เปิดกระบวนการนอกกฎหมาย ตร.จู่โจมแอดมินเพจวิจารณ์สถาบัน ยึดเพจ-ขอให้หยุด

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ไอลอว์ได้เปิดรับเรื่องร้องเรียนจากนักเรียนนักศึกษาที่ทำกิจกรรมแสดงออกทางการเมืองแล้วถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ มีผู้ร้องเรียนเข้ามาหลากหลายกรณี จนกระทั่งได้พบกับ ก. แอดมินเพจเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาวิจารณ์สถาบันฯ มีคนติดตามประมาณ 10,000 คน  ก.เล่าถึงปฏิบัติการของตำรวจที่บุกเข้าไปพูดคุยที่มหาวิทยาลัยยาวนานกว่า 2 ชั่วโมง มีการยึดและถ่ายโอนข้อมูลจากมือถือ ขอรหัสเฟซบุ๊กเข้าไปยึดเพจ ฯลฯ โดยเจ้าหน้าที่ไม่มีการอ้างอำนาจตามกฎหมายใด ทั้งยังขอให้เขาหยุดทำสิ่งที่เคยทำมาทั้งหมด

กระบวนการที่ตำรวจทำกับ ก. ถือว่าเป็นกระบวนการที่แยบยลและขณะเดียวกันก็แปลกใหม่ เนื่องจากเราผ่านช่วงที่มี “การปรับทัศนคติ” อย่างแพร่หลายหลังการรัฐประหาร 2557 มานานพอสมควรแล้ว ไอลอว์จึงขอนำเสนอตัวอย่างนี้ซึ่งนับได้ว่าเป็นการปรับทัศนคติรูปแบบใหม่ที่รัฐกำลังใช้กับเยาวชนอยู่ในเวลานี้

IMG_0792

มหาวิทยาลัยเปิดประตูให้ตำรวจเข้ามาพูดคุย 2 ชั่วโมง

ก. ให้ข้อมูลกับไอลอว์ว่าทำเพจเพจหนึ่งเกี่ยวกับการวิจารณ์สถาบันฯ ตั้งแต่ปี 2562 จนกระทั่งสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 เป็นวันที่ ก.มีสอบ ในช่วงเช้า ก.ไปที่มหาวิทยาลัยตามปกติ ช่วงเที่ยงหลังจากสอบเสร็จมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการนักศึกษาของคณะโทรมาหา ก. และนัดให้ไปพบที่ห้องประชุมของคณะโดยไม่แจ้งว่านัดคุยในเรื่องใด บอกเพียงว่า “อยากคุยด้วยเฉยๆ” (ก. ทราบภายหลังว่าเจ้าหน้าที่ของคณะเป็นเพียงคนโทรมานัดหมาย แต่คนที่อนุญาตให้ตำรวจเข้ามาพูดคุยได้คือผู้บริหารคณะ)

เมื่อไปถึงห้องประชุมย่อยของคณะซึ่งมีขนาดห้องกว้างประมาณ 10-20 คนนั่ง ก.เปิดเข้าห้องไปพบกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการนักศึกษาของคณะ 2 คนอยู่กับชายแปลกหน้าอีก 3 คน จากนั้นชายแปลกหน้าคนหนึ่งได้แสดงบัตรประจำตัวพร้อมกับแนะนำตัวว่าเป็นตำรวจสันติบาลจากส่วนกลาง มาจากกรุงเทพฯ ก.จำได้เพียงว่าในบัตรระบุยศ พันตำรวจโท 

ตำรวจคนดังกล่าวไม่ได้อ้างถึงอำนาจตามกฎหมายใดในการพูดคุยกับ ก.ครั้งนี้แม้แต่น้อย ไม่มีการแสดงหมายหรือเอกสารใดที่ทางราชการออกให้ เว้นแต่กองเอกสารเป็นรูปภาพการบันทึกหน้าจอโพสต์เฟซบุ๊กวางอยู่ที่โต๊ะจำนวนหนึ่งกับบัตรประจำตัวตำรวจที่มองดูแล้วน่าจะเป็นของจริง

จากนั้นตำรวจได้ยึดโทรศัพท์มือถือของ ก. ไว้เป็นอันดับแรกและเริ่มพูดคุยพร้อมนำกระดาษที่เป็นรูปการบันทึกการโพสต์เฟซบุ๊กของ ก. และโพสต์ของแฟนเพจเพจหนึ่งที่ ก.เป็นเจ้าของ เอกสารทั้งหมดมีประมาณ 20 แผ่น 

ตำรวจถามว่า “เป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กนี้ใช่หรือไม่” 

ก.ตอบรับว่า “ใช่” 

ตำรวจถามว่า “ก. เป็นเจ้าของเพจ xxx ใช่หรือไม่” 

ก.ยอมรับว่า “ใช่”

ตำรวจถามถึงโทรศัพท์มือถือว่า “ใช้มือถือรุ่นเดียวกันกับที่ใช้โพสต์เฟซบุ๊กที่ตำรวจตรวจสอบใช่หรือไม่” 

ก.ยอมรับว่า “ใช่”

ในช่องว่างแห่งความรู้สึกตอนนั้น ก.ไม่เข้าใจแม้แต่น้อยว่ากระบวนการที่เขาพบเจออยู่คืออะไร แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับเขาต่อไป

ยึดมือถือ-โอนถ่ายข้อมูล เซ็นยินยอมภายหลัง

เมื่อตอบยืนยันคำถามทั้ง 3 ข้อ ตำรวจคนที่นำการพูดคุยได้เรียกให้ตำรวจที่เหลือเข้ามา รวมแล้วในห้องมีตำรวจทั้งหมด 10 คน ในจำนวนนั้นมีผู้หญิง 2 คน ทีมงานมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและอุปกรณ์สำหรับการบันทึกวิดีโอ ในห้องประชุมขนาดเล็กที่มีโต๊ะประชุมตัวใหญ่อยู่กลางห้อง ตำรวจให้ ก.ขยับไปนั่งหัวโต๊ะ แล้วตำรวจนอกเครื่องแบบทั้ง 10 คนนั่งล้อมไว้ ส่วนเจ้าหน้าที่คณะ 2 คนขยับอยู่ห่างออกไปจากวงโดยอัตโนมัติ 

จากนั้นตำรวจแจ้งกับ ก.ว่าจะมีการขอดูโทรศัพท์และจะต้องมีการตั้งกล้องบันทึกวิดีโอการพูดคุยกับ ก. ด้วยตลอดเวลา จากนั้นตำรวจนำโทรศัพท์มือถือของ ก.ที่ยึดไว้ตั้งแต่แรกเสียบสายเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่เตรียมมาพร้อมทั้งโอนถ่ายข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของ ก.ทั้งหมดลงในคอมพิวเตอร์ หลังจากโอนถ่ายข้อมูลเรียบร้อย ตำรวจอีกคนนำเอกสารเกี่ยวกับการให้ความยินยอมในการให้ข้อมูลโทรศัพท์มือถือมาให้ ก.เซ็น 

“ในเอกสารมีเนื้อหาเกี่ยวกับการยอมรับว่าเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือ และยินยอมให้ทำการตรวจค้นอุปกรณ์ดังกล่าว การเซ็นยินยอมเกิดขึ้นหลังจากที่ตำรวจโอนถ่ายข้อมูลในเครื่องไปแล้ว” ก.เล่า 

จากนั้นตำรวจได้นำเอกสารบันทึกหน้าจอการโพสต์เฟซบุ๊กทั้งเฟซบุ๊กส่วนตัวของ ก.และโพสต์ของเพจจำนวน 20 แผ่นมาให้ ก.เซ็นรับรองในเอกสารซึ่งระบุข้อความว่า “ขอรับรองว่าเป็นเจ้าของเพจXXXจริง” 

“ในกระบวนการตั้งแต่โอนถ่ายข้อมูลโทรศัพท์จนถึงตอนให้เซ็นรับรองเอกสาร ผมไม่มีทนายความหรือคนที่ไว้วางใจอยู่ด้วยเลย ในห้องมีแต่ตำรวจและเจ้าหน้าที่คณะ 2 คนที่มาเป็นพยานนั่งอยู่ห่างออกไปตรงริมประตู” ก.กล่าว 

“ตอนตำรวจโอนถ่ายข้อมูลมือถือของผมตำรวจเอาข้อมูลไปทั้งหมด ไม่ได้แยกว่าเอาเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือเป็นข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมก็บอกกับตำรวจว่ามันมีข้อมูลส่วนตัวของผมด้วยนะครับ ตำรวจบอกกับผมว่าส่วนที่ไม่เกี่ยวข้อง เดี๋ยวจะลบออกให้ทีหลัง แต่ขอเอาข้อมูลทั้งหมดไปก่อน เขาได้ข้อมูลไปทั้งหมดไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง รูปถ่าย บันทึกแชทในโปรแกรมแชทต่างๆ”

กระบวนการต่อไป ตำรวจชุดดังกล่าวพยายามขออีเมล, เบอร์โทรศัพท์มือถือ และรหัสสำหรับเข้าระบบเฟซบุ๊กของ ก. ในช่วงแรก ก.ปฏิเสธให้ไปเพียงอีเมลและเบอร์โทรศัพท์มือถือเท่านั้น ไม่ได้ให้รหัสผ่านไป 

ตั้งกล้องวิดีโอ ‘สอบปากคำ’ โดยไม่มีทนาย

จากนั้นตำรวจจึงเริ่มกระบวนการพูดคุยต่อหน้ากล้องวิดีโอที่ตั้งไว้ โดยเริ่มต้นถามตั้งแต่ “ทำไมถึงทำเพจนี้” “ได้รับแนวคิดแบบนี้มาจากไหน” “ทำไม ก.กดติดตามกลุ่มบุคคลที่ล้มล้างสถาบันฯ เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อ.ปวิน วงไฟเย็น” “รู้จักคนพวกนี้เป็นการส่วนตัวไหม” “ไปเอาข้อมูลคนพวกนี้จากใคร” “ข้อมูลที่โพสต์ในเพจเอามาจากใคร” ทั้งนี้ รูปการกดติดตามเพจต่างๆ ของ ก.ที่ปรากฏในกระดาษของตำรวจยังมีอีกหลายคนที่ ก.ไม่รู้จัก

ก.ได้ปฏิเสธกับตำรวจไปว่า “ไม่รู้จักกับกลุ่มบุคคลเหล่านี้แลย” แม้ตำรวจมีท่าทีไม่เชื่อคำพูดของ ก.แต่ไม่ได้ถามอะไรในประเด็นนั้นต่อ เปลี่ยนประเด็นคำถามไปสู่การถามถึงเรื่องส่วนตัวของ ก. โดยเฉพาะเรื่องครอบครัวของเขา 

ตำรวจถามว่า “คุณพ่อ-คุณแม่ ทำงานอะไร” มีการนำข้อมูลจากทะเบียนบ้านของ ก. มาถามด้วยว่า “ก. ยังอยู่บ้านหลังนี้อยู่หรือไม่”“คุณพ่อ-คุณแม่ยังอยู่บ้านหลังนี้อยู่หรือไม่” 

ข่มขู่ว่าผิดกฎหมาย ขอให้ยุติการกระทำ 

นอกจากนั้นตำรวจชุดดังกล่าวยังพูดคุยถึงเรื่องที่ ก.โพสต์ข้อมูลลงเพจด้วย โดยตำรวจพยายามเปิดกระดาษที่บันทึกภาพหน้าจอเฟซบุ๊กแล้วอ้างว่า รู้หรือไม่ว่าบางโพสต์ที่ ก.โพสต์ลงเพจนั้นมีเรื่องที่ไม่จริงด้วยซึ่งเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ เช่น คลิปของวงไฟเย็นเป็นคลิปที่มีการตัดต่อ จึงมีความผิดในเรื่องเผยแพร่ข้อมูลเท็จตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างไรก็ตาม ตำรวจพูดต่อว่า “แต่ถ้าหลังจากนี้ ก.ปฏิบัติตัวดีก็จะไม่มีการดำเนินคดีใดๆ”

ก. เล่าถึงบรรยากาศการพูดคุยว่า ในช่วงที่คุยหน้ากล้องนั้น ตำรวจที่นำพูดคุยไม่ใช่คนที่แสดงตัวในตอนแรก แต่เป็นตำรวจที่เข้ามาทีหลัง มีอายุมากแล้ว 2 คนสลับกันพูด ทั้งการข่มขู่ โต้เถียง และมีตำรวจผู้หญิงอีกหนึ่งคนคอยเป็นคนพูดปรับสถานการณ์ให้เย็นลง คอยตะล่อมให้ ก.ฟังที่ตำรวจชายสองคนพูด

เวลาการพูดคุยทั้งหมดกว่า 2 ชั่วโมง ยังมีเรื่องการถกเถียงกันถึงแนวคิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ด้วย โดยตำรวจพยายามจะอธิบายถึงความเหมาะสมและความถูกต้องของการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย 

“ท้ายสุดตำรวจพยายามจะให้ผมพูดกับกล้องวิดีโอว่าจะไม่ทำอีก” 

“ในการบังคับให้ผมไม่ทำอีก ไม่ได้มีการให้เอกสารใดๆ ที่บอกว่าจะไม่กระทำการซ้ำอีก แต่ในระหว่างพูดคุย นอกจากกล้องวิดีโอแล้ว ยังมีคนที่คอยพิมพ์บันทึกคำพูดของผมอยู่ด้วยอีกคน ไม่ได้บันทึกการพูดคุยทั้งหมด บันทึกแค่เรื่องสำคัญ เช่น ได้รับความคิดมาจากไหน เริ่มทำเพจตั้งแต่วันไหน แล้วสุดท้ายเขาก็เอาเอกสารที่บันทึกนั้นมาให้เซ็นรับรอง”

ตำรวจบางคนที่อยู่ในห้องพูดกับ ก.ในทำนองที่ว่าในอนาคตห้ามพูดเรื่องแบบนี้อีก ไม่เช่นนั้นจะดำเนินคดี และมีคนดูอยู่ตลอด บางคนก็เข้ามาเตือนว่า “อย่าให้เสียดายอนาคตเลย ตั้งใจเรียนดีกว่า”

ในส่วนของการแจ้งเรื่องดังกล่าวกับครอบครัวนั้น ก. ให้ข้อมูลว่า ตำรวจไม่ได้ขู่ว่าจะแจ้งเรื่องทั้งหมดให้พ่อแม่ของ ก.ทราบ 

“ตำรวจบอกกับผมว่า ห้ามแจ้งเรื่องนี้ให้คุณพ่อคุณแม่ทราบเด็ดขาด ถ้าจะแจ้งหรือจะโทรหาคุณพ่อคุณแม่ให้โทรหาต่อหน้าตอนที่ตำรวจอยู่ด้วย แล้วตำรวจจะร่วมคุยด้วย สุดท้ายผมจึงยังไม่ได้แจ้งเรื่องให้คุณพ่อคุณแม่ทราบ”

ตะล่อมขอรหัสเฟซบุ๊กเพื่อยึดเพจ

ในช่วงท้ายของการพูดคุยตำรวจพยายามขอรหัสผ่านเพื่อเข้าสู่ระบบเฟซบุ๊กของ ก. อีกครั้ง โดยอ้างว่า ต้องเข้าระบบเฟซบุ๊กเพื่อยึดเพจ XXX ของ ก.ไปเป็นของตำรวจ แล้วจะคืนบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวให้ จากนั้น ก.ค่อยเปลี่ยนรหัส ทั้งหมดนี้ต้องการเพียงแต่ยึดเพจไปเท่านั้น ไม่ได้จะเอาเฟซบุ๊กไปทำอย่างอื่น 

ก.ตัดสินใจยินยอมทำตามที่ตำรวจอ้าง โดยให้รหัสเฟซบุ๊กกับตำรวจไปเพื่อให้ตำรวจยึดเพจ โดยตำรวจได้ทำการเปลี่ยนตัวผู้ดูแลเพจโอนไปให้บัญชีผู้ใช้ของตำรวจแล้วปลด ก.ออกจากผู้ดูแลเพจ จากนั้นคืนบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวให้กับ ก. และให้เปลี่ยนรหัส 

ถึงวันที่พูดคุยกับไอลอว์คือ 1 กันยายน 2563 เพจดังกล่าวยังเปิดอยู่ แต่ ก.ไม่ได้เป็นผู้ดูแลเพจแล้ว และไม่เห็นว่าเพจดังกล่าวมีความเคลื่อนไหวใดๆ ตั้งแต่วันที่ถูกยึดไป

เมื่อถามเพิ่มเติมถึงเหตุผลที่ยินยอมให้รหัสผ่านเฟซบุ๊กกับตำรวจ เป็นเพราะความกลัวใช่หรือไม่?

“เป็นเพราะการพูดของตำรวจที่ไม่ชัดเจนมากกว่า ตำรวจพยายามข่มขู่ก่อนว่าที่โพสต์เนี่ยมันผิดนะ แต่ก็ไม่ได้พูดตรงๆ ว่าจะดำเนินคดีกับผม ในช่วงแรกตำรวจขอรหัสเฟซบุ๊กบอกว่า ต้องให้นะ! ผมยืนยันว่าผมไม่ให้ เขาขอรหัสอีเมลบอกว่า ต้องให้นะ! ผมก็บอกว่าผมไม่ให้ แต่ในช่วงสุดท้ายเขาพยายามเน้นและพูดซ้ำๆ ว่าสิ่งที่ผมทำนั้นผิด พอผมเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่ผมทำอาจจะผิดตามที่เขาพูด เขาก็เริ่มกลับมาขอพวกรหัสผ่านใหม่ และในที่สุดผมก็ตัดสินใจให้ไป”

เสร็จกระบวนการ ชวนไปกินข้าว

“หลังจากพวกเขาให้ผมเซ็นเอกสารทั้งหมด และคืนมือถือให้กับผมก็เสร็จสิ้นกระบวนการ ตำรวจชวนผมไปกินข้าวต่อด้วย ผมก็ตกลงไปกินข้าวกับเขา” ก.เล่า

เมื่อถามว่าไปกินข้าวกับตำรวจมีเพื่อนไปด้วยหรือไม่?  

“ผมไปคนเดียว นอกนั้นเป็นตำรวจทีมเขาหมดเลยทั้งโต๊ะ การไปกินข้าวกับเขาก็ทำให้ผมได้รู้ว่าจริงๆ แล้วตำรวจทีมนี้เขามากันมากกว่า 10 คน เขาจองโต๊ะที่กินข้าวไว้จำนวนมากกว่านั้น พอขึ้นบนรถผมก็ได้ถามตำรวจว่ามากันจากที่ไหน แล้วมากันอย่างไร ตำรวจก็ตอบตามตรงว่า ทีมนี้มากันจากกรุงเทพฯ ขับรถตรงมาเลย 10 ชั่วโมงเพื่อมาคุยกับน้องแค่นี้เลย พูดคุยกับน้องเสร็จก็จะขับรถกลับกันเลย” 

“ส่วนรถที่เขาขับมากันนั้น ผมนั่งรถคันหนึ่งของเขาไปร้านข้าวเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลธรรมดานี่แหละครับ ไม่มีสัญลักษณ์อะไรเกี่ยวกับตำรวจเลย ผมก็นั่งทานข้าวร่วมกับเขาประมาณ 1 ชั่วโมงก็ขอตัวกลับก่อน หัวหน้าทีมเขาก็ให้ลูกน้องไปส่งผมที่หอพัก ลูกน้องเขาก็เดินตามมาส่งผมถึงหอพักเลย” ก.เล่า