การเมืองเรื่อง ‘ตัวเลขผู้ชุมนุม’: ทดลองคำนวณใหม่ม็อบ กปปส.-14 ตุลา-16 สิงหา-19 กันยา

 

ระหว่างการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา เรามักเห็นนักวิเคราะห์หรือกลุ่มการเมืองต่างๆ ออกมาอ้างว่า ตัวเลขมวลชนของนักศึกษาแท้จริงมีไม่มาก ไม่เท่ามวลชน 14 ตุลาฯ ที่มีภาพมุมสูงแสดงให้เห็นคนแน่นถนนราชดำเนิน การประเมินตัวเลขผู้ชุมนุมให้แม่นยำเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ทำไมมันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ใครๆ ต้องเคลม?

คำตอบก็คือ ตัวเลขผู้ชุมนุมเป็นมาตรวัดความชอบธรรมและแรงสนับสนุนทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม เหมือนตัวเลขผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่การใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิและการแสดงออกทางการเมืองขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยที่มีวาระชัดเจนและเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก การชุมนุมจึงเป็นการออกเสียงทางการเมืองอีกรูปแบบที่กระทำได้บ่อยกว่า ดังปรากฏอยู่ตลอดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 

แม้ตัวเลขผู้ชุมนุมไม่ได้แปรผันตรงกับสัดส่วนผู้สนับสนุนในวันเลือกตั้งตลอดไปและมักน้อยกว่า แต่ผู้ชุมนุมคือผู้ที่สนับสนุนด้วยเสียงและเจตจำนงที่แรงกล้า เพราะการชุมนุมไม่เหมือนการออกมาต่อแถวเรียบร้อยเหมือนตอนรับบัตรเลือกตั้ง ผู้ชุมนุมต้องเดินทางไกลและแบกรับความเสี่ยงต่างๆ จากการแสดงออกทางความคิด ตัวเลขผู้ชุมนุมจึงเป็นมาตรวัดเจตจำนงทางการเมืองที่สำคัญ แต่ที่ผ่านมามักถูกหลายฝ่ายนำมาเล่นแร่แปรธาตุเวอร์วังอลังการจนกลายเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะไร้สาระไร้หลักการไปเสีย 

ชำแหละวาทกรรม ‘มวลมหาประชาชน’ ‘ยอดมวลชนเกินล้าน’

22 ธันวาคม 2556 เป็นวันนัดชุมนุมใหญ่เพื่อชัตดาวน์กรุงเทพฯ ของกลุ่ม กปปส. มีการปิดยึดพื้นที่การจราจรอย่างน้อย 5 จุดในกรุงเทพฯ วันนั้นผู้สื่อข่าวช่องบลูสกายทีวีอ้างการคำนวณของ ‘บริษัทมืออาชีพ’ ที่ใช้ ‘หลักสถาปัตยกรรม’ ว่า มีผู้ชุมนุมเข้าร่วมทั้งหมด 3,503,685 คน ในพื้นที่เปิดรวม 650,077 ตารางเมตร อันเป็นที่มาของวาทกรรม ‘กปปส. 3.5 ล้านร่วมชัตดาวน์กรุงเทพฯ’ นอกจากนี้ยังมีตัวเลข 5.8 ล้านคนที่สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ได้อ้างว่ามีวิศวกรคำนวณ แต่ไม่มีฝ่ายอื่นยืนยัน แต่ทั้งหมดนำมาสู่วาทกรรม “มวลมหาประชาชน” ซึ่งมียอดมวลชนเข้าร่วมหลายล้านคน 

ตัวเลขดังกล่าวถูกต้องจริงหรือ? 

การคำนวณตัวเลขผู้ชุมนุม เราควรทราบ ‘ขนาดพื้นที่’ การชุมนุมและ ‘ความหนาแน่น’ ของผู้คน ยิ่งละเอียดยิ่งดี แต่การย้อนคำนวณตัวเลข 3.5 ล้านทำได้ยากเพราะปัจจุบันนี้บทความที่ระบุตัวเลขนี้ของบลูสกายไม่สามารถสืบค้นได้แล้ว เหลือเพียงบทความสั้นๆ บนเว็บหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ รวมถึงกระทู้พันทิปที่รายงานวิธีการคำนวณตามที่ผู้ตั้งและคอมเมนต์กระทู้จำได้ กระทู้ดังกล่าวได้อ้างภาพข่าวหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าการคำนวณที่น่าจะไม่รัดกุมเพียงพอ 

ความไม่ชอบมาพากลก็คือ จำนวนพื้นที่ 650,077 ตารางเมตร ภาพในกระทู้แสดงให้เห็นว่าคิดพื้นที่ถนนแบบปูพรมลากตั้งแต่สุขุมวิทตลอดแนวยาวไปจนทองหล่อ โดยไม่ได้อ้างอิงกับพื้นที่ที่คนอยู่จริง และวางสมมติฐานว่ามีคนไม่ซ้ำหน้ากันอยู่ในพื้นที่พร้อมกันตลอดทั้งการชุมนุมในวันเวลานั้น เมื่อพยายามค้นหาภาพฝูงชนบนแนวยาวของสุขุมวิทก็ค้นไม่พบตามคำกล่าวอ้าง 

ความไม่ชอบมาพากลที่สองคือตัวเลข 3,503,685 ซึ่งได้มาจากการหารพื้นที่ถนนทั้งหมดด้วยตัวหารเพียง 0.18 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งเป็นขนาดพื้นที่ที่เพียงให้คนตัวเล็กๆ ยืนได้เท่านั้น และแออัดถึงขั้นไม่สามารถขยับตัวให้มีที่เดินแทรกได้ ไม่นับการนั่งที่ต้องใช้พื้นที่อย่างน้อย 0.25-0.30 ตารางเมตรสำหรับคนตัวเล็กๆ แต่นั่นก็เป็นพื้นที่ในการนั่งที่เล็กกว่ากระเบื้องสองฟุตอยู่ดี 

ฉะนั้น ตัวหารนี้จึงเป็นไปได้เพียงในทฤษฎี เป็นตัวหารที่ไม่เหมาะสมกับการชุมนุม เพราะภาพที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ก็ยังเห็นว่ามีช่องว่างให้คนเดินได้แม้ในพื้นที่ไข่แดงก็ตาม ดังนั้นสูตรคำนวณนี้อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงนัก 

แล้วคนชุมนุมจริงมีเท่าไร? 

หากเราใช้ตัวเลขพื้นที่ของ ‘บริษัทมืออาชีพ’ หารด้วยตัวหารที่ ‘มืออาชีพกว่า’ คือ 0.25 แทนที่จะเป็น 0.18 ตารางเมตรต่อคน เราก็จะได้ตัวเลขผู้ชุมนุมอย่างมากเพียง 2.5 ล้านคน ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขอย่างสูงที่เป็นไปได้ตามหลักการ แต่ก็อยู่บนพื้นฐานของพื้นที่ชุมนุมที่เกินจริง ฉะนั้นลืมตัวเลขของสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ได้ 

หากใช้ตัวหารพื้นที่ที่ปกติกว่านั้น แบบให้พื้นที่คนนั่งไม่ชนเข่า ให้คนยืนได้ขยับ ด้วยตัวหาร 0.5 ตารางเมตร ก็จะได้ตัวเลขเพียง 1.2 ล้านคนเท่านั้น และอย่าลืมว่าการคิดแบบนี้ เรากำลังให้น้ำหนักความหนาแน่นของมวลชนเท่ากันทั่วทั้งพื้นที่ไฮไลต์เขียวในภาพ ซึ่งความเป็นจริงของการชุมนุมแบบ “ดาวกระจาย” ก็หนีไม่พ้นการกระจุกตัวของมวลชนรอบเวทีปราศรัย ไม่ใช่ตลอดแนวถนนดังที่อ้างมา 

หันมองสื่อต่างประเทศ CNN รายงานว่าในวันที่ 22 ธันวาคม 2556 มีผู้ชุมนุมอย่างมากเพียง 150,000 คนเท่านั้น โดยอ้างอิงตัวเลขจาก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในขณะนั้น แม้ไม่อาจหาหลักฐานได้ว่าฝ่ายตำรวจกดตัวเลขหรือไม่ แต่ก็ยังยากที่ตัวเลขผู้ชุมนุมจริงจะถึงหลักล้าน 

แล้วการชุมนุมนักศึกษาในช่วงที่ผ่านมาล่ะ มีคนเท่าไร? 

ประเมินผู้ชุมนุม 16 สิงหาคม #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ

การชุมนุมเมื่อ 16 สิงหาคม 2563 ของกลุ่มประชาชนปลดแอกกินพื้นที่รอบบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปจนถึงสี่แยกคอกวัว โดยลดความหนาแน่นลงในช่วงก่อนถึงอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ จากการเทียบใน Google Earth หากไม่นับพื้นที่ที่มีคนแต่ไม่หนาแน่นเพื่อชดเชยพื้นที่ที่ใช้ตั้งเวที เราจะได้พื้นที่การชุมนุมรวมแล้วราวๆ 20,000 ตารางเมตร ข้อมูลทั้งหมดนี้สามารถอิงได้กับภาพมุมสูงซึ่งถ่ายจากโดรนของผู้จัดงานในวันนั้น 

รายงานตัวเลขผู้ร่วมชุมนุมในวันนั้น 

ตำรวจประเมินไว้ที่ 12,000 คน สังเกตได้ว่าตำรวจใช้ตัวหารที่สูงมาก โดยให้พื้นที่ผู้ชุมนุมเกือบ 2 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งไม่สอดคล้องกับภาพการชุมนุมและการเข้าออกที่มีตลอดเวลา ผู้จัดงานประเมินไว้ที่ 20,000 คน ถือว่าประเมินไว้ค่อนข้างต่ำ โดยให้พื้นที่ผู้ชุมนุม 1 ตารางเมตรต่อคน แต่ก็สอดคล้องกับภาพการชุมนุมที่ส่วนใหญ่ผู้คนนั่งลงและมีพื้นที่ว่างอยู่บ้าง 

หลักฐานสำคัญที่สนับสนุนว่าตัวเลขเพียง 10,000 เศษๆ นั้นเป็นการประเมินที่ต่ำเกินจริง คือ ตัวเลขการเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ ซึ่งตลอดระยะเวลาการชุนนุมสามารถรวมรายชื่อได้ 10,521 รายชื่อ การเหมาว่า ผู้ชุมนุมทั้งหมดมาเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นคงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล ประกอบกับข้อเท็จจริงที่มีร้องเรียนผ่านทางไอลอว์ว่า ไม่สามารถฝ่าความหนาแน่นของผู้ชุมนุมบริเวณถนนดินสอเข้าไปลงชื่อที่โต๊ะลงชื่อฝั่งแยกคอกวัวได้ จึงไม่แปลกถ้าจะเดาว่าตัวเลขผู้ชุมนุมจริงอาจมีมากกว่านี้อย่างน้อยที่สุด 2 เท่า นี่ทำให้ตัวเลข 20,000 คนของผู้จัดงานมีความสมเหตุสมผลมาก

ถ้าเทียบกับ 14 ตุลาฯ ล่ะ?

ประเมินผู้ชุมนุมจากภาพประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516

หากอ้างอิงจากภาพประวัติศาสตร์ จะเห็นได้ว่ามีผู้คนยืนเนืองแน่นถนนราชดำเนินตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศไปถึงอย่างน้อยคือ สี่แยกคอกวัว คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมดกว่า 42,000 ตารางเมตร ซึ่งไม่รวมพื้นที่โดยรอบและผู้คนที่เข้าออกตลอดเวลา สามารถคำนวณแบบมือสมัครเล่นที่ไม่ทราบความหนาแน่นแม่นยำได้ดังนี้ 

เนื่องจากเป็นการยืน หากใช้ตัวหาร 0.25 จะได้ผู้คนอย่างน้อย 168,000 คนในสภาวะเบียดเสียดอย่างมาก ถ้าให้พื้นที่คนละ 1 ช่องกระเบื้องขนาด 2 ฟุตก็จะได้ตัวเลขราว 116,000 คน แต่เนื่องจากตัวเลขนี้ไม่คำนึงถึงการเข้าออกของผู้คนที่มีตลอดเวลาและบริเวณรอบๆ จึงอาจเป็นตัวเลขที่ต่ำว่าความจริง บีบีซีรายงานว่าในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 มีผู้เข้าร่วมชุมนุมราว 200,000 คน เมื่อพิจารณาตามหลักแล้วตัวเลขนี้ก็ไม่น่าเกินความจริงนัก

ประเมินผู้ชุมนุม 19 กันยายน #ทวงอำนาจคืนราษฎร

การชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในพื้นที่สนามหลวงซึ่งหนาแน่นมากในพื้นที่ฝั่งลาดยาง-คอนกรีตเลยไปจนถึงฝั่งสนามหญ้าเล็กน้อย ระนาบใกล้กับประตูศาลฎีกา ทั้งยังมีกิจกรรมในพื้นที่โดยรอบอย่างคึกคักด้วยความแน่นหนาของผู้คนที่ต่างกันไปในแต่ละจุด 

หากคำนวณเพียงแค่ส่วนของสนามหลวงที่หนาแน่นที่สุด ไม่รวมพื้นที่โดยรอบและลบเวทีออก จะได้พื้นที่ทั้งหมดราว 39,000 ตารางเมตร ซึ่งมีขนาดไล่เลี่ยกับพื้นที่การชุมนุมเมื่อ 14 ตุลาฯ และหากรวมถนนโดยรอบจะได้พื้นที่เกือบ 75,000 ตารางเมตร โดยข้อมูลทั้งหมดนี้อ้างอิงจากภาพมุมสูง นำมาเทียบกับ Google Earth 

รายงานจำนวนผู้ชุมนุมในครั้งนี้

ตำรวจประเมินไว้ที่ 18,000 คน ตัวเลขนี้เป็นไปไม่ได้หากอิงกับหลักฐานภาพถ่ายมุมสูง การที่จะได้ตัวเลขเท่านี้ต้องให้พื้นที่ผู้ชุมนุมมากกว่าคนละ 2 ตารางเมตรซึ่งไม่สอดคล้องกับภาพความแออัดที่เกิดขึ้นจริง และไม่คำนึงถึงผู้คนโดยรอบที่เข้ามาในพื้นที่อยู่ตลอด 

หากลองจินตนาการเสื่อที่มีขายกันในที่ชุมนุม ผืนหนึ่งความยาวประมาณ 1.25×1.25 เมตรจากการวัดโดยแอปในไอโฟน ซึ่งจุคนนั่งได้ 3 คน เสื่อแต่ละผืนเว้นระยะห่างจากกันมักไม่ถึง 1 เมตร ตัวเลขของตำรวจจึงถือได้ว่าต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่มาก 

สำนักข่าว Reuters ประเมินผู้เข้าร่วมไว้ที่ 30,000 คน ส่วนทีมผู้จัดการชุมนุมประเมินไว้ที่ 50,000 คน ตัวเลขทั้งสองส่วนนี้ให้พื้นที่ราว 1 ตารางเมตรต่อคน ถือเป็นระยะตัวเลขขั้นต่ำที่สมเหตุสมผล อย่างไรก็ตาม หากใช้มาตรฐานเดียวกับสูตรคำนวณของ กปปส.ที่คิดพื้นที่ปูพรมทั้งหมดและใช้ตัวหารที่เล็กที่สุด เราจะได้ตัวเลขผู้ชุมนุมอยู่ที่ 416,000 คน 

บทสรุปและวิเคราะห์

ตัวเลขผู้ชุมนุมมักถูกบิดเบือนเพื่อสร้างกระแสสนับสนุนหรือต่อต้านทางการเมืองมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นเครื่องชี้เจตจำนงของประชาชน การบิดเบือนเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นเพียงในประเทศไทยเท่านั้นแต่เป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก เช่น กรณีตัวเลขผู้เข้าชมงานสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็เป็นที่ถกเถียงกัน แม้การคำนวณตัวเลขผู้เข้าร่วมการชุมนุมให้แม่นยำเป็นสิ่งที่ยาก แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นมากอาจทำให้มีข้อมูลบางอย่างที่พอจะชี้ชัดได้มากขึ้น เช่น ข้อมูลของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 

สำหรับประชาชนมือสมัครเล่นและองค์กรต่างๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ การคิดหาจำนวนคนช่วงพีคก็สามารถทำได้หากทราบขนาดพื้นที่และความหนาแน่นของคน โดยการคำนวณที่ดีจะต้องคิดถึง 2 ปัจจัยนี้อย่างละเอียดและควรมีภาพมุมสูงและกว้างที่ระบุวันเวลาชัดเจนมายืนยัน 

วาทกรรม ‘มวลมหาประชาชน’ ‘มวลชนเกินล้าน’ เป็นเครื่องมือในการเปรียบเทียบอย่างหนึ่งที่นำมาวิจารณ์เสียดสีม็อบนักศึกษาได้ แต่เป็นตัวเลขที่ได้มาจากการคำนวณแบบปูพรมโดยไม่สนความแม่นยำเชิงพื้นที่และความหนาแน่น อีกทั้งยังขาดภาพถ่ายประกอบการอ้างเช่นนั้น แม้บทความต้นทางของตัวเลข 3.5 ล้านจะถูกลบไปแล้ว แต่ความเชื่อว่า กปปส. มีผู้สนับสนุนกว่า 5% ของทั้งประเทศยังคงติดอยู่ในวาทกรรมการเมือง และยังคงถูกนำมากดทับการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอยู่ในปัจจุบัน 

ถึงแม้ตัวเลขผู้ร่วมชุมนุมกับนักศึกษาในปัจจุบันจะยังน้อยกว่าในช่วง กปปส. ข้อสังเกตที่สำคัญคือตัวเลขผู้ชุมนุมในนัดใหญ่ๆ นั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีส่วนร่วมจากทั้งชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลาง ที่ผ่านมาการชุมนุมยังคงไม่มีการลงหลักปักฐานเป็นเวลานาน ทำให้การเข้าร่วมสำหรับผู้อยู่ห่างไกลทำได้โดยยากเพราะผู้เข้าร่วมต้องสะดวกในวันเวลาที่นัดพอดิบพอดี ประกอบกับยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด 19 การชุมนุมของนักศึกษาจึงยังคงน่าจับตาว่าจะเติบโตไปได้แค่ไหน 

ท้ายที่สุดนี้ ตัวเลขผู้ชุมนุมไม่ใช่มาตรวัดความชอบธรรมเดียว แต่ความชอบธรรมของข้อเรียกร้องก็สำคัญไม่แพ้กัน


ภาพอ้างอิง

พื้นที่การชุมนุมวันที่ 16 สิงหาคม 2563

หักลบกับพื้นที่ตัวอนุสาวรีย์ที่กลายเป็นสวนจะเหลือพื้นที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร

 

พื้นที่การชุมนุมช่วงก่อนวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เฉพาะตามภาพ

  

พื้นที่การชุมนุมวันที่ 19 กันยายน 2563 เฉพาะส่วนที่แออัดที่สุด

 

พื้นที่รวมกิจกรรมและเวทีย่อยโดยรอบ