจะผูกกับความผิดอื่นๆ ในหมวดความมั่นคง เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เรื่องหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และมาตรา 116 เรื่องการยุยงปลุกปั่น ไม่ค่อยได้นำมาใช้ดำเนินคดีเพียงลำพังมาตราเดียว
 

จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ข้อมูลคดีเสรีภาพพบว่า ช่วงท้ายของรัฐบาลคสช. 1 จนถึงปัจจุบันการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพการแสดงออก หากเป็นการแสดงความคิดเห็นบนโลกอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับ คสช. หรือผู้มีอำนาจ เจ้าหน้าที่มักจะดำเนินคดีด้วยมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมฯ เป็นมาตราที่ใช้เป็นหลัก แทนข้อหาที่มีโทษหนักกว่าตามประมวลกฎหมายอาญาที่ก่อนหน้านี้เคยใช้อย่างแพร่หลาย หรือหากต้องการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา ก็มักจะหลีกเลี่ยงการใช้มาตรา 112 มาใช้มาตรา 116 แทน