1 หมุด 3 อนุสาวรีย์ – การจำกัดเสรีภาพการแสดงออกต่อสัญลักษณ์ประวัติศาสตร์ 2475

24 มิถุนายน 2475 เป็นวันสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะเป็นวันที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบการเมืองการปกครองที่สืบทอดมาจนปัจจุบัน 

แม้ตลอด 88 ปีที่ผ่านมา การเมืองไทยจะล้มลุกคลุกคลาน ผ่านการรัฐประหารทั้งที่สำเร็จและล้มเหลวอย่างน้อย 20 ครั้ง มีเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่อย่างน้อย 5 ครั้ง แต่ระบอบที่สถาปนาโดยคณะราษฎรก็ยังคงดำรงอยู่ แม้บางห้วงเวลาจะถูกคั่นด้วยการปกครองโดยคณะทหารก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดประกาศจะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองที่สถาปนาโดยคณะราษฎรในสาระสำคัญ 

อย่างไรก็ตาม สถานะทางประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรและการเปลี่ยนแปลงการปกครองถูกทำให้ลบเลือนไปเรื่อยๆ ตลอดมา เช่น 24 มิถุนายนครั้งหนึ่งเคยเป็น ‘วันชาติ’ ก็ถูกทำให้กลายเป็นเพียงวันธรรมดาที่ไร้ความหมายในยุคจอมพลสฤษดิ์ ในยุค คสช.ต่อเนื่องถึงรัฐบาลประยุทธ์ 2 การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ยุคคณะราษฎรกลับกลายเป็นสิ่งอ่อนไหวและถูกจำกัดด้วยรูปแบบต่างๆ 

 

หมุดคณะราษฎรหายลึกลับ คนติดตามถูกคุกคาม-ดำเนินคดี

ข้อมูลจากมูลนิธิโครงการตําราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ระบุว่า 

หมุดปฏิวัติ 2475 หรือหมุดคณะราษฏร หมุดกลมสีทองเหลืองจารึกข้อความ “24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” ถูกฝังบนพื้นถนนข้างฐานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อเป็นที่ระลึกถึงจุดที่พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองและอ่าน ‘ประกาศคณะราษฎร’ ฉบับแรก โดยหมุดนี้น่าจะถูกทำขึ้นในปี พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันชาติ

หมุดคณะราษฎร ถ่ายเมื่อ 24 มิถุนายน 2551  

ที่ผ่านมามีกิจกรรมรำลึก 24 มิถุนาที่หมุดคณะราษฎรติดต่อกันมาหลายปีหลังเกิดความขัดแย้งทางการเมืองในระลอกหลัง แต่หลังการรัฐประหารของ คสช.ในปี 2557 การทำกิจกรรมรำลึกที่หมุดคณะราษฎรกลายเป็นสิ่งที่ ‘ฝ่ายความมั่นคง’ รู้สึกกังวลเป็นพิเศษ

กิจกรรมรำลึก 24 มิถุนา ในปี 2557 ทำภายใต้การประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศและภายใต้การประกาศใช้ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน ครั้งนั้นกิจกรรมดำเนินไปโดยไม่มีบุคคลใดถูกดำเนินคดี แต่มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบล้อมรั้วบริเวณหมุดและให้ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน

การทำกิจกรรมที่หมุดคณะราษฎร 24 มิถุนายน 2557 ผู้เข้าร่วมต้องลงชื่อกับเจ้าหน้าที่ (ภาพโดย ประชาไท)

 

กิจกรรมวางดอกไม้รำลึกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 (ภาพโดย ประชาไท

ปี 2559 มีการจัดกิจกรรมรำลึกเช่นเคย ในวันนั้นมีเหตุวุ่นวายเล็กน้อยเมื่อเจ้าหน้าที่พยายามจะกีดกันไม่ให้สิรวิชญ์หรือ นิว หนึ่งในนักกิจกรรมทางสังคมออกนอกพื้นที่ แต่สุดท้ายทุกอย่างก็จบลงด้วยดีและเจ้าหน้าที่ยอมให้สิรวิชญ์ร่วมกิจกรรมได้

ปี 2560 ราวเดือนเมษายน มีรายงานว่าหมุดคณะราษฎรหายไปและมีผู้พบเห็นว่ามีหมุดอันใหม่ติดตั้งไว้แทนที่ การสูญหายของหมุดคณะราษฎรกลายเป็นประเด็นขึ้นมาเพราะไม่มีหน่วยงานราชการใดให้คำตอบที่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้ถอดหมุด ถอดไปที่ใด ด้วยเหตุผลอะไร เช่น

  • เขตดุสิตยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้เปลี่ยนหมุด 
  • กรมศิลปากรแจ้งว่า หมุดไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากร และหมุดคณะราษฎรไม่ใช่โบราณวัตถุตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ 

ประชาชนบางส่วนจึงดำเนินการเพื่อติดตามชะตากรรมของหมุดด้วยตัวเอง เช่น

  • 19 เมษายน 2560 มีกลุ่มประชาชนไปร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ สน.ดุสิตให้ติดตามหาหมุดและไปร้องขอให้กทม.เปิดกล้องวงจรปิดเพื่อดูว่าบุคคลใดเป็นผู้นำหมุดไป   
  • เดือนมิถุนายน 2560 เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางสังคม ประกาศผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าเขาจะนำหมุดคณะราษฎรจำลองที่ได้รับมาไปฝังแทนหมุดที่ถูกนำมาเปลี่ยน 
  • 24 มิถุนายน 2560 เอกชัยเดินทางด้วยรถแท็กซี่จากบ้านแต่เช้าไปที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อทำการเปลี่ยนหมุดตามที่ประกาศไว้ แต่ทันทีที่เขาลงจากรถก็ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปที่ค่ายทหารเพื่อ ‘ปรับทัศนคติ’ ตลอดทั้งวันก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในช่วงค่ำวันเดียวกันโดยไม่ถูกแจ้งข้อหา

เจ้าหน้าที่พาเอกชัยมาส่งที่บ้านพร้อมขอค้นบ้านเพื่อหากล่องพัสดุที่ถูกใช้ส่งหมุดมาที่บ้านของเอกชัย 24 มิถุนายน 2560 (ภาพโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

     ในช่วงที่ถูกควบคุมตัวเจ้าหน้าที่พยายามสอบถามว่าเอกชัยได้หมุดจำลองมาจากบุคคลใด ในการปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจนำเขามาส่งที่บ้านพร้อมขอทำการตรวจค้นบ้านเพื่อหากล่องพัสดุที่เอกชัยระบุว่ามีคนส่งหมุดมาให้ทางไปรษณีย์ เอกชัยยินยอมให้ตรวจค้นบ้านแต่จากการตรวจค้นไม่พบกล่องพัสดุเจ้าหน้าที่จึงขอตัวกลับ

  • 17 เมษายน 2560 วัฒนา เมืองสุข นักการเมืองพรรคเพื่อไทยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กถึงกรณีที่มีประชาชนออกมาติดตามหมุดทำนองว่า

     รู้สึกไม่สบายใจที่มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ออกมาถามกลุ่มนักศึกษาที่ไปแจ้งความเรื่องหมุดว่าเป็นผู้เสียหายหรือไม่ โดยตัวเขาเห็นว่าหมุดคณะราษฎรเป็นสังหาริมทรัพย์ เป็นของโบราณที่ประดิษฐ์ขึ้นเป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เป็นสัญลักษณ์ของการอภิวัฒน์สยามเมื่อปี พ.ศ. 2475 จึงถือเป็นโบราณวัตถุตาม มาตรา 4 พ.ร.บ.โบราณสถานฯ ซึ่งผู้เบียดบังย่อมมีความผิดตามกฎหมาย 

     20 เมษายน 2560 เขาถูกร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เขาเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) วัฒนาระบุว่า จะไม่ออกมาเคลื่อนไหวหรือตามหาหมุดคณะราษฎรอีกแล้ว โดยเรื่องทั้งหมดจะจบเท่านี้ ส่วนใครจะออกมาเคลื่อนไหวอย่างไรก็เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ ในทางคดี วัฒนาให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดีในชั้นศาล 

     14 ธันวาคม 2561 ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องวัฒนาโดยให้เหตุผลซึ่งพอสรุปได้ว่า 

     พยานโจทก์ที่เป็นนักวิชาการ และทหารฝ่ายกฎหมายจาก คสช. เบิกความกล่าวหาจำเลยว่า นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อความอันเป็นเท็จ เพราะกรมศิลปากรระบุว่า หมุดคณะราษฎรไม่ใช่โบราณวัตถุ จำเลยเป็นบุคคลทางการเมืองมีความน่าเชื่อถือ ประชาชนอาจเชื่อตามที่จำเลยโพสต์แล้วเกิดความตื่นตระหนกว่าโบราณวัตถุหายไป อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความวุ่นวายข้อนี้ศาลเห็นว่าเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของพยานโจทก์เท่านั้น

     สำหรับข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 เห็นว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ ไม่มีข้อความที่ชวนให้ประชาชนออกไปก่อความวุ่นวาย หรือชุมนุม หรือเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จำเลยถูกตั้งข้อหานี้สี่เดือนหลังการตั้งข้อหาในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ระหว่างนั้นก็ไม่เกิดเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงขึ้น และหากเป็นเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงจริงก็คงจะเห็นได้ชัดและควรจะต้องตั้งข้อหานี้ตั้งแต่แรก

     ส่วนกรณีที่มีนักกิจกรรมไปยื่นเรื่องเพื่อให้หน่วยงานรัฐตามหาหมุดคณะราษฎร ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่า เกี่ยวข้องกับข้อความที่จำเลยโพสต์และไม่ใช่การกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงหรือเกิดความวุ่นวาย

     ในส่วนของความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) แม้กรมศิลปากรจะมีความเห็นว่า หมุดคณะราษฎรไม่ใช่โบราณวัตถุ ความเห็นนี้ก็ออกมาวันที่ 18 เมษายน 2560 หนึ่งวันหลังจากที่จำเลยโพสต์ข้อความ ทั้งยังมีนักกิจกรรมและนักวิชาการอีกหลายคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างในเรื่องความเป็นโบราณวัตถุ และทุกคนก็แสดงความคิดเห็นทางวิชาการแลกเปลี่ยนกันโดยสุจริต ข้อความที่จำเลยกล่าวว่า หมุดคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุจึงไม่ใช่ข้อความอันเป็นเท็จ

     ที่จำเลยวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ปล่อยปละละเลยให้หมุดคณะราษฎรหายไปโดยไม่ติดตามหาคืน ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการตามปกติ ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย และปรากฏว่า มีนักกิจกรรมไปแจ้งความให้ติดตามหาหมุดคณะราษฎรแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รับแจ้งความจริง การแสดงความคิดเห็นส่วนนี้จึงไม่ใช่ข้อความอันเป็นเท็จเช่นเดียวกัน

     พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โพสต์ของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ได้มีเจตนายุยงปลุกปั่นให้กระทบต่อความมั่นคง จึงไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้อง 

 

เจ้าหน้าที่สั่งห้ามนักกิจกรรมถ่ายวิดีโอขณะย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ (อนุสาวรีย์ปราบกบฏ) เคยตั้งอยู่ที่วงเวียนหลักสี่ เป็นอีกหนึ่งสิ่งปลูกสร้างยุคคณะราษฎรที่มีประชาชนไปทำกิจกรรมในยุค คสช. 

การทำกิจกรรมในปี 2559 ช่วงก่อนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นเหตุให้นักกิจกรรมอย่างน้อย 7 คนถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่กำหนดห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต 

ในเวลาต่อมามีกระแสข่าวว่าอนุสาวรีย์จะถูกย้าย นักกิจกรรมคนหนึ่งเดินทางมาถ่ายวิดีโอการย้ายอนุสาวรีย์ก็มีคนเข้ามาห้ามและสั่งให้เขาออกจากพื้นที่ 

เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้าระบุว่า อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญตั้งอยู่ที่วงเวียนบางเขน ถูกสร้างขึ้นหลังเหตุการณ์ในปี 2476 ที่ทหารของรัฐบาลคณะราษฎรสู้รบและเอาชนะทหารของคณะกู้บ้านกู้เมืองที่นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดชได้สำเร็จ โดยอนุสาวรีย์แห่งนี้มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2479  

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นอนุสาวรีย์ยุคคณะราษฎรที่ก่อนหน้านี้น่าจะไม่ได้ถูกจดจำในฐานะสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากนัก จินต์ชญาเขียนคำบอกเล่าของแม่ ท่านผู้หญิงพึงจิตต์ ศุภมิตร ซึ่งอยู่ร่วมสมัยการก่อสร้างอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ไว้ในหนังสือ “ชาววังเล่าเรื่องผี” ตอนหนึ่งในหน้า 6 ว่า 

“เมื่อการกบฏไม่สำเร็จ พระยาเทพฯ (พระยาเทพสงคราม หนึ่งในทหารคณะกู้บ้านกู้เมือง) ขึ้นรถไฟหนีไปไซ่ง่อนประเทศเวียดนามได้ แต่คุณตาได้ต่อสู้กับกองทัพรัฐบาลและเสียชีวิตบริเวณทุ่งบางเขน แถวๆ อนุสาวรีย์หลักสี่นั่นเอง อนุสาวรีย์นี้เป็นอนุสาวรีย์ที่ส่วนตัวฉันเห็นว่าน่าเกลียดเป็นที่สุดและไม่มีใครให้ความสำคัญอะไรเลย” 

ขณะที่สุภชาติ เล็บนาค เคยเขียนสภาพของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญในช่วงทศวรรษที่ 2540 ต่อทศวรรษที่ 2550 ว่า    

“วงเวียนบางเขน ถูกเปลี่ยนเป็นสี่แยกอยู่ระยะหนึ่ง และกลับมาเป็นวงเวียนใหม่อีกรอบราวๆ ปี 2543-2544 กรมทางหลวงขุดอุโมงค์ลอดอนุสาวรีย์ ปี 2553 ก็สร้างสะพานข้ามแยก จากแจ้งวัฒนะไปรามอินทรา อนุสาวรีย์ถูกเขยิบไปข้างๆ เพื่อหลีกให้สะพานข้ามแยก กลายเป็นอนุสาวรีย์เดียวที่มีสะพานข้ามให้รถวิ่งกันขวักไขว่อยู่ด้านบน”  

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญระหว่างการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า ถ่ายเมื่อ 8 กันยายน 2559 (ภาพโดย ณัฐชลี สิงสาวแห)

ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏเข้ามามีบทบาทในฐานะพื้นที่การชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกเมื่อใด แต่เท่าที่สืบค้นข้อมูลพบว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้เคยถูกใช้เป็นพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงระหว่างการชุมนุมในเดือนมีนาคม 2553 หลังจากนั้นในปี 2555 กลุ่มคนเสื้อแดงก็ใช้พื้นที่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นพื้นที่การชุมนุมอีกครั้ง

ในวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นักศึกษาและนักกิจกรรม 7 คนประกาศทำกิจกรรม “ปัดฝุ่นประชาธิปไตย” โดยพวกเขาจะเดินเท้าจากวัดพระศรีมหาธาตุบางเขนซึ่งสร้างในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามและเคยใช้ชื่อว่า “วัดประชาธิปตัย” ไปยังอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญเพื่อทำความสะอาดและระหว่างทางก็เตรียมแจกเอกสารรณรงค์ให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ 15 ตุลาคม 2555 (ภาพจาก ประชาไท)

นักกิจกรรมทั้งเจ็ดถูกเจ้าหน้าที่ล้อมหน้าล้อมหลังตลอดเวลาที่เขาเดินเท้าจากวัดพระศรีมหาธาตุไปยังอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ระหว่างทางเมื่อมีประชาชนคนหนึ่งเดินผ่านมา หนึ่งในนักกิจกรรมได้ยื่นเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญให้ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนายหนึ่งได้วิ่งตามประชาชนคนนั้นไปแล้วขอเอกสารกลับคืนมา 

นักกิจกรรมถูกเจ้าหน้าที่ล้อมกรอบให้อยู่บริเวณหัวมุมถนนก่อนข้ามไปวงเวียนหลักสี่ หลังถูกล้อมกรอบที่นี่ครู่หนึ่งก่อนถูกควบคุมตัว (ภาพจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมุษยชน)

ท้ายที่สุดนักกิจกรรมทั้งเจ็ดก็ไปไม่ถึงอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญซึ่งในขณะนั้นถูกล้อมรั้วเพราะมีการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า ทั้งเจ็ดถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมขึ้นรถตู้ไปตั้งข้อกล่าวหาที่ สน.บางเขน 

อัยการทหารสั่งฟ้องนักกิจกรรม 7 คนในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ต่อมาในเดือนมกราคม 2562 ศาลทหารกรุงเทพก็สั่งจำหน่ายคดีนี้จากสารบบความเนื่องจากในเดือนธันวาคม 2561 คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ได้ถูกยกเลิกไป

ก่อนหน้าที่จำเลยทั้งเจ็ดจะพ้นไปจากการถูกดำเนินคดี อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญก็กลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว เพราะช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 2561 มีรายงานว่ามีการจัดพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญเพื่อทำการเคลื่อนย้ายไปไว้ที่ศูนย์ก่อสร้าง กทม. ย่านหนองบอน ข่าวนี้ปรากฏไม่นานประชาชาติธุรกิจออนไลน์ซึ่งเป็นผู้รายงานข่าวดังกล่าวก็ลบข่าวออกจากเว็บไซต์ของตัวเองในเวลาต่อมา

เมื่อผู้สื่อข่าวของวอยซ์ทีวีโทรศัพท์ไปสอบถามเรื่องการย้ายอนุสาวรีย์กับศักดิ์ชัย บุญมา ผอ.สำนักโยธา กทม. ก็ได้รับคำตอบว่าอนุสาวรีย์ไม่ได้ถูกนำไปเก็บที่หนองบอน และ กทม.ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เขายังระบุด้วยว่า

“จริงๆ ก็ย้ายมาหลายครั้งแล้ว ก่อนหน้านี้อยู่กลางวงเวียน พอสร้างอุโมงค์ ก็ย้ายไปมุมตรงข้ามกับ สน.บางเขน แล้วพอสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็ย้ายมาอีกมุมหนึ่ง ผมว่ามันเกะกะ ทำไมนักข่าวสนใจอนุสาวรีย์นี้จัง อยากให้เป็นข่าวเหรอ”

มีรายงานว่าในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 27 ธันวาคม 2561 หรือเช้ามืดวันที่ 28 ธันวาคม 2561 กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ นักกิจกรรมทางสังคมได้ไปถ่ายทอดเหตุการณ์ขณะที่มีการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญแต่ปรากฏว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวและคลิปวิดีโอที่เขาถ่ายทอดสดก็ถูกลบ รายงานของประชาไทยังระบุด้วยว่าระหว่างการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์มีเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจควบคุมสถานการณ์ในบริเวณดังกล่าวด้วย     

หนึ่งในนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดี “ปัดฝุ่นประชาธิปไตย” ที่ในปี 2559 เดินไปไม่ถึงอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญเปิดใจในภายหลังเกี่ยวกับความรู้สึกของเธอต่อกรณีที่อนุสาวรีย์หายไปว่า เธอรู้สึกใจหายและสำหรับเธอเรื่องที่เกิดขึ้นดูเป็นการจงใจที่จะลบประวัติศาสตร์ เพราะแม้บริเวณนั้นจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่ก็น่าจะเลี่ยงตัวอนุสาวรีย์ได้ การเอาอนุสาวรีย์ออกไปในลักษณะนี้ถือเป็นการทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ที่ถูกทำลายก็เป็นประวัติศาสตร์ของสามัญชนที่พยายามพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย

 

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวัน “ปิดปรับปรุง”

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน น่าจะเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คที่ใครหลายคนนึกถึงเวลาพูดถึงประวัติศาสตร์ยุคคณะราษฎร นอกจากนั้นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังดูจะเป็นพื้นที่ที่มีการชุมนุมทางการเมืองเกินขึ้นบ่อยที่สุดหากเปรียบเทียบกับสิ่งปลูกสร้างที่เป็นมรดกคณะราษฎรอื่นๆ

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2483 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยในพิธีเปิดจอมพล ป. กล่าวตอนหนึ่งว่า

“อนุสาวรีย์นี้จะเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญก้าวหน้าทั้งมวล เป็นต้นว่า ถนนสายต่างๆ ที่จะออกจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองก็จะนับต้นทางจากอนุสาวรีย์นี้ ถนนราชดำเนินซึ่งเป็นแนวของอนุสาวรีย์ก็กำลังสร้างอาคารให้สง่างามเป็นที่เชิดชูเกียรติของประเทศ และเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัย จะทำให้ถนนนี้เป็นที่เชิดชูยิ่ง” 

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นสถานที่ที่ถูกใช้จัดการชุมนุมหลายครั้ง รวมถึงการชุมนุมที่ถือเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขณะที่ในการเมืองไทยร่วมสมัย ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญในการเมืองไทยร่วมสมัยไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รวมถึงคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ล้วนเคยจัดการชุมนุมโดยมีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นฉากหลัง 

หลังการยึดอำนาจของ คสช.อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ยังถูกใช้งานในฐานะสถานที่จัดการชุมนุมทางการเมืองอยู่บ้าง แต่ก็มีข้อน่าสังเกตว่าในระยะหลังอนุสาวรีย์มักถูกล้อมรั้วหรือนำกระถางดอกไม้ไปวางเต็มพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง หรือแม้ไม่มีการวางกระถางดอกไม้แต่ก็มีการล้อมรั้วกั้นพื้นที่ไว้เฉยๆ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ดูจะอ่อนไหวและมักห้ามการจัดกิจกรรมบนตัวอนุสาวรีย์ ทั้งที่หากยินยอมให้มีการจัดกิจกรรมบนพื้นที่ดังกล่าวก็น่าจะกระทบต่อการสัญจรของประชาชนน้อยที่สุดเพราะตัวอนุสาวรีย์ตั้งอยู่ใจกลางวงเวียนซึ่งประชาชนทั่วไปไม่ได้เดินผ่านทางไปมา  

ในยุค คสช.มีการจัดการชุมนุมบนลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่น่าสนใจอย่างน้อย 3 ครั้ง 

การชุมนุมครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2558 นักศึกษา 14 คน จากหลายสถาบันการศึกษาที่เคยถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการทำกิจกรรมรำลึกครบรอบ 1 ปีการรัฐประหาร 2557 ทั้งที่กรุงเทพฯ และที่ขอนแก่น ร่วมกันทำกิจกรรมเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อมาถึงพวกเขาร่วมกันชูป้ายผ้าเขียนข้อความ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ให้สื่อมวลชนถ่ายภาพ ทั้ง 14 คนไม่ได้ถูกจับกุมในวันที่ 25 มิถุนายนซึ่งเป็นวันที่พวกเขาทำกิจกรรมแต่ไปถูกจับกุม 1 วันหลังจากนั้น ระหว่างที่ทั้ง 14 กำลังพักผ่อนกันอยู่ที่สวนเงินมีมา 

หลังการจับกุม นักกิจกรรมทั้ง 14 คนถูกตั้งข้อกล่าวหายุยุงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 พนักงานสอบสวนนำตัวพวกเขาไปขออำนาจศาลทหารฝากขังในค่ำวันเดียวกับที่มีการจับกุม ทนายขอให้ศาลทหารไต่สวนคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนเพราะเห็นว่าไม่มีเหตุให้ควบคุมตัว และพวกเขาแถลงคัดค้านคำร้องของพนักงานสอบสวน 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเที่ยงคืนทั้ง 14 คนก็ถูกส่งตัวไปเรือนจำหลังศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้องของตำรวจและผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ใช้สิทธิประกันตัว ทั้ง 14 คนถูกฝากขังไว้ 12 วันจึงได้รับการปล่อยตัว ในส่วนของคดีความจนถึงวันนี้สำนวนคดียังคงอยู่กับพนักงานสอบสวนไม่มีการฟ้องคดีต่ออัยการ เท่าที่สังเกตจากภาพถ่ายวันเกิดเหตุไม่ปรากฏว่าในขณะนั้นมีการล้อมรั้วอนุสาวรีย์หรือมีการนำกระถางต้นไม้ไปวางแต่อย่างใด 

การชุมนุมครั้งที่สองและครั้งที่สาม ได้แก่การชุมนุมครบรอบ 9 ปีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการชุมนุมครบรอบ 2 ปีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ การชุมนุมทั้ง 2 ครั้งไม่มีการดำเนินคดีบุคคลใดตามมา 

การชุมนุมที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2558 หากดูจากภาพข่าวในวันนั้นพบว่ามีการนำรั้วสีเหลืองไปกั้นไว้โดยรอบพื้นที่อนุสาวรีย์แต่การชุมนุมบนลานอนุสาวรีย์สามารถดำเนินไปได้  ส่วนการชุมนุมในวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 เท่าที่สังเกตภาพข่าวจากเว็บไซต์ประชาไทพบว่ามีการล้อมรั้วเหลืองรอบตัวอนุสาวรีย์ด้วยเช่นกันแต่ยังไม่มีการนำกระถางต้นไม้มาวางในพื้นที่และการทำกิจกรรมบนลานอนุสาวรีย์ยังสามารถทำได้ 

เท่าที่มีข้อมูลการปิดพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอย่างเป็นกิจจะลักษณะน่าจะเกิดขึ้นหลังปี 2559 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีรายงานจากไทยรัฐออนไลน์ว่า ก่อนหน้าที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะไปทำกิจกรรมที่ถนนราชดำเนิน เจ้าหน้าที่มีการนำต้นไม้มาวางจนเต็มพื้นที่ลานอุสาวรีย์ประชาธิปไตยพร้อมทั้งกั้นรั้วห้ามไม่ให้บุคคลใดขึ้นไป ทั้งนี้แม้ในเวลาต่อมาจะมีการนำกระถางต้นไม้ออกไปแต่เจ้าหน้าที่ดูจะเข้มงวดกับการทำกิจกรรมบนพื้นที่  

ในปี 2563 เจ้าหน้าที่ทวีความเข้มงวดต่อการทำกิจกรรมบนลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญ วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ครบรอบ 6 ปี การรัฐประหาร 2557 มีนักกิจกรรมสองกลุ่มไปทำกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่ยืนยันอย่างหนักแน่นกับทั้งสองกลุ่มว่าห้ามเข้าไปทำกิจกรรมบนลานอนุสาวรีย์

เรื่องมีอยู่ว่า ในช่วงเช้า เครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนป.) จัดกิจกรรมถือป้ายผ้าและพวงหรีดในโอกาสครบรอบ 6 ปี การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ภัสราวลีหนึ่งในนักกิจกรรมระบุว่า เมื่อเธอกับเพื่อนๆ ทำท่าว่าจะเดินขึ้นไปทำกิจกรรมบนตัวอนุสาวรีย์ซึ่งถูกล้อมรั้วแต่ยังไม่มีกระถางต้นไม้วาง มีแต่รั้วกั้นรอบอนุสาวรีย์ ทันใดนั้นตำรวจก็เข้ามาเจรจาว่าไม่ให้ทำกิจกรรมบนตัวอนุสาวรีย์แต่ให้ทำบนเกาะกลางถนนได้

จากนั้นในช่วงบ่ายวันเดียวกันนักกิจกรรมสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) นำป้ายผ้ามาผูกกับรั้วที่ล้อมรอบอนุสาวรีย์ เจ้าหน้าที่ก็เข้ามาพูดคุยและอ้างว่าทำกิจกรรมไม่ได้เพราะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างไรก็ตามเหล่านักกิจกรรมก็ผูกป้ายผ้าต่อไป ทว่าเมื่อกิจกรรมที่อนุสาวรีย์แล้วเสร็จมีนักกิจกรรม 3 คนถูก “เชิญตัว” ไปที่ร้านแมคโดนัลด์ราชดำเนิน หลังจากนั้นทั้งสามถูกพาตัวไปที่ สน.สำราญราษฎร์โดยนักกิจกรรม 2 ใน 3 คนถูกเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ.จราจรฯ  

วันที่ 9 มิถุนายน 2563 สนท.ทำกิจกรรมผูกโบขาวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทยที่มีข่าวว่าถูกกลุ่มชายฉกรรจ์อุ้มตัวในกัมพูชา การทำกิจกรรมในวันดังกล่าวนักกิจกรรม สนท.ผูกผ้าอยู่ด้านนอกไม่ได้เข้าไปภายในลานอนุสาวรีย์แต่พวกเขาก็ถูกตั้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และถูกพาตัวไปที่ สน.สำราญราษฎร์  

ในวันที่ 9 มิถุนายน ตามภาพข่าวพบว่าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีเพียงการกั้นรั้วแต่บนลานอนุสาวรีย์ยังคงโล่งไม่มีการวางกระถางดอกไม้ต้นไม้ แต่ในวันที่ 20 มิถุนายน 2563 พบว่าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีการนำกระถางต้นไม้ดอกไม้ไปวางไว้เต็มพื้นที่และมีการติดป้ายเขียนข้อความ “ห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต อยู่ระหว่างการปรับปรุง” ไว้บนรั้วเหล็ก

 

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น ล้อมรั้วด้วยต้นไม้ จัดเวรยามสกัดชุมนุม

นอกจากที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะในภาคอีสานก็มีการสร้างอนุสาวรีย์ลักษณะเดียวกันด้วย 

จังหวัดขอนแก่นมีการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไว้เช่นกัน ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับศาลหลักเมือง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่นสร้างเป็นรูปหกเหลี่ยมคล้ายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ และมีรัฐธรรมนูญบนพานแว่นฟ้าอยู่บนยอด แต่ที่ต่างไปคือ ไม่มีปีกเหมือนที่กรุงเทพฯ หากดูจากตัวเลขที่จารึกบนอนุสาวรีย์คาดว่าก็สร้างแล้วเสร็จและมีพิธีเปิดในปี 2486

ในช่วงที่ คสช.ยึดอำนาจ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นน่าจะถูกใช้เป็นพื้นที่จัดการชุมนุมครั้งแรกในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 โดยนักศึกษากลุ่มดาวดิน 7 คนนำป้ายเขียนข้อความ “คัดค้านรัฐประหาร” ในโอกาสรำลึก 1 ปีการรัฐประหาร ทั้งหมดถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน 

ในทางคดีมีจำเลยเพียง 2 คนจากที่ถูกตั้งข้อหารวม 7 คนที่ถูกฟ้องดำเนินดคีต่อศาลทหารขอนแก่นซึ่งท้ายที่สุดในปี 2562 ศาลทหารก็มีคำสั่งจำหน่ายคดีของจำเลยทั้งสองเนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิกไปแล้ว  

นอกจากการชุมนุมครั้งนี้ก็มีการชุมนุมที่น่าสนใจอีกอย่างน้อย 2 ครั้งที่เกิดขึ้นที่นี่ในยุค คสช. ได้แก่ การชุมนุมเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่พนักงานสอบสวนนัดนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินทั้งเจ็ดเข้าพบ แต่ทั้งเจ็ดประกาศทำอารยะขัดขืนด้วยการชุมนุมร่วมกับกลุ่มประชาชนที่มาให้กำลังใจที่อนุสาวรีย์แทนการเข้ารายงานตัว แต่สุดท้ายไม่มีการจับกุมหรือดำเนินคดีกับบุคคลใดหลังเหตุการณ์นี้ 

นอกจากนั้นก็มีกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพ ที่ผู้ชุมนุมมาทำกิจกรรมประกาศเจตนารมณ์หลังเดินเท้าจากกรุงเทพฯ มาถึงขอนแก่นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 กิจกรรมทั้งสองครั้งไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาใดในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มีเพียงกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพ ที่มีคนถูกดำเนินที่ในพื้นคลองหลวง ปทุมธานี รวม 8 คน ในวันที่มีการทำกิจกรรม We Walk บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยพบว่ามีการนำกระถางดอกไม้มาวางในพื้นที่ และมีการนำต้นไม่สีเขียวที่มีความสูงระดับไหล่มาวางล้อมตัวอนุสาวรีย์ อย่างไรก็ตามไม่ได้มีการนำต้นไม้มาวางเต็มพื้นที่จนไม่สามารถทำกิจกรรมได้   

ในช่วงปลายปี 2562 และเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นยุครัฐบาลประยุทธ์ 2 มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เกิดขึ้นที่อนุสาวรีย์แห่งนี้อย่างน้อย 2 ครั้ง ได้แก่ กิจกรรมแฟลชม็อบคู่ขนานกับแฟลชม็อบ #ไม่ถอยไม่ทน ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (น่าจะหมายถึงยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2563 ซึ่งจัดโดยกลุ่มประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน (คปน.) การชุมนุมจบลงด้วยความเรียบร้อยไม่มีเหตุวุ่นวายหรือการจับกุมดำเนินคดีบุคคลใด

ล่าสุดในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 หลังจากที่สหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษา (สนท.) ทำกิจกรรม #saveวันเฉลิม ผูกริบบิ้นขาวในจังหวัดขอนแก่น เจ้าหน้าที่ในจังหวัดขอนแก่นก็ดูจะมีความอ่อนไหวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

8 มิถุนายน 2563 สนท.นำป้ายเขียนข้อความ “เผด็จการสฤษดิ์สั่งประหารครูครองนักประชาธิปไตย แล้วเผด็จการคนไหนสั่งอุ้มวันเฉลิม? #Saveวันเฉลิม” และ “ต้องใช้เลือดเท่าไหร่ ล้างสังคมทราม” ไปติดที่อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีกระแสการทำลายอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญในอดีตที่เกี่ยวข้องกับการค้าทาสหรือการล่าอาณานิคมเกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น ที่อังกฤษและเบลเยียม  

12 มิถุนายน 2563 เพจขอนแก่นพอกันที ซึ่งเป็นเพจเฟซบุ๊กของนักกิจกรรมในพื้นที่ก็มีการโพสต์ภาพบริเวณใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มีการนำแผงเหล็กติดป้ายต่างๆ เช่น Big Cleaning Day และป้าย “ขออภัยในความไม่สะดวก กำลังฝึกซ้อมแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย” มาปิดกั้นพื้นที่ 

สำนักข่าวประชาไทรายงานความเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นในช่วงวันที่ 20 มิถุนายน ว่า บริเวณใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ 2 นาย นั่งเฝ้าสังเกตการณ์อยู่บริเวณใต้ต้นไม้ ก่อนจะมีการเรียกแถวรวมพลกันกว่าสิบนายในเวลา 18.00 น. และจากภาพข่าวพบว่ามีการนำกระถางดอกไม้มาเรียงล้อมรอบอนุสาวรีย์เป็นวงหนากว่าปกติและมีการใช้ต้นไม้สีเขียวที่มีความสูงระดับไหล่มาวาง ซึ่งหากเปรียบเทียบกับภาพข่าวเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม จะพบว่าแม้จะมีการวางต้นไม้ประดับเป็นวงรอบตัวอนุสาวรีย์แต่ครั้งนั้นจะใช้เป็นไม้ขนาดเตี้ยและรัศมีวงล้อมไม่กว้างเท่าการวางต้นไม้ในวันที่ 30 พฤษภาคม

จากการสอบถาม เจ้าหน้าที่ที่เฝ้าพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่ให้ข้อมูลว่ามาเฝ้าระวังเหตุใด แต่เจ้าหน้าที่ที่เฝ้าระวังพื้นที่อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ได้ความว่า 

ช่วงเวลานี้ใกล้วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน ตำรวจจึงมีการเฝ้าระวังตามจุดต่างๆ ทั่วเมืองขอนแก่น ส่วนใหญ่จะเฝ้าสังเกตการณ์ตามจุดสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง เพราะกังวลว่าอาจจะมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของผู้ชุมนุมที่อาจจะฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ เนื่องจากช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงควบคุมโรคระบาดอยู่ โดยคำสั่งให้เฝ้าอนุสาวรีย์เริ่มมีมาตั้งแต่หลังการปลดล็อกการควบคุมการระบาดของโควิด 19 ระยะที่ 2 แล้ว ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเฝ้าระวังตามจุดต่างๆ ตลอด 24 ชม. ผลัดเปลี่ยนเวรกันประมาณคนละ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน

เจ้าหน้าที่ผู้ให้ข้อมูลระบุด้วยว่า

“ตราบใดที่ผู้ชุมนุมทำตามกรอบกฎหมาย เช่น มีการแจ้งชุมนุมก่อน มีเวลาระบุที่แน่นอน เราก็ไม่ได้ทำอะไร เพียงแต่มาอำนวยความสะดวกให้ แล้วก็ถ่ายรูปให้ผู้บังคับบัญชาว่าเขามาชุมนุมตามกฎหมาย นอกจากนั้นก็เป็นการดูแลคอยมาระงับเหตุหากมีฝ่ายตรงข้ามมาก่อกวน หรือมายกพวกตีกัน อะไรประมาณนั้น”