Change.NCPO “ปอนด์” – อภิชาต เจ็ดวันในกองปราบ สามสัปดาห์ในเรือนจำ กับการตัดสินใจหลังได้รับอิสรภาพ

ผมเรียนจบกฎหมาย แต่ไม่อยากไปสอบเป็นทนายความหรือผู้พิพากษา ตัดสินใจไปสมัครงานกับสำนักงาน คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
(คปก.) เพราะอยากเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบมากกว่าเป็นรายกรณี
ผมได้แรงบันดาลใจมาจากตอนที่เรียนกฎหมายแล้วได้ช่วยต่อสู้จนชาวบ้านที่ไร้สัญชาติได้สัญชาติไทย 60 คน
ทำงานได้ไม่ถึง 1 เดือนก็มีรัฐประหาร
ได้ยินข่าวว่าจะมีคนจัดชุมนุมคัดค้านการรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์ฯ ใช้เวลาไม่นานในการตัดสินใจไปร่วม
จำได้ว่าวันนั้นพอเลิกงานก็ปรินท์ข้อความ “ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน” บนกระดาษเอสี่ 10 แผ่นถือติดไปที่ชุมนุม
ตั้งใจว่าจะถือเองแผ่นนึงที่เหลือก็แจกคนแถวนั้น
รู้อยู่ว่ามันมีการประกาศกฎอัยการศึก ห้ามชุมนุม แต่เพราะเชื่อลึกๆ ว่าการรัฐประหารจะไม่สำเร็จถ้ามีคนออกไปคัดค้านมากพอ
และตัวผมเองก็ไม่ยอมรับประกาศห้ามชุมนุมเพราะผู้ที่เข้าสู่อำนาจไม่ได้มาตามวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ คำสั่งจึงไม่ชอบธรรม
ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม
พอไปถึงที่หน้าหอศิลป์ก็ชูป้าย แล้วตะโกน “ประยุทธ์ออกไป” บ้าง ข้อความอื่นบ้าง จำไม่ได้นัก แต่รู้ว่าไม่มีอะไรหยาบคาย ชูป้ายได้ประมาณ
20 นาที ทหารก็จับตัวผมจากด้านหลังแล้วคุมตัวไปที่รถฮัมวี่ หลังจากนั้นก็พาไปที่ค่ายทหาร
ตอนนั้นรู้สึกกลัว ไม่ได้กลัวถูกทำร้ายร่างกายแต่กลัวความไม่แน่นอน ความคลุมเคลือในชะตากรรม
หลังจากซักประวัติเสร็จวันรุ่งขึ้นเขาก็พาไปที่กองปราบ ขังไว้ในห้องขัง 7 วันเต็ม มีคนทยอยเข้ามาที่ห้องขังอยู่เรื่อยๆ
รวมถึงคนที่แวะมาเยี่ยมมาซื้อข้าวให้กิน มันก็คลายเหงาบ้าง แต่สิ่งที่อยู่ในใจตลอดเวลาคือ ผมไม่รู้เลยว่าจะเกิดขึ้นต่อไป
ระหว่างที่ถูกขังที่กองปราบฯ ผมถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มอีก มีอาจารย์ท่านหนึ่งมาบอก
แต่การที่เจ้าหน้าที่ไม่มาแจ้งข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการทำให้รู้สึกว่าควบคุมอะไรในชีวิตตัวเองไม่ได้เลย ไม่รู้ต้องเตรียมรับมืออย่างไร
ความไม่แน่นอนทำให้ผมเครียด ยอมรับว่านอนร้องไห้แทบทุกคืนในห้องขังกองปราบ
ครบ 7 วัน ผมถูกพาตัวไปศาลฝากขังคดี 112 เชื่อมั้ย พอเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหามันกลับรู้สึกโล่งใจ อย่างน้อยรู้แล้วว่าต้องเจออะไรบ้าง
อย่างน้อยเราจะเข้าถึงทนาย เข้าถึงศาล ขอประกันตัวเองได้ ส่วนศาลจะให้ประกันหรือไม่ก็เป็นดุลพินิจของท่าน
คดี 112 ประกันตัวยาก ทำใจไว้แล้วตั้งแต่ตอนเดินทางไปศาล แล้วก็เป็นตามคาดศาลไม่ให้ประกันตัว ผมเข้าไปอยู่เรือนจำประมาณวันที่ 30
พฤษภาคม 2557 ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 24 มิถุนายน 2557 เพราะศาลไม่ให้พนักงานสอบสวนฝากขังต่อ
รวมระยะเวลาที่อยู่ทั้งที่ค่ายทหาร กองปราบฯ และเรือนจำก็เท่ากับเสียอิสรภาพไป 1 เดือนเต็ม
ชีวิตในเรือนจำ หลายคนก็คงพอเดาได้ว่ามันแย่ไปหมด ทั้งอาหารการกิน ผมไม่เคยกินอาหารโรงเลี้ยงเลย ซื้อข้างนอกกินตลอด
เรื่องที่หลับที่นอนก็ค่อนข้างแออัด แต่สิ่งที่แย่ที่สุดคงเป็นเรื่องการขับถ่าย คงไม่สะดวกที่จะเล่าไว้ตรงนี้
แต่เชื่อไหม 3 สัปดาห์ในเรือนจำผมรู้สึกแย่น้อยกว่า 7 วันที่ถูกขังในกองปราบ
ที่กองปราบฯใช้โทรศัพท์ ใช้อินเทอร์เน็ตได้ แต่สถานการณ์มันกดดันกว่าในเรือนจำ ในเรือนจำผมถูกขังอยู่ในห้องขังแค่ช่วงกลางคืน
ระหว่างวันยังได้ลงมาสัมผัสดิน เดินไปเดินมาได้บ้าง แต่ที่กองปราบฯ ต้องอยู่ในห้องขังตลอดเวลา
ที่สำคัญคือตอนนั้นไม่รู้ชะตากรรมตัวเองเลย แต่พอถูกแจ้งข้อกล่าวหา ถูกฝากขัง รู้อะไรเป็นอะไรแล้วก็เลยทำใจและปรับตัวได้
ผมพยายามไม่คิดถึงเรื่องข้างนอกพยายามโฟกัสแต่กับการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ผมโชคดีที่ระหว่างอยู่ในเรือนจำมีพี่ๆอย่างพี่หนูหริ่ง (สมบัติ
บุญงามอนงค์ – บก.ลายจุด) และพี่สมยศ (สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักโทษคดี 112) คอยพูดคุยให้คำแนะนำเรื่องการใช้ชีวิตในเรือนจำ
ตอนติดคุก 1 เดือนใช้เวลาปรับตัวประมาณ 1 อาทิตย์ พอได้ประกันตัวออกจากคุกต้องใช้เวลาถึง 3
เดือนในการปรับตัวให้กลับไปใช้ชีวิตปกติ
หลังออกจากเรือนจำก็ไปทำงานเลยในวันรุ่งขึ้น ผมรู้ตัวเองว่าอะไรบางอย่างในชีวิตเปลี่ยนไป ไม่อยากเจอผู้คน ไม่อยากคุยกับใคร
เลือกที่จะนั่งแท็กซี่ไปกลับอยู่หลายเดือน ยุ่งอยู่กับงานของตัวเองและไม่ค่อยพูดกับเพื่อนร่วมงานถ้าไม่จำเป็น ไม่อยากตอบคำถาม
ไม่อยากคุยเรื่องในเรือนจำซึ่งเพื่อนร่วมงานก็เข้าใจและไม่ได้ถามอะไรซอกแซ่ก
ถามว่าเคยร่วมชุมนุมไหม จริงๆ ก็เคยร่วมการชุมนุมทางการเมืองช่วงปี 52 – 53 กับกลุ่มคนเสื้อแดง ครั้งแรกน่าจะเป็นที่สนามหลวง
ผมรู้สึกสนุกนะ บรรยากาศเหมือนงานมหกรรม มีเต๊นท์หลายเต้นท์ มีการปราศรัย แต่ผมไม่ค่อยสนใจฟังว่าแกนนำปราศรัยอะไร
ชอบคุยกับคนที่มาร่วมชุมนุมมากกว่า และทำให้ได้รู้จักกับ “ดีเจซุนโอ” หรือพี่อิทธิพลที่ตอนนี้หายตัวไปอย่างลึกลับหลังลี้ภัยในลาว
ตอนนี้คดี 112 เงียบไปแล้ว แต่คดีที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นคดีฝ่าฝืนประกาศห้ามชุมนุมของ
คสช.ซึ่งถูกเลือกให้เป็นคดียุทธศาสตร์ของทีมทนายความ หมายความว่าจะสู้ให้ถึงชั้นฎีกา
ผมเองในฐานะจำเลยที่จะต้องรับผลแห่งคดีไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่าอะไรก็มีส่วนร่วมกำหนดแนวทางการต่อสู้คดีร่วมกับทนาย
เราเห็นพ้องกับทนายว่าการสู้คดีนี้ไม่ใช่สู้แค่ให้ตัวเองพ้นผิด แต่ต้องสู้เพื่อให้ศาลวางบรรทัดฐานทางกฎหมายให้กับสังคมไทยด้วย
ในความคิดของผม ศาลน่าจะสามารถแข็งขืนต่ออำนาจและประกาศของคณะรัฐประหารได้
เข้าใจว่าในช่วงต้นของการคงเป็นเรื่องยากที่ศาลจะไปท้าทายอำนาจหรือกฎหมายของคณะรัฐประหาร
แต่คดีของผมมันล่วงเข้ามาในเวลาที่มีรัฐธรรมนูญ 60 แล้ว
ผมคิดว่าภายใต้ระบบหรือโครงสร้างทางสังคม โครงสร้างทางอำนาจที่เป็นอยู่ ผู้ใช้อำนาจรัฐในกระบวนการยุติธรรมทั้งศาล อัยการ หรือตำรวจ
ต่างทำการภายใต้กรอบคิดของแต่ละสถาบัน ไม่ได้ดำเนินการโดยอิสระ
แม้ผู้พิพากษาที่ดีจะเป็นคนตัดสินคดีของผม
แต่ผมก็จะไม่ได้คำพิพากษาที่ดีเพราะโครงสร้างทางสังคมมันกำหนดไว้แล้วว่าผู้พิพากษา อัยการ และตำรวจ
ควรจะต้องมองหรือปฏิบัติต่อประชาชนที่ถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีการเมืองไปในทิศทางไหน
มองย้อนกลับไปในวันที่ถูกจับจนกระทั่งวันนี้ ชีวิตเปลี่ยนไปพอสมควร ผมเองอาจจะโชคดีกว่าคนที่ออกมาทำกิจกรรมหลายๆ คน
เพราะบางคนถูกคุมขังนานกว่า บางคนต้องหนีออกนอกประเทศ อย่าง “ดีเจซุนโฮ” ก็ไม่มีใครได้ข่าวพี่เขาอีกเลย
ตัวผมเองอาจจะสูญเสียอิสรภาพไปในระยะสั้นๆ แต่อย่างน้อยทุกวันนี้ผมยังมีอาชีพ และยังทำงานขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมได้
ผมได้รับเลือกเป็นประธานขององค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนแห่งหนึ่ง คอยทำงานรณรงค์อยู่ในแนวหลัง
แต่หากการเมืองย้อนกลับไปสู่วังวนรัฐประหารอีกครั้ง ผมก็จะออกมาเป็นหนึ่งในคนที่ร่วมชุมนุมคัดค้านเหมือนเดิม