การสลายการชุมนุมและการประกอบสร้างความรุนแรง

เท่าที่สามารถเก็บข้อมูลได้ระหว่างวันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 15 มีนาคม 2564 มีการชุมนุมเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 160 ครั้ง แบ่งเป็นเดือนมกราคม 47 ครั้ง เดือนกุมภาพันธ์ 73 ครั้ง เดือนมีนาคม 40 ครั้ง อันดับหนึ่งคือ กรุงเทพมหานคร 111 ครั้ง รองลงมาคือ เชียงใหม่ 9 ครั้ง, ขอนแก่นและร้อยเอ็ด 6 ครั้ง และอุบลราชธานี 5 ครั้ง  โดยวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่คือ การเรียกร้องเรื่องการปล่อยตัวนักกิจกรรมทางเมืองและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโควิด 19
จากการชุมนุม 160 ครั้งมีอย่างน้อย 21 ครั้งที่กลายเป็นคดีความ ข้อกล่าวหาที่มีโทษหนักที่สุดคือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมี 9 ครั้งเจ้าหน้าที่ทำการสลายการชุมนุม แบ่งเป็นการสลายการชุมนุมขนาดเล็กที่การจับกุมเป็นผลให้การชุมนุมต้องจบไป 2 ครั้งคือ การชุมนุมของกลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทานเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 โดยในทีนี้จะกล่าวถึงการสลายการชุมนุมอีก 7 ครั้งหลัง
โดยการปะทะกันในระยะหลังตำรวจมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อสกัดยับยั้งการใช้เสรีภาพในการชุมนุมมากขึ้น แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการอ้างกฎหมาย อาทิ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) แต่การใช้กำลังตำรวจชุดควบคุมฝูงพร้อมอาวุธเข้าสลายการชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธก็นับว่าเป็นการใช้ความรุนแรงเกิดกว่าเหตุ และรังแต่จะทำให้เกิดการตอบโต้กลับจากประชาชนด้วยความโกรธแค้นจนอาจทำเกิดเหตุบานปลายมากขึ้น

สลายการชุมนุม 3 ครั้งซ้อน สู่การขว้างระเบิดแรงดันต่ำ

วันที่ 16 มกราคม 2564 เวลา 12.00 น. ที่เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่ม “การ์ดปลดแอก” นัดทำกิจกรรมเขียนป้ายข้อความยาว 112 เมตร โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งบริเวณโดยรอบที่ชุมนุมมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 50 คน ในขณะที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมีกำลังพลหลายร้อยนายมาอยู่ที่เกาะพญาไทและมีการประกาศเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และอ้างข้อกฎหมายตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากนั้นตำรวจได้เข้ายึดป้ายผ้าและจับกุมผู้ชุมนุมไปไม่น้อยกว่า 2 คน ก่อนจะปิดล้อมพื้นที่กิจกรรม และในการจับกุมมีการลากตัวผู้ชุมนุมรายหนึ่งอีกด้วย
หลังตำรวจเข้าสลายการชุมนุมและไม่แน่ชัดว่า จะนำตัวผู้ชุมนุมทั้ง 2 คนที่ถูกจับกุมไปที่ใด ผู้ชุมนุมจึงไปรวมตัวกันใหม่ที่สน.พญาไทเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมต่อที่สน.พญาไท แต่เมื่อไปถึงตำรวจควบคุมฝูงชนเตรียมตั้งแถวล้อมและประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมย้ายสถานที่ไปชุมนุมบริเวณสามย่าน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้าสลายการชุมนุมอีกครั้ง และจับกุมประชาชนในที่เกิดเหตุไปไม่น้อยกว่า 4 คน ซึ่งการสลายการชุมนุมในครั้งนี้นำไปสู่การขว้างระเบิดแรงดันต่ำ และทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นตำรวจ ผู้สื่อข่าวและประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า วันที่ 29 มกราคม 2564 เวลาประมาณ 19.30 น. ตำรวจแสดงหมายจับเข้าจับกุมตัวการ์ด 2 คนคือ ณัฐสุตและพรชัยในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี แต่ไม่ได้นำตัวทั้ง 2 คนไปที่สน.ท้องที่ในทันที เพื่อนและทนายความไม่สามารถติดต่อทั้ง 2 คนได้ จนกระทั่งเวลา 11.55 น. ณัฐสุตจึงถูกนำตัวมาถึง สน. ปทุมวัน โดยมีผ้าคลุมที่หน้า อีก 15 นาทีต่อมาพรชัยจึงตามเข้ามา ตำรวจชี้แจงว่า ช่วงเวลากว่า 4 ชั่วโมง ที่ไม่มีใครติดต่อทั้งสองคนได้นั้น พวกเขาถูกนำตัวไปยังกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อทำบันทึกจับกุม จากนั้น เวลาประมาณ 05.30 น. มีรายงานว่า ตำรวจได้จับกุมวีรยุทธ ตามหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ในคดีเดียวกันนี้ มาที่ สน.ปทุมวัน อีก 1 คน รวมมีผู้จับกุมจากเหตุขว้างระเบิด 3 คน
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ตำรวจเร่งรัดใช้ความรุนแรงเพื่อเข้าจับกุมและสลายการชุมนุมครั้งดังกล่าว แม้การชุมนุมจะไม่มีลักษณะรุนแรง และยิ่งสะท้อนถึงแนวนโยบายของรัฐที่ให้เด็ดขาดกับผู้ชุมนุม ตามคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ต่อเหตุการณ์ที่นักกิจกรรมนำธงแดง 112 ขึ้นแทนธงชาติที่ สภ.คลองหลวงในการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 ว่า “หากจำเป็นต้องใช้กำลังหรือบังคับใช้กฎหมายก็ต้องทำ อย่าลังเล”

สลายการชุมนุม #SaveMyanmar 2 ครั้ง

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 14.00 น. ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย มีประชาชนชาวเมียนมาเดินทางมารวมตัวกันเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านการก่อรัฐประหารที่เกิดขึ้นในเมียนมา พร้อมกับมีกลุ่ม We Volunteer นำโดย โตโต้-ปิยรัฐ จงเทพ นัดทำกิจกรรมเพื่อแสดงจุดยืนร่วมกับประชาชนเมียนมา และมีกิจกรรมอ่านแถลงการณ์นำโดย โตโต้-ปิยรัฐ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
เวลา 15.45 น. หลังการแถลงการณ์ ปิยรัฐเห็นว่า ยังมีมวลชนทยอยมาต่อเนื่องจึงตัดสินใจว่า จะทิ้งทีมรักษาความปลอดภัยและรถเครื่องเสียงไว้ให้มวลชนที่ทยอยมา บรรยากาศการชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประชาชนลงไปอยู่บนพื้นผิวการจราจรบ้าง ต่อมาเวลา 16.16 น. ตำรวจประกาศให้ยุติการชุมนุม และเวลา 17.00 น. ตำรวจนำกำลังชุดควบคุมฝูงชนตั้งแถวเข้าหาผู้ชุมนุม จนเกิดการปะทะ ขว้างปาสิ่งของที่คว้าได้ในบริเวณดังกล่าวใส่ตำรวจ หลังจากนั้นพบว่า มีการจับกุมประชาชนไปไม่น้อยกว่า 4 คน
ต่อมา ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 ชาวเมียนมาที่อาศัยในประเทศไทยรวมตัวกันที่หน้าตึกสหประชาชาติประจำประเทศไทย เบื้องต้นตำรวจเจรจากับผู้ชุมนุมให้จัดการชุมนุมได้ตามเวลาที่กำหนดและไม่ให้คนไทยเข้าร่วมการชุมนุม โดยระบุว่า “จะมีคนไทยที่มันชอบสร้างความวุ่นวายมาร่วมด้วย ขอให้แยกให้ชัด” แต่ยังไม่ทันครบเวลาที่เจรจาไว้ ผู้ชุมนุมารวมตัวกันมากขึ้น ตำรวจประกาศให้ยุติการชุมนุม โดยอ้างเหตุเรื่องการควบคุมโรค แต่ผู้ชุมนุมยังคงทยอยมาอย่างต่อเนื่อง จากนั้นตำรวจตั้งแถวรุกไล่และมีการถ่ายบัตรประจำตัวของผู้ชุมนุมไว้ด้วย
ระหว่างการสลายการชุมนุมมีการกล่าวต่อชาวเมียนมาด้วยว่า “อย่าให้คนไทยมาทำให้พวกท่านแตกแยก”  เมื่อถูกรุกไล่อย่างต่อเนื่องท้ายที่สุดการชุมนุมจำต้องยุติลง สำหรับวันดังกล่าวเท่าที่สามารถติดตามได้ไม่มีการจับกุมผู้ชุมนุม
การเร่งรัดเข้าสลายการชุมนุมถึงสองครั้ง สะท้อนให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ต้องการเร่งรัดให้มีการยุติการชุมนุมโดยเร็ว แม้สภาพการณ์ของการชุมนุมเป็นไปโดยสันติ และการปะทะกันก็เป็นผลที่เกิดขึ้นหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า ตำรวจมีความพยายามสร้างความขัดแย้งในหมู่ผู้ชุมนุมเพราะไม่ต้องการให้กลุ่ม We Volunteer หรือนักเคลื่อนไหวไทยเข้ามาข้องเกี่ยวในการเคลื่อนไหวต้านรัฐประหารของชาวเมียนมา ซึ่งความพยายามแยกคนไทยและชาวเมียนมาออกจากกันได้สร้างความรู้สึกหวาดกลัวให้แก่ชาวเมียนมาที่หวังใช้ไทยเป็นพื้นที่การเคลื่อนไหว
“เราต้องประท้วงทุกวันจนกว่ามันจะได้ประชาธิปไตย…ตอนนี้เราอยู่ในภาวะที่ตกอับที่สุด” นี่เป็นคำกล่าวจากชาวเมียนมารายหนึ่งที่คอยมายืนบอกให้เพื่อนกลับบ้านยามที่ตำรวจสั่งให้กลับ เธอหวั่นเกรงว่า หากมีการปะทะระหว่างคนไทยและตำรวจเช่นการขว้างปาสิ่งของจะส่งผลกระทบต่อชาวเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับกุม เธอกล่าวต่อว่า “เราก็ต้องต่อสู้ให้ได้ แต่มันจะอีกกี่เดือนกี่ปี เราไม่รู้ จนกว่าเราจะได้ประชาธิปไตยกลับคืนมา ทำให้เราต้องอยู่ในขอบในเขต” แม้จะไม่ชัดแจ้งถึงขอบเขตนั้น แต่ก็เข้าใจได้ว่า เป็นการปฏิบัติตามแนวทางของตำรวจ
ขณะที่ชาวเมียนมาอีกรายหนึ่งกล่าวว่า เขาไม่ติดใจใดๆกับการเข้าร่วมกิจกรรมต้านรัฐประหารเมียนมาของชาวไทย คนเยอะยิ่งดีจะได้ช่วยกันต่อสู้ แม้ว่าการเคลื่อนไหวของชาวเมียนมาจะถูกกั้นเขตแดนเท่าไหร่ ในการชุมนุมครั้งต่อๆมาของนักกิจกรรมไทยชาวเมียนมาก็เข้ามามีส่วนร่วมด้วยหลายครั้ง

ราษฎร : ความโกรธของผู้ชุมนุมและการกวาดจับของตำรวจ

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 15.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มผู้ชุมนุมในนาม “ราษฎร” นัดรวมตัวกันทำกิจกรรม #นับหนึ่งถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน กิจกรรมมีการปราศรัยและรื้อต้นไม้ที่ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นเวลาประมาณ 18.00 น. จึงเคลื่อนขบวนไปที่ศาลหลักเมืองเพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ แต่ขบวนไม่สามารถเข้าไปได้เนื่องจากตำรวจตั้งแนวกีดขวางไว้บริเวณศาลฎีกา ซึ่งเป็นระยะรัศมี 150 เมตรจากเขตพระบรมมหาราชวัง อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ แกนนำได้เจรจาเพื่อเข้าไปทำพิธีภายในศาลหลักเมือง จนบรรลุข้อตกลง ระหว่างนั้นเวลา 19.38 น. ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงขอให้ตำรวจปิดไฟสปอตไลท์ด้านหน้ารถบรรทุกเครื่องขยายเสียง โดยให้เวลา 5 นาที
เมื่อจวนจะครบกำหนดภาณุพงศ์นับถอยหลัง หลังนับถึง 1 มวลชนฝั่งหน้าแนวกั้นมีการขว้างปาสิ่งของข้ามเข้าไปในแนวกั้นตำรวจ เช่น ขวดน้ำและวัตถุมีประกายไฟ มีเสียงดังปังอย่างน้อย 2 ครั้ง มีวัตถุที่มีประกายไฟชิ้นหนึ่งตกที่แนวรั้วของสนามหลวง มีอย่างน้อย 1 ครั้งที่มีวัตถุมีประกายไฟลอยมาจากหลังแนวกั้นของตำรวจมาทางสนามหลวงที่มวลชนปักหลัก เป็นเวลา 2 นาที การขว้างปาก็ยุติ
เวลา 20.14 น. แกนนำประกาศยุติการชุมนุม แต่มีมวลชนที่อยู่ฝั่งสนามหลวงข้างแนวกั้นของตำรวจประมาณ 100 คน ไม่ยินยอมกลับระบุทำนองว่า การชุมนุมเช่นนี้ไม่คุ้มค่าเดินทางที่เสียไป และมองไม่เห็นชัยชนะ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า แกนนำไม่ใช่คนที่จะมาออกคำสั่งเขาได้ ผู้ชุมนุมกลุ่มดังกล่าวยังคงขว้างปาสิ่งของเข้าไปในแนวเป็นระยะทั้งแผงเหล็ก แผ่นอิฐที่ถูกทุบจนแตกขนาดพอดีมือ, ไม้และขวดน้ำ เข้าไปที่แนวตำรวจ บ้างตกด้านหน้าแนว บ้างตกเข้าไปในแนวตำรวจ ตำรวจยังไม่มีการโต้ตอบ มีการตะโกนเป็นระยะว่า ให้ปล่อยเพื่อนกู ซึ่งหมายถึงแกนนำราษฎรทั้ง 4 คนที่ศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564
การปะทะรอบนี้เป็นครั้งแรกที่ได้ยินเสียงของตำรวจที่ปฏิบัติงานอยู่ ระหว่างที่แกนนำประกาศให้มวลชนกลับบ้านและไม่ทำลายทรัพย์สิน ตำรวจที่ตั้งโล่ในแนวกั้นร้องโห่ออกมา แต่ไม่ดังนัก เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่ใช้เครื่องขยายเสียงขอให้ตำรวจอดทน
จนกระทั่งเวลา 20.55 น. จึงประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ภายใน 30 นาที แต่มีรายงานการจับกุมประชาชนครั้งแรกเวลา 21.09 น. มีรายงานการจับกุมและกระทืบแพทย์อาสา D.N.A. ด้วย  จากคลิปของข่าวสดอิงลิชระหว่างที่ตำรวจหลายนายล้อมชายคนหนึ่งที่นอนราบกับพื้น มีเสียงชายคนหนึ่งพูดว่า “ทีพวกมึงทำกูอ่ะ” และมีมือของตำรวจควบคุมฝูงชนมากันแนวไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าใกล้ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ตำรวจควบคุมฝูงชนถือปืนยาวที่ใช้กระสุนยางระหว่างการสลายการชุมนุมด้วย
วันดังกล่าวมีการจับกุมประชาชนไปไม่น้อยกว่า 19 คน ในจำนวนนี้มีแพทย์อาสาที่ใส่เสื้อกั๊กสะท้อนแสงและคนไร้บ้าน ทั้งยังมีรายงานว่า มีความพยายามคุมตัวนักเรียนมัธยมศึกษาคนหนึ่งที่มาถ่ายภาพและปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหา สะท้อนให้เห็นถึงการกวาดจับในลักษณะไม่คัดแยกผู้ชุมนุมที่มีแนวโน้มในการใช้ความรุนแรงออกจากการชุมนุม

#REDEM1 : การเปิดฉากความรุนแรงของตำรวจ

หลังเกิดเหตุปะทะเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีการชี้แจงจากแกนนำ นำโดย รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ว่า ขบวนการยืนยันที่จะใช้สันติวิธีในการเคลื่อนไหว หลังจากนี้อาจพิจารณาเรื่องทีมสันติวิธี ด้านทีมงาน We Volunteer ก็มีการยืนยันการใช้สันติวิธีเช่นกัน
สถานการณ์การปะทะเริ่มดีขึ้นในการชุมนุมครั้งต่อๆ มา โดยการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาระหว่างวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2564 ของ Mobfest และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม แม้จะมีเจ้าหน้าควบคุมฝูงชนจำนวนมากและรถฉีดน้ำแรงดันสูงตั้งแนว แต่ทั้งสองฝ่ายต่างเว้นระยะและเปิดพื้นที่ให้แสดงออก และต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ราษฎรจัดม็อบ #ตั๋วช้าง สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรตำรวจ รวมทั้งการโอนย้ายข้าราชการตำรวจไปเป็นข้าราชการในสังกัดอื่นและการเลื่อนขั้นอย่างรวดเร็วอันเป็นผลจากการยกเว้นหลักเกณฑ์ของ พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ สุขวิมลและพล.ต.จิรภพ ภูริเดช
ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 REDEM ที่ริเริ่มโดยเยาวชนปลดแอกได้นัดรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเดินขบวนไปที่ราบ 1 ตำรวจได้วางแนวคอนเทนเนอร์และลวดหนามหีบเพลงกั้นเป็นแนวยาวที่ด้านหน้าราบ 1 เมื่อผู้ชุมุนมเดินขบวนมาถึงเวลา 17.40 น. จึงเริ่มตัดลวดหนามหีบเพลงและเลื่อนตู้คอนเทนเนอร์ (พฤติการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นในการชุมนุมวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ที่หน้าราบ 11 เช่นกัน แต่ไม่ปรากฏความรุนแรง) ต่อมาเวลา 18.02 น. ตำรวจตั้งแถวเดินมาจากสโมสรทหารบกและเริ่มต้นสลายการชุมนุมในเวลา 18.13 น. มีการจับกุมพร้อมทั้งทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุม เช่น การผลักและการกระทืบ ผู้ชุมนุมที่อยู่หน้าแนวตำรวจไม่ได้รับมืออย่างเป็นระบบระเบียบนัก มีการปาสิ่งของเช่น สีและขวดน้ำใส่ตำรวจ
นอกจากนี้ ยังมีผู้ชุมนุมบางรายนำไม้ออกมาจากกระเป๋ายาวประมาณ 60 เซนติเมตรปาเข้าใส่ตำรวจจากการตรวจสอบภาพและปากคำจากผู้อยู่ในเหตุการณ์พบว่า ผู้ชุมนุมและตำรวจมีการขว้างก้อนหินใส่กัน ขณะที่เวลา 18.39 น. เริ่มมีผู้ได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตา และไม่นานนักเวลา 18.52 น. พบปลอกกระสุนยาง ต่อมาเวลาประมาณ 21.00 น. ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมเข้มข้นขึ้นด้วยการฉีดน้ำและยิงกระสุนยางในระดับศีรษะไปทางผู้ชุมนุม ระหว่างการจับกุมมีการทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุม ทั้งยังมีการลากผู้ชุมนุมออกไปจากเต๊นท์พยาบาลที่อยู่ภายในปั๊มเชลล์
การปะทะบานปลายไปถึงหน้า สน.ดินแดง มีการขว้างปาสิ่งของกันที่หน้า สน. และเผารถตำรวจ ขณะที่ตำรวจเองก็ยิงกระสุนยางในระดับศีรษะเข้าใส่ผู้ชุมนุม ล่วงไปถึงเวลาประมาณ 01.00 น. การปะทะจึงจะจบ

#REDEM2 : น้ำอดน้ำทนใหม่หลังปะทะรุนแรง

การเปิดฉากความรุนแรงของรัฐที่หน้าราบ 1 นำไปสู่การปรับตัวเตรียมพร้อมของผู้ชุมนุมในการเข้าร่วมการชุมนุมครั้งใหม่ของ REDEM วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ห้าแยกลาดพร้าวตั้งเป้าเดินขบวนไปที่ศาลอาญา ธีมของการชุมนุมครั้งนี้คือ การเผาขยะ การชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการสลายการชุมนุมที่ราบ 1 และวันที่ 3 มีนาคม 2564 การจับกุมไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ เดอะบอททอมบลูส์ กรณีการจุดไฟที่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10
ระหว่างการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุมจากห้าแยกลาดพร้าวไปที่ศาลอาญา รัชดาฯ ตำรวจ พร้อมกำลังเสริมจากหน่วยอรินทราชเข้าจับกุมปิยะรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ ทีม We Volunteer และพวกไม่น้อยกว่า 48 คนที่ลานจอดรถเมเจอร์ รัชโยธิน โดยมีการค้นตัวและยึดอุปกรณ์สื่อสาร รวมทั้งการทำร้ายร่างกาย ทั้งในการแถลงข่าวของ We Volunteer เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ผู้ที่ถูกจับกุมผู้หญิงยังบอกด้วยว่า เธอถูกเจ้าหน้าที่ใช้ท่อนเหล็กสัมผัสที่บั้นท้าย ตลอดการจับกุมตำรวจไม่มีการแสดงหมายจับหรือหมายค้น ขณะที่ พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผบ.ชน.กล่าวว่า ปิยะรัฐและพวกกระทำความผิดซึ่งหน้า ตำรวจไม่จำเป็นต้องใช้หมายจับ
หลังจับกุมตำรวจได้แบ่งผู้ต้องขังขึ้นรถ 3 คัน รถที่คุมตัวปิยะรัฐและรถผู้ต้องขังอีก 2 คัน โดยรถของปิยะรัฐแยกไปที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ก่อน อีก 2 คันวิ่งมาบริเวณแยกรัชโยธินก่อนที่ประชาชนจะสกัดไว้ทั้ง 2 คัน ขณะที่ด้านหน้าศาลอาญา เมื่อผู้ชุมนุมเดินไปถึงพบว่า ตำรวจได้ตั้งแนวภายในศาลอาญา เว้นระยะจากรั้วของศาลอาญา จากนั้นตำรวจได้ทำการประกาศข้อกฎหมายที่แตกต่างไปจากการประกาศในครั้งก่อนๆ เดิมทีตำรวจมักจะอ่านข้อความลักษณะที่ว่า ขณะนี้อยู่ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และโทษของการฝ่าผืนกฎหมาย
แต่ครั้งนี้มีการประกาศรูปแบบใหม่โดยมีการอ้างอิงถึงเสรีภาพการชุมนุมที่รัฐธรรมนูญ แต่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯมาเป็นเงื่อนไขให้กระทำไม่ได้เช่นเดิม
…เจ้าหน้าที่มีความเข้าใจและให้ความเคารพในการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิเสรีภาพที่พลเมืองสามารถกระทำได้ ซึ่งได้รับการรับรองตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 แต่อย่างไรก็ตามการใช้สิทธิเสรีภาพจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยสาธารณะ ตลอดจนการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน…กรุงเทพมหานครยังอยู่ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯและการทำกิจกรรมของทุกท่านในขณะนี้เป็นการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด มีโอกาสติดต่อ จึงขอความร่วมมือพี่น้องทุกท่าน…ศาลอาญาเองมีข้อกำหนดระบุเงื่อนไขไว้…
แนวการประกาศลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 8 มีนาคม 2564 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดกิจกรรมไว้อาลัยกระบวนการยุติธรรม สำหรับกิจกรรมวันดังกล่าวสามารถจัดได้จนจบไปด้วยความเรียบร้อย มีการจุดไฟเผาขยะที่ผู้ชุมนุมเตรียมาและมีการนำป้ายข้อความไปวางที่ฐานพระบรมฉายาลักษณ์ ระหว่างการชุมนุมไม่มีเหตุการเผชิญหน้าใดระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ  ส่วนใหญ่เป็นการปะทะคารมระหว่างผู้ชุมนุมและการ์ดสันติวิธีที่มีการแจ้งก่อนหน้าว่า ภารกิจคือการสร้างระยะห่างระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ เมื่อเวลาการชุมนุมจริงพวกเขารักษาระยะห่าง แต่กลับมีความพยายามในการสกัดกั้นผู้ชุมนุมในการเผาขยะหรือการวางป้ายข้อความที่ประชาชนนำไปวางที่ฐานพระบรมฉายาลักษณ์
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า มีการยิงรถของตำรวจตระเวนชายแดนหลังออกจากพื้นที่ โดยยังไม่สามารถจับกุมตัวผู้กระทำได้
แม้การเผชิญหน้าระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุมจะลดลงอาจด้วยพื้นที่การชุมนุมที่ไม่ใช่พื้นที่ปกป้องลำดับแรกๆของรัฐและการปรับขบวนของการรับมือของตำรวจ แต่ใช่ว่า การเผชิญหน้าจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต ในสถานการณ์ความขัดแย้งนี้รัฐจำเป็นต้องรับมืออย่างพอเหมาะพอสม มีลำดับขั้นตอนการสลายการชุมนุมตั้งแต่เบาไปหนักและแยกการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมที่รัฐมองว่า กระทำความรุนแรงออกจากผู้ชุมนุมโดยรวมทั้งหมด มิอาจนับการกระทำความรุนแรงของปัจเจกบุคคลเป็นการกระทำความรุนแรงของขบวนการและนำมาสู่การตอบโต้ด้วยความรุนแรง