1545 1026 1956 1947 1225 1068 1280 1999 1263 1051 1298 1218 1979 1881 1826 1409 1647 1391 1780 1714 1256 1154 1965 1197 1499 1027 1614 1602 1674 1767 1589 1871 1612 1839 1600 1398 1335 1392 1705 1527 1838 1000 1799 1044 1084 1973 1988 1910 1105 1992 1301 1561 1943 1936 1542 1852 1016 1832 1454 1288 1687 1212 1104 1273 1870 1916 1656 1808 1429 1247 1206 1350 1951 1037 1057 1944 1587 1418 1277 1902 1958 1317 1293 1212 1868 1693 1558 1296 1224 1913 1660 1026 1012 1940 1136 1435 1658 1708 1877 ย้อนดูเทรนด์การให้ - ไม่ให้ประกันตัวผู้วิจารณ์พระมหากษัตริย์ฯ ของศาลไทย | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ย้อนดูเทรนด์การให้ - ไม่ให้ประกันตัวผู้วิจารณ์พระมหากษัตริย์ฯ ของศาลไทย

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลจังหวัดพัทยามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวผู้ใช้ทวิตเตอร์ #นิรนาม @ssj_2475 แม้จะยื่นประกันตัวด้วยวงเงินสูงถึง 500,000 บาท โดยให้เหตุผลว่า คดีมีพฤติการณ์ร้ายแรงหากปล่อยตัวเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี คำสั่งไม่ให้ประกันตัวนี้นับเป็นครั้งที่สอง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นิรนามเคยยื่นประกันตัวครั้งแรกด้วยเงิน 100,000 บาท แล้วศาลจังหวัดพัทยายกคำร้องโดยให้เหตุผลเดียวกันไปรอบหนึ่ง 
 
อย่างไรก็ตามในช่วงเย็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ทนายความของผู้ต้องหาได้อุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวของศาลจังหวัดพัทยา และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวด้วยวงเงิน 200,000 บาท (ลดลงจากวงเงิน 500000 บาท ที่ยื่นต่อศาลชั้นต้น) โดยให้เหตุผลว่า   
 
"ความผิดตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษจึงไม่สูงนัก มีการจับกุมผู้ต้องหาที่บ้านของผู้ต้องหาเอง โดยไม่มีพฤติการณ์ว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น และผู้ขอประกันเป็นบิดาของผู้ต้องหา และใช้เงินสดเป็นหลักประกัน จึงน่าเชื่อถือ อนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราวในระหว่างสอบสวน”
 
กรณีการจับกุมตัว "นิรนาม" ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะชนในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ได้รับการติดต่อขอให้ไปช่วยเหลือทางกฎหมายเพราะเขาถูกจับกุมตัวมาตั้งข้อกล่าวหา โดยเขาถูกกล่าวหาว่าทวิตข้อความที่อาจเข้าข่ายเป็นการพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ในทางลบ แม้นิรนามจะไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และโทษจำคุกสูงสุดของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะอยู่ที่ไม่เกิน 5 ปี แต่การปฏิเสธการให้ประกันตัวของศาลจังหวัดพัทยามีลักษณะการให้เหตุผลคล้ายๆ กับกรณีที่ศาลเคยยกคำร้องประกันตัวของผู้ต้องหาและจำเลยคดีมาตรา 112 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 15 ปี 
 
การที่ศาลชั้นต้นไม่ให้ประกันตัวในการยื่นสองครั้งแรกอาจจะทำให้สถาการณ์เสรีภาพการแสดงออกบนโลกออนไลน์กลับมาอยู่ในบรรยากาศแห่งความกลัวอีกครั้ง หลังจากที่สถานการณ์เริ่มผ่อนคลายไปในช่วงปี 2561-2562 ที่มีการ "งด" การดำเนินคดีประชาชนด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมทั้งการที่ศาลทยอยให้ผู้ที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีทยอยประกันตัวออกมาสู้คดีนอกเรือนจำ (ดูรายงาน Thailand Post Election Report: รวมความ (ไม่) เคลื่อนไหวคดี 112 - มาตรการใหม่ที่ใช้แทน
 

การดำเนินคดีผู้วิพากษ์วิจารณ์สมาชิกราชวงศ์ด้วยพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพียงข้อหาเดียว 

 
เท่าที่มีข้อมูลก่อนการรัฐประหารปี 2557 เคยมีกรณีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตวิพากษ์วิจารณ์บุคคลในราชวงศ์และถูกดำเนินคดีในความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้แก่ กรณีของ คธา อดีตโบร์เกอร์ค้าหุ้นที่เกิดขึ้นในปี 2553 โดยเขาถูกกล่าวหาว่า นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชน  โดยคธาเขียนข้อความบนเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันพูดถึงอาการพระประชวรของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้า ทิศทางของตลาดหุ้น จากการถูกดำเนินคดีครั้งนั้นคธาถูกพิพากษาจำคุกโดยศาลอาญาเป็นเวลา 6 ปี จากการเขียนข้อความบนเว็บบอร์ดสองข้อความ แต่เนื่องจากคธาให้การเป็นประโยชน์ศาลลดโทษให้หนึ่งในสามเหลือโทษจำคุก 4 ปี
 
ตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคธาได้รับการประกันตัวมาโดยตลอด แม้เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกไปแล้วคธาก็ยังคงได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ในเดือนมีนาคม 2557 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนว่า คธามีความผิดสองกรรมตามศาลชั้นต้น แต่ได้ลดโทษจากจำคุก 4 ปี เหลือจำคุกรวม 2 ปี 8 เดือน  เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา คธายื่นคำร้องขอประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นศาลฎีกาแต่คำร้องของเขาถูกปฏิเสธ โดยศาลฎีกาเพราะเห็นว่าศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาคดีนี้แล้ว หากอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยอาจหลบหนี คธาถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2557 และมาได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 22 กันยายน 2558 
 
1353

 

การให้ประกันตัวผู้ต้องหา / จำเลย คดีมาตรา 112 ก่อนยุคคสช.

 
เท่าที่มีข้อมูลพบว่า คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นคดีที่ศาลให้ประกันตัวจำเลยยากมาตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารแล้ว แม้ว่า บางคดีจำเลยจะยื่นวงเงินประกันสูงถึงหลักล้านก็ตาม เช่น
 
คดีของอำพลหรือ "อากง SMS"  ที่เกิดขึ้นในปี 2553 ซึ่งเป็นหนึ่งในคดีมาตรา 112 ที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง อำพล ชายวัย 61 ปี (ขณะเกิดเหตุ) ถูกกล่าวหาว่า ส่งข้อความ sms ที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 9 รวม 4 ข้อความไปที่หมายเลขโทรศัพท์ของ สมเกียรติ  ครองวัฒนสุข  ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นเลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังถูกจับกุมในเดือนสิงหาคม 2553 อำพลซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็งถูกคุมขังในชั้นสอบสวน ระหว่างนั้นใช้ที่ดินของญาติอำพลมาเป็นหลักทรัพย์วางต่อศาลเพื่อขอประกันตัวอำพล หลังถูกคุมขังในชั้นสอบสวนได้ 63 วัน ศาลอุทธรณ์จึงอนุญาตให้อำพลประกันตัวออกมาสู้คดี แต่ต่อมาในวันที่ 18 มกราคม 2554 เมื่ออัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี อำพลก็ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีอีกครั้งโดยที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวอีกเลยโดยศาลให้เหตุผลว่า 
 
"พิเคราะห์ความหนักเบาของข้อหา ตลอดจนพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกระทำต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีและองค์รัชทายาท นับเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบความรู้สึกของปวงชนชาวไทย หากให้จำเลยปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จึงยกคำร้อง" ต่อมาในเดือนตุลาคม 2554 เมื่อศาลสืบพยานคดีของอำพลแล้วเสร็จ ทนายของอำพลยื่นคำร้องขอประกันตัวอีกครั้งซึ่งก็ถูกศาลปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า "ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม" 
 
ในเวลาต่อมาอำพลถูกศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 20 ปี (ลงโทษจำคุกจากการส่ง sms ข้อความละ 5 ปี 4 ข้อความ 20 ปี)
 
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ทนายของอำพลยื่นอุทธรณ์คดีก็ยื่นคำร้องขอประกันตัวอำพลอีกครั้งหนึ่งโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดและตำแหน่งวิชาการของนักวิชาการเจ็ดคนแต่ทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาต่างยกคำร้องโดยคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ออกมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ระบุว่า 
 
"พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีกับพยานหลักฐานที่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วนับว่าร้ายแรง ประกอบกับข้อที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยังไม่มีเหตุให้เชื่อว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิด หากให้ปล่อยตัวชั่วคราวไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี และที่จำเลยอ้างเหตุความเจ็บป่วยไม่ปรากฏว่า ถึงขนาดจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ ทั้งทางราชการก็มีโรงพยาบาลที่จะรองรับให้การรักษาจำเลยได้อยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้องและแจ้งเหตุการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวให้จำเลยและผู้ขอประกัน ทราบโดยเร็ว"
 
ส่วนคำสั่งของศาลฎีกาที่ออกมาในเดือนมีนาคม 2555 ระบุว่า "พิเคราะห์พฤติการแห่งคดีและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยถึง 20 ปี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเชื่อว่าจำเลยจำหลบหนี ส่วนที่จำเลยอ้างความป่วยเจ็บนั้นเห็นว่าจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์"
 
เนื่องจากไม่ได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ในเดือนเมษายน 2555 อำพลจึงตัดสินใจถอนอุทธรณ์ให้คดีสิ้นสุด เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษเป็นกรณีพิเศษ แต่แล้วในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันเขาก็เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังระหว่างเข้ารับการรักษาอาการปวดท้องในโรงพยาบาลของราชทัณฑ์
 
คดีของสมยศ บรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin เป็นคดีมาตรา 112 อีกหนึ่งคดีที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนการรัฐประหาร 2557 สมยศถูกกล่าวหาว่า เผยแพร่บทความที่เนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 2 ชิ้นในนิตยสารที่เขาทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการในปี 2553 สมยศถูกจับกุมในปี 2554 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมสิบปีจากการกระทำสองกรรม (เผยแพร่บทความสองชิ้น) หลังจากนั้นศาลฎีกาจึงมีคำพิพากษาเป็นที่สุดลดโทษจำคุกของเขาจากความผิดกรรมละ 5 ปี เหลือความผิดกรรมละ 3 ปี รวมสองกรรม 6 ปี
 
ตลอดระยะเวลาการดำเนินคดีตั้งแต่ชั้นสอบสวนในปี 2554 จนศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นที่สุดในปี 2560 สมยศเคยยื่นคำร้องประกันตัวอย่างน้อย 16 ครั้ง โดยในเดือนกรกฎาคม 2556 ระหว่างที่คดีอยู่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ทนายของสมยศเคยใช้หลักทรัพย์มูลค่ารวม 4,762,000 ยื่นขอประกันตัวสมยศแต่ศาลอุทธรณ์ก็ยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า "การกระทำตามฟ้องเป็นเรื่องที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย และต่อความรู้สึกของประชาชน ทั้งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยถึงสิบปี หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวไม่เชื่อว่าจะไม่หลบหนีจึงให้ยกคำร้อง" 
 
ในเดือนมีนาคม 2555 ทนายของสมยศยื่นประกันตัวเขาเป็นครั้งที่เจ็ดโดยใช้เงินสด 1,440,000 บาท จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นหลักทรัพย์แต่ศาลยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่า ก่อนหน้านั้นศาลเคยมีคำสั่งยกคำร้องไปแล้วและไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม 
 

การให้ประกันตัวจำเลยคดีมาตรา 112 ในยุคคสช.

 
เมื่อมีการยึดอำนาจในปี 2557 การดำเนินคดีบุคคลด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ เช่น ในช่วงเดือนแรกๆ ของการรัฐประหาร คสช. ใช้อำนาจพิเศษเรียกผู้ที่เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือคนที่ "มีประวัติ" มาเข้าค่ายทหาร บางคนได้รับการปล่อยตัว แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาและต้องขึ้นศาลทหาร 
 
นับตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ที่ คสช. พ้นจากอำนาจ มีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมอย่างน้อย 98 คน ในจำนวนนี้หากนับตามเวลาที่ถูกจับกุม 24 คน ถูกจับกุมตัวในปี 2557 35 คน ในปี 2558 13 คน ในปี 2559 20 คน ในปี 2560 และ 1 คน ในปี 2561 และมี 5 คน ที่ไม่ทราบเวลาจับกุมตัว
 
ในช่วงต้นของการรัฐประหาร ระหว่างปี 2557 - 2559 มูลค่าหลักทรัพย์ที่ถูกปฏิเสธการประกันตัวที่น่าสนใจมีดังนี้ คดีของสิรภพ ผู้ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความในลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ บนเฟซบุ๊กและบนเว็บบอร์ดประชาไท สิรภาพเคยวางเงินประกัน 300,000 บาทเพื่อขอประกันตัวต่อศาลทหารกรุงเทพ แต่ถูกปฏิเสธโดยศาลให้เหตุผลว่า "คดีนี้เป็นกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาอาจจะหลบหนี" 
 
คดีของ โอภาส ผู้ถูกกล่าวหาว่าใช้ปากกาเมจิกเขียนข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ในห้องน้ำของห้างสรรสินค้าแห่งหนึ่ง คดีนี้ภรรยาของโอภาสเคยใช้โฉนดที่ดินมูลค่า 2.5 ล้านบาทยื่นต่อศาลทหารกรุงเทพเพื่อขอประกันตัว แต่ศาลไม่อนุญาตโดยให้เหตุผลว่า "หากปล่อยตัวผู้ต้องหาอาจไปกระทำการใดๆ หรือก่อเหตุประการอื่น หรือผู้ต้องหาอาจหลบหนี ให้ยกคำร้อง" และ
 
คดีของจ่าสิบตำรวจประสิทธิ์  ที่เคยยื่นเงินประกัน 500,000 และ 600,000 บาท แต่ศาลไม่ให้ประกันตัว โดยเมื่อครั้งที่ยื่นหลักทรัพย์ 600,000 บาท ทนายของจ่าประสิทธิ์ขอให้ศาลไต่สวนประเด็นสุขภาพของจำเลยเพื่อประกอบคำร้องประกันตัวด้วย โดยหลังการไต่สวน ศาลไม่อนุญาตให้จ่าประสิทธิประกันตัว ให้เหตุผลว่า  "เชื่อว่าอาการป่วยของจำเลยไม่มีอันตรายถึงชีวิต แพทย์ของราชทัณฑ์สามารถทำการรักษาได้ จึงให้ยกคำร้อง" 
 
คดี 112 อีก 2 คดีที่เป็นที่สนใจของสาธารณะชนในช่วงต้นของการรัฐประหารได้แก่คดีเจ้าสาวหมาป่าและคดีของจตุภัทร์หรือ "ไผ่ ดาวดิน" คดีเจ้าสาวหมาป่า  ซึ่งมีจำเลยสองคน ปฏิวัฒน์หนึ่งในจำเลยเคยใช้หลักทรัพย์ 600,000 บาทยื่นประกันต่อศาลแต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว จำเลยทั้งสองคนในคดียังเคยใช้ตำแหน่งนักวิชาการสามคนเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัวด้วยแต่ศาลไม่อนุญาต
 
ส่วนคดีของจตุภัทร์ ที่ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 จากการแชร์บทความพระราชประวัติรัชการลที่ 10 ของสำนักข่าวบีบีซี เบื้องต้นจตุภัทร์เคยยื่นเงินประกัน 400,000 บาทแล้วศาลอนุญาตให้ประกันตัว แต่ต่อมาเมื่อเขาโพสต์ข้อความแสดงความเห็นว่า "เศรษฐกิจแย่ แม่งเอาแต่เงินประกัน" บนเฟซบุ๊ก พนักงานสอบสวนสภ.เมืองขอนแก่นยื่นคำร้องขอให้ศาลถอนประกันเพราะจตุภัทร์ "เย้ยหยันอำนาจรัฐ" ศาลจังหวัดขอนแก่นก็สั่งถอนประกัน โดยให้เหตุผลว่า
 
"ตามคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลมีคำสั่งกำชับให้นายประกันผู้ต้องหามาตามนัด ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ และหลักฐานในคดี หรือก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ หลังได้รับการประกันตัว หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว พบว่า ผู้ต้องหายังไม่ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีบนเฟซบุ๊กออกไป ทั้งยังแสดงความคิดเห็น และมีพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงเยาะเย้ย อำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ อีกทั้งผู้ต้องหามีแนวโน้มจะกระทำการลักษณะเดิมต่อไปอีก
 
ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ อายุ 25 ปี ย่อมรู้ว่าการกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้น เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล จึงฟังได้ว่า ผู้ต้องหาได้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหาย ภายหลังได้รับประกันตัว ประกอบกับนายประกันของผู้ต้องหา ไม่ได้กำกับดูแลให้ผู้ต้องหาให้ปฎิบัติตามเงื่อนไขของศาล จนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว จึงให้เพิกถอนสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา"
 
หลังถูกถอนประกัน จตุภัทร์ก็ยื่นขอประกันตัวอีกหลายครั้ง แต่ไม่เคยได้ประกันตัวอีกเลยจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษา แม้ต่อมาเขาจะเพิ่มวงเงินประกันไปถึง 700,000 บาทก็ตาม
 
เมื่อเข้าสู่ช่วงปี 2561 สถานการณ์คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เริ่มจะคลายตัว เท่าที่มีข้อมูลมีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รายใหม่เพียงรายเดียว และต่อมาในปี 2562 จำเลยคดีมาตรา 112 ที่ยังคงถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาลทหาร เช่น สิรภพและอัญชัญ ศาลก็แจ้งให้ทนายนำเงินประกันมาวางต่อศาลทั้งที่ก่อนหน้านี้ทั้งสองถูกปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวมาโดยตลอด  
 
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แทบไม่ถูกนำมาใช้แล้ว แต่การวิพากษ์วิจารณ์การเมืองที่มีการพาดพิงไปถึงสถาบันยังคงเป็นสิ่งที่มีความเสี่ยงทางคดี ทั้งคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สำหรับกรณีของนิรนามก็มีความน่าสนใจว่า มีการฟ้องด้วยความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหามาตรา 112 แต่ถึงกระนั้น เมื่อนิรนามถูกควบคุมตัวครั้งแรก ศาลก็ไม่อนุญาตให้เขาประกันตัวและแม้เขาจะเพิ่มเงินประกันเป็น 500,000 บาท ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะอนุญาตให้นิรนามประกันตัวในภายหลังด้วยวงเงิน 200,000 บาท