บันทึกการคุกคามนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว ก่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

50135259228_059651323f_b

ก่อนและหลังการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 มีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามโดยการเยี่ยมบ้าน และโทรหาอย่างน้อย 14 คน แบ่งเป็นเยี่ยมบ้าน 11 คน และโทรศัพท์สอบถาม 3 คน
 

กรณีเยี่ยมบ้าน

1. บรรจง นะแส 

บรรจงเล่าว่า วันที่ 6 กรกฎาคม 2563 รองผู้ว่าฝ่ายความมั่นคง (โควต้าจากกองทัพเรือ) จังหวัดนราธิวาส พร้อมผู้ติดตามอีก 1 คน แต่งกายนอกเครื่องแบบราชการ เข้ามาพบที่บ้านในจังหวัดสงขลา เข้ามาสอบถามเรื่องหลักๆ คือ เรื่องที่บรรจงโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องน้ำมันตราสมอ ที่ทหารเรือทุจริตน้ำมันกองทัพเรือ นำน้ำมันจากเรือหลวงออกมาขาย ในพื้นที่ทัพละมุ จังหวัดพังงา โดยรองผู้ว่าฯ เข้ามาพูดคุยสอบถามเกี่ยวกับพยานหลักฐานที่บรรจงได้รับมาว่าได้มาอย่างไร และเข้ามาปรับความเข้าใจกับบรรจงว่าในกองทัพเรือน้ำมันในเรือไม่สามารถนำออกมาขายได้ตามที่บรรจงกล่าวอ้าง เนื่องจากของหลวงมีระบบการเบิกจ่ายที่ต้องตรวจสอบตลอด ใช้ไม่หมดก็ต้องคืน 

ส่วนเรื่องของนิคมอุตสาหกรรมที่จะนะ รองผู้ว่าฯ ได้พูดคุยกับบรรจงในเชิงที่ว่าต้องช่วยกันเสนอทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นไปแล้ว แต่ไม่ได้สอบถามบรรจงถึงเรื่องการไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 แต่อย่างใด การพูดคุยที่บ้านทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 30 นาที

วันที่ 7 กรกฎาคม 2563 บรรจงโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า มีคลิปวงจรปิด ที่บันทึกภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาบุกสำนักงาน เพื่อเข้ามาสอบถามว่ามีใครไปร่วมเวทีรับฟังความเห็นสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 บ้าง

จากการสอบถามเพิ่มเติมเหตุการณ์ดังกล่าวจาก สมยศ โต๊ะหลัง ซึ่งเป็นผู้ส่งข้อมูลให้กับบรรจงในวันเกิดเหตุ สมยศแจ้งว่า ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 สมยศทำกิจกรรม #SAVECHANA อยู่ที่หอศิลปกรุงเทพฯ แต่มีโทรศัพท์เข้ามาจากชาวบ้านในเครือข่ายที่ใช้สำนักงานมูลนิธิ Saveอันดามัน ที่จังหวัดตรัง เพื่อการประชุมกิจกรรมเครือข่าย ว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 7 คน มาโดยรถกระบะ 2 คัน ทราบว่าเป็นตำรวจสันติบาล จาก สภ.ตรัง มาสอบถามถึงสมยศ ซึ่งมีชื่อเป็นผู้เช่าสำนักงานมูลนิธิ Saveอันดามัน ซึ่งชาวบ้านคนดังกล่าวตอบไปว่า สมยศไม่อยู่ อยู่ที่กรุงเทพฯ จากนั้นชาวบ้านคนดังกล่าวจึงโทรหาสมยศ และถามว่าจะคุยกับตำรวจหรือไม่ ซึ่งสมยศได้ปฏิเสธการพูดคุยกับตำรวจไป ตำรวจจึงสอบถามชาวบ้านว่าจะไปร่วมเวทีที่จะนะในวันที่ 11 หรือไม่ และจะมีคนจากกลุ่มนี้ไปร่วมเวทีกันกี่คน ชาวบ้านคนดังกล่าวไม่ได้ให้คำตอบไป หลังจากพูดคุยเสร็จ สมยศจึงให้คนในสำนักงานไปดูกล้องวงจรปิดในสำนักงาน แล้วแจ้งให้บรรจงทราบ จึงมีการโพสต์ภาพลงในเฟซบุ๊กของบรรจง

ภาพประกอบจากกล้องของวงจรปิดมูลนิธิ SAVEอันดามัน วันที่ 7 กรกฎาคม 2563

หลังจากสิ้นสุดเวทีรับฟังความเห็นจะนะ บรรจงแจ้งว่าไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายใดอีกเลย

 

2. รุ่งเรือง ระหมันยะ

รุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ แจ้งว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 มีทหารมาหาถึงบ้านจำนวน 2 ชุด รวม 6 คน มาสอบถามเรื่องโรงไฟฟ้า และสอบถามว่าจะไปเวทีรับฟังความเห็นสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 หรือไม่  

รุ่งเรืองให้สัมภาษณ์กับประชาไท แจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมว่าเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2563 มีทหารจำนวน 3 นาย มาที่บ้านของเขา แสดงตัวว่ามาจากค่ายเสนาณรงค์ และแจ้งว่าได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาว่าให้มาติดตามบ้านแกนนำ แต่บอกเพียงชื่อเล่นเท่านั้นโดยไม่ได้บอกชื่อจริง ตอนแรกเจ้าหน้าที่ไม่ได้ถามเขาตรงๆ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แต่ถามอ้อมไปเรื่องการเคลื่อนไหวค้านโรงไฟฟ้าและเรื่องความขัดแย้งในหมู่บ้านแต่เขาก็ปฏิเสธว่าไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกันภายในหมู่บ้าน ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าเรื่องถามเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

 

3. ไกรวุฒิ ชูสกุล

ไกรวุฒิแจ้งว่า เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2563 ขณะที่เขาอยู่ในสวนยางพาราของเขาเอง ได้มีตำรวจเข้ามาพบเขาที่สวนยางพารา 2 ชุด เวลาประมาณ 10.00 น. ตำรวจชุดแรกเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ สภ.ละงู จังหวัดสตูล จำนวน 1 คน เข้ามาหาเขาที่สวน เพื่อสอบถามว่าเขาจะไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นจะนะหรือไม่ แล้วมวลชนจากสตูลจะไปเยอะหรือไม่ ซึ่งไกรวุฒิไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนกับตำรวจคนดังกล่าว

หลังจากนั้นประมาณ 11.00 น. ตำรวจในเครื่องแบบ 3 คน จาก สภ.ละงู เดินทางไปหาเขาในสวนยางพาราเช่นเดียวกัน โดยถามว่าจะไปร่วมเวทีรับฟังความเห็นที่จะนะหรือไม่ เดินทางอย่างไร และคนไปเยอะหรือไม่ รวมถึงถามถึงมวลชนที่สตูลจะทำกิจกรรมอะไรหรือไม่ ซึ่งไกรวุฒิ ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนกับตำรวจชุดดังกล่าวเช่นเดียวกัน 

ในวันเดียวกันนั้นกำนันในชุมชุน และคนอื่นๆ แจ้งกับไกรวุฒิว่า มีตำรวจสันติบาลจากเมืองสตูล และ สภ.ละงู โทรหากำนันและชาวบ้านคนอื่นๆ เพื่อสอบถามว่าไกรวุฒิจะไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จะนะหรือไม่ ไกรวุฒิให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ขณะนั้นตัวเขาไม่มีเบอร์โทรศัพท์ และไม่ใช้โทรศัพท์มากว่า 1 ปี จึงทำให้ไม่สามารถติดต่อเขาทางโทรศัพท์ได้เลย (หมายเหตุ: ไกรวุฒิเพิ่งเปิดเบอร์โทรศัพท์ใหม่จึงสามารถสัมภาษณ์ได้) 

วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ไกรวุฒิแจ้งว่า เวลาประมาณ 11.00 น. มีตำรวจในเครื่องแบบ 3 คน จาก สภ.ละงู จังหวัดสตูล ไปรอพบไกรวุฒิที่บ้านน้องสาว พอไกรวุฒิกลับจากสวนจึงได้พบกับทั้ง 3 คน ซึ่งนั่งรออยู่ที่ม้าหินอ่อนในบ้านน้องสาวแล้ว จากการพูดคุยตำรวจแนะนำตัวว่าเป็นผู้กองจาก สภ.ละงู เข้ามาพูดคุยกับไกรวุฒิเรื่องเวทีที่จะนะ โดยสอบถามไกรวุฒิเกี่ยวกับการไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นจะนะ สอบถามถึงมวลชนจากจังหวัดสตูลว่าจะไปกันกี่คน จะไปเวลาไหน ใช้รถอะไรในการขนส่งคน 

จากนั้นไกรวุฒิจึงถามกลับว่าแล้วมาพบเขาที่บ้านทำไม ตำรวจคนดังกล่าวตอบว่านายสั่งให้มาดู จากนั้นไกรวุฒิจึงพูดแลกเปลี่ยนกับตำรวจคนดังกล่าวว่า การไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นจะนะนั้นเป็นสิทธิของประชาชน สามารถไปเข้าร่วมได้ รวมไปถึงเล่าถึงปัญหาที่จะนะให้ตำรวจคนดังกล่าวฟัง ทั้งปัญหาที่รัฐอนุมัติโครงการก่อน แล้วค่อยทำเวทีรับฟังความคิดเห็น และปัญหาของ ศอ.บต. ที่เริ่มจากเป็นองค์กรไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่างรัฐกับชาวบ้าน กลายเป็นองค์กรทำเวทีรับฟังความคิดเห็นและรับผิดชอบโครงการเอง

หลังจากพูดคุยกันประมาณ 30 นาที ตำรวจชุดดังกล่าวก็กลับไป

วันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ไกรวุฒิแจ้งว่า ในวันเดินทางจากสตูลไปจะนะ ที่จุดรวมมวลชนเพื่อขึ้นรถบัสจากสตูลไปจะนะ เวลาประมาณ 06.00 น. พบเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ มาพร้อมรถ 1 คัน เป็นชุดผู้กองที่มาเยี่ยมบ้านของไกรวุฒิในวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 มีตำรวจในเครื่องแบบ 2 นาย และมีรถอีกคันตามมาเป็นตำรวจไม่ทราบสังกัด มาเพื่อจดชื่อชาวบ้านที่อยู่บนรถบัสทั้งหมด 27 คน รวมไปถึงรถกระบะที่ไกรวุฒินั่งอยู่อีก 3 คนไป พร้อมทั้งถ่ายรูปบัตรประชาชนและคนบนรถทั้งหมดไป

ภาพประกอบตำรวจขึ้นตรวจบนรถบัสจากสตูล

ไกรวุฒิให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า หลังจากรถบัสและรถกระบะของเขาเดินทางออกจากสตูลเพื่อไปจะนะ เขาถูกตรวจค้น และถูกเรียกลงไปให้การในบันทึกของตำรวจทั้งหมด 7 ด่าน โดยคนบนรถบัสซึ่งเป็นสตรีและเด็กจะถูกถ่ายรูปและรวบรวมบัตรประชาชน ถ่ายรูปและจดชื่อทุกคน ส่วนตัวของไกรวุฒิจะถูกทุกด่านสอบถาม และจะเป็นคนที่ถูกเรียกตัวไปให้การลงในบันทึกของตำรวจโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือความผิดใดๆ ตลอดทั้ง 7 ด่านตรวจ ซึ่งแต่ละด่านจะใช้เวลาอย่างมากในการทำกระบวนการซ้ำๆ กันในทุกด่าน

ปกติแล้วการเดินทางจากสตูลไปจะนะ ระยะทางทั้งหมด 142 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางเฉลี่ยไม่เกิน 3 ชั่วโมง แต่ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 การเดินทางของรถบัสดังกล่าวออกจากจังหวัดสตูลประมาณ 6.00 น. แต่ไปถึงที่จะนะในเวลาประมาณ 15.00 น. หรือใช้เวลาเดินทางทั้งหมดถึง 8 ชั่วโมง 

 

4. อัครเดช ฉากจินดา

อัครเดช ฉากจินดา ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จังหวัดกระบี่ แจ้งว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลจังหวัดกระบี่ เข้าไปพบเขาที่ร้านค้า เพื่อสอบถามเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวในเรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งเขาได้ตอบปฏิเสธเจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าวไป

 

5. ประสิทธิ์ชัย หนูนวล 

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน แจ้งว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 คน จาก สภ.เขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เข้าไปเยี่ยมแม่เขาที่บ้าน เพื่อทำการถ่ายรูปบ้าน และสอบถามแม่ของเขาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวประท้วงของเขา 

จากการสัมภาษณ์ประสิทธิ์ชัยเพิ่มเติม ประสิทธิ์ชัยแจ้งว่า แม่ของเขาโทรมาหาเขาวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 เวลาประมาณ 08.20 น. บอกกับเขาว่า ตอนเวลาประมาณ 08.00 น. ตำรวจจำนวน 4 คน มาตามหาเขาที่บ้าน สอบถามแม่ของเขาว่า ประสิทธิ์ชัยอยู่ที่บ้านหรือไม่ แม่ของเขาตอบว่าไม่รู้อยู่ที่ไหน เนื่องจากประสิทธิ์ชัยทำงานในหลายจังหวัด จากนั้นตำรวจจึงถามถึงเบอร์โทรของประสิทธิ์ชัย แม่ของเขาก็ตอบว่า ไม่ทราบ เนื่องจากไม่ได้จดเบอร์โทรไว้ คุยกันสักพักสุดท้ายแม่เขาก็บอกกับตำรวจไปว่าตอนนี้ประสิทธิ์ชัยเขาเลิกประท้วงแล้ว ไม่ต้องมาหาที่บ้านหลังนี้แล้ว โดยใช้เวลาในการพูดคุยกันไม่นาน ประมาณไม่เกิน 10 นาที โดยไม่มีการถามถึงเรื่องจะนะ

ประสิทธิ์ชัยจึงโพสต์เฟซบุ๊กต่อว่าตำรวจ ซึ่งตอนแรกเข้าใจผิดว่าเป็นตำรวจสันติบาลที่ไปที่บ้านของเขา แต่มีตำรวจสันติบาลโทรเข้ามาหาเขาว่าไม่ได้เป็นหน่วยที่ไปที่บ้านของเขาที่จังหวัดพัทลุง น่าจะเป็นตำรวจในพื้นที่ 

จากนั้นเวลาประมาณ 10.00 น. ประสิทธิ์ชัย จึงโทรหา สภ.เขาชัยสน ซึ่งเป็นสถานีตำรวจในพื้นที่บ้านของเขาเพื่อสอบถาม จึงทราบว่าคนที่ไปที่บ้านเป็นรองผู้กำกับการฝ่ายสืบสวน สภ.เขาชัยสน จากนั้นเขาจึงโทรหารองผู้กำกับคนดังกล่าวว่าไปหาเขาเพราะเรื่องอะไร เมื่อได้พูดคุยกันจึงทราบว่า รองผู้กำกับการฯ คนดังกล่าวไปหาเขาที่บ้านแม่เนื่องจากจะสอบถามเรื่องไปเวทีรับฟังความเห็นจะนะหรือไม่ ซึ่งเขายืนยันกับทางตำรวจแล้วว่าเขาทำเรื่อง CPTPP จะไม่มีทางไปที่จะนะได้เด็ดขาด 

หลังจากวันดังกล่าวจนพ้นวันที่เวทีรับฟังความเห็นจะนะจบลง ก็ไม่มีตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานใดติดต่อไปหาประสิทธิ์ชัยอีกเลย

 

6. สมพร ช่วยอารีย์

สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว แจ้งว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปัตตานี เข้ามาเยี่ยมถึงบ้านพักในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อสอบถามว่าเป็นแกนนำทำเรื่องจะนะด้วยหรือไม่ และในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 จะไปร่วมเวทีที่จะนะหรือไม่

 

7. บัลยาน แวมะนอ

บัลยาน สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ PERMATAMAS เปิดเผยกับทางประชาไทว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่แสดงตัวว่าเป็นสารวัตรจากกองปราบฯ ในอำเภอเมืองปัตตานี มาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ที่ไม่แสดงตัวอีก 4 คน ตำรวจจากกองปราบฯ ถามว่า จะพาสมาชิกในเครือข่ายไปชุมนุมที่จะนะ ในวันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม 2563 หรือไม่

จากการโทรศัพท์พูดคุยเพิ่มเติมบัลยานเล่าว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 เวลาประมาณ 18.00 น. มีรถยนต์กระบะสีเทา ยี่ห้อ TOYOTA REVO ไม่มีตราตำรวจ มีตำรวจนอกเครื่องแบบ 5 คนลงมาจากรถ คนที่เข้ามาแนะนำตัวกับเขาแจ้งว่าเป็นสารวัตรจากกองปราบฯ สภ.เมืองปัตตานี บัลยานสังเกตจากเสื้อของคนที่อ้างว่าเป็นสารวัตรกองปราบฯ พบว่ามีโลโก้กองปราบฯ ติดอยู่ที่เสื้อด้วย และผู้ติดตามก็ได้บอกกับเขาด้วยว่า “วันนี้โชคดีนะสารวัตรมาเองเลย” ซึ่งคนที่อ้างตัวว่าเป็นสารวัตร เป็นคนพูดคุยกับเขาทั้งหมด

ตำรวจคนดังกล่าวเริ่มพูดคุยกับบัลยาน บัลยานถามว่ามาหาเขาเพราะอะไร ตำรวจคนดังกล่าวแจ้งว่า บัลยานมีชื่อเป็น 1 ในแกนนำต่อต้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เมื่อถามกลับว่าเอาข้อมูลที่ว่าเขาเป็นแกนนำมาจากไหน ตำรวจคนดังกล่าวตอบว่า ไม่ทราบ ผู้ใหญ่เขาส่งมาให้ ส่วนตัวเขามีหน้าที่มาตรวจสอบข้อเท็จจริงตามผู้ใหญ่บอกเท่านั้น

ตำรวจคนดังกล่าวจึงถามต่อว่าจะไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นจะนะหรือไม่ บัลยานตอบไปว่า เขายังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเวทีดังกล่าว เพราะยังวุ่นอยู่กับงานศพของยายที่เพิ่งเสียไปกำลังจะจัดงานครบรอบ 7 วัน แต่ในเฟซบุ๊กก็แชร์ข้อมูลเกี่ยวกับงานที่จะเกิดขึ้นที่จะนะไปบ้าง แล้วก็พูดประมาณว่า ถ้าศึกษาเรื่องที่จะนะแล้วเห็นเป็นเรื่องสำคัญก็อาจจะไปร่วมได้ ตำรวจคนดังกล่าวจึงบอกกับบัลยานว่า ไม่ต้องไปเวทีที่จะนะหรอก กลัวจะไปกระทบกระทั่งกับกลุ่มผู้สนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมจะนะเสียเปล่าๆ บัลยาลจึงถามกลับไปว่า ถ้าเขาไปจะผิดกฎหมายอะไรหรือไม่ ตำรวจคนดังกล่าวตอบว่า ไม่ผิด แต่เป็นห่วงกลัวเรื่องการกระทบกระทั่งกัน ไม่อยากให้ไปร่วมเวทีดังกล่าว 

บัลยานเล่าต่อว่า เจ้าหน้าที่ได้ถามความคิดเห็นของเขาที่มีต่อการสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ด้วย เขาตอบว่าถ้ามันกระทบกับในพื้นที่จริงเขาก็ไม่เห็นด้วย แต่ทางที่ดีก็ควรถามชาวบ้านก่อนว่ามันจะมีผลกระทบอะไรบ้างและชาวบ้านจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง และเขาคิดว่ากลุ่มที่คัดค้านก็ไม่ได้มีการปลุกปั่นชาวบ้านให้ใช้ความรุนแรงหากมีเขาก็คงไม่ร่วมด้วยอยู่แล้ว แต่เขากลัวว่าการกระทำของรัฐที่ไปกระทบกับชาวบ้านอาจจะสร้างปัญหาในภายหลังมากกว่า 

ตำรวจคนดังกล่าวจึงให้ข้อมูลกับบัลยานว่า เรื่องของพื้นที่ที่จะนะไม่ส่งผลกระทบกับพื้นที่จังหวัดปัตตานีหรอก ฝ่ายรัฐเขาทำวิจัยมาหมดแล้ว ไม่เห็นมีผลกระทบถึงจังหวัดปัตตานีเลย บัลยานจึงพูดให้เรื่องนี้จบไปว่า สุดท้ายตัวเขาเป็นคนที่รับฟังข้อมูลจากเวทีทั้งสองฝ่าย จึงกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นสิทธิของเขาที่จะกลัวได้ 

หลังจากพูดคุยกันประมาณ 30 นาที สรุปสาระสำคัญที่พูดคุยกันคือเรื่องที่ว่าบัลยานจะไปร่วมงานเวทีที่จะนะหรือไม่ ก่อนตำรวจชุดดังกล่าวจะกลับได้เน้นย้ำกับบัลยานว่า “เดี๋ยววันนี้บอกว่าไม่ไปแล้ววันเสาร์ไม่ใช่ว่าไปเจอกันที่งานนะ” และได้ขอเบอร์โทรศัพท์ของบัลยาน ซึ่งบัลยานได้ให้เบอร์ที่ถูกระงับแล้วไป ระหว่างการพูดคุยตำรวจถ่ายรูปบัลยาน พร้อมทั้งบริเวณบ้านของเขาด้วย

ภาพประกอบบ้านบัลยาน วันที่ 8 กรกฎาคม 2563

วันที่ 10 กรกฎาคม 2563 บัลยานแจ้งว่าในวันดังกล่าวเป็นวันที่เขาจัดงานครบรอบ 7 วันที่ยายของเขาเสียชีวิตลง มีการจัดงานบุญที่บ้าน แต่ในวันดังกล่าวพบรถยนต์กระบะสีเทา ยี่ห้อ TOYOTA REVO ขับวนแถวบ้านเขาตลอดทั้งวัน 4-5 ครั้ง แต่ไม่มีการลงมาพูดคุยแต่อย่างไร ซึ่งเขาจำได้ว่ารถคันดังกล่าวเป็นรถที่ตำรวจกองปราบฯ ขับมาที่บ้านของเขา

ในวันเดียวกันมีเจ้าหน้าที่รัฐมาพร้อมกับผู้ติดตามอีก 3 คน แต่งกายนอกเครื่องแบบมาที่บ้านเขา เข้ามานั่งบริเวณเต็นท์ เขาไม่ทราบสังกัดแน่ชัด แต่เคยเจอกันเมื่อประมาณ 4 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นเจ้าหน้าที่คนนี้แจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ในฝ่ายสันติวิธีของ กอ.รมน. แต่ที่มาในวันที่ 10 นั้นเขาไม่ได้แจ้งว่ามาจากสังกัดใด 

เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวเข้ามาพูดคุยเรื่องสารทุกข์สุกดิบทั่วไปกับเขา เช่น เรื่องอยากให้เงินสนับสนุนบัลยานทำโรงเรียนสอนศาสนา และเรื่องการพัฒนาอื่นๆ แต่ไม่ได้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเวทีจะนะ ในขณะที่พูดคุยกันอยู่นั้นผู้ติดตามที่มากับเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวก็เดินไปถ่ายรูปบริเวณบ้าน บริเวณที่จัดงาน ถ่ายรูปบัลยานขณะพูดคุย และถ่ายหน้าของผู้มาร่วมงานทำบุญงานศพด้วย

หลังจากพูดคุยกันเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวได้ขอเบอร์โทรศัพท์ของบัลยาน บัลยานบอกว่าจะให้เบอร์ด้วยปากเปล่า แต่เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวไม่ยอม ให้บัลยานกดเบอร์โทรศัพท์ของเขาใส่ในเครื่องแล้วโทรออก เพื่อให้เบอร์โทรศัพท์ไปแสดงที่เครื่องของเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว 

การพูดคุยทั้งหมดเกิดขึ้นประมาณ 30 นาที สุดท้ายเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวบอกกับบัลยานว่า มีอะไรติดต่อกับเขาได้ตลอดเวลา ตามเบอร์ที่แลกกันไว้

วันที่ 11 กรกฎาคม 2563 เวลาประมาณ 09.30 น. รถยนต์กระบะสีเทา ยี่ห้อ TOYOTA REVO คันเดิมมาจอดที่บ้านของเขา มีตำรวจนอกเครื่องแบบลงรถมา 3 คน อยู่บนรถ 2 คน ขณะที่เขานำเต็นท์ไปคืนที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน โดยมีพี่สาวและน้องสาวของบัลยานออกมาต้อนรับแทน ตำรวจกองปราบฯ ชุดดังกล่าวถามว่าบัลยานเอาเต็นท์ไปคืนจริงหรือไม่ ตามไปหาที่บ้านผู้ใหญ่ได้หรือไม่ แต่พี่สาวและน้องสาวบัลยานบอกว่าเดี๋ยวเขาก็กลับมา 

หลังจากนั้น 5 นาที บัลยานกลับมาถึงบ้าน ตำรวจถามประมาณว่าที่บ้านมีเต็นท์เยอะมีงานอะไร และขอร่วมทำบุญในงานได้หรือไม่ บัลยานจึงตอบไปประมาณว่า ผมบอกพี่แล้วว่าผมไม่ไปที่จะนะหรอก ตำรวจทั้ง 3 คน ก็ตอบกลับมาว่าเขาไม่ได้มาดูเรื่องจะนะ จะมาดูเฉยๆ ว่ามีงานอะไร 

บัลยานยังได้ถามถึงรถกระบะที่ตำรวจชุดดังกล่าวขับมาว่า เมื่อวานเห็นขับมาวนที่บ้านหลายรอบ ตำรวจชุดดังกล่าวตอบว่า ไม่ใช่รถเขา เขาไม่ได้มาแถวนี้ อาจจะเป็นรถคนอื่นที่เหมือนกันเฉยๆ ก็ได้ จากนั้นตำรวจทั้ง 3 คน จึงถ่ายรูปบัลยานและครอบครัวของเขา และถ่ายรูปบ้านของบัลยานด้วย โดยใช้เวลาพูดคุยกันประมาณ 10 นาที ก่อนจะกลับไป หลังจากสิ้นสุดเวทีรับฟังความเห็นจะนะ บัลยานแจ้งว่าไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายใดอีกเลย

 

8. อิสดาเรศ หะยีเด 

อิสดาเรส หะยีเด รองนายกเทศมนตรีตำบลเทพาแจ้งว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 มีตำรวจมาหาที่บ้าน และได้สอบถามว่าไปร่วมเวทีอุตสาหกรรมจะนะในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 หรือไม่

 

9. หมิด ชายเต็ม

สมยศ โต๊ะหลัง ให้ข้อมูลว่า หมิด ชายเต็ม ชาวบ้านในเทพา ถูกตำรวจไปหาที่บ้านในเวลากลางคืน 4 ครั้ง ในสัปดาห์ก่อนมีเวทีรับฟังความคิดเห็นจะนะ

 

10. สมยศ โต๊ะหลัง

สมยศ โต๊ะหลัง แจ้งว่า เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2563 หลังจากเขาโพสต์เฟซบุ๊กว่าจะไปร่วมเวทีรับฟังความเห็นจะนะ ด้วยจำนวนคน 1 รถบัส ตำรวจสันติบาลจังหวัดสตูลโทรหาเขา (ที่ทราบว่าเป็นตำรวจสันติบาลสตูล เนื่องจากรู้จักกันมาก่อน มีการบันทึกเบอร์โทรศัพท์ไว้) โดยตำรวจคนดังกล่าวสอบถามเขาว่า วันที่ 11 กรกฎาคม 2563 จะไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จะนะหรือไม่ ไปกันกี่คน ไปด้วยรถอะไร ข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โพสต์เฟซบุ๊กหรือไม่ ซึ่งสมยศก็ได้ให้ข้อมูลไปตามความจริง สุดท้ายตำรวจสันติบาลคนดังกล่าวบอกกับเขาว่า งานนี้ถ้ามีตำรวจโทรหาน่าจะเป็นตำรวจภูธรจังหวัด เนื่องจากตำรวจสันติบาลไม่ได้รับงานนี้ ตำรวจภูธรจังหวัดรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ก่อนจะวางสายไป

วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 มีตำรวจในเครื่องแบบ 1 คน เข้ามาพบเขาที่บ้านในจังหวัดสตูล ทราบว่าเป็นตำรวจจาก สภ.ควนโดน ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบอยู่บริเวณบ้านของเขา โดยตำรวจคนดังกล่าวมาพบเพื่อสอบถามว่าจะมีชาวบ้านในพื้นที่บ้านของสมยศไปร่วมเวทีที่จะนะหรือไม่ เมื่อตอบคำถามไป ตำรวจคนดังกล่าวก็กลับไป

หลังจากสิ้นสุดเวทีรับฟังความเห็นจะนะ สมยศแจ้งว่าไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายใดอีกเลย

ข้อมูลเพิ่มเติมจากสมยศ 

สมยศแจ้งว่า ตลอดสัปดาห์ก่อนที่จะมีเวทีรับฟังความเห็นจะนะ มีเบอร์โทรศัพท์แปลกๆ โทรหาเขาทุกวัน วันละหลายครั้ง แต่เขาเลือกจะรับแต่เบอร์โทรศัพท์ตำรวจที่รู้จัก จะไม่รับเบอร์แปลกเลยในช่วงนั้น ซึ่งคำถามที่ถามจะถามเกี่ยวกับการเดินทางไปจะนะ ว่าไปด้วยรถอะไร ไปกี่คน ป้ายทะเบียนอะไร เป็นต้น

 

11. สมบูรณ์ คำแหง

สมบูรณ์ คำแหง แจ้งว่า เขาเริ่มถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรคุกคามตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2563 เนื่องจากได้โพสต์เฟซบุ๊กว่าจะเดินทางไปกรุงเทพฯ ไปทำกิจกรรม #SAVECHANA หลังจากโพสต์เฟซบุ๊กแล้วก็มีตำรวจโทรมาหาต่อเนื่องวันละหลายสาย แยกคนที่โทรมาได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ตำรวจสันติบาลจากส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) 2. ตำรวจสันติบาลจังหวัดสตูล 3. สายข่าวสืบข่าวให้ทหาร (สมบูรณ์ให้ข้อมูลว่า เป็นนักข่าวในพื้นที่สตูล แต่เมื่อแจ้งข่าวไปทหารจะทราบข่าวทั้งหมด) โดยทั้ง 3 คนจะสลับกันโทรมา ตอนอยู่ที่กรุงเทพฯ ช่วงวันที่ 30 มิถุนายน – 9 กรกฎาคม 2563 จะเป็นสันติบาลจากส่วนกลางที่โทรหาบ่อย อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ส่วนสันติบาลจากสตูลจะโทรมาถามวันละ 1 ครั้ง ส่วนสายข่าวทหารจะโทรหาทุกวันอย่างน้อย 2 ครั้ง คือเช้า-เย็น หรือบางวันก็ 3 ครั้ง เนื้อหาในการโทรพูดคุยจะคล้ายๆ กันคือ อยู่ที่ไหน จะทำกิจกรรมอะไรบ้างในวันนี้ เป็นต้น

หลังจากนั้นช่วงวันที่ 9 – 11 กรกฎาคม 2563 เป็นช่วงรอยต่อการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา การโทรหาสมบูรณ์จะเปลี่ยนเป็นตำรวจสันติบาลสตูลมากกว่าส่วนกลาง ส่วนสายข่าวทหารยังโทรหาบ่อยเช่นเดิม ซึ่งคำถามที่ตำรวจสันติบาลโทรสอบถามจะเปลี่ยนคำถามไปเน้นที่เรื่องเวทีรับฟังความเห็นจะนะมากขึ้น เช่น ถามว่าขอบเขตของการทำกิจกรรมที่จะนะของสมบูรณ์คืออะไร จะทำกิจกรรมอะไรบ้าง มีมวลชนกี่คน จะล้มเวทีรับฟังความเห็นหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งโทรสอบถามจนถึงวันที่เวทีรับฟังความคิดเห็นจะนะจบลง 

