จาก 112 – 110 ชีวิตติดเลขท้ายของเอกชัย หงส์กังวาน

หากจะพูดถึงอดีตนักโทษ 112 ที่ถูกดำเนินคดีในช่วงทศวรรษที่ 2550 แล้วยังคงโลดแล่นอยู่ในแวดวงการเมืองยุคปัจจุบันเชื่อว่าชื่อของเอกชัย หงส์กังวานน่าจะเป็นหนึ่งในชื่อที่หลายๆคนได้ยินหรือเคยเห็นผ่านข่าว หลังพ้นโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2558 เอกชัยก็กลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้ง บุคลิกโผงผางและความดื้อดึงของเขากลายเป็นภาพจำที่สังคมมีต่อชายคนนี้ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เขาเอาเพลง “ประเทศกูมี” ไปเปิดให้ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นอย่าง อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ฟังที่หน้ากองทัพบกช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2562 หรือตอนที่เขาพยายามจะนำนาฬิกาไปมอบให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ช่วงที่กระแสข่าว”นาฬิกายืมเพื่อน” กำลังเป็นที่สนใจของสังคม

ด้วยการเคลื่อนไหวเกาะกระแสแบบกัดไม่ปล่อยนี้ก็อาจทำให้หลายคนมองว่า เอกชัยเป็นคนบ้าการเมือง แต่ก็คงจะมีน้อยคนที่จะรู้ว่าความ”บ้าการเมือง”ของเอกชัยเกิดขึ้นจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีสาเหตุจากการรัฐประหารอย่างการยกเลิก “หวยบนดิน” ถึงวันนี้เอกชัยในวัย 46 ปียังคงต้องวนเวียนขึ้นโรงขึ้นศาลด้วยข้อหาใหม่อย่าง ประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินีจากกรณี “ขบวนเสด็จ” ที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมคณะราษฎร 14 ตุลาคม 2563

แม้จะเผชิญกับข้อหาหนักกว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เขาเคยเจอ  แต่เอกชัยก็ยังคงใช้ชีวิตไปตามปกติโดยไม่คิดหลบหนีพร้อมทั้งยังเริ่มทำงานอดิเรกใหม่ที่หลายคนคงจะคาดไม่ถึง วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 อัยการนัดเอกชัยพร้อมผู้ต้องหาคนอื่นๆอีกห้าคนฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ “กังวลไปมันก็ไม่ได้ประโยชน์ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด” เอกชัยกล่าวก่อนจบบทสัมภาษณ์เมื่อถูกถามถึงอนาคตที่ถูกแขวนอยู่บนเส้นด้ายของเขา
 

“บ้านรกหน่อยนะ”

เก้าโมงเช้าของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ผมนัดกับพี่ช่างภาพจาก Banrasdr Photo ไปพบกับเอกชัย หรือที่ผมมักจะเรียกเขาติดปากว่า “พี่เอก” ที่บ้านของเขาย่านลาดพร้าว ที่ต้องนัดเช้าเช่นนี้เพราะเอกชัยบอกว่า ช่วงบ่ายเขาตั้งใจจะไปให้กำลังใจผู้ต้องหาคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่มีกำหนดเข้ารายงานตัวกับอัยการในวันนั้น ก่อนเวลานัดเล็กน้อยผมกับช่างภาพไปถึงหน้าบ้านพักเอกชัย พวกเราตัดสินใจว่าจะยังไม่รบกวน “เจ้าบ้าน” ก่อนเวลานัด ตลอดเวลาที่เรายืนรออยู่หน้าบ้านตึกแถวของพี่เอก หญิงชราที่อยู่ข้างบ้านมองพวกเราด้วยสายตาแปลกๆจนผมรู้สึกอึดอัดจนต้องวานให้ช่างภาพขี่มอเตอร์ไซค์ไปซื้อกาแฟที่ปากซอยเพื่อหลบเลี่ยงสายตาที่ชวนอึดอัดคู่นั้น ผมเองไม่แปลกใจในสายตาคู่นั้นเพราะที่ผ่านมาคนแปลกหน้าไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ไปจนถึงฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองต่างแวะเวียนมาบ้านพี่เอกเป็นระยะบางครั้งแค่ขับผ่านมาเพื่อถ่ายรูป บางครั้งมาดักรอยามแกประกาศว่า จะไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่ “อ่อนไหว” หรือบางครั้งก็มาด้วยความประสงค์ร้ายถึงขั้นเผารถยนต์ของพี่เอกจนเสียหายถึงสองครั้ง

 

 

 

หลังกลับจากซื้อกาแฟสายตาคู่เดิมยังจับจ้องที่ผมกับช่างภาพอีกครั้ง โชคดีที่คราวนี้ “เจ้าบ้าน” เปิดประตูให้เราหลังกลับมาถึงในเวลาไม่นานนัก “บ้านรกหน่อยนะพี่กำลังแพ็คของขายอยู่” เจ้าบ้านทักทายแกมออกตัวถึงสภาพบ้านที่อาจจะ “ไม่น่าดู” ในสายตาของใครหลายคน พัดลมสาม – สี่เครื่องตั้งอยู่ท่ามกลางกล่องกระดาษที่วางระเกะระกะบนพื้นหลายใบ หากใครติดตามเฟซบุ๊กของพี่เอกช่วงนี้คงจะเห็นว่าแกเอาของใช้ต่างๆมาประมูลขาย
“พอม๊าเสียพี่ก็ขนของจากบ้านม๊ามาไว้ที่นี่ (บ้านของแม่ของเอกชัยซึ่งอยู่ในซอยเดียวกัน) จะทิ้งไว้ก็กลัวคนงัดเข้าไป แล้วพี่ก็ไม่รู้จะเก็บไว้ทำไมอย่างตู้เย็นหรือพัดลมพี่ก็มีอยู่แล้วก็เลยเอาออกมาขาย บางคนเขาก็ช่วยซื้อแต่ไม่เอาของ เหมือนเขาอยากช่วยพี่นั่นแหละ พี่ก็เลยเอาของพวกนั้นไปแจกเพื่อนบางคนที่เค้าจำเป็นต้องใช้” พี่เอกเริ่มบทสนทนาหลังพาพวกเราเข้าบ่านก่อนที่เขาจะขอทำธุระที่ทำค้างไว้บนคอมพิวเตอร์อีกครู่หนึ่ง
“โอ๊ย แกโดนแค่ 116 ไม่ใช่เหรอ มาโพสต์ห่วงกลัวลูกเมียเดือดร้อน” พี่เอกพูดขึ้นหลังเห็นเพื่อนที่เป็นผู้ต้องหาคดีการเมืองคนหนึ่งโพสต์ข้อความคล้ายจะสั่งเสีย ก่อนที่จะเดินทางไปรายงานตัวกับอัยการ พี่เอกเลยขอบตอบข้อความเพื่อเสียก่อนที่จะไปนั่งคุยกับพวกเราแบบยาวๆ

“ใช้คำว่าหนุ่มๆเลยเหรอ” พี่เอกกึ่งอุทานกึ่งโวยเมื่อผมถามถึงภาพถ่ายเก่าๆที่แขวนอยู่ใกล้ๆ ในภาพมีชายหนุ่มคนหนึ่งสวมชุดครุยยืนอยู่ตรงกลางโดยมีชายหญิงสูงอายุคู่หนึ่งยืนขนาบข้าง เขาหันมาแซวผมเสร็จก็พับจอคอม แล้วเดินไปหยิบน้ำอัดลมมาให้ผมกับพี่ช่างภาพคนละแก้ว จากนั้นบทสนทนาของเราก็เริ่มขึ้น

 

+++ความทรงจำในวัยเยาว์ จากดินแดงถึงลาดพร้าว+++

“ม๊ากับป๊าเป็นคนจีนแต่เป็นรุ่นที่สองแล้วเกิดแล้วก็โตที่เมืองไทยนี่แหละ ครอบครัวม๊าอยู่แถวตลาดน้อยเป็นย่านคนจีนพูดกันแต่ภาษาจีน (แต้จิ๋ว) ม๊าแกก็เลยพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ ส่วนป๊าก็ทำรับเหมาก่อสร้าง แกเลยพูดภาษาไทยได้เพราะต้องคุยกับคนงาน” ผมเริ่มชวนพี่เอกคุยเรื่องชีวิตสมัยเด็กของโดยหวังว่า บทสนทนาเรื่องรูปถ่ายเมื่อครู่จะช่วยให้แกย้อนคิดถึงเรื่องราวในวันวาน
“ก็คลุมถุงชนหน่ะสิ มันไม่เหมือนสมัยนี้ที่ไปเจอกันตามมหาลัย ม๊าอายุเกือบ 40 แล้วยังไม่แต่งงานก็เลยโดนจับแต่งงานกับป๊า ผู้ใหญ่คงเป็นห่วงว่าอายุมากแล้วไม่แต่งงานเสียที พี่ก็ไม่รู้หรอกว่าผู้ใหญ่เขาไปจับสองคนนี้แต่งกันได้ยังไง เพราะไม่เคยถามม๊า รู้แต่ตอนนั้นป๊าเซ้งบ้านไว้แถวดินแดง อันนี้แหละเรื่องสำคัญเพราะถ้าป๊าไม่ได้เซ้งบ้านพ่อกับแม่ของม๊าก็คงไม่ให้แต่งงานด้วยเค้าก็คงห่วงเรื่องคามมั่นคงของลูกหลานเพราะอย่างน้อยๆเซ้งมันก็ยังดีกว่าเช่า” พี่เอกตอบเป็นชุดหลังผมถามไปว่าม๊ากะป๊าของแกไปพบรักกันได้อย่างไร      
“พี่อยู่กับป๊ากะม๊าที่ดินแดงจนถึงแปดขวบ ช่วงนั้นก็เริ่มมองหาบ้านใหม่กันเพราะเซ้งมันก็ยังไม่ใช่ของเราสุดท้ายก็มาได้ที่นี่ (บ้านที่พี่เอกอยู่ปัจจุบัน) ย้ายมาช่วงปี 2526 จำได้ว่าตอนนั้นน้ำท่วมกรุงเทพฯ ตอนย้ายมาน้ำแม่งยังท่วมถึงเอวพี่อยู่เลย” ระหว่างที่พี่เอกเล่าความหลังผมแอบเสียมารยาทถามอายุแก  “ตอนนี้พี่ 46 แล้ว เรื่องอายงอายุเนี่ยถามได้ แต่พอบางทีเด็กเรียก น้าๆกูด่าเลย กูไม่ตอบห้ามเรียกน้า ไอ้ชิบหายอยู่ในคุกแม่งพวกวันรุ่นที่เข้ามาใหม่เรียกพี่ น้าๆ พี่ด่าเลยไอ้สัสกูไม่ใช่เพื่อนแม่มึงนะ มาเรียกน้าได้ไงตอนหลังเลยเรียกพี่กันหมด ไอ้ห่ากล้าดียังไงเรียกกูว่าน้า” พี่เอกถึงกับอารมณ์ขึ้นเมื่อนึกถึงความหลังในเรือนจำ
“สมัยเด็กๆพี่เรียนที่ปานะพันธุ์วิทยา ตอนนี้กลายเป็นบิ๊กซีวิทยาไปแล้ว” ผมก็ถามสืบต่อไปว่าสมัยที่พี่เรียนมัธยมพี่ก็คงไม่ได้สนใจการเมืองใช่ไหม “โอ้ยตอนเรียนมหาลัยก็ไม่สน จบมหาลัยก็ไม่สน”

+++ชีวิตมหาลัยและการงานที่ใฝ่ฝัน+++

“ต้องบอกว่าบ้านพี่ฐานะปานกลางนะ แต่ก็ถูกมองว่ามีฐานะ ของทุกอย่างซื้อด้วยเงินสด ไม่เคยผ่อนเลย ตอนพี่จบปี 2540 ม๊าก็ซื้อรถให้ซื้อเงินสด ไอ้คันที่โดนเผาไปนั่นแหละ เอาเป็นว่าไม่มีภาระหนี้แล้วกัน บ้านก็เป็นของเรา รถก็เป็นของเราซื้อเงินสด คนก็อาจจจะมองว่ารวย แต่พี่มองว่ากลางๆแหละ ถ้ารวยมันก็ต้องบ้านใหญ่ๆรถหรู แต่ของพี่มันก็ธรรมดาๆ แต่ไม่เคยเดือดร้อนเรื่องเงิน ไม่เคยเลย” พี่เอกเล่าพื้นเพทางเศรษฐกิจ
“พี่น่าจะต้องเก่งภาษาอังกฤษใช่ไหมถึงไปเรียนเอแบคได้” รูปถ่ายพี่เอกในชุดครุยชวนให้ผมถามคำถามเกี่ยวกับชีวิตสมัยที่เรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งแม้ผมจะเคยสัมภาษณ์พี่เอกมาบ้างแต่ก็ไม่เคยคุยกับพี่เอกเรื่องนี้ “พี่ชอบเรียนภาษาต่างประเทศ ตั้งแต่สมัยเรียนปานนะพันธุ์ฯก็ชอบภาษาอังกฤษอยู่แล้ว ที่ชอบภาษาต่างประเทศคงเป็นเพราะเวลาอยู่บ้านป๊ากับม๊าก็คุยภาษาจีน เลยรู้สึกว่าพูดได้หลายๆภาษาสนุกดี พี่พูดได้ทั้งแต้จิ๋ว ภาษาอังกฤษ จีนกลางได้นิดหน่อย ญี่ปุ่นก็พูดได้แต่ไม่เยอะ”
“สมัยเรียนมีแฟนมั้ย” ผมถาม
“มีผัวดิ” พี่เอกตอบ
เขาเล่าต่อเรื่องข้อจำกัดเรื่องความหลากหลายทางเพศว่า สมัยนั้นไม่ได้มีข้อจำกัดเช่นนั้นอยู่ ปัญหาเดียวคือ เวลาไปชอบผู้ชายแต่ก็มีคู่แข่งเป็นผู้หญิง  แล้วพอผู้หญิงคนนั้นรู้ว่า ผู้ชายที่ชอบไม่ได้ชอบตัวเองแต่มาชอบเขาเลยเป็นปัญหา “โอ้ยในมหาลัยมันไม่ได้มีอะไรแบบนั้นหรอก จะมีปัญหาก็คือไอ้คนนั้นดันมีผู้หญิงคนนึงชอบอยู่ แล้วผู้หญิงคนนั้นก็มีแก๊งค์เพื่อนๆที่เป็นผู้หญิง แล้วพอเธอรู้ว่าไอ้ผู้ชายคนนั้นมันไม่ได้ชอบตัวเองแต่มาชอบกูก็เลยมีปัญหากับทั้งผู้หญิงคนนั้นแล้วก็เพื่อนๆของเค้า พี่เองก็รู้สึกว่าไม่ได้ปิ๊งอะไรเค้ามากมายแล้วก็รำคาญผู้หญิงคนนั้นกับเพื่อนๆพอมีปัญหามากนักสุดท้ายก็เลยพอ” พี่เอกร่ายยาว จริงๆภาษาที่แกเล่มมันเผ็ดร้อนกว่านี้เยอะแต่ถ้าให้ผมเล่าแบบ “ตรงตัว” รสชาติของเรื่องก็อาจจะเผ็ดร้อนเกินไป 
“พี่เรียนเกี่ยวกับธุรกิจเพราะตั้งใจว่าอยากค้าขาย อยากทำธุรกิจ จริงๆป๊าก็มีกิจการรับเหมาแล้วก็อยากให้ไปรับช่วงต่อแต่พี่ไม่ชอบไง งานสกปรกต้องไปตากแดด เบื่อคนงานด้วยอะไรด้วย เมื่อก่อนป๊าพาไปไซต์งานประจำ ไม่ได้ไปดูงานหรอกไปทำงาน ไม่ถึงขั้นแบกปูนแต่ไปช่วยยกของตัดกระเบื้องอะไรแบบนั้น เพราะพี่เคยทำไงพี่ถึงรู้สึกไม่ชอบ”

“เมื่อก่อนหาคนงานหายากเพราะธุรกิจของป๊าเป็นรับเหมารายย่อย มีคนงานไม่กี่คนแล้วก็ไม่ได้จ้างคนงานประจำ แต่จ้างเป็นจ๊อบๆไป คนงานก็ไม่ได้อยู่กับเราตลอด บางทีไปรับงานมาคนงานไม่พอก็กูเนี่ยแหละต้องไปทำ เพียงแต่ไม่ได้ทำอะไรหนักถึงขั้นต้องไปแบกปูนผสมปูนแค่ตัดกระเบื้องหรือทำอะไรนิดๆ หน่อยๆแต่แค่นั้นก็รู้แล้วว่าเราไม่ชอบ” 

+++หวยเปลี่ยนชีวิต+++

“พี่เรียนจบช่วงปี 2539 ป๊าก็เลิกทำงานประมาณช่วงนั้น โอ้โหซวยฉิบหายพอจบมีปุ๊บมีวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 จบมาก็ตกงานเลย” พี่เอกเล่าถึงช่วงชีวิตหลังเรียนจบว่าเป็นเหมือนช่วงเวลาที่ชีวิตไม่เป็นชิ้นเป็นอันเพราะเรียนจบในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำหางานยาก เขาพยายามหาของไปขายหรือทำอะไรเล็กๆน้อยๆแต่ก็ไปได้ไม่ดี “ป๊าเป็นคนที่เล่นหวย เล่นหนักมากแต่แกไม่ซื้อหวยใต้ดินนะเล่นแต่ล็อตเตอรี่ เพราะแกกลัวถ้าถูกเยอะๆเจ้ามือจะไม่จ่าย

เวลาป๊าซื้อหวยถ้าเป็นช่วงมีเงินแกเล่นเป็นหมื่นก็มี พอไม่มีเงินแกก็ลดลงมาเล่นหลักพันหลักร้อย

แกเล่นหนักถึงขนาดที่ช่วงปี 39 แกถูกรางวัลที่หนึ่งได้มาหกล้านแกยังบอกเลยว่ายังได้ไม่คุ้มกับที่แกเคยลงไปแต่ก็ถือว่าโชคดีเพราะมาถูกรางวัลที่หนึ่งตอนปี 39 แล้วพอปี 40 ก็ต้มยำกุ้ง”

“พี่หาอะไรทำก็อกๆแก็กๆไปเรื่อยจนกระทั่งปี 2546 ทักษิณจะทำหวยบนดินพี่ก็เลยสนใจเอาเงินสองแสนไปมัดจำเครื่องออกหวยมา แต่พอถึงเวลาก็ไม่ได้ใช้ บอกว่า ติดขัดข้อกฎหมาย ก็เลยให้ใช้วิธีออกเป็นหวยกระดาษชั่วคราวไปก่อน”
จากนั้นพี่เอกพาเราเดินขึ้นไปที่ชั้นสองของบ้านแล้วเปิดผ้าคลุมโชวเครื่องออกหวยบนดินให้ผมกับพี่ช่างภาพดู เครื่องออกหวยบนดินมีลักษณะคล้ายๆแคชเชียร์เก็บเงินตามห้าง มีจอสัมผัสให้กดเลข เครื่องออกแผ่นหวยที่เป็นหมึกพิมพ์บนม้วนกระดาษเหมือนเครื่องแคชเชียร์ที่ออกบิล “จริงๆมันยังใช้ได้นะแต่พี่จำไม่ได้แล้วว่ามันเปิดยังไง” สุดท้ายผมเลยไม่มีโอกาสเห็นว่าไอ้เครื่องที่ว่ามันทำงานยังไง

จากนั้นพี่เอกทิ้งผมกับพี่ช่างภาพไว้ที่ชั้นสองแล้วหายขึ้นไปบนชั้นสามครู่หนึ่งก่อนจะกลับลงมาพร้อมกล่องไอติมกล่อง เมื่อเปิดออกมาด้านในกล่องอัดแน่นด้วยแผ่นสลิปหวยบนดินที่ผมพอจะคุ้นตาอยู่บ้างเพราะสมัยเรียนมหาวิทยาลัยก็เคยซื้อแบบใบละ 20 บาท เสี่ยงโชคอยู่สองสามครั้ง
“หวยกระดาษที่เขาว่าใช้ชั่วคราวเนี่ยมันมีสองแบบ แบบนึงเป็นแบบพับ อีกแบบนึงต้องเขียนต้นขั้ว แบบหลังนี่แหละที่มีปัญหาบางทีเขียนเลขบนต้นขั้วกับบนตัวหวยไม่ตรงกัน บางทีออกหวยให้แล้วคนขายก็ลืมเขียนต้นขั้ว หวยกระดาษเค้าบอกใช้ชั่วคราวแต่ไปๆมาๆก็ใช้จนตอนหลังเขายกเลิกหวยบนดิน บอกว่าติดเรื่องแก้กฎหมายแก้ไปแก้มาไม่ได้ซักทีรำคาญฉิบหาย”
“มันเหมือนชีวิตลิขิตมาให้พี่ขายหวยเลย ตอนพีคๆนี่เคยขายได้ถึงหลักแสนนะ ขายจนมีเงินไปเที่ยวเมืองนอก งานก็ไม่ได้หนักอะไร เดือนนึงหวยออกสองงวด วันที่หนึ่งกับวันที่ 16 พี่ก็จะเอาหวยไปตั้งขายที่หน้าปากซอยประมาณหนึ่งอาทิตย์ก่อนวันหวยออก อย่างงวดวันที่ 16 พี่ก็ออกไปตั้งขายประมาณวันที่เจ็ดที่แปดยาวไปแล้วพอถึงวันที่ 16 ก็รอไปตั้งอีกทีวันที่ 24 – 25 ขนาดช่วงที่ไม่พีคมากก็ยังได้เงินหลักหมื่นอยู่ มันก็แปลกดีจับอะไรอย่างอื่นไม่รุ่ง พอมาจับหวยกลายเป็นดีแล้วสุดท้ายที่พี่มาเข้ามายุ่งการเมืองก็เพราะหวยนี่แหละ เพราะพอคมช.ยึดอำนาจมันก็เลิกหวยบนดินพี่ก็เลยได้เริ่มไปม็อบครั้งแรกแล้วหลังจากนั้นมันก็เลยเถิดไปไหนต่อไหน”

+++จากแผงหวยหน้าปากซอยสู่การเมืองบนท้องถนน+++

เล่าเรื่องมาสักพักพี่เอกก็ยกแก้วน้ำที่มีรูปหน้าอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรขึ้นมา ทำให้ผมอดตั้งคำถามนี้กับเขาไม่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปะติดปะต่อกับเรื่องเล่าที่ผมได้ยินก่อนหน้านี้ “พี่ชอบทักษิณมั้ย?” “ทักษิณเหรอ ถามว่า ชอบยังไงถ้านโยบายเขาส่งผลดีกับเราอย่างหวยบนนี่ ชอบ หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคนี่ ชอบ แต่โดยทั่วไปพี่เฉยๆนะ อย่าง 30 บาทเนี่ยตอนที่พี่ถูกตีก็ไปใช้สิทธิเขาก็รักษาดี ส่วนป๊าเนี่ยส่วนใหญ่แกไปเอกชนแต่ตอนที่แกป่วยครั้งสุดท้ายแล้วเสียเนี่ยไปใช้ 30 บาทก็ไม่ต้องจ่ายอะไรเลยเสียแค่ค่าฉีดฟอร์มาลีน ส่วนเรื่องหวยนี่พี่เองก็ได้ประโยชน์ จากตอนแรกที่จับอะไรก็ไม่ขึ้นพอขายหวยนี่ชีวิตเปลี่ยนไปเลยแต่พอถึงปี 2549 ทุกอย่างก็จบ”
“พอคมช. เลิกหวยบนดีก็มีคนขายหวยมารวมตัวประท้วงแถวกองสลาก พี่ก็ไปกะเขาด้วยแต่ไม่ได้ไปทำอะไรแค่ไปฟังปราศรัย ส่วนคนที่เป็นแกนนำม็อบหวยตอนนั้นก็เป็นพวกตัวใหญ่ที่เขาขายกันหลักล้าน พี่เองก็ไม่ได้สนใจการเมืองอะไรแต่ตอนที่ไปประท้วงเรื่องหวยมันก็มีกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการประท้วงอยู่ใกล้ๆตรงสนามหลวงพี่ก็เลยว่าไปดูหน่อยคราวนี้ไปกันใหญ่ ชีวิตเลยเถิดไปไหนต่อไหน ยิ่งตกงานหลังๆยิ่งไปม็อบบ่อย เหมือนดวงมันลิขิตให้พี่เป็นแบบนี้ ก็ถ้าไม่มาเลิกหวยบนดินกูก็ไม่ไป(ชุมนุม)หรอก” พี่เอกร่ายยาว
พี่เอกเล่าต่อว่าแกไปม็อบถี่ขึ้น แต่ก็ไปในลักษณะไปคนเดียว ไม่ได้รู้จักใครเป็นการเฉพาะ “คนที่ไปม็อบรุ่นนั้นเดี๋ยวนี้ไม่เห็นละนะ ไม่ใช่ป้าๆที่มากันตอนนี้”
“มันเหมือนดวงลิขิตชีวิตพี่นะ พอเลิกขายหวยก็มาม็อบ พอมาม็อบก็ไปหาหนังสืออ่านเองจน “ตาสว่าง” แบบที่เค้าเรียกกันนั่นแหละ ทีนี้พี่ก็ไปเจอสารคดีข่าวของสำนักข่าวออสเตรเลียพี่ก็ไปไรท์แผ่นมาขายในที่ชุมนุมของกลุ่มแดงสยาม ไม่ได้ขายแพงอะไรขายแผ่นละยี่สิบบาทคืออยากให้คนอื่นได้ดูแล้วก็ยากได้ตังค์ด้วย ทีนี้มีคนมาขอซื้อแต่บอกว่าจะซื้อเยอะให้ยกซีดีไปขายให้เขาตรงแถวอนุสาวรีย์ทหารผ่านศึก พี่ก็โลภตามเค้าไปเท่านั้นแหละโดนเลย” 

 

+++112 และความโชคดีในความโชคร้าย+++

เดือนมีนาคม 2554 เอกชัยถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการขายซีดีสารคดีข่าวของสำนักข่าวออสเตรเลียแห่งหนึ่ง คดีของเขาเกิดขึ้นหลังคดีอากงส่งเอสเอ็มเอสไม่นาน ด้วยความที่เอกชัยไม่ได้สนใจการเมืองมาก่อนหน้านี้ และไม่ได้รู้กฎหมายมาก่อน ดังนั้นช่วงที่เขาไปขายซีดีจึงไม่รู้ถึงความฉกาจฉกรรจ์ของมาตรา 112
“ตอนที่ไปขายซีดีพี่ก็คิดว่าอาจจะโดนเรื่องขายซีดีเถื่อนแต่ไม่รู้จัก 112 แล้วก็ไม่ได้คิดว่ามันจะอะไรขนาดนี้ เพราะสารคดีอันนั้นมันก็พูดถึงการเมืองไทยรวมๆ อาจจะมีพูดถึงสถาบันสั้นๆแต่เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง ถ้ารู้ว่าจะโดนขนาดนี้พี่คงไม่ขายแค่แผ่นละยี่สิบบาทหรอก ตำรวจมันยังพูดเลยว่าขายถูกจัง

พอพี่ถูกจับก็ถูกขังระหว่างรอประกันแปดวันแล้วก็ได้ประกันตัวออกมา ตอนสู้คดีได้อานนท์ นำภามาว่าความให้ ตอนแรกพี่ก็ไม่รู้หรอกอานนท์ นำภาเป็นใคร ระหว่างที่ถูกขังแปดวันแรกมีนักข่าวประชาไทมาถามว่าอยากได้ทนายอานนท์มั้ยตอนนั้นก็บอกเขาไปว่าเอาใครก็ได้เพราะเราก็ไม่รู้จักทนาย” 

พี่เอกเล่าว่า เมื่อปรึกษาแนวทางการดำเนินคดี ทนายอานนท์บอกว่า มีสองทางเลือกคือรับสารภาพไปเลยหรือปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ แต่เขาก็ปฏิเสธไปทั้งสองแนวทาง ให้เหตุผลอย่างตรงไปตรงมาว่า

“กูก็ขายอยู่อย่างงั้น คนก็เห็นกันหมดจะไปตอแหลได้ไง แล้วมันมาค้นที่บ้านเจออีกร้อยกว่าแผ่น คือหลักฐานชัดขนาดนี้จะบอกว่าไม่ได้ทำคือมันฟังไม่ขึ้นสู้แบบนั้นเผลอๆลงเต็ม 5 ปี อ่ะ จะสู้คดีมันก็ไม่ใช่หลับหูหลับตา คือถ้ามันไม่มีภาพถ่าย หลักฐานไม่ชัด จะสู้แบบนั้นก็พอได้ แต่นี่ไม่ใช่ ตำรวจมันยังบอกเลยมีซีดีเป็นร้อยแผ่น ดีแค่ไหนแล้วที่ดำเนินคดีแค่แผ่นเดียว”

เมื่อถึงวันพิพากษา เอกชัยรับว่า เตรียมใจไว้แล้วครึ่งหนึ่งว่าจะต้องติดคุก แต่ก็บอกกับม๊าที่มาศาลด้วยไปว่าเดี๋ยวคงได้กลับ เพราะแม่ของเขาไม่รู้เรื่อง ไม่บอกแบบนั้นก็อาจจะถูกบ่นไม่เลิก ถึงตรงนี้พี่ช่าวภาพหยุดกดชัตเตอร์แล้วพูดเสริมขึ้นว่า “ผมได้ยินอยู่ที่เอกพูดวันนั้น จำได้ว่า ตอนที่ตัดสินผมอยู่กับรอถ่ายรูปเอกที่ใต้ถุนศาลเป็นคนท้ายๆ” พี่ช่างภาพคนนี้เคยบันทึกเหตุการณ์สำคัญๆทางการเมือง ทั้งเหตุการณ์สลายการชุมนุมช่วงปี 2553 การชุมนุมของกลุ่มราษฎร และภาพข่าวคดีการเมืองสำคัญๆหลายคดีที่ศาลอาญารวมทั้งคดีของพี่เอกที่ศาลมีคำพิพากษาจำคุกเขาในปี 2556   
“ก่อนหน้านี้พี่เคยดูดวง หมอดูบอกช่วงวัยกลางคนจะซวย พี่ก็ไม่นึกว่ามันจะถึงขั้นติดคุกติดตะรางแบบนี้ แต่ถึงยังงั้นพี่ก็ถือว่าตัวเองโชคดีกว่าหลายๆคนที่โดนคดี 112 นะ อย่างแรกเลยตอนศาลชั้นต้นพี่ได้ประกันตัว ยื่นครั้งเดียวได้เลยส่วนคนอื่นๆไม่มีใครได้ประกัน อย่างทนายอานนท์ที่มาช่วยยื่นประกันให้ยังดีใจเลยเพราะก่อนนั้นยังไม่เคยมีใครได้ประกันตัวระหว่างสู้คดี 112 ในชั้นศาลแต่ของพี่ยื่นทีเดียวได้เลย ถ้าพี่ไม่ได้ประกันแล้วเข้าคุกช่วงปี 2554 นี่ซวยเลยนะเพราะตอนนั้นน้ำท่วมใหญ่ แล้วพอศาลตัดสินตอนปี 56 ต้องเข้าคุกตอนนั้นก็รัฐบาลยิ่งลักษณ์แล้ว สถานการณ์ในเรือนจำมันก็เลยไม่เลวร้ายเหมือนยุคก่อนๆ”
พี่เอกเล่าว่า ปกติเป็นคนติดบ้านไม่ติดเที่ยว เวลาตื่นนอนคือไล่เลี่ยกับเวลาที่นักโทษต้องตื่นในคุกจึงไม่รู้ว่า มีปัญหาในการปรับตัว แต่เลือกได้คงไม่มีใครอยากติดคุก เขามองว่า เขาโชคดีกว่านักโทษคนอื่นๆคือ เมื่อคสช.ยึดอำนาจในปี 2557 มีการจำแนกนักโทษ 112 ออกจากนักโทษกลุ่มอื่นๆ ทำให้เขาอยู่ในแดนแรกรับตลอด ไม่ต้องไปใช้แรงงานหนัก เคยไปทำงานในห้องสมุดและไปเป็นเสมียนโรงเลี้ยงอาหาร นอกจากนี้ด้วยสถานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้ย่ำแย่นัก ทำให้เมื่อออกจากคุกเขายังพอมีเงิน ซึ่งจุดนี้ทำให้ชีวิตหลังพ้นโทษของเขาไม่ยากลำบากเหมือนนักโทษ 112 คนอื่นๆ
“อาจจะเป็นเพราะพี่ไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน มีบ้านมีรถที่เป็นของตัวเอง ไม่มีภาระหนี้สิน พอติดคุกของตรงนี้มันก็ยังอยู่ไม่มีใครมายุ่งอะไร เงินในบัญชีก็ไม่ได้ใช้ พอออกมามันเลยพอไปต่อได้ แต่ถ้าเป็นคนอื่นที่ผ่อนบ้านผ่อนรถแล้วพอติดคุกไม่มีงานทำไม่มีเงินส่งบ้านส่งรถนี่จบเลยเขายึดหมดพังหมด ยิ่งพวกที่มีเมียมีลูกเล็กนี่เขา “เลี้ยว” (ทิ้ง) หมดไม่มีใครรอหรอก ไหนจะต้องเลี้ยงลูก ไหนจะต้องมาเยี่ยมผัว เห็นมาหลายคนแล้วที่เลี้ยวแต่พี่มันไม่มีใครยิ่งตอนนี้ป๊ากะม๊าไม่อยู่แล้ว ไม่มีใครต้องห่วง” ประโยคสุดท้ายคล้ายจะตัดพ้อถึงชะตากรรมในอนาคตของตัวเอง 
พี่เอกเล่าด้วยว่า จริงๆแล้วหลังถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แล้วได้รับการประกันตัว “หนีออกนอกประเทศ” เป็นหนึ่งในคำแนะนำที่เพื่อนฝูงและคนรู้จักแนะนำกับพี่เอกเพราะการต่อสู้คดีมาตรา 112 มีโอกาสน้อยมากที่จะชนะ แต่ถึงกระนั้นการหนีก็เป็นทางเลือกที่แทบไม่เคยอยู่ในความคิดของพี่เอก
“มีคนยุให้หนี กูไม่หนี การหนีมันไม่ใช่การแก้ปัญหา คนส่วนใหญ่คิดว่าก้าวพ้นประเทศไทยก็รอดแล้ว แต่ถามหน่อยไปต่างประเทศมึงจะอยู่ยังไง อยู่เมืองไทยอย่างน้อยพูดภาษาไทยได้ ยังมีคนรู้จัก ไปอยู่ที่โน่นต้องพูดภาษาต่างประเทศมึงพูดได้มั้ย มีเงินมีคอนเนคชันพร้อมมั้ย ไปถึงแล้วมีคนช่วยมั้ย พี่ว่าเอาเข้าจริงแล้วลำบากกว่าติดคุกอยู่ที่นี่อีก ดูอย่างพี่พอติดคุกออกมาก็เป็นอิสระไปไหนมาไหนทำอะไรก็ได้ แต่คนที่เลือกหนีหลายคนก็ไปลำบากอยู่แล้วก็ไม่รู้ว่าเรื่องจะจบจะได้กลับมาอีกเมื่อไหร่”
เนื่องจากพี่เอกเคยถูกมือดีบุกมาเผารถที่บ้านสองถึงครั้ง บ้านของพี่เอกจึงมีระบบรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนา หน้าบ้านมีการกั้นลูกกรงครอบไว้ ผมแอบแซวพี่เอกไปว่าบ้านพี่ติดลูกกรงแน่นหนาเหมือนในคุกเลยเป็นเพราะแบบนี้หรือเปล่าพี่เอกจึงไม่มีปัญหารับมือกับการถูกคุมขัง พี่เอกไม่ได้ตอบคำถามที่ดูจะเป็นการยียวนของผมแต่ก็ขยายความว่า “พี่ตื่นนอนแล้วก็เข้านอนไล่เลี่ยกับเวลาในเรือนจำ เรื่องนอนพี่เลยไม่ต้องปรับตัวเยอะมาก ส่วนเรื่องอาหารพี่เป็นคนกินง่ายๆ กินกันตาย ก็เลยพอรับไหว พี่เองป็นคนไม่ค่อยชอบเที่ยว ยิ่งมาถูกทำร้ายบ่อยๆเลยยิ่งไม่ค่อยออกจากบ้าน การไปถูกจำกัดบริเวณในคุกไม่มีอิสระมันก็เลยกระทบไม่เท่าคนที่ต้องออกจากบ้านทุกวันหรือคนที่ชอบไปโน่นไปนี่”

 

+++จาก 112 ถึง 110 และชะตาชีวิตที่เหมือนถูกลิขิตแล้ว+++

“พี่จำไม่ได้แล้วว่าตอนนั้นทำอะไรอยู่ รู้แต่วันนั้นไม่ได้ดูข่าวเลย พอคุณโทรมาพี่ก็เอ้า กูโดนหมายเหรอ ชิบหายแล้วข้อหาอะไรเนี่ย 110 ไม่เคยได้ยิน รู้จักแต่ 112 และพอมารู้ว่าเป็นข้อหาประทุษร้ายพระราชินีก็แบบโอ้โห ยังกะผู้ก่อการร้ายทั้งๆที่จริงๆแล้ววันนั้นไม่มีอะไรเลย ตั้งกูแต่ละข้อหา 112 116 ไปถึง 110…ก็อย่างที่บอกเหมือนชะตาชีวิตมันลิขิตไว้แล้วว่าพี่ต้องมาเจออะไรแบบนี้ มันคงไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมแล้ว”
ช่วงเย็นวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ผมเห็นข่าวพี่เอกถูกออกหมายจับจากการรายงานของสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ผมจึงรีบยกหูโทรศัพท์ไปหาแกเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมแต่กลายเป็นว่าพี่เอกยังไม่รู้เรื่องและผมเป็นคนแรกที่บอกข่าวร้ายกับแก
พี่เอกเล่าย้อนถึงเหตุการณ์วันนั้น (14 ตุลาคม 2563) ว่า ระหว่างร่วมชุมนุมอยู่ที่ถนนพิษณุโลกฝั่งตรงข้ามสำนักงานก.พ.ร.แกก้มหน้าก้มตาดันกับตำรวจที่ตั้งแถวอยู่บริเวณนั้นโดยไม่รู้เรื่องขบวนเสด็จเลย แต่เมื่อเงยหน้าขึ้นมาอีกทีก็เห็นว่า มีขบวนเสด็จเพราะเห็นเป็นรถที่มีธงครุฑและเห็นผู้หญิงสวมชุดไทยที่น่าจะเป็นพระราชินีนั่งอยู่ในรถ พี่เอกยังติดใจเล็กน้อยว่า ปกติรถอารักขาต้องนำหน้าและปิดท้ายแต่ครั้งนี้ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะรถพระที่นั่งขับนำมาก่อนโดยมีรถอารักขาขับตามมา
“พี่จำได้ว่า ตัวเองตะโกนขบวนเสด็จๆ แล้วก็เดินถอยกลับไป ตอนนั้นก็นึกในใจว่าเดี๋ยวกูต้องโดนอะไรสักอย่าง เตรียมใจไว้แล้วแต่ก็ไม่คิดว่ามันจะหนักขนาดนี้
“เท่าที่พี่เห็นด้วยตาตัวเองวันนั้นไม่ได้มีใครปาอะไรหรือตะโกนอะไรนะ พี่เดาว่าเขา (ตำรวจ) คงใช้วิธีเอารูปที่ถ่ายไว้ไปดูว่าสามารถระบุตัวใครที่อยู่แถวนั้นได้บ้างแล้วก็ซิวมา”
“สำหรับพี่ไอ้การประทุษร้ายมันต้องเข้าถึงตัวหรือมีความพยายามที่จะก่อภยันตรายไม่ใช่เหรอ แต่สิ่งที่เกิดวันนั้นอย่าว่าแต่เข้าถึงตัวพระราชชินีเลยรถก็ยังไม่ได้เฉียดใกล้แล้วตรงนั้นก็มีแนวตำรวจขวางอยู่แล้วเท่าที่รู้สุดท้ายก็ไม่ได้มีใครไปขวางหรือทำให้พระราชินีเสด็จไปไม่ได้”
พี่เอกย้ำว่า แกไม่เคยคิดหนี เมื่อรู้ว่า ถูกกล่าวหาคดีมาตรา 110 ก็ติดต่อตำรวจสน.ดุสิตว่า จะเข้ามอบตัวและโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กไว้ด้วย จากนั้นสมยศ พฤกษาเกษมสุขก็ขับรถมารับที่บ้าน หลังจากเดินทางกันไปถึงหน้าอิมพีเรียลลาดพร้าว ไม่ห่างจากบ้านพักนัก ตำรวจสน.ลาดพร้าวก็ขับมอเตอร์ไซด์มาปาดหน้ารถเพื่อให้หยุด จากนั้นผู้กำกับการสน.ลาดพร้าวก็มาแจ้งข้อหา ทุกวันนี้พี่เอกยังสงสัยอยู่ว่า เขาเป็นผู้ต้องหาคนสำคัญขนาดนั้นเลยเหรอ
“ตอนที่อยู่บนถนนพี่จำได้ว่าพี่โวยวายตำรวจไปหนักเลย คือตอนนั้นแบบโกรธนะกูก็กำลังจะไปรายงานตัวนี่ไง มาจับทำไม ที่ผ่านมาพี่ก็พิสูจน์แล้วไม่ว่าโดนคดีไหนพี่ก็ไม่หนี สู้คดีตลอด คุกก็ติดมาแล้ว มันจะมาจับทำไม
พอถึงสน.พี่แอบได้ยินผู้กำกับคุยกับใครสักคนทางโทรศัพท์เรื่องของพี่แล้วก็พอจับความได้ว่า “ผู้ใหญ่” เขามีธงว่าต้องจับพี่ ไม่ให้พี่เข้าไปมอบตัวด้วยตัวเอง อาจจะเกี่ยวกับเรื่องการประกันตัวที่ถ้าเราไปรายงานตัวเองก็มีโอกาสได้รับการปล่อยตัวแต่ถ้าถูกจับเข้าไปก็อาจจะไม่ได้ประกันตัว ซึ่งรอบนี้พี่ก็ติดคุกจริงๆประมาณสองอาทิตย์ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวออกมา”
“ถามว่ากังวลไหม คือคดีนี้โทษมันสูงนะ 112 นี่ 3 ถึง 15 ปี ส่วนของกูนี่แบบสตาร์ทที่ 16 ปี แต่ก็อย่างว่ากังวลไปตอนนี้ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมาแล้ว ก็สู้กันไป อย่างวันนี้ทนายก็นัดพี่ไปเซ็นชื่อที่สำนักงานอัยการสูงสุดตอนบ่ายเพราะพี่กับผู้ต้องหาคนอื่นๆในคดีนี้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับอัยการ”

หลังจบการสัมภาษณ์ในวันนี้ผมกับพี่เอกและพี่ช่างภาพจะต้องเดินทางไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อให้พี่เอกเซ็นเอกสารกับทนายความ หลังจากนั้นจึงจะพาพี่เอกไปถ่ายรูปที่อาคารรัฐสภา 

+++งานอดิเรกใหม่+++

ผมบอกพี่เอกตั้งแต่แรกแล้วว่าวันนี้อยากจะคุยเรื่องตัวตนและมิติอื่นๆในชีวิตของแกที่มันไม่ใช่การเมืองหรือคดีเพราะเชื่อว่านั่นคงเป็นเรื่องที่หลายๆคนน่าจะเคยได้อ่านหรือฟังจากการรายงานของสื่อไปบ้างแล้ว พี่เอกก็ดูจะเตรียมตัวไว้เป็นอย่างดี ข้างๆโซฟาที่แกนั่งมีอัลบั้มขนาดใหญ่วางเรียงรายอยู่สี่อัลบั้ม ครั้งหนึ่งระหว่างที่ผมขอพักการสัมภาษณ์เพื่อออกไปเข้าห้องน้ำพี่เอกก็หยิบของในอัลบั้มมาเปิดให้พี่ช่างภาพดู จากนั้นเสียงบทสนทนาว่าด้วยสงครามโลกครั้งที่สองและคณะราษฎรแว่วมาเข้าหูของผม
เมื่อผมกลับมาที่โต๊ะก็พบว่า วัตถุปริศนาในอัลบัมที่ดูพี่เอกแกจะภูมิใจกับมันก็คือธนบัตร บางฉบับเป็นของรัชกาลที่เก้าที่ผมเคยเห็นหรือเคยใช้ตอนเด็กๆ บางฉบับก็ไม่เคยแม้แต่จะเห็น
“สมัยเด็กๆพี่ก็เคยสะสมแบงค์นะแต่เก็บแบบสะเปะสะปะ ทีนี้พอม๊าเสียพี่ก็ไปเก็บของที่บ้านของม๊าแล้วก็เจอแบงค์เก่าๆ ก็เลยคิดว่าอยากจะสะสมแบงค์แบบจริงจัง จากนั้นพี่ก็ใช้วิธีไปเข้ากลุ่มที่เขาปล่อยของแล้วก็หาซื้ออันที่เรายังขาด จริงๆพี่ก็กลับมาสะสมแบงค์แบบจริงจังไม่นานนี้เองประมาณช่วงเดือนมกราที่ผ่านมา (มกราคม 2564)”
 “จะเก็บของมันต้องเก็บให้จริงจัง ต้องเก็บให้ครบ แล้วก็ต้องรู้เรื่องมันด้วยไม่ใช่สักแต่เก็บ พี่หงุดหงิดทุกทีเวลาไปเจอคนขายที่ไม่รู้เรื่อง อย่างแบงค์บางรุ่นเหมือนกันหมดต่างกันในรายละเอียดเล็กน้อยอย่างเช่นลายน้ำ เชื่อไหมคนขายบางคนสักแต่ขายยังไม่รู้จักเลยว่าลายน้ำคืออะไร”
“แบงค์มันไม่ใช่แค่เงินที่เอาไว้ใช้จ่าย มันมีเรื่องราวเบื้องหลังทางการเมือง อย่างมีแบงค์รุ่นหนึ่งที่ออกสมัยคณะราษฎรยังมีอำนาจ จะเห็นว่าด้านหน้าเป็นรูปในหลวงแต่ด้านหลังเป็นรูปพระที่นั่งอนันต์ฯ (พระที่นั่งอนันตสมาคม) หมดทุกราคา และก็มีลายน้ำเป็นรูปพาน รู้ไหมทำไมเป็นลายนั้น ก็พระที่นั่งอนันต์เป็นจุดที่คณะราษฎรอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ส่วนพานรัฐธรรมนูญมันก็คือสัญลักษณ์ของระบอบใหม่
ตอนหลังพอคณะราษฎรเริ่มหมดอำนาจ เขาก็เปลี่ยนลายน้ำจากรูปพานเป็นรูปในหลวงแล้วสุดท้ายก็เปลี่ยนลายด้านหลังแบงค์” พี่เอกพูดพร้อมนำธนบัตรที่แกมีมาส่องลายน้ำให้ผมดู
“อย่างอีกรุ่นหนึ่งพี่ยังไม่ได้คือธนบัตรรุ่น “ไทยถีบ” สมัยก่อนเมืองไทยยังพิมพ์แบงค์ไม่ได้เอง เราต้องส่งไปพิมพ์ที่อังกฤษ เสร็จแล้วพอมีสงครามโลกครั้งที่สอง เราก็ประกาศสงครามกับอังกฤษแล้วก็ต้องส่งแบงค์ไปพิมพ์ที่อยู่ปุ่นแทน แบงค์รุ่นนั้นจะดีไซน์ให้พระพักตร์ของในหลวงเป็นคล้ายๆคนญี่ปุ่นคือญี่ปุ่นเขาไปปรับอะไรตามอำเภอใจ แบงค์ที่ส่งไปพิมพ์ที่ญี่ปุ่นมันจะเป็นแบงค์เปล่า ไม่มีลายเซ็น ไม่มีตัวเลขกำกับ ต้องเอาพิมพ์ทับที่เมืองไทย พอพิมพ์แบงค์เสร็จญี่ปุ่นจะส่งลงเรือมาขึ้นที่สิงคโปร์แล้วใส่รถไฟขึ้นมา ทีนี้ก็มีขบวนการคนไทยที่ต่อต้านญี่ปุ่นไปคอยดักขึ้นรถไฟขนสินค้าของญี่ปุ่นแล้วถีบข้าวของลงมาเหมือนจะตัดกำลังญี่ปุ่น พอถีบเสร็จก็จะมีอีกทีมหนึ่งที่ไปรับเก็บลังสินค้าที่ร่วงลงมา ปรากฎว่าครั้งหนึ่งเขาไปถีบลังใส่แบงค์สิบ รัฐบาลจอมพลป.เลยต้องแก้ลำด้วยการแก้มูลค่าบนหน้าธนบัตรจาก 10 บาท เป็น 50 สตางค์ ก่อนที่จะยกเลิกแบงค์ชุดนั้นไป”
นี่คือตัวอย่างเรื่องเล่าเกี่ยวกับของสะสมที่พี่เอกเล่าให้ผมฟัง เราคุยเรื่องของสะสมที่บ้านของพี่เอกเสร็จก็เกือบเป็นเวลาเกือบเที่ยงแล้ว พี่เอกจึงชวนผมกับพี่ช่างภาพออกจากบ้านเพื่อที่พี่เอกจะได้ไปเซ็นเอกสารที่สำนักงานอัยการสูงสุด  ผมกับพี่เอกต้องนั่งรถตู้ไปด้วยกันส่วนพี่ช่างภาพขับมอเตอร์ไซค์มาจึงขอล่วงหน้าไปก่อน ตลอดทางที่รถตู้วิ่งจากบ้านไปที่สำนักงานอัยการ พี่เอกง่วนอยู่กับโทรศัพท์ของแกตลอดเวลา แน่นอนแกไม่ได้โพสต์ข้อความทางการเมือง “ต้องคอยดู คนขายบางคนจะเอาแบงค์หายากมาปล่อยแบบถูกๆแต่พอเราแชทไปถามก็จะบอกว่าของไม่มีแล้ว แล้วก็จะเอาของตัวอื่นหรือตัวที่สภาพเยินกว่ามาขายแทน ต้องระวังพวกนี้” พี่เอกไม่วายบ่นแกมให้คำแนะนำกับผมที่สะสมแบงค์เหมือนกันเพียงแต่ถ้าเทียบกันแล้วของสะสมของผมนี่คงจะ “เด็กๆ” ไปเลยถ้าเทียบกับคอลเลคชันของพี่เอก  
“ใครจะว่าบ้าก็บ้าแต่พี่มองว่ามันเป็นการลงทุนนะ แบงค์เนี่ยขายยังไงมูลค่ามันจะไม่ต่ำกว่าเดิม ยิ่งเก่า ยิ่งหายาก ยิ่งแพง”

เชื่อว่านี่คงเป็นอีกมุมหนึ่งของพี่เอกที่หลายๆคนน่าจะยังไม่เคยรู้จัก

+++นับถอยหลังสู่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564+++

เมื่อรถตู้ของเรามาถึงที่หน้าศาลอาญา มีประชาชนกลุ่มหนึ่งมารอให้กำลังใจผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 สองคนที่ถูกดำเนินคดีจากการปราศรัยในการชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร คือรุ้ง ปนัสยาและไมค์ ภาณุพงศ์ ที่มีกำหนดเข้าฟังคำสั่งอัยการและคาดว่าจะถูกส่งตัวฟ้องในวันนั้น (จตุภัทร์หรือไผ่ ดาวดิน ผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งมีกำหนดเข้าฟังคำสั่งอัยการในวันนี้ด้วยแต่เขาไม่ได้มา) รวมทั้งผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อีก 15 คนที่มีกำหนดเข้าฟังคำสั่งอัยการในวันเดียวกัน ผมกับพี่เอกจึงลงรถที่ศาลอาญาแทนที่จะไปที่สำนักงานอัยการเลย ทันทีที่พี่เอกลงรถที่หน้าศาลก็มีทั้งเจ้าหน้าที่สายข่าวและสื่อมวลชนที่อยู่แถวนั้นถ่ายภาพ พี่เอกก็ไม่ได้ว่าอะไรก่อนจะเดินไปทักทายคนรู้จักที่อยู่ใกล้ๆรถกระบะที่คล้ายจะเป็นรถอำนาวยการ คนที่รถทักทายพี่เอกพร้อมส่งข้าวให้แกสองกล่อง พี่เอกเก็บไว้เองกล่องหนึ่งก่อนจะส่งอีกกล่องมาให้ผม
พี่เอกพูดคุยกับคนที่หน้าศาลอาญาครู่หนึ่งก่อนจะเดินไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด เราใช้เวลาอยู่ที่นั่นประมาณชั่วโมงเศษเพื่อรอพี่เอกเซ็นเอกสารจากนั้นจึงไปที่จุดหมายปลายทางสุดท้ายของวันคือที่รัฐสภาเพื่อถ่ายรูปพี่เอกกับอาคารรัฐสภา
ทันทีที่เราก้าวเท้าขึ้นแท็กซี่พี่คนขับแท็กซี่ก็ทักพี่เอกบอกว่า “ผมจำคุณได้” ผมเลยถามพี่เอกต่อว่าหลังจากเรื่องที่ผ่านมาทั้งหมดแกน่าจะเป็นคนดังไปแล้วมีคนทักแกแบบนี้บ่อยไหม “สมัยก่อนพวกเด็กๆไม่มีใครรู้จักพี่หรอก เวลาไปม็อบก็มีแต่พวกคนเสื้อแดงที่ทักทาย แต่พอโดนจับเพราะคดี 110 ก็มีคนรู้จักเยอะขึ้น บางทีไปเดินจตุจักรหรือเดินห้างก็มีคนมาทักว่าพี่เอกชัยใช่ไหม ขอถ่ายรูปหน่อยอะไรแบบนี้”
“พี่ไม่เคยอยู่ในสถานการณ์แบบนี้นะที่มีคนมาสนใจขนาดนี้ ตอนที่ถูกขังด้วยคดี 110 พี่ก็แค่ได้ยินจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ว่ามีคนมารอรับที่หน้าเรือนจำ แต่ก็ไม่คิดว่าจะเยอะแบบนั้น แถมพอออกมาก็มีการ์ดมาล้อมหน้าล้อมหลังพี่เหมือนจะส่งพี่ขึ้นรถ พี่ยังนึกในใจเลย มึงมาล้อมก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเพราะมึงก็ไม่ได้ตามกูกลับบ้าน มันมาดักยิงหน้าบ้านก็เท่านั้น แต่ก็นะพี่ก็ไม่เคยคิดเหรอกว่าตัวเองจะมาอยู่ในความสนใจของคนถึงขนาดนี้”
ผมชวนพี่เอกคุยเรื่องเกี่ยวกับชีวิตแกแต่คุยไปซักพักแกก็จะวกกลับมาเรื่องแบงค์ งานอดิเรกใหม่ของแกจนได้ บทสนทนาหลังจากนั้นแทบไม่เหลืออะไรแล้ว เรามาถึงที่หน้ารัฐสภา ผมพาพี่เอกขึ้นไปถ่ายภาพบนสะพานลอยเหนือสี่แยกเกียกกาย แล้วก็พาไปถ่ายที่ท่าน้ำเกียกกาย พี่เอกบอกกับผมว่าเขาไม่เคยเดินไปตรงท่าน้ำเกียกกายมาก่อน เวลาที่เหลืออยู่ระหว่างการถ่ายรูปเราแทบไม่ได้คุยอะไรกันนอกจากผมจะขอให้พี่เอกโพสต์ท่าต่างๆ ผมไม่รู้ว่าตอนนั้นพี่เอกคิดอะไร แต่สำหรับผมความรู้สึกตอนนั้นมันปนกันหลายอย่าง วันนี้ผมได้รู้จักพี่เอกในมุมที่ไม่คิดว่าจะได้รู้จักมาก่อน และที่สำคัญระหว่างบทสนทนาผมได้ค้นพบเรื่องน่าเศร้าของสังคมไทย
“โอ้ยแกโดนแค่ 116 ไม่ใช่เหรอ มาโพสต์ห่วงกลัวลูกเมียเดือดร้อน” บทสนทนาที่พี่เอกพูดขึ้นลอยๆกับเพื่อนนักเคลื่อนไหวคนหนึ่งในตอนต้นก่อนเริ่มการสัมภาษณ์อดทำให้ผมคิดไม่ได้ว่า เราอยู่ในสังคมแบบไหนที่คนสองคนต้องมาปรับทุกข์หรือบลัฟกันว่าโทษที่เกิดจากการเข้าร่วมแสดงทางการเมืองของใครหนักกว่ากัน
ผมปล่อยตัวเองอยู่กับห้วงคะนึงของตัวเองเงียบๆหลังร่ำลากับพี่เอกตรงท่าน้ำเกียกกายก่อนที่เขาจะค่อยๆเดินลับตาไป   
เรื่องโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์ (iLaw)
ภาพโดย Banrasdr Photo

 

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ กับความเติบโตในสายตาของอาจารย์

ชวนฟังมุมมองของอาจารย์ที่มีต่อลูกศิษย์ผู้ถูกคุมขังด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112