ชุดไทย น้ำปลาร้า มาตรา 112 และชีวิตพลิกผันของ นิว จตุพร

29 ตุลาคม 2563 ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรเนรมิตถนนสีลมให้กลายเป็นถนนสายแฟชั่น ด้วยกิจกรรม “รันเวย์ของประชาชน” เดินแฟชั่นสะท้อนการเมือง ในวันนั้นมีผู้ร่วมกิจกรรมสวมเสื้อผ้าแฟนซีสอดคล้องการเมืองมาประชันกัน 
นิว หรือจตุพร การ์ดอาสา We Volunteer – Wevo ที่เราคงคุ้นตาในภาพผู้ร่วมกิจกรรมร่างเล็ก ไว้ผมตัดสั้นในชุดไทยสีชมพู พร้อมด้วยร่มสีแดงและเสียงตะโกนทรงพระเจริญ เธอคือหนึ่งในคนที่ไปร่วมกิจกรรมที่ถนนสายแฟชั่น ส่วนสาเหตุที่เลือกใส่ชุดไทยสีชมพูไปวาดลวดลายบนพรมแดง เพราะคิดว่าชุดไทยคือเสื้อผ้าที่ใครๆ ก็สวมใส่ได้ 
หลังเข้าร่วมกิจกรรมเดินแฟชั่นสะท้อนการเมือง นิวยังคงใช้ชีวิตปกติ ไปร่วมชุมนุมและทำหน้าที่การ์ดอาสาจนกระทั่งในวันที่ 10 ธันวาคม 2563 พี่ที่รู้จักบอกเธอว่า ‘มีคนแต่งตัวเลียนแบบบุคคลสำคัญในงานเดินแฟชั่น แล้วโดนคดีมาตรา 112’ นิวคิดว่าเธอไม่ได้แต่งตัวเลียนแบบใคร คงไม่น่าจะมีอะไร แต่เมื่อดูชื่อในข่าวเธอกลับพบว่าเป็นชื่อของเธอ แม้จะเผชิญข้อหาที่หนักหน่วงทั้งที่ชีวิตเพิ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่ถึง 25 ขวบปี แต่นิวก็ยังมีพลังใจที่เข้มแข็ง ยังคงมาร่วมการชุมนุมต่างๆในฐานะการ์ดอาสา และหากจะต้องถูกคุมขังในเรือนจำเมื่ออัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี นิวคิดว่าเธอได้เตรียมตัวไว้พร้อมรับสถานการณ์ระดับหนึ่งแล้ว 
++วัยเด็กที่ต้องดิ้นรนและสภาวะ “ตาสว่าง”++
นิวเล่าว่าเธอเกิดและเติบโตในครอบครัวคนจีนที่ตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ สมัยเด็กๆครอบครัวของเธอฐานะไม่ดีนัก พ่อและแม่ต้องประกอบอาชีพหลายอย่างเพื่อสร้างฐานะ ทั้งรับเหมาทำถนนดินดำ ไปจนถึงทำนา จนเมื่อ 7 – 8 ปีที่แล้วฐานะของที่บ้านค่อยๆเริ่มดีขึ้น เมื่อเล่าถึงตรงนี้นิวกล่าวแบบติดตลกว่า เธอเคยคิดว่ามันคงเป็นกรรมเก่าของเธอหรือไม่ชาติที่แล้วก็คงทำบุญน้อยถึงได้เกิดมาในครอบครัวที่ฐานะไม่ดี 
ตัวนิวเองเมื่อเรียนจบชั้นป. 6 เธอตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิตไปเรียนกศน.แทนการเรียนสายสามัญ นิวรีบปฏิเสธทันควันเมื่อถูกถามว่าที่ต้องไปเรียนกศน.เป็นเพราะฐานะทางบ้านหรือไม่
“หนูมีความฝันที่ค่อนข้างชัดว่าอยากเป็นเชฟ อยากเปิดร้านอาหาร หนูอยากเข้ามาเรียนประกาศนียบัตรทำอาหารที่กรุงเทพ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เข้ามาเรียน”
“ด้วยความที่หนูชอบเที่ยวแล้วก็ไม่อยากกวนเงินที่บ้าน หนูเลยเริ่มหางานทำตั้งแต่สมัยเด็ก ตอนเรียนป.6 หนูเคยไปรับจ้างกรอกปุ๋ยขี้ไก่ใส่กระสอบ เค้าจ่ายกระสอบละหนึ่งบาท ทำตั้งแต่ดึกๆ ค่ำๆ ไปจนถึงประมาณตีสาม กรอกได้วันละประมาณ 200 – 300 กระสอบ ไม่ใช่กรอกอย่างเดียว กรอกเสร็จต้องแบกไปตั้งด้วย ตั้งเป็นชั้นๆ ชั้นละ 5 กระสอบ แบกเองนะเนี่ยเห็นตัวเล็กๆแบบนี้”  
“นอกจากกรอกปุ๋ยแล้วต่อมาหนูก็มาทำอย่างอื่น เริ่มจากทำร้านดอกไม้ ร้อยพวงมาลัย ทำบายสีพวงหรีดหนูทำได้หมด อันนี้ถ้าใครสนใจก็จ้างได้นะ หนูยังทำได้อยู่”
“พอเสร็จจากทำร้านดอกไม้หนูก็เริ่มมาทำร้านอาหาร และเป็นผู้ช่วยเชฟที่โรงแรมแห่งหนึ่งในบุรีรัมย์ งานหลักๆ คือหนูมีหน้าที่เอาวัตถุดิบมาปรุงรสแล้วส่งให้เชฟเอาไปปรุงต่อ หนูทำงานที่โรงแรมนี้ประมาณ 7 เดือนก็มีการระบาดของโควิด จนเศรษฐกิจเริ่มแย่แขกเริ่มมาน้อย หนูหันไปก็เห็นว่ามีเพื่อนร่วมงานที่เขากำลังตั้งท้อง แล้วหนูก็กลัวว่าเขาอาจจะต้องตกงาน หนูเลยสมัครใจลาออกมาเพื่อให้เพื่อนยังมีงานทำต่อไป”
นิวระบุว่าตัวเธอเริ่มมองเห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนของประเทศนี้ไม่ใช่เกิดจากความขี้เกียจหรือ “ทำบุญไม่พอ” แต่เป็นเพราะโครงสร้างอันบิดเบี้ยวของสังคมไทย
“ตอนทำงานที่ร้านอาหารกึ่งผับแห่งหนึ่งในบุรีรัมย์ หนูได้ค่าแรงแค่วันละ 250 บาท ประกันสังคมไม่มี เจ็บป่วยรักษาเอง ทำงานทั้งวัน หนูว่ามันไม่ใช่ละ จะขยันให้ตายยังไงคุณภาพชีวิตก็ไม่มีทางดี มันไม่ใช่เรื่องว่าหนูหรือใครทำบุญมาน้อย แต่โครงสร้างสังคมที่ไม่เปิดโอกาสให้เราเติบโตหรือมีโอกาสมีชีวิตที่ดี”
++จากแฟลชม็อบแดนภูเขาไฟ สู่แฟลชม็อบใจกลางกรุง++
ปี 2562 มีการจัดเลือกตั้งทั่วไป หลังประเทศอยู่ภายใต้การบริหารของคสช.มาเป็นเวลาประมาณ 4 ปี กับอีก 10 เดือน หลังการเลือกตั้งการปฏิบัติหน้าที่ของกกต. เช่นกรณีบัตรลงคะแนนไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ (บัตรเขย่ง) หรือปัญหาการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อก่อให้เกิดข้อกังขาในหมู่ประชาชน นิวติดตามสถานการณ์บ้านเมืองด้วยความไม่สบายใจ จนกระทั่งถึงช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 หลังนิวเห็นว่าที่กรุงเทพมีการจัดการชุมนุมโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ Free YOUTH เธอเฝ้ารอว่าจะมีการจัดกิจรรมในพื้นที่หรือไม่ แต่ปรากฎว่าไม่มีจึงตัดสินใจลุกมาทำเอง
“ที่บุรีรัมย์หนูพอรู้อยู่บ้างว่าคงขยับอะไรยาก อย่างตอนวิ่งไล่ลุงก็จัดกันได้อย่างยากลำบาก พอเห็นกรุงเทพเขาจัดม็อบหนูก็รอคนจัดที่บุรีรัมย์แต่ปรากฎว่าไม่มีใครจัดสุดท้ายหนูก็เลยกลายเป็นคนออกมานำเอง ถามว่าตอนที่คิดจะจัดม็อบที่บุรีรัมย์กลัวไหม ตอนนั้นหนูยังไม่มีประสบการณ์หนูก็กลัวนะ แต่ก็อยากจัดมากกว่า”
“ช่วงเดือนสิงหาปี 63 พอดีมีพี่ที่รู้จักคนหนึ่งเขาไปเปิดแฟลชแล้วถ่ายรูปลงเฟซบุ๊ก หนูเลยทักไปหาเค้าจนสุดท้ายเราก็ทำกิจกรรมด้วยกัน หลังจากนั้นเราก็เลยตั้งกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก แล้วจัดแฟลชม็อบในพื้นที่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563 ครั้งนั้นมีเพื่อนของหนูชวนพี่โต้ (โตโต้ – ปิยรัฐ จงเทพ) มาร่วมปราศรัยด้วย หนูเลยมีโอกาสรู้จักพี่โต้เป็นครั้งแรก แต่ตอนนั้นหนูยังไม่รู้ว่าพี่เขาทำทีมการ์ดอาสาด้วย”
“ตอนที่จัดแฟลชม็อบที่บุรีรัมย์หนูก็ไม่ได้ถูกคุกคามอะไร แต่มีน้องในทีมมาเล่าให้ฟังว่ามีคนไปตามที่บ้าน หนูสังเกตในหลายๆครั้งแล้วว่าเวลาจัดงานอะไรตัวหนูเองจะไม่ถูกคุกคามอะไรแต่เป็นคนรอบข้างที่โดนเหมือนเค้าพยายามมาตัดแขนตัดขาหนู”
“หลังจัดแฟลชม็อบที่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ในวันที่ 8 สิงหาคม หนูกับคนในกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอกเลยประกาศระดมทุน ได้เงินมาประมาณ 4000 บาท เราสามคนนั่งรถทัวร์มาจากบุรีรัมย์แล้วก็มาเช่าห้องที่ข้าวสารนอนคืนหนึ่งระหว่างที่มาร่วมชุมนุมหนูก็จะถ่าย live ลงในเพจบุรีรัมย์ปลดแอกด้วย”
“หลังจากนั้นวันที่ 19 กันยา หนูก็มาร่วมชุมนุมด้วย ครั้งนั้นหนูสมัครเป็นการ์ดมวลชนอาสาด้วย คือจริงๆหนูจะมาชุมนุมเฉยๆก็ได้นะ แต่หนูคิดว่าหนูอยากช่วยอะไรบ้าง หนูเองก็ปราศรัยไม่เก่ง แต่หนูคิดว่าหนูสามารถเป็นการ์ดได้ ช่วยดูแลความปลอดภัยได้ พอเห็นว่าเขาเปิดรับสมัครการ์ดหนูก็เลยสมัคร หนูถึงได้รู้ว่าพี่โต้เขาอยู่ในทีมการ์ดอาสา”
นิวเล่าว่าคืนวันที่ 19 กันยายน การทำหน้าที่การ์ดของเธอก็เป็นไปตามปกติไม่มีเหตุการณ์อะไรตื่นเต้นเป็นพิเศษ จะมีบ้างที่มีข่าวการสลายในคืนนั้น ทำให้เธอต้องตื่นตัวเป็นระยะๆ แต่สุดท้ายก็ไม่มีเหตุการณ์อะไร 
จากนั้นในวันรุ่งขึ้น ก็มีเหตุการณ์ตื่นเต้นนิดหน่อยช่วงที่ผู้ชุมนุมเข้าไปผลักดันกับแนวของเจ้าหน้าที่แต่สุดท้ายทุกอย่างก็จบลงด้วยดี หลังมาร่วมการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน เธอก็กลับไปอยู่บ้านตามปกติ จนเดือนตุลาคม 2563 นิวเดินทางมาร่วมการชุมนุมใหญ่ของคณะราษฎร 63 เธออยู่ที่กรุงเทพจนกระทั่งมีการสลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวันในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เธอจึงตัดสินใจกลับไปจัดแฟลชม็อบที่จังหวัดบุรีรัมย์เพื่อตอบโต้การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่
++เบื้องหลังคือบ้านบุรีรัมย์ เป้าหมายคือบ้าน We Volunteer++