หลังจากนั้นวันที่ 12 กรกฎาคม 2563 ก็ไม่มีการโทรหรือติดต่อจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือสายข่าวเลย จนกระทั่งวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 มีตำรวจสันติบาลจังหวัดสตูลแต่งกายนอกเครื่องแบบเข้าไปหาสมบูรณ์ที่บ้าน ซึ่งขณะนั้นสมบูรณ์อยู่ที่บ้านพอดี จึงได้พูดคุยด้วยตนเอง ตำรวจสอบถามคำถามใหญ่ๆ 2 ข้อคือ 1. จะเอาอย่างไรต่อกับพื้นที่จะนะ และ 2. จะไปร่วมสมทบกับประสิทธิ์ชัย หนูนวล ทำเรื่องคัดค้าน CPTPP หรือไม่ ซึ่งสมบูรณ์แจ้งว่าเขาไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนกับตำรวจไปทั้งสองคำถาม การพูดคุยเกิดขึ้นไม่นานก่อนที่ตำรวจจะกลับไป

สมบูรณ์ และตำรวจนอกเครื่องแบบ

 

กรณีโทรศัพท์สอบถาม

1. ฟาเรนน์ นิยมเดชา

ฟาเรนน์ กลุ่มเพื่อนนักศึกษา ม.อ. และกรรมการกลางภาคใต้ สนท. แจ้งว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 เพื่อนของเขาที่อยู่ในองค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แจ้งกับเขาว่า ตำรวจสันติบาลจังหวัดปัตตานี โทรเข้าไปที่องค์การบริหารนักศึกษาฯ เพื่อสอบถามเบอร์ของฟาเรนน์ แต่เพื่อนของเขาไม่ได้ให้เบอร์ไปเนื่องจากไม่มีเบอร์ของฟาเรนน์

หลังจากนั้นในวันเดียวกันเพื่อนของฟาเรนน์ที่ทำงานอยู่ในสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับโทรศัพท์จากตำรวจสันติบาลจังหวัดปัตตานี สอบถามถึงเบอร์โทรศัพท์ของฟาเรนน์ ซึ่งขณะนั้นฟาเรนน์นั่งอยู่ข้างๆ เพื่อนคนนั้นพอดี แต่ไม่ได้คุยกับตำรวจในสายดังกล่าว และให้เพื่อนบอกไปว่าไม่ได้อยู่ด้วยกัน และไม่ให้เบอร์โทรศัพท์ไป

ตำรวจคนดังกล่าวจึงสอบถามต่อไปว่า ทราบหรือไม่ว่าฟาเรนน์จะไปร่วมงานเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จะนะหรือไม่ และฝากให้เพื่อนแจ้งเตือนกับฟาเรนน์ว่าไม่ให้ฟาเรนน์ไปเวทีจะนะ เนื่องจากเวทีดังกล่าวไม่เหมาะกับนักศึกษา เวทีอาจจะมีการปะทะกันได้ระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้าน และในเวทีดังกล่าวมีการระดมเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ ทหาร จาก 5 พื้นที่จังหวัดภาคใต้กว่า 1,000 คน จึงให้แจ้งเตือนฟาเรนน์ว่าอย่าไปร่วมเวทีดังกล่าว การพูดคุยใช้เวลาประมาณ 4-5 นาที ก่อนที่จะวางสายไป

ฟาเรนน์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปกติแล้วจะถูกโทรคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐตลอดทั้ง กอ.รมน., ฝ่ายปกครองจังหวัด และตำรวจสันติบาลจังหวัดปัตตานี ก่อนจะมีกิจกรรมต่างๆ ในจังหวัด เช่น เวทีแก้รัฐธรรมนูญ จัดงานวิ่งไล่ลุง และ FlashMob หลังยุบพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้นจึงเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์บ่อยครั้ง ครั้งนี้ก่อนมีเวทีจะนะ ไม่ได้ถูกโทรมาคุกคามหลายเดือน อาจจะเพราะเป็นช่วงมหาวิทยาลัยปิด และฟาเรนน์ได้เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้ไม่นาน จึงอาจจะทำให้ตำรวจไม่สามารถโทรหาเขาโดยตรงได้

หลังจากสิ้นสุดเวทีรับฟังความเห็นจะนะ ฟาเรนน์แจ้งว่าไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายใดอีกเลย

 

2. อัฟนาน เล็มโดย 

อัฟนาน ประธานสภานักศึกษา ม.อ. เล่าว่า วันที่ 10 กรกฎาคม 2563 สันติบาลจังหวัดโทรสอบถามเกี่ยวกับการไปร่วมเวทีรับฟังความเห็นจะนะ

 

3. สะมะแอ  เจะมูดอ

สมยศ โต๊ะหลัง แจ้งว่า สะมะแอ เจะมูดอ ถูกตำรวจไม่ทราบสังกัดโทรถาม 5 ครั้ง เกี่ยวกับการไปร่วมเวทีจะนะ ตลอด 1 สัปดาห์ก่อนจะมีเวทีรับฟังความเห็นจะนะ