วิ่งไล่ลุงบุรีรัมย์กับปัญหาข้อกฎหมายที่รอการวินิจฉัย

ในช่วงก่อนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) เคยถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เป็นระยะโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่กำหนดห้ามการห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน ซึ่งส่งผลให้พ.ร.บ.ชุมนุมฯถูกนำมาใช้เป็นกลไกหลักในการจำกัดเสรีภาพการแสดงออก ด้วยนิยามที่กว้างขวางของกฎหมายทำให้การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของบุคคลแม้เพียงคนเดียวที่ผู้แสดงออกไม่ได้แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าก็มักถูกเจ้าหน้าที่บังคับพ.ร.บ.ชุมนุมฯเพื่อสั่งให้ยุติหรือสั่งปรับเป็นระยะ เช่นกรณีเอกชัยและโชคชัยไปเปิดเพลงประเทศกูมีหน้ากองทัพบก, กรณีธนวัฒน์และพริษฐ์ไปแขวนพริกกระเทียมขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและกรณีพริษฐ์กับธนวัฒน์ไปอ่านจดหมายเปิดผนึกที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก ทั้งสามกรณีเกิดขึ้นในปี 2562
จากนั้นในปี 2563 มีการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” พร้อมกันหลายพื้นที่ทั่วประเทศในวันที่ 12 มกราคม  2563 พ.ร.บ.ชุมนุมฯถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับผู้จัดอีกครั้งจนทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงปัญหาข้อกฎหมายว่าเหตุใดพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงถูกนำมาใช้บังคับกิจกรรมที่ตัวกฎหมายเขียนยกเว้นไว้อย่างการรวมตัวเพื่อการกีฬา
ต่อมาเมื่อมีการเมื่อมีการประกาศสถานฉุกเฉินทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด19 การพูดถึงประเด็นปัญหาเกี่ยวกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯเริ่มลดลง เพราะเมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ชุมนุมฯจะถูกงดเว้นการบังคับใช้ เพื่อไปใช้ข้อกำหนดตาม “กฎหมายพิเศษ” อย่างพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งไม่ได้มุ่งจัดระเบียบหรืออำนวยความสะดวกการชุมนุมแต่มุ่งห้ามปรามการชุมนุม ขณะเดียวกันเมื่อสถานการณ์การชุมนุมเริ่มสุกงอมตั้งแต่ช่วงหลังเดือนกรกฎาคม ผู้ชุมนุมเองก็ออกไปร่วมชุมนุมโดยที่ไม่ได้สนใจว่าจะมีกฎหมายฉบับใดที่ใช้บังคับห้ามการชุมนุมซึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้มีอำนาจหรือคนบางกลุ่ม
อย่างไรก็ดีในสภาวะที่พ.ร.บ.ชุมนุมฯกำลัง”จำศีล”ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คดีไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯที่เกิดจากการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงช่วงต้นปี 2563 ทั้งที่กรุงเทพมหานคร เชียงราย นครพนม นครสวรรค์และบุรีรัมย์ไม่ได้ “จำศีล” ไปด้วยหากแต่ดำเนินไปอย่างเงียบๆท่ามกลางข่าวการดำเนินคดีผู้ชุมนุมด้วยข้อหาที่รุนแรงขึ้นเป็นลำดับจากฝ่าฝืนข้อกำหนดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 , หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปจนถึงข้อกล่าวหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110
ในวันที่ 4 มีนาคม 2564 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์นัดสืบพยานคดีวิ่งไล่ลุงที่อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ สิ่งที่คดีวิ่งไล่ลุงอำเภอสตึกดูจะต่างจากคดีวิ่งไล่ลุงในพื้นที่อื่นๆอยู่จำเลยในคดีนี้ไม่ได้เป็นผู้กิจกรรมวิ่งไล่ลุงด้วยตัวเอง  เธอเพียงแต่ตอบรับคำเชิญของคนรู้จักว่าจะมาร่วมวิ่งผ่านทางเฟซบุ๊กแต่ถึงกระนั้นเธอก็ถูกดำเนินคดีในฐานะเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่อ้างเหตุที่เธอเชิญชวนให้คนมา “ออกกำลัง” ผ่านการโพสต์เฟซบุ๊กและถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กมาเป็นมูลเหตุในการดำเนินคดีคเนื่องจากนิยามของผู้จัดการชุมนุมและผู้ประสงค์จัดการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯเเขียนไว้อย่างกว้างๆเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่นำมาใช้ได้ หากท้ายที่สุดศาลมีคำพิพากษาในคดีนี้ว่าลำพังการเชิญชวนบุคคลทั่วไปให้เข้าร่วมการชุมนุมถือว่าเพียงพอแล้วที่จะใช้บ่งชี้ความเป็นผู้จัดการชุมนุมก็มีความเสี่ยงจะให้ประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุมถูกดำเนินคดีมากขึ้น

ไปวิ่งเพราะมีคนชวน

อิสรีย์ อภิสิริรุจิภาส หรือ มิ้ง อดีตผู้สมัครส.ส.เขตสองพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เล่าว่าเ ธอทราบข่าวเกี่ยวกับการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศจากข่าวในโทรทัศน์ ส่วนกิจกรรมในจังหวัดบุรีรัมย์ เธอทราบว่ามีประชาชนกลุ่มหนึ่งที่อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ประกาศจัดการชุมนุมในพื้นที่ซึ่งตัวเธอก็เห็นด้วยและอยากเข้าร่วมกิจกรรม “พี่คิดว่า มันเป็นการวิ่งออกกำลังนะ ไม่ใช่การชุมนุม ส่วนการวิ่งเนี่ยท่าจะมีคนบอกว่าวิ่งเพื่อไล่ลุงพี่ก็คิดว่าเป็นเสรีภาพที่จะทำได้ มันก็เหมือนกับเราไปเดินตลาดนั่นแหละที่บางทีเราไม่ได้ไปแค่ซื้อของแต่พอเจอคนรู้จักก็อาจมีการพูดคุยบ่นเรื่องเศรษฐกิจไม่ดีบ่นเรื่องการเมืองบ้างอะไรแบบนั้น”
กลุ่มคนที่จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในจังหวัดบุรีรัมย์อยู่ที่อำเภอบ้านกรวดแต่ตัวของอิสรีย์อยู่ที่อำเภอสตึก ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 110 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าห่างออกไปพอสมควร ระหว่างนั้นก็ปรากฎว่า มีเพื่อนบนเฟซบุ๊กของอิสรีย์คนหนึ่งโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาประกาศว่า จะจัดวิ่งไล่ลุงในพื้นที่อำเภอสตึก พร้อมทั้งติดแท็กชื่อของอิสรีย์เพื่อชวนให้เธอไปร่วมวิ่งด้วย ซึ่งอิสรีย์ก็โพสต์เฟซบุ๊กเป็นสาธารณะตอบไปว่าเธอจะไปร่วมวิ่งอย่างแน่นอน ในเวลาต่อมาเธอยังโพสต์เพิ่มเติมอีกทำนองว่า ตั้งเป้าจะลดน้ำหนัก เมื่อพูดว่าจะไปวิ่งแล้วก็ต้องรักษาคำพูด อิสรีย์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในภายหลังว่าตอนที่น้องเขาติดแท็กเชิญชวนเธอยังไม่รู้จักกับเขาเป็นการส่วนตัว เป็นแค่เพื่อนบนเฟซบุ๊กซึ่งปกติเธอเองก็จะตอบรับคำขอเป็นเพื่อนของคนที่อยู่บุรีรัมย์ในเฟซบุ๊กอยู่แล้ว เธอเพิ่งมาทราบภายหลังเกิดเรื่องคดีนี้ว่าน้องคนที่ประกาศจัดวิ่งปกติก็เป็นนักวิ่งที่ชอบเข้าร่วมวิ่งในรายการต่างๆอยู่แล้ว
“น้องเขาประกาศจัดวิ่งได้ไม่กี่วันก็ประกาศว่าเขาจะไม่จัดวิ่งแล้วเพราะกลัวกระทบกับหน้าที่การงาน เป็นไปได้ว่าอาจมีใครไปพูดอะไรกับน้องเขา ส่วนตัวพี่เองพอเกิดเรื่องก็ยังโพสต์เฟซบุ๊กยืนยันว่่าจะไปวิ่งตามเดิมเพราะตั้งใจไว้แล้ว” 
ก่อนวันกิจกรรมปรากฎว่า มีคนอ้างว่าเป็นตำรวจสันติบาลมาที่บ้านพี่บ้านเธอสองครั้ง แต่ไม่มีการแสดงบัตรประจำตัวให้ดู พอถามอิสรีย์ว่าวันนั้นได้ให้ตำรวจเข้าบ้านหรือไม่ อิสรีย์ตอบว่า ให้เข้าแต่ถือว่า เป็นการคุกคาม อิสรีย์เล่าต่อว่า คนที่อ้างตัวว่า เป็นสันติบาลนั้นบอกว่า ผู้ใหญ่ไม่สบายใจให้มีงานแบบนี้ในบุรีรัมย์แต่เขาก็ไม่ได้บอกว่าผู้ใหญ่ที่ว่าคือใคร  จากนั้นมีตำรวจท้องที่คนหนึ่งมาถามเธอต่อว่า ยังจะไปวิ่งอยู่ไหม แต่เธอยืนยันว่า จะไป

การวิ่งไม่ใช่ชุมนุม

อิสรีย์เล่าต่อว่า เมื่อถึงวันกิจกรรมเธอเดินทางไปถึงไปถึงสวนสาธารณะสตึกริมแม่น้ำมูลตั้งแต่เวลา 6.00 น. แต่เธอยังไม่เข้าไปในสวนสาธารณะ เนื่องจากก่อนหน้านั้นไม่นานมีตำรวจสันติบาลที่ไปเยี่ยมบ้านเธอโทรศัพท์มาบอกเธอว่า มีคนจัดกิจกรรมตักบาตรอยู่ที่สวนสาธารณะซึ่งเป็นจุดที่เธอจะไปวิ่ง อิสรีย์ตั้งข้อสังเกตว่า งานตักบาตรน่าจะจัดแบบฉุกละหุกเพราะตามปกติแล้วถ้ามีงานบุญในพื้นที่เธอจะรู้ก่อนตลอด
“พอพี่เห็นว่าเขาตักบาตรกันพี่ก็เลยรออยู่ด้านนอกสวน ระหว่างที่รอก็มีคนรู้จักที่ไม่รู้ว่าเขาจะมาวิ่งไล่ลุงหรือแค่มาวิ่งออกกำลังตามปกติมาทักทายแล้ว ระหว่างนั้นตำรวจสันติบาลที่เค้าติดตามพี่ก็แต่งชุดเหมือนจะมาวิ่งชวนพี่ถ่ายรูปแล้วก็มีคนรู้จักพี่มาถ่ายรูปด้วยกันในรูปก็ถ่ายกันทั้งหมด 7 คน”อิสรีย์เล่าว่าระหว่างที่ตำรวจถ่ายรูปเธอก็สังเกตพื้นที่รอบๆไปด้วย เธอเห็นคนซึ่งบางส่วนสวมเสื้อสีขาวเขียนข้อความ เช่น รักลุงตู่ หรือ ลุงตู่สู้ๆ กำลังตักบาตรอยู่ ขณะที่บางคนก็มองมาที่เธอด้วยสายตาแปลกๆ
เวลาประมาณ 7.00 น. เมื่อเห็นว่าคนที่มาตักบาตรใกล้เสร็จพิธีแล้วอิสรีย์ก็เตรียมเข้าไปวิ่งในสวนสาธารณะ เธอสังเกตว่าบริเวณลู่วิ่งมีโต๊ะวางอยู่ตามทางจนแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะวิ่ง ผู้ชายคนหนึ่งซึ่งอิสรีย์เองก็รู้จักเดินเข้ามาหาตำหนิและต่อว่าการออกมาวิ่งของเธอเป็นสิ่งที่ผิด ซึ่งเธอก็ไม่ได้ตอบโต้อะไรพร้อมเตรียมวิ่งต่อไป พอเริ่มวิ่งก็มีกลุ่มคนที่สวมเสื้อเขียนข้อความสนับสนุนลุงตู่สีขาวตะโกนต่อว่า เธอในลักษณะที่มีคนพูดนำแล้วให้โห่ตาม แต่เธอก็ไม่ได้ตอบโต้อะไรแต่ก็กึ่งเดินทางวิ่งไปตามทาง เมื่อพ้นจากจุดที่มีโต๊ะหรือข้าวของวางบนทางวิ่งก็จะวิ่ง เมื่อถึงจุดที่มีข้าวของกองเกะกะก็จะเดินสลับกันแบบนี้ไปเรื่อยๆ อิสรีย์เล่าด้วยว่าตลอดทางที่เธอวิ่งจะมีคนที่ใส่เสื้อขาวประมาณสองร้อยคนคอยโห่หรือพูดไม่ดีใส่โดยที่การกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการ “จัดตั้ง” เพราะจะมีต้นเสียงและมีคนโห่รับ
ระหว่างที่เธอเริ่มวิ่ง มีผู้หญิงสูงอายุคนหนึ่งสวมเสื้อสีขาวข้อความว่า “ลุงตู่สู้ๆ” เดินเข้ามาหา เธอรู้สึกไม่ปลอดภัย จึงหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาไลฟ์แล้วพูดทำนองว่าเสื้อที่หญิงคนดังกล่าวสวยดี และขอให้เราต่างคนต่างวิ่งไปแสดงออกไปตามสิทธิเสรีภาพของตัวเอง ส่วนใครที่อยากมาร่วมวิ่ง มาร่วมแสดงออกทางการเมืองก็สามารถมาได้ถือว่าเป็นเสรีภาพของทุกคน
“วันนั้นพี่วิ่งสามรอบ มีคนที่มาวิ่งไล่ลุงด้วยกันจริงๆทั้งหมดเจ็ดคน แต่ตอนอยู่ที่สวนก็เจอคนรู้จักที่เขามาออกกำลังอยู่แล้วบ้าง ก็ทักทายกัน พอวิ่งครบสามรอบพี่ก็เตรียมตัวจะกลับก็เจอคนรู้จักชวนไปกินกาแฟที่บ้านเขา ตำรวจสันติบาลที่มาติดตามพี่ก็ขอตามไปบ้านดังกล่าวด้วย แถมพอไปบ้านเขายังไปขอจดชื่อจดเบอร์โทรคนที่มาวิ่งกับพี่ไว้อีกอ้างว่าเป็นพวกเดียวกันอยากรู้จักอย่างงั้นอย่างงี้”
อิสรีย์เล่าต่อว่าเหตุการณ์ที่เธอถูกคนที่สวมเสื้อ “ลุงตู่สู้ๆ” เข้ามาต่อว่า และถูกรายงานโดยสื่อจนเป็นข่าวในวันนั้น น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เธอถูกดำเนินคดี วันที่ 13 มกราคม 2563 มีตำรวจโทรมาหาอิสรีย์บอกให้ไปจ่ายค่าปรับพร้อมอ้างว่ามวลชนฝั่งที่มาสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ก็ชำระค่าปรับแล้ว และบอกว่า หากอิสรีย์ไม่จ่ายค่าปรับก็จะถูกออกหมาย อิสรีย์เชื่อว่าสิ่งที่เธอทำไม่ใช่ความผิดเพราะเธอไม่ได้เป็นคนจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงและการวิ่งก็ไม่ใช่การชุมนุมเธอจึงตัดสินใจสู้คดี
“เค้า (ตำรวจ) บอกฝั่งโน้นก็จ่าย แต่พี่ไม่จ่ายเพราะข้อหาคือการเป็นผู้จัดแล้วพี่ก็ไม่ได้เป็นคนจัดไง ถ้าพี่ตั้งใจจะจัดจริงๆพี่ก็จะประกาศบอกตรงๆและเตรียมงานให้พร้อมเพราะเชื่อว่า คนจะมาเยอะแน่นอน เพราะพี่ก็เคยจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการอยู่บ่อยครั้ง ถ้าพี่จะจัดการชุมนุมทางการเมืองก็จะจัดรูปแบบอื่นซึ่งไม่ใช่แค่การออกมาวิ่งแน่นอน วันนั้นก็ไม่มีเวทีปราศรัย ไม่มีการปราศรัย, ไม่มีการชูป้ายใดๆ พี่ไปวิ่งอย่างเดียว พี่ว่ามันไม่ยุติธรรม เราก็เป็นแค่ประชาชนคนนึงที่มาใช้พื้นที่สาธารณะวิ่งออกกำลังกาย แล้วถูกกระทำจากผู้มีอำนาจด้วยการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทำลายผู้เห็นต่างทางการเมือง ตัวพี่เองโดนคดีนี้ไม่ได้เดือดร้อนอะไรเท่าไหร่ แต่ที่เดือดร้อนคือคนรอบข้าง อย่างหัวหน้างานเก่าก็ถูกคุกคามมีการกดดันเรื่องให้เอาพี่ออก หัวหน้าพี่เค้าก็ดี เขาเข้าใจว่ามันเป็นการแสดงออกที่ทำได้แต่เพื่อความสบายใจพี่เลยตัดสินใจลาออกเอง”
“พี่มีมุมมองว่าพรบ.ชุมนุมสาธารณะ ปี2558 อาจขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญในการใช้เสรีภาพของประชาชน”
อิสรีย์ทิ้งท้าย

ปัญหาที่รอการตีความ แค่เชิญชวนก็กลายเป็นคนจัดการชุมนุมแล้วหรือ?

ขณะที่ภาวินี ชุมศรี หรือทนายแอนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายอับอิสรีย์ตั้งแต่ชั้นสอบสวนระบุว่า ข้อเท็จจริงของคดีนี้ค่อนข้างชัดว่าจำเลยไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมเพราะจำเลยไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มโพสต์ข้อความเชิญชวนคนมาร่วมวิ่งไล่ลุง จำเลยเพียงแต่ได้รับคำเชิญจากคนบนเฟซบุ๊ก และเมื่อผู้ริเริ่มประกาศยกเลิกการเป็นผู้จัดการชุมนุมจำเลยก็ไม่ได้ประกาศเป็นผู้แทนแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยต้องไลฟ์สดก็เชื่อว่าเป็นเพราะจำเลยรู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะถูกล้อมโดยผู้เห็นต่างทางการเมืองที่มีจำนวนมากกว่าหลายเท่าตัว
“คดีนี้ข้อเท็จจริงค่อนข้างชัดว่าคุณอิสรีย์ไม่ใช่คนจัดการชุมนุมนะ เพราะเธอไม่ได้เป็นคนริเริ่มชวนคนไปวิ่ง เธอเพียงแต่ไปตามคำเชิญชวนของคนบนเฟซบุ๊ก แล้วในวันเกิดเหตุข้อเท็จจริงก็ชัดว่ามันไม่ได้มีการจัดเตรียมพื้นที่อะไรเลย ไม่มีจุดสตาร์ท ไม่มีเส้นชัย ไม่ได้มีจุดบริการน้ำหรือการบริหารจัดการใดๆทั้งสิ้นเลย แล้วคุณอิสรีย์ก็ไม่ได้ประกาศว่าคนที่มาต้องวิ่งจากไหนไปไหน ต้องเข้าห้องน้ำตรงไหน ส่วนที่เธอต้องไลฟ์เฟซบุ๊ก ก่อนที่จะวิ่งก็เป็นเพราะตอนนั้นมีคนที่ความเห็นทางการเมืองต่างจากเธอประมาณ 200-300 คนอยู่ในพื้นที่และมีคนตะโกนต่อว่าหรือโห่เธอ เธอจึงได้ใช้โทรศัพท์ถ่ายไลฟ์เพื่อบันทึกเหตุการณ์ด้วยความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย และแม้ระหว่างที่ไลฟ์เธอจะมีการพูดในลักษณะชวนคนที่สนใจมาร่วมวิ่ง แต่มันก็เป็นลักษณะชวนคนมาวิ่งออกกำลังไม่ได้ชวนมาชุมนุม และลำพังพฤติการณ์เชิญให้คนมาวิ่งโดยไม่มีพฤติการณ์อื่นแวดล้อม เช่นการมีอำนาจตัดสินใจหรือกำหนดทิศทางการวิ่งหรือประกาศกฎกติกาอะไรมันก็ไม่พอฟังว่าจะเป็นพฤติการณ์ของผู้จัดการชุมนุมตามที่ถูกกล่าวหา” 
ระหว่างการต่อสู้คดี อิสรีย์ขอให้ทนายความยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยอิสรีย์ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประเด็นเกี่ยวกับนิยามผู้จัดการชุมนุมและผู้ประสงค์จัดการชุมนุมที่อิสรีย์ยื่นให้ศาลตีความได้แก่ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 วรรคสอง ซึ่งให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดผู้อื่นมาชุมนุมเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะที่ต้องแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24  ชั่วโมง ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ขัดกับหลักนิติธรรม เพิ่มภาระและจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ขัดกับหลักความได้สัดส่วน เนื่องจาก
พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดผู้อื่นมาชุมนุมเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะที่ต้องแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ด้วย ทั้งที่นิยามในมาตรา 4 ไว้ชัดเจนแล้วว่า “ผู้จัดการชุมนุม  หมายถึง ผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น”ซึ่งผู้จัดการชุมนุมจะต้องมีการแสดงออกอย่างชัดแจ้ง เช่น ขอใช้สถานที่ ขอใช้เครื่องเสียง ฯลฯ การกำหนดให้ผู้ที่เพียงเชิญชวนหรือนัดผู้อื่นต้องแจ้งการชุมนุมด้วยตามมาตรา 10 วรรคสอง จึงเพิ่มภาระและจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ทั้งยังส่งผลให้เกิดการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอันถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 ด้วย เนื่องจากทำให้ประชาชนทั่วไปไม่กล้าที่จะใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพราะอาจถูกตีความว่าเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมที่มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมด้วย

จนถึงวันที่ 16 มีนาคม 2564 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ออก ศาลจังหวัดบุรีรัมย์จึงสั่งให้เลื่อนการสืบพยานจำเลยซึ่งมีตัวอิสรีย์เพียงปากเดียวออกไปก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยจึงให้มาฟังคำวินิจฉัยและสืบพยานในนัดเดียวกัน หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านิยามของผู้ประสงค์จะจัดให้มีการชุมนุมขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญคดีนี้ก็เป็นอันยุติไป แต่หากศาลเห็นว่านิยามดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญศาลก็จะสืบพยานต่อโดยอาศัยพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ปรากฎในชั้นศาล

กีฬา การแสดงออกทางการเมือง หรือการชุมนุม?

จากการสำรวจกฎหมายเกี่ยวกับกีฬาทั้งหกฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติ สถาบันการพลศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555  พระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา
พ.ศ. 2555 พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556 พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 และ พระราชบัญญัตินโยบายการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. 2561 พบว่าคำว่า “การกีฬา” มีการให้นิยามไว้ในกฎหมายฉบับเดียวคือพ.ร.บ.นโยบายการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดนิยามว่า การกีฬา หมายถึง การกระทำหรือการดำเนินการใดที่เกี่ยวกับกีฬา แต่ไม่กีกฎหมายฉบับใดที่นิยามคำว่า “กีฬา” ไว้เป็นการเฉพาะขณะที่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับปี 2554 ให้ความหมายคำว่ากีฬาไว้ว่า “น. กิจกรรมหรือการเล่นที่มีกฎกติกากำหนด เพื่อความสนุกเพลิดเพลินผ่อนคลายความเครียด หรือเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง และอาจใช้เป็นการแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศ เช่น ฟุตบอล ว่ายน้ำ หมากรุก ปีนเขา ล่าสัตว์. (ป.).” ซึ่งความหมายทั้งตามพ.ร.บ.นโยบายการกีฬาฯและตามพจนานุกรม ไม่ปรากฎว่ามีการกำหนดว่าการกีฬาต้องไม่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆรวมทั้งการเมืองไว้แต่อย่างใด
หากตีความว่าวัตถุประสงค์ของกิจกรรมกีฬาต้องเป็นไปตามพจนานุกรมคือ “เพื่อความสนุกเพลิดเพลินผ่อนคลายความเครียด หรือเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง และอาจใช้เป็นการแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศ” เท่านั้น การจัดกิจกรรม “วิ่ง ไล่ ลุง” ซึ่งมีวัตถุประสงค์อื่นคือการรณรงค์ทางการเมืองก็อาจถูกชี้ว่าไม่ใช่การกีฬา และเป็นการชุมนุมสาธารณะที่อยู่ภายใต้บังคับของพ.ร.บ.ชุมนุมฯแต่หากตีความเช่นนั้น การจัดกิจกรรมกีฬาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการรณรงค์ต่างๆ เช่น เดิน-วิ่ง-ปั่นต้านโกง,  เดิน – วิ่ง เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กสตรี หรือ วิ่งลดโลกร้อน หากจัดในที่สาธารณะและไม่ได้จัดในลักษณะที่ต้องลงทะเบียนหรือเสียเงินเพื่อเข้างานก็จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เช่นกัน เพราะการจัดกิจกรรมดังกล่าวมีการแสดงออกซึ่งความเห็นด้วย หรือคัดค้าน เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามนิยามของการชุมนุมสาธารณะที่หมายถึง

“การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่”

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็อาจเพิ่มภาระให้กับผู้จัดกิจกรรมต่างๆเกินความจำเป็นและเกินกว่าเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯเองที่ถูกประกาศใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ชุมนุมและผู้ที่ต้องใช้ทางสัญจรในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่การชุมนุม

ในส่วนประเด็นเรื่องผู้จัดการชุมนุม มาตรา 4 ของพ.ร.บ.ชุมนุมกำหนดนิยามของผู้จัดการชุมนุมไว้ว่า“ผู้จัดการชุมนุม” หมายถึง ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น”

ขณะที่มาตรา 10 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งการชุมนุม กำหนดในวรรคหนึ่งและวรรคสองว่า

“ผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ให้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ๆ รวมทั้งผู้ขออนุญาตใช้สถานที่หรือเครื่องขยายเสียงหรือขอให้ทางราชการอำนวยความสะดวกในการชุมนุมเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง”

หากอ่านโดยผิวเผิน ความตามมาตรา 4 ดูจะนิยามไว้ค่อนข้างชัดเจนว่าผู้ที่เชิญชวนให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมในลักษณะที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตัวเองเป็นผู้จัดการชุมนุมถือเป็นผู้จัดการชุมนุม แต่เมื่อดูในรายละเอียดจะพบว่ามาตรา 4 หมายรวมถึง “ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม” ไว้ด้วย ซึ่งคำคำนี้ปรากฎนิยามในมาตรา 10 ว่า หมายถึง “ผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ๆ…”เท่ากับว่าผู้ที่ประกาศเชิญชวนบุคคลอื่นในสื่อสังคมออนไลน์ ถือเป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุม และเป็นผู้จัดการชุมนุมไปแล้ว และแม้จะเป็นการประกาศเชิญชวนเฉพาะกลุ่มอาทิตั้งค่าเห็นการโพสต์ให้เห็นเฉพาะเพื่อนบนเฟซบุ๊ก ไม่ได้ประกาศต่อสาธารณะ ก็ถือว่าเป็นการเชิญชวน “ผู้อื่นแล้ว” ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ผู้บังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ตำรวรจ อัยการ จนถึงศาลก็อาจตีความความว่าผู้ร่วมชุมนุมทุกคนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เชิญชวนผู้อื่นเข้าร่วมการชุมนุมถือเป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุมและเป็นผู้จัดการชุมนุมที่มีภาระรับผิดชอบตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯแล้ว แม้ตามข้อเท็จจริงบุคคลเหล่านั้นอาจไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ กำหนดทิศทางการชุมนุมหรือมีส่วนใดๆในการตัดสินใจเกี่ยวกับการชุมนุมเลย

ซึ่งหากสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าลำพังการเชิญชวนเพื่อน คนรู้จัก หรือคนอื่นๆ เพียงพอแล้วที่จะเป็นพฤติการณ์ของผู้จัดการชุมนุม ก็อาจก่อให้เกิดความกลัวในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของประชาชน และอาจเป็นการทำให้การบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯไปไกลเกินกว่าเจตณารมณ์ตั้งต้นคือเพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการดูแลอำนวยความสะดวกทั้งประชาชนที่ประสงค์ใช้เสรีภาพในการชุมนุมและผู้ที่ต้องสัญจรหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงพื้นที่การชุมนุม

You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว