วัดอุณหภูมิ รวมทุกความเคลื่อนไหวก่อนชุมนุมใหญ่ 19 กันยา

IMG_0881222

ยิ่งใกล้วันนัดชุมนุมใหญ่ 19 กันยายน สถานการณ์ยิ่งงวดเข้า ฝ่ายต่างๆ ออกมาแสดงจุดยืน ทั้งฝ่ายต้าน-ฝ่ายหนุน และฝ่ายรัฐ ไอลอว์จึงรวบรวมความเคลื่อนไหวต่างๆ นับตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน – 17 กันยายน 2563 มานำเสนอ ดังนี้

8 กันยายน – พรรคโดมปฏิวัติจัดกิจกรรมแรกพบ(สหาย)

17.00 น. มีกิจกรรมแรกพบสหาย (First Meet) ของพรรคโดมปฏิวัติ ซึ่งเป็นพรรคของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่มี รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ เพนกวิ้น-พริษฐ์ ชิวารักษ์​ ร่วมทำงานด้วย ได้โพสต์เฟซบุ๊กโดยระบุว่ากิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากนักศึกษาจำนวนมาก รวมถึงมีตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวนไม่น้อยร่วมสังเกตการณ์ 

เฟซบุ๊ก Panusaya Sithijirawattanakul ยังระบุว่า นอกจากเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจะมาร่วมสังเกตการณ์ในกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ยังมีบางส่วนตามคณะผู้จัดงานไปถึงหน้าร้านอาหารที่พวกเขาเดินทางไปกินหลังเลิกงาน พร้อมตั้งคำถามว่าพรรคโดมปฏิวัติเป็นพรรคการเมืองในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการทำงานของนักศึกษา เจ้าหน้าที่จะเข้ามาคุกคามทำไม 

9 กันยายน – ธรรมศาสตร์และการชุมนุมแถลงข่าวจัดชุมนุม 19 กันยา

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมตั้งโต๊ะแถลงข่าว ที่บริเวณหน้าตึกโดม มธ.ท่าพระจันทร์ เพื่อชี้แจงรายละเอียดการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 กันยายน 2563 โดยประกาศการชุมนุมใหญ่ในชื่อ “19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” การชุมนุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ของแนวร่วมฯ หลังจากการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ มธ.ศูนย์รังสิต ซึ่งมีการกล่าวถึง 10 ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นครั้งแรก

แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ชี้แจงว่า 

– เรียกรวมพลตั้งแต่เวลา 14.00 น. ที่ มธ. ท่าพระจันทร์ โดยเลือกพื้นที่นี้เพราะเห็นว่าเป็นสถานที่สัญลักษณ์ของขบวนการประชาธิปไตยมาอย่างยาวนานจนเรียกได้ว่าเป็นป้อมปราการของประชาธิปไตย

– ยืนยันปักหลักค้างคืนก่อนและเดินขบวนใหญ่ในวันรุ่งขึ้น (20 กันยายน เวลา 8.00 น.) เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล 

– กรณีมีผู้ชุมนุมมากจะเคลื่อนขบวนไปใช้สนามหลวงเป็นที่ชุมนุมแทน เพราะสนามหลวงเป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้จัดการชุมนุมและพักผ่อนหย่อนใจมาตั้งแต่อดีต การไปใช้พื้นที่สนามหลวงเป็นการยึดคืนสนามหลวง และอาจปิดถนนราชดำเนินกลางตั้งแต่ธรรมศาสตร์ไปจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อให้ “ราษฎรมาดำเนิน” และใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองร่วมกัน 

ไมค์-ภาณุพงษ์ จาดนอก หนึ่งในแกนนำฯ ระบุว่าทางกลุ่มได้ศึกษามาแล้วว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีความชอบธรรมในการดำเนินคดีกับประชาชน อีกทั้งตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ก็ไม่ได้ระบุว่าห้ามให้มีการชุมนุมในเขตโบราณสถาน หากเจ้าหน้าที่เห็นว่าสนามหลวงไม่ใช่พื้นที่สาธารณะก็ทำให้สนามหลวงไม่เข้าเงื่อนไขว่าต้องขออนุญาตจัดการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไปด้วย

10 กันยายน – มธ.ให้จัดชุมนุมได้ตามกรอบกฎหมาย, ตร.ย้ำไม่ใช้แผนกรกฎ 52, ไทยภักดีล่าชื่อค้านแก้ รธน.

มธ.ออกประกาศเรื่องแนวทางการอนุญาตจัดชุมนุมทางการเมืองของนักศึกษาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย มีเนื้อหาระบุว่า 

1. การใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อจัดชุมนุมทางการเมืองภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ 

2. การจัดชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่มหาวิทยาลัยต้องจัดโดยกลุ่มที่สังกัดมหาวิทยาลัยหรือคณะ หากเป็นกลุ่มอิสระหรือกลุ่มเฉพาะกิจจะต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษารองรับ และต้องได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัยแล้วเท่านั้น 

3. เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการจัดชุมนุมทางการเมืองให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและปลอดภัย ต้องให้มีการตกลงร่วมกันระหว่างนักศึกษา ผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบ และมหาวิทยาลัย 

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มอบหมายให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแถลงต่อสื่อมวลชนถึงมาตรการรับมือชุมนุมใหญ่ โดยกล่าวว่าในระดับปฏิบัติการไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ แต่มีการกำชับให้เจ้าหน้าที่อดทนและอย่าใช้ความรุนแรง นายกฯ เป็นห่วงเรื่องการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ประเมินแล้วว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่มีความกังวลต่อการสร้างสถานการณ์จากมือที่สาม และย้ำว่าจะไม่ใช้แผน “กรกฎ 52” เพื่อควบคุมการชุมนุมตามที่มีข่าวลือก่อนหน้า

ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และคณะผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มไทยภักดี แถลงข่าวเวลา 11.00 น. เปิดตัวการคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญพร้อมประกาศเชิญชวนประชาชนลงนามผ่าน Google Form อย่างน้อย 50,000 รายชื่อเพื่อยื่นต่อสภา ต่อมาเวลา 21.00 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจไทยภักดี ประเทศไทย โพสต์ประกาศว่า 10 ชั่วโมงหลังประกาศเชิญชวนก็รวบรวมรายชื่อผู้คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญได้เกิน 50,000 รายชื่อแล้ว อย่างไรก็ตาม ในทางกฎหมาย การจะยื่นรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อสภา จะต้องทำผ่านเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรและมีสำเนาบัตรประชาชนเท่านั้น 

11 กันยายน – อาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มยืนยันเซ็นรับรองแล้ว ไม่เห็นด้วย มธ.ปิดรั้ว

15.00 น. แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมตั้งโต๊ะแถลงข่าวตอบโต้ต่อประกาศของมหาวิทยาลัยที่จะไม่ให้ใช้สถานที่โดยให้เหตุผลว่าแนวร่วมฯ ไม่ได้ปฏิบัติตามแนวทางที่มหาวิทยาลัยประกาศไว้ก่อนหน้ารวมถึงหนังสือขออนุญาตจัดชุมนุมที่ส่งมาก่อนหน้าไม่เข้าเงื่อนไขให้จัดชุมนุมได้ อย่างไรก็ตาม ผู้จัดกิจกรรมตั้งใจเดินหน้าจัดการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เหมือนเดิม ไม่มีเปลี่ยนแปลง และจะต้องปราศรัยเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ในวันแถลงข่าวปนัสยายังได้วางพวงหรีดเพื่อแสดงความอาลัยต่อจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ที่บริเวณอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ ปนัสยาระบุว่า จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ หมายถึงการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ความดีงาม และเพื่อประชาธิปไตย ดังนั้นการที่ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมีนโยบายไม่ให้จัดชุมนุมจึงเท่ากับการผลักนักศึกษาออกไปชุมนุมภายนอกมหาวิทยาลัยและต้องเผชิญกับอันตราย 

ปนัสยาระบุว่า การจัดชุมนุมในพื้นที่มหาวิทยาลัยครั้งนี้มี รศ.ดร. อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เป็นผู้ลงนามรับรอง และมีการทำหนังสือถึงมหาวิทยาลัยเพื่อแจ้งขอใช้สถานที่ แจ้งรายชื่อผู้ปราศรัย รวมถึงแจ้งเนื้อหาการปราศรัยแล้ว แต่ไม่เคยได้รับเชิญจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยเพื่อร่วมพูดคุยเลยสักครั้ง 

ด้าน รศ.ดร. อนุสรณ์ อุณโณ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มนี้โพสต์เฟซบุ๊ก ว่าไม่เห็นด้วยกับการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่อนุญาตให้กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมใช้สถานที่และขอให้ทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกัน เพราะไม่อยากเห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยและมาเสียใจกันในภายหลัง

อนุสรณ์ตั้งคำถามต่อประกาศดังกล่าวของ มธ. ว่า 

1. ข่าวประชาสัมพันธ์ให้เหตุผลแต่เพียงกว้างๆ ไม่ได้ระบุอย่างจำเพาะเจาะจงว่าการขออนุญาตไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขข้อใด ผู้จัดชี้แจงครบเกณฑ์ทุกข้อ จะขาดแต่เพียงข้อการตกลงร่วมกัน 3 ฝ่ายซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ไม่สามารถดำเนินการได้หากว่ากลุ่มยังไม่ได้รับอนุญาตให้จัดการชุมนุมเสียก่อน

