ข้อห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ไม่ชัดเจน ปราบโรคไม่อยู่ ปราบชุมนุมด้วยกำลัง

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นครั้งแรกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร คสช.​ หลังการประกาศใช้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 กฎหมายฉบับนี้ถูกใช้ซ้อนกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ที่สั่งห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ส่งผลให้เกิดการปราบปรามเสรีภาพอย่างเป็นระบบ การชุมนุมที่ไม่ได้เข้าเงื่อนไขต้องห้ามตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เจ้าหน้าที่รัฐก็จะอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. แทน สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ใช่บทบัญญัติหลักและไม่ใช่กฎหมายที่เอื้ออำนวยเสรีภาพการชุมนุมอย่างที่ควรเป็น

ต่อมาวันที่  9 กรกฎาคม 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ยกเลิกข้อห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ยกเลิก นับแต่นั้นพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงเป็นบทบัญญัติหลักในการดูแลการชุมนุมเพียงฉบับเดียว ผ่านไปแปดเดือน วันที่ 25 มีนาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ คนเดิมอาศัยอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายซ้ำซ้อนเพื่อควบคุมการชุมนุมก็กลับมาอีกครั้ง

ระบาดระลอก 1 : เริ่มใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควบคุมโควิด ไม่ได้ห้ามการชุมนุมโดยตรง แต่ใช้ดำเนินคดี 

ตามมาตรา 3 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เว้นการใช้บังคับพ.ร.บ.ในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ดังนั้น ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ยุคพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การควบคุมการชุมนุมจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายอื่น และเงื่อนไขภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เอง วันที่ 25 มีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดฉบับที่ 1 ข้อ 5 ระบุว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายในพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงกำหนด”

วันที่ 3 เมษายน 2563 พลเอกพรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงออกประกาศกำหนดว่า “ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนหรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค”

วันที่ 29 เมษายน 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเริ่มทรงตัว นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดฉบับที่ 5  ห้ามให้จัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะ “มั่วสุมประชุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย” เว้นแต่เป็น การจัดโดยเจ้าพนักงานหรือได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ โดยต้องเว้นระยะห่าง อยู่ในที่ไม่แออัดและใช้ระยะเวลาทำกิจกรรมไม่นาน รวมทั้งมีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด

จากข้อกำหนดและประกาศทั้งสามฉบับ เห็นได้ว่า ไม่มีคำสั่ง “ห้ามการชุมนุม” เพื่อแสดงออกซึ่งข้อเรียกร้องต่างๆ อันเป็นการใช้เสรีภาพตามปกติ การชุมนุมจะเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขที่ต้องไม่มีลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค หรือเป็นกิจกรรมที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่และมีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด แนวปฏิบัติของตำรวจในระยะแรกเริ่มก็สะท้อนให้เห็นว่า การชุมนุมยังเป็นสิ่งที่ทำได้ เช่น การชุมนุมรำลึกวันครบรอบการเสียชีวิตของพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 อนุรักษ์ เจนตวณิชย์ หรือ ฟอร์ด เส้นทางสีแดง ผู้จัดกิจกรรมประสานงานกับตำรวจสน.ลุมพินี โดยไม่ได้แจ้งการชุมนุม ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ขณะที่ท่าทีของตำรวจไม่ได้มีการห้ามไม่ให้จัดกิจกรรมโดยสิ้นเชิง

ตำรวจมีการจัดจุดคัดกรองและจัดหาพยาบาลตรวจวัดอุณหภูมิ มีการอำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำในการจัดกิจกรรมที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายของการชุมนุมมีการถ่ายภาพร่วมกัน อันเป็นเหตุให้มีการกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยเชื่อได้ว่า อาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโควิด 19

ระยะต่อมาลักษณะการอำนวยความสะดวกจากตำรวจเช่นนี้ไม่เกิดขึ้นแล้ว แต่แนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นและคงอยู่ คือ การเอาเครื่องเสียงมาอ่านประกาศข้อกำหนดที่ออกตามความพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และอาจตามมาด้วยการกล่าวหาคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯตามหลัง เช่น

๐ วันที่ 5 มิถุนายน 2563 สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทยนำโดยอั๋ว-จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลและเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ จัดกิจกรรมที่สกายวอล์คปทุมวัน เพื่อเรียกร้องกรณีการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศกัมพูชา วันดังกล่างมีการเตรียมเจลล้างมือและเครื่องวัดอุณหภมิ ต่อมาทั้งหมดถูกแจ้งข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

๐ วันที่ 8 มิถุนายน 2563 ที่สถานทูตกัมพูชา ตัวแทนคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) 4 คนยื่นหนังสือต่อสถานทูตร้องขอให้รัฐบาลกัมพูชาติดตามหาตัววันเฉลิมสัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทยที่ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์พาตัวขึ้นรถไป ต่อมาพนักงานสอบสวนสน.วังทองหลางกล่าวหาทั้ง 4 คนในคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ผ่อนคลายระลอก 1 : กลับมาใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ยังใช้อยู่ 

วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13  กำหนดว่า การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามหลักเกณฑ์กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะและและให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมจัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดด้วย เป็นเหตุให้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง ควบคู่ไปกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ระหว่างข้อกำหนดฉบับที่ 13 บังคับใช้นั้น ตำรวจได้รับมือและดูแลการชุมนุมโดยอ้างพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เช่น การพิจารณาว่าการชุมนุมที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้านั้นผิดกฎหมาย การห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐานและการออกคำสั่งห้ามการชุมนุมในรัศมี 50 เมตรจากศาล ขณะที่ยังปรากฏว่า มีการแจ้งเตือนโดยอ้างอิงข้อกำหนดและประกาศตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วย

การชุมนุมภายใต้เงื่อนไขที่ให้ใช้ทั้งพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เดินหน้าไปด้วยความสับสน ผู้ชุมนุมบางรายตัดสินใจ “แจ้งการชุมนุม” ล่วงหน้าก่อน บางรายไม่แจ้งก่อน จากการบันทึกข้อมูลพบว่ามีการชุมนุมเกิดขึ้น ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม-24 ธันวาคม 2563 อย่างน้อย 467 ครั้ง มีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ตำรวจกล่าวหาผู้ชุมนุมว่าฝ่าฝืนทั้งพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปพร้อมกันอย่างน้อย 35 คดีและมีผู้ถูกกล่าวหารวม 67 คน

ตัวอย่างการบังคับใช้กฎหมายที่ซ้ำซ้อน ทำให้รัฐมีทางเลือกว่าจะอ้างกฎหมายใดก็ได้เพื่อให้อำนาจตัวเองปฏิบัติหน้าที่ได้ง่าย เช่น กรณีการสลายการชุมนุมของคณะราษฎรอีสาน

13 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 9.00 น. คณะราษฎรอีสาน นำโดย ไผ่ -จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา พร้อมพวกได้รวมตัวกันตั้งเตนท์พักคอยที่หน้าแมคโดนัลด์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลา 13.08 น. ตำรวจจราจรจากสน.สำราญราษฎร์มาเจรจาให้เลื่อนรถออกจากไหล่ทางหน้าแมคโดนัลด์ แต่จตุภัทร์แจ้งว่า หากกระทำผิดข้อหาใดให้มาแจ้ง ต่อมา 15.11 น. ตำรวจขอให้หยุดทำกิจกรรรม ระบุว่า วันนี้ตรงกับวันสวรรคตของรัชกาลที่ 9 และขอให้ขึ้นฟุตบาท แต่ผู้ชุมนุมยืนยันทำกิจกรรมต่อบริเวณเดิม รถยนต์ยังคงสัญจรผ่านไปมาได้ จากนั้นตำรวจจึงเริ่มต้นสลายการชุมนุมด้วยการจับกุมประชาชน 21 คนอันเป็นผลให้การชุมนุมดังกล่าวเป็นอันยุติลง

วันดังกล่าวตำรวจไม่ได้ใช้มาตรการตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ กล่าวคือ หากเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้แจ้งต่อผู้รับแจ้งล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ตำรวจมีอำนาจในการสั่งให้เลิกการชุมนุมภายในเวลากำหนด หากผู้ชุมนุมยังไม่เลิก ตำรวจจะต้องไปขออำนาจศาลแพ่งให้ไต่สวนการชุมนุม กรณีที่ศาลสั่งให้เลิกการชุมนุมแล้ว หากผู้ชุมนุมยังไม่ปฏิบัติตาม ตำรวจจึงจะประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม หากพ้นระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ผู้ชุมนุมที่อยู่ภายในพื้นที่จึงจะถือเป็นผู้กระทำผิด และจึงใช้กำลังเข้าจับกุมได้

ภายหลังกองบัญชาการตำรวจนครบาลแจ้งว่า การจับกุมดังกล่าวเป็นการจับกุมผู้ชุมนุมที่ “กระทำผิดซึ่งหน้า” ในช่วงเย็นวันเดียวกันมีผู้ชุมนุมไปรวมตัวเรียกร้องความเป็นธรรมที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังจากนั้นมีการตั้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จากการชุมนุมดังกล่าว และในการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ของคณะราษฎรเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล ตำรวจอ้างอำนาจตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯอีกครั้ง เช่น ให้แจ้งการชุมนุมและสั่งให้เลิกการชุมนุม แต่วิธีการสลายการชุมนุมตามขั้นตอนศาลถูกละเว้นอีกครั้ง เมื่อนายกรัฐมนตรีออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่เวลา 04.00 น.ของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 การบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในช่วงเวลานั้นจึงเป็นไปอย่างลักปิดลักเปิด

อ่านการสลายการชุมนุมคณะราษฎรอีสานเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563

อ่านการสลายการชุมนุมคณะราษฎรเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563

8 วันภายใต้ “ฉุกเฉินร้ายแรง” ก็ยังใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพิ่มความสับสน

เวลาประมาณ 4.00 น.ของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร ตามมาด้วยการออกข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องห้ามชุมนุมเกินห้าคน

ซึ่งเท่ากับเป็นการเลิกใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 13 ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 และทำให้ประเทศอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ซึ่ง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จะไม่ถูกบังคับใช้ในระหว่างนั้น ในสถานการณ์นี้ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมโดยอ้างอำนาจของสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงถึงสองครั้ง คือ ช่วงเช้ามืดวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และวันที่ 16 ตุลาคม 2563

แต่ปรากฏว่า มีตั้งข้อกล่าวหากับสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และทศพร เสรีรักษ์ ในความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไปพร้อมกัน จากการเข้าร่วมกิจกรรมที่แยกเกษตร เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 สร้างความไม่ชัดเจนขึ้นไปอีกว่า สถานะของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในช่วงเวลานี้จะเป็นอย่างไร

หลังจากวันที่ 22 ตุลาคม 2563 นายกรัฐมนตรียกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง แนวปฏิบัติของตำรวจกลับมาเป็นเช่นระยะก่อนหน้า คือ การอ้างขั้นตอนของตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ อีกครั้ง เห็นได้ชัดเจนในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ตำรวจระดับสูงออกมาย้ำหลายครั้งให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ (อ่านลำดับเหตุการณ์ด้านล่างประกอบ) จึงพอสรุปได้ว่า ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 จนกระทั่งวันที่ 24 ธันวาคม 2563 เป็นช่วงที่ตำรวจดูแลการชุมนุมโดยอ้าง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่อิงกับข้อกำหนดฉบับที่ 13 เป็นหลัก

ระบาดระลอก 2 :  พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามชุมนุมในสถานที่แออัด

กลางเดือนธันวาคม 2563 เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่จังหวัดสมุทรสาคร และทำให้สุานการณ์โรคระบาดเริ่มน่ากังวลอีกครั้ง วันที่ 25 ธันวาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 ระบุว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายในพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงกำหนด”

วันที่ 29 ธันวาคม 2563 พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ดังนี้

ข้อ 2 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในพื้นที่ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศหรือมีคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และข้อ 3 การชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด…ต้องขออนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนดำเนินการ และต้องแสดงแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคประกอบการพิจารณา

เมื่อข้อกำหนดฉบับที่ 15 มีเนื้อหาขัดกับข้อกำหนดฉบับที่ 13 เท่ากับต้องบังคับใช้ฉบับที่ใหม่กว่า จึงส่งผลให้กลับไปสู่สภาวะที่ไม่บังคับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ อีกครั้ง ลักษณะดังกล่าวเด่นชัดขึ้นในการสลายการชุมนุมเขียนป้ายผ้ายกเลิกมาตรา 112 ของการ์ดปลดแอกที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564 ที่ตำรวจอ้างเพียงประกาศและข้อกำหนดที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย โดยไม่อ้างพ.ร.บ.ชุมนุมอีก

อย่างไรก็ตาม ข้อห้ามการชุมนุมตามกฎหมายจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ คือ การชุมนุมในสถานที่แออัด ซึ่งผู้ชุมนุมในกิจกรรมดังกล่าวมีประมาณ 50 คน และการสลายการชุมนุมทำโดยตำรวจที่ยืนเรียงแถวติดกันทั้งบริเวณเกาะพญาไทและหน้าป้ายรถเมล์ไม่น้อยกว่า 200 นาย

ผ่อนคลายระลอก 2 : อ้างพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกนำหน้า ไม่กลับมาใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แล้ว

ปลายเดือนมกราคม 2564 แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเริ่มทรงตัวอีกครั้ง และประชาชนกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติมากขึ้น การชุมนุมทางการเมืองเริ่มกลับมามากขึ้น แต่ข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังไม่ผ่อนคลายลง วันที่ 3 มกราคม 2564 นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนด ฉบับที่ 16 กำหนดห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามการจัดกิจกรรมในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย เช่น การประชุม การสัมมนา การจัดเลี้ยง  ต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2564 นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนด ฉบับที่ 18 กำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามข้อกำหนดฉบับที่ 16

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฉบับที่ 3 ยกเลิกประกาศฉบับที่ 2 ระบุว่า ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย ซึ่งมีประกาศหรือคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด ใจความสำคัญคือ การรวมคนที่มีความแออัด

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 14.00-16.00 น. ที่หน้าสหประชาชาติ ชาวเมียนมานัดชุมนุมต้านรัฐประหาร เริ่มแรกตำรวจวางแผงเหล็กล้อมพื้นที่การชุมนุมที่ฟุตบาทด้านหน้าสหประชาชาติผู้ชุมนุมเริ่มมากันตั้งแต่เวลาประมาณ 12.30 น. และเนื่องด้วยวันดังกล่าวเป็นวันอาทิตย์ทำให้มีชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครมารวมตัวกันมาก ต่อมาเวลา 13.59 น. ตำรวจสั่งให้เลิกการชุมนุมระบุว่า ไม่ต้องการให้เกิดคำถามเรื่องมาตรการการชุมนุมระหว่างคนไทยและเมียนมา จากนั้นใช้ตำรวจควบคุมฝูงชนตั้งแถวรุกไล่ผู้ชุมนุมให้ถอยร่นไปเรื่อยๆทางสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ท้ายที่สุดการชุมนุมต้องยุติลง ผู้ชุมนุมตัดสินใจย้ายไปที่สถานทูตเมียนมาต่อและสามารถจัดต่อได้

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 เวลาประมาณ 18.30 น. ราษฎรประกาศเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปศาลหลักเมือง ระหว่างนั้นตำรวจวางแนวสิ่งกีดขวาง 2 แนว คือ ที่แยกสะพานผ่านพิภพลีลาและที่บริเวณศาลฎีกา ใกล้กับศาลหลักเมือง ในการประกาศให้เลิกการชุมนุมตำรวจอ้างข้อกำหนดของนายกรัฐมนตรีรวม 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2563, ฉบับที่ 16 ลงวันที่ 3 มกราคม 2564 และฉบับที่ 18 ลงวันที่ 29 มกราคม 2564 รวมทั้งประกาศของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ฉบับที่ 3  และใช้กำลังเข้าจับกุมผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงโดยอ้างว่า เป็น “ความผิดซึ่งหน้า” จากการฝ่าฝืนข้อกำหนดเหล่านี้

การชุมนุมในครั้งต่อๆ มาก็ยังสามารถจัดได้เช่นกัน จากการสังเกตการณ์ชุมนุมส่วนใหญ่ไม่ปรากฏว่า ตำรวจได้อ้างอำนาจหรือแนวปฏิบัติตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ อีก อ้างแต่เพียงข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างไรก็ตามหลังสถานการณ์โควิด 19 คลายตัวการชุมนุมขยายตัวมากขึ้น

ยกระดับปราบการชุมนุมหนัก ละเลยหลักสากล

19 กุมภาพันธ์ 2564 พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฉบับที่ 4 ระบุว่า ปัจจุบันยังปรากฏสถานการณ์การชุมนุมที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกอบกับคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยหลักในการ “ปฏิบัติตามมาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมในการระงับยับยั้ง การยุติการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือมั่วสุม” ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ให้ผบ.ตร.พิจารณาตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชน เกินสมควรแก่เหตุ

หลังจากนั้นการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมโดยตำรวจยกระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว ไปจนถึงการใช้กระสุนยางต่อผู้ชุมนุมโดยชัดเจนครั้งแรก นับปี 2553

๐ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 รีเด็มจัดชุมนุม #28กุมภาไปรังขี้ข้าปรสิต เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ที่เป็นบ้านพักหลวงของพลเอกประยุทธ์ หลังผู้ชุมนุมเก็บลวดหนามหีบเพลงหน้าตู้คอนเทนเนอร์และเลื่อนเปิดตู้คอนเทนเนอร์ แม้ผู้ชุมนุมไม่ได้ท่าทีว่า จะเข้าไปในพื้นที่ราบ 1 แต่ตำรวจก็ตัดสินใจเคลื่อนกำลังจากสโมสรทหารบกและใช้กำลังในการจับกุม โดยไม่มีการเจรจาและทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับด้วย ต่อมาในช่วงค่ำยังเริ่มใช้กระสุนยางที่ถือในแนวระนาบกับศีรษะ โดยไม่มีการแจ้งเตือน ตรงกันข้าม การใช้กระสุนยางเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า “วันนี้ไม่มีการสลายการชุมนุม”

แม้ตำรวจจะพิจารณาแล้วเห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่มีอยู่ และขั้นตอนการสลายการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้บังคับใช้ แต่การกระทำใดๆจำต้องอยู่บนหลัก “ความจำเป็น” และ “ความเหมาะสม” ทั้งสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ที่นำกำลังเข้าสลายการชุมนุมได้พยายามหลีกเลี่ยงการใช้กำลังอย่างดีที่สุดแล้ว

๐ วันที่ 20 มีนาคม 2564 รีเด็มจัดชุมนุม #20มีนาไปสนามราษฎร เป็นการชุมนุมแบบปักหลักไม่เคลื่อนขบวน ก่อนหน้าเวลานัดหมายเจ้าหน้าที่ได้นำตู้คอนเทนเนอร์มาขวางเป็นแนวตั้งแต่กำแพงศาลฎีกา ถนนราชดำเนินในยาวไปปิดถนนหน้าพระลาน และพื้นที่โดยรอบเช่น ถนนมหาราชและถนนอัษฎางค์ พื้นที่ที่วางแนวกั้นนั้นเป็นพื้นที่ที่เดิมเคยจัดการชุมนุมได้และกรณีที่มีการปิดกั้นมักจะอ้างอำนาจตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เรื่องการห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐานคือ พระบรมมหาราชวัง ในขณะที่พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้บังคับใช้ จึงไม่แน่ชัดว่า ตำรวจได้ใช้ฐานอำนาจตามกฎหมายใดในการปิดกั้นพื้นที่

ต่อมาเมื่อผู้ชุมนุมบางส่วนเปิดแนวตู้คอนเทนเนอร์ออกหนึ่งแนว ตำรวจตัดสินใจสลายการชุมนุม โดยไม่ได้พิจารณาถึงมาตรการที่อาจหลีกเลี่ยงการจำกัดสิทธิการชุมนุมของผู้ชุมนุมรายอื่นๆ ที่ยังคงชุมนุมโดยสงบ แม้ว่า ตำรวจจะมีขั้นตอนในการแจ้งล่วงหน้าว่า จะให้ชุมนุมได้ในพื้นที่ที่กำหนด แจ้งเตือนขั้นตอนการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนและมาตรการอื่นๆ เช่น ทางออกที่ปลอดภัย แต่ยังคงละเลยมาตรฐานสากลว่าด้วยการใช้กระสุนยางใช้ยิงในระดับศีรษะ โดยไม่มีการเจรจาและการแจ้งเตือนก่อนการใช้กระสุนยาง

อ่านการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564

ระบาดระลอก 3 : เสรีภาพล้มตายในยามที่โควิดยังยืนเด่นท้าพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

สถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ถึงปลายเดือนมีนาคม 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่น้อยกว่า 581 คน หรือคิดเป็น 268 คดี วัตถุประสงค์แรกเริ่มของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และบรรดาข้อกำหนดต่างๆ เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากความต้องการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่ท้ายสุดผู้ชุมนุมทางการเมืองตกเป็นเป้าเฝ้าระวังการใช้มาตรการตามกฎหมายและถูกดำเนินคดีตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยที่ยังไม่มีรายงานว่า จุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดของโรคเกิดจากการมารวมตัวกันเพื่อแสดงออกทางการเมืองในครั้งใด

ในทางตรงกันข้าม แม้จะใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมกับข้อกำหนดต่างๆ ต่อเนื่องมานานกว่า 1 ปีเต็มแล้ว การระบาดของโรคโควิด19 ก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการระบาดระลอกที่ 3 ในเดือนเมษายน 2564 ที่มีจุดแพร่กระจายของเชื้อจากสถานบันเทิง และอีกหลายแห่งที่ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง ซึ่งกฎหมายที่อ้างว่ามีขึ้นเพื่อควบคุมสถานการณ์นี้นั้นไม่สามารถป้องกันหรือแก้ไขปัญหาได้

จากหลักฐานเชิงประจักษ์ ยังแสดงให้เห็นว่า ตำรวจมักหยิบเอาข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขึ้นมาอ้างต่อผู้ชุมนุมว่า การชุมนุมนั้นๆ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสั่งให้เลิกการชุมนุมโดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่า เป็นการชุมนุมในสถานที่แออัดหรือไม่ มีการคัดกรองโรคหรือไม่ ผู้ชุมนุมเดินทางมาจากพื้นที่ใด หรือเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรครุนแรงเพียงใด จนกระทั่งการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมก็ยังอ้างว่า เป็นเพราะผู้ชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

การใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งสั่งห้าม จับกุม และดำเนินคดี ประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุม โดยมีเงื่อนไขการห้ามชุมนุมที่กว้างขวางและเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ตลอดเวลา ทั้งที่ยังมีพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นกฎหมายหลักในการควบคุมดูแลการชุมนุมอยู่ เป็นสถานการณ์คล้ายกับยุครัฐบาลเผด็จการทหาร ที่มีทั้งพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ใช้ควบคู่กันไป ให้อำนาจและดุลพินิจกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเต็มที่ในการเลือกหยิบกฎหมายที่มีประโยชน์กับตัวเองมาอ้างอิง


ลำดับเหตุการณ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

6 มีนาคม 2563
ที่เวทีมวยลุมพินี มีการจัดรายการมวย “ลุมพินิแชมเปียนเกริกไกร เกียรติเพชร” ก่อนหน้านี้วันที่ 4 มีนาคม 2563 การกีฬาแห่งประเทศไทยทำหนังสือขอความร่วมมือนายสนามมวยลุมพินีงดจัดการแข่งขัน แต่การแข่งขันยังคงเกิดขึ้นได้และเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกที่หนึ่ง
25 มีนาคม 2563
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ และออกข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ข้อ 5 ระบุว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายในพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงกำหนด”
3 เมษายน 2563
พลเอกพรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม โดยกำหนด “ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนหรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค”
29 เมษายน 2563
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 4 ระบุว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกียวข้องประเมินสถานการณ์เพื่อพิจารณาผ่อนคลายหรือเพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้บางมาตรการ โดยมุ่งให้การควบคุมและการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถยุติได้โดยเร็วและไม่ย้อนกลับมาอีก ขณะเดียวกันประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข ภายใต้มาตรการป้องกันโรคและคำแนะนำของทางราชการ โดยจะพิจารณาผ่อนคลายเป็นลำดับขั้นตอนตามหลักเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
1 พฤษภาคม 2563
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 5 ห้ามให้จัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะ “มั่วสุมประชุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย” เว้นแต่เป็นการจัดโดยเจ้าพนักงานหรือได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ โดยต้องเว้นระยะห่าง อยู่ในที่ไม่แออัดและใช้ระยะเวลาทำกิจกรรมไม่นาน รวมทั้งมีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด
23 กรกฎาคม 2563
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีมติขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไปอีก 1 เดือน ระหว่างนี้จะไม่ใช้บังคับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทำให้การชุมนุมในช่วงเวลานี้เป็นการละเมิดกฎหมาย ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
31 กรกฎาคม 2563 
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13  การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามหลักเกณฑ์กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะและและให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในกำรจัดกิจกรรมจัดให้ผู้เข้ำร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดด้วย
7 สิงหาคม 2563
ประชาชนรวมตัวกันที่สน.บางเขนติดตามการควบคุมตัวอานนท์ นำภาที่ถูกหมายจับตามมาตรา 116 จากการปราศรัยในเวทีเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ต่อมาพนักงานสอบสวนสน.บางเขนได้กล่าวหาประชาชนเจ็ดคนในคดีพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่มีข้อกล่าวหาตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
9 สิงหาคม 2563 
เวลา 17.37 น. ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ประกาศระหว่างการชุมนุมของพรรควิฬาร์ที่ข่วงประตูท่าแพว่า การชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ประกอบกับการชุมนุมดังกล่าวยังเป็นความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้มีการกำหนดมาตรการการควบคุมโรคตามพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ  ไม่ได้จัดให้มีการตั้งจุดคัดกรอง เว้นระยะห่างผู้เข้าร่วมการชุมนุม ไม่ได้จัดให้มีเจลแอลกอฮอล์สำหรับการล้างมือ ประกาศให้เลิกการชุมนุมภายในเวลา 18.00 น.
20 สิงหาคม 2563
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า “…การชุมนุมในสถานศึกษาไม่จำเป็นต้องมีการร้องขอแต่การรักษาความสงบเรียบร้อย ในสถานที่ที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำที่ดูแล้วไม่เกิดความเรียบร้อยในอนาคตก็คงต้องมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเฝ้าติดตามสถานการณ์อยู่แล้ว อย่างน้อยทุกอย่างต้องดำเนินไปตามกระบวนการของกฎหมาย เท่าที่ทราบสถานที่หลายแห่งมีการเปิดกว้างในเรื่องของการแสดงความคิดของนักศึกษา อยากจะเรียนว่า ในส่วนของการแสดงความคิดเป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคลแต่อยากจะฝากถึงการกระทำอะไรที่มันสุ่มเสี่ยงกับการกระทำผิดกฎหมายก็อยากจะให้ช่วยกันดึงสติเอาไว้ คงไม่ใช่เรื่องของหลักนิติศาสตร์อย่างเดียวแต่เป็นเรื่องหลักนิติศาสตร์ด้วย…”
ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายกับเด็กนั้น พ.ต.อ. กฤษณะตอบว่า “…เรื่องอายุเป็นรายละเอียดแต่โดยหลักแล้วการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย การที่จะบังคับตามหมายต่างๆ หมายจับลักษณะแบบนี้ เราก็คงจะปฏิบัติหน้าที่ไปตามปกติ แต่เราก็อยากจะฝากถึงในส่วนของผู้ที่ยังไม่ได้กระทำอะไร อาจจะทำอะไรที่มันสุ่มเสี่ยงความผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายก็อยากจะให้ไปดูตรงนี้ด้วย…ในเวลานี้เป็นหน้าที่ของสถานศึกษาแต่ละที่ต้องไปดูนักเรียน นักศึกษาในปกครอง ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจเราก็เฝ้าดูอยู่ห่างๆอยู่แล้ว เพราะโดยหลักการแล้ว ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ชุมนุม มันมีหลักเกณฑ์ มันมีเงื่อนไข มันมีข้อบังคับให้เดินตามอยู่แล้ว ตามที่นำเรียนมาโดยตลอดว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่สำคัญสองฉบับคือ ในส่วนของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะและในส่วนของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค…”
นอกจากนี้ยังระบุเรื่องการออกหมายจับในสองพื้นที่คือ พื้นที่นครบาลและตำรวจภูธรภาคหนึ่ง ส่วนของนครบาลนั้นมีการออกหมายจับจำนวน 15 คนและตำรวจภูธรภาคหนึ่งมีการออกหมายจับจำนวนหกคน การดำเนินการไม่ได้มีเป็นการปฏิบัติสองมาตรฐานและไม่ได้หมายความเราจะไปจับผู้ที่มาชุมนุม แต่ตำรวจพิจารณาการกระทำที่เป็นการ ‘เลยเถิด’ ย้ำว่า การออกหมายจับเป็นไปตามขั้นตอน ส่วนการจับกุมเมื่อใดนั้นคงจะดูตามสถานการณ์ที่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย
4 กันยายน 2563
ประชาชนนัดรวมตัวที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรม ต่อมาผู้นัดหมายทำกิจกรรมถูกกล่าวหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่มีข้อกล่าวหาตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
18 กันยายน 2563 
เวลา 16.30 น. เพจเฟซบุ๊ก “กิจกรรมนี้ไม่มีชื่อ At Suratthani” นัดจัดกิจกรรม #18กันยาตามหาประชาธิปไตย ก่อนหน้านี้วันที่ 17 กันยายน 2563 เวลา 16.30 น. ตัวแทนกลุ่มได้ส่งหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะผ่านทางอีเมล์ [email protected] ที่ได้แจ้งไว้ตามรายละเอียดเว็บไซต์ https://demonstration.police.go.th/?fbclid=IwAR019ew6de5EIyQEt3xovBzxL8QCoxG8s-9Um6aUz8ODbo3bRuis2aGl-KI
ต่อมาในช่วงเช้าของวันทึ่ 18 กันยายน 2563 แอดมินเพจได้โพสต์ภาพของหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะ จากนั้นมีเฟซบุ๊กชื่อว่า “สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี สุราษฎร์ธานี” คอมเมนท์ว่า “จากการตรวจสอบใบขออนุญาตการชุมนุมดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม  ปัจจุบันไม่ได้มีการขอนุญาตการชุมนุมในพื้นที่สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี แต่อย่างใด จึงขอประชาสัมพันธ์ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อผู้ที่นำเอกสารดังกล่าวมากล่าวอ้าง และขอประชาสัมพันธ์ หากผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมให้แจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจในพื้นที่ ก่อนเริ่มการชุมนุมก่อนไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง”
เวลาใกล้เคียงกันแอดมินเพจโพสต์ลิงค์ชี้แจงกรณีการแจ้งชุมนุมว่า อีเมล์ที่ส่งไปนั้นเป็นอีเมล์ที่แจ้งไว้ในเว็บไซต์ของทางการและได้โทรศัพท์ไปที่ สภ.เมืองสุราษฎร์ธานีว่า ได้แจ้งการชุมนุมผ่านอีเมล์แล้ว เฟซบุ๊กชื่อว่า “สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี สุราษฎร์ธานี” ก็ได้คอมเมนท์อีกครั้งว่า อีเมล์ของสภ.เมืองสุราษฎร์ธานีนั้นคือ [email protected] ไม่ใช่อีเมล์ที่แจ้งในเว็บไซต์ทางการ
ต่อมาเมื่อตัวแทนกลุ่มโทรศัพท์ไปสอบถามตำรวจสภ.เมืองสุราษฎร์ธานี ตำรวจตอบว่า ถือว่าการแจ้งตามอีเมล์ดังกล่าวถือว่า เป็นการรับแจ้งแล้ว เมื่อตรวจสอบคอมเมนท์ดังกล่าวอีกครั้งก็พบว่า คอมเมนท์ดังกล่าวถูกลบไปแล้วจากการตรวจสอบเฟซบุ๊กชื่อว่า “สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี สุราษฎร์ธานี” มีเพื่อนอยู่ 1,504 คนและมักจะโพสต์ภาพอาคารสภ.เมืองสุราษฎร์ธานี
19 กันยายน 2563
ในการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่ท้องสนามหลวง เวลา 15.08 น. ปิยรัฐ จงเทพ หัวหน้าทีมการ์ด We Volunteer เจรจากับพ.ต.อ.อัศวยุทธ นุชพุ่ม  ปิยรัฐบอกหลังจากการเจรจาตำรวจจะประกาศให้ทราบเรื่องรายละเอียดพื้นที่และสิทธิการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
เวลา 15.12 น. ที่หน้ารถเครื่องขยายเสียงผู้ชุมนุมไม่น้อยกว่า 10 คนตั้งแถวห่างจากตำรวจประมาณ 5 เมตรชู 3 นิ้วและกล่าวออกมาว่า หยุดคุกคามประชาชน ตำรวจเพิ่มกำลังออกมาใกล้กับผู้ชุมนุมกลุ่มดังกล่าว มีการโต้เถียงกันโดยผู้ชุมนุมแสดงความไม่พอใจตำรวจที่จะประกาศกฎหมายการชุมนุมทั้งที่เมื่อสักครู่เจรจากับจตุภัทร์แล้วบอกว่า จะรอให้ทีมแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมมาเจรจาให้ได้ข้อสรุป ตนขอได้ไหมว่า ให้รอทีมแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมมาเจรจาก่อนได้ไหม เมื่อไม่ได้คำตอบผู้ชุมนุมคนดังกล่าวหันไปบอกกับผู้ชุมนุมที่ทยอยเข้ามาเสริมว่า พวกเราบอกเจ้าหน้าที่หน่อยว่า หยุดคุกคามประชาชน ผู้ชุมนุมร้องตาม พร้อมทั้งชู 3 นิ้วไปด้วย
สิ้นเสียงประกาศผู้ชุมนุมก็โห่ร้องออกมา จากนั้นตำรวจประกาศต่อว่า “เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์โควิด 19 ระบาดอยู่…” ผู้ชุมนุมยิ่งโห่ร้องหนักขึ้น ตำรวจตอบกลับว่า “ไม่เป็นไรครับผมพูดด้วยความเป็นห่วง ขอพูดก่อนว่า การชุมนุมต้องระมัดระวังเรื่องโควิด 19
 และเว้นระยะห่าง ผมเข้าใจน้องๆ เราจะทำตามกรอบของกฎหมายที่ให้ไว้ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯและเรื่องสาธารณสุขเท่านั้น”  โดยระหว่างที่ประกาศตำรวจได้นำแผงเหล็กกั้นมาตั้งที่ด้านหน้ารถเครื่องขยายเสียง ทำให้ตอนนี้มีแผงเหล็กกั้น 2 ชั้น แต่ผู้ชุมนุม
ในช่วงเวลาเดียวกันสื่อมวลชนรายงานว่าผู้บัญชาการตำรวจนครบาลออกประกาศกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ 376/2563 เรื่องห้ามการชุมนุมสาธารณะในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร รอบพื้นที่ ศาลฎีกา และทำเนียบรัฐบาล ลงวันที่ 18 กันยายน 2563 อ้างว่า การชุมนุมสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนและรบกวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในสถานที่ดังกล่าว
เวลา 15.19 น. ตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงต่อว่า การชุมนุมไม่เป็นไปตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้แจ้งการชุมนุมก่อนล่วงหน้า 24 ชั่วโมง และห่วงเรื่องการแพร่กระจายของโรคโควิด 19 จากนั้นหยุดใช้เครื่องขยายเสียงให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวว่า นโยบายของผู้บังคับบัญชาคือให้ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจข้อกฎหมายเรื่องโรคโควิด 19 และความปลอดภัย ยังไม่มีการวางแผนขั้นตอนต่อไป
20 กันยายน 2563
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะใช้แผนการชุมนุม 63 แล้วแต่ตำรวจไม่ได้มุ่งที่จะใช้กำลังในการเข้าสลายการชุมนุม เป็นเพียงการปรับแผนให้เข้ากับสถานการณ์ เรานำบทเรียนที่ผ่านมา หลักรัฐศาสตร์และหลักการเจรจามาใช้เพื่อให้ทุกอย่างนั้นสามารถมีทางออกได้ ภาพที่เกิดขึ้นเมื่อเช้าถือว่า เป็นความสำเร็จของการเจรจา ระหว่างในส่วนของผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ
14 ตุลาคม 2563 
ในการชุมนุมของคณะราษฎรที่เคลื่อนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล ระหว่างที่ขบวนเคลื่อนไปถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เวลา 14.35 น. ตำรวจใช้เครื่องขยายเสียงประกาศเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมระบุว่า มีบทบัญญัติคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 2560 “…แต่อย่างไรก็ตามการใช้สิทธิเสรีภาพนั้นจำต้องอยู่ใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยสาธารณะ ตลอดจนการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การชุมนุมที่พี่น้องประชาชนยังคงดำเนินการ ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตลอดจนสุขอนามัยหรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะและต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพและความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นจึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ผู้ร่วมชุมนุมทุกท่านได้โปรดปฏิบัติตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยเคลื่อนย้ายกลับไปชุมนุมยังบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ทั้งนี้ทุกภาคส่วนจะคอยอำนวยความสะดวกดูแลความปลอดภัยให้แก่พี่น้องประชาชนทุกคน เรียนพี่น้องประชาชนผู้ร่วมชุมนุมทุกท่าน ผมได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ทำการสื่อสารทำความเข้าใจและขอความร่วมมือไปยังพี่น้องประชาชน ผู้ร่วมชุมนุมทุกท่าน การชุมนุมของพี่น้องประชาชนในห้วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งได้ชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้มีการเคลื่อนขบวนออกมาตามถนนราชดำเนิน ซึ่งเจ้าหน้าที่พยายามทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน ขอความร่วมมือให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนด…”
เวลา 20.45 น. ตำรวจประกาศให้เลิกการชุมนุมเวลา 22.00 น. ระบุว่า การชุมนุมอยู่ในระยะ 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาลและไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมถือว่า เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงขอให้เลิกการชุมนุมภายในเวลา 22.00 น. มิฉะนั้นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
15 ตุลาคม 2563 
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
16 ตุลาคม 2563 
ตำรวจสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน
17 ตุลาคม 2563 
เวลา 13.30 น. กอร.ฉ.แถลงข่าวสถานการณ์การชุมนุม พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่า การปฏิบัติการเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ตำรวจทำไปโดยยึดหลักกฎหมาย ยึดหลักทางสากลเป็นหลัก กระบวนการขั้นตอนทุกอย่างมีการแจ้งเตือนด้วยการแถลงข่าว แจ้งเตือนในพื้นที่การชุมนุม ซึ่งการชุมนุมถือว่า เป็นการละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการแสดงกำลัง การใช้กำลังเข้าควบคุมพื้นที่ตามกฎหมาย ตำรวจได้ดำเนินการตามยุทธวิธีตามหลักสากล ไม่มีการใช้อาวุธรุนแรงตามที่เป็นข่าวปรากฏตามสื่อต่างๆ ขอเรียนเน้นย้ำว่า ตำรวจไม่อยากจัดการใดๆทั้งสิ้นที่จะเกิดผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจกับพี่น้องประชาชน แต่ตำรวจจำเป็นต้องทำตามหน้าที่เนื่องจากเวลานี้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขอให้ประชาชนที่จะวางแผนการเข้าร่วมชุมนุมหรือว่าการสนับสนุนให้มีการชุมนุม หรือการดำเนินการใดๆก็ตามที่เป็นการเข้ามาชุมนุมทางการเมืองในช่วงเวลานี้ ยืนยันว่า เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ตำรวจในฐานะเจ้าพนักงานที่บังคับใช้กฎหมายจำเป็นต้องปฏิบัติการตามกฎหมาย แต่ทำอยู่กรอบของหลักกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งหลักสากล
พล.ต.ต.ยิ่งยศตอบคำถามผู้สื่อข่าวสอบถามถึงสารเคมีที่ผสมในน้ำที่ใช้ฉีดในการสลายการชุมนุมว่า เครื่องมือที่ใช้เป็นกระแสน้ำ ไม่ใช่เครื่องมือที่เป็นอาวุธร้ายแรง “แก๊สน้ำตายังไม่ได้มีการใช้ครับ…ไม่มีครับ” ในกระแสน้ำที่ใช้เป็นกระแสน้ำแรงดันเบา อาจจะมีสารเคมีอยู่บ้าง ยืนยันว่า ไม่ได้มีอันตรายกับกลุ่มผู้ชุมนุม อาจจะมีการเปรอะเปื้อนตามเนื้อตัวเสื้อผ้า “แต่ว่า ถ้าท่านศึกษาตามหลักสากลแล้ว เครื่องมือชนิดนี้ไม่ใช่เครื่องมือที่มีความรุนแรง” ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า แต่ว่ากลิ่นและอาการเหมือนแก๊สน้ำตา แพทย์ที่ร่วมแถลงข่าวตอบว่า “สำหรับสารอะไร ผมจะไปศึกษา พอดีผมยังไม่ทราบว่า สารตัวใด แต่ว่ารายงานจากตำรวจระบุว่า เป็นสารเคมี ที่ส่งข้อมูลให้ทราบ เป็นอาการแค่ระคายเคืองผิวหนังเล็กน้อยและก็ไม่เป็นอันตรายต่อเยื่อบุตา และไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต”
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 พ.ต.ท.ชวลิต หรุ่นศิริ รองผู้กำกับการกองกำกับการควบคุมฝูงชน 2 ยอมรับในที่ประชุม กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ ว่า การสลายการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ตำรวจฉีดน้ำแรงดันสูงที่มีส่วนผสมของสารเคมี 2 ชนิด คือ สารเคมีสีฟ้า หรือสารเมทิลไวโอเลตทูบี ในอัตราส่วนน้ำร้อยละ 97 และแก๊สน้ำตาอย่างเจือจาง ไม่เป็นอันตรายต่อผู้สัมผัส
ถอดความจาก : https://www.youtube.com/watch?v=ZcXGsfOIqpI
18 ตุลาคม 2563
ประชาชนรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อมาผู้ชุมนุม 2 คนถูกกล่าวคดีฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฉบับที่ 4 เรื่องห้ามการชุมนุม
19 ตุลาคม 2563
ประชาชนรวมตัวกันที่แยกเกษตร ต่อมาผู้ชุมนุม 2 คนถูกกล่าวคดีฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฉบับที่ 4 เรื่องห้ามการชุมนุมและพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
20 ตุลาคม 2563
ประชาชนจัดกิจกรรมที่ด้านข้างเดอะมอลล์บางแค ต่อมาถูกกล่าวหาคดีฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฉบับที่ 4 เรื่องห้ามการชุมนุม
22 ตุลาคม 2563
ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
23 ตุลาคม 2563
ประชาชนจัดการชุมนุมที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น ต่อมาการชุมนุมมีการกีดขวางการจราจร ผู้กำกับการสน.ประชาชื่นได้แจ้งให้แก้ไขการชุมนุม แต่การชุมนุมยังคงดำเนินไปต่อจนเสร็จสิ้นและมีการกล่าวหาคดีตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯต่อผู้แจ้งการชุมนุม
24 ตุลาคม 2563
ประชาชนนำโดย ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์จัดกิจกรรมที่แยกกิ่งแก้ว ต่อมาตำรวจสน.ลาดกระบังได้แจ้งข้อกล่าวหาชุมนุมไม่แจ้งก่อนล่วงหน้า 24 ชั่วโมงตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
5 พฤศจิกายน 2563
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า “ในเรื่องของการชุมนุมนั้นอยากจะให้ท่านยึดถือตามตัวบทกฎหมายเป็นหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เนื่องจากว่า การแจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯนั้นจะเป็นการแจ้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่รับทราบและเจ้าหน้าที่เราจะได้จัดกำลังไปเพื่อที่จะอำนวยความสะดวกด้านการจราจรไปดำเนินการรักษาความสงบเรียบร้อย…ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ในหลายๆส่วนที่ผ่านมามีทั้งการแจ้งและไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่รับทราบ นอกจากนี้แล้ว แม้ว่าจะมีการแจ้งการชุมนุมให้เจ้าหน้าที่รับทราบแต่ก็ยังมีการฝ่าฝืนกฎหมายในหลายๆส่วนเพราะฉะนั้นแล้วอยากจะเรียนว่า ท่านที่จะออกมาชุมนุมนั้นไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็แล้วแต่ท่านสามารถที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายได้ กฎหมายบอกไว้ชัดเจนว่า ท่านจะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งท่านก็มีการเรียนรู้มาแล้ว
สิ่งที่ผมจะพูดวันนี้ก็คือว่า หลังจากที่มีการออกมาชุมนุมโดยที่ไม่มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือจะมีการแจ้งแต่มีการกระทำผิดกฎหมายในส่วนอื่นนั้น สุดท้ายแล้วพนักงานสอบสวนก็จะดำเนินการตามกรอบกฎหมายที่ให้อำนาจ ให้หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยที่ไม่ได้มีสองมาตรฐาน…”
14 พฤศจิกายน 2563
พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกล่าวว่า “…อย่างที่นำเรียนการชุมนุมขอให้ปฏิบบัติตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งทั้งสามกลุ่มที่ชุมนุมในวันนี้มีการแจ้ง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีการแจ้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดให้ทั้งสามกลุ่มรับทราบ…วัตถุประสงค์อย่างที่นำเรียนในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าจะกีดกั้นไม่ให้เขาชุมนุม แต่ขอการชุมนุมก็ขอให้เขาปฏิบัติตามกฎหมาย อย่างที่นำเรียนหลายครั้งว่า ณ ปัจจุบันมันก็มีทั้งผู้ชุมนุม ทั้งประชาชนทั่วไปที่ใช้ทางสาธารณะหรือต้องการใช้ชีวิตเป็นปกติสุข ขอให้ปฏิบัติตามในกรอบของกฎหมายจะได้อยู่ร่วมกันในสังคมได้…”
ตอบคำถามเรื่องการเดินขบวนว่า “…เขาเดินได้ตามกฎหมายแต่ต้องแจ้งและทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ถ้าเกิดสมมติว่า เขาไม่ทำตามกรอบของกฎหมาย…เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เก็บหลักฐานพิสูจน์ทราบตัวบุคคล ถ้าพิจารณาว่า กระทำความผิดในข้อหาไหนก็ดำเนินคดีแค่นั้น…”
17 พฤศจิกายน 2563
เวลา 12.29 น. ไทยพีบีเอสรายงานว่า พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พร้อมด้วยตำรวจที่ควบคุมและสั่งการดูแลความเรียบร้อยการรักษาความปลอดภัยบริเวณโดยรอบอาคารรัฐสภา ได้ลงพื้นที่เดินตรวจตรา ตั้งแต่ที่แยกเกียกกาย ถนนสามเสน มาจนถึงที่หน้าทางเข้ารัฐสภา พร้อมซักถามการวางแนวทางป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม เข้าไปทำกิจกรรมในพื้นที่ควบคุมดังกล่าว ก่อนเปิดเผยสั้นๆ “ยืนยันว่า ขณะนี้พื้นที่บริเวณหน้ารัฐสภา ถูกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมในระยะ 50 เมตร ไม่อนุญาตให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปทำกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้น”
มีรายงานคำสัมภาษณ์ของพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า ในทางการข่าวที่ได้รับทราบว่า วันนี้ (17 พฤศจิกายน 2563) จะมีผู้ชุมนุมจากสองกลุ่มคือ กลุ่มไทยภักดีและคณะราษฎร การที่ประกาศเชิญชวนในลักษณะนี้อยากจะให้ผู้ที่จัดกิจกรรม ผู้ที่เป็นแกนนำของกลุ่มได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่จัดการชุมนุมต้องมีการดำเนินการแจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ที่รับผิดชอบเพื่อที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้มีการจัดวางกำลัง รักษาความสงบเรียบร้อย อำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้กับทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมและพี่น้องประชาชนที่มีการสัญจรบริเวณนั้น
เขากล่าวต่อว่า ในการแจ้งการชุมนุมสาธารณะจะต้องแจ้งให้ทราบว่า จะใช้ระยะเวลาการชุมนุมเท่าไหร่และจำนวนคนประมาณเท่าใด เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งแล้วจะมีการประมวลและดำเนินการแจ้งผู้ชุมนุมเรื่องของเงื่อนไขเพื่อให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยย้ำว่า เจตนารมณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยและไม่ต้องการให้เกิดเรื่องบานปลายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เห็นต่าง
“การใช้สิทธิตามกฎหมายในการชุมนุมดำเนินการได้ แต่ท่านต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตามโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแจ้งการชุมนุม”
เวลา 13.32-13.54 น. กองบัญชาการตำรวจนครบาลแถลงข่าวเรื่องการชุมนุม พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกล่าวสรุปสถานการณ์การชุมนุมรอบรัฐสภาจำนวน 4 กลุ่ม ขณะนี้กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ออกคำสั่งที่ 485/2563 กำหนดระยะ 50 เมตรโดยรอบห้ามมีการชุมนุมประกาศตั้งแต่เมื่อวานนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เวลา 00.00 น. ถนนสามเสนยาวถึงประตู 3 ของบริษัทบุญรอด แยกเกียกกาย ถนนประชาราษฎร์สาย 1 บางส่วน ถนนทหารบางส่วน บริเวณดังกล่างกองบัญชาการตำรวจนครบางจะมีการตั้งแนวตำรวจให้กลุ่มผู้ชุมนุมปฏิบัติตามกฎหมาย
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า มาจนถึงบัดนี้แกนนำคณะราษฎรยังไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า ตอนนี้มีการเตรียมแผนในการอพยพและนำพาผู้เข้าร่วมประชุมออกจากสภาทั้ง 1,000 คนออกจากสภาได้ ส่วนเรื่องการกินหมูกระทะมีการบันทึกภาพทั้งภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหวและพิจารณาดำเนินคดีภายหลัง ผู้สื่อข่าวถามว่า จะปล่อยให้ชุมนุมได้ก่อนและแจ้งข้อหาตามหลังใช่หรือไม่ พล.ต.ต.ปิยะตอบว่า ใช่
ขณะที่พ.ต.อ.กฤษณะขยายความเพิ่มว่า การแจ้งชุมนุมแล้วไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคดีความเพราะหากระหว่างการชุมนุมมีการละเมิดกฎหมายก็อาจนำมาสู่คดีความได้ ในเรื่องการถีบเรือเป็ด บางครั้งการชุมนุมไม่ใช่แค่สนุกอย่างเดียว ต้องคำนึงถึงชีวิตของผู้มาร่วมชุมนุมด้วย เจ้าหน้าที่เตือนด้วยความห่วงใย ผู้จัดการชุมนุมมีเจตนาหรือเล็งเห็นผล นำเรือที่สภาพไม่เหมาะสมกับพื้นที่ที่เล็งเห็นผลให้เกิดอันตรายอาจนำไปสู่การดำเนินคดีได้
18 พฤศจิกายน 2563 
พ.ต.อ. นิติวัฒน์ แสนสิ่ง ผู้กำกับการสน.ลุมพินีออกคำสั่งเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ สน. ลุมพินี ที่ 2/2563 ให้เลิกการชุมนุมสาธารณะ ระบุว่า การนัดหมายชุมนุมของอานนท์ นำภา ที่แยกราชประสงค์นั้นไม่มีการแจ้งการชุมนุมก่อนล่วงหน้าเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ถือเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เลิกการชุมนุม
24 พฤศจิกายน 2563  
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า คณะราษฎรและเยาวชนปลดแอกยังไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบ การชุมนุมเป็นสิทธิตามกฎหมายแต่ต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยเฉพาะพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เจ้าหน้าที่จะกำหนดเงื่อนไขกลับไป การแจ้งต้องไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
27 พฤศจิกายน 2563
เวลาประมาณ 16.20 น. พ.ต.อ. อรรถวุฒิ นิวาตโสภณ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน ได้อ่านประกาศคำสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมภายในเวลา 16.30 น. เนื่องจากเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้แจ้งขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงถือว่าเป็นการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย แต่กิจกรรมยังคงดำเนินไปด้วยความสงบและยุติลงเวลาประมาณ 22.45 น.
28 พฤศจิกายน 2563 
13.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลและพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวถึงสถาการณ์การชุมนุม พล.ต.ต. ปิยะ กล่าวย้อนถึงการชุมนุมที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าวเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้ยื่นชุมนุมตามกฎหมายและผู้กำกับสน.พหลโยธินได้ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งแล้ว วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2563 มีการชุมนุมที่ห้างอิมพีเรียลสำโรงและมีการเชิญชวนให้เคลื่อนตัวไปที่แยกบางนา จากการตรวจสอบสภ.สำโรงเหนือและสน.บางนา สถานีตำรวจท้องที่ผู้จัดยังไม่ได้มีการยื่นชุมนุมตามกฎหมายแต่อย่างใด และในวันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน 2563 มีการนัดหมายที่บริเวณหน้าห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว ท้องที่สน.โชคชัย ขณะนี้ยังไม่มีการยื่นชุมนุมแต่อย่างใด บช.น.จัดเตรียมกำลังตามความเหมาะสม
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า “ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมากลุ่มที่มีความเห็นต่างกับรัฐบาลไม่ได้มีการชี้แจง ไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตามที่กฎหมายได้กำหนด ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีความจำเป็นที่จะต้องบังคับใช้กฎหมาย แต่ท่านจะเห็นอยู่แล้วว่า ถ้าไม่มีการแจ้งการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบในท้องที่จะต้องดำเนินการประกาศว่า การชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยุติการชุมนุม…ส่วนตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ได้ปฏิบัติตามกฎหมายตามได้ให้อำนาจเอาไว้ ส่วนการดำเนินการ ดำเนินคดีก็เป็นเรื่องของพนักงานสอบสวน เป็นเรื่องของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คงไม่มีการดำเนินการสองมาตรฐาน…
…การแจ้งการชุมนุมถือว่า เป็นจุดแรกที่ผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ในเรื่องของการวางกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้น เจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นไม่ได้ห้ามการชุมนุม แต่อยากจะให้เป็นการชุมนุมที่สงบเรียบร้อย ปราศจากอาวุธ และก็ดำเนินการเรียกร้องอะไรก็แล้วแต่ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเหมือนกัน ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง…ภาพที่เกิดขึ้นที่ดีคือ ผู้ชุมนุมแจ้งการชุมนุมเจ้าหน้าที่ตำรวจจะช่วยกัน ปฏิบัติงานร่วมกับผู้ชุมนุม กลุ่มแกนนำ…เพื่อให้การชุมนุมลุล่วงไปตามวัตถุประสงค์ ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย… “
25 ธันวาคม 2563
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 ระบุว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายในพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงกำหนด”
29 ธันวาคม 2563 
พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมดังนี้
ข้อ 1 ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค
ข้อ 2 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในพื้นที่ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศหรือมีคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด
ข้อ 3 การชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด…ต้องขออนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนดำเนินการ และต้องแสดงแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคประกอบการพิจารณา
3 มกราคม 2564 
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 16 ข้อ 2 ระบุว่า ห้ามการจัดกิจกรรมในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย
7 มกราคม 2564
พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฉบับที่ 2 ยกเลิกประกาศฉบับที่ 1 โดยกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการรวมตัวดังนี้
ข้อ 1 ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค
ข้อ 2 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย ซึ่งมีประกาศหรือคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด
16 มกราคม 2564
เวลา 12.00 น. การ์ดปลดแอกทำกิจกรรมเขียนป้ายผ้ายกเลิกมาตรา 112 ที่ลานเกาะพญาไท ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง มีอากาศถ่ายเท และเวลาดังกล่าวมีผู้ชุมนุมอยู่ไม่มากนักประมาณ 50 คน ต่อมาเวลา 12.19 น. ตำรวจนำกำลังมาที่ฟุตบาทหน้าป้ายรถเมล์เกาะพญาไท พ.ต.อ.บวรภพ สุนทรเรขา ผู้กำกับการสน.พญาไทประกาศข้อกฎหมาย เข้าใจได้ว่า เป็นข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 และพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และประกาศว่า ขอชี้แจงให้สื่อมวลชนทราบว่า การกระทำแบบนี้มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิดระลอกที่สองในขณะนี้ไม่สมควรที่จะมารวมตัวหรือทำกิจกรรมใดๆทั้งสิ้น จากนั้นเมื่อประกาศจบเวลา 12.20 ประกาศเรียกชุดจับกุมและนำกำลังคฝ.เข้าไปจับกุมผู้ที่ทำกิจกรรมในพื้นที่ทันที ไม่มีการเจรจาและการเว้นระยะให้ผู้ชุมนุมได้เตรียมตัวตัดสินใจ  ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า จับกุมให้หมด
เวลา 12.22 น. ตำรวจคุมตัวนักกิจกรรมคนแรก โดยตำรวจสองนายมีการลากตัวผู้ถูกจับกุมที่ทิ้งตัวไปกับพื้นถนน ทั้งสองนายลากแขนผู้ชุมนุมคนละทาง ทำให้แขนข้างขวาของชายคนดังกล่าวเหมือนถูกลากไขว่รั้งไปทางด้านหลัง กำลังตำรวจไม่น้อยกว่า 200 นาย
เดอะสแตนดาร์ดรายงานคำให้สัมภาษณ์ของพล.ต.อ. อรรถวิทย์ สายสืบ รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจนครบาลหนึ่ง กรณีการสลายการชุมนุมเขียนป้ายผ้า #ยกเลิก112 ว่า ตำรวจในฐานะผู้รักษากฎหมาย จำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรการอย่างเต็มที่ ขอให้สื่อมวลชนและพวกเราพี่น้องให้เข้าใจตรงนี้ พร้อมทั้งกล่าวว่ากิจกรรมใดๆ ก็ตามแต่ขอให้ผ่านช่วงโควิด-19 ระบาดไปก่อน และขอให้มองในมุมการป้องกันโรคไม่ใช่การเมือง
29 มกราคม 2564
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 18 ข้อ 1  (2) กำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ที่ต้องบังคับใช้มาตรการที่กำหนดไว้สำหรับเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามข้อกำหนดฉบับที่ 16
ข้อ 3 (2) ห้ามการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากและมีโอกาสแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย เว้นแต่เป็นกิจกรรมที่มีลักษณะตามข้อยกเว้นที่กำหนดในข้อ 2 ของข้อกำหนดฉบับที่ 16
3 กุมภาพันธ์ 2563 
พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฉบับที่ 3 ยกเลิกประกาศฉบับที่ 2 โดยกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมดังนี้
ข้อ 1 ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค
ข้อ 2 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย ซึ่งมีประกาศหรือคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด
12 กุมภาพันธ์ 2564
ที่หน้าโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ราษฎรใต้นัดทำกิจกรรมเกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ แจกใบประชาสัมพันธ์เนื้อหาว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ยังต้องมีการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง การชุมนุมนั้นจะต้องตระหนักถึงการระวังป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคและไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, การใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นตามกฎหมายสามารถกระทำได้เท่าที่ไม่เข้าข่ายการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมาย  และในการทำกิจกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวไว้เป็นพยานหลักฐาน
13 กุมภาพันธ์ 2564
เวลาประมาณ 18.30 น. ครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์ แกนนำราษฎรประกาศเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรียฺประชาธิปไตยไปศาลหลักเมือง เวลา 19.00 น. ตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า “ประกาศจากสน.พระราชวัง…การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินตามข้อกำหนดฉบับที่ 15 ข้อ 3 เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือ การกระทำดังกล่าวเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ประกาศประกอบข้อกำหนดฉบับที่ 16 และ 18 ซึ่งกำหนดให้พื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด
ทั้งนี้ได้มีระกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาด ข้อ 3 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย ซึ่งมีประกาศหรือคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่กำหนดไว้คามข้อกำหนดฉบับที่ 18 …
ทั้งนี้เพื่อประโยชน์รักษาความสงบเรียบร้อยและการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงให้ท่านยุติการชุมนุม…หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายขั้นเด็ดขาดต่อไป…”
19 กุมภาพันธ์ 2564
พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฉบับที่ 4 ระบุว่า ปัจจุบันยังปรากฏสถานการณ์การชุมนุมอยู่จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกอบกับคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยหลักในการ “ปฏิบัติตามมาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมในการระงับยับยั้ง การยุติการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือมั่วสุม” ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
28 กุมภาพันธ์ 2564 
เวลาประมาณ 17.30 น. ผู้ชุมนุมรีเด็มเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงหน้ากองพลทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หรือ ‘ราบ1’ จากนั้นมีการตัดลวดหนามและเลื่อนตู้คอนเทนเนอร์เพื่อเปิดถนนด้านหน้า ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ทหารด้านในราบ 1 ประกาศว่า ราบ 1 เป็นเขตพระราชฐาน แต่เสียงประกาศนั้นไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่การชุมนุมทั้งหมด ผู้สังเกตการณ์หกคนที่ยืนอยู่ที่ซอยพหลโยธิน 2, ด้านหน้าตู้คอนเทนเนอร์ราบ 1 และบริเวณหน้าปั๊มปตท. ไม่ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว การประกาศเรื่องเขตพระราชฐานอาจสามารถตีความถึงข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมในพื้นที่ดังกล่าว โดยกฎหมายที่ห้ามการชุมนุมในพื้นที่เขตพระราชฐานนั้น เท่าที่สามารถติดตามได้มีเพียงมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
5 มีนาคม 2564 
พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ฉบับที่ 5 “…ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโควิด 19 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร…”
6 มีนาคม 2564 
ไทยรัฐออนไลน์รายงานคำสัมภาษณ์ของพล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ได้มีความห่วงใย และเน้นย้ำเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย และป้องกันสถานที่ราชการที่สำคัญ โดยเฉพาะศาลอาญา ทั้งนี้ก็ให้เจ้าหน้าที่ยึดถือกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งได้เตรียมมาตรการรับมือและกำลังเพียงพอต่อจำนวนของกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งนี้ หากผู้ชุมนุมเข้ามาทำลายทรัพย์สิน หรือบุกฝ่าเข้ามาในศาล ก็ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล เป็นความผิดนอกจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และรวมกลุ่มมั่วสุมให้เกิดความวุ่นวายตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ซึ่งตำรวจจะสามารถควบคุมตัว หรือจับกุมตัวได้ตามกฎหมายทันที เพราะการชุมนุมถือว่าผิดกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งตอนนี้ไม่ได้บังคับใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะใช้มาตรการควบคุมสูงสุด โดยไล่จากเบาไปหาหนัก
20 มีนาคม 2564
ไทยพีบีเอสรายงานคำสัมภาษณ์ของพล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลว่า ตำรวจมีการเตรียมกำลังพร้อมดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมของรีเด็มเหมือนทุกการชุมนุมที่ผ่านมา เบื้องต้นใช้กำลัง 22 กองร้อย แต่จะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์การชุมนุม ยืนยันว่า การชุมนุมในที่ทางสาธารณะโดยไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานนั้นผิดต่อกฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุมฯ อยู่แล้ว และยังเข้าข่ายผิดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯและ พ.ร.บ.ควบคุมโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วย
ด้านพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญกล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับกองบัญชาตำรวจนครบาลว่า ในห้วงปกติที่ไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การชุมนุมต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ตอนนี้อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษการชุมนุมไม่สามารถเกิดขึ้นได้
22 มีนาคม 2564
พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลชี้แจงการสลายการชุมุนมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 ว่า ผู้ชุมนุมมีการรื้อแนวสิ่งกีดขวางของตำรวจและ “…พยายามฝ่าฝืนเข้าไปในพื้นที่สำคัญ ใจกลางกรุงเทพมหานครที่ประกอบด้วยสถานที่สำคัญและเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพี่น้องประชาชนชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นศาลเจ้าพ่อหลักเมือง วัดพระแก้วและกระทรวงกลาโหม…”
30 มีนาคม 2564
ที่ทำเนียบรัฐบาล ถนนราชดำเนินนอก ฝั่งทางเข้าถนนลูกหลวง มีการนำแผงเหล็กมากั้นและติดป้ายไวนิล เขต 50 เมตรทำเนียบรัฐบาล
7 เมษายน 2564 
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาลขอยืนยันว่า การชุมนุมใดๆในเขตกรุงเทพมหานครในขณะนี้เป็นการกระทำผิดกฎหมาย ผู้ที่ประกาศเชิญชวนไม่ว่าจะเป็นการเชิญชวนทางโซเชียลเน็ตเวิร์คหรือเชิญชวนด้วยประการหนึ่งประการใด ผู้ร่วมชุมนุม ผู้ที่มีส่วนในการปราศรัยในการชุมนุม ตลอดจนผู้ให้การสนับสนุนการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นรถสุขา เวที เครื่องเสียงเหล่านี้ถือว่า เป็นผู้ร่วมกระทำผิดตามกฎหมายทั้งสิ้น ซึ่งท่านอาจจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
You May Also Like
อ่าน

กสม.ชี้หน่วยงานรัฐไทยเอี่ยวใช้สปายแวร์เพกาซัส ชงครม.สั่งสอบ-เรียกเอกสารลับ

กสม. เชื่อว่า มีการใช้สปายแวร์ เพกาซัสละเมิดสิทธิจริง โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของการตรวจสอบทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ และบริบทแวดล้อมในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์
อ่าน

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112

ขนุน สิรภพ “คงแค่ยิ้มสู้” ระหว่างศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 . สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน นิสิตรัฐศาสตร์จากมศว จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการกล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา . 25 มีนาคม ที่ผ่านมาศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษา จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา . จนถึงวันนี้(4 เมษายน 2567) เป็นเวลา 10 วันแล้วที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว