คำบอกเล่าจาก 3 ผู้สังเกตการณ์ เหตุการณ์ฉีดน้ำสลายการชุมนุม #ม็อบ16ตุลา

เดือนตุลาคม 2563 นับว่าเป็นช่วงฝุ่นตลบของสังคมไทย การชุมนุมเกิดขึ้นทุกวันและกระจายไปทั่วประเทศ โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสลายการชุมนุมในช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และแกนนำหลายคนทยอยถูกจับกุมคุมขังอยู่จนปัจจุบัน

15 ตุลาคม สลายการชุมนุมช่วงเช้า ประชาชนก็นัดรวมตัวกันใหม่ที่แยกราชประสงค์ในช่วงเย็นทันที โดยมีข้อเรียกร้องให้ ‘ปล่อยเพื่อนเรา’ เพิ่มเติมจาก 3 ข้อเรียกร้องหลักด้วย เวทีปราศรัยของวันนั้นเป็นเพียงรถเครื่องเสียงขนาดเล็กจอดกลางสี่แยกราชประสงค์ แม้เสียงจะดังไปได้ไม่ไกลนักแต่ผู้คนยังนั่งกันแน่นขนัดยาวเหยียดไปตามถนนราชดำริและถนนพระราม 1 กิจกรรมดำเนินไปไม่กี่ชั่วโมงก่อนจะยุติกิจกรรมในเวลา 22.00 น. แม้จะอยู่ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่เหตุการณ์ก็ยังดำเนินไปได้อย่างสงบ

อย่างไรก็ดี ข้อเรียกร้องให้ ‘ปล่อยเพื่อนเรา’ ดูเหมือนไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีการจับกุมแกนนำเพิ่มเติมอยู่ ในวันต่อมา 16 ตุลาคมประชาชนจึงร่วมชุมนุมกันอีกครั้งที่แยกปทุมวัน นัดหมายกันในเวลา 17.00 น. ทว่าเหตุการณ์กลับแตกต่างไปโดยสิ้นเชิง เพราะเพียงไม่ถึง 2 ชั่วโมงหลังการนัดหมาย ในเวลาประมาณ 18.50 น. ตำรวจได้ฉีดน้ำสลายการชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุมด่านหน้าที่เผชิญหน้ากับแถวของตำรวจมีเพียงร่มที่ส่งต่อๆ กันมาเป็นเครื่องมือป้องกัน เจ้าหน้าที่ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงสลายการชุมนุมไปจนถึงเวลาประมาณ 21.00 น. จึงยึดพื้นที่ได้ทั้งหมด ในระหว่างปฏิบัติการนั้น ทางฝั่งผู้ชุมนุมก็ประสบกับสภาพโกลาหลเนื่องจากข่าวสารที่สับสนและไม่มีเครื่องเสียงขนาดใหญ่ไว้คอยสื่อสาร แม้แต่จุดที่แกนนำอยู่ก็ใช้เพียงโทรโข่งประกาศขอให้ผู้ชุมนุมทยอยกลับบ้าน

คืนเดียวกัน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการแถลงผลการสลายการชุมนุมและการจับกุมผู้ชุมนุม โดยพล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ชี้แจงว่าไม่มีการใช้แก๊สน้ำตา และสารเคมีที่ผสมอยู่ในน้ำนั้นเป็นสารเคมีที่ใช้ตามมาตรฐานสากล ชุดควบคุมฝูงชนที่สหภาพยุโรป (EU) และทั่วโลกก็ใช้กันเป็นปกติ เมื่อนักข่าวถามว่ามีฤทธิ์เหมือนแก๊สน้ำตาหรือไม่ เพราะว่ามีอาการแสบตาและมีกลิ่นฉุนขึ้นจมูก รอง ผบช.น.ตอบว่า สารเคมีที่ใช้จะทำให้ระคายเคืองผิวหนังบ้าง แต่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและร่างกายแต่อย่างใด

ต่อมาวันที่ 17 ตุลาคม ที่ บช.น.มีการแถลงชี้แจงปฏิบัติการฉีดน้ำสลายการชุมนุมเช่นเดียวกัน โดยระบุในทำนองเดียวกันว่า สารเคมีที่ผสมในน้ำนั้นไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และเป็นสารที่อารยประเทศใช้กัน อย่างไรก็ดี ตำรวจไม่ได้มีการยืนยันว่า สารเคมีแบบที่ “สากล” ใช้กันนั้นคือสารอะไร

3 ผู้สังเกตการณ์กับผลกระทบทางกายภาพจากการฉีดน้ำ

จากคำบอกเล่าของผู้สังเกตการณ์การชุมนุมในวันที่ 16 ตุลาคม ผู้สังเกตการณ์คนที่หนึ่งเล่าว่า ขณะที่อยู่บริเวณโรงภาพยนตร์ลิโด้ เห็นนักข่าววิ่งไปทางอังรีดูนังต์ตอนราว 18.34 น. จึงวิ่งตามไปด้วยความสงสัย จังหวะนั้นถนนโล่งมาก 2 นาทีต่อมาเขาเห็นตำรวจประมาณ 500-600 คนพร้อมโล่ตั้งแถวหน้ากระดานเต็มหน้าถนนทั้งสองเลนเดินสวนกับเขาเข้ามา ด้านหลังแนวตำรวจมีรถน้ำ 1 คันตามมา บริเวณรอบติดฟุตบาธฝั่งลิโด้มีตำรวจอีกจำนวนหนึ่งเดินเรียงแถวไปพร้อมกับรถน้ำ มีขบวนตำรวจที่ไม่มีโล่เดินคล้องแขนเป็นแถวหน้ากระดานอยู่หลังรถน้ำอีก รวมราว 200 คน ถัดจากนั้นมีรถเครื่องขยายเสียง ประกาศให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน และให้พ่อแม่ของผู้ชุมนุมบอกลูกๆ ให้กลับบ้าน

ผู้สังเกตการณ์จึงวิ่งหามุมสูงไปอยู่ตรงชานพักบันไดบีทีเอสสยาม หลังจากนั้นมีการนำรั้วเหล็กมากั้นระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับขบวนรถน้ำและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาเห็นผู้ชุมนุมนั่งอยู่ประมาณ 300 คน ผู้ชุมนุมแถวแรกที่นั่งติดรั้วอยู่ห่างจากตำรวจแถวแรกที่ถือโล่ประมาณ 30 เมตร

18.45 น. ผู้ชุมนุมประกาศขอให้ผู้หญิงและเด็กเคลื่อนไปหลบอยู่ข้างหลัง แล้วให้ผู้ชายที่แข็งแรงอยู่ข้างหน้า หลังจากนั้นมีการร้องเพลงชาติพร้อมชู 3 นิ้ว ต่อมาผู้ชุมนุมแนวหลังได้ลำเลียงร่มส่งต่อกันมาข้างหน้า จังหวะนั้นมีการย้ำจากเจ้าหน้าที่ตำรวจผ่านรถเครื่องขยายเสียงว่า

“นี่เป็นการเตือน จะยังไม่ใช้กำลัง ขอให้ผู้ชุมนุมกลับบ้านไป เราได้เตือนน้องๆ หลายรอบแล้วนะครับ เราจำเป็นจะต้องใช้น้ำนะครับ เราให้เวลาน้องๆ ผู้ชุมนุมด้านหน้า 3 นาที เราขอวิงวอนนะครับ”

จากนั้นตำรวจได้นับถอยหลังก่อนจะเริ่มฉีดน้ำ โดยครั้งแรกนั้นน้ำพุ่งสูงติดรางรถไฟฟ้าทำให้กระจายเป็นละอองโดนตำรวจที่ถือโล่ หลังจากนั้นมีการปรับหัวฉีดน้ำและฉีดใส่ผู้ชุมนุมได้ตรงเป้าพลางประกาศว่า “เรามีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำ” และในการฉีดน้ำครั้งที่ 3 กลุ่มช่างภาพที่อยู่ที่ชานพักบันไดรวมถึงผู้สังเกตการณ์เองก็โดนละอองน้ำด้วย

ผู้สังเกตการณ์เล่าต่อไปถึงช่วงที่มีการใช้น้ำสีน้ำเงินฉีดใส่ผู้ชุมนุมว่า กลุ่มผู้ชุมนุมบางคนที่อยู่แถวหน้าได้วิ่งหนี แต่ก็มีน้ำสีน้ำเงินฉีดไล่ตามหลังมา ผู้ที่ถูกฉีดน้ำเดินหน้าตั้งหลักไม่ได้จึงหลบไปที่อื่น บางคนโดนน้ำฉีดก็ล้ม บ้างคลาน บ้างก็วิ่งหนีออกไป ในระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจถือโล่ได้มาไล่กลุ่มช่างภาพและผู้สังเกตการณ์ลงจากชานพักบันไดบีทีเอส เขาจึงหลบเลี่ยงมาที่จุดอื่นและสมทบกับผู้สังเกตการณ์อีกคน สักพักได้ยินเสียงดังคล้ายประทัดลูกใหญ่จึงย่อตัวต่ำหลบอยู่หลังกระจกราวบันไดของห้างแถวนั้น แล้วพากันวิ่งลงมาจากชานบันไดของห้างหนีออกไปข้างนอก

ผู้สังเกตการณ์คนที่หนึ่งเล่าถึงสภาพร่างกายในขณะนั้นว่า รู้สึกแสบตามาก มีน้ำตาไหลออกมา แต่ก็พยายามวิ่งออกไปให้พ้นจากบริเวณที่เกิดเหตุสลายการชุมนุม ด้วยสถานการณ์ที่ค่อนข้างวุ่นวายเขาจึงลืมใช้น้ำล้างตา อย่างไรก็ดี เขาเสริมว่าอาการแสบตากว่าจะบรรเทาลงได้ก็ใช้เวลาร่วมชั่วโมง

อีกด้าน ผู้สังเกตการณ์คนที่สองสังเกตการณ์อยู่บริเวณบันไดขึ้นทางเชื่อมหน้าสยามสแควร์วัน เสริมว่า ก่อนจะฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ประกาศว่าจะใช้สารเคมี ต่อมาเมื่อมีการฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมแล้ว แม้จุดที่ผู้สังเกตการณ์อยู่เป็นด้านหลังแนวตำรวจ ไม่ใช่ทิศทางเดียวกับสายน้ำที่ฉีดใส่ผู้ชุมนุม แต่ก็รู้สึกแสบตา ระคายเคืองตาจนต้องกระพริบตาถี่ๆ อีกทั้งยังแสบโพรงจมูก จนอดสงสัยไม่ได้ว่ามีการใช้แก๊สน้ำตาหรือไม่

หลังจากนั้นตำรวจได้มาไล่ลงจากบันได ผู้สังเกตการณ์จึงหลบมาอยู่ข้างล่าง ใช้เวลาประมาณ 15-30 นาทีอาการต่างๆ จึงบรรเทาลง ช่วงหลังที่ไม่ได้มีการฉีดน้ำแล้วและมีฝนตกลงมานั่นทำให้สถานการณ์ดีขึ้นมาก แม้จะเข้าไปสังเกตการณ์ใกล้สถานที่ชุลมุนแต่ก็ไม่มีอาการดังกล่าวอีก  

ทางด้านผู้สังเกตการณ์คนที่สาม เล่าว่า ตอนนั้นอยู่บริเวณหน้าซอยสยามสแควร์ซอย3 เขาสังเกตเห็นรถน้ำ 7 คันบริเวณใต้บีทีเอสสยาม และได้ยินเสียงตำรวจประกาศผ่านโทรโข่งแจ้งเหล่าตำรวจด้วยกันว่า

“อย่าใช้น้ำล้าง ยิ่งใช้น้ำล้างจะยิ่งแสบ”

อย่างไรก็ตาม ขณะที่กำลังจะรายงานสถานการณ์กลับมายังต้นสังกัด เขารู้สึกหายใจลำบากและแสบโพรงจมูกมาก แต่หลังจากใส่หน้ากากก็รู้สึกดีขึ้นและปฏิบัติหน้าที่ต่อได้

ไม่กี่นาทีหลังจากนั้น ตำรวจประกาศผ่านโทรโข่งแจ้งให้ผู้ชุมนุมถอยออกไป ตรงบริเวณนั้นแวดล้อมไปด้วยบรรดานักข่าว ตำรวจเริ่มนับถอยหลังเพื่อให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม ผู้สังเกตการณ์คนที่สามเล่าเหมือนกันกับผู้สังเกตการณ์คนที่สองว่า ไม่มีการแจ้งผู้ชุมนุมว่าในน้ำมีสารเคมีหรือเมื่อถูกฉีดน้ำแล้วควรปฏิบัติตัวอย่างไร หลังจากนั้นจึงเริ่มฉีดน้ำใส่กลุ่มผู้ชุมนุมที่ยืนอยู่ตรงข้าม

ผู้สังเกตการณ์คนที่สามเล่าว่า สายน้ำไม่ได้มุ่งไปยังผู้ชุมนุมเท่านั้น แต่ยังมีอีกสายหนึ่งที่มาทางนักข่าวซึ่งยืนอยู่บริเวณหน้าสยามสแควร์ซอย 3 ด้วย เขาเล่าว่าได้ยินผู้คนโดยรอบตะโกนว่า “ฉีดน้ำโดนนักข่าว” เขาถอยออกมาจากบริเวณกลุ่มนักข่าวเล็กน้อย มีน้ำบางส่วนกระเซ็นมาโดนผิวหนังของเขาทำให้รู้สึกแสบผิวหนัง “ความรู้สึกมันเหมือนโดนพริก”

ด้วยสถานการณ์ค่อนข้างวุ่นวาย ผู้สังเกตการณ์คนที่สามจึงไม่ได้โฟกัสกับอาการบนร่างกายนัก เขาสังเกตเห็นว่ารถฉีดน้ำฉีดใส่ผู้ชุมนุมเป็นระยะเวลาสั้นๆ มีการเคลื่อนรถเข้ามาทางผู้ชุมนุมแล้วหยุด แล้วเคลื่อนอีก เป็นระยะๆ ต่อเนื่องมาจนถึงหน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง

ผู้ชุมนุมพยายามเอาแผงเหล็กที่อยู่บริเวณนั้นกั้นระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับรถน้ำ ระหว่างนั้นมีผู้ประกาศผ่านโทรโข่งและวินมอเตอร์ไซค์พยายามช่วยพูดต่อๆ กันในหมู่ผู้ชุมนุมว่า “ยุติการชุมนุม ให้ทยอยกลับบ้าน” ขณะนั้นมีผู้ชุมนุมเหลืออยู่ราว 100 คน โดยอยู่อย่างกระจัดจายบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง

แพทย์เรียกร้องให้ “งดใช้สารเคมี” ในการสลายการชุมนุม

แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะแถลงว่า น้ำที่ฉีดสลายการชุมนุมไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่จากคำบอกเล่าของผู้สังเกตการณ์จะพบว่า แม้ไม่ได้สัมผัสกับน้ำโดยตรงก็ได้รับผลกระทบบางส่วน ด้านผู้ชุมนุมเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

22 ตุลาคม 2563 เวิร์คพอยท์ทูเดย์ ได้สัมภาษณ์หนึ่งในผู้ชุมนุมที่โดนน้ำจากการสลายการชุมนุม เธอเล่าว่ามีอาการหน้ามืดเหมือนจะอาเจียน จังหวะที่ก้มหน้าลงเพื่อล้างหน้าก็อาเจียนออกมา ต่อมามีอาการเจ็บที่ลิ้นปี่และอาเจียนออกมามีสีดำ เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์แจ้งว่ามีอาการเลือดออกในช่องท้อง

ในวันเดียวกัน พีพีทีวี ได้รายงานถึงอาการของหญิงคนหนึ่งที่สัมผัสกับน้ำที่ฉีดเพื่อสลายการชุมนุมว่า เธอมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ และอาเจียนตลอดเวลาหลังจากสัมผัสกับน้ำที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการสลายการชุมมนุม จึงตัดสินใจไปหาหมอและต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลจนอาการดีขึ้นหลังจากนั้น 24 ชั่วโมง จากนั้นจึงได้ทราบว่า แรงฉีดของน้ำทำให้อวัยวะในร่างกายช้ำ รวมถึงแพทย์ผู้รักษาบอกว่าอาการนี้เกิดจากการมีสารพิษอยู่ในร่างกาย

จะเห็นได้ว่า จากสถานการณ์การสลายการชุมนุมดังกล่าว นอกจากประเด็นในด้านกฎหมายแล้วยังมีประเด็นในมิติด้านการแพทย์ด้วย

แพทย์ทั่วประเทศไทยได้ร่วมลงชื่อและออกแถลงการณ์ โดยในวันที่ 18 ตุลาคม มีแพทย์ลงชื่อรวม 1,008 คน แถลงการณ์ของแพทย์นั้นเรียกร้องให้รัฐยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมเพื่อรับฟังอย่างสันติวิธี และขอให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชายึดหลักสากลในการควบคุมฝูงชน ในข้อเรียกร้องข้อที่ 4 เรียกร้องให้งดใช้สารเคมีที่มีพิษต่อระบบผิวหนัง และเยื่อบุ หรือต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น แก๊สน้ำตา ต่อผู้ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