‘เพราะทุกคนคือแกนนำ’ ปรากฏการณ์โต้กลับความรุนแรงของรัฐ

เพราะทุกคนคือแกนนำ คือ คำนิยามการชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงกว่าสองสัปดาห์ที่ผ่านมา อันที่จริงวลีดังกล่าวไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากที่เหล่าแกนนำคณะราษฎรทยอยถูกควบคุมตัวไปตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2563 แต่ปรากฏมาตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2563 โดยนิสิตนักศึกษาร่วมกันจัดกิจรรม ‘เพราะทุกคนคือแกนนำ’ เพื่อเน้นย้ำให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง การชุมนุมดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ตลอดเดือนสิงหาคมตำรวจเริ่มจับกุมแกนนำและผู้ชุมนุมที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่องทีละคน บ้างก็จับกุมรวดเดียวชุดใหญ่

การจับกุมแกนนำทำให้การชุมนุมมักไปอยู่ที่สถานีตำรวจที่แกนนำถูกควบคุมตัวไป หรือแม้กระทั่งศาลอาญา รวมถึงตามพื้นที่ต่างจังหวัด กระนั้นก็มีบางครั้งที่มีการนัดหมายในพื้นที่อื่น เช่น การจับกุมอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนเมื่อ 7 สิงหาคม 2563 มีการนัดชุมนุมที่สกายวอล์ค หน้าหอศิลปกรุงเทพฯ มีประชาชนมาร่วมไม่น้อยกว่า 2,000 คน

ในช่วงแรกเมื่อตำรวจขออำนาจศาลฝากขังแกนนำในชั้นสอบสวน ศาลมีแนวโน้มอนุญาตให้ประกันตัว การจับแล้วปล่อย จับแล้วปล่อย นอกจากจะทำให้สังคมเกิดความเนือยในการติดตามความเคลื่อนไหว แต่ในแง่กลับกันก็ส่งผลให้การชุมนุมยังคงเคลื่อนต่อไปได้โดยยังมีแกนนำหลัก

แล้วการชุมนุมของประชาชนจำนวนมากแบบไร้แกนนำตั้งแต่ 17 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมาเกิดขึ้นได้อย่างไร?

สลายการชุมนุมคณะราษฎรอีสาน-จับไผ่ ดาวดินและพวก อ้างเหตุขบวนเสด็จ

ปรากฏการณ์นี้ต้องไล่มาตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม ซึ่งคณะราษฎรได้ประกาศจัดการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 14 ตุลาคม โดยมีข้อเรียกร้องสามข้อ หนึ่งในนั้นเป็นการเรียกร้องโดยตรงถึงสถาบันกษัตริย์ให้มีการปฏิรูปเพื่ออยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง จากนั้นไม่นานก็มีการเผยแพร่หมายกำหนดการ ‘ขบวนเสด็จ’ ที่จะผ่านถนนราชดำเนินเช่นกัน โดยไม่สามารถยืนยันถึงแหล่งที่มาได้ ในเวลานั้นแกนนำคณะราษฎรยืนยันว่าจะมีการชุมนุมเช่นเดิมโดยจะไม่มีการกีดขวางขบวนเสด็จอย่างแน่นอน ถึงอย่างนั้น เรื่องขบวนเสด็จก็ยังคงเป็นประเด็นสำคัญและเป็นเงื่อนไขนำไปสู่การปราบปรามการชุมนุม

13 ตุลาคม คณะราษฎรอีสานนำโดยจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน และพวกไม่น้อยกว่า 30 คนมาติดตั้งเต็นท์พักค้างคืนที่ด้านหน้าแมคโดนัลด์เพื่อรอร่วมการชุมนุมของคณะราษฎรในวันถัดมา ตำรวจในเครื่องแบบ 2 นายแจ้งว่าไม่สามารถติดตั้งเต็นท์บริเวณดังกล่าวได้ แต่ท้ายสุดก็ติดตั้งสำเร็จ ต่อมาเวลา 13.08 น. ตำรวจในเครื่องแบบไม่น้อยกว่าสามนายจาก สน.สำราญราษฎร์มาเจรจาให้นำแผงเหล็กกั้นริมฟุตบาทหน้าแมคโดนัลด์ออก แผงเหล็กนี้ผู้ชุมนุมเตรียมล้อมกั้นไว้เพื่อเป็นเวที แต่จตุภัทร์ยืนยันไม่นำออก หากเข้าข่ายละเมิดกฎหมายใดให้แจ้งมาในภายหลัง จากนั้นจึงนำรถเครื่องเสียงมาจอดแทนที่

ต่อมาเวลาประมาณ 15.42 น. ตำรวจสลายการชุมนุมคณะราษฎรอีสาน อ้างเหตุว่าจะมีขบวนเสด็จผ่าน ผู้ถูกควบคุมตัวไปทั้งหมด 23 คน  หนึ่งในนั้นให้สัมภาษณ์ว่า มีการทำร้ายร่างกายด้วยการกระทืบระหว่างควบคุมตัว การสลายการชุมนุมได้ข้ามขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไปทั้งหมด เจ้าหน้าที่ระบุว่า เป็นความผิดซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญาจึงต้องดำเนินการ จากนั้นขบวนเสด็จจึงผ่านบริเวณพื้นที่สลายการชุมนุมในเวลา 17.42 น. หรือสองชั่วโมงถัดมา ซึ่งมีการเก็บกวาดถนนพื้นที่เรียบร้อยแล้ว โดยขบวนเสด็จเคลื่อนผ่านถนนราชดำเนินมุ่งหน้าแยกคอกวัว ซึ่งเป็นถนนฝั่งตรงข้ามจุดชุมนุม ขณะที่ก่อนหน้าขบวนเสด็จผ่าน 30 นาที ตำรวจประกาศวิธีปฏิบัติเมื่อมีขบวนเสด็จว่า หากขบวนเสด็จผ่านขอให้ทุกคนถอดหน้ากากอนามัยและแว่นดำออก อยู่ในความสงบ ไม่ยกมือถือขึ้นมาถ่ายรูปขบวนเสด็จ 

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง หลังขบวนเสด็จผ่ากลางฝูงชนหน้าทำเนียบ

วันที่ 14 ตุลาคม 2563 ภาพบนถนนราชดำเนินไม่คุ้นตาและเป็นสถานการณ์ที่หลายฝ่ายกังวลใจ เนื่องจากฝั่งหนึ่งเป็นกลุ่มคณะราษฎร อีกฝั่งหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในชุดเสื้อสีเหลือง จิตอาสา ประชาชนที่มารอรับเสด็จรวมถึงกลุ่มทางการเมืองขั้วตรงข้าม เช่น อดีตพุทธอิสระ นพ.เหรียญทอง ตำรวจที่ควบคุมเหตุการณ์บริเวณถนนราชดำเนินก็มีไม่มากนัก แต่แม้สองฝ่ายจะอยู่ใกล้กันมากเพียงคนละฝั่งถนนก็ไม่มีเหตุรุนแรงร้ายแรงใด (ข้อสังเกตเรื่องการเผชิญหน้าและการปะทะเล็กน้อยอยู่ตอนท้าย)

วันนั้นแกนนำคณะราษฎรตัดสินใจเคลื่อนขบวนออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเร็วกว่ากำหนด ก่อนที่ขบวนเสด็จจะผ่านถนนราชดำเนิน คาดว่าเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ตึงเครียด โดยมีการนัดหมายปักหลักที่หน้าทำเนียบรัฐบาล กระนั้น ในการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล ตำรวจมีการวางแนวกั้นไว้ 3 แนว ตั้งแต่แยกสะพานผ่านฟ้า แยกเทวกรรม และด้านหน้าพาณิชยการพระนครก่อนถึงแยกนางเลิ้ง เจ้าหน้าที่ต่อรองให้ผู้ชุมนุมใช้ถนนนครสวรรค์ซึ่งก็ได้รับการตอบรับ เมื่อเดินทางกันไปถึงแนวกั้นสุดท้ายก่อนถึงแยกนางเลิ้งมีการปิดกั้นอยู่อย่างแน่นหนาด้วยรถบัสของตำรวจตระเวนชายแดนโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ทำให้มวลชนหลายพันคนติดค้างอยู่บริเวณดังกล่าวเป็นเวลานาน

แนวดังกล่าวอยู่ห่างจากทำเนียบรัฐบาลประมาณ 500 เมตร ระหว่างที่มวลชนก้อนใหญ่รอการต่อรองให้ด่านสุดท้ายเปิดทางอยู่นั้น ก็พบว่ามีประชาชนกลุ่มเล็กๆ และสื่อบางส่วนใช้ซอยเล็กซอยน้อยริมถนนนครสวรรค์เดินไปทะลุถนนพิษณุโลกใกล้ทำเนียบฯ เป็นที่เรียบร้อย

ปากคำของผู้อยู่บริเวณทำเนียบฯ ตอนที่ขบวนเสด็จผ่าน ระบุว่า ไม่มีการประกาศเรื่องขบวนเสด็จที่จะผ่านถนนพิษณุโลกแต่อย่างใด ในขณะที่กลุ่มใหญ่ยังมาไม่สามารถฝ่าด่านสุดท้ายมาได้ บริเวณถนนพิษณุโลกใกล้ทำเนียบฯ ในเวลานั้นนอกจากผู้สื่อข่าว ประชาชนจากกลุ่มคณะราษฎรจำนวนไม่มากแล้ว ยังมีประชาชนคนเสื้อเหลืองอยู่บริเวณดังกล่าวด้วย เวลาประมาณ 17.30 น. ที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ใกล้ทำเนียบรัฐบาล มีตำรวจชุดควบคุมฝูงชนจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีการแจ้งว่าจะมีขบวนเสด็จหรือให้ประชาชนยืนอย่างเป็นระเบียบแต่อย่างใด มีเพียงความพยายามผลักดันให้ประชาชนออกไปจากสะพานชมัยมรุเชฐ จึงมีการผลักดันกันขึ้น ระหว่างนั้นเองมีเสียงประชาชนช่วยกันตะโกนว่า “ให้ขบวนเสด็จผ่านไปๆ” จากนั้นตำรวจเริ่มตั้งแนวล้อมประชาชนและสื่อมวลชนที่อยู่บริเวณดังกล่าว ด้านหน้าเป็นรถยนต์พระที่นั่งที่ค่อยๆ เคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ มีเสียงตะโกนว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และทรงพระเจริญจากประชาชนเสื้อเหลือง ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งก็มีบางส่วนที่ชูสามนิ้วและตะโกนว่า ชาติ ศาสนา ประชาชนระหว่างรถพระที่นั่งผ่าน

หลังขบวนเสด็จผ่านไปได้ เจ้าหน้าที่ก็ให้คณะราษฎรกลุ่มใหญ่ที่ถูกกั้นอยู่บริเวณพาณิชยพระนคร ถนนนครสวรรค์ ผ่านด่านเคลื่อนตัวมาปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาล เหตุการณ์ดังกล่าวตามมาด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระทรวงต่างประเทศได้ชี้แจงต่อทูตประเทศต่างๆ ว่า สถานการณ์มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงและก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยของสาธารณะในภาพรวม ในบางช่วงยังมีการดำเนินการที่ส่งผลกระทบต่อขบวนเสด็จ ประกอบกับสถานการณ์ของโรคโควิด 19 จึงทำให้รัฐบาลตัดสินใจออกประกาศดังกล่าว

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงเป็นผลให้รัฐเข้าสลายการชุมนุมของคณะราษฎรที่ปักหลักอยู่บริเวณทำเนียบได้เพียง 1 คืน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากเข้าพื้นที่ในเช้าช่วงมืดวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลาประมาณ 4.30 น.มีการจับกุมแกนนำหลายคน อาทิ อานนท์ นำภา, เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์, ประสิทธิ์ อุธาโรจน์ ตามมาด้วยการจับกุมรุ้ง ปนัสยา , ณัฐชนน ไพโรจน์ นอกจากนี้กรณีขบวนเสด็จที่ยังนำไปสู่การดำเนินคดีประชาชน 3 คนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 ได้แก่ เอกชัย หงส์กังวาน, บุญเกื้อหนุน เป้าทอง และสุรนาถ แป้นประเสริฐ นับเป็นการดำเนินคดีตามมาตรา 110 ฐานประทุษร้ายต่อพระองค์หรือเสรีภาพพระราชินี รัชทายาท เป็นครั้งแรกในประเทศไทยในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา มาตรานี้มีหลายวรรคและมีโทษจำคุกตั้งแต่ 16 ปีถึงประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต

กรณีขบวนเสด็จยังเป็นที่ถกเถียงกันมากกว่า การที่สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ เสด็จในเส้นทางถนนพิษณุโลกนั้นอยู่ในหมายกำหนดการแต่แรกหรือไม่ เพราะแกนนำการชุมนุมระบุว่าไม่ทราบมาก่อน และเหตุใดเจ้าหน้าที่จึงไม่ประกาศให้ผู้ชุมนุมบริเวณดังกล่าวทราบ เรื่องนี้ยังคงไม่ได้รับความกระจ่าง แต่วันรุ่งขึ้นก็มีคำสั่งย้ายตำรวจระดับสูง 3 นายทันที ได้แก่ พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ปราศรัย จิตตสนธิ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 พล.ต.ต.มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ ผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน

‘รถฉีดน้ำ’ จุดเปลี่ยนเพิ่มศักยภาพการชุมนุม

เหตุการณ์เช้ามืดวันที่ 15 ตุลาคม 2563 นอกจากจะไม่ทำให้ผู้ชุมนุมหวาดหวั่นต่อขบวนที่ไร้แกนนำหรือหวาดกลัวต่อการจับกุมปราบปรามแล้ว การณ์ยังกลับส่งผลในทางตรงกันข้าม พวกเขานัดหมายชุมนุมในช่วงเย็นวันเดียวกันนั้นเองที่สี่แยกราชประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวคณะราษฎร มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ต่างคนต่างมา กลางสี่แยกมีเพียงรถปราศรัยจากลำโพงขนาดเล็กของแกนนำบางส่วนที่ยังไม่ถูกจับกุม แม้ประชาชนที่มากันแน่นขนัดจะไม่ได้ยินการปราศรัยแต่ก็นั่งอยู่จนกระทั่งเลิกการชุมนุมในเวลา 22.00 น.

ช่วงเวลานั้นเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า ‘ม็อบไร้หัว’ จะขับเคลื่อนไปได้แค่ไหน อย่างไร แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของสถานการณ์คือ การสลายการชุมนุมด้วยรถฉีดน้ำแรงดันสูงในวันต่อมา คือ วันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่แยกปทุมวัน กล่าวได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนโกรธแค้นและรวมตัวกันได้มากยิ่งขึ้น ก่อนหน้าการรวมตัวที่แยกปทุมวัน ผู้ชุมนุมนัดหมายกันที่แยกราชประสงค์เวลา 17.00 น. แต่ปรากฏว่า ตำรวจปิดล้อมเส้นทางเข้าออกแยกราชประสงค์ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ทำให้ผู้ชุมนุมซึ่งสื่อสารกันทางโซเชียลมีเดียเปลี่ยนที่นัดหมายไปแยกปทุมวันแทน มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากและส่วนใหญ่เป็นเยาวชน นักเรียน นักศึกษา

เวลา 18.40 น. หลังกิจกรรมการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวคณะราษฎรวันที่สองเริ่มขึ้นไม่ถึงสองชั่วโมงดี ตำรวจได้ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดเข้าใส่ผู้ชุมนุมเพื่อสลายการชุมนุม โดยในน้ำมีสารเคมีชนิดหนึ่งที่ไม่มีการประกาศก่อนการฉีดใส่ประชาชนและภายหลังเหตุการณ์ก็ไม่เปิดเผยว่าเป็นสารเคมีชนิดใด มีเพียงการยืนยันว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล ผู้ได้รับผลกระทบมีทั้งประชาชนและกำลังพลตำรวจเองที่ถูกน้ำผสมสารเคมีดังกล่าวด้วย ในวันนั้นมีการควบคุมตัวประชาชนไปไม่น้อยกว่า 12 คน อีกทั้งมีการจับกุมผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไทที่เข้าไปไลฟ์ในพื้นที่หวงห้ามก่อนจะลงโทษปรับแล้วปล่อยตัว

อย่างไรก็ตามการชุมนุมแบบไร้หัวที่แยกปทุมวันมีการประกาศพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุมคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ผู้ชุมนุมทราบว่า หากเกิดเหตุร้ายจะต้องไปที่ใด มาตรการรัฐดังกล่าวส่งผลให้เกิดการชุมนุมจำนวนมากทั่วประเทศนับตั้งแต่วันที่ 17-31 ตุลาคม 2563 มีการชุมนุมไม่น้อยกว่า 157 ครั้งเกิดขึ้นทั่วประเทศ (ดูภาพด้านล่าง)

การนัดหมายแบบใหม่ คำศัพท์ฮิต ‘แกง’

ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเกิดการชุมนุมรูปแบบใหม่ที่ชัดเจนขึ้นคือ กระจายจุดกิจกรรมและคาดการณ์จุดนัดหมายไม่ได้ รวมทั้งยังใช้การสื่อสารในเทเลแกรม เพื่อเปิดให้ประชาชนโหวตพื้นที่ที่อยากจัดกิจกรรม ลักษณะการสื่อสารเปิดพื้นที่ให้พูดคุยอย่างเท่าเทียมกันระหว่างทั้งฝ่ายแกนนำเดิมที่อาจเป็นเจ้าของกรุ๊ปแชทตัวจริงและประชาชนที่เข้าร่วมกลุ่ม เริ่มจากวันที่ 17 ตุลาคม 2563 ที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมและเยาวชนปลดแอกประกาศให้ทุกคนเตรียมพร้อมบริเวณรถไฟฟ้าใกล้บ้าน อันเป็นผลให้มีการสั่งปิดรถไฟฟ้าในหลายสถานี ส่วนพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ อย่างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิก็ถูกเจ้าหน้าที่ปิดล้อมอย่างแน่นหนาด้วยแผงเหล็ก รั้วลวดหนาม จนกระทั่งตำรวจวางกำลังเสร็จสิ้น ทั้งสองกลุ่มจึงประกาศจุดชุมนุมหลักได้แก่ ห้าแยกลาดพร้าว สถานีอุดมสุข และวงเวียนใหญ่ ทั้งยังมีประชาชนจัดกิจกรรมในพื้นที่ที่นัดหมายไว้เดิมอีกเช่น บีทีเอสอโศก พื้นที่นอกเหนือจากการประกาศของกลุ่มหลักก็ยังมีอีกเช่นกัน คือ สามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งหลังประกาศจุดนัดหมายผู้ชุมุนมทยอยเดินทางมาร่วมจำนวนมากอย่างรวดเร็ว

พื้นที่ทั้งหมดไม่ได้อยู่ในขอบเขตที่ตำรวจได้วางกำลังไว้เลย คำว่า ‘โดนแกง’ หรือถูกหลอก จึงกลายเป็นศัพท์ใหม่ที่แกนนำและประชาชนตอบโต้ตำรวจที่จริงจังกับการปิดกั้นพื้นที่การชุมนุมซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง

การสื่อสารโดยไร้เครื่องเสียง การจัดการกันเองในที่ชุมนุม

ความพยายามปราบปรามและควบคุมของรัฐส่งผลให้ประชาชนมีพัฒนาการในการควบคุมขบวนและความปลอดภัยของการชุมนุมด้วยตัวเองในอัตราเร่ง พวกเขาสื่อสารด้วยสัญญาณมือและมีการบริจาคอุปกรณ์เพื่อป้องกันการสลายการชุมนุมของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นหมวกนิรภัย หน้ากากกันแก๊ซน้ำตา แว่นตากันน้ำ ร่ม พื้นที่การชุมนุมรอบนอกจะมีการ์ดที่ประกอบไปด้วยการ์ดของขบวนการนักศึกษาเดิม ไม่ว่าจะเป็นการ์ดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ We volunteer เสริมกำลังด้วยการ์ดอาชีวะและประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม โดยจำนวนมากเป็นเยาวชน ในทุกครั้งที่พวกเขาสัมผัสได้หรือมีความกังวลว่า รัฐจะสลายการชุมนุมหรือใช้ความรุนแรงกับพวกเขา เสียงของคำว่า “หมวกกับแว่น” “ขอแว่นหน่อย” “ขอหมวกหน่อย” จะดังขึ้นในพื้นที่ชุมนุม โดยเป็นการพูดต่อๆ กันเพื่อให้ผู้ชุมนุมสละอุปกรณ์ป้องกันแล้วส่งต่อให้การ์ดแนวหน้าเหล่านี้

สถานะของการ์ดแนวหน้าไม่ใช่มีเพื่อปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ หากแต่เพื่อชะลอเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้เข้าถึงผู้ชุมนุมด้านในได้อย่างรวดเร็ว ข้อตกลงของพวกเขาคือ เมื่อใดที่เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้ความรุนแรงหรือสลายการชุมนุม ให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกันกลับบ้าน หลีกเลี่ยงการปะทะและกลับมาสู้กันใหม่ในวันต่อๆ ไป ซึ่งการต่อสู้ในวันต่อไปยังคงมีเรื่อยมา นำไปสู่การทวงคืนพื้นที่และตอกย้ำข้อเรียกร้องของประชาชน อย่างไรก็ตามการเคลื่อนขบวนธรรมชาติเช่นนี้ยังมีข้อห่วงกังวลอยู่บ้างในเรื่องของการจัดการข้อมูลให้เท่าเทียมกันตลอดทั้งขบวน เช่นกรณีการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ด้วยลักษณะขบวนที่ยาวมาก ทำให้ด้านหลังขบวนไม่ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงทีจากด้านหน้าขบวนนัก มีจังหวะที่มีการพูดว่า ด้านหน้ามีการฉีดน้ำแล้ว ทำให้ผู้ชุมนุมเกิดความตื่นตกใจ ท้ายที่สุดการ์ดเป็นผู้เข้าเป็นแจ้งข้อเท็จจริงให้แก่ผู้ชุมนุม ทำให้สถานการณ์สงบ นอกจากนี้การเคลื่อนตัวแบบธรรมชาติเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันดังกล่าวยังขาดข้อมูลเรื่องช่องทางหนีภัยในกรณีที่เกิดความรุนแรงขึ้นระหว่างเคลื่อนขบวน 

ประชาชนปราศรัยหลากสไตล์ – ข้อเรียกร้องหลักยังอยู่

แม้การชุมนุมจะมีลักษณะคาดหมายไม่ได้ในเชิงเวลาและพื้นที่ ทั้งยังมีอุปสรรคในการเดินทางด้วยขนส่งทางรางอย่างบีทีเอสและเอ็มอาร์ทีเพราะมีการปิดสถานีอยู่เนืองๆ แต่ผู้ชุมนุมยังคงมาร่วมกันจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง

ในการชุมนุมไร้แกนนำในเวลาไม่กี่ชั่วโมงนั้น จะพบว่ามีการปราศรัยในจุดย่อยๆ จากประชาชนทั่วไป ตามคอนเซ็ปต์ “ทุกคนคือแกนนำ” เกิดขึ้นทั่วพื้นที่ ประเด็นมีความหลากหลายตั้งแต่เรื่องในชีวิตประจำวัน ปัญหาปากท้อง การเดินทาง สิทธิทางเพศ การศึกษา รัฐธรรมนูญ การโจมตีรัฐบาล ไปจนถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้าว่า มีการใช้เทเลแกรมในการสื่อสาร ประชาชนในฐานะแกนนำเหล่านี้ก็ได้มีการช่วยกำหนดประเด็นให้ครอบคลุมความเดือดร้อนของประชาชนทั่วประเทศ เช่น ปัญหาปากท้อง ปัญหาที่ดินและป่าไม้และสิทธิความเท่าเทียมกันทางเพศ ในขณะที่ยังเกาะเกี่ยวข้อเรียกร้องของคณะราษฎรทั้งสามข้อได้แก่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากตำแหน่ง, ต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้ร่างใหม่ทั้งฉบับ และต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

การทวงคืนพื้นที่ รัฐปรับท่าทีผ่อนปรน

การทวงคืนพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญเริ่มขึ้นวันที่ 21 ตุลาคม 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศนัดหมายจุดหลักได้แก่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและประกาศเคลื่อนขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาล วันดังกล่าวสังเกตว่า ตำรวจมีการปรับตัวเพื่อรับมือการชุมนุมที่คาดการณ์ไม่ได้เช่นนี้แล้ว โดยเตรียมกำลังพลรอที่บริเวณสำนักงานตำรวจแห่งชาติจนแน่ใจว่า ผู้ชุมนุมประกาศจุดนัดหมายที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจึงเคลื่อนกำลังพลออกไปปิดบริเวณรอบนอกอนุสาวรีย์ที่เป็นเส้นทางผ่านเข้าไปทำเนียบรัฐบาล

เมื่อผู้ชุมนุมประกาศว่า จะเคลื่อนตัวไปที่ทำเนียบรัฐบาล ลักษณะการเคลื่อนขบวนเป็นไปอย่างยืดหยุ่น หลบเลี่ยงแนวกั้นของตำรวจไปเรื่อยๆ จนถึงแนวกั้นสุดท้ายที่แยกอุรุพงษ์ ผู้ชุมนุมสามารถผลักดันแนวกั้นเข้าไปที่ทำเนียบรัฐบาลได้ โดยเป็นการทวงคืนชัยภูมิสำคัญของคณะราษฎรที่เคยถูกสลายการชุมนุมเมื่อเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และย้ำข้อเรียกร้องที่ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเป็นการยื่นจดหมายลาออกที่ร่างมาแล้วเหลือเพียงแค่พลเอกประยุทธ์ลงนามเท่านั้น 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า จำนวนผู้ชุมนุมและอารมณ์ของผู้คนในสังคมตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมานั้นเป็นส่วนสำคัญผลักดันให้ประชาชนสามารถกลับมาที่ทำเนียบรัฐบาลได้อย่างปลอดภัย แม้ว่าโดยรอบจะมีการวางแนวกั้น พร้อมกำลังพลจำนวนมากที่สามารถปิดล้อมขบวนได้ทุกเมื่อ ความที่รัฐบาลเผชิญกับการวิจารณ์ทุกสารทิศจากปฏิบัติการใช้น้ำฉีดสลายการชุมนุมประกอบกับเผชิญการชุมนุมจากเหล่าแกนนำนิรนามทั่วประเทศ อาจทำให้มีท่าทีอ่อนและยอมผ่อนปรนมากขึ้น  เช่น นายกฯ ยอมยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและมีการประกาศย้ำว่าจะไม่มีการใช้ความรุนแรงในวันดังกล่าว

อย่างไรก็ดี พลเอกประยุทธ์ขอให้ประชาชนถอยคนละก้าว แต่ตัวเขายังคงอยู่ในตำแหน่ง และหลังสิ้นคำขอตำรวจก็ยังเดินหน้าจับกุมแกนนำในยามวิกาลโดยไม่แสดงหมายจับ (มีการแสดงในภายหลัง) ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า คำว่า ‘ถอยคนละก้าว’ ไม่มีอยู่จริง พวกเขาเดินหน้าชุมนุมต่อและทวงคืนพื้นที่โดยวันที่ 24 ตุลาคม 2563 มีการประกาศจัดการชุมนุมจากจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เขานัดชุมนุมที่ราชประสงค์ในวันที่ 25 ตุลาคม วันดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากอีกเช่นเคย ตำรวจมีการแจ้งข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่ไม่มีการสกัดกั้นอย่างที่เคยเป็นมาก่อนหน้า กำลังพลยังคงผลัดเปลี่ยนเตรียมพร้อมในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เมื่อทวงคืนพื้นที่สาธารณะได้ครบถ้วน พวกเขาเริ่มยกระดับการตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์ด้วยการไปยื่นหนังสือต่อสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทยให้ตรวจสอบว่า พระมหากษัตริย์ของไทยมีประวัติการเดินทางเข้าออกเยอรมนีวันใดบ้างเพื่อเปรียบเทียบกับวันที่ลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายสำคัญว่ากระทำบนแผ่นดินเยอรมนีหรือไม่ ซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจเหนืออธิปไตยของดินแดนอื่น

ข้อสังเกตเกี่ยวกับม็อบชนม็อบและความรุนแรง

ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมา การเผชิญหน้ากันระหว่างคณะราษฎรที่ต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กับกลุ่มคนเสื้อเหลืองซึ่งชูพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมประกาศว่าต้องการปกป้องสถาบันกษัตริย์นั้นเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง จากการเก็บข้อมูลพบว่า การปะทะมักเกิดในพื้นที่ที่มีคนเสื้อเหลืองจำนวนมากกว่าคู่ขัดแย้ง กลับกันหากเป็นพื้นที่ที่มีคณะราษฎรจำนวนมากกว่ามักจะไม่มีเหตุปะทะ มีเพียงครั้งเดียวคือ การเผชิญหน้าที่แยกพญาไทระหว่างนิติธร ล้ำเหลือ กับการ์ดของคณะราษฎร แต่ท้ายที่สุดขบวนตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า

วันที่ 14 ตุลาคม 2563  (มีการทำร้ายร่างกาย)

ในการชุมนุมของคณะราษฎรตรงกับวันเสด็จของในหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์ไปยังวัดพระแก้ว ทำให้พื้นที่ราชดำเนินถูกแบ่งเป็นพื้นที่ของ 3 กลุ่มคือ 1. กลุ่มคณะราษฎร 2. กลุ่มผู้ชุมนุมที่คัดค้านการชุมนุมของคณะราษฎร เช่น อดีตพุทธอิสสระและพลตรี นายแพทย์เหรียญทอง แน่นหนา 3. กลุ่มข้าราชการ ลูกจ้าง กทม.และประชาชนที่มารอรับเสด็จ วันดังกล่าวเกิดการปะทะอย่างน้อย 5 ครั้งคือ

เวลา 11.00 น. ชายเสื้อเหลืองบุกต่อยผู้ชุมนุมคณะราษฎร

เวลา 13.05 น. หญิงขับมอเตอร์ไซค์ผ่านกลุ่มเสื้อเหลือง มีการตะโกนด่ากัน กลุ่มเสื้อเหลืองวิ่งเข้ามาและมีการปะทะกันเล็กน้อย ก่อนที่การ์ดและตำรวจจะมาแยกออก

เวลา 13.30 น. หลังคณะราษฎรรื้อต้นไม้บนฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ชายเสื้อเหลืองกรูเข้ามาหาผู้ชุมนุมคณะราษฎร แต่ตำรวจกั้นแนวไว้ทัน

เวลา 17.40 น. หลังขบวนเสด็จเคลื่อนผ่านไป คนเสื้อเหลือง 40 คนได้คล้องแขนไม่ให้คณะราษฎรผ่านและมีการโต้เถียงกัน ตำรวจได้เข้ามาพยายามแยกทั้ง 2 ฝ่าย

มีรายงานว่า มีชายเสื้อเหลืองทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุมคณะราษฎร และทีมงานของช่อง 3 ที่ผ่านเข้าไปช่วยเหลือบริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม

วันที่ 19 ตุลาคม 2563 (มีความพยายามที่จะทำร้ายร่างกาย)

ในการชุมนุมของ ‘เด็กเปรต’ ที่หอนาฬิกาหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีกลุ่มคนเสื้อเหลืองจัดกิจกรรมในพื้นที่เดียวกัน มีรายงานว่า มีการลับฝีปากกันเนืองๆ เช่น แกนนำม็อบเสื้อเหลืองประกาศไปยังม็อบเด็กเปรตว่า “จะพูดอะไรก็ได้ อย่าจาบจ้วงก้าวล่วงสถาบันกษัตริย์” ในส่วนม็อบเด็กเปรตโต้ว่า “วันนี้เราไม่มีการพูดถึงหรือก้าวล่วงสถาบัน จะทำตัวเป็นเด็กเปรตที่ดี” และผู้ชุมนุมม็อบเด็กเปรตร้องเพลง “12345ไอ้เหี้ยตู่” ผู้ชุมนุมม็อบเสื้อเหลืองตะโกนกลับว่า “ไอ้เหี้ยธนาธร” จากนั้นผู้ชุมนุมม็อบเสื้อเหลืองโผเข้ามาจะทำร้ายนักเรียนม็อบเด็กเปรต แต่ตำรวจห้ามปรามทันและมีการปิดล้อมพื้นที่การชุมนุมไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องเข้ายกเว้นผู้สื่อข่าวเท่านั้น

วันที่ 20 ตุลาคม 2563 (ไม่มีความรุนแรง)

ในกิจกรรมคนฝั่งธนรวมพลต้านเผด็จการมีคนประมาณ 3 คนมายืนชูพระบรมฉายาลักษณ์ อยู่บริเวณแยกไฟแดงหน้าเดอะมอลล์บางแค‪ โดยตำรวจกันคนที่ถือพระบรมฉายาลักษณ์ออกไปบริเวณป้อมตำรวจ  ให้ห่างจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ฝั่งหน้าเดอะมอลล์บางแค‪ ผู้ชุมนุมมีการตะโกนไล่ให้กลุ่มดังกล่าวออกไป ผู้ปราศรัยขณะนั้นกล่าวบรรเทาเหตุการณ์บอกผู้ชุมนุมว่า “วันนี้เราจะชุมนุมโดยสงบ” เสร็จสิ้นการชุมนุมโดยไม่มีเหตุขัดแย้ง‬‬

วันที่ 20 ตุลาคม 2563 (ไม่มีความรุนแรง)

เวลา 17.00 น. มีการรวมตัวของประชาชนที่หน้าเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก จนกระทั่งต้องปิดการจราจรที่หน้าห้างบางส่วน โดยประชาชนมีการแสดงออกชูสามนิ้วและป้ายข้อความวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองไทย รวมทั้งป้ายข้อความที่แสดงออกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกง บริเวณใกล้เคียงมีชายคนหนึ่งชูพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ระบุว่า เขาเป็นพ่อค้าที่ตลาดปิ่นทอง ฝั่งตรงข้ามห้าง ต้องการมาแสดงออกถึงความจงรักภักดี ไม่มีเจตนาก่อกวน เสร็จสิ้นการชุมนุมโดยไม่มีเหตุขัดแย้ง

ต่อมาวันที่ 24 ตุลาคม 2563 สื่อจำนวนมากรายงานภาพในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินีเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมประชาชน ระหว่างที่ทรงเยี่ยมนั้นพระราชินีทรงสังเกตเห็นชายที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์คนดังกล่าวแล้วตรัสว่า “คนนี้ยืนถือป้ายท่ามกลางผู้ประท้วง ขอบคุณมาก ขอบคุณมาก” จากนั้นในหลวงทรงตรัสว่า “กล้ามาก กล้ามาก เก่งมาก เก่งมาก ขอบใจมาก”

วันที่ 21 ตุลาคม 2563 (มีการผลักดันจนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ)

คณะราษฎรนัดเดินเท้าไปทำเนียบรัฐบาล บริเวณแยกพญาไท นิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา ปรากฏตัวแล้วชูป้ายข้อความว่า “ละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ห้ามผ่าน” มีการโต้เถียงกับการ์ดโดยมีแผงเหล็กกั้นระหว่างกันไว้ เมื่อตรวจสอบคลิปวิดีโอของเนชั่นทีวีจะพบว่า นิติธรกล่าวว่า ถ้าละเมิดสถาบันฯ จะไม่ให้ข้ามไป การ์ดโต้แย้งว่าจะไม่ให้ผ่านได้อย่างไร ด้านหลังมีคนจำนวนมากรอเดินผ่าน การ์ดพยายามขอให้ออกไปเพราะกลัวจะมีปัญหา จากนั้นมีการผลักดันรั้ว นิติธรพูดซ้ำๆ ว่า สันติวิธีอยู่เฉยๆ จังหวะต่อมามีกลุ่มมอเตอร์ไซค์เข้ามาและมีการผลักดันมาจากด้านหลัง ทำให้นิติธรและผู้ที่อยู่หลังแผงเหล็กต้องถอยหลังไป

ขณะที่คำให้สัมภาษณ์ในที่เกิดเหตุของเขาที่เผยแพร่โดยอมรินทร์ ทีวี นิติธรกล่าวว่า จะผ่านก็ผ่านแต่อย่ามาทำร้ายกัน มีเสียงคนพูดว่า “ไม่มีใครทำร้ายกัน” นิติธรโต้ว่า “ไม่มีได้ยังไง ผลักผมดึงกระดาษผมไป” ผู้สื่อข่าวถามว่า “แค่ดึงกระดาษทำร้ายอย่างไร” นิติธรชี้หน้าและโต้กลับว่า “แค่ดึงกระดาษนี่คุณถามได้อย่างไร แค่ดึงกระดาษทำร้ายผมไหม สันติวิธีแตะต้องตัวผมได้ไหม” เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า “เห็นไหมว่าใครเป็นคนแตะตัว” นิติธรตอบว่า “ผมจำหน้าไม่ได้แต่ผมเห็น” และยืนยันว่าไม่ได้ยั่วยุและปฏิเสธที่จะตอบคำถามเรื่องพันธมิตรฯ ต่อมาเขาเปิดเผยกับพีพีทีวีด้วยว่า เขาได้รับบาดเจ็บจากการกระชากและผลัก ซึ่งไม่ได้ระบุว่า ใครเป็นผู้กระทำแต่การ์ดของผู้ชุมนุมเข้ามาช่วยเหลือ

วันที่ 21 ตุลาคม 2563 (มีการทำร้ายร่างกาย)

วันเดียวกันที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีเหตุเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มอาชีวะช่วยชาติกับเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ตำรวจมีการตั้งแผงเหล็กกั้นระหว่างผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย ต่อมากลุ่มอาชีวะช่วยชาติประมาณ 80 คนเรียกรวมตัวเพื่อเตรียมเดินแถวไปบอกกลุ่มผู้ชุมนุมอีกกลุ่มที่รอรวมตัวกันประมาณ 20 คนว่า พื้นที่นี้เป็น ‘พื้นที่ของพระมหากษัตริย์’ ให้ออกไป แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตและพยายามห้ามไม่ให้กลุ่มอาชีวะช่วยชาติผ่านรั้วเหล็กมา แต่กลุ่มอาชีวะช่วยชาติก็ใช้กำลังผลักดันรั้วเหล็กด่านแรกของเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาได้

จากนั้นตรงเข้าไปหากลุ่มผู้ชุมนุมอีกกลุ่มอย่างรวดเร็วพร้อมทั้งชูพระบรมฉายาลักษณ์และโบกธงเหลือง มีการล้อมรถกระบะเครื่องเสียงของกลุ่มนักศึกษา มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย มีชายคนหนึ่งตะโกนว่า “ออกไป” “อย่าทำนักศึกษา” จากนั้นเขาถูกคนสวมเสื้อเหลืองเข้ามาทำร้าย และเกิดการชุลมุนกัน มีการโยนกรวยจราจรขึ้นไปบนรถปราศรัย มีการทุ่มลำโพงใส่นักศึกษาที่อยู่บนรถกระบะ ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่จนถึงปัจจุบันตำรวจยังตามหาผู้กระทำความผิดไม่ได้

วันที่ 24 ตุลาคม 2563 (ไม่มีความรุนแรง)

มติชนออนไลน์รายงานว่า ประชาชนในนามคณะราษฎร “รวมพลคนแม่กลอง #สมุทรสงครามปลดแอก” ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนประมาณ 50 คนรวมตัวที่ตลาดแม่กลอง เขตเทศบาลเมืองสมุทรสงคราม โดยแกนนำได้ใช้โทรโข่งปราศรัยในประเด็นต่างๆ บริเวณใกล้เคียงมีกลุ่มคนเสื้อเหลืองมารวมตัวกันเมื่อได้ยินคำปราศรัยวิจารณ์รัฐบาล ทำให้กลุ่มคนเสื้อเหลืองซึ่งส่วนใหญ่ค่อนข้างมีอายุออกมาตะโกนว่า “ไม่รู้หรือแผ่นดินนี้มีบุญคุณมากมายขนาดไหน”, “เป็นเด็กไม่รู้อะไรให้ตั้งใจเรียนหนังสือดีกว่า อยากเปลี่ยนนายกให้ประเทศแย่กว่านี้หรือ” มีการปะทะคารมกันไปมา ก่อนที่จะแยกย้ายโดยไม่มีเหตุความรุนแรง

ประมวลเหตุการณ์การชุมนุมในเดือนตุลาคม 2563

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว