มาตรา 112 ถูกใช้ไปไกลแค่ไหน ในยุคที่มีการชุมนุมของคณะราษฎร – นักศึกษา 2563

ในปี 2563 เราค่อยๆ ได้เห็นการไต่ระดับของปรากฎการณ์ “พังฝ้าทะลุเพดาน” ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมาก่อน  เริ่มต้นจากการชุมนุมตามสถานศึกษาของนักเรียนนักศึกษาตั้งแต่ช่วงต้นปีเรื่อยมาจนมีการชุมนุมใหญ่เกิดขึ้นหลายครั้งช่วงกลางปีและปลายปี นัยยะสำคัญของการเคลื่อนไหวรอบนี้ไม่ใช่แค่จำนวนคนที่ออกมาร่วมชุมนุม แต่รวมถึงข้อเรียกร้องที่มีความหนักแน่น ชัดเจน และตรงไปตรงมาแบบที่ไม่เคยปรากฎในครั้งไหนๆ 
การเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรก โดยอานนท์ นำภา เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดยในการปราศรัยครั้งนั้น ประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมาพูดคือการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ และความจำเป็นที่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 
อย่างไรก็ดี การปราศรัยในครั้งนั้นของ อานนท์ นับเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะหลังจากนั้น ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้แถลงย้ำจุดยืนอีกครั้งด้วยข้อเรียกร้อง 10 ประการเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันฯ โดยมีใจความสำคัญเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์และการจำกัดพระราชอำนาจให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 
นับจากนั้นเป็นต้นมา การชุมนุมเกือบทุกครั้งที่เกิดขึ้นก็จะมีประเด็น “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องที่แกนนำจะต้องพูดถึงอยู่เสมอ และข้อหา “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ตามมาตรา 112 ก็ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้งเมื่อการชุมนุมมีแนวโน้มเข้มข้นขึ้น แต่สำหรับผู้ปราศรัยในประเด็นปฏิรูปสถาบันฯ เมื่อถูกดำเนินคดีช่วงแรกก็จะถูกตั้งข้อหาฐาน “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา116 เป็นข้อหาที่หนักที่สุด จนกระทั่งในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ว่า จะบังคับใช้กฎหมาย “ทุกฉบับ ทุกมาตรา” กับผู้ชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมาย และตั้งแต่นั้นมาก็เกิดเป็นกระแสการระดมตั้งข้อหามาตรา 112 กับการแสดงออกทางการเมืองระลอกใหม่ ที่กว้างขวางกว่าที่เคยเป็นมา
+++ 112 รีเทิร์น เมื่อข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ถูกนำกลับมาใช้จัดการผู้ชุมนุม +++
พริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นับเป็นแกนนำคนแรกที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือมาตรา 112 โดยได้รับหมายเรียกในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 นับเป็นการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ครั้งแรกหลังจากที่มีการหยุดพักการใช้กฎหมายดังกล่าวไปตั้งแต่ต้นปี 2561
หลังจากที่พริษฐ์ ได้รับหมายเรียก ผู้ปราศรัยคนอื่นๆ ที่เคยพูดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ ก็ทยอยได้รับหมายเรียก โดยบางคนได้รับการแจ้งเป็นคดีใหม่ บางคนถูกเรียกกลับไป “รับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม” ในคดีที่เคยโดนแจ้งข้อกล่าวหาอื่นไว้ก่อนแล้ว แต่มาเพิ่มข้อหามาตรา 112 ในภายหลัง จากตารางบันทึกข้อมูลคดีของไอลอว์ นับถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 มีจำนวนคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 44 คดี โดยเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม 24 คดี  มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 58 คนซึ่งในจำนวนนี้มีเยาวชนอย่างน้อย 3 คน 
และจากตารางข้อมูลคดีดังกล่าว พบว่าการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในยุคการชุมนุมของราษฎร 2563 นี้มีการกระทำและพฤติการณ์หลากหลายรูปแบบที่ถูกดำเนินคดี 
๐ การปราศรัยในที่ชุมนุม มีนักกิจกรรมอย่างน้อย 33 คน ที่ถูกดำเนินคดีจากการกล่าวคำปราศรัยบนเวทีที่ชุมนุม เช่น การชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวง มีผู้ถูกดำเนินคดี 7 คน หรือการชุมนุม #26ตุลาไปสถานทูตเยอรมัน ที่หน้าสถานทูตเยอรมัน มีผู้ถูกดำเนินคดีมากถึง 13 คน 
๐ การแต่งกาย มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 9 คนที่ถูกดำเนินคดีจากการสวมชุดไทย และเสื้อครอปท็อปเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม
๐ การแขวนป้ายผ้า/ชูป้าย/พ่นสีสเปรย์/ติดสติ้กเกอร์ มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 7 คนที่ถูกดำเนินคดี
๐ การแสดงความคิดเห็นบนโซเชี่ยลมีเดีย มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 11 คนที่ถูกดำเนินคดี โดยที่อย่างน้อย 5 คนได้แก่ อานนท์, ปนัสยา, พริษฐ์, ภาณุพงษ์ และชลธิชา ถูกแจ้งข้อหาจากกิจกรรมโพสต์ “จดหมายถึงกษัตริย์” เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 นอกจากนี้ ยังมีกรณีของสมบัติ ทองย้อย และทราย เจริญปุระ ที่ถูกดำเนินคดีจากการโพสต์ข้อความว่า “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” 
๐ การผลิตสินค้าจำหน่าย มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 3 คนที่ถูกดำเนินคดี จากการจำหน่ายปฏิทินเป็ดพระราชทานและการจัดพิมพ์หนังสือ “ปรากฎการณ์สะท้านฟ้า” ที่เป็นการรวบรวมบันทึกคำปราศรัยของอานนท์ 
(อ้างอิงจากตารางบันทึกคดีมาตรา 112 https://freedom.ilaw.or.th/node/817 )
+++ ขอบเขตของม.112 อยู่ตรงไหน ประชาชนไม่เคยรู้ +++
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” 
ขอบเขตการตีความและการบังคับใช้มาตรา 112 เป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาที่มีการถกเถียงมากที่สุด เนื่องจากในแง่ตัวบทกฎหมายเองนั้น การบัญญัติให้องค์ประกอบความผิดที่ว่าด้วยการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายอยู่ด้วยกันในมาตราเดียว ย่อมทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการแสดงความคิดเห็นแบบใดเป็นความผิดบ้าง เนื่องจากเมื่อรวมกันแล้วเป็นองค์ประกอบความผิดที่กว้างมาก เปรียบเทียบกับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา มาตรา 326 ที่ระบุบทนิยามของคำว่า “หมิ่นประมาท” ไว้ชัดเจนกว่า ประชาชนย่อมพอจะคาดหมายได้ว่า สิ่งใดที่ทำแล้วจะเป็นความผิดหรือไม่ อีกทั้งยังได้แยกความผิดฐานดูหมิ่นบุคคลธรรมดาไว้ในอีกมาตราหนึ่ง ส่วนการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อบุคคลธรรมดาก็ไม่เป็นความผิด 
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 บัญญัติว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” 
นอกจากในแง่ของตัวบทแล้ว การบังคับใช้ก็นับเป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งเนื่องจากมีการตีความมาตรา 112 อย่างกว้างขวางเพื่อดำเนินคดีและเอาผิดกับการกระทำหลายรูปแบบอย่างไม่มีขอบเขต การกระทำบางอย่างดูเหมือนจะไม่ใกล้เคียงที่จะเป็นการ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย แต่ก็ถูกดำเนินคดี เช่น คดีนักศึกษาที่จ.ลำปาง แขวนป้ายผ้าข้อความว่า “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีน Covid19” หรืออย่างกรณีนักศึกษาที่จำหน่าย “ปฏิทินเป็ดเหลือง” ที่มีข้อความว่าปฏิทินพระราชทาน 
อย่างไรก็ตาม การตีความกฎหมายกว้าง ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ เพราะก่อนหน้านี้ ศาลเคยมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยโดยการตีความเกินตัวบทให้มาตรา 112 ครอบคลุมถึงรัชกาลที่ 4 หรือสมเด็จพระเทพฯ ทั้งที่ทั้งสองพระองค์นี้ไม่ได้เป็นบุคคลที่อยู่ในความคุ้มครองของมาตรา 112 
+++ เมื่อกฎหมายตีความไปไกล ไม่ว่าจะพูดตรงๆหรือแสดงออกทางอื่น ก็โดน 112 +++ 
แกนนำผู้ปราศรัยหลายคนถูกดำเนินคดีจากการปราศรัยพาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงเรื่องพระราชอำนาจ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ และเรื่องอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งจากการติดตามบันทึกแจ้งข้อหาของศูนย์ทนายฯ พบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการถอดเทปคำปราศรัยและคัดเลือกถ้อยคำบางส่วนพร้อมกับระบุชัดเจนว่า ข้อความเหล่านั้นถือเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จำเป็นต้องมีการดำเนินคดี 
อย่างไรก็ตาม มีผู้ต้องหาหลายคนที่ถูกดำเนินคดีจากการกระทำอื่นที่ไม่ใช่การปราศรัยหรือกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น
กรณีจตุพรและนภสินธ์ุเยาวชน 2 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามม. 112 จากการสวมเสื้อครอปท็อปและแต่งชุดไทย ไปเข้าร่วมการเดินแฟชั่นที่ถนนสีลมในกิจกรรม #เพราะทุกที่คือรันเวย์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 โดยในบันทึกแจ้งข้อหาของจตุพร เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า …การเดินบนพรมแดง สวมชุดหรือเครื่องแต่งกายและแสดงท่าทางประกอบการเดินแบบ โดยมีเจตนาให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นการแสดงการเสด็จเยี่ยมพสกนิกรของสมเด็จพระราชินี โดยระหว่างการเดินบนพรมแดง มีกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณโดยรอบที่ชมการแสดงอยู่ ได้แสดงท่าทางคล้ายหมอบกราบ การที่จตุพรได้แสดงท่าทางเลียนแบบจนบุคคลอื่นเข้าใจว่าเป็นการกระทำอันเป็นการล้อเลียนพระราชินี จนมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ชมการแสดงตะโกนว่า “พระราชินี” ตลอดการเดิน จึงเชื่อว่ามีเจตนาล้อเลียนสมเด็จพระราชินี ทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกเป็นการดูหมิ่น เกลียดชัง…
ส่วนกรณีของนภสินธุ์ มีการระบุว่า ...ที่แต่งกายสวมชุดเสื้อกล้ามครึ่งตัวสีดำ บริเวณผิวหนังด้านหลังปรากฎข้อความ “พ่อกูชื่อมานะไม่ใช่ วชิราลงกรณ์” แปลความได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ใช่พ่อกู เป็นการแสดงออกโดยมีเจตนาให้ประชาชนทั่วไป รู้สึกดูหมิ่นหรือเกลียดชัง สถาบันพระมหากษัตริย์ ประกอบกับแสดงกิริยาท่าทางประกอบโดยการเดินบนพรมแดง อีกทั้งผู้ชุมนุมโดยรอบที่ชมการแสดงอยู่ ตะโกนข้อความว่า “ทรงพระเจริญ” “ในหลวงสู้ๆ”พร้อมทั้งแสดงท่าทางคล้ายการหมอบกราบ เป็นการแสดงโดยเจตนาให้ประชาชนทั่วไปทราบว่าตนแสดงกิริยาท่าทางล้อเลียนพระมหากษัตริย์อันเป็นการทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชัง ลดคุณค่าต่อพระเจ้าอยู่หัว…
หรือ กรณีการดำเนินคดีกับทราย เจริญปุระ จากการชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 ในบันทึกแจ้งข้อหามีข้อความปรากฎว่า ผู้ต้องหามีพฤติการณ์เป็นตัวการร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะร่วมกับแกนนำผู้ปราศรัยคนอื่นๆ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.บางเขนระบุพฤติการณ์ว่า “…อินทิรา มีหน้าที่จัดหารถตู้เพื่อใช้รับส่งประชาชนเพื่อให้ความสะดวกในการมาชุมนุมและเป็นผู้บริหารการทำงานของการ์ดและเป็นผู้ส่งอาหาร น้ำดื่มให้กับผู้ชุมนุม โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อมาใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์…” นอกจากนี้ยังได้มีการระบุพฤติการณ์อื่นประกอบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมว่า มีข้อความที่ปรากฎในเฟซบุ๊กของอินทิรา “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” “ก็ตาสว่างกันหมดแล้ว” “ฉันคงไม่กลับไปรักเธอ”  อันมีลักษณะเป็นการล้อเลียนสถาบันพระมหากษัตริย์ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ 
+++ ไม่แจ้งพฤติการณ์คดี ตำรวจทำผิดขั้นตอนเสียเอง +++
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 บัญญัติว่า “เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียก หรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบ”
กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดขั้นตอนในการแจ้งข้อหาของพนักงานสอบสวนไว้ว่า เมื่อผู้ต้องหามาปรากฎอยู่ต่อหน้าแล้ว จะต้องมีการถามชื่อ ข้อมูลส่วนตัว และต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิดก่อนแล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบ 
แต่มีเหตุการณ์อย่างน้อยหนึ่งครั้งที่พนักงานสอบสวนไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด คือ กรณีการแจ้งข้อกล่าวหาคดีมาตรา 112 ต่อ พริษฐ์  เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 กรณีการปราศรัยที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 จากเอกสารบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ทำโดยตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่น ระบุว่า “ผู้ต้องหาได้ร่วมกันกับพวกคบคิดและตกลงให้ผู้กระทำความผิดอื่นซึ่งยังไม่ปรากฎว่าเป็นผู้ใดทำหน้าที่ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์(โทรศัพท์มือถือ) ล็อคอินเข้าระบบอินเทอร์เน็ตแล้วเข้าไปทำการถ่ายทอดสด(ไลฟ์สด)การปราศรัยของผู้ต้องหาผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ขอนแก่นพอกันที” ซึ่งใช้ URL (ที่อยู่ทางอินเทอร์เน็ต)ว่า https://www.facebook.com/official.kkporgentee/ โดยตั้งค่าเป็นสาธารณะหรือที่บุคคลทั่วไปที่เป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กและเปิดใช้งานเฟซบุ๊กและเป็นผู้ติดตามหน้าเพจ “ขอนแก่นพอกันที” สามารถพบและฟังการปราศรัยผ่านเฟซบุ๊กได้ และการปราศรัยดังกล่าวมีประชาชนทั่วไปติดตามและฟังการปราศรัยเป็นจำนวนมาก และในการปราศรัยของผู้ต้องหา มีถ้อยคำปรากฎตามบันทึกการถอดคำปราศรัยโดย ส.ต.อ.สุทธิเทพ สายทอง จำนวน 6 แผ่นที่พนักงานสอบสวนได้ให้ผู้ต้องหาตรวจสอบและอ่านดูข้อความโดยตลอดแล้ว เป็นถ้อยคำที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย รัชกาลที่ 9 (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) และรัชกาลที่ 10 (พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว)”
การแจ้งข้อหาดังกล่าว มีข้อสังเกตคือ โดยหลักแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ในการบรรยายข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาให้พอเข้าใจถึงการกระทำความผิด ซึ่งถ้าเป็นกรณีการปราศรัยในที่ชุมนุม คดีอื่นๆ เกือบทุกคดีจะมีการถอดเทปคำปราศรัย และระบุชัดเจนว่า ข้อความตอนใดที่ตำรวจถือว่า เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
การแจ้งข้อกล่าวหาโดยไม่ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของการกระทำที่ถูกกล่าวหา สะท้อนให้เห็นถึงความละเลยและหละหลวมของกระบวนการยุติธรรมในชั้นตำรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจถือเป็นด่านแรกของกระบวนการยุติธรรม จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบ รัดกุม เพื่อให้สิทธิของผู้ต้องหาได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ การไม่ระบุรายละเอียดให้ชัดเจนย่อมส่งผลให้ผู้ต้องหาไม่สามารถเข้าใจได้ว่าถูกดำเนินคดีจากการพูดประโยคใด และไม่สามารถเตรียมตัวเพื่อต่อสู้คดีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่กฎหมายอาญามาตรา 112  เป็นประเด็นความขัดแย้งและมีอัตราโทษสูง การบังคับใช้ที่หละหลวมอาจมีผลต่อประเด็นทางการเมืองให้ขยายความขัดแย้งออกไปมากขึ้นได้
You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ กับความเติบโตในสายตาของอาจารย์

ชวนฟังมุมมองของอาจารย์ที่มีต่อลูกศิษย์ผู้ถูกคุมขังด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112