กิจกรรมแฟลชม็อบ #จันรีไม่รอกู้เดี๋ยวสู้เอง ตำรวจใช้กฎหมายไม่ถูก สั่งปรับซ้ำซ้อน ต้องใช้ข้อหาเดียวเท่านั้น

49608490777_661847cf96_o

จากเหตุการณ์ที่ผู้จัดกิจกรรม แฟลชม็อบ #จันรีไม่รอกู้เดี๋ยวสู้เอง โดยจัดการชุมนุมขึ้นที่บริเวณสนามสามเหลี่ยมทุ่งนาเชย อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ผู้จัดไม่ได้แจ้งการชุมนุมตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) ให้ถูกต้องก่อน ผู้จัดกิจกรรมถูกตำรวจสั่งปรับฐานกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ สองข้อหาคือ จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามมาตรา 10 และแจ้งการชุมนุมไม่ยื่นคำร้องขอผ่อนผันกำหนดเวลา ตามมาตรา 12 ข้อหาละ 10,000 บาท และสุดท้ายขอต่อรองลดค่าปรับเหลือข้อหาละ 2,500 บาท ทั้งที่ความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ สองฐานความผิดนั้น ตำรวจไม่สามารถนำมาปรับพร้อมกันได้ เนื่องจากการกระทำตามสองมาตรานี้จะเกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้

 

พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้ผู้จัดการชุมนุมมีหน้าที่แจ้งการชุมนุม แต่ไม่ใช่การขออนุญาต

ในการจัดกิจกรรมดังกล่าวตำรวจได้อ้างว่า ผู้จัดกิจกรรมมีความผิดเนื่องจากฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ดังนี้

มาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดว่า ผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ให้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง

มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดว่า ให้ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะซึ่งไม่สามารถแจ้งการชุมนุมได้ภายในกําหนดเวลาตามมาตรา 10 แจ้งการชุมนุมพร้อมคําขอผ่อนผันกําหนดเวลาดังกล่าวต่อผู้บังคับการตํารวจ ผู้รับผิดชอบพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร หรือผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัดในจังหวัดอื่นแล้วแต่กรณี ก่อนเริ่มการชุมนุม

โดยมาตรา 28 ผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรา 10 และ 12 จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

ซึ่ง พ.ร.บ. ชุมนุมฯ มีหลักการสำคัญอยู่ในมาตรา 10 เรื่องหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุม ใครจะจัดชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 28 คือ อาจจะถูกปรับได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

อย่างไรก็ตามหากผู้จัดการชุมนุมไม่สามารถแจ้งได้ทันตามมาตรา 10 ก็ยังสามารถแจ้ง พร้อมขอผ่อนผันกับตำรวจในท้องที่ที่มีการชุมนุมได้ตามมาตรา 12 หมายความว่าหากแจ้งไม่ทันก่อนจัดชุมนุม 24 ชั่วโมง แต่ก็ยังต้องการ “แจ้งชุมนุม” เท่าที่จะทำได้ นอกจากจะต้องแจ้งการชุมนุมเช่นเดียวกับมาตรา 10 แล้ว ยังต้องเพิ่ม “คำขอผ่อนผัน” ด้วยเพื่อแสดงเหตุผลว่า เหตุใดจึงไม่สามารถแจ้งการชุมนุมได้ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งถือว่า เป็นทางออกสำหรับผู้จัดการชุมนุมที่ไม่ได้แจ้งชุมนุมตามเวลาที่กำหนด

สำหรับผู้จัดที่ไม่แจ้งการชุมนุม ตามมาตรา 10 และไม่ขอผ่อนผัน ตามมาตรา 12 ก็จะมีความผิดตามมาตรา 28 เช่นเดียวกัน

การแจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ใช่การขออนญาต เป็นเพียงการแจ้งเพื่อให้ตำรวจเตรียมการอำนวยความสะดวกในการชุมนุมเท่านั้น และการแจ้งชุมนุมสมบูรณ์เมื่อได้ยื่นหนังสือแจ้งการชุมนุม และมีการรับหนังสือแจ้งการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

มาตรา 10 และมาตรา 12 ไม่สามารถผิดพร้อมกันได้

การจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามมาตรา 10 และแจ้งการชุมนุมโดยไม่ยื่นคำร้องขอผ่อนผันกำหนดเวลาตามมาตรา 12 นั้นไม่สามารถเกิดความผิดขึ้นพร้อมกันได้

การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 10 คือ กรณีที่ผู้จัดการชุมนุมไม่แจ้งต่อตำรวจว่าจะมีการชุมนุม เจตนาของมาตรานี้ต้องการให้ทุกคนที่จะจัดการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุม ความผิดที่จะเป็นการฝ่าฝืนมาตรานี้คือ ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบผู้จัดการชุมนุมไม่มีการแจ้งตำรวจว่าจะจัดการชุมนุมเลย

ส่วนมาตรา 12 นั้น เป็นมาตราที่ให้โอกาสมากขึ้นในการแจ้งการชุมนุม เพราะหลักการคือต้องแจ้งการชุมนุมก่อน 24 ชั่วโมง แต่มาตรา 12 ยืดหยุ่นให้สิทธิผู้จัดการชุมนุมที่จะแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่า 24 ชั่วโมงได้ แต่กฎหมายบังคับให้ต้องเพิ่มการแจ้งขอผ่อนผันด้วย ซึ่งหมายความว่า เมื่อผู้จัดการชุมนุมต้องการจัดการชุมนุมอย่างเร่งด่วน ก็สามารถไปแจ้งการชุมนุมกับตำรวจพร้อมขอผ่อนผันได้เลย

การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 12 คือ ผู้จัดการชุมนุมมีเจตนาที่จะ “แจ้งการชุมนุม” แต่ไม่สามารถแจ้งได้ทันก่อน 24 ชั่วโมงแล้ว และต่อมาไป “แจ้งการชุมนุม” พร้อม “คำขอผ่อนผัน” เรื่องระยะเวลาการแจ้ง แต่ตำรวจไม่ให้ผ่อนผัน (ไม่ให้แจ้งการชุมนุม) แล้วผู้จัดยังจัดการชุมนุมสาธารณะ หรือแจ้งการชุมนุมไม่ถึง 24 ชั่วโมงก่อนจัดการชุมนุม แต่ “ไม่ได้ขอผ่อนผัน” มาด้วย แล้วยังทำการจัดการชุมนุมสาธารณะ ก็เข้าความผิดตามมาตรา 12 เช่นกัน

การกระทำความผิดสองมาตรานี้ไม่อาจจะเกิดขึ้นพร้อมกันได้ในการชุมนุมครั้งหนึ่งๆ เนื่องจากมีจุดตัดกันอยู่ที่ว่า มี “การแจ้งการชุมนุม” หรือไม่ กรณีความผิดตามมาตรา 10 คือ ไม่มีการแจ้งการชุมนุมเกิดขึ้นเลยทั้งที่สามารถแจ้งได้ แต่กรณีความผิดตามมาตรา 12 คือ มีการแจ้งการชุมนุมแล้วแต่ไม่มีคำขอผ่อนผันแสดงเหตุจำเป็นที่แจ้งช้า หรือขอผ่อนผันแล้วแต่ตำรวรจไม่ให้

อีกทั้งใน เจตนารมณ์ของร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ สำหรับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อครั้งพิจารณากฎหมาย ส่วนของบทกำหนดโทษในมาตรา 28 ได้แยกโทษทั้งสองมาตราออกจากกันชัดเจน โดยเขียนไว้ว่า ให้บังคับใช้กับผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ (1) โดยไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ (มาตรา 10) หรือ (2) จัดขึ้นหลังจากที่ผู้ยื่นคำขอได้รับหนังสือแจ้งว่าไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะผ่อนผันกำหนดเวลา (มาตรา 12) … ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

 

กิจกรรมแฟลชม็อบ #จันรีไม่รอกู้เดี๋ยวสู้เอง ตำรวจต้องเลือกปรับข้อหาเดียวเท่านั้น

จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในกิจกรรมแฟลชม็อบ #จันรีไม่รอกู้เดี๋ยวสู้เอง ผู้จัดกิจกรรมแจ้งการชุมนุมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 10.00 น. ต่อตำรวจ สภ.เมืองจันทบุรี ว่าจะจัดงานในเวลา 18.00 น. ก่อนหน้าการชุมนุมไม่ถึง 24 ชั่วโมง และแจ้งการใช้เครื่องขยายเสียงต่อเทศบาลเมืองจันทบุรี ซึ่งทั้งหมดร้อยเวรที่อยู่ประจำวันได้รับแจ้งไว้แล้ว

ต่อมา พ.ต.อ.พงศ์รพี รพีถวิลวรรณ ผู้กำกับการ สภ.เมืองจันทบุรีแจ้งต่อผู้จัดกิจกรรมว่า การชุมนุมของผู้จัดกิจกรรมไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ผู้จัดกิจกรรมไม่สามารถเลื่อนเวลาออกไปได้แล้ว ยืนยันที่จะจัดตามกำหนดเดิม

ระหว่างงาน ผู้กำกับการ สภ.เมืองจันทบุรีได้ออกประกาศเรื่อง ให้ผู้ชุมนุมยกเลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยสรุปว่า การชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายในเวลา 20.00 น. และขอให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ชุมนุมที่ พ.ร.บ.ชุมนุมฯกำหนดไว้

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ผู้จัดกิจกรรมนั้นพยายามจะ “แจ้งการชุมนุม” ในเวลา 10.00 น. แล้ว และร้อยเวรได้รับเอกสารไว้แล้ว เมื่อมีคำสั่งจากผู้กำกับการ สภ.เมืองจันทบุรี ภายหลังว่า การชุมนุมไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ผู้จัดการชุมนุมก็ยังทำการจัดการชุมนุมตามเดิม จนจัดกิจกรรมเสร็จสิ้นแล้วถูกปรับ ตำรวจจะสั่งลงโทษปรับได้ต้องใช้มาตรา 12 เท่านั้น

เห็นได้ว่าที่ตำรวจ สภ.จันทบุรี ลงโทษปรับสองข้อหาพร้อมกันทั้งมาตรา 10 และมาตรา 12 เป็นการใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง

ทั้งมาตรา 10 และมาตรา 12 ไม่สามารถนำมาใช้พร้อมกันกับการชุมนุมครั้งเดียวทำให้โทษปรับสูงขึ้นเป็นสองเท่าได้

กรณีนี้ผู้จัดกิจกรรมได้แจ้งการชุมนุมแล้ว แต่แจ้งในระยะเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง จึงไม่อาจถูกลงโทษตามมาตรา 10 ได้

ใบเสร็จค่าปรับ ฝ่าฝืนมาตรา 10

 

ใบเสร็จค่าปรับ ฝ่าฝืนมาตรา 12

 

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว