1033 1851 1207 1888 1478 1096 1893 1999 1674 1236 1714 1293 1384 1452 1996 1162 1640 1563 1959 1695 1583 1677 1788 1798 1085 1139 1839 1280 1815 1646 1599 1839 1823 1086 1853 1218 1572 1911 1570 1822 1742 1455 1393 1802 1468 1017 1256 1306 1258 1860 1173 1545 1974 1105 1163 1198 1889 1485 1388 1488 1736 1925 1361 1071 1624 1730 1009 1542 1731 1525 1575 1799 1376 1744 1572 1622 1738 1299 1777 1719 1301 1197 1724 1293 1386 1348 1542 1423 1431 1683 1400 1310 1851 1237 1979 1027 1405 1590 1963 “สมยศ พฤกษาเกษมสุข” กับชีวิตหนึ่งหลังขอบรั้วเรือนจำ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

“สมยศ พฤกษาเกษมสุข” กับชีวิตหนึ่งหลังขอบรั้วเรือนจำ

 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข อาจเป็นที่รู้จักในบรรดานักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทางการเมือง ในฐานะอดีตผู้ต้องขังข้อหาหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการเป็น บรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin และทำให้เขาต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำยาวนานกว่า  7 ปี บทสนทนาในครั้งนี้ เราเลือกไปคุยกับ ‘สมยศ’ เพื่อให้เขาถ่ายทอดชีวิตหนึ่งหลังขอบรั้วเรือนจำที่สะท้อนให้เห็นคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไม่ถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลหรืออาหารที่ดูไร้โภชนาการ จนดูเหมือนว่าเรือนจำจะเป็นสถานที่ที่ออกแบบมาเพื่อย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
 
 
ยิ่งไปกว่านั้นชีวิตที่พ้นไปจากขอบรั้วเรือนจำก็เป็นไปอย่างยากลำบาก ทั้งการสูญเสียโอกาสในชีวิตและความเหลื่อมล้ำของสังคมที่ซ้ำเติม จนทำให้อดีตนักกิจกรรมทางการเมืองและอดีตประธานสหภาพแรงงานมีความมุ่งหวังว่า วันหนึ่งประเทศไทยจะต้องมีรัฐสวัสดิการ
 

 

“เรือนจำ” พื้นที่ยกเว้นความเป็นมนุษย์

 
 
"เรามีเรือนจำทั้งหมด 143 แห่ง ทั้งประเทศ เนื้อที่ทั้งหมดรองรับผู้คนได้หนึ่งแสนคน ปัจจุบันเรามีผู้ต้องขังประมาณสามแสนแปดหมื่นคน ก็ลองคิดดูว่าเนื้อที่มันจะขนาดไหนในการอยู่ด้วยกัน กี่เท่าตัวลองไปคำนวณดู เพราะฉะนั้นในเชิงพื้นที่ก็ถือว่าทำให้คนที่ไปอยู่ในนั้นไม่ได้มีศักดิ์ศรีความเป็นคน
 
 
ปัญหาของคนไทยคือมุมมองต่อเรื่องผู้ต้องขัง นักโทษ ในสังคมก็อาจจะมองว่า ก็สมควรแล้ว ทำความผิดเป็นการลงโทษ แต่คนพวกนี้ก็ยังเป็นคนนะ ยังไงก็ยังเป็นมนุษย์แน่นอน คนพวกนี้เคยทำความผิด จะเล็กจะน้อยก็แล้วแต่  คนเหล่านี้ คือผลผลิตของสังคม สมมติว่าประเทศไทยไม่มีคนรวยคนจนเลย คนมีจะกินกันหมด จะมีใครออกมาปล้นสะดม จะมีใครลักเล็กขโมยน้อย อาชญากรพวกนี้เป็นผลผลิตของสังคมที่มันเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม มันเป็นเหตุให้เขากระทำความผิดด้วย มันเลยมีความพยายามจะทำให้สถานที่คุมขังมันไม่ใช่นรก มันมีเพียงแค่ว่าเขาถูกจำกัดไม่ให้ทำร้ายสังคม หรือก่ออาชญากรรมอีก แต่ไม่ใช่หมายถึงว่าต้องทำให้ชีวิตเขาต่ำกว่าความเป็นคน
 
 
เราอยู่ภายใต้แนวความคิดแบบลงโทษ แบบให้เข็ดให้หลาบ จึงไม่ได้สนใจเรื่องความเป็นมนุษย์ ไม่ได้สนใจเรืองความเป็นคนของเขาก็เลยเอาไปขังไว้ ซึ่งจะทำให้เราปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้ในลักษณะที่ละเมิดสิทธิของพวกเขา ละเมิดความเป็นคน เช่นการทุบตี การซ้อม การทรมานยังมีอยู่ อาหารการกินที่แย่ ๆ เน่า ๆ คุณไปดูหนังสือของดาที่พูดถึงเรื่องอาหารการกิน อันนั้นก็ใช่ สภาพการกินก็จะแย่ คุณภาพอาหารมันต่ำมาก โอกาสคนเป็นมะเร็ง คนเป็นโรคอันเนื่องมาจากอาหารเน่า ๆ ก็มี เพราะงั้นเปอร์เซ็นต์ของคนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งนั้นสูง หลังจากพ้นโทษมาแล้วน่าจะเป็นกันหลายคน
 
 
เรื่องคุณภาพอาหาร คืองบประมาณมันจำกัด เคยถามแล้วนะว่า งบประมาณอาหารต่อหัวต่อคนตกคนละ 36 บาท ในปี 2555 ตกมื้อละ 10 บาท คุณคิดดู คุณภาพอาหารมันจะเป็นยังไง แล้วก็มันจะมีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่นด้วย นี่ขนาดอาหารคุณต่ำมากนะ เพราะงบประมาณคุณต่ำ ต้องไปซื้ออะไรที่ต่ำมาให้นักโทษกิน แล้วด้วยการทุจริต คุณจะไปซื้อผักเน่ามาให้นักโทษกินก็ได้ หรือมีแต่ซี่โครงไก่ไม่มีเนื้อให้กิน"
 
 
 

สิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอันห่างไกล

 
 
"การเข้าถึงหมอน้อยมาก เอาง่าย ๆ มีหมออยู่สองคน มาตรวจ มาตรวจวันละ 3 ชั่วโมง กับคนห้าพันคน เทียบปริมาณนักโทษในคุกต่อหมอแค่ 2 คน มันไม่มีทางพอที่คุณจะตรวจคนไข้ ดังนั้น นักโทษเขาจะรู้เลยว่าคุณจะต้องไม่ป่วยแรงหรือป่วยหนักวันไหน เช่น ไม่ควรกลางคืนเพราะไม่มีหมอ หรือไม่ควรตกวันศุกร์ เพราะถ้าตรงเสาร์ อาทิตย์ คุณไม่มีโอกาสแน่ ๆ แล้วบางคน ถ้าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ปกติเขาเจอหมอภายใน 3 ชั่วโมง อาจจะไม่เป็นไร เพราะสามารถรับยาสลายลิ่มเลือดทัน แต่ถ้าเป็นในคุก ไม่มีทาง แม้ว่าวันธรรมดาก็อาจจะไม่ทัน ในการส่งออกไปพบแพทย์ เพราะว่าขั้นตอนในการส่งตัว มันไม่ใช่ส่งออกไปได้เลย มันเป็นระบบราชการแบบทำเรื่อง ขออนุมัติ แล้วต้องมีรถขนออกไป จะเป็นขั้นตอนที่มันยุ่งยาก เพราะว่าเป็นนักโทษ
 
 
อีกอันคือทันตแพทย์ไม่มี คนติดคุกสัก 3 ปี ขึ้นไปเสียฟันกันหมด จะเป็นโรคฟัน เหงือกอักเสบ คือพูดง่าย ๆ ที่นั่นหมอฟันมีอย่างเดียวคือถอน แต่ไม่ได้มีทุกวันนะ คุณจะต้องมีคิว จัดคิวพบหมอถอนฟันอย่างเดียว ใช้เวลาประมาณ 1 ปี คนที่ได้ประสบการณ์ตรงนี้ คือ ยุทธภูมิ (อดีตนักโทษ 112) ลงชื่อไว้ใช้เวลา 1 ปี จนศาลยกฟ้องและตัวเขาออกไปแล้วเพิ่งได้คิวไปพบแพทย์ เพราะงั้นคนอยู่นาน ๆ ฟันนี่ไปแน่ มันไปแม้กระทั่งคนที่ออกมา คุณไปขอเขาใส่รากเทียมกับหมอก็ไม่ได้นะเพราะว่า มันพังหมด เชื้อโรคมันกินกระดูกไปด้วย มันเสียหายยับเยิน เป็นคนแข็งแรงดี ๆ ถอนเกลี้ยง เป็นโรคเหงือก
 
 
คุณไม่มีโอกาสไปพบแพทย์ ถ้าปล่อยออกมาเสียหายยับเยิน คือโรงพยาบาลราชทัณฑ์ดูนักโทษเรือนจำหญิง คลองเปรม เรือนจำพิเศษกรุงเทพ แล้วก็โรงพยาบาลราชทัณฑ์ดูแลนักโทษทั่วทั้งประเทศนะ ต่างจังหวัดก็ส่งตัวมารักษาที่นี่ เพราะงั้นไม่มีทางที่คุณจะเข้าถึงไม่ว่าจะเป็นหมอฟันหรือหมออะไร"
 
 
 

จิตใจของนักโทษล้วนแล้วแต่เปราะบาง

 
 
"ตอนเข้าไปอยู่ปีแรก 3 เดือนแรกเคยคิดจะฆ่าตัวตาย ก็ทำแต่ไม่สำเร็จ เผอิญเรือนจำก็มองคดีสำคัญ เขาก็เกรงว่าจะเกิดเหตุแบบนี้ จะดูแลคดีหน่อย เช่น มีกล้องวงจรปิด มีนักโทษคุม เพราะงั้นตอนนั้นที่คิดเรื่องฆ่าตัวตายคือได้ทำแต่ไม่สำเร็จแค่นั้นเอง คือแขวนคอ ก็ใช้ผ้าขาวม้าผูกกับกรงเหล็ก มันเป็นตารางสี่เหลี่ยม ปีนขึ้นไปก็จะผูก แต่ตอนนั้นนักโทษตื่นขึ้นมาก่อน ประมาณตี 2 มีคนเห็นเพราะว่ามีคนอยู่ด้วยกันประมาณ 20 คน มีคนตื่นเลยมาช่วยได้ ก่อนที่จะสำเร็จ มีความเครียดสูง สำหรับคนที่เข้าไปแรก ๆ จึงปรับตัวไม่ได้ ก็จะมีทุกปีนะ การฆ่าตัวตายในเรือนจำ
 
 
 
การฆ่าตัวตายส่วนใหญ่สำเร็จ แขวนคอตาย มีบ้างที่เอาหัวโขก เอาสิ่งมีคมกรีด แต่ไม่ตายก็มี แต่ส่วนใหญ่สำเร็จ บางคนก็เป็นการฆ่าตัวตายที่มีสาเหตุมาจากการทำงานหนัก การทำงานในเรือนจำ พับถุงกระดาษที่น้องได้กินได้ใช้ ไอ้ที่หิ้วกาแฟ เป็นถุงกระดาษตามห้างที่ใช้เปลี่ยนจากถุงพลาสติกเป็นถุงกระดาษ ทำมาจากในคุก ของห้าง ของร้านกาแฟ ทำแต่ในคุก แล้วก็มีนักโทษที่เครียดแล้วฆ่าตัวตาย เรื่องทำงานไม่ทันตามเป้า ถูกดุด่าว่ากล่าว หรือลักษณะงานจะเครียดมาก ไม่ได้พักผ่อน ก็ตัดสินใจฆ่าตัวตาย อันนี้ก็มี"
 
 
 

ยิ่งติดนาน ยิ่งถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

 
 
"ก่อนออกจากคุก จะเจออะไรข้างนอก สังคมเป็นยังไง ไม่มีทางรู้เลย ข้อมูลข่าวสารไม่ถึง เขาไม่ได้ให้คุณเข้าถึงข่าวสารเลย ช่วงที่พี่อยู่ก็พยายามต่อสู้เรื่องหนังสือพิมพ์ ไปร้องเรียนกันด้วย  กว่าที่กสม.(คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) จะวินิจฉัยว่า ควรจะมีหนังสือพิมพ์ให้อ่านใช้เวลา 1 ปี ซึ่งตอนนั้นเราก็ออกจากคุกมาแล้ว
 
 
เราเห็นว่าการเข้าถึงข่าวสารจะทำให้คืนคนดีสู่สังคมได้ แล้วข่าวสารจะช่วยขัดเกลาเขาให้เข้าถึงสังคมในเวลาที่เขาออกไป ไม่งั้นก็จะไม่รู้เรื่องอะไรเลยว่า เกิดอะไรขึ้นกับสังคมข้างนอก เพราะเขาไม่รู้ข่าวสาร ไม่รู้การเมือง ไม่รู้เศรษฐกิจ ออกไปจะทำมาหากินอะไรก็ไม่มีทางรู้ด้วย เอาง่ายๆ รุ่นที่โดนจับเข้าไปโทรศัพท์ยังกดปุ่มอยู่ ออกมามันเป็นแบบสัมผัสหน้าจอกว่าจะเรียนรู้ เรายังชินกับการกดปุ่มอยู่ มันก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง เพราะงั้นถ้าคุณไม่มีทางเข้าถึงข่าวสาร การปรับตัวของคุณไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้และเทคโนโลยีคุณก็เข้าไม่ถึง คุณก็ไม่มีโอกาสทำงาน ไม่มีเลย นี่หมายถึงว่าคนติดยาวนะ เพราะว่ามันเปลี่ยนเทคโนโลยีภายใน 1 ปี ก็เปลี่ยนใหม่แล้ว แล้วถ้าติดยาวไป มันโลกยุคใหม่ ออกมาเป็นชีวิตใหม่ ก็ เด๋อ ๆ ด๋า ๆ แล้ว"
 
 
 

เริ่มต้นชีวิตใหม่หลังได้รับอิสรภาพไม่ง่าย

 
 
"ปัจจุบันไม่มีการเข้าถึงข่าวสาร ยังไม่มี น้อยมาก เพราะเหมือนคุณไปอยู่ดาวอังคาร คุณไม่รู้เรื่องอะไรเลยสังคมข้างนอก แล้วคุณออกมา คุณจะขึ้นรถเมล์ไม่ค่อยถูก ขับรถใช้เวลาปีนึงนะ ขับรถนี่หลงทางตลอดเลย จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังหลงทาง มีจีพีเอสก็ยังหลงทาง มันเปลี่ยนไปหมดเลย ทิวทัศน์ ท้องถนน หายไปเลยนะ หายวับไปกับตาใน 8 ปี มันเปลี่ยนโลกใหม่เลย 1 ปียังไม่สำเร็จเลยนะ ทุกวันนี้ขับรถไปเองคนเดียว หลงทางนะ ทุกวันนี้ อันนี้ก็เป็นปัญหาเรื่องออกจากคุก ข่าวสารก็ไม่มี อาชีพคุณก็เป็นคนละเรื่องเลยนะ ยังโบราณ เรียนอะไร เรียนตัดผมอย่างนี้
 
 
 
ในคุกไม่ได้เรียนเป็นเรื่องเป็นราว มันยังโบราณนะ ทำเฟอร์นิเจอร์ไม้อย่างนี้ คุณออกมาทำเฟอร์นิเจอร์ไม้หรอ คนบ้านพักไม่ได้อยู่แบบบ้านหลังใหญ่แล้ว เป็นคอนโด แต่ว่าคุณฝึกอาชีพมามันยังโบราณ ทำเก้าอี้หวายไม่มีใครใช้เก้าอี้หวายแล้วเดี๋ยวนี้ หายไปแล้ว เพราะงั้นคุณออกมา คุณประกอบอาชีพไม่ได้แน่ ๆ แล้วอาชีพที่อาจทำได้ พวกซ่อมมือถือ คุณไม่มีเลย ไม่ได้เรียน ซ่อมคอมพิวเตอร์คุณก็ไม่ได้เรียน อยู่ในคุก ภาษาคุณก็ไม่ได้เรียน เพราะงั้นคุณคงไม่มีทางประกอบอาชีพได้
 
 
 
ส่วนอีกอันหนึ่งคือว่า สังคมก็ยังไม่รับคุณ เพราะมีประวัติอาชญากรรม ไปสมัครงาน แต่ไม่ต้องไประบุนะ ไปสมัครขับรถ พวกนี้เขาไม่รู้ เขารับไง ผ่านหมด คุณสมบัติ มีรถส่วนตัวด้วยอะไรด้วย ไปทำงานได้ วันรุ่งขึ้น คุณมีประวัติอาชญากรรม คือ มารู้ทีหลัง รู้จากการไปเห็นในอินเทอร์เน็ต จบเลย ก็ต้องยุติ แต่นั่นก็เป็นลักษณะวิชาชีพที่เขาต้องไม่มีประวัติอาชญากรรมเลยเพื่อความมั่นใจ
 
 
แต่คดี 112 มันพิสดารหน่อย อย่างพี่มันน่าทำงานให้พรรคการเมืองได้ ไม่มีพรรคการเมืองไหนรับเลยนะ ของพี่อาจจะแย่กว่าคนอื่นหน่อยตรงที่ว่า เขามองว่าเป็นหัวขบวนล้มเจ้าแล้วก็ยังมีพฤติกรรมที่เขาเชื่อนะว่า ไม่เข็ดหลาบ พอออกมาก็ยังแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพราะฉะนั้นแล้วตอนออกมาใหม่ๆ งานการเมืองนี่คุณหมดสิทธิเลย เขาไม่รับคุณอยู่แล้ว เพราะเขาไม่อยากเปื้อน เพราะเขามองว่าเราเป็นสัญลักษณ์ของพวกล้มเจ้า เพราะว่าคดีพี่มันอยู่ในผังของพวกล้มเจ้า แล้วก็อยู่ในขบวนแถว อันนั้นก็เป็นเหตุให้ทำงานลำบาก แม้กระทั่งในงานการเมือง ปัญหาที่สองคือว่า ของพี่นี่มันถูกจับตอนอายุ 50 คุณออกมาก็คืออยู่ในวัยเกษียณแล้ว แก่แล้ว อันนี้คุณหมดสิทธิทำงาน หน่วยงานไม่รับนะ จบวิชาชีพ คุณก็ไม่ทันเทคโนโลยีแล้วนะ อย่างของพี่เคยทำสำนักพิมพ์ ไม่รับแล้ว เพราะงานสำนักพิมพ์ก็กำลังสูญพันธ์ใช่ไหม ก็จบชีวิตทางอาชีพแน่นอน อายุ ประวัติ ปิดประตูทำมาหากินหรือประกอบอาชีพ มันก็เป็นชะตากรรม
 
 
คนที่ออกมาส่วนใหญ่อุดมการณ์เขาอาจจะมีอยู่ แต่ภาวะเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ให้เขามาทำตามความเชื่อหรือเป็นนักกิจกรรมสานต่อภารกิจตามอุดมการณ์ ของผมก็ทำอะไรไม่ได้ ภาวะเศรษฐกิจไม่อนุญาตให้ไปเป็นผู้นำการเคลื่อนไหว ส่วนใหญ่ต้องละทิ้งเพื่อไปทำมาหากินไปดิ้นรนประกอบอาชีพ มันไม่เข็ดแต่ไม่มีโอกาสให้คุณทำได้อีก แค่ทำมาหากินก็จบแล้ว เงื่อนไขในชีวิตไม่อนุญาตให้คุณมีชีวิตที่ดีได้หลังออกจากคุก จิตวิญญาณยังอยู่ แต่สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย คุณดำรงชีพไม่ได้คุณจะสู้อย่างไร ตอนนี้คือทำเท่าที่ทำได้ ไปร่วมกิจกรรมบ้างแต่ไม่ใช่เป็นผู้นำ"
 

 

ชีวิตใหม่ที่ต้องปรับตัวกับความโดดเดี่ยว

 
 
"พอออกมา ครอบครัวพังพินาศ คุณก็ดูตัวอย่างเกือบทุกคนเลย เฉพาะสาย 112 นะ ดา ตอร์ปิโด ออกมาไม่เหลือเลยครอบครัว แล้วขัดแย้งกับครอบครัวด้วยนะ เพราะฉะนั้นชีวิตครอบครัวเขาก็พังทลายตั้งแต่อยู่ในคุกนะ ของพี่นี่ก็ไม่เหลือ โชคดีกว่าคนอื่นด้วยนะ เหลือบ้าน เหลือรถ แต่ไม่ใช่ของเรานะ หมายความว่า ครอบครัวทิ้งไว้ให้ แต่ว่าครอบครัวพี่ไปอยู่ต่างประเทศหมด ไม่มีใครอยู่เมืองไทย ก็คือครอบครัวเจ๊ง พัง พูดง่าย ๆ ก็คือเกือบทุกคนนะที่ติดคุก
 
 
ลูกได้โตขึ้นตอนพี่อยู่ในเรือนจำ ตอนเข้าไปเขาเรียนมัธยม ออกมาเขาจบอุดมศึกษาแล้วนะ แต่ความสัมพันธ์มันไม่มี ความผูกพันก็ไม่มี ครอบครัวของพี่ขนาดเป็นนักกิจกรรมนะ คือรู้เรื่องการเมือง ก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันแบบที่จะต้องช่วยกัน พูดง่าย ๆ เด็กรุ่นนี้เขาก็ยังดิ้นรนทำมาหากิน ไม่มีศักยภาพที่จะเกื้อกูลคนชรา เช่น ยังเรียนไม่จบอะไรก็จะลำเค็ญมากสำหรับคนที่เจออะไรประมาณนี้
 
 
 
การปรับตัวช่วงแรกนี่ก็นานมาก กว่าจะปรับตัวได้ เป็นภาวะที่เรียกว่าเจ็บปวดหัวใจแล้วก็ว่างเปล่า ไม่รู้จะอธิบายยังไง มันทรมานแบบแปลก ๆ เช่น มันรู้สึกเจ็บ ลำบาก มันมีอาการบางอย่างที่เหมือนกับว่า ขับรถออกไปปุ๊บ นึกออก ขับรถกลับมาเพื่อที่จะดูว่าตากผ้าหรือเปล่า คืออยู่ในคุกก็ซักผ้า ๆ กว่าจะลดพฤติกรรมเป็นปีเหมือนกัน เพราะว่าสมมติว่าอยู่ในคุกมันต้องเฝ้า เรารับจ้างซักผ้าให้เขา มันต้องไม่หาย ก็ต้องคอยเดิน คอยเฝ้า ของเราอยู่หรือเปล่า เผื่อมีใครมาสอยไปใช้ ก็จะเป็นพฤติกรรมติดออกมาช่วงแรก ๆ ตอนนี้ก็ดีขึ้น
 
 
 
หรือคุณต้องเปิดไฟตลอดเวลา กว่าจะนอนหลับได้ก็ทรมานเหมือนกัน ต้องเปิดไฟนอน แล้วมันผวาเพราะอะไร เพราะคุณนอนคนเดียวใช่ไหม อยู่ในคุกนอนกันหลายคน แล้วคุณนอนแบบสัมผัสกัน นอนก่ายกัน เบียดกัน อันนี้ต้องนอนแบบว่างเปล่า มันโหวงเหวง มันหลอนนะ มันไม่เหมือนตอนอยู่ในคุก หรือตอนไปกินอาหาร พอไปถึงร้านอาหาร ถอดรองเท้าเดินเข้าไป ทุกครั้งเลย โดยที่ไม่รู้ตัว เราก็เดินเท้าเปล่าเข้าไปนั่งกินข้าว พอเจ้าของร้านถามพี่ก็บอกว่า อ๋อ ลืมไป เคยใช้ชีวิตแบบเข้าไปโรงอาหารต้องถอดรองเท้า แล้วต้องเรียงด้วยนะ มันก็เป็นการปรับตัว ก็จะมีปัญหาแบบนี้ ช่วงปีแรก ๆ แต่ว่ามันเป็นชีวิตที่เราทรมานแบบแปลก ๆ นะ มันไม่เหมือนในคุก เคยพูดกับเพื่อนว่ามาเมื่อไหร่ก็ได้ คือพร้อมจะเข้าไปอีก คือถ้ามันอยู่ไม่ได้ ไปไม่ไหว ตอนอยู่ด้านนอก ไปอยู่คุกก็ยังสบายใจ ไม่ใช่สบายใจ หมายความว่า ไปอยู่ในคุกคุณก็ยังรอดตาย มีข้าวกิน มีที่นอนให้คุณนอน ยังมีที่อาบน้ำ แต่คุณก็ต้องไปใช้ชีวิตแบบนักโทษไป เอาจริงมันเศร้านะ ไม่อยากเล่าเลย"
 
 
 

“รัฐสวัสดิการ” ความฝันของอดีตนักสหภาพแรงงาน

 
 
"ก่อนหน้านั้นเรายังไม่มี 30 บาท แล้วก็ยังไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพใด ๆ เพราะงั้นคนจนก็อยู่ในสภาพที่เลวร้าย ตอนนั้นมันมีข่าวบ่อย ขนาดมีมีดแทงคาอก ไปถึงโรงพยาบาลก็ไม่ยอมรับรักษาพยาบาล เพราะคุณไม่มีเงิน สภาพมันเป็นอย่างงั้น แล้วก็เวลาคุณเจ็บป่วย เพราะงั้นก็พวกกรรมกรก็จะลำบาก ไม่มีรักษาพยาบาล ก็มีคนคิดเรื่องประกันสังคมขึ้นมายุคแรก ประกันสังคมจริง ๆ มัน เป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งของรัฐสวัสดิการ แต่ไม่ใช่รัฐสวัสดิการนะ มันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นเท่านั้นเอง มันไม่ได้ตอบสนอง 100% มันมีขีดจำกัด เช่น การว่างงานเนี่ย ในกฎหมายมันแค่ 50% พอหลังโควิดเนี่ย รู้สึกจะเพิ่มไปเป็น 70% คนที่ถูกเลิกจ้างออกไปเลยจะได้ 50% ตามกฎกมาย แล้วก็อาจจะได้เพิ่มเป็น 70% เป็นเวลาเฉพาะ เช่น เป็นระยะเวลา 3 เดือน  ช่วงโควิด ถ้าไม่ผิดนะ เพราะว่านี่ไม่ได้ตาม แล้วค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันมันก็ต่ำมาก 
 
 
อาหารการกินตีไปเลยมื้อละร้อยแน่นอน ต่ำสุดที่คุณกินวันหนึ่ง ค่าอาหารหมดแล้ว 300 บาท ทีนี้คุณออกมาได้เงินค่าจ้างแค่ 50% คุณจะใช้ชีวิตยังไง ระหว่างตกงาน ไม่ได้ คุณดำรงชีวิตไม่ได้หรอก เพราะงั้นมันไม่ได้ตอบโจทย์ แต่ก่อนอื่นคุณต้องให้เขาได้สิทธิในการดำรงชีวิตให้ได้ก่อน เมื่อคุณว่างงาน เพราะฉะนั้นตอบสนองยังไม่ได้ ตอนนี้ได้เงินสงเคราะห์บุตร 600 บาท เป็นเวลา 6 ปี วันละ 20 บาท คุณให้ลูก 20 บาท มันก็ไม่สอดคล้องที่คุณจะดูแลคุณภาพชีวิตคนในเงินตกวันละ 20 บาท ส่วนสิทธิประกันสังคม การดำรงชีวิตระหว่างรักษาพยาบาลไม่มีเลย มันไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่าย ยังอีกไกลเหมือนกันเรื่องประกันสังคม ดีที่สุดในตอนนี้ก็เป็นรัฐสวัสดิการ คุณต้องสร้างให้สำเร็จ"