ห้ามถ่ายรูป ห้ามยึดบัตร ไม่ใช่ตำรวจทุกคนที่จะขอดูบัตรประชาชนได้

จากที่มีกิจกรรม Flash mob หลากหลายกิจกรรมทั่วประเทศเกิดขึ้น เกิดปัญหาหนึ่งที่ทำให้สงสัยกันว่า เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาขอตรวจบัตรประชาชนของนักศึกษาหรือผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทำได้หรือไม่?

49590276813_48f911747f_o

 

กฎหมายบังคับให้พกบัตรประชาชน

ในเรื่องบัตรประชาชนมีกฎหมายที่กำหนดไว้คือ พระราชบัญญัติบัตรประจําตัวประชาชน พ.ศ. 2526 ซึ่งมาตรา 5 กำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทยอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ และมีชื่ออาศัยอยู่ในทะเบียนบ้านต้องมีบัตรประชาชนตามที่กําหนดในกฎหมายนี้

ซึ่งในมาตรา 17 ของกฎหมายดังกล่าว กำหนดไว้ว่า “ผู้ถือบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป ผู้ใดไม่สามารถแสดงบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับ เมื่อเจ้าพนักงานตรวจบัตรขอตรวจ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท”

หมายความว่า ผู้ที่ถือบัตรประจำตัว อายุ 15 ปีขึ้นไป มีหน้าที่ต้องพกบัตรประชาชนติดไว้กับตัว และแสดงบัตรประจำตัวกับเจ้าพนักงานตรวจบัตรเมื่อถูกขอตรวจ ไม่เช่นนั้นจะมีโทษปรับ 200 บาท ซึ่งถือว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ “เจ้าพนักงานตรวจบัตร” ที่สามารถขอตรวจได้ตามกฎหมาย (กรณีที่เด็กอายุ 7 ปี สามารถทำบัตรประชาชนได้ เป็นการให้ทำไว้ก่อน แต่ไม่ได้บังคับให้พกติดตัวตามกฎหมายฉบับนี้)

*ซึ่งโทษปรับที่มีกำหนดไว้ 200 บาทนั้น มีการแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นมาเมื่อปี 2542 โดยเหตุผลการแก้ไขให้มีโทษปรับ 200 บาท คือ ความผิดเกี่ยวกับบัตรประชาชนกระทบความมั่นคง จึงแก้โทษให้หนักขึ้น

 

“เจ้าพนักงานตรวจบัตร” นอกด่านตรวจ ต้องเป็นตำรวจยศร้อยตรีขึ้นไปเท่านั้น

เมื่อกฎหมายกำหนดให้ “เจ้าพนักงานตรวจบัตร” สามารถตรวจการพกบัตรประจำตัวประชาชนได้ แต่กฎหมายที่กำหนดว่าใครคือ “เจ้าพนักงานตรวจบัตร” บ้าง มีกำหนดไว้อยู่ใน คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 1496/2561 เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานตรวจบัตร

ซึ่งกำหนดให้ “เจ้าพนักงานตรวจบัตร” ได้แก่

1. ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอำเภอ และข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่นายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป เป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตรภายในเขตอำนาจหน้าที่

2. ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน และเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ตามด่านตรวจที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตร เฉพาะในด่านตรวจนั้น

3. ในเขตของกรุงเทพมหานคร ให้ผู้อำนวยการเขต ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายทะเบียน หัวหน้าฝ่ายปกครอง หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ เจ้าพนักงานปกครอง และเจ้าพนักงานเทศกิจ เป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตร เฉพาะในเขตนั้น

4. ให้ปลัดเมืองพัทยา รองปลัดเมืองพัทยา หัวหน้าสำนักปลัดเมืองพัทยา หัวหน้าฝ่ายทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน หัวหน้าฝ่ายป้องกันและรักษาความสงบ นักจัดการงานทะเบียนและบัตร และนักจัดการงานเทศกิจ เป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตร เฉพาะในเมืองพัทยา

5. ให้ปลัดเทศบาล รองปลัดเทศบาล หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาล ผู้อำนวยการกองทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน หัวหน้าฝ่ายทะเบียนราษฎร หัวหน้าฝ่ายบัตรประจำตัวประชาชน หัวหน้าฝ่ายทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน หัวหน้าฝ่ายปกครอง หัวหน้าฝ่ายป้องกันและรักษาความสงบ นักจัดการงานเทศกิจ นักจัดการงานทะเบียนและบัตร และหัวหน้าฝ่ายและข้าราชการตั้งแต่ระดับปฏิบัติการขึ้นไปหรือเทียบเท่าซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎรหรือบัตรประจำตัวประชาชน เป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตรในเทศบาลนั้น

ซึ่งหมายความว่าตามข้อ 1. “เจ้าพนักงานตรวจบัตร” ที่เป็นตำรวจสามารถขอตรวจบัตรประชาชนในพื้นที่ทั่วไปได้ ต้องเป็นตำรวจยศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป เท่านั้น ส่วนตำรวจชั้นประทวนจะขอดูบัตรประชาชนได้ต้องอยู่ที่ด่านตรวจที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

เพราะฉะนั้นหากถูกขอตรวจบัตรประชาชน เราสามารถขอดูบัตรประจำตัวตำรวจว่าเป็นตำรวจจริงหรือไม่ และมียศระดับร้อยตำรวจตรีขึ้นไปหรือไม่ โดยเฉพาะตำรวจนอกเครื่องแบบ

 

กฎหมายให้อำนาจหน้าที่ตำรวจตรวจการพกบัตรประชาชนเท่านั้น ไม่ได้ให้อำนาจถ่ายรูปบัตรประชาชน

จากที่กล่าวมาข้างต้น กฎหมายได้ให้อำนาจ “เจ้าพนักงานตรวจบัตร” หรือตำรวจ ในการตรวจการพกบัตร เพื่อให้ประชาชนแสดงบัตรประชาชนว่าพกมากับตัวหรือไม่เท่านั้น

แต่กฎหมายดังกล่าวไม่มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ให้ตำรวจสามารถจะถ่ายรูปบัตรประชาชน หรือขอยึดบัตรประชาชนไว้กับตัวของตำรวจได้เลย เนื่องจากบัตรประชาชนของเราถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของเราทั้งใบ การใช้สำเนาบัตรประชาชนยังต้องมีการเซ็นรับรองสำเนา

เมื่อกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจตำรวจในส่วนนี้ไว้ ก็ไม่สามารถทำได้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หากพบเห็นการกระทำอย่างนั้นสามารถถามตำรวจได้เลยว่าเขาใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายข้อใดในการถ่ายรูปบัตรประชาชน หรือยึดบัตรประชาชนของเราไป

และถึงแม้ตำรวจจะตรวจบัตรได้แต่ก็ไม่ควรจะกระทำเกินสมควรเกินกว่าเหตุ จนกระทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมนั้น

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว