คุยกับ ฮ่องเต้ – ธนาธร นักศึกษา ม.เชียงใหม่ ที่ถูกมหาวิทยาลัยไม่ให้ใช้สถานที่จัดงาน “ล่น ไล่ ลุง”

49472523097_c5b4cceb60_o

วันที่ 28 มกราคม 2563 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ออกหนังสือไม่อนุญาตให้กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้จัดงาน “ล่น ไล่ ลุง” ใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ก่อนหน้านี้ในวันที่นักศึกษาไปยื่นหนังสือขอใช้สถานที่จัดงาน มีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยได้มาให้ความเห็นกับกลุ่มผู้ยื่นว่า อาจจะไม่สามารถให้จัดงานได้เนื่องจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต้องคงความเป็นกลางทางการเมือง

คำว่า “เป็นกลางทางการเมือง” ได้จุดกระแสให้สังคมกลับไปค้นข้อมูลในอดีตว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เคยวางตัวเป็นกลางอย่างไรบ้าง ซึ่งหลายคนก็มองว่า เป็นคำที่ย้อนแย้งกับความจริงในอดีตที่มีการให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2556-2557 มาแล้ว

เราจึงไปพูดคุยกับ ฮ่องเต้ ธนาธร นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ยื่นหนังสือขออนุญาตใช้สถานที่กับทางมหาวิทยาลัย ถึงกระบวนการขอจัดงาน “ล่น ไล่ ลุง” ทั้งหมดตั้งแต่เริ่มจนได้รับหนังสือไม่อนุญาตดังกล่าว

 

อยากทำกิจกรรม “ล่น ไล่ ลุง” เพราะอยากให้ประชาชนได้มีพื้นที่แสดงออกทางการเมืองได้มากขึ้น

“ผมสนใจการเมืองมาตั้งแต่ตอนที่ไปเรียนอยู่ต่างประเทศ ก่อนที่จะมาเรียนปี 1 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมไปเรียนที่เมืองหางโจว ประเทศจีน 1 ปี และไปอยู่ที่ยูนนานอีก 1 ปี พอกลับมาเรียนมหาวิทยาลัยที่เชียงใหม่บังเอิญได้ไปเข้าร่วมงานเสวนาของนักศึกษาแล้วได้พูดคุยกันและจับพลัดจับผลูมาช่วยจัดงานเสวนาเล็กๆ ในมหาวิทยาลัยบ้าง จนได้มาเป็นคนยื่นหนังสือขอจัดงานนี้

วันที่ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นทีมจัดกิจกรรมก็ไม่มีอะไรมาก มีพี่ที่รู้จักมาชวนว่าสนใจจะจัดงาน ‘วิ่ง ไล่ ลุง’ ที่เชียงใหม่ด้วยกันไหม ผมก็เห็นว่างานที่จะจัดที่กรุงเทพฯ น่าสนใจดี น่าจะเป็นงานที่ให้ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองได้มากขึ้น เป็นพื้นที่ให้คนได้แสดงออกทางการเมืองแม้จะเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ค่อยๆ ไต่ระดับได้มากขึ้น และเป็นการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์แล้วยังได้ออกกำลังกายด้วย และคิดว่าตัวเองต้องมาทำกิจกรรมนี้ เพราะส่วนตัวตอนนี้มีความรู้สึกว่ารัฐบาลนี้ไร้ประสิทธิภาพ เชื่อว่ารัฐบาลอื่นน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า จึงต้องการออกมาไล่ และอยากจะสร้างเสริมกิจกรรมให้คนมาออกกำลังกายด้วยจึงตอบตกลงกับพี่ที่รู้จักว่าทำเลย”

 

เลือกจัดในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพราะคิดว่าเป็นสถานที่ปลอดภัย และมีเสรีภาพ

“หลังจากผมตอบตกลงไปก็ได้รวมทีมคนจัดงานขึ้น พี่คนดังกล่าวก็ชวนคนอื่นที่ไม่รู้จักกันมาก่อนมาคุยกัน หลังจากงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ จัดผ่านไปสักวันสองวัน ทีมก็นัดประชุมกันจริงจังว่าจะจัดงานที่ไหน จัดเมื่อไหร่ ซึ่งได้ตกลงกันว่าจะจัดในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 ตามที่กลุ่มผู้จัดงานที่กรุงเทพฯ ประกาศไว้

หลังจากเลือกวันกันได้ก็เลือกสถานที่เป็นในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพราะเห็นว่า ที่มหาวิทยาลัยน่าจะสะดวก และทางมหาวิทยาลัยน่าจะสนับสนุน ส่งเสริมเด็กในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองให้เป็นพื้นที่สำหรับการแสดงออกของนักศึกษาอย่างสร้างสรรค์ การแสดงออกทางวิชาการ การแสดงออกทางการเมืองด้วย และผมคิดว่างานมันเป็นงานที่ภาพลักษณ์ไม่รุนแรง เน้นไปที่การเอาคนมาวิ่ง เหมือนกับการวิ่งรณรงค์อะไรบางอย่าง เหมือนกับงานมินิมาราธอนเล็กๆ ซึ่งในมหาวิทยาลัยการจราจรของรถก็ไม่พลุกพล่าน น่าจะมีความปลอดภัยในการจัดงานสูง จึงตัดสินใจที่จะยื่นขออนุญาตใช้สถานที่กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ก่อนยื่นผมก็คาดหวังมหาวิทยาลัยไว้สูงเหมือนกันว่า มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นพื้นที่ที่ให้อิสระและเสรี สนับสนุนให้นักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยทำกิจกรรมได้เต็มที่ และสนับสนุนให้ประชาชนคนทั่วไปเข้ามาใช้สถานที่ได้ด้วย

หลายคนถามว่าทำไมต้องไปยื่นขออนุญาตใช้สถานที่จัดกิจกรรมด้วย มหาวิทยาลัยควรจัดกิจกรรมได้ทุกที่ ผมคิดแค่ว่า ผมอยากทำตามขั้นตอน ถือว่าเป็นการให้เกียรติมหาวิทยาลัยด้วยว่าจะใช้สถานที่ของเขา เพราะผมคิดว่าคนจะมาร่วมงานเยอะแน่นอน เนื่องจากดูงานที่กรุงเทพฯ แล้วและคิดว่า ทางมหาวิทยาลัยจะมีท่าทีที่ดีกว่านี้ ซึ่งผมคาดหวังไว้สูงมากจึงกล้าที่จะยื่นขอเป็นหนังสือไป ไม่อยากถูกว่าเป็นคนแอบจัดงานในสถานที่ของเขา แม้จะเป็นสถานที่ของเราด้วยก็ตาม”

 

มหาวิทยาลัยไม่ให้ใช้สถานที่เพราะห่วงความเป็นกลางทางการเมือง 

“ก่อนหน้านี้ในวันที่ตัดสินใจใช้ชื่อตัวเองเป็นคนในการยื่นหนังสือขอมหาวิทยาลัย เนื่องจากในทีมที่จัดเราไม่ใช่กลุ่มก้อนที่ทำกิจกรรมอะไรด้วยกันมาก่อน รวมตัวกันครั้งแรก ผมก็เลยอาสากับพี่ๆ ว่าใช้ชื่อผมในหนังสือก็ได้ เพราะคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ปัญหามันก็เกิดขึ้นตอนไปยื่นมากกว่า ตอนที่ผมเข้าไปยื่นหนังสือที่ตึกอธิการบดี ส่วนของฝ่ายรับเอกสาร พอกำลังจะยื่นหนังสือก็มีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยคนหนึ่งเดินออกมาคุยด้วย บอกว่าเป็นหัวหน้าฝ่ายรับหนังสือ บอกผมว่าขอดูเอกสารหน่อย และพูดประมาณว่า งานที่มาขอจัดเป็นงาน “ล่น ไล่ ลุง” ซึ่งมีความกังวลว่างานนี้จะมีนัยแอบแฝงทางการเมือง จะทำให้จุดยืนทางการเมืองของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เสนอตัวว่าเป็นกลางมาตลอดสั่นคลอน และทำให้ภาพลักษณ์เสียหาย แต่ยังพูดกับผมต่ออีกว่า ความจริงอยากสนับสนุนนะ อยากให้มีงานแบบนี้อยู่ในมหาวิทยาลัยเยอะๆ แต่ลองไปจัดงานอย่างวิ่งไล่ฝุ่นไหม ช่วงนี้ฝุ่นเยอะนะ ไปพูดปัญหาเรื่องฝุ่นดู ลองทำไหม เจ้าหน้าที่คนนั้นยังพูดเสริมอีกว่าพี่ก็เข้าใจน้องๆ นะว่า เป็นเด็กรุ่นใหม่ไฟแรง อยากมีกิจกรรมแบบนี้เยอะๆ เขาก็เคยไปชุมนุมทางการเมืองมา มีมือตบอยู่ที่บ้านด้วย จะยืมใช้พี่ก็ให้ได้

ผมก็เข้าใจความหวังดีของพี่เขา แม้จุดยืนทางการเมืองอาจจะไม่ตรงกัน แต่ยังเชื่อว่า พี่เขาหวังดี เพราะสุดท้ายผมก็ยื่นหนังสือให้เจ้าหน้าที่คนนั้นไปแล้วเขาก็ยังรับหนังสือของเรา แต่ก็อยู่ที่ผู้บริหารว่าจะพิจารณาหนังสือขออนุญาตของเราอย่างไร วันนั้นก็หวังเพียงให้ผู้บริหารสนับสนุนเราให้ใช้สถานที่มหาวิทยาลัยก็ยังดี

สุดท้ายหนังสือที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยตอบกลับมา เขาก็ไม่ให้เราจัด โดยให้เหตุผลเรื่องกังวลความเป็นกลางทางการเมืองของมหาวิทยาลัยตามที่เจ้าหน้าที่คนนั้นบอกในวันที่ยื่นเลย แต่หลังจากวันที่ผมไปยื่นหนังสือ ผมก็ไปค้นข่าวดูก็พบว่า เมื่อหลายปีก่อนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีการปล่อยให้ผู้ชุมนุมทางการเมืองเข้าใช้พื้นที่มหาวิทยาลัย โดยที่ไม่รู้ว่าได้ขออนุญาตทางมหาวิทยาลัยเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ด้วยซ้ำ ซึ่งเรื่องนี้ผมก็ไม่ได้ปักใจเชื่อก่อนวันที่จะไปยื่นหนังสือด้วยซ้ำ จนมาค้นเหตุการณ์ในอดีตก็พบว่ามีการเดินขบวนในมหาวิทยาลัย เข้าไปชุมนุมถึงศาลาธรรมด้วย ถ้าเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยที่รับหนังสือคนนั้นไม่พูดให้ฉุกคิดเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองของมหาวิทยาลัย ผมก็คงไม่ไปสืบค้นข้อมูลจนเจอว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เคยให้กลุ่มบางกลุ่มใช้พื้นที่ในการชุมนุมมาก่อนหน้านี้

หลังได้รับหนังสือไม่อนุญาตให้จัดงานในมหาวิทยาลัย ทำให้ผมสงสัยว่าความเป็นกลางของมหาวิทยาลัยคือการที่คุณเคยปล่อยให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้ามาใช้พื้นที่ได้โดยไม่รู้ว่าขออนุญาตหรือไม่ แต่อีกฝ่ายหนึ่งแม้จะส่งเรื่องตามระบบตามขั้นตอนก็ไม่สามารถใช้พื้นที่ได้ แล้วความเป็นกลางของคุณอยู่ที่ไหน การชุมนุมครั้งนั้นของ กปปส. ไม่ได้มีแต่นักศึกษาที่มาชุมนุมแน่นอน มีคนนอกเข้ามาร่วมชุมนุมด้วย ทำไมถึงให้จัดได้ ทำไมกรณีของผมไม่สามารถให้จัดได้ผมก็ยังสงสัยอยู่ ทางมหาวิทยาลัยควรจะให้เหตุผลตอบกลับที่ดีกว่าและชัดเจนกว่านี้ด้วย”

 

ประเทศไทยยังมีบรรยากาศทางการเมืองดีกว่าประเทศจีนอยู่มาก

“จากที่ผมเคยไปอยู่จีนมา 2 ปี ถ้าให้เทียบเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกที่ไทยกับประเทศเผด็จการแบบจีนนั้นเทียบแทบไม่ได้เลย ในคลาสที่ผมเรียนที่จีนมีการเซ็นเซอร์แม้แต่ในห้องเรียน อย่างคลาสวิชาหนึ่งที่ผมเรียนเป็นคลาสที่ให้นักศึกษาต่างชาติมารวมตัวกันมานำเสนอเรื่องต่างๆ ก็จะมีการเซ็นเซอร์ห้ามพูดเรื่องการทำงานของรัฐบาล ไม่เพียงแต่รัฐบาลจีน รัฐบาลของประเทศอื่นเขาก็ขอความร่วมมือไม่ให้พูด โดยในจีนจะมีคำติดปากของคนที่นั่นคือ “เรื่องนี้พีซี (Political correctness) ไม่ควรพูดนะ” เช่น เราวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลประเทศเราเองให้เขาฟัง เขาก็จะบอกว่าเรื่องนี้พีซีนะ ไม่ควรพูดนะ ไม่เอาๆ อะไรประมาณนั้น แต่ในไทยปัจจุบันผมรู้สึกว่าก็เริ่มมีบรรยากาศใกล้เคียงกัน

ส่วนเรื่องความตื่นตัวทางการเมือง คนที่จีนกับที่ไทยอยู่กันคนละแบบเลย ในความคิดของผมคิดว่าคนไทยกระตือรือร้นในทางการเมืองมากว่า โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีความกระตือรือร้นที่จะแสดงออกทางความคิดมากขึ้น”

 

อยากให้กิจกรรมทุกอย่างจัดได้ ไม่ควรแบ่งแยกว่ากิจกรรมทางการเมืองไม่ควรจัด

“สุดท้ายผมอยากฝากว่า การจัดกิจกรรมอะไรพวกนี้ควรเป็นเรื่องที่จัดได้เป็นปกติ ไม่ควรเป็นเรื่องน่าตกใจว่าจะมีคนจัด โดยเฉพาะกิจกรรมที่จะผลักดันสังคมให้ดีขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากฝากก็คือ หากมีใครห้ามอะไรเราในเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล ผมก็คิดว่าถ้าเรามีเหตุผลเพียงพอเรามีสิทธิที่จะโต้แย้งได้ และอยากผลักดันให้วัฒนธรรมการโต้แย้งเป็นวัฒนธรรมปกติของสังคมไทย ผมคิดว่า จะทำให้ประเทศไทยจะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ได้”