4 ปีในศาลทหาร 2 วันในศาลปกติ ย้อนรอยคดีโปรยใบปลิวต้าน คสช. ที่ระยอง

เป็นระยะเวลา 5 ปีพอดี สำหรับการพิจารณาคดี “โปรยใบปลิว” และชีวิตของ “พลวัฒน์” เด็กหนุ่มคนหนึ่งที่เดินหน้าและเติบโตไปภายใต้ยุคสมัยของ คสช.

เมื่อปี 2558 ระหว่างที่ คสช. ยังกระชับอำนาจทางการเมืองอย่างเข้มข้น การโปรยใบปลิวต่อต้านถือเป็นเรื่องใหญ่โตและเป็นคดีในหมวดความมั่นคงของรัฐที่ต้องขึ้นศาลทหาร ศาลทหารมีกระบวนการพิจารณาคดีที่เชื่องช้า และเลื่อนการนัดหมายเป็นเรื่องปกติ ทำให้จำเลยมีภาระติดตัวต้องเดินทางไปขึ้นศาลอยู่เป็นระยะๆ เป็นเวลาราว 4 ปี จากนั้นในยุค ‘คสช.2’ ก็ใช้เวลาในศาลปกติอีก 2 วัน

ก่อนที่จะมีการอ่านคำพิพากษาในวันที่ 26 มีนาคมนี้ที่ศาลจังหวัดชลบุรี ไอลอว์รวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน ประมวลทั้งหมดเพื่อให้เห็นภาพการต่อต้านของประชาชนและการดำเนินคดีในยุค คสช.

 

ใบปลิววาทะ ‘ครอง จันดาวงศ์’ โผล่ 4 จุดที่ระยอง

เหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2558 เวลาประมาณ 1.00 น. ปรากฏมีใบปลิวข้อความว่า

“ตื่น และลุกขึ้นสู้ได้แล้ว … ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”

พร้อมกับภาพสัญลักษณ์ “สามนิ้ว” ถูกพิมพ์ลงบนกระดาษขนาด A4 หลายแผ่น ปรากฏอยู่ตามสถานที่ 4 แห่งในจังหวัดระยอง และบางแห่งเป็นการนำใบปลิวไปแปะที่แผ่นป้ายโฆษณาหน้าป้ายรถเมล์

  • หน้าโรงเรียนอนุบาลระยอง
  • ทางเข้าสวนศรีเมือง
  • หน้าโรงเรียนระยองวิทยาคม
  • ม้าหินอ่อนหน้าวิทยาลัยเทคนิคระยอง

“เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ประโยคนี้เป็นวาทะของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยรุ่นแรกอย่าง ครูครอง จันดาวงศ์ โดยเป็นคำพูดสุดท้ายของเขาก่อนถูกประหารชีวิตด้วยมาตรา 17 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี 2504

การปรากฏขึ้นของใบปลิวจำนวนไม่มากนี้ถูกโพสต์เผยแพร่บนเฟซบุ๊กเพจศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) และสำนักข่าวมติชนออนไลน์นำไปเผยแพร่ต่อ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นที่รับรู้กันมากนักในสังคมไทยนอกจากในหมู่นักกิจกรรมที่สนใจการเมือง และไม่ได้ก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนถึงขนาดจะโค่นล้มรัฐบาลได้

แต่เนื่องจากเป็นการแสดงออกทางการเมืองในแนวทางต่อต้าน คสช. ครั้งแรกในจังหวัดระยองนับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 คดีนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่มีอำนาจรับผิดชอบพื้นที่

ภาพใบปลิวปรากฏตัวหลายจุด จากเฟซบุ๊กเพจ ศนปท.

27 มีนาคม 2558 หรือ 6 วันหลังมีภาพใบปลิวปรากฏขึ้น ตำรวจก็จัดแถลงข่าวพร้อมเปิดตัวผู้ต้องหา เป็นชายหนุ่มอายุ 22 ปี ชื่อ พลวัฒน์ ตามข่าวบอกว่าเป็นชาวจังหวัดระยองและมีอาชีพเป็นพนักงานช่างเทคนิคในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง

หลังถูกจับพลวัฒน์ถูกส่งตัวไปควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหารที่จังหวัดชลบุรี 1 คืน และส่งต่อมานอนในห้องขังที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดระยองอีก 2 คืน เมื่อรับตัวต่อมาจากทหาร ตำรวจก็แจ้งข้อหากับพลวัฒน์ ดังนี้

  1. ฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
  2. ฐานเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557
  3. ฐานโปรยใบปลิวโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
  4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการถ่ายรูปใบปลิวส่งไปยังเฟซบุ๊กของเพจ ศนปท.

เบื้องต้นพลวัฒน์ยอมรับว่า เป็นคนจัดทำใบปลิวขึ้นเอง นำใบปลิวไปโปรยและถ่ายรูปส่งให้เพจ ศนปท. จริง แต่ไม่ได้มีเจตนายุยงปลุกปั่น หรือทำให้กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ

ในช่วงเวลานั้น คดีที่มีข้อหาในหมวดความมั่นคงของรัฐ อย่างคดีมาตรา 116 ต้องพิจารณาคดีที่ศาลทหารตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 พลวัฒน์จึงถูกส่งตัวไปยังศาลมณฑลทหารบกที่ 14 ที่ตั้งอยู่ภายในค่ายนวมินทราชินี จังหวัดชลบุรี เพื่อขออำนาจศาลฝากขัง และในวันเดียวกันนั้นเอง ศาลทหารก็สั่งให้พลวัฒน์ได้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 70,000 บาท เขาถูกนำตัวไปเรือนจำจังหวัดชลบุรีและปล่อยตัวจากเรือนจำในช่วงเย็นวันเดียวกัน

ภายหลังพลวัฒน์เล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า ระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหาร โทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ของเขาถูกตรวจค้นอย่างละเอียด เขาถูกซักถามซ้ำๆ ว่ามีใครอยู่เบื้องหลังการโปรยใบปลิวของเขาหรือไม่ เจ้าหน้าที่ทหารยังพูดคุยไปในแนวทางว่า การรัฐประหารครั้งนี้เป็นไปเพื่อความสงบของบ้านเมือง และขอร้องให้เขาหยุดพูดหรือทำการในลักษณะดังกล่าวอีก

 

เหตุแห่งคดี : “ทนไม่ไหว” จึงโปรยใบปลิว

พลวัฒน์เล่าถึงประวัติของตัวเองว่า เขาไม่ได้เป็นนักกิจกรรม ไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน แต่มีเพื่อนที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมเป็นนักเคลื่อนไหวทำกิจกรรมร่วมกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จากการติดตามสถานการณ์ทางการเมือง เห็นการจับกุมกลุ่มคนที่คัดค้านการรัฐประหารแล้วรู้สึกทนไม่ไหวจึงออกมาโปรยใบปลิว เหตุที่ทำไปเพราะรู้สึกว่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อนักศึกษาป่าเถื่อนเกินไป

“อย่างเช่นการที่ผู้หญิงโดนจิกหัว ลากหัวไป ผู้ชายโดนล็อคคอ มันรุนแรงเกินไปกับการที่นักศึกษาแค่ออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองในระบอบประชาธิปไตย เราก็เลยโปรยใบปลิวต่อต้านเผด็จการในตอนนั้น…พอทำไปก็ออกเป็นข่าว เราก็โดนตำรวจไล่ตามตัว แต่ก็ไม่ได้หนีไปไหน พอดีที่โรงงานมีงาน เราเลยอยู่ช่วยงานก่อน แล้วคิดว่าจะไปมอบตัวในวันจันทร์ แต่ทางตำรวจกับทางทหารเขาประสานงานเข้ามาในโรงงาน แล้วมาพาตัวไปก่อน” พลวัฒน์เล่าย้อนหลังถึงวันที่ถูกจับกุม

 

ตำรวจพลิกแผ่นดิน ตามตัวจากกล้องวงจรปิด

แม้ว่าพลวัฒน์จะยอมรับว่าเป็นคนโปรยใบปลิวเอง แต่ในชั้นพิจารณาคดีในศาลทหาร ตำรวจและทหารที่เกี่ยวข้องก็ยังคงมีหน้าที่เบิกความบรรยายรายละเอียดวิธีการตามหาตัวผู้ต้องสงสัยฐานโปรยใบปลิว ทำให้เราได้เห็นถึงความ “จริงจัง” ของหน่วยงานความมั่นคงในเรื่องนี้

พ.ต.ท.วิรัตน์ เตชนันท์ ตำรวจผู้สืบสวนและจับกุมตัวจำเลยเล่าว่า รุ่งขึ้นถัดจากวันเกิดเหตุ ตำรวจสันติบาลเป็นผู้แจ้งและนำใบปลิว 3 แผ่นมาส่งให้ จากนั้นมีการประชุมของชุดสืบสวนที่สนธิกำลังกันระหว่างกองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 2, กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยอง และ สภ.เมืองระยอง ซึ่งถูกแต่งตั้งมาปฏิบัติงานในคดีนี้โดยเฉพาะ

ในฐานะหนึ่งในชุดสืบสวน พ.ต.ท.วิรัตน์ได้นำกำลังเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ แต่ไม่พบหลักฐานเนื่องจากถูกชุดตำรวจสันติบาลเก็บตั้งแต่วันเกิดเหตุแล้ว จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดในพื้นที่ใกล้เคียงสามารถบันทึกภาพผู้ต้องสงสัยขณะก่อเหตุเอาไว้ได้ เมื่อตรวจสอบพบผู้ต้องสงสัยเป็นชายสวมเสื้อยืดคอกลมสีขาว กางเกงขาสั้น ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ทยอยโปรยใบปลิว 3 จุด เมื่อถามปากคำของผู้เชี่ยวชาญด้านรถจักรยานยนต์ระบุว่า รถคันดังกล่าวเป็นยี่ห้อ ฮอนด้า รุ่น X1 สีน้ำเงิน ตำรวจชุดสืบสวนได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดตามเส้นทางโดยรอบ เห็นว่า ผู้ต้องสงสัยหลบหนีไปจนสิ้นสุดที่หมู่บ้านราชพฤกษ์

พ.ต.ท.วิรัตน์เล่าต่อว่า จากการค้นหาภายในเขตหมู่บ้านราชพฤกษ์ พบรถจักรยานยนต์ลักษณะคล้ายพาหนะที่ใช้ก่อเหตุ ตรวจสอบข้อมูลการถือครองรถและเอกสารการเสียภาษีของกรมการขนส่งทางบกแล้วพบว่าจดทะเบียนในชื่อของนายณัฐวุฒิ และพบว่าพลวัฒน์ บุตรชายของณัฐวุฒิ มีรูปพรรณสัณฐานใกล้เคียงกับภาพที่ปรากฏในกล้องวงจรปิด จึงทำการสืบสวนเชิงลึก โดยดูบัญชีเฟซบุ๊กของพลวัฒน์ แล้วพบว่า เป็นผู้มีแนวคิดทางการเมืองแบบที่น่าจะเป็นแรงจูงใจให้ก่อเหตุ จึงนำกำลังไปเชิญตัวพลวัฒน์มาจากที่ทำงาน

พลวัฒน์กับทนายความ หน้าศาลทหาร ถ่ายเมื่อสิงหาคม 2561

 

4 ปีในศาลทหาร สืบพยานได้ 4 ปาก เจอเลื่อนแล้วเลื่อนอีก

ในชั้นตำรวจแม้พลวัฒน์จะถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 ด้วย แต่ประกาศนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมเนื้อหาที่สื่อมวลชนนำเสนอ และไม่ได้มีโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน ในชั้นศาลเมื่ออัยการทหารพิจารณาแล้วจึงไม่ได้ยื่นฟ้องตามข้อกล่าวหานี้ด้วย ส่วนข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เนื่องจากพลวัฒน์รับว่าได้โปรยใบปลิวจริง ตำรวจจึงให้เปรียบเทียบปรับ 500 บาทแล้วข้อหานี้เป็นอันสิ้นสุดลง เหลือข้อหาที่ถูกยื่นฟ้อง คือ มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เท่านั้น

แม้พลวัฒน์จะถูกจับกุมและตั้งข้อกล่าวหาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 แต่คดีก็ไม่ได้ถูกเร่งรัดให้ส่งฟ้องต่อศาลโดยเร็ว ศาลทหารนัดให้พลวัฒน์มาขึ้นศาลครั้งแรกในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559

ในนัดนั้นพลวัฒน์ขอเลื่อนการให้การต่อศาลออกไปก่อน เพราะเพิ่งได้พบกับทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่มาให้ความช่วยเหลือเป็นครั้งแรก ศาลก็อนุญาตให้เลื่อนไปนัดหน้า และเนื่องจากคดีในศาลทหารใช้ระบบการพิจารณาคดีแบบไม่ต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาคดีเสร็จในแต่ละวันก็จะต้องเลื่อนออกไปอีกเป็นเวลา 2-3 เดือน เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

ด้วยระบบเช่นนี้ ทำให้บางครั้งจำเลยเดินทางมาศาลแล้วแต่ก็ไม่ได้มีการพิจารณาคดี เพราะพยานที่ต้องเบิกความไม่มาศาลตามนัด หรือในวันที่มีการสืบพยานเกิดขึ้นก็นัดพยานมาแค่คนเดียว เริ่มสืบพยานกันในเวลาเกือบ 10.00 น. ถึง 12.00 น. เท่านั้น ทำให้พลวัฒน์และพ่อซึ่งมีสถานะเป็นนายประกันต้องลางาน เพื่อเดินทางจากบ้านที่ระยองไปยังศาลทหารชลบุรีตามนัด ทั้งหมด 14 ครั้งในเวลาประมาณ 4 ปี

รายละเอียดมีดังนี้

  • 11 พฤศจิกายน 2559 ไปศาลตามนัดสอบคำให้การ จำเลยขอเลื่อน
  • 6 กุมภาพันธ์ 2560 ไปศาลตามนัดสอบคำให้การ จำเลยให้การปฏิเสธ
  • 9 พฤษภาคม 2560 นัดตรวจพยานหลักฐาน
  • 4 กันยายน 2560 นัดสืบพยานโจทก์ปากแรก พยานไม่มาศาล จึงเลื่อนไปนัดหน้า
  • 6 พฤศจิกายน 2560 นัดสืบพยานโจทก์ปากแรก พยานไม่มาศาล จึงเลื่อนไปนัดหน้า
  • 6 กุมภาพันธ์ 2561 สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง เสร็จเรียบร้อย นัดหมายนัดหน้า
  • 4 เมษายน 2561 สืบพยานโจทก์ปากที่สอง เสร็จเรียบร้อย นัดหมายนัดหน้า
  • 14 มิถุนายน 2561 นัดสืบพยานโจทก์ปากที่สาม พยานไม่มาศาล จึงเลื่อนไปนัดหน้า
  • 28 สิงหาคม 2561 สืบพยานโจทก์ปากที่สาม เสร็จเรียบร้อย นัดหมายนัดหน้า
  • 30 ตุลาคม 2561 นัดสืบพยานโจทก์ปากที่สี่ พยานไม่มาศาล จึงเลื่อนไปนัดหน้า
  • 17 ธันวาคม 2561 สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ เสร็จเรียบร้อย นัดหมายนัดหน้า
  • 27 กุมภาพันธ์ 2562 นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ห้า พยานไม่มาศาล จึงเลื่อนไปนัดหน้า
  • 17 พฤษภาคม 2562 นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ห้า พยานไม่มาศาล จึงเลื่อนไปนัดหน้า
  • 23 กรกฎาคม 2562 นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ห้า คสช. สั่งยกเลิกการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารแล้ว ศาลทหารจึงสั่งโอนคดีกลับไปศาลปกติ

ก่อนการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นหมุดหมายให้ คสช.หมดอำนาจและหมดสถานะทางกฎหมาย คสช.ก็ได้ใช้อำนาจตาม “มาตรา 44” เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่งของตัวเองรวม 78 ฉบับ ซึ่งรวมทั้งการยกเลิกการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร และสั่งให้โอนคดีที่ยังพิจารณาค้างอยู่กลับไปพิจารณาต่อที่ศาลปกติ ตามระบบปกติด้วย ทำให้นัดหมายการพิจารณาคดีที่ศาลทหารของพลวัฒน์ในเดือนกรกฎาคม 2562 จึงไม่มีการสืบพยานตามที่นัดไว้ ศาลทหารเพียงแจ้งสั้นๆ ว่า ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้อีกต่อไปแล้วและให้จำหน่ายคดีออกจากศาลทหาร

“เอาจริงๆ ก็รู้สึกใจหายนะ เพราะอยู่ศาลทหารมาตั้งนานแล้ว ต้องไปเจอประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ศาลพลเรือนแทน กับคดีก็ยังรู้สึกเฉยๆ อยู่ เราไม่ได้ไปฆ่าคนตาย ถ้าเป็นที่อื่นคดีแบบนี้คงหลุดกันหมดแล้ว แต่ของผมก็อยู่มา 4-5 ปีแล้ว และจากที่คุยกับทนายก็คิดว่าเมื่อไปศาลพลเรือนแล้วไม่น่าห่วง” พลวัฒน์เล่าความรู้สึกในวันสุดท้ายที่เดินทางไปขึ้นศาลทหาร

เมื่อถามว่า ประสบการณ์ภายใต้บัลลังก์ศาลที่ผู้พิพากษาเป็นทหารให้ความรู้สึกอย่างไร พลวัฒน์ตอบว่า

“มันก็ไม่ได้น่ากลัวอะไร เหมือนกับศาลที่ทำหน้าที่ตัดสินธรรมดา แต่มันอยู่ใต้อำนาจและอยู่ในรั้วของทหาร เท่าที่ดูการสืบพยานที่ผ่านมาบรรยากาศก็ไม่ได้เลวร้าย ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ แต่ปัญหาที่น่ากังวล คือ ในศาลทหารไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้”

ภาพพลวัฒน์กับพ่อ ถ่ายเป็นที่ระลึกวันสุดท้ายที่ศาลทหาร ก่อนโอนคดีไปศาลปกติ

 

2 วันในศาลปกติ ประเด็นซ้ำพยานไม่ต้องเบิกความซ้ำ

11 พฤศจิกายน 2562 ศาลจังหวัดระยองซึ่งเป็นศาลที่พิจารณาคดีของพลเรือนในภาวะปกติเรียกให้พลวัฒน์ไปศาลครั้งแรก หลังได้รับโอนสำนวนคดีมาจากศาลทหาร

พลวัฒน์และพ่อเดินทางไปศาลตามนัด แต่เป็นการเดินทางที่ง่ายขึ้นเพราะบ้านของเขาห่างจากศาลจังหวัดระยองไปไม่ถึง 15 นาที อัยการฝ่ายโจทก์ที่มาทำหน้าที่ที่ศาลแห่งนี้เป็นพลเรือน ซึ่งรับโอนคดีต่อมาจากศาลทหารก็ไม่ได้แสดงอาการ “เอาจริงเอาจัง” กับการหวังผลคดีที่จะเอาผิดกับฝ่ายจำเลย หลังสอบถามความพร้อมของทั้งสองฝ่ายแล้ว ศาลจังหวัดระยองนัดสืบพยานที่ยังค้างอยู่แบบต่อเนื่องในวันที่ 23 และ 24 มกราคม 2563

ในวันสืบพยานนัดแรกที่ศาลจังหวัดระยอง พยานฝ่ายโจทก์ที่นัดไว้ 4 ปาก ซึ่งเป็นตำรวจทั้งหมด มาศาลพร้อมกันในช่วงเช้าเพื่อที่จะเบิกความต่อกันให้เสร็จภายในวันเดียว

เมื่อเริ่มสืบพยานปากแรก ที่เบิกความถึงประเด็นวิธีการสืบสวนจนพบตัวจำเลย ศาลก็ทักท้วงว่า คดีนี้จำเลยยอมรับแล้วว่าเป็นคนโปรยใบปลิวจริง จึงไม่จำเป็นต้องเบิกความในรายละเอียดมากนัก ด้านทนายความของพลวัฒน์ก็แจ้งว่า พยานปากนี้ไม่ติดใจจะต้องให้เบิกความกันอีกแล้ว และเคยแถลงกับศาลทหารไว้แล้วว่า ไม่ติดใจสืบพยานปากนี้ แต่ศาลจังหวัดระยองหาบันทึกในสำนวนไม่เจอว่า ศาลทหารได้บันทึกไว้ตรงไหน

เมื่อตกลงกันใหม่แล้ว ศาลจังหวัดระยองจึงให้ยกเลิกการสืบพยานปากนี้ และสืบพยานปากต่อไปทันที ซึ่งเป็นปากที่ 5 และเป็นหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนคดีนี้

การสืบพยานปากที่ห้าของคดีนี้ แต่เป็นปากแรกของศาลจังหวัดระยองเสร็จในเวลาประมาณ 11.00 น. จากนั้นทนายความจำเลยแถลงว่า พยานอีก 2 ปากที่เหลือก็เป็นคณะพนักงานสอบสวนที่ทำงานด้วยกัน น่าจะเบิกความในประเด็นเดียวกันจึงไม่ติดใจจะให้สืบพยานดังกล่าว

ศาลจึงสั่งให้ตัดพยานฝ่ายโจทก์ที่เหลือ และบอกให้ฝ่ายจำเลยนำพยานของตัวเองเข้าเบิกความต่อเลย เพื่อให้การสืบพยานคดีนี้เสร็จไปในช่วงเช้าของวันเดียวกัน แต่พลวัฒน์ซึ่งจะต้องเบิกความเป็นลำดับต่อไปแจ้งต่อศาลว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาทำงานกะกลางคืนทั้งคืน ยังไม่ได้นอน จึงขอเข้าเบิกความในวันรุ่งขึ้นตามที่นัดหมายไว้เดิม

ในวันต่อมา พลวัฒน์ขึ้นเบิกความเองกล่าวถึงแรงจูงใจ เหตุผล ความเชื่อทางการเมืองที่จัดทำใบปลิวขึ้นและนำไปโปรยตามจุดต่างๆ ซึ่งใช้เวลาเบิกความไม่ถึง 30 นาที จากนั้นการสืบพยานคดีนี้ที่ยืดเยื้อมายาวนานก็เสร็จสิ้นลง

“เจตนาที่โปรยใบปลิวไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงขึ้นในบ้านเมือง แต่ต้องการแสดงออกต่อประชาชนว่า ขณะนั้นเราถูกละเมิดสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่ได้ทำไป ไม่ใช่ความผิด ทำไปภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2557 ซึ่งประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสงบได้ แต่หลังจากทำไปแล้วกลับได้รับความเดือดร้อนมาจนถึงวันนี้…” ส่วนหนึ่งจากคำเบิกความของพลวัฒน์

 

จับตาการวินิจฉัยเรื่อง ขอบเขตของเสรีภาพ

26 มีนาคม 2563 เป็นวันที่ศาลจังหวัดระยองนัดฟังคำพิพากษา ขาดอีก 1 วันก็จะครบรอบ 5 ปีเต็มพอดีที่พลวัฒน์ถูกจับกุม พลวัฒน์จะต้องเดินทางไปฟังคำตัดสินในข้อหาที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ด้วยโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี

คดีนี้พลวัฒน์ยอมรับว่า เป็นคนจัดทำใบปลิวและโปรยใบปลิวเองตั้งแต่ชั้นจับกุมตัว ชั้นซักถามในค่ายทหาร ชั้นสอบสวนของตำรวจ และในชั้นศาล ดังนั้นประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยมีเพียงแค่ ใบปลิวที่พลวัฒน์นำไปโปรยซึ่งมีข้อความว่า “ตื่น และลุกขึ้นสู้ได้แล้ว … ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” พร้อมกับภาพสัญลักษณ์ “สามนิ้ว” เป็นความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 116 หรือไม่

ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาล ทนายความจำเลยพยายามถามค้านพยานโจทก์ที่เป็นตำรวจและทหารหลายคำถาม โดยเจาะจงถึงเนื้อหาและข้อความในใบปลิว เช่น การทำรัฐประหารของ คสช. ถือว่า ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่? ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการสิ่งใดควรจะพินาศ สิ่งใดควรจะเจริญ? การคัดค้านรัฐประหารเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามหรือไม่? ซึ่งพยานทุกคนก็พยายามเลี่ยงที่จะไม่ตอบคำถามเหล่านี้ โดยให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องความคิดเห็นส่วนบุคคล และบางคนก็เบิกความไว้น่าสนใจ เช่น

พ.อ.นาวี มาใหญ่ พยานโจทก์ปากที่ 3 เป็นทหาร ตอบคำถามทนายความว่า ไม่ทราบว่า การเข้ามาของคณะรักษาความสงบแห่งชาตินั้นเป็นการทำรัฐประหารหรือไม่ ไม่ทราบว่าเป็นการทำตามกฎหมายหรือไม่ ไม่ทราบว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติถือเป็นเผด็จการหรือไม่ หรือเป็นประชาธิปไตย เกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงออก พ.อ.นาวีเบิกความว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงออกได้ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับ คสช. แต่ต้องอยู่ภายใต้ความมั่นคงของชาติ สำหรับข้อความในใบปลิวที่เขียนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” พ.อ.นาวีไม่ทราบว่า เป็นข้อความที่ผิดกฎหมายหรือไม่ แต่เป็นข้อความที่ขัดต่อความมั่นคงของชาติ

พ.ต.ท.วิรัตน์ เตชนันท์ ตำรวจผู้จับกุมตัวจำเลย ตอบคำถามทนายความว่า ขณะเกิดคดีนี้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ระบุว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อทนายความถามว่า ใบปลิวฉบับนี้ชัดเจนหรือไม่ว่า เป็นการสนับสนุนประชาธิปไตย พยานตอบว่า ในใบปลิวมีข้อความที่ว่า ตื่นและลุกขึ้นสู้ได้แล้ว ชี้ชัดว่า ผู้จัดทำต่อต้านรัฐบาล ถ้าอยู่ในสถานการณ์ปกติ การกระทำเช่นนี้เป็นการแสดงความเห็นทั่วไป แต่ในภาวะพิเศษข้อความเหล่านี้เป็นการจูงใจให้เกิดความไม่สงบขึ้นได้

พ.ต.ท.ยุทธชัย โพธิ์รุ่ง พนักงานสอบสวน ตอบคำถามทนายความว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวปี 2557 ซึ่งมีมาตรา 4 รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ภาพพลวัฒน์กับทนายความ หน้าศาลจังหวัดระยอง วันสุดท้ายที่สืบพยานเสร็จ

ระหว่างที่คดีของพลวัฒน์เดินทางมาอย่างเชื่องช้าเป็นเวลา 5 ปีพอดีๆ บรรยากาศทางการเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว จากวันที่การ “ชูสามนิ้ว” ต้องถูกจับกุม การโปรยใบปลิวต่อต้านเผด็จการเป็นเรื่องใหญ่โตระดับประเทศ จากวันที่คนแสดงออกทางการเมืองต้องถูกเอาตัวเข้าค่ายทหารและส่งฟ้องต่อศาลทหาร มาจนถึงวันที่ประเทศมีการเลือกตั้ง ยกเลิกการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร ยกเลิกข้อจำกัดการแสดงความคิดเห็นบางส่วน

จากวันที่เด็กหนุ่มอายุ 22 ปี ลุกขึ้นมาจัดทำใบปลิวเองและขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปโปรยใบปลิวเอง ทำด้วยตัวคนเดียวไม่มีเพื่อนร่วมทางคอยสนับสนุน จนถึงวันที่นักเรียนนักศึกษา “รุ่นน้อง” ของพลวัฒน์ลุกขึ้นมาจัดกิจกรรมแสดงความคิดเห็นกันทั่วบ้านทั่วเมืองมากกว่า 90 ครั้งในรอบ 3 สัปดาห์ ไม่ใช่แค่เพียงป้ายผ้าที่มีข้อความต่อต้านเผด็จการ แต่พร้อมกันเปิดหน้าเรียกร้องออกมาดังๆ ว่า ต้องการอนาคตของบ้านเมืองแบบใหม่ที่ไม่มีการรัฐประหารอีก

26 มีนาคม 2563 พลวัฒน์ในวัย 27 ปี ได้ผ่านพ้นจากวัยหนุ่มอันห้าวหาญ กลายเป็นคนวัยทำงานเต็มตัวที่มีภาระต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองและครอบครัว กำลังจะเดินไปฟังคำพิพากษาที่จะวางบรรทัดฐานขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงออกที่เกิดขึ้นในยุคของรัฐบาลทหารเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร ซึ่งการพิจารณาคดีที่เชื่องช้ายืดยาวมานานก็ทำให้คดีของเขาจะถูกตัดสินโดยผู้พิพากษาที่เป็นพลเรือน ไม่ใช่ทหาร


ดูรายละเอียดคดีพลวัฒน์ ในฐานข้อมูลได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/case/659