2. มหาวิทยาลัยไม่ได้สอบถามหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมจากกลุ่มรวมถึงอาจารย์ที่ปรึกษาก่อนจะมีมติและแจ้งผลผ่านข่าวประชาสัมพันธ์ ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินการที่ค่อนข้างจะรวบรัดตัดความ ไม่ได้วางอยู่บนท่าทีที่จะอำนวยความสะดวกหรือประสานความร่วมมือกัน เว้นเสียแต่ว่าจะมองอีกฝ่ายเป็น “คนอื่น” “คนไกล” หรือมีมติที่จะปฏิเสธอยู่ก่อนแล้ว  

3. การปฏิเสธดังกล่าวสร้างเงื่อนไขการเผชิญหน้าตั้งแต่ยังไม่มีการชุมนุม หากประเมินจากจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมครั้งล่าสุดบวกกับกระแสการจะเข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ซึ่งมีจำนวนมาก ก็เป็นไปได้สูงที่จะมีการกระทบกระทั่งบานปลายหากมีการปิดมหาวิทยาลัยหรือใช้กำลังเจ้าหน้าที่ขัดขวาง 

12 กันยายน – มธ.ท่าพระจันทร์ เปลี่ยนไปเรียนออนไลน์ ในวันที่ 19-20 ก.ย.

นักศึกษาปริญญาโทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับแจ้งว่ารายวิชา TU005 ภาษาอังกฤษเบื้องต้น ที่ปกติแล้วจะสอนในวันเสาร์และอาทิตย์ ในวันที่ 19-20 กันยายนนี้จะเปลี่ยนจากการสอนในห้องเรียนมาเป็นการสอนออนไลน์แทน โดยแจ้งว่าเป็นนโยบายเรื่องความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

13 กันยายน – เจ้าหน้าที่บุกบ้านแกนนำกลุ่มอื่น, ตั้งกลุ่ม “ประชาชนคนไทย” 

มีเจ้าหน้าที่ทั้งใน และนอกเครื่องแบบเดินทางไปยังที่พักของ กัญจน์ ทัตติยกุล หนึ่งในเครือข่ายเพื่อนตะวันออก ผู้ทำงานขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เพื่อสอบถามว่าจะเดินทางไปร่วมชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 หรือไม่ 

ในวันเดียวกัน กลุ่มประชาชนคนไทยเข้ายื่นหนังสือต่อผู้จัดการมูลนิธิ 14 ตุลา เพื่อขอใช้สถานที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัวประชุมก่อตั้งกลุ่มประชาชนคนไทย และเตรียมแถลงข่าวในวันที่ 14 ก.ย. นำโดยพิชิต ไชยมงคล อดีตแกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) หนังสือระบุว่า 

“ตามสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเกิดการแสดงออกทางการเมืองหลายกลุ่ม และมีการเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มตามแนวทางของตน แต่ปรากฏข้อเท็จจริงตามสื่อว่ามีประเด็นข้อสงสัยในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบางกลุ่มว่ามีต่างชาติเข้ามาให้การสนับสนุน เกรงว่าการสนับสนุนดังกล่าวจะนำไปสู่ความุรนแรงและจะก่อความเสียหายให้กับประเทศชาติและประชาชนไทย จากการประชุมกันหลายภาคส่วน จึงได้ก่อกำเนิดกลุ่มบุคคลผู้ห่วงใยประเทศชาติบ้านเมืองรวมตัวกันในนาม “กลุ่มประชาชนคนไทย” เพื่อร่วมกันแสดงออกถึงความห่วงใยประชาชนประเทศชาติไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรงในหมู่คนไทย และร่วมแสวงหาความร่วมมือเพื่อนำพาประเทศชาติไปสู่สังคมสงบสุข” 

14 กันยายน – ตร.ใช้ 2 กองร้อยดูแลทำเนียบ – สื่อออกแถลงการณ์ แจกปลอกแขน

สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แถลงผลสำรวจซูเปอร์โพลระบุว่าประชาชนยังเชื่อมั่นต่อการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนการชุมนุมของนักศึกษาเป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่งที่มีความเห็นต่างทางการเมือง แต่เชื่อว่าประชาชน 80-90% ยังคิดเรื่องการค้าขาย ปากท้อง การจ้างงานมากกว่าและไม่น่าเห็นด้วยกับการชุมนุม

ด้านรายงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติชี้แจงสื่อมวลชนว่า กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมยังไม่ได้เข้าแจ้งการชุมนุม 19 กันยายน ส่วนตำรวจอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์ทางการข่าวและจะใช้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เป็นศูนย์หลักอาจใช้เพียง 2 กองร้อย จะตั้งจุดสกัดในคืนวันที่ 19 กันยายนเพื่อระวังเหตุร้ายและรักษาความปลอดภัย หากกำลังตำรวจไม่พอก็จะขอรับการสนับสนุนเจ้าหน้าที่จากเขตปริมณฑล บช.น. ย้ำว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้เตรียมสลายการชุมนุม

พ.ต.อ.วัชรวีร์ ธรรมเสมา ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 3 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลให้สัมภาษณ์ว่า ตำรวจได้จัดเตรียมกำลังตำรวจสันติบาล 3 กับสันติบาลทำเนียบฯ รวม 2 กองร้อย หรือ 300 นายเพื่อดูแลภายในทำเนียบฯ โดยเฉพาะตึกไทยคู่ฟ้า และตึกบัญชาการ 1 ซึ่งถือเป็นเขตหวงห้ามเด็ดขาดซึ่งจะดูแลความเรียบร้อยตลอด 24 ชม. ตั้งแต่วันที่ 19-20 ก.ย. ส่วนภายนอกรั้วทำเนียบฯ จะอยู่ในการดูแลของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับเป็นพิเศษว่าไม่อยากให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาบริเวณรอบทำเนียบ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดว่าต้องมีระยะห่างจากทำเนียบ 50 เมตรหรืออยู่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ และได้แจ้งกำลังพลว่า หากมีผู้ชุมนุมพยายามบุกรุกเข้ามาในทำเนียบ เบื้องต้นให้เจรจาก่อนแล้วจึงใช้มาตรการขั้นต่อไป

พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงการใช้พื้นที่สนามหลวงว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตั้งปี 2555 หากเข้ามาใช้พื้นที่อาจถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายได้ รวมถึงการเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล หากมีการบุกรุกสถานที่ก็ผิดกฎหมายเช่นกัน

ด้าน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ออกแถลงการณ์ร่วมเรื่อง การรายงานข่าวในสถานการณ์การชุมนุม มีรายละเอียดสรุปว่า 6 องค์กรวิชาชีพมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ โดยได้รับการสะท้อนปัญหาจากสื่อมวลชนผู้ปฏิบัติหน้าที่ภาคสนาม จึงมีข้อเรียกร้องต่อทุกฝ่าย พร้อมทั้งจัดตั้ง ‘ศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม’ (ศปสช.) ทำหน้าที่ประสานงานด้านการรักษาความปลอดภัยและด้านอื่นๆ ที่จำเป็นและจัดทำ “ปลอกแขนสัญลักษณ์” ให้สื่อที่ลงสนาม

1. ขอให้ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่สื่อในพื้นที่

2. ขอให้สื่อยึดมั่นในหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เปิดพื้นที่ให้การรายงานข่าวทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม 

3. ขอให้กองบรรณาธิการของสำนักข่าวดูแลสวัสดิภาพและสวัสดิการที่เหมาะสม 

15 กันยายน – แก้วสรรคัดค้านเปิดรั้ว มธ. ส่วนนักเขียนเรียกร้องให้เปิดรั้ว

แก้วสรร อติโพธิ และศิษย์เก่า มธ.กว่า 30 คนในนามกลุ่มประชาคมธรรมศาสตร์ยื่นหนังสือคัดค้านการเปิดพื้นที่มหาวิทยาลัยให้กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พร้อมแนบรายชื่อศิษย์เก่า 2,966 รายชื่อให้แก่อธิการบดี

แก้วสรรยังแถลงสนับสนุนอธิการบดีที่ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ มธ.เพราะการใช้เสรีภาพในการชุมนุมครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิที่ยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นการเคลื่อนไหวสร้างความเปลี่ยนแปลงให้บ้านเมืองโดยไม่รับผิดชอบ ไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น ตลอดจนสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่นำไปสู่ความจงเกลียดจงชังและปลุกปั่นให้คนไทยแตกหัก อย่างไรก็ตาม อธิการบดีไม่ได้ลงมารับหนังสือโดยให้เหตุผลว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติ 

ด้านเฟซบุ๊กแฟนเพจสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ แชร์โพสต์ของคนรุ่นใหม่คนหนึ่ง ระบุที่มาจากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 กรมประชาสัมพันธ์ (เครดิตต่อ อัษฎางค์ ยมนาค) ว่า “ผมเป็นเด็กรุ่นใหม่อายุ 19 ปี ที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันเบื้องสูงด้วยใจที่ล้นเปี่ยม ไม่ได้รักเพียงเพราะครูสอนหรือที่บ้านสอนให้รัก แต่รักและภักดีจากการที่ได้สัมผัสได้ด้วยตัวเอง” นอกจากนั้นยังมีข้อความประกอบรูปภาพที่เล่าเรื่องถึงประสบการณ์ที่คนรุ่นใหม่ดังกล่าวมีต่อสถาบันกษัตริย์ 

ด้านศูนย์ประสานงานนักศึกษาอาชีวะประชาชนปกป้องสถาบันพระกษัตริย์ (ศอปส.) ประกาศนัดรวมพลแสดงพลังปกป้องสถาบันกษัตริย์วันที่ 17 กันยายนหน้าสมาคมชาวปักษ์ใต้ ถ.กาญจนาภิเษก พร้อมแจงแผนจะเดินไปปักหลักชุมนุมด้วยที่หน้าบริษัท ไทยซัมมิท ทาวเวอร์ ถ.เพชรบุรี และหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ถ.วิทยุ และจะมีการชุมนุมย่อยระหว่างวันที่ 16-18 กันยายน 

ในวันเดียวกัน เวลา 14.00 น. กลุ่มนักเขียน บรรณาธิการ ศิลปิน สื่อมวลชน และประชาชนผู้เชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย นำโดย Way Magazine เดินทางไปอ่านแถลงการณ์ที่ลานปรีดี พนมยงค์ และยื่นรายชื่อ 1,964 รายชื่อแนบให้แก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยแถลงการณ์มีเนื้อหาสรุปความได้ว่า

1. ยืนยันว่าข้อเรียกร้องทางการเมือง 3 ข้อ ได้แก่ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยุบสภา และความฝันในการอยู่ร่วมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงความเคลื่อนไหวให้ปฏิรูประบบการศึกษา ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีเนื้อหาส่วนใดละเมิดกฎหมาย ขอเรียกร้องให้รัฐและผู้เห็นต่างโต้แย้งด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริง เหตุผล และหยุดละเมิดเยาวชน

2. ขอเรียกร้องให้คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พิจารณาทบทวนเปิดพื้นที่ให้เยาวชนและประชาชน แทนการปิดกั้นผลักไสให้ออกไปรับความเสี่ยงนอกรั้วมหาวิทยาลัย

3. เรียกร้องสื่อมวลชนและขอความร่วมมือจากผู้สนใจติดตามข่าวสารช่วยกันตรวจสอบข้อมูลหลักฐาน ร่วมกันยับยั้งแก้ไขข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ 

ด้านเอกชัย หงส์กังวาน เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมารับมอบหนังสือเพื่อขอให้เปลี่ยนสนามหลวงเป็นสวนสาธารณะ เอกชัยร้องให้รัฐบาลถอนสนามหลวงออกจากเป็น “โบราณสถาน” เนื่องจากเป็นเพียงแค่ที่โล่งกว้าง ไม่เข้านิยามตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน และเรียกร้องให้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าใช้ได้โดยทั่วไป

ด้านคณะผู้รักสถาบันพระมหากษัตริย์และทำหน้าที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ นำโดยชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย สมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย และชมรมชาวปักษ์ใต้ รวมตัวกันที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อชี้แจงจุดยืนการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในสถานการณ์ปัจจุบัน ระบุว่าไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งกับกลุ่มของนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว​ทางการเมือง เพราะมองว่าเป็นสิทธิ​และเสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย​ และจะวิพากษ์วิจารณ์​พรรคการเมือง​ใดก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่สิ่งที่ทางเครือข่ายฯ ​ยอมไม่ได้คือการพาดพิงสถาบัน โดยมี สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มารับข้อชี้เเจง

16 กันยายน – เจ้าของรถห้องน้ำขอยกเลิก, ศาล รธน.รับวินิจฉัยชุมนุม 10 ส.ค.ล้มล้างการปกครองหรือไม่

เฟซบุ๊กแฟนเพจไทยภักดี ประเทศไทย แถลงความคืบหน้าการรวบรวมรายชื่อผู้คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญว่าใช้เวลาเพียง 5 วันสามารถรวมรายชื่อได้ถึง 172,589 ราย ก่อนประกาศเชิญชวนให้ประชาชนผู้สนใจร่วมเดินทางไปยื่นรายชื่อผู้คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานวุฒิสภาที่รัฐสภา ในวันที่ 23 กันยายน เวลา 9.00 น. ขณะที่ไอลอว์ซึ่งเป็นองค์กรรวบรวมรายชื่อประชาชนที่ต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตามช่องทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ นัดหมายจะยื่น 70,000 กว่ารายชื่อต่อรัฐสภา ในวันที่ 22 กันยายน เวลา 14.00 น.