วันที่ 19 ตุลาคม 2563 นิวกับเพื่อนๆ และนักกิจกรรมในพื้นที่ร่วมกันจัดการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยราชภับุรีรัมย์ ท่ามกลางกระแสการเมืองที่กำลังขึ้นสูงในวันนั้นมีคนมาร่วมชุมนุมประมาณ 2000 คน โดยนอกจากจะมีการประนามการใช้กำลังสลายการชุมนุมและขับไล่รัฐบาลแล้ว การขับไล่อธิการบดีก็เป็นอีกหนึ่งข้อเรียกร้องในการชุมนุมครั้งนั้น ถึงแม้ว่าในวันนั้นเธอจะไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาใดๆ แต่มันก็มีผลกระทบต่อชีวิตของเธอหลังจากนั้นมากเพราะทำให้เธอต้องระหกระเหินจากบ้านเกิดเข้ามาอยู่ในกรุงเทพ
“หลังมีการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพหนูตัดสินใจกลับไปจัดชุมนุมที่บุรีรัมย์เพื่อตอบโต้การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ ครั้งนั้นไปจัดร่วมกับนักศึกษาที่ราชภับุรีรัมย์ ข้อเรียกร้องครั้งนั้นมีทั้งการไล่รัฐบาลและไล่อธิการ มีคนมาร่วมชุมนุมมากถึงประมาณ 2000 คน แม้การชุมนุมจะผ่านไปด้วยดี แต่หนูก็ได้รู้มาจากพี่ที่คอยดูแลความปลอดภัยให้หนู ว่ามีผู้มีอำนาจไม่พอใจมากที่หนูจัดการชุมนุมขนาดใหญ่ ที่มีคนมาร่วมหลักพัน”
“พี่เขาได้ยินคนคุยกันที่หลังเวทีว่าให้เอาตัวหนูลงมาเลย เขาเลยไปบอกคนที่พูดว่าขออย่าทำอะไรหนูเลย แล้วจะไปบอกให้หนูลงจากเวที สุดท้ายวันนั้นก็ผ่านไปโดยที่ไม่มีเหตุอันตรายอะไรแต่หนูก็รู้แล้วว่าคงอยู่ที่บ้านต่อไปลำบาก เค้าคงรู้สึกโกรธที่เค้าพยายามไปกดดันคนรอบข้างหนูทั้งเพื่อนที่เคยร่วมเคลื่อนไหวกับบุรีรัมย์ปลดแอก ทั้งโทรไปหาเจ้านายเก่าแม่หนู แต่หนูก็ยังไม่หยุดเคลื่อนไหว หนูเลยตัดสินใจว่าจะมาอยู่ที่กรุงเทพเพราะคิดว่าอยู่ที่บ้านต่อไปคงไม่ปลอดภัย
“พอเข้ากรุงเทพหนูก็มาอยู่ที่บ้านเช่าหลังหนึ่งกับน้องๆนักศึกษาที่อยู่ในทีม We Volunteer (เปลี่ยนชื่อมาจากมวลชนอาสา)” พอบทสนทนามาถึงเรื่องของกลุ่ม We Volunteer นิวก็เล่าเรื่องความเป็นมาเป็นไปหลายๆอย่างของทางกลุ่ม โดยหวังว่าสังคมจะได้รู้ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชื่อของกลุ่ม We Volunteer มักถูกมองอย่าง “ไม่เป็นมิตร” ทั้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐและโดยกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์บางส่วน 
“คนข้างนอกมักเข้าใจว่าวีโวเป็นกลุ่มกองกำลังจัดตั้งบ้าง เป็นพวกหัวรุนแรงบ้าง หรือเป็นกลุ่มที่มีเงินถุงเงินถังบ้าง อันนี้คงเป็นความเข้าใจของแต่ละคน สำหรับสิ่งที่หนูจะเล่าต่อไปนี้หนูก็แค่อยากเล่าจากสิ่งที่ประสบมาด้วยตัวเองเท่านั้น”
“บ้านที่ we volunteer เช่าอยู่เป็นตึกแถวห้องเล็กๆ ส่วนใหญ่เราก็ใช้เก็บของอย่างพวกลำโพง แล้วก็มีน้องๆที่ยังเรียนมหาลัยอยู่มาอยู่ด้วยกันเกือบๆ 10 คน ที่บอกว่าพวกเรามีเงินถุงเงินถังเนี่ย หนูอยากให้มาเห็นตอนที่พวกเรานั่งแพ็คเสื้อขายจังเลย (หัวเราะ)” 
“ส่วนที่บอกว่า We Volunteer เป็นกองกำลังมีอุปกรณ์ครบชุดนั่น จริงๆแล้ว We Volunteer  มีอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยส่วนกลางให้ทีมงานแค่หมวกนิรภัย หน้ากากกันแก๊สแล้วก็แว่นตาเท่านั้น ส่วนอุปกรณ์อื่นๆที่เห็นอยู่พวกเราบางคนซื้อกันเองเป็นการส่วนตัวเพราะเราต้องเซฟตัวเอง อย่างหนูเองหลังๆก็ไม่ได้ใส่แล้วทั้งหมวกทั้งหน้ากากเพราะเอาเข้าจริงถ้าเขาจะสลายของพวกนี้มันก็ไม่ได้ป้องกันได้มากนัก”
“ส่วนเรื่องการใช้ความรุนแรง เวลาคุยกัน ทีมเราจะย้ำเรื่องสันติวิธีตลอด หน้าที่ของการ์ดอาสาไม่ใช่การทำร้ายใครแต่เป็นแค่การดูแลความปลอดภัยให้คนมาชุมนุม หาทางหนีทีไล่ที่ปลอดภัยกรณีมีการสลายการชุมนุมแค่นั้น”
“ตัวหนูเองก่อนหน้านี้ก็เคยเตรียมน้ำปลาร้ากรอกใส่ถุงเตรียมไว้ขว้างหากเจ้าหน้าที่จะใช้กำลังสลาย เวลาจะไปชุมนุมหนูก็แบกน้ำปลาร้าไป หนักก็หนัก ตอนกรอกก็เหม็น แต่พอเอาไปก็ไม่เคยได้ใช้เพราะถ้าเจ้าหน้าที่เขาไม่ใช้กำลังสลายก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ หนูแบกน้ำปลาร้าไปเก้อหลายครั้ง พอไม่ได้ใช้ก็เอากลับมาเทแถวบ้านเหม็นไปอีก จนหลังๆหนูก็ไม่เอาไปแล้วเพราะเอาไปก็ไม่ได้ใช้หนักเปล่าๆ”
“หนูเองก็กังวลนะตอนคิดเรื่องน้ำปลาร้า ว่ามันสันติไหม แต่พอคุยในทีมเค้าก็บอกว่าผู้ชุมนุมเองก็เคยถูกเจ้าหน้าที่จับด้วยการใช้กำลัง น้ำปลาร้าอย่างมากก็เหม็นแต่คงไม่ถึงขั้นทำให้บาดเจ็บหรือล้มตาย” 
“ที่บอกว่า WeVo เป็นพวกหัวรุนแรง หนูอยากให้มาเห็นตอนพวกน้องๆเขาอยู่บ้านกันจัง เวลาอยู่บ้านถ้าไม่ได้แพ็คเสื้อหรือแพ็คสินค้าที่ระลึก น้องบางคนก็นอนเล่นเกมโทรศัพท์ บางคนก็ดูการ์ตูนเหมือนเด็กทั่วไป”
++ เดินแฟชั่น โฆษณาสินค้า และมาตรา 112 ++
29 ตุลาคม 2563 กลุ่มราษฎรจัดกิจกรรมศิลปะ “รันเวย์ของประชาชน” ที่ถนนสีลม นิวและทีม We Volunteer ไปร่วมกิจกรรมด้วยโดยพวกเขานำร่มซึ่งเป็นของที่ระลึกประจำกลุ่มไปขายเพื่อหาเงินทำกิจกรรม นิวคิดว่าไหนๆ งานนี้ก็เป็นกิจกรรมศิลปะ และมีการเดินแฟชั่นเธอเลยแต่งชุดไทยขึ้นไปร่วมเดินด้วย โดยนอกจากจะเป็นการร่วมกิจกรรมแล้วยังเป็นการโฆษณาขายของด้วย  
“วันที่มีกิจกรรมศิลปะราษฎรที่สีลม หนูก็เตรียมชุดไทยไปใส่เดิน ที่เลือกชุดไทยเพราะคิดว่าใครๆก็ควรใส่ได้ แล้วหนูเองก็ไม่เคยแต่งตัวแบบนั้นเลยก็อยากลองดูสักครั้ง หนูถึงกับลงทุนไปเช่าชุดมาเลย 700 บาท”
“ตอนที่ขึ้นไปเดินบนฟลอร์หนูไม่รู้จักใครเลยนะ ยกเว้นน้องคนที่เดินถือร่มซึ่งก็เป็นทีม Wevo ร่มสีแดงที่ถือก็เป็นร่มที่ทางกลุ่มทำขาย ส่วนปลอกสีเขียวๆที่อยู่บนพานก็เป็นปลอกแขนของ Wevo พอหนูเดินขึ้นไปบนพรมแดงก็มีคนตะโกนเชียร์ มีคนตะโกนทรงพระเจริญๆ แล้วก็มีคนหนึ่งทำท่าก้มลงกราบเท้า ทั้งหมดที่เกิดขึ้นหนูไม่ได้รู้จักใครเลย แล้วก็ไม่ได้ตั้งใจแต่งตัวเลียนแบบใคร หนูแค่อยากไปร่วมกิจกรรมสนุกๆและก็เอาร่มของ Wevo ไปประกาศขายแค่นั้น แต่ปรากว่ามีคนมาถ่ายรูปหนูเต็มเลย พอเขาถ่ายหนูก็ได้แต่ยืนสวยๆให้เขาถ่าย ไม่คิดเลยว่ามันจะมาถึงขนาดนี้”
“กลับมาจากงานวันนั้นหนูก็ใช้ชีวิตปกติ วันที่ 10 ธันวาที่มีการชุมนุมหนูก็ไปเป็นการ์ด ตอนนั้นเองมีพี่ที่รู้จักส่งข้อความมาว่ามีคนส่งข้อความว่ามีคนแต่งตัวเลียนแบบพระราชินีแล้วถูกดำเนินคดี 112 หนูก็ไม่ได้คิดอะไรเพราะก็ไม่ได้แต่งตัวเลียนแบบใคร จนกระทั่งพี่เค้าถามว่า อ้าวแล้วชื่อในข่าวไม่ใช่ชื่อเราเหรอ พอหนูดูดีๆก็เห็นเออชื่อเราหนิ ก็เลยโทรบอกแม่ว่า แม่หนูโดนหมายนะ แม่ก็ถามว่าคดี 112 แม่ก็ตกใจ ร้องไห้ หนูก็บอกแค่นี้ก่อนนะแม่”
“ที่หนูวางหูจากแม่ไม่ใช่อะไรหรอก หนูเองก็ทำอะไรไม่ถูก ก็ได้พี่โต้นี่แหละช่วยติดต่อกับทนายให้ ก็เลยได้คุยกับทางศูนย์ทนายฯ (ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน) พอคุยกับทนายก็ตัดสินใจว่าจะสู้คดีแล้วก็ไปรายงานตัว วันที่เข้ารายงานตัวหนูก็แต่งชุดไทยเต้นขึ้นสน.แล้วก็ฉีกหมายทิ้งมันตรงนั้น หนูแค่อยากแต่งชุดไทยไม่ได้คิดว่าจะเลียนแบบใครหรือไปดูหมิ่นอะไรใคร แต่ในเมื่อหนูถูกตั้งข้อหาแบบนี้หนูก็เลยฉีกหมายซะเลย ในเมื่อผู้มีอำนาจไม่ทำตัวให้น่าเคารพก็ไม่ต้องเคารพกัน” 
“พอหนูโดนคดีแล้วมีอยู่วันหนึ่งหนูไปร่วมคลับเฮาส์ ก็มีพี่คนหนึ่งสารภาพว่าเขาเป็นคนก้มกราบหนูเองหนูก็ว่าเขาไปว่าดูซิพี่ทำหนูโดนคดีเลย” 
“เหตุการณ์วันนั้นไม่ได้จบลงแค่หนูโดนคดีนะ หนูโดนหมายหัวทำร้ายร่างกายด้วย หนูไปเห็นมีคนโพสต์ว่าใครตบหนูได้ให้ 5000 บาท มันต้องขนาดไหนถึงหมายมั่นปั้นมือทำร้ายกันแบบนี้ บางคนก็ไปขุดเรื่องเพศสภาพของหนูมาว่าโจมตี บอกว่ามึงจะไปทำอะไรใครเข้าได้เพศตัวเองมึงยังสับสน บางคนก็ขุดโคตรเหง้าหนูมาด่าว่าเป็นคนจีนมาพึ่งใบบุญแล้วไม่สำนึกอะไรแบบนั้น ตอนแรกหนูก็อ่านคอมเมนท์พวกนี้แล้วก็รู้สึกว่ามันกัดกร่อนจิตใจ หลังๆเลยไม่อ่าน ไม่สนใจ เอาเวลาไปทำอย่างอื่น ตัวหนูเองไม่ได้มีปัญหาอะไรถ้าจะมีปัญหาก็เรื่องของพวกมึง” เสียงของนิวที่ราบเรียบเจือเสียงหัวเราะมาตลอดดูจะแข็งกร้าวขึ้นเมื่อพูดถึงตรงนี้
“สำหรับเรื่องคดีถ้าสุดท้ายแล้วจะต้องถูกขังหนูก็พร้อมแล้ว นี่หนูก็กลับไปบ้านไปจ่ายค่างวดรถ ค่าอินเทอร์เน็ต ฝากฝังหมาแมวกับที่บ้านไว้เรียบร้อยแล้ว สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะติดกี่ปี พอได้ออกมาหนูก็จะเคลื่อนไหว จะสู้ต่อ จริงๆหนูก็เคยฟังเรื่องสภาพชีวิตที่เลวร้ายในคุกมาอยู่บ้างนะตอนที่รุ้งมาออกคลับเฮาส์ แต่ก็แอบมีคนแซวหนูว่าถ้าต้องเข้าไปอยู่จริงๆก็คงมีนักโทษหญิงมารุมแย่งหนูกัน (หัวเราะ) แต่เอาแบบจริงจังนะ เท่าที่ฟังมาคุณภาพชีวิตในนั้นมันแย่มาก มีนักโทษอัดในห้องเดียวกัน 50 คน แล้วอ้างว่ากักโรค หนูไม่เข้าใจว่ามันจะไปกักยังไง”
“แม่เค้าก็เป็นห่วงนะ จริงๆต้องบอกว่าทั้งพ่อทั้งแม่หนูไม่มีใครสนใจการเมืองเลย แต่พอหนูมาโดนแบบนี้เวลามีนัดชุมนุมแม่เค้าโทรมาหาตลอดว่าไปยัง เวลามีใครโดนจับแล้วได้ปล่อยตัวก็โทรมา กลายเป็นคนสนใจการเมืองไปเลย ส่วนพ่อก็ไม่สนใจเหมือนเดิม”
“จะบอกว่าแม่หนูเข้าใจสิ่งที่หนูทำก็พูดได้นะแต่ก็มีบางจังหวะเหมือนกันที่เค้าโทรมาตัดพ้อทำนองว่าทำไปทำไม ทำไปแล้วได้อะไร ก็เข้าใจแหละว่าเขาห่วง”
++ นิว (แบ็ค ทู) นอร์มอล ++
โควิด 19 อาจทำให้คนทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนเกิดคำเรียกว่า “นิว นอร์มอล” แต่สำหรับนิว หมายเรียกคดีมาตรา 112 ซึ่งนับเป็นหนึ่งในคดีร้ายแรงแห่งยุคสมัย ไม่ได้ทำให้ความคิดหรือวิถีชีวิตของเธอเปลี่ยนไป หลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ยานนาวาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 และได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ นิวก็กลับมาใช้ชีวิตปกติ ในพื้นที่การชุมนุมเธอยังคงทำหน้าที่เป็นการ์ด 
ในวันที่ต้องไปรับทราบข้อกล่าวหา เธอคือผู้สนับสนุนที่ติดตามไปให้กำลังใจ และในบ้าน We Volunteer เธอคือแม่ครัว 
“ที่บ้านวีโว่หนูคือแม่ครัวที่มีหน้าที่คอยดูแลให้น้องๆทุกคนอิ่มท้อง ถ้าไม่ทำกับข้าวให้กินก็จะเป็นคนคอยสั่งข้าวมาให้ทุกคนกิน ยิ่งตอนพี่โต้ถูกจับ (ปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ พร้อมสมาชิกกลุ่ม Wevo 4 รวมสี่คนถูกจับกุมที่ห้างเมเจอร์รัชโยธินในวันที่ 6 มีนาคม 2563 และถูกฝากขังในเรือนจำด้วยข้อหาอั้งยี่ – ซ่องโจร ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2564 ก่อนได้รับการประกันตัวในวันที่ 2 เมษายน 2564 แต่ก็ถูกอายัดตัวด้วยหมายจับคดีอื่นต่อทันที) หนูยิ่งต้องคอยดูแลน้องๆ”
“วันที่ 6 ที่พี่โต้กับน้องๆในกลุ่มถูกจับ หนูกลับไปพักผ่อนที่บ้านที่บุรีรัมย์ พอเกิดเรื่องน้องๆในกลุ่มหลายคนเสียขวัญหนูก็เลยรีบกลับมากรุงเทพ หนูบอกน้องๆว่า เดี๋ยวจะกลับมาทำกับข้าวให้กิน กลับมาทำให้ทุกคนมีความสุข มีรอยยิ้มเหมือนเดิม แต่มันก็ได้แค่ระดับหนึ่ง”
“ตอนที่พวกเราเอากุ้งไปขายที่สนามหลวงช่วงสิ้นปี 63 เราโดนสลาย แต่วันนั้นทุกคนยังไปต่อได้ เรารันงานกันต่อได้ แต่เหตุการณ์วันที่ 6 มีนา มันต่างไป หลายคนเสียขวัญ แล้วก็ซึมกันไป สำหรับหนูภาพที่เขาเอาตัวพี่โต้กับคนอื่นๆกดลงบนพื้นทั้งที่ไม่ได้ขัดขืนการจับกุมหรืออะไรมันเกินจะรับได้จริงๆ”
แม้ตัวของนิวเองมีกำหนดจะต้องเข้าฟังคำสั่งอัยการในวันที่ 30 มีนาคมและมีความเสี่ยงที่จะต้องถูกคุมขังหากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีและศาลไม่ให้ประกันตัวแต่นิวก็ยังห่วงสมาชิก Wevo และหวังว่าจะดูแลพวกเขาให้ดีที่สุด
และแม้จะถูกดำเนินคดีตั้งแต่เดือนธันวาคม แต่ตัวของนิวก็ยังไปทำหน้าที่เป็นการ์ดในการชุมนุมเท่าที่โอกาสจะอำนวย รวมถึงในวันที่ 20 มีนาคม ที่กลุ่ม Redem นัดชุมนุมที่สนามหลวง ซึ่งเธอระบุว่าครั้งนั้นน่าจะเป็นครั้งที่เธอรู้สึกไม่ปลอดภัยที่สุด
“เท่าที่เป็นการ์ดมา หนูคิดว่าเมื่อวันที่ 20 มีนาน่าจะเป็นครั้งที่อันตรายที่สุด คือครั้งก่อนๆ เวลาเจอกับคฝ. (เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน) เรารู้ว่าจะเจออะไร เราเห็นทุกอย่างตรงหน้า แต่ในวันที่ 20 มันเป็นการกระทำของบุคคลที่ไม่ทราบฝ่าย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการชุมนุม เราไม่เห็นว่ามันมาตอนไหน ตอนนั้นการชุมนุมเลิกแล้ว หนูกับทีม Wevo กำลังกินข้าวกันอยู่ แล้วเราก็เห็นคนถูกยิงต่อหน้าต่อตา เรื่องแบบนี้เราไม่รู้เลยว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เราจะถูกลอบทำร้ายตอนไหนก็ได้ซึ่งมันไม่โอเคเลย” เมื่อถามว่าในฐานะการ์ดเธอมีอะไรอยากฝากบอกผู้ชุมนุมไหม นิวตอบว่า
“หนูอยากฝากบอกพี่ๆ ป้าๆ ทุกคนว่าในที่ชุมนุมถ้าหนูหรือการ์ดบอกให้ออก จะไม่ฟังพวกเราก็ได้ แต่ขอให้รักษาตัว ป้าๆบางคนบอกว่า ไม่ต้องห่วงหรอก ป้าแก่แล้ว เขาไม่ทำป้าหรอก แต่มันไม่ใช่ เราก็เห็นกันอยู่ถ้าเขาจะจับหรือจะปราบจะอายุเท่าไหร่ก็เหมือนกัน อย่าคิดว่าเขาไม่กล้าทำ อยากให้ทุกคนดูแลตัวเองให้ปลอดภัย”
“อีกอย่างคือเรื่องเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ถ้าใครถูกถ่ายรูปให้ถ่ายกลับเลย พวกนี้มันจะกลัวเราถ่ายกลับ หนูทำแบบนั้นตลอด เคยมีคนหนึ่งปลอมตัวใส่หน้ากากยกเลิก 112 มาถ่ายหนูแต่ลืมปิดแฟลช หนูเลยถ่ายกลับมันก็เดินหนีเลย จริงอยู่นอกเครื่องแบบบางคนไม่เนียนเพราะแต่งตัวยังไงก็ขาวสามด้าน แต่ก็ต้องระวังหนูได้ยินว่าเดี๋ยวนี้บางคนปลอมตัวเนียนขึ้น แถมการถ่ายบางทีเขาใช้ถ่าย live หรือ ถ่ายแบบซูมหน้า ต้องระวัง ถ้ารู้ว่าโดนถ่ายก็ถ่ายกลับไปเลย”
++อนาคตที่อยากจะเป็น++
เมื่อถามนิวถึงอนาคตบ้านเมืองเราว่า ‘ถ้าบ้านเมืองดีขึ้น ถ้าหลุดพ้นคดี เธออยากจะทำอะไร’ นิวตอบเราทันทีเลยว่า
“หนูอยากเป็นแม่ครัว อยากเปิดร้านอาหาร อยากจับมีดจับตะหลิว แต่ทุกวันนี้ต้องมาจับคีมตัดลวด (หัวเราะ) แต่ถ้าบ้านเมืองยังเป็นอย่างงี้หนูก็จะเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ จริงๆWevo ก็เคยคุยกันว่าเราอยากทำรถขายอาหาร ข้าวแกงถุงละ 20 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ถ้าเราไปทำตอนนี้ก็คงถูกสลาย “
“ถามว่าหนูจะหยุดเคลื่อนไหววันไหนเหรอ ก็ต้องเป็นวันที่เราเป็นประชาธิปไตยคือบรรลุสามข้อเรียกร้องนั่นแหละ”