วิจารณ์อย่างเท่าทัน ทำความเข้าใจกฎหมายพื้นฐาน หมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ทุกวันนี้การแสดงความเห็น การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆ ในโซเชียลมีเดียทำได้ง่าย เร็ว และแรงเท่าที่ใจนึก ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นได้ง่าย เร็ว และแรงตามไปด้วย ท่ามกลางฝุ่นตลบนั้น กฎหมายหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นเครื่องมือที่ถูกนึกถึงและนำมาใช้มากที่สุด จนหลายคนสงสัยว่า ‘ฉันพูดอะไรได้บ้าง’ ขอบเขตของเสรีภาพนั้นอยู่ตรงไหน พูดอย่างไรจะปลอดภัยในทางกฎหมาย ด้วยเหตุนี้จึงอยากชวนมาทำความเข้าใจกับข้อกฎหมายเบื้องต้นเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท และดูตัวอย่างบางคดีที่แม้ถูกผู้เสียหายฟ้องร้องดำเนินคดี แต่ศาลตัดสินว่าไม่มีความผิด

แบบไหนเข้าข่ายหมิ่นประมาททางอาญา

ประมวลกฎหมายอาญา กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทไว้ในมาตรา 326 โดยมีมาตรา 328 เป็นบทเพิ่มโทษบัญญัติไว้ว่า

     “มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

การแสดงความคิดเห็นที่อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 นั้น จะต้องเป็นการ ‘ยืนยันข้อเท็จจริงกับบุคคลที่สาม’ ซึ่งข้อความนั้นอาจเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่จะต้องชัดเจนเพียงพอให้บุคคลที่สามทราบว่าผู้ถูกใส่ความเป็นใคร และการกระทำที่ถูกใส่ความนั้นหมายความว่าอย่างไร โดยจะต้องเป็นพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับหรือน่ารังเกียจ จนน่าจะทำให้ผู้ที่ถูกใส่ความนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง นอกจากนี้ การกระทำจะเป็นความผิดทางอาญาต่อเมื่อเกิดจากความตั้งใจของผู้กระทำ หากเป็นการกล่าวถึงโดยไม่ตั้งใจ หรือ ‘ประมาทเลินเล่อ’ ย่อมไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

     “มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทําโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทําให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทําโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทําการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”

มาตรานี้กำหนดโทษหนักขึ้นเพื่อเอาผิดกับคนที่ทำให้ข้อความหมิ่นประมาทเผยแพร่ไปในวงกว้าง

ก่อนหน้านี้ ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณามักถูกนำมาใช้กับสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าว แต่ในระยะหลังนี้ คนทั่วไปที่ใช้เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ฯลฯ โพสต์ข้อความวิจารณ์พาดพิงถึงบุคคลอื่นก็มักจะถูกดำเนินคดีด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาพ่วงกับความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ (ฉบับก่อนการแก้ไข) เช่นเดียวกัน

ตัวอย่างเช่น

1. คดีกองทัพเรือ vs สำนักข่าวภูเก็ตหวาน

กองทัพเรือฟ้องผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการเว็บไซต์ภูเก็ตหวานในความผิดฐานหมิ่นประมาท และคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากการเผยแพร่รายงานของรอยเตอร์ส ที่อ้างว่า กองกำลังทางเรือของไทยได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา

คดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า การที่จำเลยอ้างอิงข้อความมาจากรอยเตอร์ส ไม่ได้เขียนเอง ไม่ถือว่าเข้าข่ายการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามมาตรา 328 ประมวลกฎหมายอาญา อีกทั้งไม่ปรากฏว่าข้อความตามฟ้องที่จำเลยอ้างจากรอยเตอร์สเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ หรือเป็นข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคง นอกจากนี้เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็ไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เพราะมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 บัญญัติความผิดฐานนี้ไว้แล้ว จึงพิพากษายกฟ้อง 

2. คดีสมลักษณ์ โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์เหมืองทองคำที่จังหวัดพิจิตร 

บริษัท อัครา เจ้าของเหมืองทองคำ ยื่นฟ้องสมลักษณ์ หุตานุวัตร และสมิทธ์ ตุงคะสมิต เป็นจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว คดีนี้ศาลมีคำสั่งให้ยกฟ้อง โดยศาลเห็นว่า จำเลยไม่ได้มีเจตนาทำให้โจทก์ได้รับการดูหมิ่นหรือเกลียดชัง เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมตามวิสัยของประชาชนพึงกระทำ ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท พิพากษายกฟ้อง

จะเห็นได้ว่า ในคดีแรก ศาลพิจารณาแล้วเชื่อว่า ข้อความที่ถูกฟ้องร้องเป็นข้อความที่แปลมาจากสำนักข่าวต่างประเทศที่เชื่อถือได้แหล่งหนึ่ง ไม่ได้เป็นกรณีที่จำเลยเขียนขึ้นเองโดยมีเจตนากล่าวหาหรือใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง ศาลจึงเห็นว่า ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เช่นเดียวกับในคดีที่สองที่ศาลไม่ถือว่าเป็นความผิดเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นการแสดงความเห็นตามปกติวิสัยจึงถือว่าขาดเจตนาที่ต้องการให้โจทก์ได้รับการดูหมิ่นหรือเกลียดชัง อันเป็นองค์ประกอบหลักของความผิดหมิ่นประมาท

 

ข้อยกเว้นของกฎหมายหมิ่นประมาท

ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายยังได้กำหนด ‘ข้อยกเว้น’ สำหรับความผิดหมิ่นประมาทอยู่หลายกรณี เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล ดังนี้

     “มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
      (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
      (2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
      (3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา
      (4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
      ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”

     “มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน”

เหตุผลส่วนใหญ่ที่ศาลมักจะยกขึ้นอ้างเพื่อยกฟ้องจำเลยในคดีหมิ่นประมาท คือ หากเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ได้มุ่งหมายโดยตรงให้บุคคลใดได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง หรือกรณีที่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมตามวิสัยของประชาชนทั่วไป ก็จะไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญา 

ตัวอย่างเช่น

คดีฟาร์มไก่ธรรมเกษตร ฟ้องลูกจ้างพม่า 14 คน

คนงานชาวพม่า 14 คน เปิดโปงเรื่องราวการละเมิดสิทธิแรงงาน และยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่นายจ้าง คือ บริษัท ธรรมเกษตร เอาเหตุที่ยื่นเรื่องดังกล่าวมายื่นฟ้องคนงานทั้ง 14 คน ฐานหมิ่นประมาท คดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าจำเลยมีเจตนาสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 329(1) จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

 

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มักมาคู่กับหมิ่นประมาท

ในปี 2550-2560 หากมีการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์กันบนโลกออนไลน์ แล้วผู้ที่ถูกกล่าวถึงไม่พอใจ ก็จะมีการนำ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) มาใช้มาดำเนินคดีหรือบางครั้งก็จะฟ้องควบคู่กับความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยความผิดตามมาตรา 14(1) มีโทษสูงกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาท คือ จำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) โจทก์จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าจำเลยนำข้อเท็จจริงหรือข้อมูลเข้ามาในระบบคอมพิวเตอร์แตกต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอย่างไรบ้าง อันแสดงให้เห็นว่า ข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลปลอมหรือเท็จ ถ้าโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ ศาลก็ไม่มีอำนาจลงโทษจำเลย

ตัวอย่างคดีเช่น

1. คดีไมตรีเผยแพร่คลิปหมิ่นประมาททหาร

ไมตรีถูกดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังเผยแพร่วิดีโอคลิปการเจรจาระหว่างทหารกับชาวบ้าน โดยใส่ข้อความประกอบคลิปวิดีโอนั้นมีใจความตอนหนึ่งว่า ‘ทหารตบเด็ก เยาวชนและคนแก่’ คดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า จำเลยนำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กเพราะเข้าใจว่าเป็นความจริง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ได้ก็ต่อเมื่อจำเลยโพสต์ข้อความโดยรู้ว่าข้อมูลนั้นปลอมหรือเป็นเท็จ พิพากษายกฟ้อง

2. คดี รสนา หมิ่น ปิยสวัสดิ์

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ฟ้องรสนา โตสิตระกูล ตามมาตรา 14 และ 15 ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีที่รสนาได้โพสต์บทความเรื่อง  “มหากาพย์ฮุบท่อก๊าซ สมบัติชาติ” ลงในเพจเฟซบุ๊กของตน คดีนี้ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่ครบตามองค์ประกอบความผิดของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากจำเลยเป็นผู้เขียนข้อความและนำเข้าสู่เฟซบุ๊กเพจด้วยตัวเอง พยานหลักฐานของโจทก์ไม่ได้พิสูจน์ว่า จำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อข้อความที่จำเลยเขียนขึ้นเป็นการแสดง “ความเห็น” ของตัวจำเลยเอง ข้อความพิพาทจึงไม่อาจเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จได้  คดีจึงไม่มีมูล

 

SLAPPs สาเหตุหนึ่งในการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

อย่างไรก็ดี ภายหลังมีการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) และประกาศใช้ในปี 2560 โดยเขียนใหม่ให้ชัดขึ้นว่า ไม่ให้ใช้กฎหมายนี้มาดำเนินคดีควบคู่กับความผิดฐานหมิ่นประมาท ทำให้การดำเนินคดีต่อการแสดงความคิดเห็นบนสื่อออนไลน์ด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ลดลงในบางแง่มุม

     “มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
      (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา”

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระบุถึงเจตนารมณ์ของการแก้ไขส่วนหนึ่งว่า เดิม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยเฉพาะมาตรา 14 (1) มักถูกนำมาใช้ตั้งข้อหากับคนที่โพสต์ด่าทอกันทางออนไลน์ รวมถึงดำเนินคดีต่อผู้แสดงความเห็นทางการเมือง เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน องค์กรภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ในลักษณะที่เรียกว่า ‘ฟ้องปิดปาก’ หรือ SLAPPs (ย่อมาจาก strategic lawsuits against public participation) การฟ้องปิดปาก หรือ SLAPPs นับว่าเป็นช่องทางที่หยิบยืมมือของกระบวนการยุติธรรมเพื่อกลั่นแกล้งคู่ขัดแย้ง เนื่องจากเป็นการสร้างภาระให้แก่จำเลยในคดีอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภาระค่าใช้จ่าย ค่าเอกสาร ค่าทนายความ รวมถึงต้องเสียเวลากับการต่อสู้คดี แม้ท้ายที่สุดจำเลยอาจเป็นฝ่ายชนะคดีแต่ก็มักจะไม่คุ้มกับสิ่งที่ต้องเสียไประหว่างทางการสู้คดี

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว