นักเรียนเผชิญอะไรหลังแสดงออกทางการเมือง: แจ้งการคุกคามในโรงเรียน 34 กรณี (17-20 ส.ค.63)

50249808683_15ab4d2cc2_o

หลังมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 คลายลง มีการชุมนุมใหญ่ของเยาวชนปลดแอกจัดขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อ 18 กรกฎาคม 2563 และนับแต่นั้นมาการชุมนุมย่อยๆ ก็เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ขณะเดียวกันการปิดกั้นการแสดงออกก็เข้มข้นไม่แพ้กัน เท่าที่รวบรวมได้ในช่วงเวลาดังกล่าวพบว่ามีอยู่ 63 กรณี แบ่งเป็นนักเรียน 22 กรณี (หรือราว 1 ใน 3) 

กล่าวสำหรับนักเรียน หลังการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดยประชาชนปลดแอกในวันที่ 16 สิงหาคม 2563 บรรดานักเรียนดูเหมือนจะคิดค้นการทำกิจกรรมตามแนวทางของตนเองขึ้นมาใหม่ ดังปรากฏข่าวมากมายว่ามีการชูสามนิ้วระหว่างการเคารพธงชาติ มีการผูกริบบิ้นขาวเป็นสัญลักษณ์ มีความพยายามวางป้ายผ้าในโรงเรียนให้นักเรียนเขียนข้อความ ขณะเดียวกันก็มีการสกัดกั้นการแสดงออกดังกล่าวโดยครูอาจารย์ ทำให้รั้วโรงเรียนทั่วประเทศกลายเป็นพื้นที่ความขัดแย้งย่อมๆ จนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต้องมีหนังสือเวียนไปยังโรงเรียนต่างๆ ให้มีการจัดการเรื่องนี้อย่างเหมาะสม (อ่านที่นี่) ส่วนยูนิเซฟก็ออกมาแสดงความกังวลกับการคุกคามเยาวชนและสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกของเยาวชน (อ่านที่นี่)

ไอลอว์ได้รับการแจ้งโดยตรงจากนักเรียนจำนวนไม่น้อยถึงอุปสรรคในการจัดกิจกรรมและผลกระทบจากการจัดกิจกรรม โดยมีทั้งการที่คุณครูเรียกไปอบรมตักเตือน ห้ามปรามไม่ให้จัดกิจกรรมภายในรั้วโรงเรียน เรียกผู้ปกครองมาพบ ข่มขู่ ด่าว่า ตี อนุญาตให้ตำรวจเข้ามาถ่ายภาพ กระทั่งมี 1 รายที่หลังครูแจ้งผู้ปกครองได้เกิดความรุนแรงในครอบครัวตามมาและส่งผลให้เด็กตัดสินใจร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ในการลาออกจากสถานศึกษา 

สถิติที่รวบรวมนี้ได้มาจากการร้องเรียนโดยตรงของนักเรียนเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงบางส่วนที่นำมาจากการรายงานการคุกคามของหน่วยงานอื่น โดยนับตั้งแต่วันที่ 17-20 สิงหาคม 2563 มีการสกัดกั้นจนถึงการคุกคามนักเรียนอย่างน้อย 34 กรณี (ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษา 1 กรณี) ไม่นับรวมกรณีที่นักเรียนแจ้งมาแต่ไม่ต้องการให้เปิดเผยต่อสาธารณะอีก 4 กรณี รายละเอียดดังปรากฏด้านล่าง 

หากดูพื้นที่จะพบว่าเกิดขึ้นในจังหวัด กทม. นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ราชบุรี ร้อยเอ็ด อุดรธานี อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ขอนแก่น นครสวรรค์ แพร่ สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี

ความหมายของสามนิ้วและโบขาว

การชูสามนิ้วคือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง มีความหมายดั้งเดิมตามภาพยนตร์ The Hunger Games ว่า เป็นการขอบคุณ สรรเสริญ และลาก่อน แต่ในบริบทการเมืองไทยการชูสามนิ้วเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ 

เท่าที่สามารถติดตามได้ การชูสามนิ้วเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ทางการเมืองเริ่มต้นหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ปรากฏตามสถานที่หลายแห่งในเวลาไล่เลี่ยกัน ได้แก่ ทางเดินสกายวอล์กสนามกีฬาแห่งชาติ, หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และลานโพธิ์ มธ.ท่าพระจันทร์ ในบริบทของการคัดค้านการรัฐประหารการชูสามนิ้วได้ถูกนำไปผนวกกับอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 ได้แก่ เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ ในช่วงต้นปี 2561 กลุ่มคนอยากเลือกตั้งออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. สัญลักษณ์สามนิ้วถูกหยิบยกมาใช้และให้ความหมายใหม่ว่า เลือกตั้งในปีนี้ (2561) เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ จากนั้นในปี 2563 นี้สัญลักษณ์สามนิ้วแปรเปลี่ยนความหมายกลับไปที่ เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ และอาจรวมไปถึงการสนับสนุนข้อเรียกร้อง 3 ข้อของกลุ่มประชาชนปลดแอก คือ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยุบสภา ที่น่าสนใจคือ การชูสามนิ้วของนักเรียนเกิดขึ้นระหว่างการร้องเพลงชาติไทย 

ส่วนการผูกโบขาวนั้นเท่าที่ทราบเริ่มต้นจากการรณรงค์เรื่องการอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมไทยที่ลี้ภัยหลังการรัฐประหาร 2557 ไปยังประเทศกัมพูชาและถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 สัญลักษณ์ดังกล่าวริเริ่มโดยสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทยภายใต้แคมเปญผูกโบขาวทวงความยุติธรรมให้แก่ผู้ถูกบังคับสูญหาย หลังจากนั้นก็ถูกใช้ในโรงเรียนมากขึ้น เข้าใจว่าโบขาวของนักเรียนหมายถึงการต่อต้านเผด็จการ

=======

รายละเอียดมีดังนี้

จังหวัดกรุงเทพมหานคร

กรณีที่หนึ่ง: นักเรียนโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรีชูสามนิ้ว ถูกครูว่า เรียกไปคุยกับ ผอ.

วันที่ 17 สิงหาคม 2563 

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ได้รับแจ้งจากนักเรียนโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรีว่า ที่โรงเรียนมีนักเรียนนัดชูสามนิ้วร่วมกันในช่วงเช้า จากนั้นถูกครูต่อว่าด้วยถ้อยคำรุนแรงและมีการดึงโบขาวจากกระเป๋าของนักเรียน 

จากการพูดคุยกับนักเรียนคนหนึ่งเพิ่มเติม นักเรียนเล่าว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นในตอนเช้าคือ นัดกันชูสามนิ้วระหว่างร้องเพลงชาติ และมีการแจกริบบิ้นสีขาวให้ไปผูกเป็นโบก่อนเข้าแถว แต่หลังจากสวดมนต์ ไหว้พระเสร็จ เวลาประมาณ 8.15 น. เป็นช่วงที่ครูเวรประจำวันพูดกับนักเรียนหน้าเสาธง ครูประจำชั้นบางคนได้พูดต่อว่านักเรียนในแถวและมีครูบางคนใช้คำพูดรุนแรงกับนักเรียน เช่นคำว่า ‘สถุน’ นอกจากนี้ยังมีนักเรียนคนหนึ่งถูกครูดึงโบขาวที่ผูกไว้กับกระเป๋าไปวางพาดไว้ที่คอเด็กนักเรียนคนดังกล่าว 

หลังจากเลิกแถว ครูที่ดึงโบขาวได้เรียกเด็กนักเรียนคู่กรณีไปพูดคุยพร้อมกันที่ห้องของผู้อำนวยการ นักเรียนผู้ให้ข้อมูลเล่าว่า ทราบมาว่าเนื้อหาการพูดคุยเป็นการพยายามให้นักเรียนคนดังกล่าวไปแก้ข่าวว่าครูไม่ได้กระทำตามที่เผยแพร่ไปในโซเชียล แต่นักเรียนคนดังกล่าวก็ไม่ได้แก้ไขข่าวให้ครูแต่อย่างใด กลุ่มนักเรียนในโรงเรียนยังได้แจ้งกับครูว่าหากเกิดการคุกคามนักเรียนคนอื่นในโรงเรียนจะเผยแพร่เรื่องลงสื่อโซเชียลทั้งหมด และจนปัจจุบันยังไม่พบว่ามีการร้องเรียนอีก

ส่วนการตักเตือนนักเรียนคนอื่นในโรงเรียนจะเป็นการตักเตือนผ่านครูประจำชั้น และมีเพียงบางห้องเท่านั้นที่ครูจะพูดเตือนนักเรียนในห้อง แต่ไม่มีการตักเตือนเรื่องการทำกิจกรรมทางการเมืองในทางสาธารณะแต่อย่างใด 

กรณีที่สอง: นักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยา 2 ติดโบขาว ถูกครูเรียกไปพบและตักเตือน

วันที่ 17 สิงหาคม 2563 

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า นักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยา 2 แจ้งว่า หลังจากนักเรียนหลายคนแสดงออกทางการเมืองด้วยการแจกโบสีขาวให้กับเพื่อนนักเรียน และติดโปสเตอร์อธิบายความหมายของโบขาวในโรงเรียน ต่อมากลุ่มนักเรียนหลายกลุ่มที่แจกโบขาวได้ถูกผู้บริหารของโรงเรียนเรียกพบ

นักเรียนที่ถูกเรียกพบคนหนึ่งเปิดเผยว่า ผู้บริหารได้พยายามสอบถามถึงความหมายของโบสีขาวดังกล่าว และระบุว่าแม้การทำกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ได้ถือเป็นความผิด แต่ยืนยันว่าไม่อยากให้นักเรียนแสดงออกเรื่องการเมือง เพราะโรงเรียนจะต้องเป็นกลางและการแสดงออกอาจจะกระทบชื่อเสียงของโรงเรียน โดยต่อไปนี้โรงเรียนจะไม่อนุญาตให้นักเรียนแจกโบขาวอีก อยากให้นักเรียนตั้งใจเรียนมากกว่า พร้อมระบุด้วยว่าจะรายงานเรื่องนี้ให้ผู้ปกครองนักเรียนทราบด้วย 

นักเรียนยังแจ้งอีกว่า มีการพยายามตรวจดูกล้องวงจรปิดในโรงเรียน เพื่อติดตามว่ามีนักเรียนกลุ่มใดเป็นผู้ติดกระดาษประชาสัมพันธ์เรื่องโบขาวบ้าง 

กรณีที่สาม: นักเรียนโรงเรียนบางประกอกวิทยาคมถูกครูยึดโบขาว เรียกไปพบและตักเตือน

วันที่ 17 สิงหาคม 2563 

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า นักเรียนโรงเรียนบางประกอกวิทยาคม แจ้งว่า ในช่วงเช้าก่อนเข้าเรียน นักเรียนชั้น ม.6 ได้นำโบสีขาวมาแจกจ่ายเพื่อนๆ โดยใส่ในกล่องให้นักเรียนที่ผ่านไปมาในโรงเรียนสามารถหยิบได้ 

จากนั้นรองผู้อำนวยการได้เรียกนักเรียนคนดังกล่าวไปสอบถามถึงจุดประสงค์ของกิจกรรม นักเรียนชี้แจงว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องประชาธิปไตยและเพื่ออนาคตของคนรุ่นใหม่ผ่านการสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนปลดแอก คือ ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หยุดคุกคามประชาชน, 2 จุดยืน คือ ไม่เอารัฐประหาร, ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ และ 1 ความฝัน คือระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

รองผู้อำนวยการตั้งคำถามว่านักเรียนมีความรู้ด้านกฎหมายเพียงพอหรือไม่สำหรับการเรียกร้องครั้งนี้ เพราะระบอบการปกครองของไทยคือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พร้อมกำชับให้นักเรียนรอเวลาให้มีสิทธิเลือกตั้งเสียก่อนจึงค่อยออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แล้วค่อยรอดูว่าคนที่อยากเลือกจะทำได้ดีเหมือนที่นักเรียนคิดหรือไม่ 

นอกจากนั้นรองผู้อำนวยการยังระบุว่า แม้การแสดงออกดังกล่าวจะเป็นสิทธิแต่ก็มีความกังวลว่ากิจกรรมลักษณะนี้จะทำให้โรงเรียนเสียชื่อเสียง และนักเรียนจำเป็นต้องทำให้ถูกกาลเทศะ ที่สำคัญ การทำกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียนต้องขออนุญาตจากผู้อำนวยการก่อน ถ้ายังไม่ได้รับอนุญาตก็ยังไม่สามารถทำได้ จากนั้นครูจึงได้ยึดกล่องแจกโบขาวดังกล่าวเอาไว้ และมีรายงานด้วยว่าครูในบางชั้นเรียนได้มีการพูดในลักษณะที่ว่าจะหักคะแนนนักเรียนที่นำโบขาวมาที่โรงเรียนอีกด้วย

กรณีที่สี่: นักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ชูสามนิ้ว ถูกครูเรียกไปอบรมตักเตือน

วันที่ 18 สิงหาคม 2563 

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ได้รับแจ้งจากนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร (เจ้าตัวไม่ต้องการเปิดเผยชื่อโรงเรียน) ว่า เวลาประมาณ 8.50 น. นักเรียนถูกเรียกไปตักเตือนหลังจากการชูสามนิ้วและผูกโบขาวภายในโรงเรียน

กิจกรรมเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2563 กลุ่มนักเรียนชั้น ม.3 ชักชวนกันชูสามนิ้วระหว่างการเข้าแถวหน้าห้องเรียน (เข้าแถวหน้าห้องเรียนเป็นปกติ) และผูกโบขาวแสดงออก ต่อมาในวันที่ 18 สิงหาคม 2563 นักเรียนกลุ่มดังกล่าวก็ได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง แต่หลังจากเคารพธงชาติเสร็จแล้ว ครูประจำชั้นได้เรียกนักเรียนที่แสดงออกประมาณ 8 คนไปอบรมตักเตือนประมาณ 15 นาที ทำนองว่า ให้เอาตัวเองให้รอดก่อน ยังไม่ถึงวัยเลือกตั้งอย่าเพิ่งแสดงออกทางการเมือง และหากต้องการแสดงออกก็ต้องเรียนให้เก่ง เรียนให้จบ ทำงานเสียก่อนแล้วค่อยพูดเรื่องการเมือง ทุกวันนี้นักเรียนยังสอบตก ต้องสอบซ่อม มีความผิดพลาด และไม่ได้รู้เรื่องใดๆ อย่างถ่องแท้ เช่นเดียวกันกับสังคมข้างนอก ขอให้นักเรียนลองไตร่ตรองดูให้ดี เพราะหากเรื่องนี้ออกไปข้างนอกพวกครูก็จะโดนด้วย 

นักเรียนแจ้งว่า ระหว่างพูดคุยครูใช้คำต่อว่า เช่น ประสาทแดก ปัญญาอ่อน ด้วย จากนั้นครูจึงบอกให้นักเรียนนำโบขาวออกแต่นักเรียนยืนยันไม่เอาออก

กรณีที่ห้า: นักเรียนโรงเรียนสหศึกษาแห่งหนึ่งย่านสาธรชูสามนิ้ว ถูกครูต่อว่าและเรียกไปพบ

วันที่ 18 สิงหาคม 2563 

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ได้รับแจ้งจากนักเรียนโรงเรียนสหศึกษาแห่งหนึ่งย่านสาธรว่า ในวันที่ 18 สิงหาคม 2563 หลังจากทำกิจกรรมชูสามนิ้ว ถูกครูต่อว่าและเรียกไปคุยที่ห้องผู้อำนวยการโรงเรียน 

ในวันดังกล่าวโรงเรียนมีการเข้าแถวหน้าเสาธงกันตามปกติ ช่วงก่อนเข้าแถวตอนเช้า นักเรียนคนดังกล่าวได้นัดกับเพื่อนเพื่อชูสามนิ้วตอนร้องเพลงชาติในท่อน “เป็นประชารัฐ” ระหว่างที่กำลังชูสามนิ้วอยู่นั้นมีครูฝ่ายกิจการนักเรียนคนหนึ่งเดินมาชี้หน้าเด็กนักเรียนที่ชูสามนิ้วอยู่แล้วพูดว่า “มึงทำทำไม” “มึงทำไปเพื่ออะไร” “เดี๋ยวมึงเจอกู” 

จากนั้นครูคนดังกล่าวได้เรียกนักเรียนที่ชูสามนิ้วทั้งหมด 6 คนไปพบกับผู้อำนวยการโรงเรียน โดยปล่อยให้นักเรียนคุยกับผู้อำนวยการเอง นักเรียนได้พยายามอธิบายให้ผู้อำนวยการฟังว่าจุดประสงค์ของการทำกิจกรรมนั้นเป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่ทางผู้อำนวยการกล่าวประมาณว่า กลัวโรงเรียนเสื่อมเสียชื่อเสียง ไม่ได้ปิดกั้นทางความคิดของนักเรียนแต่อย่าทำกิจกรรมแบบนี้ในโรงเรียน ให้ไปทำในม็อบหรือในที่อื่นๆ “อีกอย่างเราเป็นเด็กไม่ต้องไปทำแบบนี้หรอก” การพูดคุยกินเวลาเกือบ 1 ชั่วโมงจึงปล่อยให้นักเรียนกลับห้องเรียนไปเรียนหนังสือตามปกติ 

นักเรียนคนดังกล่าวยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังจากที่พูดคุยกับผู้อำนวยการเสร็จก็มีครูคนอื่นๆ เข้ามาสอบถามถึงเหตุผลในการทำกิจกรรมดังกล่าวว่าทำเพื่ออะไร แต่ไม่ได้พูดคุยในเชิงห้ามปรามแต่อย่างใด

ต่อมาวันที่ 20 สิงหาคม 2563 นักเรียนคนดังกล่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า เพิ่งทราบจากพ่อแม่ว่าต้องเดินทางจากต่างจังหวัดมาเพื่อพบกับครูที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ตอนแรกพ่อแม่ปฏิเสธไปแล้วว่าอยู่ต่างจังหวัดไม่สะดวกที่จะมาพบครู แต่ครูยืนยันว่าต้องมาพบให้ได้ โดยครูไม่ได้แจ้งให้นักเรียนคนดังกล่าวทราบด้วยว่ามีการเรียกพบผู้ปกครอง และครูได้แจ้งกับผู้ปกครองว่านักเรียนคนดังกล่าวเป็นแกนนำในการทำกิจกรรม 

นอกจากนี้นักเรียนยังระบุว่า คนที่ถูกเรียกผู้ปกครองมาพบที่โรงเรียนมีเพียง 2 คนจาก 6 คนที่ถูกเรียกคุยในวันแรก เนื่องจากทางโรงเรียนเชื่อว่าเป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมจึงต้องเรียกผู้ปกครองมาคุย นอกจากนี้ยังเรียกทั้ง 6 คนมาคุยกับผู้อำนวยการอีกครั้ง โดยผู้อำนวยการพยายามอธิบายว่าทางโรงเรียนไม่ได้ปิดกั้นการแสดงออก แต่ยืนยันว่าห้ามทำกิจกรรมดังกล่าวอีก

กรณีที่หก: นักเรียนโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญถูกครูไล่ออกจากไลน์กลุ่มห้อง

วันที่ 18 สิงหาคม 2563 

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ได้รับแจ้งจากผู้ปกครองของนักเรียนคนหนึ่งในโรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ เขตมีนบุรี ว่า หลังจากเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 นักเรียนได้ทำการชูสามนิ้วระหว่างเคารพธงชาติที่โรงเรียน มีครูประจำชั้นห้อง ม.1/8 แจ้งในกลุ่มไลน์ห้องว่า “ใครที่ชูสามนิ้วในแถว ให้มาพบในคาบโฮมรูมด้วย” พร้อมทั้งบอกว่า “ใครที่ก็อปคำพูดที่ครูแจ้งในไลน์นี้ออกไป ให้มาเคลียร์กันแบบจัดเต็ม” แต่ยังไม่มีการพูดคุยส่วนตัวกับนักเรียน หลังจากนั้นจึงมีภาพไลน์ของครูคนดังกล่าวเผยแพร่ไปในทวิตเตอร์

ต่อมาในวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ที่โรงเรียนยังมีการชูสามนิ้วระหว่างเคารพธงชาติอีก ครูคนดังกล่าวก็แจ้งในกลุ่มไลน์ห้องอีกว่า “ใครที่ชู 3 นิ้ว มีอะไรก็ไม่ต้องมาปรึกษา” “มีอะไรให้ไปปรึกษารุ่นพี่เอง” 

ก่อนหน้านี้มีนักเรียนคนหนึ่งส่งรูปภาพบันทึกหน้าจอจากทวิตเตอร์ที่มีข้อความเกี่ยวกับครูที่คุกคามนักเรียนว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ครูคนดังกล่าวก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ในวันที่ 18 สิงหาคม นักเรียนคนดังกล่าวก็ถูกครูกดออกจากไลน์กลุ่มห้องเรียน และครูยังถามเชิงข่มขู่ในห้องเรียนว่าใครเป็นคนนำคำพูดในแชทไลน์ไปเผยแพร่ในทวิตเตอร์ แต่ก็ไม่มีนักเรียนคนไหนยอมรับ

จากการพูดคุยกับผู้ปกครองนักเรียนที่ถูกครูไล่ออกจากกลุ่มไลน์ได้ความว่า วันต่อมาผู้ปกครองได้เข้าไปคุยกับรองผู้อำนวยการและครูคนดังกล่าว รองผู้อำนวยการแจ้งว่าทางโรงเรียนไม่ได้ปิดกั้นการแสดงออกของนักเรียน สามารถชูสามนิ้วได้ และรองผู้อำนวยการได้ตักเตือนครูคนดังกล่าวเรื่องการใช้ถ้อยคำกับเด็ก ส่วนกลุ่มไลน์นั้นจะดำเนินการให้เพื่อนๆ ในห้องดึงนักเรียนคนดังกล่าวกลับเข้ากลุ่มไลน์ตามเดิม

กรณีที่เจ็ด: นักเรียนจากวิทยาลัยพาณิชยการแห่งหนึ่งชูสามนิ้ว ถูกครูเรียกพบ สุดท้ายลาออกเอง

วันที่ 18 สิงหาคม 2563 

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ได้รับแจ้งจากนักเรียน ปวช.ปี 1 จากวิทยาลัยพาณิชยการแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครว่า นักเรียนคนดังกล่าวได้ทำการชูสามนิ้วคนเดียวในโรงเรียนระหว่างเข้าแถวหน้าเสาธง หลังจากนั้นถูกครูเรียกเข้าห้องปกครองเพื่อตักเตือนว่าห้ามทำ หากนักเรียนคนอื่นเห็นแล้วทำตามจะทำอย่างไร และพยายามพูดจาหว่านล้อมให้เปลี่ยนความคิดก่อนจะปล่อยให้นักเรียนไปเรียนตามปกติ

อย่างไรก็ดี ในช่วงเย็นครูได้โทรไปแจ้งให้ป้าของนักเรียนทราบเรื่องการชูสามนิ้ว แล้วป้านำเรื่องไปบอกพ่อ เมื่อพ่อทราบเรื่อง นักเรียนคนดังกล่าวถูกพ่อด่าว่า ทั้งยังถูกพ่อและพี่ชายทำร้ายร่างกายเป็นรอยขีดข่วนเล็กน้อย แต่นั่นทำให้นักเรียนไม่กล้ากลับเข้าไปนอนที่บ้านเพราะเกรงว่าจะโดนทำร้ายอีก จึงอาศัยนอนที่ห้องเพื่อน ในวันที่ 19 สิงหาคม 2563 นักเรียนคนดังกล่าวก็ยังไม่กล้าไปที่โรงเรียน เพราะยังกังวลเรื่องความปลอดภัยจากครูและครอบครัว ต่อมาวันที่ 20 สิงหาคม นักเรียนคนดังกล่าวแจ้งเพิ่มเติมว่าได้ไปลาออกจากโรงเรียนและที่บ้านจะพากลับไปอยู่ต่างจังหวัดแล้ว 

“ไม่ทนแล้วค่ะพี่ หนูกลับจังหวัดหนูดีกว่า ที่นี่ไม่มีงาน ไม่มีที่อยู่” นักเรียนกล่าว

กรณีที่แปด: นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมฯ น้อมเกล้าชูสามนิ้ว ถูกครูเรียกพบ ตำรวจถ่ายรูปทำกิจกรรม

วันที่ 18 สิงหาคม 2563 

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ได้รับแจ้งจากศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้าว่า มีนักเรียนทำกิจกรรมชูสามนิ้ว หลังกิจกรรมเสร็จสิ้นลงนักเรียนที่ทำกิจกรรมถูกครูเรียกเข้าห้องปกครอง แต่ไม่ทราบรายละเอียดในการพูดคุย ศิษย์เก่าจำนวน 3 คนพยายามขอเข้าไปสังเกตการณ์การพูดคุยในห้องปกครองแต่ทางโรงเรียนไม่อนุญาต นอกจากนี้ในระหว่างการจัดกิจกรรม โรงเรียนก็อนุญาตให้ตำรวจในเครื่องแบบซึ่งติดกล้องบันทึกภาพไว้ที่อกเข้ามาบริเวณที่นักเรียนจัดกิจกรรม

กรณีที่เก้า: นักเรียนโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยถูกตำรวจถ่ายรูปขณะชูกระดาษขาว

วันที่ 18 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เวลา 15.00-16.00 น. ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายงานว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 คนเข้ามาถ่ายรูปนักเรียนระหว่างทำกิจกรรมชูกระดาษขาว #กระดาษเองน้องไม่ร้องนะ บริเวณลานพระ ในโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย

 

จังหวัดราชบุรี

กรณีที่หนึ่ง: นักเรียนโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ถูกตำรวจถ่ายรูปขณะทำกิจกรรม

วันที่ 17 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี นักเรียนได้ร่วมกันแสดงออกชูสามนิ้วขณะร้องเพลงชาติ โดยมีผู้พบกลุ่มชายนอกเครื่องแบบหัวเกรียนหลายคนกระจายอยู่ที่หน้าโรงเรียน และเข้ามาสังเกตการณ์ในโรงเรียนและถ่ายรูปนักเรียนด้วย

กรณีที่สอง: นักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งในราชบุรีชูสามนิ้ว ถูกครูฝ่ายปกครองเรียกคุยทีละคน

วันที่ 18 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มีนักเรียนชั้น ม.5 จากโรงเรียนในจังหวัดราชบุรี แจ้งว่าในช่วงเช้านี้ หลังจากตนและเพื่อนประมาณ 10 กว่าคนร่วมกันชูสามนิ้วขณะเข้าแถวหน้าเสาธง ได้ถูกครูฝ่ายปกครองเรียกคุยทีละคน และได้สอบถามความหมายของการชูสามนิ้ว โดยครูได้แจ้งว่าโรงเรียนไม่ใช่สถานที่สำหรับแสดงออกทางการเมือง พร้อมแจ้งว่าจะแจ้งผู้ปกครองของนักเรียนด้วย

 

จังหวัดร้อยเอ็ด

กรณีที่หนึ่ง: นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด ถูกอาจารย์ขอให้ไม่จัดกิจกรรม

วันที่ 17 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

เวลา 10.00 น. เพจ #วทรอไม่เอาเผด็จการ ของกลุ่มนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ดโพสต์ว่า มีความพยายามสกัดกั้นการทำกิจกรรมชูป้ายกระดาษขาวที่จะจัดขึ้นในเวลา 12.20 น. จากอาจารย์ภายในวิทยาลัย โดยมีการเตรียมกำลังคนไว้ ไม่แน่ชัดว่าเป็นอาจารย์หรือเป็นตำรวจ ในเวลา 10.30 น. มีรถตำรวจเข้าไปที่วิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด สองชั่วโมงก่อนที่จะจัดกิจกรรมชูป้ายกระดาษขาว จนกระทั่งเวลา 12.20 น. นักศึกษาไม่น้อยกว่า 6 คนจัดกิจกรรมตามที่นัดหมาย ยืนเรียงชูป้ายกระดาษขาว โดยมีเจ้าหน้าที่คอยถ่ายภาพอยู่ห่างๆ

จากการพูดคุยนักศึกษาแจ้งเพิ่มเติมว่า หลังจากที่เพจโพสต์ว่าจะทำกิจกรรม อาจารย์ได้ต่อรองผ่านทางเพจว่า ไม่ให้มีการปราศรัย พวกเขาก็ยินยอมแล้วเหลือแค่กิจกรรมชูกระดาษเปล่าสีขาว ต่อมาอาจารย์ยังบอกอีกว่า ตอนนี้วิทยาลัยยังไม่พร้อมให้จัดกิจกรรม ขอให้นักศึกษาให้ความเคารพต่อสถาบันฯ ทั้งที่กิจกรรมของนักศึกษาไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวกับสถาบันฯ นอกจากนี้ยังขอร้องให้นักศึกษาลบเพจที่ใช้ในการสื่อสารออกไป

กรณีที่สอง: นักเรียนโรงเรียนหนึ่งในร้อยเอ็ดถูกครูส่งข้อความหยาบคายต่อว่าก่อนจัดกิจกรรม

วันที่ 18 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เวลาประมาณ 09.30 น. มีรถตำรวจ สภ.เมืองร้อยเอ็ด เข้าไปที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง หลังตอนเช้าที่โรงเรียนดังกล่าวมีนักเรียนทำกิจกรรมชูสามนิ้วหลังเคารพธงชาติ ซึ่งยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าตำรวจมาทำอะไร นักเรียนแจ้งเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้มีครูส่งข้อความหยาบคายมาข่มขู่ กรณีใช้ชื่อย่อของโรงเรียนเปิดเพจประชาสัมพันธ์การทำกิจกรรมดังกล่าว

 

จังหวัดอุดรธานี

กรณีที่หนึ่ง: นักเรียนโรงเรียนอุดรพิทยานุกูลชูสามนิ้ว ถูกครูเรียกเข้าห้องปกครอง มีตำรวจมาถ่ายรูป

วันที่ 17 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ได้รับแจ้งจากนักเรียนโรงเรียนอุดรพิทยานุกูลว่า มีนักเรียนทำกิจกรรมแจกโบขาว และชูสามนิ้วในระหว่างการเคารพธงชาติ ระหว่างกิจกรรมถูกครูฝ่ายปกครองถ่ายรูปไว้ ต่อมานักเรียนคนที่แจกโบขาวถูกครูเรียกเข้าห้องปกครองและมีคลิปเสียงหลุดออกมาว่าครูตำหนิเด็กนักเรียนว่าเป็นควาย นอกจากนี้ยังมีตำรวจในเครื่องแบบ และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าไปในโรงเรียนและพยายามตามถ่ายภาพนักเรียนคนที่ทำกิจกรรม ในเวลา 12.40 น. ของวันเดียวกัน พบรถตำรวจเข้าไปจอดในโรงเรียนหนึ่งคันโดยไม่ทราบสาเหตุของการเข้ามาจอด

กรณีที่สอง: นักเรียนโรงเรียนสตรีราชินูทิศติดโบขาว มีตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามาถ่ายรูป

วันที่ 18 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ได้รับรายงานโดยมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายว่า มีตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าไปในโรงเรียนสตรีราชินูทิศ เพื่อถ่ายรูปนักเรียนที่ติดโบขาวในโรงเรียน

กรณีที่สาม: นักเรียนโรงเรียนประจักษ์ศิลปาคารผูกโบขาว ถูกครูทำร้ายและด่า

วันที่ 19 สิงหาคม 2563 

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ได้รับรายงานว่า มีคลิปวิดีโอเผยแพร่ในทวิตเตอร์ซึ่งแจ้งว่าเป็นเหตุการณ์จากโรงเรียนประจักษ์ศิลปาคาร กรณีมีนักเรียนถูกครูตีและดุด่าให้ไปเลี้ยงควาย เนื่องจากผูกโบขาวไว้ที่กระเป๋า

 

จังหวัดขอนแก่น

กรณีที่หนึ่ง: นักเรียนโรงเรียนศรีกระนวนวิทยาคมถูกตำรวจเข้าไปยึดโบขาว

วันที่ 17 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

เวลาประมาณ 9.00 น. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชัชวาลย์ อภิรักษ์มั่นคง รายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกระนวนเข้าไปตรวจโรงเรียนศรีกระนวนวิทยาคม และทำการยึดโบสีขาวที่นักเรียนเตรียมมาผูก พร้อมทั้งเดินไปทั่วบริเวณโรงเรียนก่อนร้องเพลงเคารพธงชาติ ต่อมาเวลา 12.25 น. มีตำรวจโทรหาแจ้งกับชัชวาลย์ว่า อยากจะให้ลบข้อความที่โพสต์ไปก่อนหน้าว่า เจ้าหน้าที่ยึดโบขาว แต่เขายืนยันที่จะไม่ลบ

กรณีที่สอง: นักเรียนโรงเรียนกัลยาณวัตรถูกครูแนะแนวเรียกไปตักเตือน

วันที่ 17 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ได้รับแจ้งจากหนึ่งในผู้เข้าร่วมชุมนุมจากโรงเรียนกัลยาณวัตรว่า เขาได้รับการตักเตือนจากครูแนะแนวที่โรงเรียนในเรื่องการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และเรื่องการเข้าร่วมชุมนุมที่โรงเรียนในวันดังกล่าว โดยครูได้ส่งเรื่องของเขาให้ทางผู้อำนวยการโรงเรียนทราบด้วย

กรณีที่สาม: นักเรียนหญิงในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่นติดโบขาวถูกขู่เรียกผู้ปกครองและไล่ออก

วันที่ 18 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า นักเรียนหญิงโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งผูกโบขาวและใช้เทปกาวปิดชื่อถูกครูในโรงเรียนขู่ว่า หากไม่แกะเทปกาวออกจะเรียกผู้ปกครอง และจะแจ้งให้ฝ่ายวิชาการให้เอาชื่อเธอออกจากระบบของโรงเรียน

 

จังหวัดนครสวรรค์

กรณีที่หนึ่ง: นักเรียนโรงเรียนนครสวรรค์ทำกิจกรรมชูสามนิ้ว ถูกครูต่อว่าและทำร้ายร่างกาย

วันที่ 17 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ได้รับแจ้งว่า ที่โรงเรียนนครสวรรค์ มีการทำกิจกรรมชูสามนิ้วระหว่างเข้าแถวหน้าเสาธง แต่มีครูมาต่อว่านักเรียนด้วยถ้อยคำหยาบคาย สั่งให้นักเรียนหยุดทำกิจกรรม สั่งให้นักเรียนหยุดถ่ายคลิป และใช้มือตบมือที่ถือโทรศัพท์มือถือของนักเรียนคนหนึ่งที่ถ่ายคลิปการทำกิจกรรมเพื่อให้หยุดถ่าย จนมีคลิปวิดีโอออกมาในโลกออนไลน์ ในวันเดียวกันในช่วงบ่ายมีรายงานว่าครูคนดังกล่าวได้ขอโทษนักเรียนที่ถูกกระทำอย่างเป็นทางการแล้ว

 

จังหวัดสงขลา

กรณีที่หนึ่ง: นักเรียนโรงเรียนวรนารีเฉลิมนัดจัดกิจกรรมชูสามนิ้ว ถูกครูดักหน้าโรงเรียนพาไปห้องปกครอง

วันที่ 17 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

เฟซบุ๊กเพจอัครพล ทองพูน อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ สงขลา รายงานว่า ในวันที่ 16 สิงหาคม นักเรียนโรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา มีการนัดกันทำกิจกรรมชูสามนิ้วในเฟซบุ๊ก

ต่อมาวันที่ 17 สิงหาคม เวลา 07.50 น. นักเรียนที่โพสต์ข้อความเชิญชวน และผูกโบขาวที่ข้อมือรวม 7 คนถูกครูดักที่ทางเข้าโรงเรียนพาเข้าห้องปกครอง และยึดมือถือไม่ให้อัดคลิปการทำกิจกรรม นอกจากนี้ผู้อำนวยการโรงเรียนยังอนุญาตให้ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามาในโรงเรียนอีกด้วย

กรณีที่สอง: นักเรียนโรงเรียนมอ.วิทยานุสรณ์หาดใหญ่ที่ชูสามนิ้วถูกครูถ่ายรูป

วันที่ 17 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

เฟซบุ๊กเพจอัครพล ทองพูน อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ สงขลา รายงานว่า หลังจากเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 17 สิงหาคม นักเรียนโรงเรียนมอ.วิทยานุสรณ์หาดใหญ่ จัดกิจกรรมชูสามนิ้ว พบว่า มีครูถ่ายรูปหน้านักเรียนที่ยืนชูสามนิ้วทั้งหมดและไม่ให้นักเรียนขึ้นพูดหน้าเสาธงตามพิธีการปกติ อีกทั้งยังให้นักเรียนที่เอาเทปกาวปิดชื่อแกะเทปกาวออก โดยอ้างว่าชื่อนักเรียนเป็นส่วนหนึ่งของเสื้อนักเรียนห้ามปิดชื่อ ก่อนหน้านี้ในคาบเรียนก็ได้เตือนนักเรียนว่าอย่าตกเป็นเหยื่อ เป็นเครื่องมือทางการเมืองคนอื่น 

อดีตผู้สมัคร ส.ส.อนาคตใหม่ระบุด้วยว่า ทางโรงเรียนชี้แจงเรื่องดังกล่าวผ่านเขา ดังนี้ 1. ครูที่ถ่ายรูป เป็นทีมประชาสัมพันธ์ ถ่ายรูปเก็บบรรยากาศเป็นประจำอยู่แล้วเพื่อนำไปทำสื่อ Road show ไม่ได้จะถ่ายรูปนักเรียนที่ทำกิจกรรมชู 3 นิ้ว 2. ที่ครูไม่ได้อนุญาตให้ กนร.ขึ้นพูด เพราะทราบล่วงหน้าว่าจะมีการแย่งไมค์หน้าเสาธงไปเพื่อทำกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว นักเรียนไม่ได้แจ้งขออนุญาตล่วงหน้า และทางโรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน แจ้งนักเรียนล่วงหน้าแล้วว่า ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมการแสดงออกทางการเมืองภายในโรงเรียน เพราะต้องการรักษาความเป็นกลางทางการเมือง แต่สามารถกระทำได้นอกโรงเรียนเพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล 3. การให้เปิดเผยชื่อบนชุดนักเรียน อยู่ในระเบียบของโรงเรียนอยู่แล้ว ครูจึงต้องชี้แจงนักเรียนตามระเบียบ

กรณีที่สาม: นักเรียนโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบถ่ายรูปขณะทำกิจกรรม

วันที่ 17 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ขณะที่มีกิจกรรมชูสามนิ้วหลังเคารพเพลงชาติที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 คนยืนอยู่บนสะพานลอยด้านหน้าโรงเรียนและถ่ายรูปนักเรียนที่อยู่บริเวณหน้าเสาธง

 

จังหวัดนครศรีธรรมราช

กรณีที่หนึ่ง: แกนนำม็อบ #คนคอนจะไม่ทน ถูกตำรวจเยี่ยมบ้าน

วันที่ 17 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ได้รับแจ้งจากแกนนำชุมนุมกิจกรรม #คนคอนจะไม่ทน (ที่จัดกิจกรรมขึ้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563) แจ้งว่า มีตำรวจ 2 คน จาก สภ.พิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราชตามไปหาที่บ้าน ขณะนั้นเขาไม่อยู่บ้าน ตำรวจได้พบกับคุณอาของเขา นำรูปของเขาขณะเข้าร่วมชุมนุมให้คุณอาดูพร้อมทั้งสอบถามข้อมูล เช่น เรียนอยู่ที่ไหน พ่อแม่เป็นใคร และได้ทำการถ่ายรูปบริเวณบ้านของเขาไว้ด้วย แกนนำที่ถูกเยี่ยมบ้านแจ้งเพิ่มเติมว่าที่บ้านหลังนั้นมีเพียงคุณอาและคุณย่าของเขาอยู่กัน 2 คน และไม่แน่ใจว่าที่ตำรวจถ่ายรูปไปจะติดคนในบ้านไปด้วยหรือไม่

 

จังหวัดสุราษฎร์ธานี

กรณีที่หนึ่ง: นักเรียนโรงเรียนหนึ่งในสุราษฎร์ธานี ถูกรองผู้อำนวยการยึดป้ายและแกะเทปปิดชื่อ

วันที่ 17 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

นักเรียนคนหนึ่งในโรงเรียนให้ข้อมูลว่า กิจกรรมที่โรงเรียนมีสองภาคด้วยกันเป็นภาคเช้ากับภาคเย็น

ตอนเช้าจะเป็นกิจกรรมชูสามนิ้วระหว่างร้องเพลงชาติกับกิจกรรมแจกโบขาวให้กับเพื่อนนักเรียน โดยหลังจากเคารพธงชาติเสร็จ ครูสองสามคนได้สอบถามนักเรียนที่ติดโบขาวว่าหมายความว่าอย่างไรและการชูสามนิ้วหมายความว่าอย่างไร หลังจากนั้นเป็นช่วงที่ให้นักเรียนนั่งสมาธิ มีครูหัวหน้าระดับชั้นเข้าไปริบถุงใส่โบขาวที่เอาไว้เตรียมแจกจากกลุ่มนักเรียนที่แจกโบขาว โดยริบไปทั้งหมดประมาณ 100 ชิ้น และส่งโบขาวให้กับครูประจำชั้นของกลุ่มนักเรียนที่แจกโบขาวดูแลต่อไป และครูประจำชั้นของนักเรียนผู้ให้ข้อมูลได้แจ้งกับนักเรียนว่า ครูได้แจ้งกับกลุ่มผู้ปกครองไปแล้ว และจะไม่ยุ่งกับเรื่องนี้อีก และยังไม่ได้โบขาวทั้งหมดคืน และหลังจากเลิกแถวก่อนกลับห้องเรียน ได้มีครูฝ่ายวิชาการมาคุยกับนักเรียนชั้น ม.3 ว่า ขอจดชื่อนักเรียนที่ติดโบขาววันนี้ด้วย เพื่อที่จะไม่ให้โควต้าต่อ ม.4 ในโรงเรียน  

ส่วนกิจกรรมช่วงเย็นวันที่ 17 สิงหาคม 2563 นั้นได้นัดหมายกันทำกิจกรรมชุมนุมที่ลานโดมในโรงเรียนเวลา 16.00 น. โดยมีกำหนดการการจัดกิจกรรมคือ มีกิจกรรมชูกระดาษเปล่า และวางป้ายผ้าดิบให้นักเรียนเขียนความรู้สึก โดยคาดว่าจะจัดกิจกรรมทั้งหมดประมาณ 10-15 นาที แต่ว่ามีรองผู้อำนวยการเดินมาดูการทำกิจกรรม แต่พวกกลุ่มผู้จัดก็ไม่ได้สนใจอะไร หลังจากนั้นรองผู้อำนวยการจึงเดินเข้ามาเก็บป้ายผ้าดิบที่นักเรียนเตรียมไว้ออกไป แต่กลุ่มนักเรียนไม่ยอมจึงมายืนล้อมรองผู้อำนวยการไว้ และมีการพูดคุยกันโดยรองผู้อำนวยการแจ้งว่า “ไม่อนุญาตให้ทำการจัดกิจกรรมในโรงเรียน ให้ไปจัดข้างนอก” และพูดประมาณว่า “เราจ่ายเงินมาเรียนก็มีหน้าที่เรียน ไม่ใช่มีหน้าที่มาทำกิจกรรมแบบนี้” ทำให้เด็กนักเรียนไม่พอใจอย่างมาก และขัดกับที่ครูในโรงเรียนพูดตอนเข้าแถวในตอนเช้าที่ครูเห็นการนัดหมายกันแล้ว และครูแจ้งว่าการชุมนุมในโรงเรียนสามารถทำได้ แต่ต้องทำโดยสงบ แล้วรองผู้อำนวยการคนดังกล่าวก็ทำการไล่นักเรียนออกไปจัดกิจกรรมที่อื่น ส่วนของที่จะยึดไม่สามารถยึดไปได้เพราะนักเรียนไม่ยอม แต่รองผู้อำนวยการก็ทำการดึงเทปกาวที่แปะปิดชื่อนักเรียนคนหนึ่งไว้จนเทปกาวหลุดพร้อมกับกระดุมติดเสื้อ โดยรองผู้อำนวยการให้เหตุผลในการดึงเทปกาวว่าต้องการเพียงดูชื่อของนักเรียนคนดังกล่าว

สุดท้ายกิจกรรมในเย็นวันนั้นได้จัดขึ้นแต่ต้องย้ายที่จัดไปที่หน้าโรงเรียนแทน ในเวลาเกือบจะ 17.00 น. และเสร็จสิ้นกิจกรรมในเวลาประมาณ 17.15 น. โดยระหว่างทำกิจกรรมมีตำรวจในเครื่องแบบจาก สภ.เมืองสุราษฎร์ธานีประมาณ 3-4 คนมาถ่ายคลิปวีดีโอตลอดการทำกิจกรรม

ส่วนรูปในทวิตเตอร์ที่เป็นภาพนักเรียนหญิงชี้หน้ารองผู้อำนวยการคนนั้น นักเรียนผู้แจ้งเหตุระบุว่าในเหตุการณ์จริงๆ ไม่ได้มีการโต้เถียงกันรุนแรง แต่นักเรียนผู้หญิงในภาพกำลังเข้าไปชี้แจงระหว่างที่รองผู้อำนวยการกำลังจะยึดของที่ทำกิจกรรมไป โดยชี้แจงว่าทรัพย์สินที่นำมาจัดกิจกรรมทั้งหมดเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของเด็กนักเรียน รองผู้อำนวยการไม่สามารถยึดไปได้ ส่วนรองผู้อำนวยการก็แจ้งว่าให้จัดกิจกรรมได้ แต่ให้จัดข้างนอกแทน นักเรียนหญิงคนดังกล่าวจึงชี้ไปทางหน้าโรงเรียนเพื่อถามว่าให้จัดข้างนอกตรงนั้นใช่หรือไม่ แต่ภาพปรากฏในโลกออนไลน์ว่าเป็นการชี้หน้าด่ารองผู้อำนวยการคนดังกล่าว ส่วนภาพการยกมือขึ้นมาของรองผู้อำนวยการก็ตีความกันผิด เพราะไม่ได้มีท่าทีจะตบนักเรียนแต่อย่างใด

หลังจากจัดกิจกรรมเสร็จสิ้น ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2563 นักเรียนหญิงที่ปรากฏในรูปกับรองผู้อำนวยการถูกผู้อำนวยการเรียกไปพบ แต่ไม่ทราบรายละเอียดการพูดคุยกัน

ในช่วงบ่ายของวันที่ 18 สิงหาคม 2563 มีการพูดคุยกันระหว่างนักเรียนกับรองผู้อำนวยการโรงเรียน โดยรองผู้อำนวยการได้ชี้แจงว่า 1. การใช้สถานศึกษาในการแสดงออกด้านสัญลักษณ์ในโรงเรียนสามารถทำได้ แต่หากเป็นเรื่องอื่นเช่นการเขียนป้ายผ้าจะถือเป็นการแสดงออกไม่สร้างสรรค์เนื่องด้วยมีถ้อยคำ และข้อความมากเกินไป อีกทั้งไม่มีการขออนุญาตสถานศึกษาจึงได้ให้ไปจัดกิจกรรมข้างนอกสถานศึกษา 2. เรื่องรูปภาพการง้างมือตบและเด็กชี้หน้าครูนั้น ข้อเท็จจริงคือ ครูไม่ได้ง้างมือตบ แต่เป็นการห้ามปราม และนักเรียนไม่ได้ชี้หน้าด่าครู 3. การดึงเทปปิดชื่อ ครูต้องการดึงเพราะต้องการให้เปิดชื่อนักเรียนด้วย เพราะปิดชื่อแล้วเหลือแต่สัญลักษณ์โรงเรียนบนเสื้อเป็นสิ่งที่ไม่ควร

ในวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ไม่มีการคุกคามใดๆ เกิดขึ้นในโรงเรียนอีก 

 

จังหวัดนนทบุรี

กรณีที่หนึ่ง: ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา นนทบุรี ออกประกาศห้ามใช้สถานที่ในโรงเรียนทำกิจกรรมทางการเมือง

วันที่ 17 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นนทบุรี ได้ออกหนังสือประกาศไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่หรือชื่อโรงเรียนในการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ใดๆ เนื่องจากโรงเรียนไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมกิจกรรมที่ส่อเจตนาให้เกิดความขัดแย้งกับการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคม

 

จังหวัดแพร่

กรณีที่หนึ่ง: นักเรียนโรงเรียนหนึ่งในจังหวัดแพร่ถูกครูดุและข่มขู่

วันที่ 18 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ได้รับแจ้งว่านักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดแพร่ได้ทำการชูสามนิ้วระหว่างเข้าแถวหน้าห้องเรียนและถูกครูวิชาคณิตศาสตร์ดุด่าและข่มขู่ว่าจะไล่ออกจากโรงเรียน ในช่วงบ่ายนักเรียนคนหนึ่งได้ถูกยึดโทรศัพท์และนำตัวไปพูดคุยกับครูที่ดุด่านักเรียน เพื่อปรับความเข้าใจเนื่องจากนักเรียนคนดังกล่าวถูกสงสัยว่าเป็นคนนำคลิปครูไปโพสต์ในโลกออนไลน์

 

จังหวัดฉะเชิงเทรา

กรณีที่หนึ่ง: นักเรียนโรงเรียนหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทราทำกิจกรรมชูสามนิ้วแล้วถูกครูตีอย่างแรง

วันที่ 18 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ได้รับแจ้งจากนักเรียนโรงเรียนหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทราว่า เช้าวันที่ 18 สิงหาคม นักเรียนได้นัดกันทำกิจกรรมชูสามนิ้วระหว่างร้องเพลงชาติ ขณะที่กำลังยกมือขึ้นชูสามนิ้วมีเด็กนักเรียน ม.3 คนหนึ่งถูกครูตีอย่างแรงระหว่างที่ชูสามนิ้วขึ้น 

วันนี้ทางโรงเรียนได้งดกิจกรรมเข้าแถวหน้าเสาธงให้นักเรียนแต่ละชั้นไปยืนเข้าแถวหน้าห้องเรียนกันแทน มีเพียงนักเรียนชั้น ม.5 ที่ได้เข้าแถวหน้าเสาธงตามปกติ 

วันที่ 17 สิงหาคม 2563 ครูในโรงเรียนยังตามหานักเรียนที่ทำกิจกรรมชูสามนิ้วและแจกโบ มีนักเรียนอย่างน้อย 2 คนถูกครูเรียกไปคุย แต่ไม่ทราบรายละเอียดการพูดคุย

 

จังหวัดอำนาจเจริญ

กรณีที่หนึ่ง: นักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งในอำนาจเจริญถูกครูสั่งงดเข้าแถวและนำตำรวจมาเฝ้าหน้าโรงเรียน

วันที่ 18 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

เพจ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย – Student Union of Thailand รายงานว่า ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญขณะร้องเพลงชาติหน้าเสาธง ครูในโรงเรียนประกาศงดเข้าแถวหน้าเสาธง เพราะตำรวจสั่งให้ทำเช่นนั้น แล้วให้เข้าแถวที่หน้าอาคารเรียนแทน เนื่องจากกังวลว่านักเรียนจะทำการชูสามนิ้วขณะร้องเพลงชาติ เพราะทราบมาว่าวันดังกล่าวมีการนัดหมายผูกโบขาวและชูสามนิ้ว นอกจากนี้ยังได้รับแจ้งเพิ่มเติมว่า มีการนำตำรวจมาเฝ้าที่หน้าทางเข้าโรงเรียนด้วย

 

จังหวัดอุบลราชธานี

กรณีที่หนึ่ง: นักเรียนโรงเรียนนารีนุกูลชูสามนิ้ว ถูกครูสั่งให้ยืนขึ้นแล้วถ่ายรูป

วันที่ 18 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

มติชนออนไลน์รายงานว่า โรงเรียนนารีนุกูลมีนักเรียนทำกิจกรรมชูสามนิ้วหน้าเสาธงและติดโบขาว หลังจากทำกิจกรรมเสร็จสิ้น ขณะที่นักเรียนนั่งกันอยู่หน้าเสาธง มีครูผู้ชายคนหนึ่งขึ้นไปพูดหน้าเสาธง และให้นักเรียนกลุ่มที่ทำการชูสามนิ้วยืนขึ้น จากนั้นมีครูคอยถ่ายรูปถ่ายคลิปวิดีโอนักเรียนกลุ่มดังกล่าว และจดชื่อนักเรียนไว้ โดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ว่าจะนำไปทำอะไรต่อไป

 

จังหวัดศรีสะเกษ

กรณีที่หนึ่ง: ผอ.ประกาศหน้าเสาธงห้ามทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์

วันที่ 18 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ได้รับการแจ้งข้อมูลจากศิษย์เก่าโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนได้ประกาศหน้าเสาธงว่าห้ามนักเรียนทำกิจกรรมทางการเมืองเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นผู้อำนวยการจะไม่พัฒนาโรงเรียน ไม่ได้อาคารเรียนใหม่ และห้ามครูสนับสนุนนักเรียนทำกิจกรรม

 

จังหวัดระยอง

กรณีที่หนึ่ง:  นักเรียนโรงเรียนหนึ่งในระยองที่ชูสามนิ้วถูกตำรวจเข้ามาคุยในโรงเรียน

วันที่ 18 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า นักเรียนที่ทำกิจกรรมชูสามนิ้วและแจกโบขาวในโรงเรียนในช่วงเข้าแถวหน้าเสาธงถูกตำรวจเข้ามาพูดคุยในโรงเรียนตอนพักเที่ยง เพราะเกรงว่าจะไปชูสามนิ้วอีกครั้งในกิจกรรมเกี่ยวกับการอบรมเรื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงบ่าย และไม่ให้นักเรียนกลุ่มดังกล่าวร่วมอบรมด้วย กลุ่มนักเรียนยืนยันว่าไม่ได้มีการวางแผนที่จะทำการชูสามนิ้วในช่วงบ่ายแต่อย่างใด

 

จังหวัดชลบุรี

กรณีที่หนึ่ง: นักศึกษาวิทยาลัยภาคตะวันออกถูก ผอ. ห้ามทำกิจกรรมในวิทยาลัย

วันที่ 18 สิงหาคม 2563

เหตุการณ์โดยสังเขป:

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ที่วิทยาลัยภาคตะวันออก (อี.เทค.) ได้มีการจัดกิจกรรมชูสามนิ้วขณะเข้าแถว โดยมีนักศึกษาหลายคนร่วมชูสามนิ้ว หลังจากนั้นผู้อำนวยการวิทยาลัยได้ประกาศห้ามทำกิจกรรม โดยระบุไม่ให้ชูสามนิ้วในสถานศึกษาและในขณะใส่ชุดนักศึกษา หากต้องการแสดงออกให้ไปแสดงออกที่อื่น ผู้อำนวยการอ้างว่าไม่ต้องการให้พื้นที่วิทยาลัยกลายเป็นเครื่องมือของใคร และแจ้งว่าจะตรวจสอบกล้องวงจรปิดด้วยว่าใครชูสามนิ้วบ้างอีกด้วย

 

จังหวัดจันทบุรี

กรณีที่หนึ่ง: นักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดจันทบุรีชูสามนิ้ว ถูกครูสั่งห้าม

วันที่ 18 สิงหาคม 2563 

เหตุการณ์โดยสังเขป:

นักเรียนโรงเรียนหนึ่งในจังหวัดจันทบุรี ได้นัดกันทำกิจกรรมชูสามนิ้วระหว่างร้องเพลงชาติ ขณะที่ทำการชูสามนิ้วระหว่างร้องเพลงชาติ ครูที่อยู่ประจำหน้าเสาธงได้ประกาศให้หยุด และให้ยืนตรง โดยกล่าวว่า “ขอยืนตรงนะคะ วันนี้เราอยู่ต่อหน้าพระบรมรูปให้เกียรติกันด้วยนะคะ” แล้วให้ทำการร้องเพลงชาติใหม่อีกครั้ง