บทบันทึกการชุมนุมภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 โดยอ้างความจำเป็นในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พล.อ.ประยุทธ์อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ของพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับที่ 1 โดยมีข้อ 5 กำหนด “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด” โดยผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดนี้จะมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แม้จะมีข้อจำกัดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และข้อกำหนดห้ามชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งก็ยังออกมาทำกิจกรรมรำลึกถึงเหตุการณ์ทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ที่ครบรอบสิบปีในปีนี้ รวมถึงการรัฐประหาร 2557 ที่ครบรอบหกปีในปีนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มประชาชนที่รวมตัวทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในประเด็นทางเศรษฐกิจเรียกร้องให้ประกันสังคมจ่ายเงินสะสมวัยชราให้ผู้ประกันตนบางส่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนที่ต้องตกงานหรือขาดรายได้เพราะมาตรการรับมือกับโรคโควิด 19 ภายใต้ข้อจำกัดทางกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศห้ามชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้ชุมนุมเองก็มีความพยายามปรับตัว ทั้งปรับรูปแบบกิจกรรมให้เป็นลักษณะของการรำลึกหรือไว้อาลัย บางกลุ่มหลีกเลี่ยงการประกาศเชิญชวนประชาชน ใช้วิธีนัดกันเป็นการส่วนตัวเพื่อไปแสดงสัญลักษณ์เป็นเวลาสั้นๆ

หากนับตั้งแต่วันที่ 13-22 พฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นวันครบรอบหกปี การรัฐประหาร มีการชุมนุมหรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในที่สาธารณะเกิดขึ้นอย่างน้อยแปดครั้ง มีอย่างน้อยสามกรณีที่ผู้จัดหรือเข้าร่วมกิจกรรมถูกดำเนินคดี โดยมีสองกรณีที่ตั้งข้อกล่าวหาด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

 

ตั้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ‘ฟอร์ด เส้นทางสีแดง’ หลังจัดรำลึก เสธ.แดง

วันที่ 13 พฤษภาคม 2553 พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบกถูกยิงเสียชีวิตบริเวณแยกศาลาแดงระหว่างร่วมการชุมนุมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในโอกาสครบรอบ 10 ปี การเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ อนุรักษ์ เจนตะวณิช หรือ ‘ฟอร์ด เส้นทางสีแดง’ นักกิจกรรมทางสังคมประกาศจัดกิจกรรมรำลึกถึง เสธ.แดงบนเฟซบุ๊กของเขา โดยในวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 อนุรักษ์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

“ปีนี้ครบรอบ 10 ปีที่เสธแดงถูกลอบยิงเสียชีวิตในขณะที่ดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนที่มาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่ราชประสงค์ ทุกปีจะมีคนเสื้อแดงที่ไม่ลืมการเสียสละของเขานำดอกไม้ เทียนแดงไปวางตรงที่เขาถูกยิงบริเวณลานพระรูปร.6 จุดขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า BTR สีลมเพื่อรำลึกดวงวิญญาณของเขา ทว่าในวันนี้ที่ยังมี พรก.ฉุกเฉินอยู่ การชุมนุมทางการเมืองยังเป็นสิ่งต้องห้าม แต่หากมีประชาชนต่างคนต่างไปนำดอกไม้และเทียนแดงไปจุด ยืนนิ่งอย่างสงบ 3 นาทีโดยไม่มีกิจกรรมทางการเมืองอย่างอื่น ผมเชื่อว่าตำรวจ สน.ลุมพินีจะไปอำนวยความสะดวก จัดระเบียบให้ประชาชนเข้าออก ตลอดจนดูแลไม่ให้มีการจัดกิจกรรมทางการเมือง รักษาระยะห่าง 1 เมตรเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส ขอขอบคุณทุกท่านมาณ.ที่นี้ #ที่เก่าเวลาเดิม”

งานรำลึกสิบปีการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก 13 พฤษภาคม 2563

เห็นได้ชัดว่า อนุรักษ์เองก็ทราบเรื่องข้อจำกัดการทำกิจกรรมภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพยายามชี้แจงเรื่องการทำกิจกรรมในลักษณะที่น่าจะไม่ขัดต่อกฎหมาย หลังจากนั้นในวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 อนุรักษ์ก็โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กตัวเองอีกครั้ง ทำนองเดียวกันว่า

“พรุ่งนี้ครบรอบ 10 ปีการจากไป ของพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล จุดที่เสธแดงถูกยิงคือบริเวณทางขึ้นลงรถไฟฟ้าใต้ดิน BRT สถานี Silom ฝั่งตรงข้ามรร.ดุสิต วันพรุ่งนี้จะมีคนเสื้อแดงไปจุดเทียนแดง วางดอกไม้แดงเพื่อรำลึกถึงดวงวิญญาณของเขาที่เสียสละชีวิตเพื่อปกป้องประชาชน ถึงแม้ในยามมีพรก.ฉุกเฉินแต่หากไปวางดอกไม้ด้วยความเป็นระเบียบ ใส่หน้ากากอนามัย ใช้เวลาคนละ 3 นาทีและไม่มีการจัดกิจกรรมการเมืองหรือการปราศรัยผมเชื่อว่าตำรวจสน.ลุมพินีจะไปอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเหมือนทุกปี #ที่เก่าเวลาเดิมทุกปี”

งานรำลึกสิบปีการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก 13 พฤษภาคม 2563

ในวันที่ 13 พฤษภาคมเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 50 นาย วางกำลังที่สวนลุมพินีตั้งแต่เวลาประมาณ 16.00 น.โดยที่สวนลุมพินียังมีการนำไวนิลขนาดใหญ่พิมพ์ข้อกำหนดเรื่องห้ามชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินขนาดใหญ่มาติดไว้ด้วย ในเวลาประมาณ 16.50 น. อนุรักษ์และประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมทยอยกันมาถึงที่จุดทำกิจกรรม ระหว่างการทำกิจกรรมอนุรักษ์ประสานงานกับเจ้าหน้าที่และคอยสื่อสารกับผู้ชุมนุมในเรื่องต่างๆ เช่น ให้รักษาระยะห่างในการทำกิจกรรม และห้ามโพสต์รูปภาพระหว่างทำกิจกรรม เจ้าหน้าที่ยังมีการกั้นบริเวณจัดกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมต้องผ่านจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกาย รวมทั้งมีการนำเจลแอลกอฮอลล์มาตั้งให้ผู้ร่วมการชุมนุมใช้ล้างมือก่อนเข้าไปวางดอกไม้ด้วย ในขณะที่กิจกรรมดำเนินไปอนุรักษ์ยังถ่ายทอดสดกิจกรรมบนเฟซบุ๊กเป็นเหตุการณ์ขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งที่มาร่วมไว้อาลัยถือป้ายไวนิลที่มีภาพ เสธ.แดงด้วย โดยประชาชนที่อยู่ในในภาพไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย 

งานรำลึกสิบปีการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก 13 พฤษภาคม 2563

ระหว่างการทำกิจกรรมมีประชาชนอย่างน้อยหนึ่งคนถือป้ายเขียนข้อความซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาเก็บ โดยให้เหตุผลว่ากิจกรรมในวันนี้เป็นการไว้อาลัย หากถือป้ายข้อความแสดงออกอาจเข้าข่ายการชุมนุม กิจกรรมดำเนินไปอย่างเรียบร้อยจนถึงเวลาประมาณ 19.00 น. ขัตติยา สวัสดิผล บุตรสาวของ พล.ต.ขัตติยะ เดินทางมาไว้อาลัยให้พ่อของเธอ จากนั้นอีกไม่นานกิจกรรมก็ยุติลงด้วยความเรียบร้อย เวลา 19.30 น. อนุรักษ์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปที่ สน.ลุมพินี จากนั้นในเวลา 22.38 น. ในวันเดียวกัน อนุรักษ์โพสต์ภาพบันทึกการจับกุมบนเฟซบุ๊กพร้อมเขียนข้อความสรุปได้ว่า เขาประสานงานและให้ความร่วมมือกับตำรวจด้วยดี ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสวมหน้ากากอนามัย และจัดระเบียบเว้นระยะห่าง แต่น่าจะมาพลาดตรงที่เชิญผู้ร่วมกิจกรรมมาถ่ายภาพกับป้ายภาพ พล.ต.ขัตติยะ โดยเอกสารบันทึกการจับกุมของ สน.ลุมพินีระบุตอนหนึ่งว่า ในขณะที่มีการทำกิจกรรม ผู้ร่วมกิจกรรมหลายคนไม่สวมหน้ากากอนามัย ผู้ร่วมกิจกรรมหลายคนจับกลุ่มพูดคุยกัน ถ่ายภาพร่วมกัน จับกลุ่มกันอย่างแออัดโดยไม่มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล อันเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

ในทางคดีอนุรักษ์ให้การปฏิเสธและต้องวางเงิน 40,000 บาทกับตำรวจเพื่อประกันตัวในชั้นสอบสวน

ดูรายละเอียดคดีของอนุรักษ์

ภาพถ่ายเหตุการณ์ที่อนุรักษ์ระบุว่าน่าจะเป็นหนึ่งในเหตุที่เจ้าหน้าที่นำมาใช้ดำเนินคดีเขา (ภาพจากเฟซบุ๊กฟอร์ด เส้นทางสีแดง

 

รำลึกน้องเฌอและชุมนุมที่ประกันสังคมผ่านไปด้วยดีไม่มีคดีความ

วันที่ 15 พฤษภาคม มีการรวมตัวทำกิจกรรมเกิดขึ้นสองครั้ง ช่วงเช้ากลุ่มผู้ประกันตนรวมตัวกันที่สำนักงานประกันสังคมภายในกระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี เพื่อเรียกร้องให้ประกันสังคมจ่ายเงินสะสมของผู้ประกันตนบางส่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบเพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่วนช่วงเย็นมีกิจกรรมรวมตัวรำลึกครบรอบสิบปีการเสียชีวิตของสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ “เฌอ” เยาวชนวัย 17 ปี ที่เสียชีวิตระหว่างเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ที่ซอยรางน้ำ

กิจกรรมเริ่มในเวลาประมาณ 8.00 น. ผู้ร่วมการชุมนุมประมาณ 20 คนรวมตัวกันที่ป้ายรถประจำทางตรงข้ามสำนักงานประกันสังคม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสวมหน้ากาก บางคนเตรียมป้ายเขียนข้อความทำด้วยกระดาษเอสี่และกระดาษแข็งขนาดใหญ่มาด้วย ในเวลาประมาณ 9.30 น. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเริ่มแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ป้ายรถเมล์ฝั่งตรงข้ามสำนักงานประกันสังคมด้วยการถือป้ายและตะโกนสโลแกน “ขอคืนไม่ได้ขอทาน” โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบสามนายและนอกเครื่องแบบอีกประมาณห้านายมาคอยบันทึกภาพการทำกิจกรรม หลังจากนั้นในเวลา 10.00 น. ผู้ร่วมกิจกรรมทั้ง 20 คน ก็เดินเท้าข้ามฝั่งไปถือป้ายเขียนข้อความให้สื่อมวลชนถ่ายภาพที่หน้าป้ายประกันสังคมก่อนที่จะเดินเข้าไปนั่งที่บริเวณทางเข้าสำนักงานประกันสังคม

การชุมนุมเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินสะสมวัยเกษียณของผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคม 15 พฤษภาคม 2563  

ตลอดเวลาที่ทำกิจกรรมทั้งการเดินและการนั่งสมาธิแผ่เมตตา ผู้ร่วมกิจกรรมจะเว้นระยะห่างกันและสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา กิจกรรมดำเนินไปจนถึงเวลาประมาณ 12.00 น. จึงยุติโดยที่ทางสำนักงานประกันสังคมได้เตรียมข้าวและน้ำดื่มไว้ให้ผู้ร่วมกิจกรรมด้วย มีข้อสังเกตว่าแม้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกือบทุกคนจะถือป้ายเขียนข้อเรียกร้องแต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มาแทรกแซงหรือสั่งให้เก็บป้ายแต่อย่างใด

การชุมนุมเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินสะสมวัยเกษียณของผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคม 15 พฤษภาคม 2563

วันเดียวกันในช่วงค่ำมีอีกกิจกรรมหนึ่งที่ซอยรางน้ำเป็นกิจกรรมรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 ซึ่งบริเวณนั้นมีผู้เสียชีวิตสามคน หนึ่งในนั้นคือสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ “เฌอ” เด็กหนุ่มวัย 17 ปี รวมอยู่ด้วย โดยปกติงานรำลึกที่ “หมุดเฌอ” ซึ่งเป็นแผ่นเหล็กสลักรูปเฌอที่ถูกฝังทับกระเบื้องตรงจุดที่เฌอเสียชีวิตจะเป็นกิจกรรมที่มีคนมารวมตัวหลายคนแต่ในปีนี้มีผู้มาเข้าร่วมรำลึกไม่มากนักคาดว่าน่าจะเป็นเพราะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและไม่มีการประกาศล่วงหน้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ กิจกรรมในวันนั้นมีผู้มาร่วมรำลึกถึงเฌอประมาณ 20 คน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสวมหน้ากากอนามัยเกือบตลอดเวลาแม้แต่ช่วงที่พันธ์ศักดิ์กล่าวคำรำลึกถึงบุตรชายและช่วงที่ศิลปินคนหนึ่งอ่านบทกวีก็ไม่ได้ถอดหน้ากาก

กิจกรรมรำลึกผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมที่ซอยรางน้ำ 15 พฤษภาคม 2563

มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบมาคอยสังเกตการณ์และบันทึกภาพประมาณ 15 – 20 คน หลังกิจกรรมดำเนินไปได้ครู่ใหญ่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่เทศกิจประมาณสามนายเดินมาที่บริเวณนั้นและฝากให้ประชาชนที่อาศัยอยู่แถวนั้นเดินมาบอกกลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมว่าให้จดชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนให้ด้วย และสังเกตเห็นเจ้าหน้าที่เทศกิจคนหนึ่งเข้ามาถ่ายภาพกิจกรรมด้วย แต่เท่าที่ทราบสุดท้ายไม่มีใครจดชื่อหรือเบอร์โทรศัพท์ให้ทางเทศกิจ กิจกรรมยุติลงด้วยความเรียบร้อยในเวลาประมาณ 19.00 น. เท่าที่ทราบหลังกิจกรรมไม่ได้มีการดำเนินคดีกับบุคคลใด

กิจกรรมรำลึกผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมที่ซอยรางน้ำ 15 พฤษภาคม 2563

 

วางดอกไม้ 10 ปี สลายชุมนุมราชประสงค์ เจ้าหน้าที่ตั้งจุดคัดกรองเข้มแต่ไม่กระทบกิจกรรม

19 พฤษภาคม 2563 เป็นวันครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ในวันนี้มีการจัดกิจกรรมแยกเป็นสองจุด จุดแรกที่วัดปทุมวนาราม พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในวัดปทุมวนาราม พะเยาว์ไม่สามารถเข้าไปในวัดได้เนื่องจากที่หน้าวัดติดป้ายว่าปิดพ่นยาฆ่าเชื้อระหว่างวันที่ 18 – 20 พฤษภาคม 2563 พะเยาว์จึงทำได้เพียงนำรูปและดอกไม้วางและยืนไว้อาลัยที่หน้าประตูวัดแทน ระหว่างที่กิจกรรมดำเนินไปมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณหกนายคอยถ่ายภาพและสังเกตการณ์ และเท่าที่สังเกตน่าจะมีเจ้าหน้าที่บางส่วนประจำการบนทางเดินสกายวอล์กเพื่อถ่ายภาพและสังเกตการณ์จากมุมสูงด้วย กิจกรรมที่หน้าวัดปทุมวนารามผ่านไปด้วยดีโดยไม่มีการแทรกแซงใดๆ จากเจ้าหน้าที่

กิจกรรมไว้อาลัยกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม 19 พฤษภาคม 2563

สำหรับกิจกรรมที่สี่แยกราชประสงค์ตั้งแต่ก่อนเวลา 17.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจกั้นแผงเหล็กที่บริเวณป้ายสี่แยกราชประสงค์ซึ่งเป็นจุดที่คาดว่าจะมีประชาชนมาทำกิจกรรมรำลึก และมีพยาบาลจากโรงพยาบาลมาปฏิบัติหน้าที่คัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกายของบุคคลที่จะเข้าไปทำกิจกรรมรำลึกและมีการตั้งเจลล้างมือให้ผู้มาร่วมกิจกรรมใช้ ไม่พบว่ามีการนำกระถางดอกไม้มาวางจนเต็มพื้นที่อย่างที่เคยทำในกิจกรรมชุมนุมครั้งก่อนๆ ขณะที่บนสกายวอล์กมีการกั้นพื้นที่บางส่วน มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบยืนเฝ้าตามแต่ละจุดและมีการตั้งกล้องวงจรปิดถ่ายจากด้านบนสกายวอล์กลงมายังจุดที่มีกิจกรรมรำลึก เวลา 17.30 น. เริ่มมีประชาชนที่บางส่วนสวมเสื้อสีแดงเข้ามายืนและนั่งบริเวณป้ายราชประสงค์ ประมาณ 20-30 คน ทุกคนต้องวัดอุณหภูมิก่อนเข้าไปทำกิจกรรม โดยรอบๆ พื้นที่จัดงานมีเจ้าหน้าที่ทั้งในเครื่องและนอกเครื่องแบบยืนสังเกตการณ์รวมกันประมาณ 50 นาย

กิจกรรมไว้อาลัยผู้เสียชีวิตที่สี่แยกราชประสงค์ 19 พฤษภาคม 2563

ตลอดกิจกรรมตำรวจในเครื่องแบบนายหนึ่งจะคอยพูดจากเครื่องขยายเสียงขอให้ผู้ร่วมกิจกรรมรักษาระยะห่างในการทำกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และขอให้เว้นทางเพื่อให้ประชาชนที่ต้องการใช้ทางสัญจรเดินผ่านไปมาได้ และแม้บางช่วงเวลาที่ผู้ร่วมกิจกรรมร่วมกันจุดเทียนและนักข่าวเข้าไปถ่ายภาพจนบางครั้งอาจเบียดกันบ้างเจ้าหน้าที่ก็จะคอยประกาศเตือนให้รักษาระยะห่าง แต่ไม่ได้มีการเข้ามาแทรกแซงหรือสั่งให้เลิกกิจกรรม ขณะที่ผู้ร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโดยเกือบทั้งหมดสวมหน้ากากตลอดเวลา  

กิจกรรมไว้อาลัยผู้เสียชีวิตที่สี่แยกราชประสงค์ 19 พฤษภาคม 2563

การทำกิจกรรมรำลึกดำเนินไปถึงเวลาประมาณ 18.50 น. ตำรวจที่รับหน้าที่ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงเริ่มประกาศว่าขณะนี้กิจกรรมดำเนินมาพอสมควรแล้วขอให้ผู้ร่วมกิจกรรมรำลึกทยอยกลับบ้านเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ กทม.ได้เข้ามาทำความสะอาดและปรับพื้นที่ให้คืนสภาพเดิม ผู้ร่วมกิจกรรมบางส่วนเริ่มทยอยเดินทางกลับ ก่อนที่กิจกรรมจะยุติลงในเวลาประมาณ 19.00 น. ด้วยความเรียบร้อย

กิจกรรมไว้อาลัยผู้เสียชีวิตที่สี่แยกราชประสงค์ 19 พฤษภาคม 2563

เท่าที่ทราบกิจกรรมรำลึกในครั้งนี้ไม่ได้มีการโฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์ เป็นไปได้ว่าผู้ทำกิจกรรมอาจจะชักชวนกันเป็นการส่วนตัวหรือบางส่วนอาจตั้งใจมาเองโดยไม่ได้นัดหมายกับผู้อื่น นอกจากนั้นเท่าที่สังเกตก็พบว่าในวันนี้แทบไม่มีการแสดงออกในลักษณะของการชูป้ายเลย มีเพียงการนำป้ายเขียนข้อความ ที่นี่มีคนตาย และข้อความรำลึกประมาณสี่ถึงห้าแผ่นมาวางที่พื้นตรงจุดที่มีการวางดอกไม้และจุดเทียนรำลึก และมีชายคนหนึ่งถือป้ายข้อความ Stay Safe และข้อความเกี่ยวกับโรคโควิด 19 นอกจากนี้มีการชูสัญลักษณ์สามนิ้วและการร่วมร้องเพลงนักสู้ธุลีดินเท่านั้น

 

หกปีรัฐประหาร กับวันอลวนของสี่ผู้ต้องหา

22 พฤษภาคม 2563 ครบรอบหกปีการรัฐประหาร จากการเฝ้าติดตามสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะเฟซบุ๊กของกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาต่างๆ ไม่พบว่ามีกลุ่มใดที่ประกาศจัดการชุมนุมหรือทำกิจกรรมสาธารณะเนื่องในโอกาสครบรอบหกปีการรัฐประหาร มีเพียงเฟซบุ๊กของอนุรักษ์ เจนตวณิชย์ หรือ ‘ฟอร์ด เส้นทางสีแดง’ ที่โพสต์ข้อความในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 เชิญชวนประชาชนไปร่วมกิจกรรมดนตรีระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่หน้าหอศิลปกรุงเทพฯ ระหว่างเวลา 17.00 น. ถึง 20.00 น.

เมื่อถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ปรากฏว่ามีการจัดกิจกรรมเกิดขึ้นในเวลาและสถานที่ที่แตกต่างกันสามกิจกรรม ช่วงเช้า เครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนป.) จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ชูป้ายที่รัฐสภา อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กองบัญชาการกองทัพบก และทำเนียบรัฐบาล เนื่องในโอกาสครบรอบหกปีการรัฐประหาร จากนั้นในช่วงบ่ายถึงเย็น สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและหน้าทำเนียบรัฐบาล ขณะที่ช่วงเย็นถึงค่ำก็มีกิจกรรมที่จัดโดยกลุ่มของอนุรักษ์ที่หอศิลปกรุงเทพฯ  โดยกิจกรรมของนักศึกษาทั้งสองกลุ่มไม่มีการประกาศเชิญชวนประชาชนเข้าร่วม

คนป.ตระเวนชูป้าย เจอถ่ายภาพเจาะหน้าและขอข้อมูลส่วนตัว 

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล สมาชิก คนป.คนหนึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ต่อการทำกิจกรรมของพวกเธอว่า ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 เธอกับเพื่อนรวมสิบคนนัดกันไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่หน้ารัฐสภาในเวลา 9.30 น. โดยชูป้ายผ้าเขียนข้อความ ส.ว. ที่มีเครื่องหมายกากบาทขีดทับและข้อความ สสร. ที่มีเครื่องหมายถูก เพื่อสื่อถึงการคัดค้านการทำงานของ ส.ว. และเสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยกลไกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร. ที่มีที่มายึดโยงกับประชาชน ภัสราวลีเล่าว่า ทันทีที่เธอกับเพื่อนๆ กางป้าย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสภาก็เข้ามาสอบถามว่ามาทำอะไร และจะขอดูป้าย แต่ รปภ.ก็ไม่ได้ห้ามปรามหรือขับไล่ ระหว่างที่กิจกรรมดำเนินไปผู้สื่อข่าวประจำสภาก็เดินมาดูและถ่ายภาพ พวกเธอจึงแจ้งนักข่าวว่าจะไปทำกิจกรรมต่อที่กองทัพบก

กิจกรรมรำลึก 6 ปี รัฐประหารของ คสช. ของเครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ทำเนียบรัฐบาล (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจของทางเครือข่าย)

เมื่อมาถึงที่กองบัญชาการกองทัพบกในเวลาประมาณ 10.00 น. มีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบอย่างน้อยสิบนายมาประจำการรออยู่พร้อมกับผู้สื่อข่าว ทันทีที่เธอกับเพื่อนๆ แสดงตัวว่าจะถือป้ายผ้าเขียนข้อความ “กองทัพสีเทา”และ “ตัดงบกองทัพแก้ Covid19“ เจ้าหน้าที่ทหารรักษาการก็เดินเข้ามาแจ้งว่าห้ามถือป้ายบริเวณหน้าป้ายกองทัพบกและได้นำแผงเหล็กมากั้นบริเวณหน้าป้าย แต่เมื่อพวกเธอขยับไปถือป้ายพ้นจากป้ายกองทัพบก เจ้าหน้าที่ทหารคนดังกล่าวก็ปล่อยให้พวกเธอทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์กันต่อไป ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนำโทรศัพท์มาถ่ายภาพเธอและเพื่อนๆ ที่ถือป้ายแบบเก็บรายละเอียดใกล้ที่ใบหน้าและพยายามถามชื่อและสถาบันการศึกษาว่าแต่ละคนเรียนที่ไหน ซึ่งบางคนก็ตอบบางคนก็ไม่ตอบ พวกเธอใช้เวลาประมาณสิบนาทีก็เคลื่อนขบวนไปหน้าทำเนียบรัฐบาลโดยระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบทั้งเดินตามและขี่มอเตอร์ไซค์ตามคอยถ่ายภาพพวกเธอตลอดเวลา

กิจกรรมรำลึก 6 ปี รัฐประหารของ คสช. ของเครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่กองบัญชาการกองทัพบก (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจของทางเครือข่าย)

เมื่อถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล ภัสราวลีระบุว่า เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบวางกำลังตามประตูทางเข้าทำเนียบรัฐบาล ขณะที่ประตูทำเนียบทุกบานถูกปิดและไม่น่าจะมีเจ้าหน้าที่ของทำเนียบอยู่ด้านนอก อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่คนไหนเข้ามาห้ามปราม ทำเพียงอย่างเดียวคือติดตามถ่ายภาพพวกเธอตลอดเวลา ภัสราวลีเล่าต่อว่าพวกเธอใช้เวลาถือป้ายผ้า 2,191 วัน กับเผด็จการที่หน้าทำเนียบรัฐบาลประมาณสิบนาที จากนั้นจึงขับรถไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งจะเป็นจุดสุดท้ายของการทำกิจกรรม โดยเดินทางด้วยรถส่วนตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ติดตามพวกเธอไป  

กิจกรรมรำลึก 6 ปี รัฐประหารของ คสช. ของเครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจของทางเครือข่าย)

เมื่อมาถึงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็มีทั้งผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 20 – 30 นาย วางกำลังรออยู่แล้ว ภัสราวลีระบุว่าพวกเธอไม่ได้ทำกิจกรรมในทันทีที่มาถึงเพราะต้องรอเพื่อนอีกกลุ่มมาสมทบ โดยแม้แต่ระหว่างที่พวกเธอนั่งรอเพื่อน เจ้าหน้าที่ก็ยังถ่ายภาพพวกเธอแทบทุกอิริยาบถ จากนั้นสมาชิกผู้ร่วมกิจกรรมตามมาจนครบ ภัสราวลีและเพื่อนๆ จะเดินขึ้นไปทำกิจกรรมบนตัวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทว่ารอบอนุสาวรีย์ก็มีรั้วกั้น และตำรวจก็เข้ามาเจรจาว่าไม่ให้ทำกิจกรรมบนตัวอนุสาวรีย์ ทางกลุ่มจึงต้องย้ายไปถือป้ายผ้าและพวงหรีดที่เกาะกลางถนนตรงข้ามอนุสาวรีย์แทนโดยใช้เวลาทำกิจกรรมประมาณ 15 นาทีก็ยุติและเตรียมแยกย้าย

ภัสราวลีเล่าต่อว่าหลังเลิกกิจกรรมมีตำรวจท้องที่นายหนึ่งเดินมาหาเธอ มาแนะนำตัวและขอแลกเบอร์โทรกับไลน์ เบื้องต้นเธอเห็นว่าเขามาแลกข้อมูลด้วยดีจึงให้เบอร์โทรและไลน์ไป แต่หลังจากนั่งรถออกมาแล้วเจ้าหน้าที่นายนั้นก็โทรมาหาเธออีกหลายครั้งเพื่อขอข้อมูล เช่น ขอให้บอกข้อมูลส่วนตัว ชื่อ และสถาบันการศึกษาซึ่งเธอก็ไม่ได้ให้ข้อมูล เมื่อเธอปฏิเสธเขาก็โทรกลับมาอีกและพูดทำนองว่า หากไม่ให้ความร่วมมือด้วยการให้ข้อมูลก็อาจจะไม่ให้เข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่ในอนาคตและบอกว่าจริงๆ ทางตำรวจก็มีข้อกฎหมายจะเอาผิดได้ แต่เห็นว่าทางกลุ่มทำกิจกรรมในเวลาอันสั้นจึงผ่อนปรนให้

สนท. แห่ป้าย “6 ปีแล้วนะไอสัส” สุดท้ายโดนปรับข้อหาแต่งท่อ – ไม่มีใบขับขี่ – จอดรถกีดขวาง

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล โฆษก สนท.ให้ข้อมูลว่า พวกเธอเริ่มทำกิจกรรมในเวลาประมาณ 13.00 น. โดยเริ่มขับรถกระบะที่ดัดแปลงเป็นรถแห่ติดป้ายไวนิลที่มีรูป พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมข้อความ “6 ปีแล้วนะไอสัส” ขับไปบนถนนในกรุงเทพฯ โดยเริ่มจากวนรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิสามรอบ ไปตามถนนพญาไทผ่านห้างเซนทรัลเวิลด์ก่อนจะไปเยาวราช โดยระหว่างทางหยุดที่หัวลำโพงเพื่อถ่ายภาพลงบนเพจเฟซบุ๊กของ สนท.ก่อนเดินทางต่อ ซึ่งในช่วงนี้เท่าที่สังเกตพวกเธอยังไม่ถูกเจ้าหน้าที่ติดตาม ในเวลาประมาณ 15.00 น. ปนัสยาเล่าว่าพวกเธอไปถึงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยเมื่อไปถึงยังไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่มารอพวกเธอแต่ติดตามมาในบริเวณจัดกิจกรรมอย่างรวดเร็วคล้ายคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะมีคนมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

กิจกรรมรำลึก 6 ปีรัฐประหาร ของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 22 พฤษภาคม 2563 (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจของสหภาพ)

ปนัสยาเล่าต่อว่า ทันทีที่เธอกับเพื่อนอีก 6 คนเดินเข้ามาในพื้นที่ เจ้าหน้าที่นายหนึ่งเดินเข้ามาคุยด้วย อ้างว่าทำกิจกรรมไม่ได้เพราะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามา พริษฐ์หรือเพนกวิ้น เพื่อนนักกิจกรรมในกลุ่มทำหน้าที่เจรจากับตำรวจขณะที่คนอื่นๆ ช่วยกันมัดป้ายผ้าเขียนข้อความ 2563 เผด็จการครองเมือง เข้ากับแนวรั้วที่กั้นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่วนรถแห่ก็ยังขับวนไปเรื่อยๆ หลังพวกเธอผูกป้ายและทำกิจกรรมแล้วเสร็จก็เตรียมเดินทางออกจากพื้นที่ แต่ระหว่างนั้นพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิ้นถูกพาตัวไปพูดคุยที่ร้านแมคโดนัลด์ เพื่อนร่วมกลุ่มสองคนจึงติดตามพริษฐ์ไป ส่วนตัวเธอกับเพื่อนอีกสามคนนั่งรถออกมาก่อน ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่นายหนึ่งทำท่าจะติดตามมาคุยกับพวกเธอแต่เมื่อปรึกษาทนายทางโทรศัพท์ได้ความว่าพวกเธอมีสิทธิเลือกที่จะไม่คุยกับตำรวจได้จึงได้ขับรถออกไป

กิจกรรมรำลึก 6 ปีรัฐประหาร ของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล 22 พฤษภาคม 2563 (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจของสหภาพ)

ปนัสยาเล่าต่อว่าหลังจากนั้นเธอกับเพื่อนอีกสามคนไปพักกินข้าวเพื่อรอทำกิจกรรมต่อในช่วงเย็น ส่วนพริษฐ์กับเพื่อนอีกสองคนอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ร้านแมคโดนัลด์ประมาณชั่วโมงเศษ จากนั้นจึงถูกพาตัวไปที่ สน.สำราญราษฎร์เพื่อเปรียบเทียบปรับในข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรฯ ซึ่งประชาไทรายงานว่าเวลาที่ทั้งสามถูกพาตัวไปคือ 17.30 น. ปนัสยาเล่าต่อว่าเธอกับเพื่อนอีกสามคนที่ไม่ถูกควบคุมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับเพื่อนอีกคนหนึ่งที่ตามมาสมทบเดินเท้าจากบริเวณกระทรวงศึกษาธิการไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์รอบที่สอง เมื่อพวกเธอเดินเท้าข้ามไปฝั่งทำเนียบรัฐบาลปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาประจำตามประตูของทำเนียบรัฐบาลอยู่ก่อนแล้ว เจ้าหน้าที่นายหนึ่งเดินเข้ามาหาเธอซึ่งเดินมากับเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่ง พร้อมถามว่า “จะไปไหนครับน้อง” เธอกับเพื่อนจึงสาวเท้าเร็วขึ้นแต่เจ้าหน้าที่คนเดิมตามมาดักหน้าทั้งสองคนทันและจับแขนเพื่อนของเธอซึ่งตอบโต้ด้วยการพูดว่า “คุณมีสิทธิอะไรมาแตะตัวฉัน”

กิจกรรมรำลึก 6 ปี รัฐประหารของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่หัวลำโพง 22 พฤษภาคม 2563 (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจของสหภาพ)

ปนัสยาเล่าต่อว่า เมื่อเพื่อนของเธอพูดไปแบบนั้นเจ้าหน้าที่ก็ปล่อยมือ เธอกับเพื่อนจึงเดินเลยไปถึงหน้าประตูใหญ่ของทำเนียบรัฐบาลและกางป้ายผ้าผืนเดียวกับที่ใช้แขวนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยออก และยืนถ่ายภาพประมาณ 10 – 15 นาที หลังยุติกิจกรรม เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนายหนึ่งเข้ามาพูดคุยกับปนัสยาว่า คนที่มาเรียนกันที่ไหน มาจากกลุ่มไหน แต่ไม่ได้ถามชื่อหรือเบอร์โทรศัพท์ของผู้มาร่วมกิจกรรม หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่นายหนึ่งเดินมาพูดคุยด้วยว่า การทำกิจกรรมหากพ้นจากระยะ 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาลก็สามารถทำได้ ปนัสยาระบุด้วยว่าตอนที่พวกเธอเดินมาเจ้าหน้าที่มีความพยายามที่จะเอาป้ายผ้าไปเหมือนกัน แต่เมื่อพวกเธอกางป้ายถ่ายภาพได้สำเร็จเจ้าหน้าที่ก็ยุติความพยายามดังกล่าวและปล่อยให้พวกเธอทำกิจกรรมตามที่ตั้งใจ

เมื่อพวกเธอจะเดินทางกลับด้วยรถแท็กซี่ก็มีเจ้าหน้าที่เดินตามมาสอบถามว่าจะไปไหนกันและได้ถ่ายภาพทะเบียนรถแท็กซี่ไปด้วยและขับรถติดตามพวกเธอด้วย โดยปนัสยาสังเกตว่ารถที่เจ้าหน้าที่ใช้ติดตามน่าจะเป็นรถของจราจรที่มีระบบค้นหาจีพีเอสติดตั้งไว้ด้วย อย่างไรก็ตามรถตำรวจติดตามมาครู่หนึ่งก็แยกไป ส่วนพวกเธอห้าคนให้แท็กซี่มาส่งที่อนุสาวรีย์ชัยซึ่งมีคนพลุกพล่าน จากนั้นจึงแยกย้ายกันกลับบ้าน           

ทั้งนี้ประชาไทรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตั้งข้อกล่าวหาว่าในคดีตาม พ.ร.บ.จราจรว่า เจ้าหน้าที่เปรียบเทียบปรับกลุ่มของพริษฐ์รวมสามข้อกล่าวหา ได้แก่ ไม่พกใบอนุญาตขับขี่ จอดรถกีดขวางเส้นทางจราจร และดัดแปลงท่อไอเสียรถยนต์ พริษฐ์ชี้แจงเกี่ยวกับข้อหาจอดรถกีดขวางเส้นทางจราจรว่าทางกลุ่มไม่ได้มีเจตนาที่จะจอดรถกีดขวางทางจราจร แต่เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจล้อมรถไว้ขณะติดไฟแดง จึงไม่สามารถขยับรถออกจากจุดที่จอดติดไฟแดงได้ จากการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ปนัสยาให้ข้อมูลว่าพริษฐ์ไม่ได้ถูกตั้งข้อกล่าวหาใดๆ เนื่องจากเขาไม่ใช่ผู้ขับขี่รถและไม่ใช่เจ้าของรถ แต่เจ้าหน้าที่ก็เอาตัวเขาไว้ที่สถานีจนเวลาประมาณ 19.00 น. จึงปล่อยตัวไป 

ในภายหลัง พริษฐ์หรือเพนกวิ้น หนึ่งในสมาชิก สนท. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ช่วงที่เขาและเพื่อนอีกสองคนถูกพาตัวไปพูดคุยกับตำรวจที่ร้านแมคโดนัลด์หลังเสร็จกิจกรรมในเวลา 15.30 น. จนถึงเวลาประมาณ 19.30 น. จนไม่ได้ไปร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์กับเพื่อนๆ ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่าในช่วงที่พวกเขากำลังทำกิจกรรมผูกป้ายผ้า เจ้าหน้าที่ก็พูดเรื่องความเป็นไปได้ในการดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้พูดถึงข้อหานี้อีก เมื่อเขาเสร็จกิจกรรมเจ้าหน้าที่เชิญเขาและเพื่อนอีกสองคนไปพูดคุยที่ร้านแมคโดนัลด์ซึ่งที่นั่นเพื่อนของเขาถูกเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ.จราจรฯ จากกรณีไม่พกพาใบขับขี่ และจอดรถกีดขวางทางจราจร

ระหว่างการพูดคุยพริษฐ์สังเกตว่าเจ้าหน้าที่คู่สนทนาของเขาจะรับและพูดคุยโทรศัพท์เป็นระยะคล้ายพูดคุยกับผู้บังคับบัญชาว่าจะดำเนินคดีหรือดำเนินการอย่างไรกับพวกเขาดี ซึ่งเจ้าหน้าที่นายนั้นก็มีท่าทีเปลี่ยนไปมา ตอนแรกบอกว่าเดี๋ยวรับใบสั่งแล้วก็สามารถไปได้เลยมาจ่ายค่าปรับทีหลัง แต่เมื่อพูดคุยโทรศัพท์ก็เปลี่ยนมาบอกว่ายังไปไหนไม่ได้เพราะอาจมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ตัวของพริษฐ์เองไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาจึงได้ปรึกษากับทนายซึ่งทนายก็บอกว่าเขาสามารถออกมาได้เลย แต่เนื่องจากตัวเขาเป็นห่วงเพื่อนประกอบกับไม่ต้องการจะออกมาให้มีปัญหากับเจ้าหน้าที่ก็เลยตัดสินใจอยู่กับเพื่อนอีกสองคน ในเวลาประมาณ 17.30 น. เจ้าหน้าที่พาเขากับเพื่อนไปที่ สน.สำราญราษฎร์เพื่อเปรียบเทียบปรับ ปรากฏว่าเพื่อนของเขาถูกปรับเพิ่มเติมในข้อหาเกี่ยวกับทะเบียนรถ ส่วนเพื่อนอีกคนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ก็ถูกเปรียบเทียบปรับในความผิดเกี่ยวกับกระจกรถ รวมถูกปรับตามกฎหมายจราจรเป็นเงิน 1,900 บาท จาก 5 ข้อกล่าวหา

รวบฟอร์ด เส้นทางสีแดง และหมอทศพร หลังจัดกิจกรรมครบรอบหกปี คสช.

ตามที่อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ‘ฟอร์ด เส้นทางสีแดง’ ประกาศว่า จะจัดแสดงดนตรีระดมทุนให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนที่หน้าหอศิลปกรุงเทพฯ เนื่องในโอกาสครบรอบหกปีรัฐประหาร 2557 ในเวลา 17.00 น. พบว่าตั้งแต่ก่อนเวลา 16.30 น. มีกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 30 – 40 นาย วางกำลังรออยู่แล้ว ขณะที่ทางหอศิลปกรุงเทพฯ ก็นำรั้วเหล็กมากั้นบริเวณลานหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ โดยรอบ และยังมีการพิมพ์ป้ายบนกระดาษเอสี่เขียนข้อความ “ห้ามทำกิจกรรมตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน” มาติดไว้กับรั้วเหล็กโดยรอบด้วย

กิจกรรมระดมทุนช่วยเหลือประชาชนในโอกาสครบรอบ 6 ปี รัฐประหารของคสช. 22 พฤษภาคม 2563

นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ของอดีตพรรคไทยรักษาชาตินำภาพวาดที่วาดเอง เป็นภาพ พล.อ.ประยุทธ์และภาพผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ปรากฏตามหน้าสื่อ เช่น ปลายฝน หญิงที่วาดภาพ พล.อ.ประยุทธ์ก่อนฆ่าตัวตาย และภาพคนที่มาร้องขอเงินเยียวยาที่หน้ากระทรวงการคลังบางส่วนมาตั้งแสดงด้านนอกแนวรั้วกั้นของหอศิลปกรุงเทพฯ

ขณะเดียวกันก็มีประชาชนที่คาดว่าจะมาร่วมกิจกรรมอย่างน้อย 30 – 40 คนอยู่ในบริเวณด้วย โดยบางส่วนที่สวมเสื้อยืดเขียนข้อความหรือสัญลักษณ์ทางการเมืองแต่ไม่ได้ร่วมทำกิจกรรมกับทศพร

ในเวลาประมาณ 16.45 น. นพ.ทศพรก็ทำท่าจะขยับรั้วเหล็ก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเดินเข้ามาก่อนที่เจ้าหน้าที่ที่คาดว่าน่าจะเป็นคนของหอศิลปกรุงเทพฯ เข้ามาห้ามพร้อมแจ้งทำนองว่าเจ้าหน้าที่ห้ามจัดกิจกรรม ขณะเดียวกันก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนายหนึ่งเดินเข้ามาโดยสังเกตเห็นว่าในมือถือเอกสารที่น่าจะเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาด้วย แต่เจ้าหน้าที่นายนั้นก็ยังไม่ได้เข้ามาคุยกับทศพร

กิจกรรมระดมทุนช่วยเหลือประชาชนในโอกาสครบรอบ 6 ปี รัฐประหารของ คสช. 22 พฤษภาคม 2563

เมื่อเจ้าหน้าที่หอศิลปกรุงเทพฯ เดินจากไป ทศพรก็เดินมาพูดคุยกับผู้สื่อข่าวต่อโดยพูดถึงภาพวาดที่นำมาแสดงและความตั้งใจที่จะระดมทุนช่วยเหลือลูกของปลายฝนที่กำพร้าแม่ รวมถึงพูดถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ ความล้มเหลวในการช่วยเหลือประชาชนของภาครัฐ

ต่อมาในเวลาประมาณ 17.07 น. เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบหนึ่งนายและนอกเครื่องแบบอีกหนึ่งนายเดินมาพูดกับ นพ.ทศพรทำนองว่า ขณะนี้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการทำกิจกรรมลักษณะนี้ทำให้คนมารวมตัวกันแออัดทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค นพ.ทศพรชี้แจงว่า ตัวเองเพียงมาทำกิจกรรมระดมทุนช่วยเหลือประชาชนและที่นี่เป็นหอศิลปกรุงเทพฯ จึงนำภาพเขียนมาแสดง และตัวเองก็ไม่ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนบุคคลใดมาร่วมกิจกรรม

กิจกรรมระดมทุนช่วยเหลือประชาชนในโอกาสครบรอบ 6 ปี รัฐประหารของ คสช. 22 พฤษภาคม 2563

นพ.ทศพรกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบพูดคุยไปครู่หนึ่งก็มีเจ้าหน้าที่เทศกิจเดินมาพูดคุย ในที่สุด นพ.ทศพรก็ต่อรองว่า จะขอจุดเทียนรำลึกถึงปลายฝนและผู้ที่ฆ่าตัวตายเพราะปัญหาเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่จึงยอมโดยกำชับว่าให้ทำและยุติกิจกรรมโดยเร็ว จากนั้น นพ.ทศพรนำเทียนมาเรียงเป็นคำว่า “รัดประหาร” โดยใช้เครื่องหมายหารแทนตัวหนังสือ ระหว่างที่ทศพรจุดเทียนก็มีชายสวมเสื้อแดงคนหนึ่งนำป้ายเขียนข้อความของตัวเองมาวางรวมกับรูปวาดของทศพรแล้วเดินออกไปยืนด้านข้าง เมื่อจุดเทียนเสร็จทศพรก็ร้องเพลงและพูดคุยกับผู้สื่อข่าวต่อไปอีกครู่หนึ่ง โดยมีชายตัดผมสั้นเกรียนคอยถ่ายภาพนิ่งและภาพวิดีโอไว้ตลอด

ระหว่างที่ นพ.ทศพรเตรียมประกาศยุติกิจกรรม อนุรักษ์ซึ่งเป็นผู้ประกาศว่าจะมีกิจกรรมดนตรีในวันนี้เดินมาอยู่ด้านข้างทศพรพร้อมแจ้งสื่อมวลชนว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าจะนำตัวเขากับทศพรไปที่ สน.ปทุมวันและคาดว่าจะมีการตั้งข้อกล่าวหา

ในเวลาประมาณ 17.42 น. เมื่อ นพ.ทศพรและอนุรักษ์ช่วยกันเก็บของแล้วเสร็จ ตำรวจเชิญตัวทั้งสองขึ้นรถกระบะของ สน.ปทุมวัน ทำให้ประชาชนที่มาโห่ร้องด้วยความไม่พอใจ บางส่วนกระโดดขึ้นรถกระบะไปด้วย และแม้รถเคลื่อนออกไปแล้วก็ยังคงมีเสียงตะโกนด้วยความไม่พอใจ ชายสวมเสื้อแดงที่นำป้ายมาวางกับภาพของ นพ.ทศพรก็นำป้ายดังกล่าวมาชูอีกครั้ง ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งก็ใช้ลำโพงประกาศว่า เนื่องจากในขณะนี้มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 และมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงขอให้ประชาชนทยอยกลับบ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสและป้องกันการทำผิดกฎหมาย กิจกรรมที่หน้าหอศิลปกรุงเทพฯ ยุติในเวลาประมาณ 18.00 น. เท่าที่ทราบไม่มีผู้ถูกควบคุมตัวเพิ่มเติม

ทั้งนี้เมื่อผู้สังเกตการณ์ไอลอว์ตามมาที่ สน.ปทุมวันในเวลาประมาณ 18.00 น. ก็ได้รับแจ้งจากตำรวจนอกเครื่องแบบที่อยู่หน้าประตู สน.ว่าไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไป แต่เห็นว่าประชาชนที่ไปร่วมกิจกรรมสามารถตามเข้าไปใน สน.ได้ หลังจากนั้นในเวลาประมาณ 19.30 น. ผู้สังเกตการณ์สามารถเข้าไปพบกับอนุรักษ์ได้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่า ตอนนี้ขอให้พูดคุยกับอนุรักษ์ที่ด้านนอกห้องก่อน ไม่อนุญาตให้เข้าร่วมรับฟังเนื่องจากว่า กำลังทำบันทึกการจับกุมอยู่ แต่เมื่อเสร็จแล้วจึงจะทำการสอบสวน กระบวนการนี้จะเปิดให้ผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมรับฟังได้ ทั้งนี้มีรายงานในภายหลังว่าทั้งอนุรักษ์และทศพรถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตำรวจให้ทั้งสองวางเงินประกันในชั้นสอบสวนคนละ 30,000 บาท แต่อนุรักษ์ปฏิเสธที่จะประกันตัวในค่ำวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 จึงถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.ปทุมวันหนึ่งคืนก่อนจะประกันตัวออกไปช่วงเช้าวันที่ 23 พฤษภาคม 2563

 

ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่และการปรับตัวของผู้ใช้เสรีภาพ

การปรับตัวของผู้ใช้เสรีภาพ

กลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษา ทั้ง สนท. และ คนป.ใช้วิธีแสดงออกเชิงสัญลักษณ์คล้ายกันคือการชูป้ายตามสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ คนป.ไปที่ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา และกองบัญชาการกองทัพบก ส่วน สนท.ไปที่ทำเนียบรัฐบาล นอกจากนั้นทั้งสองกลุ่มยังไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อสื่อว่าพวกเขาต้องการเรียกร้องประชาธิปไตยและเพื่อสื่อว่าสิ่งที่เป็นอยู่ไม่ใช่ประชาธิปไตยด้วย คนป.ใช้ป้ายเขียนตัวเลข 2,191 สื่อถึงจำนวนวันที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้าสู่อำนาจตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หรือวันรัฐประหาร จนถึง 22 พฤษภาคม 2563 ส่วน สนท.แสดงออกผ่านป้ายข้อความ 2563 เผด็จการครองเมือง   

อย่างไรก็ตามภายใต้ข้อจำกัดของการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นักกิจกรรมทั้งสองกลุ่มเลือกใช้วิธีจัดกิจกรรมโดยไม่มีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า และไม่เชิญประชาชนทั่วไปเข้าร่วมทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเจ้าหน้าที่สั่งห้าม ขณะเดียวกันก็เพื่อจำกัดจำนวนผู้ร่วมแสดงออกให้น้อยที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการระบาดของไวรัส ส่วนที่ไม่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้สื่อข่าวรับทราบทั้งสองกลุ่มให้ข้อมูลทำนองเดียวกันว่า “หากนักข่าวรู้ตำรวจก็จะรู้” พวกเขาจึงเลือกที่จะไปแสดงออกโดยไม่ติดต่อนักข่าวล่วงหน้าแล้วใช้เฟซบุ๊กเพจของทางกลุ่มเป็นช่องทางสื่อสาร ซึ่งแม้เบื้องต้นจะเข้าถึงผู้รับสารได้จำกัดกว่าการแจ้งข่าวสื่อมวลชน แต่อย่างน้อยพวกเขาก็สามารถดำเนินกิจกรรมให้ลุล่วงไปได้ ขณะเดียวกันสื่อเองก็ไม่มีปัญหาในการนำข่าวหรือภาพข่าวจากเฟซบุ๊กของบุคคลสาธารณะหรือหน่วยงานต่างๆ มารายงานต่ออยู่แล้ว การไม่ติดต่อสื่อมวลชนล่วงหน้าจึงอาจไม่ได้กระทบต่อการรายงานข่าวกิจกรรมมากนัก

กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาทั้งสองยังใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม เช่น พยายามรักษาระยะห่างในการเดินหรือการถือป้ายและสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ทำกิจกรรมด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นการป้องกันตัวเองแล้ว ทั้งสองกลุ่มน่าจะพยายามลดเงื่อนไขที่เจ้าหน้าที่จะใช้เป็นข้ออ้างมายุติหรือแทรกแซงการทำกิจกรรมของพวกเขาด้วย

ขณะที่กลุ่มกิจกรรมอื่นๆ อย่างกลุ่มประชาชนที่เรียกร้องให้ประกันสังคมจ่ายเงินชราภาพ ทางกลุ่มมีการนัดหมายกันล่วงหน้าผ่านกลุ่มบนเฟซบุ๊ก ตลอดการทำกิจกรรมผู้เข้าร่วมทุกคนมีการเว้นระยะอย่างชัดเจนและสวมหน้ากากตลอดเวลา

สำหรับกิจกรรมรำลึกเหตุสลายการชุมนุมทั้งที่สี่แยกราชประสงค์และซอยรางน้ำ เท่าที่ติดตามจากสื่อสังคมออนไลน์ ไม่พบว่ามีกลุ่มบุคคลใดโพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนหรือแสดงตัวเป็นผู้จัดกิจกรรมรำลึกทั้งวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ที่ซอยรางน้ำ และวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ที่สี่แยกราชประสงค์ ขณะที่ตัวกิจกรรมเองก็มีผู้มาร่วมไม่มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่าปีนี้ครบรอบสิบปีของเหตุการณ์ กิจกรรมรำลึกที่ซอยรางน้ำซึ่งในปีที่แล้วน่าจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 50 คน ในปีนี้น่าจะมีคนมาร่วมไว้อาลัยระหว่าง 20-30 คน ขณะที่พันธ์ศักดิ์ซึ่งเป็นพ่อของผู้เสียชีวิตก็ทำกิจกรรมอย่างกระชับ ส่วนกิจกรรมที่สี่แยกราชประสงค์ ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เขียนป้ายแสดงออก เท่าที่สังเกตทั้งพื้นที่จัดกิจกรรมน่าจะมีแผ่นป้ายไม่ถึงสิบแผ่นและแทบไม่มีการใช้เสียงนอกจากช่วงที่ผู้ร่วมกิจกรรมร้องเพลงนักสู้ธุลีดินร่วมกันเพื่อไว้อาลัยผู้เสียชีวิต และทั้งสองกิจกรรมผู้เข้าร่วมต่างสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า   

สำหรับกิจกรรมรำลึกในวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 และกิจกรรมรำลึกหกปีรัฐประหาร วันที่ 22 พฤษภาคม อาจจะมีความต่างออกไปเล็กน้อยตรงที่มีผู้ประกาศจัดกิจกรรมโดยเฉพาะในกรณีกิจกรรมวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 อนุรักษ์ผู้ประกาศจัดกิจกรรมยังประกาศว่าจะจัดทำป้ายไวนิลมาเพื่อใช้ประกอบกิจกรรมด้วย อย่างไรก็ตามทั้งสองกิจกรรมอนุรักษ์พยายามประกาศว่ากิจกรรมที่จะจัดไม่ใช่การชุมนุมมั่วสุมแต่เป็นกิจกรรมไว้อาลัยและกิจกรรมระดมทุนช่วยเหลือประชาชนตามลำดับ เท่ากับว่าตัวผู้ประกาศจัดกิจกรรมเองก็พอเข้าใจข้อจำกัดของกฎหมายว่ากิจกรรมประเภทใดพอจะทำได้แบบใดน่าจะทำไม่ได้

การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่

หนึ่ง การตั้งจุดคัดกรอง

การจัดกิจกรรมที่เจ้าหน้าที่น่าจะทราบหรือพอจะคาดเดาสถานที่จัดได้ มีอยู่ห้าครั้ง คือการจัดกิจกรรมที่ซอยรางน้ำ ที่สี่แยกราชประสงค์ ซึ่งจัดในสถานที่เดียวกันทุกครั้ง ที่หน้าหอศิลปกรุงเทพฯ และที่สวนลุมพินีที่มีการประกาศล่วงหน้า รวมถึงที่สำนักงานประกันสังคมที่ตามคำบอกเล่าของหนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมอ้างว่ามีการประสานงานกับทางประกันสังคมมาก่อน ในจำนวนห้าครั้งนี้มีสองครั้งที่มีการตั้งจุดคัดกรองโรคคือการทำกิจกรรมที่สี่แยกราชประสงค์และที่สถานีรถไฟฟ้าสีลม ขณะที่กิจกรรมอีกสามครั้งที่สำนักงานประกันสังคม ที่ซอยรางน้ำ และที่หอศิลปกรุงเทพฯ ไม่ได้มีการตั้งจุดคัดกรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดกิจกรรมที่หน้าหอศิลปกรุงเทพฯ ซึ่งมีการตั้งรั้วกั้นพื้นที่บริเวณลานหน้าหอศิลปแต่ไม่มีการตั้งจุดคัดกรองทางการแพทย์แต่อย่างใด ขณะที่กิจกรรมที่หน้าวัดปทุมวนาราม เป็นกิจกรรมที่ทางครอบครัวอัคฮาดตั้งใจทำเป็นการส่วนตัวและไม่มีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าแต่ทางวัดอยู่ระหว่าง “ปิดทำความสะอาด” พอดี จึงอาจเป็นการยากต่อเจ้าหน้าที่ที่จะตั้งจุดคัดกรองล่วงหน้า ส่วนกิจกรรมของกลุ่มนักศึกษาทั้งสองกลุ่มก็มีลักษณะเป็นการเคลื่อนที่และเจ้าหน้าที่ไม่ทราบมาก่อนจึงไม่น่าจะเตรียมจุดคัดกรองได้ 

สอง การเลือกดำเนินคดี

ในบรรดากิจกรรมทั้งแปดครั้ง เจ้าหน้าที่มีการดำเนินคดีผู้ต้องหาแยกเป็นสามกรณี แบ่งเป็นการดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สองกรณี ได้แก่ คดีของอนุรักษ์จากการจัดกิจกรรมรำลึกสิบปีการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลมในวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 และการจัดคอนเสิร์ตระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ส่วนอีกกรณีเป็นกรณีของนักศึกษาสองคนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรฯ ซึ่งอาจจะดูไม่เกี่ยวกับการใช้เสรีภาพโดยตรง แต่ก็มีความน่ากังขาว่าหากเป็นการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.จราจรฯ เพราะผู้ต้องหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรฯ จริง การเปรียบเทียบปรับก็ไม่น่าจะกินเวลามากนักหากผู้ต้องหารับสารภาพและยอมจ่ายค่าปรับ และที่สำคัญพริษฐ์ก็ไม่ได้ถูกตั้งข้อกล่าวหาแต่ก็ไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันว่า เจ้าตัวจงใจไม่ไปเองหรือเจ้าหน้าที่ไม่ให้ไป หากเป็นกรณีหลังก็มีคำถามต่อไปว่า หากพริษฐ์ไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาใดๆ เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจใดในการกักตัวเขา 

สาม อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยพื้นที่ต้องห้ามการชุมนุม?

ในอดีตการขึ้นไปทำกิจกรรมหรือการชุมนุมบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ทำได้และน่าจะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการทำกิจกรรมทั้งด้วยชื่อและความเป็นมาของตัวอนุสาวรีย์ รวมถึงเหตุผลด้านพื้นที่ที่หากผู้ร่วมการชุมนุมหรือร่วมกิจกรรมมีไม่มาก การไปทำกิจกรรมบนตัวอนุสาวรีย์ก็จะมีข้อดีตรงที่ผู้ชุมนุมไม่ต้องยืนออกันบนทางเท้าหรือผิวจราจรหากแต่ไปอยู่บนลานกว้างของอนุสาวรีย์ที่ไม่ใช่พื้นที่ที่คนทั่วไปใช้สัญจร แต่ในระยะหลังอนุสาวรีย์ดูจะกลายเป็นพื้นที่ต้องห้าม บางช่วงเวลามีการนำกระถางดอกไม้ไปวางจนเต็มพื้นที่ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 แม้จะไม่มีการนำกระถางต้นไม้ไปวางแต่อนุสาวรีย์ก็ถูกล้อมรั้วและเจ้าหน้าที่ก็จะย้ำกับผู้ชุมนุมทุกกลุ่มว่าห้ามทำกิจกรรมใดๆ กับตัวอนุสาวรีย์ ห้ามแม้แต่การนำป้ายผ้าไปแขวนกับแผงเหล็กกั้นอนุสาวรีย์โดยที่ตัวผู้ชุมนุมไม่ได้ขึ้นไปบนพื้นที่ของอนุสาวรีย์

สี่ การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ

ว่าด้วย “ดุลพินิจ” ในกิจกรรมรำลึกการเสียชีวิตขิง พล.ต.ขัตติยะ เจ้าหน้าที่ขอเก็บป้ายของผู้ร่วมกิจกรรมสองคน อ้างว่าหากมีการถือป้ายจะกลายเป็นการชุมนุม ไม่ใช่การรำลึก ซึ่งผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตามในกิจกรรมที่ราชประสงค์ซึ่งมีชายคนหนึ่งถือป้ายเขียนข้อความเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มาเก็บแต่อย่างใด รวมทั้งการจัดกิจกรรมที่สำนักงานประกันสังคมซึ่งผู้เข้าร่วมแทบทุกคนถือป้าย เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้เข้ามาเก็บหรือสั่งห้ามถือป้าย