Reflection from Prison: ความในใจของกิ๊งส์ นักศึกษาวัย 21 ปี ที่ถูกจองจำเพราะร่วมการชุมนุมคณะราษฎรอีสาน

“วินาทีที่เข้าไปในเรือนจำ คือ มันแย่มาก เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิดเลยแต่ต้องถูกส่งเข้ามาอยู่ในคุก ต้องมีคำนำหน้าว่า ข.ญ. ที่แปลว่า ขังหญิง คือการเป็นนักโทษ”

เรื่องราวของกิ๊งส์ นักศึกษาวัย 21 ปี ที่ถูกคุมขังจากการร่วมชุมนุม คณะราษฎรอีสาน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563

“ปกติเราอยู่ขอนแก่น คอยช่วยงานกลุ่ม ‘ขอนแก่นพอกันที’ อยู่บ้าง แต่ไม่ได้เป็นแกนนำหรืออยู่ในทีมงานอะไร ช่วงที่มีม็อบที่ขอนแก่นบ่อยๆ เราก็ไป วันที่ 13 ต.ค. รู้ว่าทางกลุ่มจะมาร่วมที่กรุงเทพฯ ด้วย เราว่างและอยากไปด้วย พอดีว่ารถมีที่ว่างก็เลยได้มากับเขา”

“วันที่ 13 ลงรถที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแถวหน้าร้านแมคโดนัลด์ ตอนแรกไม่มีเหตุการณ์อะไร ปกติดี เราจัดของ เตรียมพื้นที่สำหรับนอนค้าง นั่งดริปกาแฟกับพี่ๆ สักพักมีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบมาถามก่อนว่ามาทำอะไรกัน แต่ก็ไม่มีอะไร ช่วงสายมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาไล่ที่ บอกตรงนี้ทำไม่ได้ เป็นพื้นที่สาธารณะ”

“เรากำลังเขียนป้ายอยู่ในเต็นท์ มีคนพูดว่า ‘ตำรวจมา ออกมาช่วยกันเร็ว’ เราก็ออกไปข้างหน้า ไปยืนคล้องแขนเป็นรั้ว ตอนนั้นชุลมุนมากๆ คนเยอะแล้วก็มีการดันกัน พื้นถนนก็ลื่น เราโดนกระทืบที่เท้า จำได้เลยว่าเป็นรองเท้าคอมแบทของตำรวจแน่ๆ เขากระทืบแรงมากจนเราเสียหลัก พอเราล้มเขาก็กระชากตัวเราออกมา แล้วก็เตะอีกทีหนึ่งให้เราหลุดออกจากตรงนั้น”

“เขาพยายามจะลากตัวเราไปแต่เราขัดขืน เขาล็อคตัวแล้วพยายามกระชากให้ขึ้นไปบนรถ เราก็ขัดขืนอีก นั่งอยู่ตรงบันไดทางขึ้นรถผู้ต้องหา ในหัวคือคิดว่า ‘เฮ้ย เราไม่ได้ทำผิด ทำไมต้องขึ้นไปบนรถผู้ต้องหา’ ตอนนั้นได้ยินเขาตะโกนตลอดว่า ‘ลากมันออกมาๆ’ สักพักหนึ่งพอเราไม่ยอมเดินขึ้นไปบนรถ เขาก็ไปเรียกเจ้าหน้าที่ผู้หญิงมา เจ้าหน้าที่ผู้หญิงพูดกับเราว่า ‘น้องขึ้นไปเถอะ มันไม่มีอะไร ขึ้นตามพี่เขาไป ปลอดภัยๆ’ เราก็แบบ เฮ้ย มันจะปลอดภัยได้ไง มันคือรถผู้ต้องหา ถ้าขึ้นไปก็เท่ากับเราเป็นผู้ต้องหาสิ”

“เขาทำเหมือนว่าพวกเราไม่ใช่คน เขาทำทุกอย่างเลย ล็อคแขน ล็อคขา อุ้มเราเหมือนสัตว์ตัวหนึ่งที่เขาจะอุ้มไปฆ่า สภาพนั้นเลย คนที่อุ้มก็เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ชายตั้งหลายคน มีนอกเครื่องแบบด้วย”

“สิ่งที่ทำให้รู้สึกแย่มากคือ มีคนใส่เสื้อเหลืองคนหนึ่งเดินผ่านเราไปตอนที่กำลังถูกกระชากขึ้นรถ เขาเดินมาชี้หน้าเราแล้วบอกว่า ‘จับแม่งไปให้หมดเลย’ เขาพูดแบบนี้ใส่หน้าเรา”

“เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อประเทศชาติ ไม่ใช่เพื่อตัวเองคนเดียว แล้วจริงๆ วันที่ 13 ต.ค. มันยังไม่ได้มีกิจกรรมอะไร พวกเราแค่จะมาปักหลักค้างคืนเพื่อทำกิจกรรมชุมนุมใหญ่ในวันพรุ่งนี้”

“พอขึ้นไปอยู่บนรถ มันตื้อไปหมด เราสายตาสั้น แว่นหล่นหายไปแล้ว มองอะไรไม่เห็น ทุกคนที่โดนจับก็พยายามถามเจ้าหน้าที่ว่าจะพาไปไหน เขาก็ตอบว่า ‘ไม่รู้ๆ’ ไม่บอกอะไรทั้งนั้น”

“ตอนที่โดนจับไม่มีโทรศัพท์ ใช้วิธีติดต่อพ่อแม่ผ่านคนอื่น บอกพ่อแม่ว่าเขาไม่ทำอะไรหรอก เดี๋ยวก็ปล่อย แต่พอมารู้ว่าต้องโดนฝากขัง เข้าไปอยู่ในเรือนจำ ตอนนั้นตกใจมาก เพราะตอนแรกคิดว่าอยากจะรีบออกไปสมทบกับเพื่อนๆ ข้างนอก จะไปเสริมพลังกัน คิดอยู่แล้วว่ายังไงเขาก็ให้ประกัน ตกใจมากจริงๆ ไม่ได้ตั้งตัวเลยว่าจะต้องเข้าคุก”

“วินาทีที่เข้าไปในเรือนจำ คือ มันแย่มาก เรารู้สึกว่าไม่ได้ทำอะไรผิดเลยแต่ต้องถูกส่งเข้ามาอยู่ในคุก ต้องมีคำนำหน้าว่า ขญ ที่แปลว่า ขังหญิง คือการเป็นนักโทษ ผู้หญิง 3 คนที่โดนจับพร้อมกันเดินเข้าไป พอเจ้าหน้าที่เขาเห็นว่าเราเดินลำบาก เล็บนิ้วเท้าที่โดนกระทืบมันฉีก แล้วก็เจ็บไปทั้งตัว เขาเลยแยกเราให้อยู่แดนที่เป็นศูนย์พยาบาล แยกกับอีก 2 คน”

“ขั้นตอนแรกที่เข้าไปเขาจะตรวจว่า เอาอะไรติดตัวมาบ้าง มีของมีค่าอะไรให้ฝากไว้ที่เขาให้หมด ตอนแรกไม่ให้เราเอาแว่นเข้าไป เราสายตาสั้นมาก มองไม่เห็น ก็ขอร้องเจ้าหน้าที่ เขาถึงยอมให้เอาเข้าไปได้ แว่นนี่เราก็ยืมมาจากน้องฟ้าคนที่โดยจับพร้อมกัน จากนั้นเขาก็ซักประวัติเยอะมากๆ ด้วยความที่เขาใช้ระบบเขียน มันเลยช้าและวุ่นวาย มีการถามโรคประจำตัว ตรวจโควิดแบบที่แทงเข้าจมูก แล้วก็พาเราไปตรวจตัว”

“เขาให้เราแก้ผ้าให้หมดแล้วทิ้งชุดเดิม เขาบอกว่าเป็นมาตรการตรวจโควิด แล้ววันนั้นเราเป็นประจำเดือนวันแรก เราก็ขอเจ้าหน้าที่ว่า ขอไม่ถอดชั้นในได้มั้ย กลัวประจำเดือนไหล มาวันแรกมันเยอะมากๆ เขาบอกว่า ต้องถอด พอเราถอดเสื้อผ้าออกหมด เขาก็ให้ยกแขน พลิกมือพลิกเท้า และก็ให้นั่งยองๆ ดูว่าซ่อนอะไรไว้หรือเปล่า ตอนที่ตรวจคือมีเจ้าหน้าที่หลายคนมาก เราก็รู้สึกว่า ‘เฮ้ย มันต้องทำถึงขั้นนี้เลยหรอ’ ”

“พอตรวจตัวเสร็จก็พาเราไปอาบน้ำ ตอนที่อาบน้ำเรารู้สึกแย่มาก แย่กว่าตอนแก้ผ้าอีก มีเจ้าหน้าที่ 5-6 คนยืนเฝ้าเราคนเดียวอาบน้ำ เขาจ้องแบบไม่ละสายตา รู้สึกเหมือนโดนคุกคาม พออาบน้ำเสร็จก็พาเราขึ้นไปห้อง ในห้องแน่นมาก มี 76 คนรวมเราด้วย ต้องนอนแบบไม่พลิกตัว เพราะถ้าพลิกคือจ๊ะเอ๋กับคนข้างๆ”

“คืนแรกที่เข้าไปก็นอนร้องไห้ ทั้งตกใจที่ต้องมาอยู่ในนี้ ทั้งเสียใจที่ไม่ได้ออกไปสู้ต่อ แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าจะต้องอยู่อีกนานแค่ไหน เพราะเราก้าวขาเข้ามาในเรือนจำแล้ว พอเช้าตื่นมาเจอสภาพการใช้ชีวิตของนักโทษยิ่งทำให้รู้สึกแย่เข้าไปอีก ห้องน้ำคือเป็นบล็อคเดียว ต้องทำทุกอย่างในนั้น ทั้งอาบน้ำ ถ่ายหนัก ถ่ายเบา ซักผ้า ล้างจาน ทุกอย่างจริงๆ แล้วห้องก็เป็นห้องเล็กๆ โคตรจะไม่ถูกสุขอนามัย”

“ด้วยความที่เข้าไปในนั้น เราไม่ได้ใส่ชุดชั้นในเพราะมันไม่มีไซส์เรา มีแต่ไซส์เล็ก ไม่มีคนบริจาคไซส์ใหญ่เลย และเราเป็นประจำเดือน เขาก็ให้เราใส่ผ้าอนามัยแบบห่วงที่มันเขียนว่าสำหรับคนท้องหรือคนที่ผ่าตัดมา เราต้องทนอยู่แบบนั้น เราอยู่ในเรือนจำ 6 วัน เราเป็นประจำเดือนทั้งหมดเลย”

“เราไปถามคนดูแลที่เป็นแม่ห้องว่าถ้าญาติมาเยี่ยมต้องทำยังไง เขาบอกว่าญาติยังเยี่ยมไม่ได้เพราะต้องกักตัวโควิด 14 วันก่อน ห้ามลงไปเดิน ห้ามซื้อของ ต้องอยู่แต่ในห้อง ได้ออกมาเฉพาะตอนที่พบทนาย ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเป็นการกักตัวยังไง เพราะนอนติดกัน 76 คน แต่รายชื่อที่ติดไว้หน้าห้องมี 19 คน คือ มันจะมีพวกที่ต้องทำงานข้างนอก เรียกว่ากองนอก ออกไปทำงานนอกเรือนจำ แต่กลับมานอนด้วยกันเหมือนเดิม”

“อาหารการกินคือแย่มากๆ เราเหมือนกินเจเลย ข้าวมื้อแรก จำได้เลยว่ามีข้าวสวยที่ใส่น้ำเปล่าธรรมดา แล้วก็แกงจืดฟัก ตัดชิ้นใหญ่ๆ ไม่มีเนื้อสัตว์ อยู่ในนั้นเราทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากดูเวลา ทนายบอกกับเราว่า ถ้า 2 ทุ่มเขามาเรียกแปลว่าได้ปล่อยตัว เราก็ถามทนายตลอดว่าจะได้ปล่อยวันไหน ทนายก็ตอบไม่ได้”

“6 วันที่ต้องอยู่ในนั้น เราจิตตกมากๆ รู้สึกแย่จริงๆ มันไม่ได้รับข่าวสารอะไรเลย ทุกคนที่อยู่ในห้องนั้นถูกสั่งห้ามคุยกับเรา เราเข้าไปเหมือนเป็นตัวประหลาด ตอนแรกก็ไม่ได้เอะใจ คิดว่าคนใหม่เขาคงไม่เล่นด้วยมั้ง แต่มีพี่คนหนึ่งแอบมากระซิบว่า โดนสั่งห้ามไม่ให้คุย ทุกคนก็เลยทำได้แค่มองเฉยๆ ในนั้นเขาจะให้เรารู้เฉพาะข่าวที่เขาอยากให้รู้แค่นั้น พวกข่าวในพระราชสำนักกับให้ดูหนังทั่วๆ ไป”

“ในผู้หญิง 3 คนที่โดนจับ เราเป็นคนเดียวที่โดนตัดผม โดนตัดวันที่ 19 คือวันสุดท้ายที่อยู่ในนั้น เขาพยายามจะตัดผมเราตลอด เราก็ใช้วิธีไม่คุยกับใคร นอนอย่างเดียว แต่วันนั้นเราต้องออกจากห้องไปพบทนาย เขาก็เรียกเราไป จับนั่งเก้าอี้ ใส่เสื้อวิน แล้วก็ตัดเลย จริงๆ ต้องโดนย้อมผมด้วย แต่เราต้องไปพบทนายเลยผลัดไปก่อน”

“เหมือนเราย้อนกลับไปอยู่สมัยที่ยังไม่เลิกทาส โดนปฏิบัติเหมือนเป็นทาสมากๆ เจ้าหน้าที่ในเรือนจำเขาจะให้เรียกว่า ‘คุณ’ แล้วเขาจะเรียกแทนตัวเองว่า ‘คุณ’ ด้วย ถ้ามีอายุหน่อยจะแทนว่าแม่ เวลาผู้คุมเดินผ่านเขาจะให้เราหลบแล้วให้นั่งลงกับพื้น สิ่งที่ทำให้ตกใจคือ มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเขาคุยกับเราอยู่ เราก็นั่งกับพื้นเงยหน้าคุยกับเขาเนี่ยแแหละ แล้วมีนักโทษคนหนึ่งเขาเป็นคนทำงานเอกสารจะเอาเอกสารมาให้ผู้คุมดู เขาคุกเข่าแล้วคลานเข้ามาหา เราตกใจมากว่าเป็นแบบนี้ได้ยังไง”

“หลังจากนี้ เราก็จะไม่หยุดเคลื่อนไหวนะ ยังจะไปม็อบเหมือนเดิม กระจายข่าวเหมือนเดิม เหมือนเขาพยายามทำให้เรากลัว แต่ยิ่งเขาทำแบบนี้เรายิ่งไม่กลัว ยิ่งรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันต้องได้รับการแก้ไขสักที”

“ทุกวันนี้ก็ยังขอบคุณทุกคนที่ยังออกมาสู้ มันอาจจะมีเหนื่อยมีท้อบ้าง ยิ่งพอมาเจออะไรแบบนี้ บางคนอาจกลัว แต่เราอยากบอกว่าไม่ต้องกลัว ยิ่งออกมาช่วยกันมากเท่าไหร่ ยิ่งเสริมพลังกัน มันยิ่งทำให้ฝ่ายนั้นเขากลัวเรามากขึ้น แล้วมันจะทำให้เราชนะ ยังยืนยันคำเดิมว่า ยังไงเราก็ต้องชนะ 3 ข้อเรียกร้องเรามันต้องได้ทำจริงๆ”

———-
วันที่ 13 ตุลาคม นักกิจกรรมซึ่งส่วนหนึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะราษฎรอีสาน” เดินทางมาตั้งเต็นท์เตรียมเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ของคณะราษฎรในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 หลังพวกเขาตั้งเต็นท์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยฝั่งแม็คโดนัลด์ราชดำเนินแล้วเสร็จและเริ่มตั้งเวทีปราศรัย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ใช้กำลังเข้ารื้อเต็นท์และทำการจับกุมผู้ชุมนุมรวม 21 คน ไปควบคุมตัวที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 ปทุมธานี หนึ่งคืน

ผู้ถูกจับกุมทั้ง 21 คน ถูกตั้งข้อกล่าวหารวม 10 ข้อกล่าวหา ได้แก่

  • ชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์, ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงาน, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร, ร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, 358, 368, 385, 391 ตามลำดับ
  • ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมทำกิจกรรมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค
  • กระทำการซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาดออกไป ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6)
  • ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114
  • ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี บนพื้นถนน, ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12, 19 ตามลำดับ
  • ขณะที่จตุภัทร์หรือ ไผ่ ดาวดิน ถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพิ่มเติมอีกข้อหาหนึ่ง

ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่คณะราษฎรนัดชุมนุมใหญ่ ผู้ต้องหา 19 คน ไม่รวมจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นที่ถูกดำเนินคดีในศาลอาญาและผู้ต้องหาเยาวชนอีกหนึ่งคนที่ถูกดำเนินคดีในศาลเยาวชน ถูกนำตัวไปที่ศาลแขวงดุสิตเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวนและไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งหมดประกันตัวโดยอ้างเหตุว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์รุนแรงและต่อสู้กับเจ้าพนักงาน ผู้ต้องหาทั้ง 19 คนถูกฝากขังเป็นเวลา 6 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัวในวันที่ 19 ตุลาคม 2563 เบื้องต้นศาลแขวงดุสิตไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้ง 19 คน ประกันตัว แต่ทั้งหมดอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมดในวันเดียวกัน

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว