สำรวจความเป็นไปของ “กฎหมายยุยงปลุกปั่น” ในต่างประเทศ

นับตั้งแต่หลังการรัฐประหารในปี 2557 กฎหมายยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 กลายเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญของรัฐในการยับยั้งการเคลื่อนไหวของประชาชนในเชิงต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งโดยประวัติศาสตร์ของกฎหมายดังกล่าว จะพบว่า เป็นกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมายเครือจักรภพของจักรวรรดิอังกฤษที่มีไว้คุ้มครองพระมหากษัตริย์และรัฐบาลจากการดูหมิ่นหรือการต่อต้านของประชาชน

อย่างไรก็ดี หากไปสำรวจกฎหมายยุยงปลุกปั่นในกลุ่มประเทศที่อยู่ในเครือจักรภพของจักรวรรดิอังกฤษ อย่างประเทศออสเตรเลีย ประเทศนิวซีแลนด์ และประเทศมาเลเซีย จะพบว่า กลุ่มประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะยกเลิกและแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นเครื่องมือของรัฐในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อพิทักษ์รักษาคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยเอาไว้

IMG_0711

ออสเตรเลีย: แก้กฎหมายเพิ่มเรื่อง “เจตนา” ให้ใช้เฉพาะผู้สนับสนุนความรุนแรง

กฎหมายยุยงปลุกปั่นของออสเตรเลีย เริ่มปรากฏครั้งแรกในปี 2005 ซึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย โดยบัญญัติว่า

“หมวด 80.2 การยุยงปลุกปั่น

การยุยงให้ล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือรัฐบาล

(1) บุคคลใดถือว่าได้กระทำความผิดหากยุยงให้บุคคลอื่นใช้กำลังหรือความรุนแรงเพื่อล้มล้าง:

     (a) รัฐธรรมนูญ หรือ

     (b) รัฐบาลของเครือจักรภพ มลรัฐ หรือดินแดน หรือ

     (c) ผู้มีอำนาจโดยชอบของรัฐบาลเครือจักรภพ

     โทษจำคุก 7 ปี….”

โดยบทบัญญัติดังกล่าวนำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกเนื่องจากอาจเปิดช่องให้มีการละเมิดสิทธิ จึงมีการพยายามแก้ไขกฎหมายดังกล่าวและกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ รวมไปถึงประมวลกฎหมายอาญา

ต่อมาในปี 2006 คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายของออสเตรเลีย มีความเห็นว่า บทบัญญัติของกฎหมายไม่ทันสมัยและถูกนำมาใช้จัดการศัตรูทางการเมืองของรัฐบาล และฐานความผิดยุยงปลุกปั่นมีความซับซ้อนกับกฎหมายอื่น ดังนั้น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจึงเสนอให้แก้บทบัญญัติเพื่อให้ความผิดครอบคลุมเจตนาที่ใช้กำลังหรือความรุนแรง และต้องให้มีการเชื่อมโยง

ต่อมาในปี 2011 สภาของออสเตรเลียได้เห็นชอบการแก้ไขกฎหมายยุยงปลุกปั่น ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมาย ดังนี้

“80.2 การยุยงให้ใช้ความรุนแรงต่อรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

การยุยงให้ใช้กำลังหรือความรุนแรงเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือรัฐบาล

(1) บุคคล (คนที่หนึ่ง) กระทำความผิดหาก:

     (a) บุคคลนั้นจงใจยุยงให้อีกบุคคลหนึ่งใช้กำลังหรือความรุนแรงเพื่อล้มล้าง:

                                (i) รัฐธรรมนูญ หรือ

                                (ii) รัฐบาลของเครือจักรภพ มลรัฐ หรือดินแดน หรือ

                                (iii) ผู้มีอำนาจโดยชอบของรัฐบาลเครือจักรภพ และ

     (b) บุคคลที่หนึ่งกระทำโดยจงใจให้การใช้กำลังหรือความรุนแรงนั้นเกิดขึ้น

โทษจำคุก 7 ปี….”

จากตัวบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูกแก้ไขใหม่ในปี 2011 จะพบว่า มีการเพิ่มองค์ประกอบความผิดเข้ามา โดยระบุว่า ผู้กระทำความผิดจะต้องมี “เจตนา” ยุยงให้การใช้กำลังหรือความรุนแรงนั้นเกิดขึ้น เพื่อจำกัดกรอบการบังคับใช้กฎหมายให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นต้องเป็นการกระทำที่ “จงใจ” ให้เกิดการใช้กำลังหรือความรุนแรงขึ้นจริง นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มตัวบทในส่วนอื่นๆ ให้ตอบสนองต่อภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ การก่อการร้ายจากทั้งในและนอกประเทศ หรือการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มทางสังคมต่างๆ และพันธะต่อข้อตกลงระหว่างประเทศ

นิวซีแลนด์: ยกเลิกกฎหมายทั้งมาตราเพื่อป้องกันการใช้จำกัดเสรีภาพ

กฎหมายยุยงปลุกปั่นของนิวซีแลนด์ ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยความผิดอาญา ปี 1961 โดยบัญญัติไว้ดังนี้

“มาตรา 81 นิยามความผิดฐานยุยงปลุกปั่น

(1) เจตนายุยงปลุกปั่น (“seditious intention”) คือเจตนา —

(a) นำมาซึ่งความเกลียดชังหรือการดูหมิ่น หรือสร้างความไม่พอใจต่อพระมหากษัตริย์ หรือรัฐบาลนิวซีแลนด์ หรือกระบวนการยุติธรรม หรือ

(b) ยั่วยุให้ประชาชนหรือคนหรือกลุ่มคนใดพยายามเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือรัฐบาลนิวซีแลนด์ด้วยวิธีอื่นใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือ

(c) ยั่วยุ นำพามาซึ่ง หรือยุยงการใช้ความรุนแรง การล่วงละเมิดกฎหมาย หรือความไม่สงบของประชาชนทั่วไป หรือ

(d) ยั่วยุ นำพามาซึ่ง หรือยุยงการก่อความผิดที่เป็นภัยต่อประชาชนทั่วไปหรือการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม หรือ

(e) ยั่วยุให้เกิดความเป็นศัตรูหรือความมุ่งร้ายระหว่างกลุ่มสังคมต่างๆ ในลักษณะที่อาจเป็นภัยต่อประชาชนทั่วไป

(2) โดยไม่จำกัดการอ้างเหตุผล ข้ออ้าง หรือข้อแก้ตัวทางกฎหมายต่อบุคคลที่ถูกตั้งข้อหาตามความผิดนี้ไม่สามารถถือว่าบุคคลใดมีเจตนายุยงปลุกปั่นได้หากบุคคลนั้นกระทำไปโดยสุจริตเพียงเพื่อ —

(a) ชี้แจงว่าพระมหากษัตริย์ถูกชี้นำในทางที่ผิดหรือกระทำการที่ผิดพลาด หรือ

(b) ชี้แจงข้อผิดพลาดหรือข้อบกพร่องในรัฐบาลหรือรัฐธรรมนูญนิวซีแลนด์ หรือกระบวนการยุติธรรม หรือกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปหรือคนหรือกลุ่มบุคคลใดพยายามเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือรัฐบาลนิวซีแลนด์ ด้วยวิธีที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือ

(c) ชี้แจงประเด็นที่สร้างหรือมีแนวโน้มที่จะสร้างความเป็นศัตรูหรือความมุ่งร้ายระหว่างกลุ่มคน พร้อมเสนอแนวทางยุติประเด็นนั้น

(3) การสมคบคิดยุยงปลุกปั่นคือการตกลงกันของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำการซึ่งมีเจตนายุยงปลุกปั่น… ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี”

ทั้งนี้ บทบัญญัติดังกล่าวได้นำมาสู่ปัญหา เมื่อมีการนำกฎหมายยุยงปลุกปั่นมาดำเนินคดีกับชายคนหนึ่งที่โยนขวานใส่สำนักงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และแจกจ่ายใบปลิวเรียกร้องให้ผู้อื่นกระทำการเช่นเดียวกันเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อร่างกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศชายฝั่งฉบับหนึ่ง ในปี 2006 และศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษชายคนดังกล่าว

ต่อมา คณะกรรมาธิการกฎหมายของนิวซีแลนด์ ได้มีความเห็นให้ยกเลิกกฎหมายยุยงปลุกปั่น เนื่องจากกฎหมายวางนิยามไว้กว้าง ทำให้การบังคับใช้กฎหมายขาดความชัดเจนแน่นอน รวมไปถึงเป็นการลดทอนเสรีภาพในการแสดงออกในสังคมประชาธิปไตยโดยไม่มีเหตุผลอันเป็นผลประโยชน์ต่อสาธารณะรองรับเพียงพอ และอาจถูกใช้โดยมิชอบเพื่อปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง

จนกระทั่งในปี 2007 รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ผ่านกฎหมายเพื่อยกเลิกบทบัญญัติของกฎหมายยุยงปลุกปั่นทั้งหมด

มาเลเซีย: รัฐบาลมีทั้งข้อเสนอให้แก้ไขหรือยกเลิก แต่ยังทำไม่สำเร็จ

กฎหมายว่าด้วยการยุยงปลุกปั่น (Sedition Act 1948) ของมาเลเซียเป็นกฎหมายยุคอาณานิคม ซึ่งใช้ต่อต้านผู้สนับสนุนอุดมการณ์คอมมิวนิสต์และผู้ต่อต้านการปกครองของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ มีเนื้อหาปราบปรามการกระทำที่ “มีแนวโน้มยุยงปลุกปั่น” (seditious tendency) สร้างความไม่สงบหรือไม่พอใจระหว่างกลุ่มคน รัฐบาล หรือพระมหากษัตริย์ (Lese Majeste) เป็นต้น ซึ่งกฎหมายนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจำกัดเสรีภาพทางการเมืองและการแสดงออกเกินเหตุ และถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาล

โดยในยุคนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ได้สัญญาที่จะปฏิรูปกฎหมายไว้ตอนช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2012 ว่า จะยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการยุยงปลุกปั่น โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยความสามัคคีแห่งชาติขึ้นมา โดยมีการเสนอร่างกฎหมายสามฉบับในปี 2014 เรียกรวมกันว่า “ร่างกฎหมายปรองดองแห่งชาติ” ประกอบไปด้วย

1. ร่างกฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมความเกลียดชังทางเชื้อชาติและศาสนา

2. ร่างกฎหมายว่าด้วยความปรองดองและสมานฉันท์แห่งชาติ (ซึ่งจะมาแทนที่กฎหมายว่าด้วยการยุยงปลุกปั่น)

3. กฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการความปรองดองและสมานฉันท์แห่งชาติ 

โดยกฎหมายทั้งสามฉบับจะมีผลแก้ไขตัวบทที่มีปัญหาและขยายสิทธิเสรีภาพบางประการ แต่ท้ายที่สุด ร่างกฎหมายเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำเข้าสู่รัฐสภาเนื่องจากรัฐมนตรีสำนักนายกฯ อ้างว่า สำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ระหว่างการสรุปข้อคิดเห็น ประกอบกับบริบทได้เปลี่ยนไป มีการยุยงผ่านสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น จึงไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาเพื่อยื่นเข้าสู่สภาได้ และเรื่องก็เงียบไปในที่สุด ส่วนคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยความสามัคคีแห่งชาติก็ถูกยุบไป

ต่อมาในปี 2015 รัฐสภาได้มีมติเห็นชอบร่างข้อแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการยุยงปลุกปั่น เพื่อลบการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมออกจากนิยามของการยุยงปลุกปั่น แต่เพิ่มเติมคำว่า “ศาสนา” ลงในรายการนิยามของการกระทำที่เข้าข่ายมีลักษณะยุยงปลุกปั่น แต่ทว่า ก็ขยายขอบเขตของกฎหมายให้ครอบคลุมการกระทำในโลกออนไลน์ที่มีลักษณะยุยงปลุกปั่น ซึ่งรวมไปถึงการใช้สื่อออนไลน์ การแชร์ การทำงานของสื่อออนไลน์ อีกทั้งลดอำนาจของศาลในการพิจารณาโทษโดยตัดโทษปรับออกให้เหลือเพียงโทษจำคุก แต่ท้ายที่สุด กฎหมายฉบับแก้ไขนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน (ปี 2020)

ต่อมาหลังการเลือกตั้งในปี 2018 รัฐบาลของมหาเธร์ บิน โมฮัมหมัด (Pakatan Harapan) กลับมามีชัยเหนือการเลือกตั้ง และได้ประกาศว่ามีแนวทางสนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายยุยงปลุกปั่น โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ระงับการใช้งานกฎหมายว่าด้วยการยุยงปลุกปั่น (Moratorium on the Sedition Act 1948) โดยรัฐมนตรีสื่อสารมวลชน (Communications and Multimedia Minister) ในขณะนั้นกล่าวว่าเพื่อสอดรับจุดมุ่งหมายยกเลิกการใช้กฎหมายยุยงปลุกปั่นระหว่างรออัยการสูงสุดพิจารณา แต่ทว่า ประกาศดังกล่าวนั้นก็ถูกยกเลิกภายในหนึ่งเดือน หลังเกิดเหตุวุ่นวายขึ้นในวัดฮินดูแห่งหนึ่ง และนำไปสู่การจับกุมผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและสถาบันกษัตริย์รอบใหม่ และยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขยกเลิกกฎหมายแต่อย่างใด เหลือทิ้งไว้เพียงข้อเสนอแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายดังกล่าว