ด้านห้องสมุดทุกแห่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาท่าพระจันทร์ ประกาศปิดให้บริการในวันที่ 19 – 20 กันยายน โดยให้เหตุผลว่าในวันดังกล่าวไม่มีการจัดการเรียนการสอนในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย

ด้านเฟซบุ๊กปกรณ์ พรชีวางกูร โพสต์รายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปพูดคุยกับเจ้าของรถห้องน้ำ 2 เจ้า ที่ตนเคยใช้บริการในงานชุมนุม พร้อมระบุว่าตนไม่ได้ขอรถห้องน้ำทั้ง 2 เจ้ามาฟรีแต่เสียเงินให้ และผู้ให้บริการรถห้องน้ำไม่ได้รู้เรื่องใดเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ 

ด้านเฟซบุ๊กสื่อเถื่อนโดยธัชพงศ์ แกดำ โพสต์ข้อความไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาใช้พื้นที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาขอใช้พื้นที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เพื่อพักค้างคืนระหว่างวันที่ 18-21 กันยายน ธัชพงศ์อธิบายต่อไปว่าตนได้ติดต่อขอใช้พื้นที่อนุสรณ์สถานก่อนแล้วในวันดังกล่าวจึงไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ใช้สถานที่ร่วมด้วยเพราะเกรงจะไม่สะดวก 

ด้านเฟซบุ๊กหนึ่ง รูปหล่อ โพสต์ข้อความว่า มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 4-5 คน เดินทางไปยังที่พักของ อาทิตย์ ขวัญยืน นักกิจกรรมประชาธิปไตย จังหวัดแพร่ เพื่อสอบถามว่าอาทิตย์จะเดินทางไปร่วมชุมนุมในวันที่ 19 กันยายนด้วยหรือไม่ การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่เป็นการคุกคามประชาชนเพียงเพราะเขาใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย 

ด้านศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย อานนท์ นำภา, ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก และ รุ้ง- ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ว่าการจัดชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ หลัง ณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 49 วรรค 2 ไปตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2563 

16 กันยายน – สนามหลวงติดป้ายใหม่ เวลาเปิด-ปิด

ขณะเดียวกัน มีรายงานจากผู้สัญจรไปมาว่าป้ายเขตพระราชฐานได้ถูกปลดออกจากสนามหลวงแล้ว ต่อมาสุรเดช อำนวยสาร ผู้อำนวยการเขตพระนคร เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่าตนไม่ทราบข้อเท็จจริงเรื่องการปลดป้ายเขตพระราชฐานออก แต่เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมานั้น สำนักงานเขตพระนครในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่ได้ให้เจ้าหน้าที่นำป้ายอนุญาตการเข้าใช้พื้นที่ของประชาชน ตั้งแต่เวลา 05.00 – 22.00 น. เข้าไปติดประกาศในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นการดำเนินตามประกาศของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2555 ที่อนุญาตให้ประชาชนเข้าไปออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ หรือทำกิจกรรมสันทนาการได้อยู่แล้ว 

อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตการณ์พบว่าในวันที่ 17 กันยายน เวลาประมาณ 17.00 น. ยังคงมีป้ายเขตพระราชฐานติดอยู่ที่บริเวณข้างสนามหลวง แต่ก็ได้เปิดพื้นที่เพื่อให้ประชาชนเข้าไปทำกิจกรรมด้านในได้ตามที่ผู้อำนวยการเขตพระนครกล่าวไว้ 

ด้านกลุ่มเพชรบุรี-ราชบุรี รวมใจ ปกป้องสถาบันฯ ออกใบปลิวแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่เพื่อขอความร่วมมือผู้ปกครองช่วยกันดูแลบุตรหลาน-นักเรียน ไม่ให้เดินทางไปร่วมการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน โดยให้เหตุผลว่าอาจนำไปสู่อันตรายกับผู้ร่วมชุมนุมได้ จึงขอให้ผู้ปกครองช่วยกันกวดขันดูแลบุตรหลานให้อยู่ในสายตาอย่างปลอดภัย

ด้านเครือข่ายกองทัพธรรมปฏิวัติสังคมนิยม วิถีพุทธ เพื่อประชาธิปไตย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง (คกธปสวพปชต) ออกแถลงการณ์อวยพรแก่มหาชนให้มีชัยชนะอันสิริในการชุมนุมวันที่ 19 กันยายนนี้ โดยลงท้ายแถลงการณ์ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นความไม่เป็นธรรม ผู้นั้นพวกเรา จบแถลงการณ์ เจริญพร” 

ด้านประชาไทรายงานว่าได้รับแจ้งจากนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยไทบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาที่ ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา สังกัดอยู่ ให้ข้อมูลพร้อมทั้งภาพถ่ายและคลิปวิดีโอว่ามีรถมิตซูบิชิสีแดง ไม่ได้ติดป้ายทะเบียนทั้งด้านหน้าและด้านหลังขับมาจอดที่บ้านซึ่งไผ่ จตุภัทร์ และเพื่อนๆ นักกิจกรรมได้เช่าไว้เป็นที่พัก โดยรถได้มาจอดตั้งแต่เวลาประมาณ 14.00 – 18.30 น. โดยไม่ได้ดับเครื่อง และได้มีชายอายุประมาณ 30 ปี ผมสั้นเกรียน 1 คน และผมยาว 1 คน ได้ลงมานั่งดื่มน้ำที่ร้านอาหารข้างๆ บ้าน ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มประชาธิปไตยไทบ้านมั่นใจว่า การคุกคามที่เกิดขึ้นมาจากกิจกรรม “มีหมายที่ไหน มีม็อบที่นั่น กินก้อยหน้าโรงพัก” ที่ได้จัดขึ้นที่หน้า สภ.เมืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา 

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแลศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (พีม็อก) ทั้งหมด โดยจัดให้มีการมอนิเตอร์สถานการณ์และบรรยากาศการชุมนุมในวันที่ 19 – 20 กันยายนตลอด 24 ชม. ไม่เพียงเท่านั้น ผู้สื่อข่าวจากทำเนียบรัฐบาลยังรายงานว่า ทำเนียบรัฐบาลเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ชุมนุมใหญ่ โดยตั้งแต่วันที่ 17 กันยายนจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลเข้าประจำการในทำเนียบรัฐบาลจำนวน 3 กองร้อย และขณะนี้มีการติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มเติมบริเวณทำเนียบและตามตึกสูงโดยรอบ รวมถึงติดตั้งเครื่องปั่นไฟสำรองจำนวน 3 คันเผื่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน 

ด้านคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกประกาศงดการเรียนการสอน และงดติดต่อในวันที่ 19-20 กันยายน โดยเนื้อความระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าขอความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้งดการจัดการเรียนการสอนและงดการติดต่อในวันที่จะมีการชุมนุมใหญ่ และให้มหาวิทยาลัยปิดประตูรั้วเข้า-ออกทางฝั่งสนามหลวง ซึ่งติดกันกับคณะนิติศาสตร์ โดยให้เข้า-ออกได้เพียงประตูเดียวคือประตูฝั่งถนนพระอาทิตย์ และให้ทุกคนที่จะเดินทางผ่านต้องแสดงบัตรประจำตัวที่ราชการออกให้เพื่อระบุตัวตน 

ต่อมา มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว ระบุว่า “บันทึกดังกล่าวเป็นเพียงการแจ้งให้ทราบถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และของคณะนิติศาสตร์เท่านั้น จากการที่ผมได้เข้าร่วมประชุมกับอธิการบดี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและผู้บริหารของคณะต่างๆ เพื่อหารือแนวทางในการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ชุมนุมและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ขอยืนยันว่า แม้มหาวิทยาลัยจะยังไม่ได้อนุญาตให้นักศึกษาจัดการชุมนุม เนื่องจากยังไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยเคยประกาศไว้ก่อนหน้า แต่อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่เคยมีนโยบายหรือความประสงค์ที่จะขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้กฎหมายของนักศึกษาหรือบุคคลใดทั้งสิ้น การกำหนดมาตรการความปลอดภัยทั้งหลาย ก็เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ชุมนุมและบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่อยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าวจะได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในส่วนของคณะนิติศาสตร์ การปิดอาคารเรียนและที่ทำการของคณะนิติศาสตร์ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลเข้าไปภายในอาคารโดยเฉพาะบริเวณที่สูงเพื่อก่ออันตรายหรือสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการ คณะนิติศาสตร์ยังคงเปิดพื้นที่ด้านล่างโดยเฉพาะห้องสุขาตามปกติ”

17 กันยายน – เจ้าหน้าที่บุกบ้านไผ่ ดาวดิน, ประยุทธ์ชี้เคารพทุกความเห็นแต่ขอให้โควิดหมดก่อนค่อยชุมนุม

พันธมิตรนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยประกาศชวนประชาชนรวมตัวกันที่สวนลุมพินี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ พร้อมระบุเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ของเยาวชนช่วยชาติและแนวร่วมหลายเครือข่าย จึงขอเชิญชวนพี่น้องมวลชนที่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ร่วมสู้ปักหลักแบบไม่ได้กำหนดเวลาเลิกพร้อมกันในเวลา 08.00 น. เป็นต้นไป ก่อนย้ำ “ปกป้องคนดี ปกป้องบ้านเมือง ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ #ประชาธิปไตยจอมปลอมจงพินาศ #ประเทศชาติจงเจริญ” 

ด้านกลุ่มประชาชนในนามศูนย์กลางประสานงานนักศึกษา อาชีวะ ประชาชน ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (ศอปส.) เดินทางด้วยรถยนต์มาชุมนุมบริเวณหน้าตึกไทยซัมมิท ถ.เพชรบุรี เพื่อประท้วงขับไล่และปราศรัยโจมตีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้าว่าอยู่เบื้องหลังการชุมนุมของนักศึกษาคณะประชาชนปลดแอก และมีความคิดล้มล้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก่อนตะโกนขับไล่ธนาธรออกจากประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมเดียวกันแยกตัวไปประท้วงที่หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกาโดยให้เหตุผลว่าประเทศดังกล่าวกำลังเป็นท่อน้ำเลี้ยงบสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มผู้รักประชาธิปไตยหลายกลุ่มในขณะนี้

ด้านหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศผ่านเฟซบุ๊ก Thammasat University Library ว่า  ในวันที่ 18 กันยายน ห้องสมุดสาขาทุกแห่งในศูนย์ท่าพระจันทร์จะปิดให้บริการภายในเวลา 20.00 น. โดยไม่มีการแจ้งเหตุผลที่ทำให้ห้องสมุดต้องปิดเร็วจากปกติที่จะปิดเวลา 21.00 น. 

ขณะเดียวกัน มีการเผยแพร่เอกสารผ่านโซเชียลมีเดียโดยบุคลากรในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า ในวันที่ 18 กันยายน ให้ทุกหน่วยงานในศูนย์ท่าพระจันทร์ 1. ให้บุคลากรทุกหน่วยงานออกนอกพื้นที่ของมหาวิทยาลัยก่อนเวลา 20.00 น. 2. ไม่อนุญาตให้นำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ส่วนตัวมาจอดค้างคืนในพื้นที่มหาวิทยาลัย 3. หากมีเหตุฉุกเฉินด้านรักษาความปลอดภัย สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 123, 3000 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมงในพื้นที่ท่าพระจันทร์ 

ด้านกลุ่มดาวดิน สามัญชนรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกบ้านจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน โดยเวลา 12.40 น. จตุภัทร์พยายามถามความชัดเจนจากเจ้าหน้าที่ว่าหมายค้นที่ออกโดยศาลจังหวัดขอนแก่นนี้เป็นหมายค้นเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานจากคดีใด แต่ตำรวจไม่สามารถตอบได้ในทันทีจึงทำให้เกิดการโต้เถียงกัน ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามยึดป้ายผ้ารณรงค์ของกลุ่มดาวดินที่เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่เคยใช้ในการชุมนุมก่อนหน้า ไผ่ไม่ยินยอมให้ยึดป้ายด้วยความไม่ชัดเจนของตำรวจ และต้องการให้เจ้าหน้าที่แจกแจงว่าป้ายใดที่ต้องการยึดไปประกอบการสอบสวนไม่ใช่ยึดรวมทั้งหมด สุดท้ายไผ่ไม่ยอมลงชื่อในบันทึกการค้น ระบุไม่ยอมรับกระบวนการที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเดินทางออกจากบ้านไผ่ในที่สุด 

ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกแถลงการณ์ห่วงชุมนุมเสี่ยงโควิด 19 ระบาดรอบใหม่ จนอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ยืนยันเคารพความคิดเห็นและความไม่พอใจทางการเมือง รวมถึงความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่อยากให้ทุกกลุ่มอดทนให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ไปก่อน นายกชี้ “ผมขอบอกทุกคนที่อยากจะออกมาชุมนุม ชัดๆ ว่า ผมได้ยินสิ่งที่ท่านพูด ผมรับทราบความคับข้องใจของพวกท่านในเรื่องการเมือง และความไม่พอใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ผมเคารพความคิดเห็น และความรู้สึกของท่าน แต่วันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเจ็บปวดเร่งด่วน ที่เราจำเป็นต้องจัดการก่อน นั่นคือการบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจที่โควิด 19 ได้ก่อให้เกิดขึ้นไปทั่วโลก เราไม่ควรทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งไปกว่านี้”